วังคีส (พระวังคีสเถระ)

วังคีส (พระวังคีสเถระ)

ประวัติ

 

 

ประวัติพระวังคีสเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีปฏิภาณ

การที่พระเถระได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้มีปฏิภาณ ก็โดยเหตุ ๒ ประการ คือโดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ เพราะท่านแสดงให้ผู้อื่นเห็นเป็นอย่างชัดเจนในคุณข้อนี้ของท่าน ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการแต่งตั้งโดยเหตุที่ท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ที่มีโภคะมากมาย ในหังสวดีนคร มีนามว่าวังคีสะ เจริญวัยแล้วได้ไปยังพระวิหารพร้อมกับชาวพระนคร ผู้กำลังเดินไปเพื่อฟังธรรม ขณะกำลังฟังธรรม ได้เห็นพระผู้มีพระภาคตรัสสรรเสริญคุณเป็นอันมาก ของพระสาวกรูปหนึ่ง และทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้มีปฏิภาณแล้ว

ครั้นได้สดับพระธรรมเทศนานั้นแล้วก็ได้เกิดปีติโสมนัส ยินดีในคุณของพระสาวก จึงได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์ให้เสวยและฉันตลอด ๗ วัน และได้ถวายจีวรแด่พระผู้มีพระภาค ครั้นได้โอกาสอันควรท่านจึงได้ยืนประนมอัญชลีอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เป็นผู้ร่าเริง กล่าวสดุดีสรรเสริญคุณพระชินสีห์ผู้สูงสุด แล้วกระทำความปรารถนาว่า ใน อนาคตกาล แม้ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ผู้ใดเป็นผู้เลื่อมใสนิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยสาวกให้ฉันสิ้น ๗ วัน ด้วยมือทั้งสองของตน และได้กล่าวสดุดีคุณของเรา ปรารถนาตำแหน่งเป็นเลิศแห่งภิกษุผู้มีปฏิภาณในอนาคตกาล ผู้นั้นจักได้ตำแหน่งนี้สมดังปรารถนา เขาจักได้เสวยทิพยสมบัติมีประมาณไม่น้อย

ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ไป พระศาสดามีนามว่าโคดม ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้น พราหมณ์นี้จักได้เป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นสาวกของพระศาสดามีนามชื่อว่าวังคีสะ ท่านได้สดับพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็เป็นผู้มีความเบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระพิชิตมารด้วยปัจจัยทั้งหลายในกาลครั้งนั้น จนตราบเท่าสิ้นชีวิต เพราะกรรมที่ทำไว้ดีนั้นและเพราะการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อท่านละร่างมนุษย์นั้นแล้ว ก็ได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

 

กำเนิดเป็นวังคีสมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

กำเนิดเป็นวังคีสมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า ในพุทธุปบาทกาลนี้ ก็มาบังเกิด ในครอบครัวพราหมณ์ กรุงสาวัตถี เพราะท่านเกิดที่วังคชนบท และเพราะท่านเป็นใหญ่ในถ้อยคำญาติทั้งหลายจึงขนานนามว่าวังคีสมาณพ มารดาท่านนั้นมีเรื่องเล่าว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ และมีปฏิภาณในการโต้วาทะ เมื่อเติบใหญ่สมควรมีเรือนแล้ว ได้ปักกิ่งหว้าไว้แล้วประกาศหาผู้ที่สามารถจะโต้วาทะชนะนางได้ ก็ให้มาปรากฏตัวที่กิ่งหว้านั้น หากนางพ่ายแพ้ นางก็จะแต่งงานด้วย แล้วนางก็พ่ายแพ้แก่ปริพาชกผู้เป็นบิดาของวังคีสกุมารนั่นเอง ท่านเจริญวัยแล้วเรียนวาทะตั้ง ๑,๐๐๐ บท คือฝ่ายมารดา ๕๐๐ บท ฝ่ายบิดา ๕๐๐ บท แล้วเรียนไตรเพท เมื่อมีอายุได้เพียง ๗ ปี ท่านก็ได้เป็นผู้รู้เวททุกคัมภีร์ แกล้วกล้าในเวทศาสตร์ มีเสียงไพเราะ มีถ้อยคำวิจิตร โต้ตอบวาทะของผู้อื่นให้อับจนได้ ท่านได้ทำให้อาจารย์พอใจแล้ว จึงได้ศึกษามนต์ชื่อว่า ฉวสีสมนต์ ซึ่งเป็นมนต์ที่ทำให้รู้กำเนิดของผู้ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว โดยร่ายมนต์นั้นแล้วเอาเล็บเคาะศีรษะของคน ซึ่งแม้ตายไปแล้วถึง ๓ ปี ก็รู้ที่เขาไปเกิดได้

