มหากัปปินเถระ(พระมหากัปปินเถระ)

  • Creation Date: 10 กรกฎาคม 2562
  • Hits: 2985
  • Author: เอกพจน์
มหากัปปินเถระ(พระมหากัปปินเถระ)

ประวัติ

ประวัติพระมหากัปปินเถระ

เอตทัคคมหาสาวกผู้โอวาทภิกษุ

การที่ท่านพระมหากัปปินเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้โอวาทภิกษุนั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยอัตถุปปัตติเหตุ คือเหตุเกิดเรื่อง ด้วยพระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องการทำให้พระสมณะ ๑,๐๐๐ รูปดำรงอยู่ ในพระอรหัต ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้าพระ องค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้มากในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตระ ท่านได้บังเกิดในหังสวดีนคร บรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นผู้พิพากษาอยู่ในพระนคร เมื่อกำลังฟังพระธรรมเทศนา ในสำนักของพระศาสดา ได้มองเห็นภิกษุรูปหนึ่ง ที่พระศาสดาทรงสถาปนา ไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าพวกภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุแล้ว เราได้ฟังแล้วเกิดปีติโสมนัส นิมนต์ พระตถาคตพร้อมด้วยศิษย์ ให้เสวยและฉันแล้วปรารถนาตำแหน่งนั้น

ครั้งนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสว่า จงดูมหาอำมาตย์ผู้แกล้วกล้าในการตัดสิน หมอบอยู่แทบเท้าของเรา มีใจสูงด้วยปิติ มีวรรณะ นัยน์ตาและหน้าผ่องใส มีบริวารเป็นอันมาก ทำราชการ มียศใหญ่ มหาอำมาตย์นี้เขาปรารถนาตำแหน่งภิกษุ ผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ เพราะด้วยการบริจาคบิณฑบาตนี้ และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เขาจักไม่เข้าถึงทุคติเลยตลอดแสนกัป จักเสวยความเป็นผู้มีโชคดีในหมู่ทวยเทพ และจักเสวยความเป็น ใหญ่ในหมู่มนุษย์

ในแสนกัปแต่กัปนี้ พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก มหาอำมาตย์นี้ จักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักเป็นสาวกของพระศาสดามีนามชื่อว่ากัปปินะ จักบรรลุถึงนิพพาน

 

บุรพกรรมในสมัยว่างจากพระพุทธเจ้า

เขาได้กระทำกุศลกรรมไว้ในมนุษยโลกนั้น จนตลอดชีวิตแล้วท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้มาบังเกิดในเรือนของท่านหัวหน้าช่างหูก ในหมู่บ้านช่างหูกแห่งหนึ่ง ในที่อันไม่ไกลจากกรุงสาวัตถีนัก

 

พระปัจเจกพุทธเจ้าทูลขอหัตถกรรมทำเสนาสนะ

ในคราวนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ อยู่ที่ภูเขาหิมวันต์ ๘ เดือน เวลาจะเข้าพรรษาก็มาอยู่ในชนบท ๔ เดือน พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ครั้งแรกก็ลงมาในที่อันไม่ไกลจากกรุงพาราณสีแล้ว ส่งพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์ ไปพบพระราชายังพระราชวังด้วยคำว่า พวกท่านจงขอหัตถกรรมเพื่อก่อสร้างเสนาสนะ ดังนี้ ก็ในคราวนั้นได้มีพระราชพิธีวัปปมงคล (พืชมงคล) พระราชา นั้นได้ทรงทราบว่านัยว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา จึงเสด็จออกมาถาม ถึงเหตุที่ท่านพากันมาแล้ว ตรัสว่า ท่านผู้เจริญ วันนี้ไม่มีโอกาส พรุ่งนี้เป็น พระราชพิธีวัปปมงคลของโยม วันที่ ๓ โยมจักทำกิจให้ดังนี้แล้ว ไม่นิมนต์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย เสด็จเข้าไปแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายพากันหลีกไปด้วยกล่าวว่า พวกเราจักเข้าไปยังหมู่บ้านอื่น ดังนี้

