เอตทัคคมหาสาวกผู้บรรลุปฏิสัมภิทาประวัติพระมหาโกฏฐิตเถระ
การที่ท่านพระมหาโกฏฐิตเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทา นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องนั้นๆ คือเรื่องปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เป็นพิเศษ และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้
บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
พระเถระรูปนี้ ในอดีตก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลมีทรัพย์มากในหังสวดีนคร ครั้นเมื่อเติบใหญ่ มารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว ก็สืบมรดกปกครองทรัพย์นั้นแทน วันหนึ่งในเวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรม ท่านได้มองเห็นชาวหังสวดีนคร ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ซึ่งกำลังเดินไปในทิศอันเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมกับคนเหล่านั้นด้วย เมื่อได้เข้าเฝ้าแล้วท่านก็ได้เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ท่านจึงคิดว่า ทำอย่างไรเราจะพึงเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเหมือนดังภิกษุรูปนี้บ้าง ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่ง ดังนั้นในเวลาจบเทศนาของพระศาสดา เมื่อบริษัทลุกไปแล้ว จึงเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลนิมนต์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พรุ่งนี้ขอนิมนต์รับภิกษาที่เรือนของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า
พระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว เขาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทำประทักษิณแล้ว กลับไปยังเรือนของตน เอาของหอมและดอกไม้เป็นต้น ประดับที่ที่ประทับนั่งของพระพุทธเจ้า และที่นั่งของภิกษุสงฆ์ตลอดทั้งคืนยังรุ่งแล้ว ให้คนจัดแจงขาทนียะ (ของควรเคี้ยว, ของขบของเคี้ยว ได้แก่ผลไม้ต่างๆ และเหง้าต่างๆ เช่น เผือกมัน เป็นต้น) และโภชนียะ (ของควรบริโภค,ของสำหรับฉัน ได้แก่ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลา เนื้อ เป็นต้น) ณ ที่อยู่ของตน
ครั้นรุ่งเช้า ได้นิมนต์พระศาสดา ซึ่งมีภิกษุแสนรูปเป็นบริวารให้ฉันข้าวสาลีอันมีกลิ่นหอม พร้อมทั้งสูปะและพยัญชนะอันเป็นบริวารของยาคูและของเคี้ยวนานาชนิด ในเวลาเสร็จภัตรกิจ คิดว่าเราจะขอปรารถนาตำแหน่งให้ยิ่งใหญ่แล แต่เราไม่ควรถวายทานเพียงวันเดียวเท่านั้น ควรถวายทานตลอด ๗ วันตามลำดับเพื่อปรารถนาตำแหน่งนั้น แล้วจักปรารถนา
เขาได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน โดยทำนองนั้นนั่นแล ในเวลาเสร็จภัตรกิจ ให้คนเปิดโรงเก็บผ้าแล้ววางผ้าเนื้อละเอียดชั้นเยี่ยมซึ่งเพียงพอทำเป็นไตรจีวรได้ ณ ที่บาทมูลของพระพุทธเจ้า และได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุแสนรูปแล้ว เข้าไปใกล้พระตถาคตเจ้าหมอบลงที่บาทมูลของพระศาสดาแล้วตั้งความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปใดที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้ปฏิสัมภิทาในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้ แม้ข้าพระองค์ก็พึงเป็นเหมือนภิกษุรูปนั้นบ้างคือ ขอให้ได้บวชในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้จะทรงอุบัติในอนาคตกาลแล้ว พึงเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทาเถิด พระศาสดาทรงทราบถึงความสำเร็จของเขา จึงทรงพยากรณ์ว่า
ในอนาคตกาล คือในที่สุดแห่งแสนกัปแต่นี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้นในโลก ความปรารถนาของเธอ จักสำเร็จในพระศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล
