พระศาสดาและสงฆ์สาวก

ยสะ (พระยสะ)

ยสะ (พระยสะ)
พระยสเถระ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเดิม ยสกุลบุตร
สถานที่เกิด เมืองพาราณสี
สถานที่บวช ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
วิธีบวช เอหิภิกขุอุปสัมปทา
สถานที่บรรลุธรรม ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ฐานะเดิม
ชาวเมือง พาราณสี
นามบิดา ยสเศรษฐี
นามมารดา นางสุชาดา
วรรณะเดิม แพศย์

ประวัติ

 

ประวัติพระยสเถระ

พระยสเถระ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระลำดับแรก ๆ ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการบรรพชาโดยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยเป็นพระสงฆ์องค์ที่ ๖ ของโลก โดยได้รับการบวช จากพระบรมศาสดา ต่อจากกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ มารดาของพระเถระก็คือ นางสุชาดา เสนียธิดาผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระบรมศาสดา เมื่อครั้งทรงตัดสินพระทัยเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ในตอนเช้าวันวิสาขบุรณมี ถือเป็นพระกระยาหารมื้อก่อนที่จะทรงบรรลุพระโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมานางได้ฟังธรรมจากพระบรมศาสดาก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผลในวันนั้น ภายหลังต่อมา พระศาสดาเมื่อทรงสถาปนาเหล่าอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้นี้ไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ

พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้าพระองค์ ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระสุเมธพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สุเมธะ ท่านได้เกิดเป็นนาคราชผู้มีอานุภาพมาก ได้นำภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขไปยังนาคภพของตนแล้ว ได้ถวายมหาทาน ได้ถวายไตรจีวรที่มีค่ามากให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงครอง ได้ถวายคู่แห่งผ้า และเครื่องสมณบริขารทั้งปวงอันมีค่ามากแก่พระภิกษุรูปละคู่ ในครั้งนั้นพระสุเมธพุทธเจ้า ได้ตรัสพยากรณ์ท่านดังนี้

บุคคลใด อังคาสเราด้วยข้าวและน้ำ ให้เราเหล่านี้ทั้งหมดอิ่มพอแล้ว เราจะสรรเสริญผู้นั้น พวกท่านจงฟังเรากล่าวเถิด

ตลอดกาล ๑,๘๐๐ กัป ผู้นั้นจักชื่นชมยินดีอยู่ในเทวโลก จักชื่นชมอยู่ในความเป็นพระราชา ๑,๐๐๐ ครั้ง แล้วจักเป็นพระเจ้าจักพรรดิ์ เมื่ออุบัติในกำเนิดใด ก็อุบัติแต่ในกำเนิดเทวดาและมนุษย์เท่านั้น

ในกัปที่สามหมื่น พระมหาบุรุษพระนามว่า โคตมะ โดยพระโคตร จักทรงสมภพในพระราชวงศ์แห่งพระเจ้าโอกกากราช จักเป็นพระศาสดาในโลก เขาจักเป็นทายาทในธรรมของพระองค์ เพราะกำหนดรู้อาสวะทั้งสิ้นแล้ว จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะปรินิพพาน

เมื่อหมดอายุขัยแล้ว ก็ท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย วนเวียนอยู่เช่นนั้นตลอดสามหมื่นกัป

 

บุรพกรรมในสมัยพระสิทธัตถพุทธเจ้า

ในกาล แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ท่านได้เกิดเป็นบุตรเศรษฐี ได้นำเอารัตน ๗ ประการบูชารอบต้นมหาโพธิ์

เมื่อหมดอายุขัยแล้ว ก็วนเวียนเที่ยวตายเกิดอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก

 

บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระ นามว่า กัสสปะ ก็ได้บวชในพระศาสนา ได้บำเพ็ญสมณธรรม เมื่อหมดอายุขัยแล้ว ก็วนเวียนเที่ยวตายเกิดอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลก

 

กำเนิดเป็นยสกุลบุตรในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในกาลแห่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ได้มาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีผู้มีสมบัติมาก ในกรุง พาราณสี มารดาของท่านเป็นธิดาเศรษฐี ชื่อนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวปายาส ผสมน้ำนมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า บิดามารดาตั้งชื่อว่า ยสะ เป็นผู้ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ยสะนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ หลังหนึ่งสำหรับอยู่ในฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับอยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งสำหรับในฤดูฝน

