อุปเสนวังคันตบุตร (พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ)

อุปเสนวังคันตบุตร (พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ)

ประวัติ

 

ประวัติพระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ

เอตทัคคมหาสาวกผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ

การที่ท่านพระอุปเสนเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลาย ผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ นั้นก็เนื่องด้วยพระเถระนี้มิใช่เป็นผู้นำความเลื่อมใสมาด้วยตนเองอย่างเดียวเท่านั้น แม้บริษัทของท่านก็เป็นผู้นำความเลื่อมใสมา และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

พระเถระแม้นี้ ได้บำเพ็ญบุญญาธิการในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยของพระนิพพานในภพนั้น ๆ ในสมัยแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านเกิดในครอบครัวใหญ่ในหังสวดีนคร เมื่อเติบใหญ่แล้ว วันหนึ่งได้ไปยังเงื้อมเขาแห่งหนึ่งเพื่อฟังธรรมจากพระบรมศาสดาซึ่งประทับพร้อมหมู่ภิกษุสงฆ์อยู่ที่นั้น ท่านได้เห็นดอกกรรณิการ์กำลังบานจึงได้เด็ดดอกไม้นั้นเอามาประดับที่ฉัตรแล้วกั้นถวายแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในครั้งนั้นท่านได้เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ ท่านก็เกิดจิตเลื่อมใส ปรารถนาจะได้ตำแหน่งเช่นนั้นบ้าง จึงได้กระทำมหาทานถวายบิณฑบาตมีข้าวชั้นพิเศษ ที่จัดว่าเป็นโภชนะอย่างดี แด่องค์พระศาสดา และพระภิกษุอีก ๘ รูป แล้วปรารภความปรารถนาในตำแหน่งนั้น พระพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาว่า

ด้วยการถวายฉัตรนี้ และด้วยจิตอันเลื่อมใสในการ ถวายข้าวชั้นพิเศษนั้น ท่านจักได้เสวยสมบัติ จักเป็นจอมเทวดาเสวย เทวรัชสมบัติ ๓๐ ครั้ง และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๒๑ ครั้ง จักได้ เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณานับไม่ถ้วน

ในแสนกัปต่อไปนับแต่กัปนี้ พระศาสดาทรงพระนามว่า โคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกากราชจักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้จักมาเกิดเป็นมนุษย์ จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามว่าอุปเสนะ จักตั้งอยู่ในเอตทัคคะ ที่เป็นผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ

จากนั้นท่านได้บำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย

 

กำเนิดเป็นอุปเสนะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ครั้นในสมัยพระพุทธเจ้าของพวกเรานี้ ท่านได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของนางสารีพราหมณีในบ้าน อุปติสสคาม ณ หมู่บ้านนาลกะ (นาลันทะ) ไม่ไกลกรุงราชคฤห์ บิดาคือ วังคันตพราหมณ์ มารดาคือ สารีพราหมณี มีพี่ชาย ๒ คน คือ อุปติสสะ หรือต่อมาคือ พระสารีบุตร (ตามชื่อมารดา) พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระจุนทเถระ มีน้องชาย ๑ คนชื่อ เรวตะ (หรือในพระบาลีเป็น พระเรวตขทิรวนิยเถระ ซึ่งต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคมหาสาวกเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ท่านมีน้องสาว ๓ คน ชื่อ จาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา และหลานชายสามคนคือ จาลี อุปจาลี สีสูปจาลี ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวแต่ละคน ซึ่งต่อมาทั้งหมดได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด

มารดาของพระเถระคือนางรูปสารีนั้น ตามประวัติกล่าวว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้พระสารีบุตรผู้เป็นบุตรชายคนโตก็พูดสั่งไว้กับพวกภิกษุเมื่อครั้ง น้องชายคือท่านเรวตะจะออกบวชไว้ว่า

“ผู้มีอายุ ถ้าเรวตะมาเพื่อประสงค์จะบวช ไซร้ พวกท่านจงให้เขาบวช (เพราะ) มารดาของกระผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะมีประโยชน์อะไรที่เรวตะจะบอกลาท่านทั้งสองนั้นเล่า? ขอให้ถือว่าผมเองเป็นมารดาและบิดาของเรวตะนั้น.”

และอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พระสารีบุตรจะปรินิพพาน ท่านได้คำนึงว่า

“.....มารดาของเราแม้เป็นมารดาของพระอรหันต์ ๗ รูป ก็ไม่เลื่อมใส ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ...........”

จนกระทั่งท่านพระสารีบุตรภายหลังที่ท่านได้ปลงอายุสังขารแล้ว จึงได้ไปเทศนาโปรดท่านจนได้บรรลุโสดาปัตติผล และในวันนั้นเองท่านพระสารีบุตรก็ได้ปรินิพพาน

แต่เรื่องราวของท่านในการออกบวช ว่าออกบวชอย่างไร และเมื่อไหร่ ไม่มีปรากฏในพระบาลี ทราบแต่เพียงว่าท่านออกบวชตามคำชักชวนของพระสารีบุตรผู้เป็นพี่ชาย

 

พระเถระถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตำหนิ

พระอุปเสนะนั้นเมื่อบวชได้เพียงพรรษาเดียว ได้ทำการอุปสมบทให้กับกุลบุตรคนหนึ่ง ด้วยคิดว่าเราจะขยายอาณาจักรพระอริยะ ในครั้งนั้น พระพุทธเจ้ายังไม่ทรงบัญญัติสิกขาบท ให้พระภิกษุที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์ได้ต้องมีอายุพรรษาได้ ๓ พรรษาขึ้นไป หลังจากที่ได้บวชให้กุลบุตรนั้นแล้ว พรรษาต่อมา ในเวลาที่ศิษย์ที่ท่านบวชให้มีพรรษาเดียว ตนเองสองพรรษา ท่านคิดว่า พระทศพลทรงเห็นเราแล้วจักยินดี จึงพาศิษย์นั้นมาเฝ้าพระทศพล พระศาสดาตรัสถามท่านซึ่งถวายบังคมแล้วนั่งในที่ แห่งหนึ่งว่า

“เธอมีพรรษาเท่าไร ภิกษุ”

“สองพรรษา พระเจ้าข้า”

“ภิกษุนี้มีพรรษาเท่าไร”

“พรรษาเดียว พระเจ้าข้า”

“ภิกษุนี้เป็น อะไรของเธอ”

“เป็นสัทธิวิหาริกของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า”

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสว่า เร็วไป โมฆบุรุษ เธอเวียนมา เพื่อความเป็นผู้มักมาก ครั้นเมื่อท่านได้รับการตำหนิจากพระบรมศาสดาเช่นนั้น จึงได้เกิดอุตสาหะ ขึ้นว่า เราได้รับการตำหนิก็เนื่องจากบริษัทของเรานี้ เราก็จะทำให้ได้รับการสรรเสริญก็เพราะบริษัทของเราเช่นกัน คิดดังนี้แล้ว จึงเริ่มบำเพ็ญวิปัสสนา ไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัต ได้อภิญญา ๖ บรรลุ ปฏิสัมภิทา

 

เหตุบัญญัติพระวินัย

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกออกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส ใครๆ อย่าเข้าไปหาเรา นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปให้รูปเดียว

ภิกษุเหล่านั้นรับพระพุทธาณัติแล้ว ก็ไม่มีใครเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคในพระวิหารนี้เลย นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียวโดยแท้ ถึงอย่างนั้น สงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถี ก็ยังตั้งกติกากันไว้ว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ ตลอดไตรมาส ใครๆ ไม่พึงเข้าไปเฝ้าพระองค์ นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียว ภิกษุรูปใดเข้าไปเฝ้าพระองค์ ต้องให้แสดงอาบัติปาจิตตีย์

ครั้งนั้น ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกับภิกษุบริษัทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว หลังจากที่พระผู้มีพระภาคตรัสปราศรัยแก่ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรพอสมควรแล้ว ขณะนั้น ภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรนั่งเฝ้าอยู่ไม่ห่างพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามภิกษุรูปนั้นว่า ดูกรภิกษุ ผ้าบังสุกุลเป็นที่พอใจของเธอหรือ?

ภิกษุรูปนั้นกราบทูลว่า ผ้าบังสุกุล มิได้เป็นที่พอใจของข้าพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า : ก็ทำไมเธอจึงได้ทรงผ้าบังสุกุลเล่า ภิกษุ?