พราหมณ์ทั้งหลายทราบว่ามนต์นี้เป็นหนทางสำหรับเราจะใช้เลี้ยงชีพ จึงให้วังคีสมาณพนั่งในรถที่ปกปิดแล้วเที่ยวไปยังคามนิคม และราชธานีทั้งหลาย เมื่อถึงเมืองนั้น ๆ แล้วก็จะหยุดที่ประตูเมือง หรือประตูนิคม ประกาศให้มหาชนมาชุมกันแล้วแล้วก็พูดว่า ผู้ใดเห็นวังศีสะ ผู้นั้นจะได้รู้ที่เกิดของญาติ มิตร ของผู้ที่ได้สิ้นชีวิตไปแล้ว ชนทั้งหลายเมื่อได้ฟังถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้นแล้วก็ให้สินจ้าง ร้อยหนึ่งบ้าง พันหนึ่งบ้าง แก่พวกพราหมณ์ เพื่อต้องการจะดูความสามารถของวังคีสมาณพ

ฝ่ายวังคีสะก็ให้นำกะโหลกศีรษะของคนที่แม้จะตายไปแล้วถึง ๓ ปีมา เอาเล็บเคาะแล้วกล่าวว่า สัตว์นี้บังเกิดในกำเนิดที่โน้น ที่นั้น และเพื่อจะตัดความสงสัยของมหาชน เขาก็สามารถไปพาเอาเจ้าของกะโหลกนั้นมาเล่ายืนยันความเป็นไปของตน ด้วยเหตุนั้น มหาชนจึงพากันเลื่อมใสยิ่งในวังคีสะนั้น พราหมณ์ทั้งหลายพาวังคีสะเที่ยวไปตามชอบใจแล้ว ได้กลับมาเมืองสาวัตถีอีกตามเดิม

 

วังคีสมาณพเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

วังคีสมาณพเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี พวกชาวเมืองสาวัตถีถวายทานในเวลาก่อนภัต แล้วในเวลาหลังภัตต่างก็นุ่งห่มเรียบร้อย ถือดอกไม้และของหอมเป็นต้น มุ่งไปสู่พระเชตวันเพื่อฟังธรรม วังคีสะนั้นอยู่ในที่ไม่ไกลเชตวันมหาวิหาร เห็นชาวเมืองเหล่านั้นก็ถามว่า "พวกท่านจะพากันไปไหน"

ครั้งนั้นชนเหล่านั้นก็บอกเขาว่า "พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกกำลังทรงแสดงธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเป็นอันมาก พวกเราจะไปไหนที่นั้น"

วังคีสะได้ยินดังนั้นก็คิดว่าคนทั้งหลายพูดกันว่า พระสมณะโคดมเป็นบัณฑิต ก็แต่ว่าเรานั้นไม่ควรจะเที่ยวไปแล้วกระทำตามคำของพราหมณ์เหล่านี้อย่างเดียวทุกเวลา เราควรไปสำนักของบัณฑิตทั้งหลายบ้าง

วังคีสมาณพนั้น จึงกล่าวกะพราหมณ์ทั้งหลายว่า "ท่านทั้งหลายเราจะไปเฝ้าพระสมณะโคดม"

พราหมณ์เหล่านั้นบอกว่า "วังคีสะ ท่านอย่าเข้าเฝ้าพระสมณะโคดมเลย เพราะคนใดเห็นพระสมณะนั้น พระสมณะนั้นก็จะกลับใจบุคคลนั้นเสียด้วยมายากล"

วังคีสะไม่เชื่อถือถ้อยคำของพราหมณ์เหล่านั้น ไปเฝ้าพระศาสดา พร้อมด้วยศิษย์พวกหนึ่ง กระทำปฏิสัณฐานด้วยคำอันไพเราะ แล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง

 

