เรวตขทิรวนิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้อยู่ป่า

เรวตขทิรวนิยเถระ เอตทัคคะในทางผู้อยู่ป่า

ความย่อ

สามเณรเรวตะ เป็นน้องชายของพระสารีบุตร ได้หนีการแต่งงานไปออกบวชในป่าตอนอายุ ๗ ขวบ และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในป่าไม้ตะเคียนนั้น

ประวัติ

สามเณรเรวตะ เป็นน้องชายของพระสารีบุตรผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้หนีการแต่งงานไปออกบวชในป่าตอนอายุ ๗ ขวบ และอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียนเพื่อประพฤติปฏิบัติธรรม ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในป่าไม้ตะเคียนนั้น

เมื่อบวชเป็นพระแล้ว ท่านมีชื่อว่า พระเรวตขทิรานิยะ (คำว่า ขทิรวนิยะ แปลว่า ไม้ตะเคียน)

พระเรวตเถระอยู่ในป่าไม้ตะเคียนเป็นเวลานาน ท่านได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้อยู่ป่า ท่านสามารถแสดงฤทธิ์เนรมิตป่าตะเคียนให้กลายเป็นอารามงดงามกว้างขวางเพื่อต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสารีบุตร และหมู่สาวกพระภิกษุสงฆ์

 

เรื่องมาในธรรมบท [พระขทิรวนิยเรวตเถระ]

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระเรวตเถระผู้อยู่ป่าไม้สะแก(ไม้ตะเคียน) ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "คาเม วา" เป็นต้น.

 

พระสารีบุตรชวนพี่น้องบวช

ความพิสดารว่า ท่านพระสารีบุตรละทรัพย์ ๘๗ โกฏิบวชแล้ว (ชักชวน) น้องสาว ๓ คน คือนางจาลา, นางอุปจาลา, นางสีสุปจาลา, (และ) น้องชาย ๒ คนนี้ คือนายจุนทะ, นายอุปเสนะ ให้บวชแล้ว. เรวตกุมารผู้เดียวเท่านั้นยังเหลืออยู่แล้วในบ้าน.

ลำดับนั้น มารดาของท่านคิดว่า "อุปติสสะบุตรของเรา ละทรัพย์ประมาณเท่านี้บวชแล้ว (ยังชักชวน) น้องสาว ๓ คน น้องชาย ๒ คน ให้บวชด้วย, เรวตะผู้เดียวเท่านั้นยังเหลืออยู่ ถ้าเธอจัก (ชักชวน) เรวตะแม้นี้ให้บวชไซร้ ทรัพย์ของเราประมาณเท่านี้จักฉิบหาย วงศ์สกุลจักขาดสูญ เราจักผูกเรวตะนั้นไว้ด้วยการอยู่ครองเรือน แต่ในกาลที่เขายังเป็นเด็กเถิด."

ฝ่ายพระสารีบุตรเถระสั่งภิกษุทั้งหลายไว้ก่อนทีเดียวว่า "ผู้มีอายุ ถ้าเรวตะประสงค์จะบวช มาไซร้, พวกท่านพึงให้เขาผู้มาตรว่ามาถึงเท่านั้น บวช (เพราะ) มารดาบิดาของผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ, ประโยชน์อะไรด้วยท่านทั้งสองนั้น อันเรวตะจะบอกลาเล่า? ผมเองเป็นมารดาและบิดาของเรวตะนั้น."

 

มารดาบิดาให้เรวตะแต่งงาน

แม้มารดาของพระสารีบุตรเถระนั้น ประสงค์จะผูกเรวตกุมารผู้มีอายุ ๗ ขวบเท่านั้น ด้วยเครื่องผูกคือเรือน จึงหมั้นเด็กหญิงในตระกูลที่มีชาติเสมอกัน กำหนดวันแล้ว ประดับตกแต่งกุมารแล้ว ได้พาไปสู่เรือนของญาติเด็กหญิง พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก.