 

พวกบ้านช่างหูกทำบุญ

ในสมัยนั้น ภริยาของหัวหน้าช่างหูก เดินทางไปยังกรุงพาราณสี ด้วยหน้าที่การงานบางอย่าง ได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นเข้า จึงเอ่ย ถามว่า

พระคุณเจ้ามาในกาลอันมิใช่เวลาเพื่อต้องการอะไรเจ้าคะ

พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นได้เล่าเรื่องแต่ต้นให้ฟังแล้ว หญิงผู้สมบูรณ์ด้วยศรัทธาถึง พร้อมด้วยปัญญา พอได้ฟังเรื่องนั้นแล้ว จึงกราบเรียนนิมนต์ว่า

ท่านเจ้าขา พรุ่งนี้นิมนต์รับภิกษาของพวกดิฉันนะเจ้าคะ

พระปัจเจกพุทธเจ้า กล่าวว่า โยมน้องหญิง พวกอาตมภาพมีด้วยกันมากองค์

หญิงนั้นถามว่า มีกี่องค์พระคุณเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้าตอบว่า มีประมาณ ๑,๐๐๐ องค์น้องหญิง

หญิงคนนั้น กราบเรียนว่า ท่านเจ้าขา ในหมู่บ้านของพวกดิฉันนี้ ก็มีคนอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คนเช่นกัน คนคนหนึ่งจะถวายภิกษุแก่ภิกษุองค์หนึ่ง ขอนิมนต์ท่านจงรับภิกษาเถิด ดิฉันคนเดียว จักให้ช่างก่อสร้างที่อยู่สำหรับพระคุณเจ้าทั้งหลาย

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายรับนิมนต์แล้ว

หญิงคนนั้น เข้าไปยังหมู่บ้านโฆษณาป่าวร้องว่า แม่พ่อทั้งหลายเอย ฉันได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าประมาณ ๑,๐๐๐ องค์ได้นิมนต์ท่านไว้แล้ว พวกท่านจงช่วยกันตระเตรียมที่สำหรับพระคุณเจ้าทั้งหลายด้วย และจงช่วยกันตระเตรียมข้าวยาคูและภัตรเป็นต้นด้วย

ดังนี้แล้ว ให้คนช่วยกันก่อสร้างมณฑปในท่ามกลางหมู่บ้าน ให้ปูลาดอาสนะทั้งหลายไว้ พอถึงวันรุ่งขึ้น จึงนิมนต์ให้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายนั่งแล้ว อังคาสด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต ในเวลาเสร็จภัตรกิจ ได้พาผู้หญิงทั้งหมดในหมู่บ้านนั้นมา ได้ไหว้พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายพร้อมกับผู้หญิงเหล่านั้น นิมนต์ให้ท่านรับปฏิญญา เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดไตรมาสแล้ว จึงได้ป่าวร้องในหมู่บ้านอีกว่า

แม่และพ่อทั้งหลาย บุรุษคนหนึ่งๆ จากตระกูลหนึ่งๆ (คัดเอาผู้ชายบ้านละคน) ให้ถือมีดและขวานเป็นต้น เข้าป่าไปนำทัพพสัมภาระมาแล้ว จงสร้างที่อยู่ ถวายสำหรับพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายเถิด

พวกชาวบ้านได้ฟังคำของนางนั้น แล้ว แต่ละคนก็สร้างบรรณศาลาคนละหลัง ทำงานก่อสร้างทั้งคืนทั้งวัน จน บรรณศาลา ๑,๐๐๐ หลังเสร็จเรียบร้อยแล้ว กราบเรียนพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ซึ่งเข้าไปอยู่ในบรรณศาลาของตนของตนว่า เราจักบำรุงท่านโดยความเคารพ เราจักบำรุงท่านโดยความเคารพแล้ว จึงได้พากันบำรุง