วังคีสมาณพทำนายกระโหลกพระขีณาสพ

ครั้งนั้นพระศาสดาถามเธอว่า วังคีสะ เธอรู้ศิลปอะไร

วังคีสะทูลตอบว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ฉวสีสมนต์

พระศาสดาตรัสถามว่า มนต์นั้นทำอะไร

วังคีสะทูลว่า ร่ายมนต์นั้นแล้วเอาเล็บเคาะศีรษะของคนแม้ตายไปแล้วถึง ๓ ปี ก็รู้ที่เขาเกิดพระเจ้าข้า

พระศาสดาทรงแสดงศีรษะของคนที่เกิดในนรกศีรษะหนึ่งแก่ วังคีสะนั้น ของคนเกิดในมนุษย์ศีรษะหนึ่ง ของคนเกิดในเทวโลกศีรษะหนึ่ง แสดงศีรษะของผู้ปรินิพพานแล้วศีรษะหนึ่ง วังคีสะนั้นเคาะศีรษะแรกกราบทูลว่าท่านพระโคดม สัตว์นี้ไปสู่นรก พระศาสดาตรัสตอบว่า สาธุ สาธุ ท่านเห็นดีแล้ว แล้วตรัสถามว่า สัตว์นี้ไปไหน วังคีสะ ไปสู่มนุษยโลก ท่านพระโคดม สัตว์นี้ละไปไหน วังคีสะทูลว่า สัตว์นี้ไปเทวโลก พระเจ้าคะ เขากราบทูลถึงสถานที่ไปของคนทั้ง ๓ พวก ด้วยประการฉะนี้ แต่เมื่อเอาเล็บเคาะศีรษะของผู้ปรินิพพาน ก็ไม่เห็นทั้งปลายทั้งต้น ทีนั้นพระศาสดาจึงตรัสถาม วังคีสะนั้นว่า ท่านไม่อาจเห็นหรือ วังคีสะ

วังคีสะมาณพทูลว่า เห็นซิ ท่านพระโคดม ข้าพระองค์ขอสอบสวนดูก่อน แล้วพลิกกลับไปกลับมา วังคีสะจักรู้คติของพระขีณาสพด้วยมนต์ของลัทธิภายนอกได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนั้น เหงื่อก็ผุดออกจากหน้าผากของเขา เขาละอายแล้วยืนนิ่ง ครั้งนั้นพระศาสดาตรัสกะเขาว่า ลำบากหรือ วังคีสะ

วังคีสะทูลว่า พระเจ้าข้า ท่านโคดม ข้าพระองค์ไม่รู้ที่ไปของสัตว์นี้ ถ้าพระองค์ทราบขอจงตรัสบอกเถิด

พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ เรารู้แม้ศีรษะนี้ แม้ยิ่งกว่านี้ก็รู้

 

วังคีสมาณพขอเรียนวิชากับพระผู้มีพระภาค

วังคีสมาณพขอเรียนวิชากับพระผู้มีพระภาค แต่นั้น วังคีสะทูลว่า ท่านโคดม ผู้แลกวิชาของตนกับวิชาของผู้อื่น ย่อมไม่มีความเสื่อม ข้าพระองค์จักถวายมนต์ที่ข้าพระองค์รู้แด่พระองค์ พระองค์ได้โปรดตรัสบอกมนต์นั้นแก่ข้าพระองค์

พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ เราจะไม่แลกมนต์ด้วยมนต์ เราจะให้อย่างเดียวเท่านั้น

วังคีสะทูลว่า ดีละ ท่านโคดม ขอจงโปรดประทานแก่ข้าพระองค์เถิด แล้วแสดงความนอบน้อมนั่งกระทำประณมมือแล้ว

พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ เมื่อสมัยท่านเรียนมนต์อันมีค่ามาก หรือมนต์อะไร ๆ ไม่ต้องมีการอยู่อบรมหรือ

วังคีสะ ไม่มีดอกท่านโคดม

พระศาสดาตรัสว่า ท่านจะสำคัญว่า มนต์ของเราไม่มีการอบรมหรือ ขึ้นชื่อว่าพราหมณ์ทั้งหลายย่อมเป็นผู้ไม่อิ่มด้วยมนต์

เพราะฉะนั้น วังคีสะนั้นจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดมข้าพระองค์ก็จักกระทำข้อกำหนดที่พระองค์ตรัสไว้

พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ เราเมื่อจะให้มนต์นี้ ย่อมให้แก่ผู้ที่มีเพศเสมอกันกับเรา

วังคีสะเรียกพวกลูกศิษย์มาสั่งว่า ดูก่อนท่านทั้งหลาย พระสมณโคดมรู้ศิลปะมากมาย เราจักบวชในสำนักของพระสมณโคดมนี้ เรียนศิลปะ แต่นั้นทั่วชมพูทวีปจักไม่มีผู้ที่รู้ศิลปะมากกว่าเรา พวกเธออย่าเป็นห่วง จงอยู่กันจนกว่าเราจะกลับมา ดังนี้ แล้วส่งลูกศิษย์เหล่านั้นกลับไป แล้วกราบทูลว่า ขอพระองค์โปรดให้ข้าพระองค์บรรพชาเถิด

ก็ในเวลานั้นพระนิโครธกัปปเถระ อยู่ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งเธอว่า นิโครธกัปปะเธอจงบวชวังคีสะผู้นี้ด้วยเถิด พระเถระนำวังคีสะไปยังที่อยู่ของตนแล้วให้บรรพชา ท่านบรรพชาแล้วมาเฝ้าพระศาสดา ยืนถวายบังคมแล้ว ทูลอาราธนาว่า ขอพระองค์โปรดประทานศิลปะแก่ข้าพระองค์เถิด พระศาสดาตรัสว่า วังคีสะ ครั้งก่อน เมื่อพวกเธอจะเรียนศิลปะ ต้องทำบริกรรมโดยไม่บริโภคของเค็มและนอนบนแผ่นดินเป็นต้น แม้ศิลปะของเรานี้ก็มีบริกรรม เธอจงทำบริกรรมนั้นก่อน พระวังคีสะกราบทูลว่า ดีละ พระเจ้าข้า ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสบอกพระกัมมัฏฐาน คือ อาการ ๓๒ แก่เธอ เธอมนสิการพระกัมมัฏฐานนั้นทั้งอนุโลมปฏิโลม เจริญวิปัสสนา โดยลำดับ

 

พระเถระเกิดกระสัน ๑

สมัยหนึ่ง ท่านพระวังคีสะ อยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี ในครั้งนั้นท่าน กับท่านพระนิโครธกัปปะผู้เป็นอุปัชฌาย์ ก็สมัยนั้น ท่านพระวังคีสะยังเป็นภิกษุใหม่ ยังบวชไม่ได้ถึงพรรษา ไม่เข้าใจในการรับบาตรจีวร ลำดับนั้น ภิกษุผู้เถระทั้งหลาย จึงกล่าวกะท่านว่า อาวุโส ท่านจงนั่งดูแลร่ม รองเท้าและไม้เท้าเป็นต้น ตั้งให้เป็นผู้เฝ้าวิหารแล้วเข้าไปบิณฑบาตฯ

ครั้งนั้น สตรีเป็นอันมาก ประดับประดาร่างกายแล้ว เข้าไปยังอารามเที่ยวดูที่อยู่ของพวกภิกษุ ครั้งนั้นแล ความกระสันย่อมบังเกิดขึ้น แก่ท่าน ความกำหนัดได้รบกวนจิตของท่านพระวังคีสะเพราะได้เห็นสตรีเหล่านั้น ฯ

ลำดับนั้น ท่านพระวังคีสะ มีความคิดดังนี้ว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราได้ชั่วเสียแล้วหนอ เราไม่ได้ดีเสียแล้วหนอ ที่เราเกิดความกระสัน ที่ความกำหนัดรบกวนจิตเรา อย่ากระนั้นเลย เราพึงบรรเทาความกระสันเสียแล้วยังความยินดีให้เกิดขึ้นแก่ตนด้วยตนเองเถิด ครั้นเมื่อบรรเทาความกำหนัดยินดีได้แล้ว จึงได้กล่าวคาถาสอนตนเอง ความว่า

วิตกทั้งหลายเป็นเหตุให้คะนอง (เกิดมา) แต่ฝ่ายธรรมดำเหล่านี้ ย่อมวิ่งเข้ามาสู่เราผู้ออกจากเรือนบวช เป็นผู้ไม่มีเหย้าเรือนแล้ว ฯ