ลำดับนั้น เมื่อพวกญาติของเขาทั้งสองผู้ทำการมงคลประชุมกันแล้ว พวกญาติให้เขาทั้งสองจุ่มมือลงในถาดน้ำแล้ว กล่าวมงคลทั้งหลาย หวังความเจริญแก่เด็กหญิง จึงกล่าวว่า "ขอเจ้าจงเห็นธรรมอันยายของเจ้าเห็นแล้ว เจ้าจงเป็นอยู่สิ้นกาลนานเหมือนยาย นะแม่" เรวตกุมารคิดว่า "อะไรหนอแล? ชื่อว่าธรรมอันยายนี้เห็นแล้ว" จึงถามว่า "คนไหน? เป็นยายของหญิง."

ลำดับนั้น พวกญาติบอกกะเขาว่า "พ่อ คนนี้ มีอายุ ๑๒๐ ปี มีฟันหลุด ผมหงอก หนังหดเหี่ยว ตัวตกกระ หลังโกงดุจกลอนเรือน เจ้าไม่เห็นหรือ? นั่นเป็นยายของเด็กหญิงนั้น." เรวตะ. ก็แม้หญิงนี้ จักเป็นอย่างนั้นหรือ? พวกญาติ. ถ้าเขาจักเป็นอยู่ไซร้, ก็จักเป็นอย่างนั้น พ่อ.

 

เรวตะคิดหาอุบายออกบวช

เรวตะนั้นคิดว่า "ชื่อว่าสรีระ แม้เห็นปานนี้ จักถึงประการอันแปลกนี้ เพราะชรา, อุปติสสะพี่ชายของเรา จักเห็นเหตุนี้แล้ว. ควรที่เราจะหนีไปบวชเสียในวันนี้แหละ." ทีนั้น พวกญาติอุ้มเขาขึ้นสู่ยานอันเดียวกันกับเด็กหญิงพาหลีกไปแล้ว.

เขาไปได้หน่อยหนึ่งอ้างการถ่ายอุจจาระ พูดว่า "ท่านทั้งหลายจงหยุดยานก่อน, ฉันลงไปแล้วจักมา" ดังนี้แล้ว ลงจากยานทำให้ชักช้าหน่อยหนึ่ง ที่พุ่มไม้พุ่มหนึ่งแล้ว จึงได้ไป. เขาไปได้หน่อยหนึ่งแล้ว ลงไปด้วยการอ้างนั้นนั่นแลแม้อีกขึ้นแล้วก็ได้ทำอย่างนั้นเหมือนกันอีก.

ลำดับนั้น พวกญาติของเขากำหนดว่า "เรวตะนี้หมั่นไปแท้ๆ" จึงมิได้ทำการรักษาอย่างเข้มแข็ง. เขาไปได้หน่อยหนึ่งก็ลงไปด้วยการอ้างนั้นนั่นแลแม้อีกแล้ว พูดว่า "พวกท่านจงขับไปข้างหน้า, ฉันจักค่อยๆ เดินมาข้างหลัง" จึงลงไปแล้ว ได้บ่ายหน้าตรงไปยังพุ่มไม้.

 

เรวตะได้บรรพชา

แม้พวกญาติของเขาได้ขับยานไปด้วยสำคัญว่า "เรวตะจักมาข้างหลัง." ฝ่ายเรวตะนั้นหนีไปจากที่นั้นแล้ว, ไปยังสำนักของภิกษุประมาณ ๓๐ รูป ซึ่งอยู่ในประเทศแห่งหนึ่ง ไหว้แล้วเรียนว่า "ท่านขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงให้กระผมบวช."

พวกภิกษุ. ผู้มีอายุ เธอประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพ พวกข้าพเจ้าไม่ทราบว่า เธอเป็นพระราชโอรสหรือเป็นบุตรของอำมาตย์ จักให้เธอบวชอย่างไรได้." เรวตะ.

พวกท่านไม่รู้จักกระผมหรือ? ขอรับ. พวกภิกษุ. ไม่รู้ ผู้มีอายุ. เรวตะ. กระผมเป็นน้องชายของอุปติสสะ. พวกภิกษุ. ชื่อว่าอุปติสสะนั่น คือใคร? เรวตะ. ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรียกพี่ชายของกระผมว่า สารีบุตร เพราะฉะนั้น เมื่อกระผมเรียนว่า ‘อุปติสสะ’ ท่านผู้เจริญทั้งหลายจึงไม่ทราบ. พวกภิกษุ. ก็เธอเป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระหรือ? เรวตะ. อย่างนั้น ขอรับ.

ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า "ถ้ากระนั้น มาเถิด พี่ชายของเธออนุญาตไว้แล้วเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว ก็ให้เปลื้องเครื่องอาภรณ์ของเขาออกให้วางไว้ ณ ที่สุดแห่งหนึ่ง ให้เขาบวชแล้ว จึงส่งข่าวไปแก่พระเถระ.

พระเถระฟังข่าวนั้นแล้ว จึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "พระเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายส่งข่าวมาว่า ‘ได้ยินว่า พวกภิกษุที่อยู่ป่าให้เรวตะบวช’ ข้าพระองค์ไปเยี่ยมเธอแล้วจึงจักกลับมา."

พระศาสดามิได้ทรงยอมให้ไป ด้วยพระดำรัสว่า "สารีบุตร จงยับยั้งอยู่ก่อน." โดยการล่วงไป ๒-๓ วัน พระเถระก็ทูลลาพระศาสดาอีก. พระศาสดามิได้ทรงยอมให้ไป ด้วยพระดำรัสว่า "สารีบุตร จงยับยั้งอยู่ก่อน แม้เราก็จักไป."

 

เรวตสามเณรบรรลุพระอรหัต

ฝ่ายสามเณรคิดว่า "ถ้าเราจักอยู่ในที่นี้ไซร้ พวกญาติจักให้คนติดตามเรียกเรา (กลับ)" จึงเรียนกัมมัฏฐานจนถึงพระอรหัตแต่สำนักของภิกษุเหล่านั้น ถือบาตรแลจีวร เที่ยวจาริกไปถึงป่าไม้สะแก ในที่ประมาณ ๓๐ โยชน์แต่ที่นั้น ในระหว่าง ๓ เดือนภายในพรรษานั่นแล บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย.

แม้พระเถระปวารณาแล้ว ทูลลาพระศาสดาเพื่อต้องการไปในที่นั้นอีก. พระศาสดาตรัสว่า "สารีบุตร แม้เราก็จักไป" เสด็จออกไปพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป.

ในเวลาเสด็จไปได้หน่อยหนึ่ง พระอานนทเถระยืนอยู่ที่ทาง ๒ แพร่ง กราบทูลพระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า บรรดาทางที่ไปสู่สำนักของเรวตะ ทางนี้เป็นทางอ้อมประมาณ ๖๐ โยชน์ เป็นที่อยู่ของมนุษย์ ทางนี้เป็นทางตรงประมาณ ๓๐ โยชน์ อันอมนุษย์คุ้มครอง พวกเราจะไปโดยทางไหน?"

พระศาสดา. อานนท์ ก็สีวลี มากับพวกเรา (มิใช่หรือ?) อานนท์. อย่างนั้น พระเจ้าข้า. พระศาสดา. ถ้าสีวลีมา, เธอจงถือเอาทางตรงนั่นแหละ.

 

พวกภิกษุอาศัยบุญของพระสีวลีเถระ

ได้ยินว่า พระศาสดามิได้ตรัสว่า "เราจักยังข้าวต้มและข้าวสวยให้เกิดขึ้นแก่พวกเธอ พวกเธอจงถือเอาทางตรง" ทรงทราบว่า "ที่นั่นเป็นที่ให้ผลแห่งบุญแก่ชนเหล่านั้นๆ" จึงตรัสว่า "ถ้าสีวลีมา เธอจงถือเอาทางตรง."

ก็เมื่อพระศาสดาทรงดำเนินไปทางนั้น พวกเทวดาคิดว่า "พวกเราจักทำสักการะแก่พระสีวลีเถระ พระผู้เป็นเจ้าของเรา" ให้สร้างวิหารในที่โยชน์หนึ่งๆ ไม่ให้เกินไปกว่าโยชน์หนึ่ง ลุกขึ้นแต่เช้าเทียว ถือเอาวัตถุมีข้าวต้มเป็นต้นอันเป็นทิพย์แล้วเที่ยวไป ด้วยตั้งใจว่า "พระสีวลีเถระผู้เป็นเจ้าของเรา นั่งอยู่ที่ไหน?" พระเถระให้เทวดาถวายภัตที่นำมาเพื่อตนแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข.