ภิกษุรูปนั้น : พระอุปัชฌายะของข้าพระพุทธเจ้าทรงผ้าบังสุกุล ข้าพระพุทธเจ้าจึงต้องทรงผ้าบังสุกุล อย่างนั้นบ้าง พระพุทธเจ้าข้า

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรว่า ดูกรอุปเสน บริษัท ของเธอนี้น่าเลื่อมใสนัก เธอแนะนำบริษัทอย่างไร?

ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ผู้ใดขออุปสมบทต่อข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าบอกกะเขาอย่างนี้ว่า อาวุโส ฉันเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถ้าท่านจักถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรบ้าง ฉันก็จักให้ท่านอุปสมบทตามประสงค์ ถ้าเขารับคำของข้าพระพุทธเจ้าๆ จึงให้เขาอุปสมบท ถ้าเขาไม่รับคำของข้าพระพุทธเจ้าๆ ก็ไม่ให้เขาอุปสมบท ภิกษุใดขอนิสัย ต่อข้าพระพุทธเจ้าๆ บอกกะภิกษุนั้นอย่างนี้ว่า อาวุโส เราเป็นผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาต เป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถ้าท่านจักถืออยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้า บังสุกุลเป็นวัตรบ้างได้ เราก็จักให้นิสัยแก่ท่านตามความประสงค์ ถ้าภิกษุนั้นรับคำของข้าพระ พุทธเจ้าๆ จึงจะให้นิสัย ถ้าภิกษุนั้นรับคำของข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ให้นิสัย ข้าพระพุทธเจ้าแนะนำบริษัทอย่างนี้แล พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า : ดีแล้ว ดีแล้ว อุปเสน เธอแนะนำบริษัทได้ดีจริงๆ เออก็เธอรู้กติกาของสงฆ์ ในเขตพระนครสาวัตถีไหม อุปเสน?

พระอุปเสนวังคันตบุตร : ไม่ทราบเกล้าฯ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า : ดูกรอุปเสน สงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถี ตั้งกติกากันไว้ว่า ท่านทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส ใครๆ อย่าเข้าไปเฝ้าพระองค์ นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียว ภิกษุใดเข้าไปเฝ้าพระองค์ ต้องให้แสดงอาบัติปาจิตตีย์

พระอุปเสนวังคันตบุตร : พระสงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถี จักทราบทั่วกันตามกติกาของตน พวกข้าพระพุทธเจ้าจักไม่แต่งตั้งสิกขาบทที่พระองค์มิได้ทรงบัญญัติ และจักไม่เพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติ ไว้ จักสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้

พระผู้มีพระภาคเจ้า : ดีแล้ว ดีแล้ว อุปเสน ไม่ควรแต่งตั้งสิกขาบทที่เรายังมิได้บัญญัติ หรือไม่ควรเพิกถอนสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบท ตามที่เราได้บัญญัติไว้ เราอนุญาตให้พวกภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าหาเราได้ตามสะดวก

เวลานั้น ภิกษุหลายรูปกำลังรออยู่ที่นอกซุ้มประตูพระวิหาร ด้วยตั้งใจว่า พวกเราจักให้ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรแสดงอาบัติปาจิตตีย์ ครั้นท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรกับภิกษุบริษัท ลุกจากอาสนะถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว จึงภิกษุเหล่านั้นได้ถามท่าน พระอุปเสนวังคันตบุตรดังนี้ว่า อาวุโส อุปเสน ท่านทราบกติกาของสงฆ์ในเขตพระนครสาวัตถี ไหม?

ท่านพระอุปเสนวังคันตบุตรตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคก็รับสั่งกับกระผมอย่างนี้ว่า ไม่ควรแต่งตั้งสิกขาบทที่เรายังมิได้บัญญัติ หรือไม่ควรเพิกถอนสิกขาบทที่เราบัญญัติไว้ ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบท ตามที่เราได้บัญญัติไว้ เราอนุญาตให้พวกภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าหาเราได้ตามสะดวก