บุตรของคนชั้นสูงทั้งหลาย ผู้มีฝีมืออันเชี่ยวชาญ ศึกษาดีแล้ว ทรงธนูไว้มั่นคง พึงทำจำนวนคนที่ไม่ยอมหนีตั้งพันๆ ให้กระจัดกระจายไปรอบด้าน (ฉันใด)

ถึงแม้ว่าสตรีมากยิ่งกว่านี้จักมา สตรีเหล่านั้นก็จักเบียดเบียนเรา ผู้ตั้งมั่นแล้วในธรรมของตนไม่ได้เลย (ฉันนั้น)

เพราะว่า เราได้ฟังทางเป็นที่ไปสู่พระนิพพานนี้ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์แล้วใจของเรายินดีแล้วในทางเป็นที่ไปสู่พระนิพพานนั้น ฯ

แน่ะมารผู้ชั่วร้าย ถ้าท่านจะเข้ามาหาเราผู้อยู่อย่างนี้ แน่ะมฤตยุราชเราจักทำโดยวิธีที่ท่านจักไม่เห็นแม้ซึ่งทางของเราได้เลย ดังนี้ ฯ

 

พระเถระเกิดกระสัน ๒

สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล พระราชาและมหาอำมาตย์ได้นิมนต์ท่านพระอานนท์ซึ่งเป็นผู้มีปัญญามาก อบรมตนดีแล้ว ให้แสดงธรรมภายในนิเวศน์ ท่านจึงได้ไปพร้อมด้วยพระวังคีสะ ในที่นั้น พวกสตรีประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง เข้าไปหาพระเถระไหว้แล้วนั่งถามปัญหา ฟังธรรม ในที่นั้นเมื่อท่านพระวังคีสะซึ่งเป็นผู้บวชใหม่ ยังไม่อาจที่จะกำหนดระงับอารมณ์ได้ ความกำหนัดในรูปารมณ์คือสตรีจึงเกิดขึ้นรบกวนจิต แต่เพราะบวชด้วยศรัทธา ท่านจึงเป็นคนตรงได้คิดว่า ความกำหนัดของเรานี้กำเริบมากขึ้น จะทำให้ประโยชน์ปัจจุบันและประโยชน์ภายหน้าให้เสียไป เมื่อจะเปิดเผยเรื่องนั้นแก่พระเถระ จึงได้กล่าวว่า

ข้าพเจ้าเร่าร้อนเพราะกามราคะ จิตของข้าพเจ้ารุ่มร้อน ขอท่านจงบอกวิธีเป็นเครื่องดับราคะ เพื่ออนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านผู้โคดม ฯ ท่านพระอานนท์จึงกล่าวว่า

จิตของท่านเร่าร้อนก็เพราะความสำคัญผิด เพราะฉะนั้น ท่านจงละทิ้งนิมิตอันงามซึ่งประกอบด้วยราคะเสีย ท่านจงอบรมจิตให้มีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว ด้วยการพิจารณาสิ่งทั้งปวงว่าเป็นของไม่สวยงาม จงอบรมกายคตาสติ จงเป็นผู้มากไปด้วยความเบื่อหน่าย ท่านจงเจริญอนิมิตตานุปัสสนา การนึกถึงกิเลสเป็นเครื่องหมาย จงตัดอนุสัยคือมานะเสีย แต่นั้นท่านจักเป็นผู้สงบระงับเที่ยวไป เพราะละมานะเสียได้

พระเถระดูหมิ่นภิกษุผู้มีศีลเกิดวิปฏิสาร

วิปฏิสาร: ความเดือดร้อน, ความร้อนใจ เช่น ผู้ประพฤติผิดศีล เกิดความเดือดร้อนขึ้นในใจ ในเพราะความไม่บริสุทธิ์ของตนเรียกว่า “เกิดวิปฏิสาร”

ที่มา : พจนานุกรมพุทธศาสตร์ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก

สมัยหนึ่ง ท่านพระวังคีสะอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ เขตเมืองอาฬวี กับท่านพระนิโครธกัปปะผู้อุปัชฌาย์ ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระวังคีสะนึกดูหมิ่นภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศีลเป็นที่รักเหล่าอื่น ท่านพระวังคีสะดูหมิ่นว่า พระแก่ ๆเหล่านี้จะรู้อะไร บาลีก็ไม่รู้ อรรถกถาก็ไม่รู้ ความไพเราะของบทและพยัญชนะก็ไม่รู้ ส่วนพวกเรา ทั้งบาลีทั้งอรรถกถาปรากฏตั้งร้อยนัย พันนัย

ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะมีความคิดดังนี้ว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ไม่ใช่ลาภของเราหนอ เราได้ชั่วเสียแล้วหนอ เราไม่ได้ดีเสียแล้วหนอ ที่เราดูหมิ่นภิกษุทั้งหลาย ผู้มีศีลเป็นที่รักเหล่าอื่น ด้วยปฏิภาณของตน ดังนี้ ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะยังความวิปฏิสารให้เกิดขึ้นแก่ตนด้วยตนเองแล้วได้ภาษิตคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า

ดูกร ท่านผู้เป็นสาวกของพระโคดม ท่านจงละมานะเสีย

ท่านจงละหนทางแห่งมานะในโลกนี้เสีย อย่าให้มีส่วนเหลือได้ (เพราะ) หมู่สัตว์ผู้อันความลบหลู่ทำให้มัวหมอง แล้วย่อมเป็นผู้มีความเดือดร้อนตลอดกาลนาน

สัตว์ทั้งหลายผู้อันมานะกำจัดแล้วย่อมตกนรก ชนทั้งหลายผู้อันมานะกำจัดแล้ว เข้าถึงนรกแล้ว ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน

ภิกษุผู้ชำนะกิเลสด้วยมรรคเป็นผู้ปฏิบัติชอบ ย่อมไม่เศร้าโศกเลยในกาลไหนๆ ย่อมได้รับเกียรติคุณและความสุข

บัณฑิตทั้งหลายย่อมเรียกภิกษุผู้เช่นนั้นว่า เป็นผู้เห็นธรรม

เพราะฉะนั้น ท่านจงเป็นผู้ไม่มีกิเลส เพียงตะปูเครื่องตรึงใจในโลกนี้ เป็นผู้มีความเพียร จงละนิวรณ์ทั้งหลายเสีย เป็นผู้บริสุทธิ์ และละมานะอย่าให้มีส่วนเหลือแล้ว ทำที่สุดแห่งกิเลสด้วยวิชชา เป็นผู้สงบระงับ ดังนี้ ฯ

 

พระเถระบรรลุพระอรหัต

พระเถระบรรลุพระอรหัต การที่ท่านได้ดูหมิ่นภิกษุอื่นๆ ก็เพราะถือว่าตนมีปฏิภาณอันวิจิตร แต่เพราะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักท่านจึงเกิดความสลดใจ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงพิจารณาพระกัมมัฏฐาน คือ อาการ ๓๒ ที่พระศาสดาทรงตรัสสอน ท่านมนสิการพระกัมมัฏฐานนั้นทั้งอนุโลมปฏิโลม เจริญวิปัสสนา โดยลำดับ ได้บรรลุอรหัต พร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ เมื่อท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว พวกพราหมณ์ทั้งหลายในสำนักของท่านคิดว่า วังคีสะจะเป็นอย่างไรหนอ เราจักไปเยือนเธอ ถามว่า ท่านวังคีสะ ท่านเรียนศิลปะในสำนักของพระสมณโคดมสำเร็จแล้วหรือ

พระวังคีสเถระ เออเราเรียนแล้ว

พราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น มาเถอะ เราจะไปกัน

พระวังคีสเถระ ท่านจงไปกันเถอะ กิจที่จะไปกับท่าน เราทำเสร็จแล้ว

พระวังคีสเถระ ท่านจงไปกันเถอะ กิจที่จะไปกับท่าน เราทำเสร็จแล้ว พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า พวกเราบอกท่าน ไว้ก่อนแล้วเทียวว่า พระสมณะโคดม จะทำคนผู้ที่มาหาตนให้กลับใจด้วยมายากล บัดนี้ตัวท่านอยู่ในอำนาจของพระสมณะโคดมแล้ว พวกเราจักอยู่ทำอะไรในสำนักของท่าน พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้นต่างพากันหลีกไปแล้วตาม ทางที่มานั้นแหละ