พระศาสดาพร้อมทั้งบริวารเสวยบุญของพระสีวลีเถระผู้เดียว ได้เสด็จไปตลอดทางกันดารประมาณ ๓๐ โยชน์. ฝ่ายพระเรวตเถระ ทราบการเสด็จมาของพระศาสดา จึงนิรมิตพระคันธกุฎีเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า นิรมิตเรือนยอด ๕๐๐ ที่จงกรม ๕๐๐ และที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ๕๐๐. พระศาสดาประทับอยู่ในสำนักของพระเรวตเถระนั้น สิ้นกาลประมาณเดือนหนึ่งแล. แม้ประทับอยู่ในที่นั้น ก็เสวยบุญของพระสีวลีเถระนั่นเอง.

ก็บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุแก่ ๒ รูป ในเวลาพระศาสดาเสด็จเข้าไปสู่ป่าไม้สะแก คิดแล้วอย่างนี้ว่า "ภิกษุนี้ทำนวกรรม (การก่อสร้าง) ประมาณเท่านี้อยู่ จักอาจทำสมณธรรมได้อย่างไร? พระศาสดาทรงทำกิจ คือการเห็นแก่หน้า ด้วยทรงดำริว่า ‘เป็นน้องชายของพระสารีบุตร’ จึงเสด็จมาสู่สำนักของเธอ ผู้ประกอบนวกรรมเห็นปานนี้."

 

พระศาสดาทรงอธิษฐานให้ภิกษุลืมบริขาร

ในวันนั้น แม้พระศาสดาทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว ได้ทรงทราบวาระจิตของภิกษุเหล่านั้นแล้ว เพราะเหตุนั้น ประทับอยู่ในที่นั้น สิ้นกาลประมาณเดือนหนึ่งแล้ว ในวันเสด็จออกไป ทรงอธิษฐานโดยประการที่ภิกษุเหล่านั้นลืมหลอดน้ำมัน ลักจั่นน้ำและรองเท้าของตนไว้ เสด็จออกไปอยู่ ในเวลาเสด็จออกไปภายนอกแต่อุปจารวิหาร จึงทรงคลายพระฤทธิ์.

ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นกล่าวกันว่า "ผมลืมสิ่งนี้และสิ่งนี้ แม้ผมก็ลืม" ดังนี้แล้ว ทั้งสองรูปจึงกลับไป ไม่กำหนดถึงที่นั้น ถูกหนามไม้สะแกแทง เที่ยวไปพบห่อสิ่งของของตน ซึ่งห้อยอยู่ที่ต้นสะแกต้นหนึ่ง ถือเอาแล้วก็หลีกไป.

แม้พระศาสดาทรงพาภิกษุสงฆ์ไป เสวยบุญของพระสีวลีเถระ ตลอดกาลประมาณเดือนหนึ่งนั่นแลอีก เสด็จเข้าไปสู่บุพพาราม. ลำดับนั้น ภิกษุแก่เหล่านั้นล้างหน้าแต่เช้าตรู่ เดินไปด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักดื่มข้าวต้มในเรือนของนางวิสาขา ผู้ถวายอาคันตุกภัต ดื่มข้าวต้มแล้ว ฉันของเคี้ยวแล้วนั่งอยู่.

 

นางวิสาขาถามถึงที่อยู่ของเรวตะ

ลำดับนั้น นางวิสาขาถามภิกษุแก่เหล่านั้นว่า "ท่านผู้เจริญ ก็ท่านทั้งหลายได้ไปที่อยู่ของเรวตเถระกับพระศาสดาหรือ?" ภิกษุแก่. อย่างนั้น อุบาสิกา. วิสาขา. ท่านผู้เจริญ ที่อยู่ของพระเถระน่ารื่นรมย์หรือ? ภิกษุแก่.

ที่อยู่ของพระเถระนั้นเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์ จักมีแต่ที่ไหน? อุบาสิกา ที่นั้นรกด้วยไม้สะแกมีหนามขาว เป็นเช่นกับสถานที่อยู่ของพวกเปรต.

ครั้งนั้น ภิกษุหนุ่มสองรูปพวกอื่นมาแล้ว อุบาสิกาถวายข้าวต้มและของควรเคี้ยวทั้งหลายแม้แก่ภิกษุหนุ่มเหล่านั้นแล้ว ถามอย่างนั้นเหมือนกัน. ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า "อุบาสิกา พวกฉันไม่อาจพรรณนาได้ ที่อยู่ของพระเถระ เป็นเช่นกับเทวสภาชื่อสุธรรมา ดุจตกแต่งขึ้นด้วยฤทธิ์."