ท่านได้ฟังพระพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็เป็นผู้เบิกบาน มีจิตประกอบด้วยเมตตา บำรุงพระชินสีห์เจ้าตราบเท่าสิ้นชีวิต ในครั้งนั้น เพราะเป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา เพราะผลกรรมนั้นและเพราะการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อท่านละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปเกิดยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เสวยราชสมบัติ ในเทวโลก ๓๐๐ ครั้งได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง และได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์โดยคณนานับมิได้ เพราะกรรมนั้นนำไป ท่านจึงเป็นผู้ถึงความสุขในทุกภพ ท่องเที่ยวไปแต่ในสองภพ คือในเทวดาและมนุษย์ ท่านเมื่อเกิดในภูมิมนุษย์ก็เกิดแต่ในสองสกุล คือสกุลกษัตริย์ และสกุลพราหมณ์ หาเกิดในสกุลอันต่ำทรามไม่นี้ เป็นผลแห่งกรรมที่สั่งสมไว้ดี
กำเนิดเป็นโกฏฐิตพราหมณ์ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านถือกำเนิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ชื่ออัสสลายนะ กับนางพราหมณ์ชื่อจันทวดี ซึ่งเป็นตระกูลที่มีทรัพย์สมบัติมาก ในพระนครสาวัตถี เมื่อถึงคราวตั้งชื่อ มารดาบิดาได้ตั้งชื่อท่านว่า โกฏฐิตะ เมื่อเติบใหญ่ขึ้นก็เล่าเรียนไตรเพท จนถึงความสำเร็จในศิลปของพราหมณ์
บิดาของท่านนั้นในคราวที่ท่านยังเป็นมาณพอายุเพียง ๑๖ ปี ก็ได้รับมอบหมายจากพวกพราหมณ์ผู้มาจากแคว้นต่างๆ ประมาณ ๕๐๐ คน ที่พักอาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถีด้วยกรณียกิจบางอย่าง ครั้งนั้นพราหมณ์เหล่านั้นได้คิดกันว่า พระสมณโคดมนี้ ทรงบัญญัติความบริสุทธิ์ทั่วไปแก่วรรณะทั้ง ๔ ใครหนอพอจะสามารถเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้ ก็เห็นว่าอัสสลายนมาณพเป็นผู้ฉลาดในเวทางคศาสตร์ในตักกศาสตร์ของตนและของผู้อื่น ในนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ของตน ในประเภทแห่งอักษรสมัยของตน และในการพยากรณ์ทั้งหมด เขาคงสามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมใน จึงมอบหมายหน้าที่นั้นให้แก่อัสสลายนมาณพ ซึ่งอัสสลายนมาณพนั้นก็รับคำด้วยความไม่เต็มใจโดยกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้ายอมไม่ได้แน่ ได้ทราบว่าพระสมณโคดมเป็นธรรมวาที ก็อันบุคคลผู้เป็นธรรมวาที ย่อมเป็นผู้ อันใครๆ จะพึงเจรจาโต้ตอบได้โดยยาก ข้าพเจ้าจะไม่สามารถจะเจรจาโต้ตอบกับพระสมณโคดมในคำนั้นได้ ก็แต่ว่า ข้าพเจ้าจักไปตามคำของท่านทั้งหลาย
แต่ครั้นเมื่ออัสสลายนมาณพได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาค ก็เกิดความเลื่อมใส ในอัสสลายนสูตร ได้กล่าวว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อัสสลายนมาณพได้กราบทูลพระผู้มี พระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดม โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป
จากนั้นมาเมื่ออัสสลายนมาณพได้มีครอบครัว ก็ได้สั่งสอนบุตรคือ โกฏฐิตะ ให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา วันหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระศาสดาฟังธรรมแล้ว ได้มีศรัทธาบวช โดยพระโมคคัลลานะ เป็นอาจารย์ พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ ในขณะที่กำลังอุปสมบทนั้น ท่านก็ตัดทิฏฐิพร้อมด้วยมูลรากเสียได้ในเมื่อกำลังปลงผม และเมื่อกำลังนุ่งผ้ากาสาวะ ก็ได้บรรลุอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔
ปฏิสัมภิทา ความแตกฉาน, ความรู้แตกฉาน, ปัญญาแตกฉาน มี ๔ คือ ๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ ๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม ๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติคือ ภาษา ๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ, ความแตกฉานสามารถอธิบายเนื้อความย่อของภาษิตโดยพิสดารและความเข้าใจที่สามารถคาดหมายผลข้างหน้าอันจะเกิดสืบเนื่องไปจากเหตุ ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม, เห็นคำอธิบายพิสดาร ก็สามารถจับใจความมาตั้งเป็นหัวข้อได้เห็นผลก็สืบสาวไปหาเหตุได้ นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในภาษา คือเข้าใจภาษา รู้จักใช้ถ้อยคำให้คนเข้าใจ ตลอดทั้งรู้ภาษาต่างประเทศ ปฏิภาณปฏิสัมภิทาความแตกฉานในปฏิภาณได้แก่ไหวพริบคือ โต้ตอบปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที หรือแก้ไขเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ฉับพลันทันการ
ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
พระเถระนั้น นับแต่เวลาที่ได้อุปสมบท และบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว ก็เป็นผู้ชำนาญเชี่ยวชาญ ในปฏิสัมภิทาญาณ มีปรีชาแตกฉานในอรรถ ธรรม นิรุตติและปฏิภาณ เมื่อเวลาเข้าไปหาพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเพื่อถามปัญหาก็ดี หรือแม้เมื่อเข้าเฝ้าพระทศพลเพื่อทูลถามปัญหาก็ดี ก็ถามปัญหาเฉพาะในปฏิสัมภิทาเท่านั้น
ครั้งนั้น พระศาสดาทรงกระทำมหาเวทัลลสูตร ให้เป็นอัตถุปปัติ (เหตุเกิดเรื่อง) ทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้บรรลุปฏิสัมภิทาญาณ โดยมีพระพุทธดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระมหาโกฏฐิตะเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้บรรลุปฏิสัมภิทา
ในมหาเวทัลลสูตรนั้นเป็นเรื่องของการถามปัญหาโดยท่านพระมหาโกฏฐิกะ และท่านพระสารีบุตรเป็นผู้ตอบ มีความโดยย่อว่า
เรื่องปัญญากับวิญญาณ เรื่องเวทนาสัญญาและวิญญาณ เรื่องประโยชน์แห่งปัญญาและเหตุเกิดสัมมาทิฏฐิ เรื่องภพและฌาน เรื่องอินทรีย์ ๕ เรื่องปัจจัยเจโตวิมุติ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวแก้ปัญหานี้แล้ว ท่านพระมหาโกฏฐิกะชื่นชมยินดีภาษิตของท่านพระสารีบุตร ฉะนี้แล
พระอรรถกถาจารย์ได้พรรณนาความเป็นผู้มีปัญญามากของพระเถระไว้มีความโดยสรุปดังนี้
อันภิกษุที่มีปัญญาน้อย ไม่สามารถที่จะถึงปฏิสัมภิทาทั้งสี่อย่างได้เลย ต่อเป็นผู้มีปัญญามากจึงจะสามารถ เพราะความเป็นผู้มีปัญญามาก ดังที่ว่ามานี้ พระมหาโกฏฐิตเถระจึงถึงปฏิสัมภิทาที่แตกฉานทั้งสี่ประเภท ที่แน่นหนาไปด้วยนัยไม่มีที่สุดด้วยอำนาจการประกอบไว้ในเบื้องต้นด้วยการบรรลุ การสอบถามและการฟัง. เหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ ในตำแหน่งเลิศว่า "ภิกษุทั้งหลาย ตำแหน่งอันเลิศแห่งเหล่าภิกษุผู้บรรลุปฏิสัมภิทา ซึ่งเป็นสาวกของเรานั้นคือ มหาโกฏฐิกะ" ดังนี้ ด้วยความเป็นผู้มีปัญญามากดังกล่าวมานี้ พระเถระจึงตั้งปัญหาขึ้นก็ได้ ชี้ขาดก็ได้ ทั้งสองอย่างก็ได้. ขณะที่ท่านนั่งในที่พักกลางวัน ท่านเองได้ตั้งปัญหาทุกข้อขึ้นมาแล้ว ท่านเองจะวินิจฉัยพระสูตรนี้ (มหาเวทัลลสูตร) ตั้งแต่ต้นจนถึงจบก็ได้ แต่ท่านคิดว่า "ธรรมเทศนานี้งามเหลือเกิน จำเราจะเทียบเคียงกับท่านแม่ทัพธรรมผู้พี่ชายใหญ่ ต่อจากนั้น พระธรรมเทศนาที่เราสองคนใช้มติอย่างเดียวกัน ใช้อัธยาศัยอย่างเดียวกันตั้งไว้นี้ จะกลายเป็นธรรมเทศนาที่หนักแน่น ปานร่มหิน และจะกลายเป็นธรรมเทศนาที่มีอุปการะมาก เหมือนเรือที่จอดไว้ที่ท่า สำหรับผู้ต้องการข้ามห้วงน้ำทั้งสี่แห่ง และเหมือนรถเทียมม้าอาชาไนยพันตัว สำหรับผู้ต้องการไปสวรรค์." ดังนี้ จึงถามปัญหา
ที่อยู่ : 23/2 หมู่ 7 โรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
dummy 02-831-1000 ต่อ 13710