เมื่อเขาอยู่ในปราสาทฤดูฝน ตลอดทั้ง ๔ เดือนในฤดูฝน ก็จะมีนักดนตรีสตรีล้วนบำเรออยู่ มิได้ลงมายังพื้นปราสาทชั้นล่างเลย

เมื่อเขาอยู่บนปราสาทประจำฤดูหนาวตลอด ๔ เดือน ทั่วทั้งปราสาทก็จะปิดบานประตูหน้าต่างอย่างสนิทดี และเขาก็จะอยู่ประจำบนปราสาทนั้นนั่นแล

เมื่อเขาอยู่บนปราสาทประจำฤดูร้อน ปราสาทนั้นก็จะเป็นปราสาทที่เต็มไปด้วยบานประตูและหน้าต่างมากมาย อยู่ประจำบนปราสาทนั้นนั่นแล กิจการงานที่เกี่ยวกับการนั่งเป็นต้น บนภาคพื้นไม่มี เพราะมือและเท้าของเขาละเอียดอ่อน เขาลาดพื้นให้เต็มไปด้วย ปุยนุ่นและปุยงิ้วเป็นต้นแล้ว จึงทำการงานบนหมอนที่รองพื้นนั้น

วันหนึ่ง ท่ามกลางความเพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้ง ๕ ที่กำลังบำเรอขับกล่อมอยู่ ยสกุลบุตรก็ม่อยหลับไปก่อน ฝ่ายนางบำเรอที่กำลังขับกล่อมด้วยเสียงเพลงและดนตรีอยู่นั้น เมื่อเห็นผู้เป็นนายหลับไปแล้วก็หยุดการบรรเลงขับกล่อมล้มตัวลงนอนบ้าง ครั้นเวลาจวนสว่าง ยสกุลบุตร ก็ตื่นขึ้นมาก่อนจึงได้พบเห็นบริวารของตนนอนหลับใหล บางนางก็มี พิณอยู่ที่รักแร้ บางนางก็มีตะโพนอยู่ที่ข้างลำคอ บางนางก็มีเปิงมางอยู่ที่รักแร้ บางนางก็สยายผม บางพวกก็มีน้ำลายไหล บางพวกก็บ่นเพ้อละเมอ บางพวกก็นอนแบมือคล้ายซากศพในป่าช้า

ครั้นได้มองเห็นแล้ว โทษจึงได้ปรากฏชัดแก่ยสกุลบุตรนั้น จิตเบื่อหน่ายแล้วมีความดำรงมั่น ลำดับนั้นแล ยสกุลบุตร จึงได้เปล่งอุทานว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่วุ่นวายหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่ขัดข้องหนอ

 

ได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้า

ยสกุลบุตรจึงสวมรองเท้าทองคำเดินไปยังประตูนิเวศน์ เดินออกจากบ้านไปยังประตูพระนคร จนได้เข้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

ในเวลานั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จลุกขึ้นในเวลาเช้ามืด ทรงจงกรมอยุ่ ได้ทอดพระเนตรเห็นยสกุลบุตรแต่ไกลเทียว จึงเสด็จลงจากที่จงกรม ประทับนั่งบนบัญญัตตาอาสน์ ทรงได้ยินเสียง ยสกุลบุตร ที่ได้เปล่งอุทานในที่ไม่ไกลจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ดังนี้ว่า ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่วุ่นวายหนอ ผู้เจริญทั้งหลาย ที่นี่ขัดข้องหนอ ดังนี้

 

บรรลุพระโสดาบัน

เมื่อได้ยินดังนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ตรัสกะยสกุลบุตรนั้นว่า ยสะ ที่นี่แลไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ยสะ เธอจงมานั่งเถิด เราจักแสดงธรรม ให้เธอฟัง ยสกุลบุตรเมื่อได้ยินดังนั้น ก็เกิดความยินดี ด้วยได้ยินว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง จึงถอดรองเท้าทองคำออกแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ก็นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโดยได้ตรัสแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษของกามทั้งหลาย ความต่ำช้าคือสังกิเลส แล้วทรงประกาศอานิสงส์ในเนกธัมมะ แก่ยสกุลบุตร ครั้นเมื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงทราบว่าขณะนี้ยสกุลบุตรนั้นมี จิตอันสมควร มีจิตอ่อนโยน มีจิตปราศจากนิวรณ์ มีจิตร่าเริง มีจิตแจ่มใสแล้ว จึงได้ทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงเอง อันได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ยสกุลบุตรก็บรรลุโสดาบัน บังเกิดจิตอันปราศจากธุลี จิตอันปราศจากมลทิน คือธรรมจักษุขึ้น ณ ที่นั่งนั้นนั่นเอง รู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีเหตุเป็นแดนเกิด สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา

 

แสดงธรรมโปรดเศรษฐีผู้บิดาเป็นอุบาสกรูปแรกของโลก

รุงเช้า นางวิสาขา มารดาของยสกุลบุตรนั้นไปยังปราสาท มองไม่เห็น ยสกุลบุตร จึงเข้าไปหาท่านเศรษฐีคฤหบดี พอเข้าไปหาแล้วจึงกล่าวกะท่าน เศรษฐีคฤหบดีนั่นว่า ท่านคฤหบดี ยสะ บุตรของท่านไม่อยู่ที่ปราสาท ท่านเศรษฐีคฤหบดี จึงส่งพวกทูตม้าเร็วไปติดตามทั่วทั้ง ๔ ทิศแล้ว ตัวท่านเองก็เข้าไปตามหาบุตรยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ก็ได้พบแต่รองเท้าทองคำที่ยสกุลบุตรถอดไว้ จึงได้ติดตามเข้าไป

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีคฤหบดี ผู้มาแต่ที่ไกลทีเดียว จึงทรงมีพระดำริว่า เราพึง แสดงฤทธิ์ให้เศรษฐีคฤหบดีผู้นี้มองไม่เห็นยสกุลบุตรที่นั่งอยู่ที่นี่ แล้วจึงได้แสดงฤทธิ์อย่างที่ทรงดำริไว้

เมื่อเศรษฐีคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมองไม่เห็นบุตรตน ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เห็นยสกุลบุตรบ้างไหม? พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ท่านคฤหบดี เชิญนั่งก่อน ท่านนั่งแล้วในที่นี้ ก็จะพึงได้เห็นยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่ แล้วในที่นี้ เศรษฐีคฤหบดีจึงคิดว่า นัยว่าเรานั่งแล้วในที่นี้เท่านั้น จักได้เห็นยสกุลบุตรผู้นั่งอยู่แล้วในที่นี้เป็นแน่ ดังนี้แล้ว จึงร่าเริงดีใจ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่งแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่เศรษฐีคฤหบดีผู้นั่งอยู่แล้ว ณ ที่สมควรนั้นแล ฯลฯ

เมื่อจบพระธรรมเทศนาท่านเศรษฐีคฤหบดีก็ได้เป็นผู้มีความเชื่อในคำสั่งสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลกะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ พระดำรัสน่ายินดียิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระดำรัสน่ายินดียิ่งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือจุดไฟให้สว่างไสวในที่มืด ด้วยคิดว่า รูปทั้งหลายย่อมปรากฏแก่คนนัยน์ตาดี ดังนั้นฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ ฉันนั้นเช่นกัน ทรงแสดงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายแล้วแล ข้าแต่พระ องค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมเจ้า และพระภิกษุ สงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์ขอถึงสรณะจนตลอดชีวิต

ท่านเศรษฐีนั้น ได้เป็นอุบาสก (ผู้กล่าวถึงสรณะ ๓) คนแรกในโลกดังนี้

 

ยสกุลบุตรบรรลุพระอรหัต

เมื่อพระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่บิดาของยสกุลบุตรอยู่นั้น ยสกุลบุตรก็ได้พิจารณาถึงภูมิธรรมดาตามที่ตนเห็นแล้ว ตามที่ตนทราบแล้ว จิตก็หลุดพ้นจากอาสาวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่น บรรลุเป็นพระอรหันต์ ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่ายสกุลบุตรบรรลุพระอรหันต์แล้วจึงทรงพระดำริว่า บัดนี้ ยสกุลบุตรจิตหลุดพ้น แล้วจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่น ยสกุลบุตรไม่สมควรเวียนมาเพื่อ ความเป็นคนเลว เพื่อบริโภคกามคุณ เหมือนคนครองเรือนในกาลก่อนอีก ถ้ากระไรเราพึงระงับฤทธิ์ที่กำบังตานั้นเสีย