อุบาสิกาคิดว่า "ภิกษุพวกที่มาครั้งแรกกล่าวอย่างอื่น ภิกษุพวกนี้กล่าวอย่างอื่น ภิกษุพวกที่มาครั้งแรก ลืมอะไรไว้เป็นแน่ จักกลับไปในเวลาคลายฤทธิ์แล้ว ส่วนภิกษุพวกนี้จักไปในเวลาที่พระเถระตกแต่งนิรมิตสถานที่ด้วยฤทธิ์" เพราะความที่ตนเป็นบัณฑิต จึงทราบเนื้อความนั้น ได้ยืนอยู่แล้วด้วยหวังว่า "จักทูลถามในกาลที่พระศาสดาเสด็จมา."

ต่อกาลเพียงครู่เดียวแต่กาลนั้น พระศาสดาอันภิกษุสงฆ์แวดล้อม เสด็จไปสู่เรือนของนางวิสาขา ประทับนั่งเหนืออาสนะอันเขาตกแต่งไว้แล้ว.

นางอังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขโดยเคารพ ในเวลาเสร็จภัตกิจ ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ทูลถามเฉพาะว่า "พระเจ้าข้า บรรดาภิกษุที่ไปกับพระองค์ บางพวกกล่าวว่า ที่อยู่ของพระเรวตเถระ เป็นป่ารกด้วยไม้สะแก บางพวกกล่าวว่า เป็นสถานที่รื่นรมย์ ที่อยู่ของพระเถระนั่นเป็นอย่างไรหนอแล?"

พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้วตรัสว่า "อุบาสิกา จะเป็นบ้านหรือเป็นป่าก็ตาม พระอรหัตทั้งหลายย่อมอยู่ในที่ใด ที่นั้นน่ารื่นรมย์แท้" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๙.  คาเม วา ยทิ วา รญฺเญ  นินฺเน วา ยทิ วา ถเล 
  ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ  ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ.  
        พระอรหันต์ทั้งหลาย อยู่ในที่ใด เป็นบ้าน ก็ตาม เป็นป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม, ที่นั้นเป็นภูมิสถานน่ารื่นรมย์.   

 

แก้อรรถ

แก้อรรถ ในพระคาถานั้น มีความว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมไม่ได้กายวิเวกภายในบ้านก็จริง ถึงดังนั้น ย่อมได้จิตตวิเวกอย่างแน่นอน, เพราะอารมณ์ทั้งหลายแม้เปรียบดังของทิพย์ ย่อมไม่อาจทำจิตของพระอรหันต์เหล่านั้นให้หวั่นไหวได้, เพราะเหตุนั้น จะเป็นบ้านหรือจะเป็นที่ใดที่หนึ่ง มีป่าเป็นต้น, พระอรหันต์ทั้งหลายย่อมอยู่ในที่ใด.

บาทพระคาถาว่า ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ ความว่า ภูมิประเทศนั้น เป็นที่น่ารื่นรมย์แท้. ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมาก บรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้นแล้ว.

 

พวกภิกษุชมเชยบุญของเรวตะ

ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า "แม้สามเณรผู้เดียวทำเรือนยอด ๕๐๐ หลัง เพื่อภิกษุ ๕๐๐ รูป มีลาภ, มีบุญ. น่าชมจริง", พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ?"

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยถ้อยคำชื่อนี้พระเจ้าข้า" ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไม่มีบุญ ไม่มีบาป (เพราะ) บุญและบาปทั้งสองเธอละเสียแล้ว" ได้ตรัสพระคาถานี้ ในพราหมณวรรค ว่า :-

     บุคคลใดในโลกนี้ ล่วงเครื่องข้อง ๒ อย่าง คือบุญและบาป, เราเรียกบุคคลนั้น ผู้ไม่โศก ปราศจากกิเลสเพียงดังธุลี ผู้หมดจดว่า เป็นพราหมณ์. 

 


ที่มา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อรหันตวรรคที่ ๗

47476371
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
74286
67101
341134
46849926
962709
1172714
47476371

Your IP: 182.52.115.215
2024-11-22 17:27
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search