ภิกษุเหล่านั้นเห็นจริงด้วยในทันใดนั้นว่า พระสงฆ์ไม่ควรแต่งตั้งสิกขาบทที่ยังมิได้ทรงบัญญัติ หรือไม่ควรเพิกถอนสิกขาบทที่ทรง บัญญัติไว้ ควรสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ ดังนั้นการที่พระสงฆ์บัญญัติสิกขาบทเอาเองว่า "พระผู้มีพระภาคมีพระประสงค์จะเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ตลอดไตรมาส ใครๆ อย่าเข้าไปเฝ้าพระองค์ นอกจากภิกษุผู้นำบิณฑบาตเข้าไปถวายรูปเดียว ภิกษุใดเข้าไปเฝ้าพระองค์ ต้องให้แสดงอาบัติปาจิตตีย์" นั้นเป็นการไม่สมควร

ครั้นภิกษุทั้งหลายได้ทราบข่าวว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เข้าเฝ้าได้ตามสะดวก ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ต่างละทิ้งสันถัต พากันสมาทานอารัญญิกธุดงค์ บิณฑปาติกธุดงค์ ปังสุกูลิกธุดงค์

หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมาก เสด็จเที่ยวประพาสตามเสนาสนะ ได้ทอดพระเนตรเห็นสันถัตซึ่งทอดทิ้งไว้ในที่นั้นๆ ครั้นแล้วรับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สันถัตเหล่านี้ของใคร ถูกทอดทิ้งไว้ในที่นั้นๆ ?

จึงภิกษุเหล่านั้น ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคแล้ว

 

ทรงบัญญัติสิกขาบท

อนึ่ง ภิกษุผู้ให้ทำสันถัตสำหรับนั่ง พึงถือเอาคืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า เพื่อทำให้เสียสี ถ้าภิกษุไม่ถือเอาคืบสุคตโดยรอบแห่งสันถัตเก่า ให้ทำสันถัตสำหรับนั่งใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์

 

ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

ลำดับนั้น เพราะพระเถระออกบวชจากตระกูลใหญ่ และเป็น พระธรรมกถึกผู้ฉลาดในการกล่าวสอน ฉะนั้นจึงมีทารกของตระกูล เป็นจำนวนมาก เลื่อมใสธรรมกถาของท่านและออกจากตระกูลแห่งมิตร อำมาตย์และญาติผู้ใหญ่ พากันไปบรรพชายังสำนักของพระเถระ ท่านกล่าวว่า เราเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร แม้พวกท่านก็จงสามารถเป็น ผู้อยู่ป่าเป็นวัตร บรรพชาเถิด ดังนี้แล้วบอกธุดงค์ ๑๓ ให้เขาเหล่านั้น อธิฏฐานธุดงค์นั้น ๆ ตามกำลังของตน แม้พระเถระ ในเวลาที่ตนมีพรรษา ๑๐ ศึกษาวินัยคล่องแคล่วแล้วให้สามเณรทั้งหมดอุปสมบท ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปที่อุปสมบทแล้ว ได้เป็นบริวารของท่าน

ครั้งเมื่อท่านพระเถระพร้อมกับศิษย์เหล่านั้น พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี ได้รับการ สรรเสริญจากสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า เนื่องด้วยบริษัทโดยนัยตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า อุปเสน บริษัทนี้ของเธอน่าเลื่อมใสแล จึงทรงสถาปนาไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาภิกษุสาวกของเราผู้มีความเลื่อมใสรอบด้าน คืออุปเสนวังคันตบุตรเป็นเอตทัคคะ

 

พระเถระแสดงธรรมเรื่องการอยู่อย่างสงบ

สมัยต่อมา เมื่อเกิดการทะเลาะกันขึ้นในกรุงโกสัมพี และภิกษุสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย ภิกษุรูปหนึ่งผู้ประสงค์จะหลีกเลี่ยงการทะเลาะนั้นได้ถามพระเถระว่า บัดนี้เกิดการทะเลาะกันขึ้นแล้ว พระสงฆ์แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย กระผมจะพึงปฏิบัติอย่างไรหนอ ดังนั้นเมื่อจะกล่าวถึงข้อปฏิบัติแก่ภิกษุรูปนั้น ตั้งต้นแต่การอยู่อย่างสงบ จึงกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :

ภิกษุซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึงเป็นที่อยู่อาศัยแห่งสัตว์ร้าย เพราะการหลีกเร้นออกเป็นเหตุ

ภิกษุพึงเก็บผ้ามาจากกองหยากเยื่อ จากป่าช้า จาก ตรอกน้อยตรอกใหญ่แล้ว ทำเป็นผ้านุ่งห่ม พึงทรงจีวร อันเศร้าหมอง