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงระงับฤทธิ์นั้นเสียแล้ว ท่านเศรษฐีคฤหบดีจึงได้เห็นยสกุลบุตรนั่งอยู่ตรงนั้นเอง ครั้นเมื่อได้เห็นบุตรจึงได้กล่าวว่า พ่อยสะเอ๋ย! มารดาของเจ้า กำลังได้ประสบ ความเศร้าโศกปริเทวนาการมา เจ้าจงให้ชีวิตแก่มารดาเถิด ยสกุลบุตรมิได้ตอบคำเศรษฐีผู้เป็นบิดา แต่ได้แลดูพระผู้มีพระภาคเจ้า ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสกะท่านเศรษฐีคฤหบดีนั้นว่า ท่านคฤหบดี ท่านจะเห็นเป็นอย่างไร ธรรมที่ยสกุลบุตรได้เห็นแล้ว ได้ทราบแล้ว เหมือนกับท่าน แต่เมื่อยสกุลบุตรนั้น พิจารณาถึงภูมิธรรมตามที่ตนเห็นแล้ว ตามที่ตนทราบแล้ว จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ยึดมั่น เขาเป็นผู้สมควรที่จะกลับมาเพื่อความเป็นคนเลว เพื่อบริโภคกามคุณ เหมือนคนครองเรือนในกาลก่อนอย่างนั้นหรือ ?

ท่านเศรษฐีกราบทูลว่า มิใช่ ยสกุลบุตรเป็นผู้ไม่สมควรเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว เพื่อบริโภคกามคุณ เหมือนกับคนครองเรือน ในกาลก่อนเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเป็นลาภของยศกุลบุตรแล้วหนอ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยสกุลบุตรได้ดีแล้วหนอ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า จงทรงรับนิมนต์เสวยภัตตาหาร ในวันพรุ่งนี้ พร้อมด้วยยสกุลบุตรเถิด

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพแล้ว

ครั้นแล้วท่านเศรษฐีคฤหบดีจึงได้ทูลลากลับไป จากนั้น ยสกุลบุตร จึงได้กราบทูลขอบวชต่อพระ ผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ยสกุลบุตรโดยตรัสว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด แล้วได้ตรัสว่า ธรรมเรากล่าวไว้ดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้นแลได้เป็นอุปสมบทของท่านยสกุลบุตรนั้น

 

มารดาและภรรยาเก่าของพระยสได้ธรรมจักษุ

รุ่งเช้าวันต่อมา พระผู้มีพระภาคผู้มีท่านพระยสเป็นปัจฉาสมณะ (พระติดตาม) เสด็จพระพุทธดำเนินไปสู่นิเวศน์ของเศรษฐีผู้คหบดี ครั้นถึงแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย ลำดับนั้น มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสพากันเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถาแก่นางทั้งสอง คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม ตรั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นางทั้งสองมีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อจบพระธรรมเทศนา ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทินว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ก็ได้เกิดแก่นางทั้งสอง นางทั้งสองก็ได้บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง

ครั้นแล้ว มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสก็ได้ทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ หม่อมฉันทั้งสองนี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำหม่อมฉันทั้งสองว่า เป็นอุบาสิกาผู้มอบชีวิตถึงสรณะ จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป

ก็มารดาและภรรยาเก่าของท่านพระยส ได้เป็นอุบาสิกา กล่าวอ้างพระรัตนตรัยเป็นชุดแรกในโลก

ครั้งนั้น มารดาบิดาและภรรยาเก่าของท่านพระยสได้อังคาสพระผู้มีพระภาคและท่านพระยส ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตนๆ จน ทรงให้ห้ามภัต ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้มารดาบิดา และภรรยาเก่าของท่านพระยส เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะกลับไป

 

สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของพระยสออกบรรพชา

สหายคฤหัสถ์ ๔ คนของท่านพระยส คือ วิมล ๑ สุพาหุ ๑ ปุณณชิ ๑ ควัมปติ ๑ ซึ่งเป็นบุตรของสกุลเศรษฐีสืบๆ มา ในพระนครพาราณสี ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตรปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิตแล้ว ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรที่กระทำลงไปนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส ท่านจึงพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง ๔ นั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา พวกเขาก็บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง จากนั้นท่านทั้ง ๔ จึงได้ทูลขอบบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค.พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านทั้ง ๔ โดยทรงตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด

พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านทั้ง ๔ เหล่านั้น

ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.บรรลุเป็นพระอรหันต์

สมัยนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๑๑ องค์

 

สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของพระยสออกบรรพชา

สหายคฤหัสถ์ของท่านพระยส เป็นชาวชนบทจำนวน ๕๐ คน เป็นบุตรของสกุลเก่าสืบๆ กันมา ได้ทราบข่าวว่า ยสกุลบุตร ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ครั้นทราบดังนั้นแล้วได้ดำริว่า ธรรมวินัยและบรรพชาที่ยสกุลบุตรที่กระทำลงไปนั้น คงไม่ต่ำทรามแน่นอน ดังนี้ จึงพากันเข้าไปหาท่านพระยส ท่านจึงพาสหายคฤหัสถ์ทั้ง ๕๐ นั้น เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคโปรดประทานโอวาทสั่งสอนสหายของข้าพระองค์เหล่านี้

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุปุพพิกถาแก่พวกเขา คือ ทรงประกาศทานกถา สีลกถา สัคคกถา โทษ ความต่ำทรามและความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกจากกาม เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ดวงตาเห็นธรรมปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ได้เกิดแก่พวกเขา พวกเขาก็บรรลุโสดาบัน ณ ที่นั่งนั้นเอง จากนั้นท่านทั้ง ๕๐ จึงได้ทูลขอบบรรพชา อุปสมบทต่อพระผู้มีพระภาค.พระผู้มีพระภาคจึงทรงโปรดประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่ท่านทั้ง ๕๐ โดยทรงตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วได้ตรัสต่อไปว่า ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด

พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่านทั้ง ๕๐ เหล่านั้น

ต่อมา พระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนภิกษุเหล่านั้นด้วยธรรมีกถา เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของภิกษุเหล่านั้น พ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น.บรรลุเป็นพระอรหันต์

สมัยนั้น จึงมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖๑ องค์

 

บุรพกรรมของชน ๕๕ คนมียสกุลบุตรเป็นต้น

วันหนึ่งพระศาสดา ทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน ทรงประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสองแล้วทรง แสดงพระปาติโมกข์ เหล่าภิกษุบางพวกจึงกล่าวติเตียนว่า

“พระศาสดา ประทานตำแหน่งแก่พระอัครสาวกทั้งสองโดยเห็นแก่หน้า พระองค์เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ควรประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ผู้บวชเป็นพวกแรกสุด พ้นจากพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๕๕ รูป มีพระยสเถระเป็นประมุข พ้นจากภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่พระพวกภัทรวัคคีย์ พ้นจากภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๓ พี่น้อง มีพระอุรุเวลกัสสปะเป็นต้น แต่พระ ศาสดาทรงละเลยภิกษุเหล่านั้นทั้งหมด เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ก็ทรงเลือกหน้า ประทานแก่ผู้บวชภายหลังเขาเหล่านั้น”

พระศาสดาตรัสถามภิกษุทั้งหลายถึงเรื่องที่พวกภิกษุเหล่านั้นพูดกันอยู่ ภิกษุทั้งหลายทูลเรื่องที่ตนพูดกัน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เราหาเลือกหน้าให้ตำแหน่งแก่พวกภิกษุไม่ แต่เราให้ ตำแหน่งที่แต่ละคน ๆ ตั้งจิตปรารถนาไว้แต่ปางก่อนแล้ว ๆ นั่นแล” และพระศาสดาทรงเล่าถึงบุรพกรรมของชนเหล่านั้น โดยเล่าถึงบุรพกรรมของยสกุลบุตรและสหายอีก ๕๔ คนไว้ดังนี้