พวกภิกษุได้ยินคำของพระวังคีสเถระนั้นแล้ว จึงกราบทูลแด่พระศาสดาว่า “พระเจ้าข้า พระวังคีสเถระนี้ พยากรณ์พระอรหัตผล ด้วยคำไม่จริง ”

พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้บุตรของเราฉลาดในการจุติและปฏิสนธิแล้ว” ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า:

“ผู้ใดรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง

เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่ข้อง ไปดี รู้แล้วว่าเป็นพราหมณ์

เทพยดา คนธรรพ์และหมู่มนุษย์ย่อมไม่รู้คติของผู้ใด

เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีอาสวะสิ้น แล้ว ผู้ไกลกิเลสว่า เป็นพราหมณ์”

 

พระผู้มีพระภาคสถาปนาพระเถระเป็นเอตทัคคะ

พระเถระนี้เมื่อเข้าไปเฝ้าพระทศพลเวลาใด ๆ ตั้งแต่พระบรมศาสดาปรากฏในคลองแห่งจักษุ ก็กล่าวสรรเสริญคุณพระศาสดาอุปมากับพระจันทร์ อุปมากับ พระอาทิตย์ กับอากาศ กับมหาสมุทร กับพระยาช้าง กับพระยามฤคสีหะ หลายร้อยหลายพันบท จึงเข้าเฝ้า

 

สรรเสริญพระพุทธเจ้าด้วยคาถาที่ไม่ได้คิดไว้ก่อน

สรรเสริญพระพุทธเจ้าด้วยคาถาที่ไม่ได้คิดไว้ก่อน สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี กับภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่๑,๒๕๐ รูป ฯ ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทานอาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันประกอบด้วยนิพพาน ฯ

ฝ่ายภิกษุเหล่านั้น ได้ทำธรรมนั้นให้สำเร็จประโยชน์ ใส่ใจกำหนดด้วยจิตทั้งปวง เงี่ยโสตลงฟังธรรม ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะมีความคิดดังนี้ว่า อย่ากระนั้นเลย เราควรจะสรรเสริญพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรเถิด ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว ประนมอัญชลีเฉพาะพระผู้มีพระภาคแล้ว ได้กราบทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์ ด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควร ครั้นเมื่อได้กล่าวจบแล้วพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า วังคีสะ คาถาเหล่านี้เธอตรึกตรองไว้ก่อนหรือๆ ว่าแจ่มแจ้งกะเธอโดยฉับพลัน ฯ

ท่านพระวังคีสะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คาถาเหล่านี้ ข้าพระองค์มิได้ตรึกตรองไว้ก่อนเลย แต่ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์โดยทันทีเทียวแล ฯ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามเช่นนั้นโดยที่เกิดเรื่องขึ้น ได้ยินว่า เรื่องเกิดขึ้นท่ามกลางสงฆ์ว่า พระวังคีสเถระสละกิจวัตร ไม่สนใจอุทเทสปริปุจฉาและโยนิโสมนิการ เที่ยวแต่คาคาทำจุณณียบทเรื่อยไป ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า ภิกษุเหล่านี้ไม่รู้ปฏิภาณสมบัติของพระวังคีสะ พระสงฆ์เหล่านั้นเข้าใจว่า พระวังคีสะคิดแล้วคิดเล่าจึงกล่าว เราจักให้ภิกษุเหล่านี้รู้ปฏิภาณสมบัติของท่าน ครั้นทรงพระดำริแล้ว จึงตรัสว่า วังคีสะ ท่านจงกล่าวคาถาทั้งหลายที่เธอไม่ได้ตรึกตรองไว้ในกาลก่อน ให้ยิ่งกว่าที่ได้กล่าวมาแล้วเถิด ฯ

ท่านพระวังคีสะ ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคว่า ได้พระเจ้าข้า แล้วได้ทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาทั้งหลายซึ่งตนไม่ได้ตรึกตรองไว้ในกาลก่อน โดยยิ่งกว่าประมาณอีก

พระบรมศาสดาได้นำเรื่องนั้นมาเป็นเหตุเกิดเรื่อง เมื่อจะทรงสถาปนาภิกษุไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ จึงทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปฏิภาณ

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47376736
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
41752
54808
241499
46849926
863074
1172714
47376736

Your IP: 40.77.167.152
2024-11-21 17:48
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search