ภิกษุควรทำใจให้ต่ำ คุ้มครองทวาร สำรวม ดีแล้ว เที่ยวไปบิณฑบาตตามลำดับตรอก คือตามลำดับ สกุล

ภิกษุพึงยินดีด้วยของ ๆ ตน แม้จะเป็นของเศร้า หมอง ไม่พึงปรารถนารสอาหารอย่างอื่นมาก เพราะใจ ของบุคคลผู้ติดในรสอาหาร ย่อมไม่ยินดีในฌาน

ภิกษุ ควรเป็นผู้มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบสงัด เป็น มุนี ไม่คลุกคลีด้วยพวกคฤหัสถ์ และพวกบรรพชิต ทั้งสอง

ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต ควรแสดงตนให้เป็นดังคนบ้า และคนใบ้ ไม่ควรพูดมากในท่ามกลางสงฆ์ ไม่ควรเข้า ไปกล่าวว่าใคร ๆ ควรละเว้นการเข้าไปกระทบกระทั่ง เป็นผู้สำรวมพระปาติโมกข์ และพึงเป็นผู้รู้จักประมาณ ในโภชนะ

เป็นผู้ฉลาดในการเกิดขึ้นแห่งจิต มีนิมิต อันถือเอาแล้ว พึงประกอบสมถะและวิปัสสนา ตามเวลา อันสมควรอยู่เนือง ๆ

 

พึงเป็นบัณฑิต ผู้ถึงพร้อมด้วย ความเพียรเป็นนิตย์ เป็นผู้ประกอบภาวนาทุกเมื่อ ด้วย ความตั้งใจว่า ถ้ายังไม่ถึงที่สุดทุกข์ ไม่พึงถึงความวางใจ

อาสวะทั้งปวงของภิกษุผู้ปรารถนาความบริสุทธิ์ เป็นอยู่ อย่างนี้ ย่อมสิ้นไป และภิกษุนั้นย่อมบรรลุนิพพาน

 

พระเถระมนสิการถึงคุณพระรัตนตรัย

วันหนึ่งท่านกลับ จากบิณฑบาตภายหลังภัต เมื่อพวกศิษย์ได้ไปสู่ที่พักกลางวันของตนแล้ว ท่านจึงถือเอาน้ำจากหม้อน้ำล้างเท้าแล้ว ลูบตัวให้เย็นลาดท่อนหนัง แล้วนั่งพักผ่อนกลางวัน นึกถึงคุณความดีของตน ที่พวกศิษย์ของท่านหลายร้อยหลายพันรูปช่วยกันบำรุงท่านไม่ขาดสาย ท่านส่งมนสิการถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า อันดับแรกคุณความดีของศิษย์เรายังมีประมาณถึงเพียงนี้ พระคุณของพระศาสดาของเราจะเป็นเช่นไรหนอ พวกสาวกเหล่านั้น หลายพันโกฏิ พากันบำรุงท่านตามสมควรแก่พลังญาณ

ท่านระลึกถึงพระคุณของพระศาสดา อันเหมาะสมแก่ภาวะที่ปรากฏแจ่มแจ้ง โดยนัยมีอาทิว่า พระศาสดาของเราทรงมีศีลอย่างนี้ มีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ มีวิมุตติอย่างนี้ และโดยนัยมีอาทิว่า แม้เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ

แต่นั้นจึงระลึกถึงคุณของพระธรรมโดยนัยมีอาทิว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

และคุณของพระอริยสงฆ์ โดยนัยมีอาทิว่า พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติแล้ว

เมื่อคุณของพระรัตนตรัย ปรากฏแจ่มแจ้ง ด้วยอาการอย่างนี้ พระมหาเถระจึงมีใจชื่นชมเบิกบาน นั่งเสวยปิติและโสมนัส อันโอฬาร มีโวการมีอาการเป็นอเนก

พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั้นแล ทรงทราบเรื่องนั้น ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ จึงทรงเปล่งอุทานนี้ อันประกาศความเป็นผู้คงที่ของท่านทั้งในชีวิต และมรณะ