กลุ่มพระยสกุลบุตรทั้ง ๕๕ คนนั้น เคยตั้งจิตปรารถนาพระอรหัต ไว้ในสำนักพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง และปฏิบัติทำกรรมที่เป็นบุญไว้เป็นอันมาก ครั้งหนึ่งในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น เขาเหล่านนั้นเป็นสหายกัน ร่วมเป็นพวกกันทำบุญโดยเที่ยวจัดแจงศพคนไร้ที่พึ่ง วันหนึ่ง พวกเขาพบศพหญิงตายทั้งกลม จึงตกลงกันว่าจะเผาเสีย จึงนำศพนั้นไปป่าช้า เมื่อนำศพมาถึงป่าช้าแล้ว ยสกุลบุตรกับเพื่อนอีก ๔ คน จึงอยู่ที่ป่าช้านั้นเพื่อจัดการเผาศพ ส่วนเพื่อนที่เหลืออีก ๕๐ คนก็กลับไป

ในขณะที่ทำการเผาศพหญิงตายทั้งกลมอยู่นั้น ยสกุลบุตรได้ใช้หลาวเขี่ยศพนั้นเพื่อพลิกศพกลับไปกลับมาให้โดนไฟทั่ว ๆ ขณะที่เอาไม้เขี่ยร่างศพอยู่นั้นก็ได้พิจารณาศพที่ถูกเผา ได้อสุภสัญญาแล้ว เขาจึงแสดงอสุภสัญญาแก่สหายอีก ๔ คนนั้นว่า “นี่เพื่อน ท่านจงดูศพนี้ มีหนังลอกแล้วในที่นั้น ๆ ดุจรูปโคด่าง ไม่สะอาด เหม็น น่าเกลียด ” สหายทั้ง ๔ คนนั้นก็ได้อสุภสัญญาในศพนั้น แล้วคนทั้ง ๕ นั้นเมื่อเผาศพเสร็จแล้วจึงได้นำอสุภสัญญาที่ปรากฏแก่ตนนั้น ไปบอกแก่สหายที่เหลือ ส่วนยสกุลบุตรนั้นเมื่อกลับถึงเรือนแล้วก็ได้บอกแก่มารดาบิดาและภรรยา คนทั้งหมดนั้นก็เจริญอสุภสัญญาแล้ว

ในขณะที่ทำการเผาศพหญิงตายทั้งกลมอยู่นั้น ยสกุลบุตรได้ใช้หลาวเขี่ยศพนั้นเพื่อพลิกศพกลับไปกลับมาให้โดนไฟทั่ว ๆ ขณะที่เอาไม้เขี่ยร่างศพอยู่นั้นก็ได้พิจารณาศพที่ถูกเผา ได้อสุภสัญญาแล้ว เขาจึงแสดงอสุภสัญญาแก่สหายอีก ๔ คนนั้นว่า “นี่เพื่อน ท่านจงดูศพนี้ มีหนังลอกแล้วในที่นั้น ๆ ดุจรูปโคด่าง ไม่สะอาด เหม็น น่าเกลียด ” สหายทั้ง ๔ คนนั้นก็ได้อสุภสัญญาในศพนั้น แล้วคนทั้ง ๕ นั้นเมื่อเผาศพเสร็จแล้วจึงได้นำอสุภสัญญาที่ปรากฏแก่ตนนั้น ไปบอกแก่สหายที่เหลือ ส่วนยสกุลบุตรนั้นเมื่อกลับถึงเรือนแล้วก็ได้บอกแก่มารดาบิดาและภรรยา คนทั้งหมดนั้นก็เจริญอสุภสัญญาแล้ว

นี้เป็นบุพกรรมของคน ๕๕ คน มียสกุลบุตรเป็นต้นนั้น เพราะฉะนั้นในสมัยปัจจุบัน ความที่เห็นว่าในเรือนของตน ที่เกลื่อนไปด้วยสตรีเป็นดุจป่าช้าจึงเกิดแก่ยสกุลบุตร และด้วยอุปนิสัยสมบัติแห่งอสุภสัญญาที่เคยได้มานั้น การบรรลุคุณวิเศษจึงเกิดขึ้นแก่พวกเขาทั้งหมด คนเหล่านี้ได้รับผลที่ตนปรารถนาแล้วเหมือนกัน ด้วยประการอย่างนี้ หาใช่พระบรมศาสดาเลือกหน้าแต่งตั้งให้ไม่

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47409909
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
7824
67101
274672
46849926
896247
1172714
47409909

Your IP: 3.144.2.5
2024-11-22 05:52
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search