ชีวิตย่อมไม่ทำให้ผู้ใดเดือดร้อน ผู้นั้นย่อมไม่เศร้าโศกในที่สุดแห่งมรณะ

ถ้าว่าผู้นั้นมีบทอันเห็นแล้วไซร้ เป็นนักปราชญ์ ย่อมไม่เศร้าโศกในท่ามกลางแห่งสัตว์ผู้มีความโศก

ภิกษุผู้มีภวตัณหาอันตัดขาดแล้ว มีจิตสงบ มีชาติสงสารสิ้นแล้ว ย่อมไม่มีภพใหม่ ฯ

 

พระเถระถูกงูกัดแล้วปรินิพพาน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคและท่านพระสารีบุตร ท่านพระอุปเสนะ อยู่ที่ป่า ชื่อสีตวัน ใกล้เงื้อมสัปปโสณฑิกะ เขานั้นมีชื่ออย่างนั้น เพราะเหมือนกับพังพานงู ใกล้พระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล พระเถระเสด็จภัตกิจแล้ว ถือมหาจีวร ถูกลมอ่อน ๆ ทางช่องหน้าต่าง ที่ร่มเงาถ้ำ รำเพยพัด นั่งทำสูจิกรรมผ้านุ่ง ๒ ชั้น ขณะนั้น ลูกอสรพิษ เลื้อยเล่นอยู่บนหลังคาถ้ำ ลูกงูเหล่านั้น ตัวหนึ่งตกลงมาถูกจะงอยบ่าพระเถระ แล้วกัดเอา พิษงู้นั้นร้ายยิ่งนัก แล่นไปเหมือนเปลวประทีปลามไปตามไส้ตะเกียง พระเถระ ทราบว่าพิษแล่นมาดังนั้น ท่านจึงใช้พลังฤทธิ์ของตนอธิษฐานว่า ขออัตตภาพนี้จงอย่าพินาศในถ้ำ ดังนี้แล้วเรียกภิกษุทั้งหลายมา

อสรพิษตัวหนึ่งได้ตกลงที่กายของท่านพระอุปเสนะ ครั้งนั้นแล ท่านพระอุปเสนะเรียกภิกษุทั้งหลายว่า จงมาเถิด ผู้มีอายุ จงยกกายเรานี้ขึ้นสู่เตียงแล้วนำออกไปในภายนอก ก่อนที่กายนี้จะกระจัด กระจายเรี่ยรายในที่นี้ดุจกำแกลบ เมื่อท่านพระอุปเสนะกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะท่านพระอุปเสนะว่า ความที่กายของท่านพระอุปเสนะเป็นอย่างอื่น หรือความแปรปรวนแห่งอินทรีย์ของท่านพระอุปเสนะ เราทั้งหลายยังไม่เห็นเลย

ท่านพระอุปเสนะกล่าวว่า ดูกรท่านพระสารีบุตร ผู้ใดพึงมีความตรึกอย่างนี้ว่า เราเป็นจักษุ หรือ จักษุเป็นของเรา ฯลฯ เราเป็นใจ หรือใจเป็นของเรา ความที่กายเป็นอย่างอื่น หรือความแปรปรวนแห่งอินทรีย์พึงมีแก่ผู้นั้นแน่นอน ดูกรท่านพระสารีบุตร เรามิได้มีความตรึกอย่างนี้ว่า เราเป็นจักษุ หรือจักษุเป็นของเรา ฯลฯ เราเป็นใจ หรือใจเป็นของเรา ความที่กายจักกลายเป็นอย่าง อื่น หรือความแปรปรวนแห่ง อินทรีย์จักมีแก่เรานั้น ได้อย่างไร ฯ

ท่านพระสารีบุตร จริงอย่างนั้น ท่านพระอุปเสนะได้ถอนอหังการ มมังการและมานานุสัยได้เด็ดขาด เป็นเวลานานมาแล้ว ฉะนั้น ท่านพระอุปเสนะจึงไม่มีความตรึก อย่างนั้น ฯ

ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นยกกายของท่านพระอุปเสนะขึ้นสู่เตียงนำไปภายนอก กายของท่านพระอุปเสนะกระจัดกระจายบนเตียงน้อยนั่นเอง ในที่ที่นำออกมาตั้งไว้ภายนอกประดุจกำแกลบ ฉะนั้น ฯ

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47619931
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
30784
54944
85728
47135237
1106269
1172714
47619931

Your IP: 52.167.144.236
2024-11-25 19:51
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search