พอถึงเวลาออกพรรษาแล้ว ภริยาหัวหน้าช่างหูกคนนั้น จึงกล่าวว่า พวกท่านจงตระเตรียม ผ้าจีวรสาฎก ถวายแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้อยู่จำพรรษาแล้ว ในบรรณศาลาของตนของตนเถิด แล้วช่วยตระเตรียมเสร็จแล้ว จึงได้ช่วยกันถวายผ้าจีวร มีค่า ๑,๐๐๐ แด่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ละ ๑ ผืน ออกพรรษาแล้วพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ทำอนุโมทนาแล้วก็หลีกไป

แม้พวกชาวบ้านที่ทำบุญกรรม นี้แล้ว จุติจากอัตภาพนั้น ได้ไปบังเกิดในดาวดึงสเทวโลก ได้เป็นผู้ชื่อว่า คณเทวดา.เทวดาเหล่านั้น ได้เสวยทิพยสมบัติในดาวดึงสเทวโลกนั้นแล้ว

 

บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้พากันมาบังเกิดในบ้านเรือนของพวกคหบดี หัวหน้าช่างหูกในกาลก่อน ได้มาเกิดเป็นลูกชายของหัวหน้าคหบดี แม้ภริยาของหัวหน้าช่างหูกในกาลก่อน ก็ได้มาเกิดเป็นลูกสาวของหัวหน้าคหบดีคนหนึ่ง พวกภริยาของช่างหูกที่เหลือในกาลก่อน ได้มาเกิดเป็นพวกลูกสาวของคหบดีที่เหลือทั้งหลาย หญิงเหล่านั้นทั้งหมดเมื่อเจริญวัยแล้ว เมื่อจะแต่งงานมีเหย้าเรือน ต่างก็แต่งงานกับคู่ของตนในกาลก่อน

 

คหบดีถวายมหาทาน

 

ภรรยาของกุฎุมพีถวายดอกอังกาบ

 

 

ภายหลังวันหนึ่ง เมื่อมีการป่าวประกาศให้ ไปฟังธรรมที่พระวิหาร พวกคหบดีเหล่านั้นทั้งหมดได้ทราบว่า พระศาสดาจักทรงแสดงธรรม จึงได้ไปยังพระวิหารพร้อมกับภริยาเพื่อฟังธรรม ในขณะที่คนเหล่านั้นเข้าไปยังท่ามกลางพระวิหาร ฝนก็ตกลงมา พวกคนที่รู้จักมักคุ้นกับพระหรือมีญาติที่เป็นสามเณรเป็นต้น ต่างก็เข้าไปยังที่พักของพระและสามเณรที่คุ้นเคยเป็นญาติกันเหล่านั้น เพื่อหลบฝน แต่คหบดีเหล่านั้น ไม่อาจจะเข้าไปในที่แห่งใดแห่งหนึ่งได้ เพราะไม่มีพระภิกษุสามเณรที่รู้จักหรือเป็นญาติเช่นนั้นเลย จึงได้ยืนอยู่กลางฝนนั้น

หัวหน้าคหบดีเหล่านั้นกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย จงดูอาการอันน่าอับอายของพวกเรา ธรรมดา กุลบุตรทั้งหลาย ละอายด้วยเหตุเช่นนี้ ก็สมควรแล้ว

พวกคหบดีจึงถามว่า พวกเราจะทำอย่างไรดีนาย

หัวหน้าจึงพูดว่า พวกเราถึงซึ่งการอันน่าอายนี้ เพราะไม่มีที่อยู่สำหรับผู้คุ้นเคยกัน พวกเราทั้งหมดจักรวบรวมทรัพย์สร้างบริเวณ

พวกคหบดีจึงพูดว่า ดีละนาย

หัวหน้าคหบดีจึงได้ให้ทรัพย์พันหนึ่ง คนที่เหลือได้ให้ทรัพย์คนละห้าร้อย พวกผู้หญิงได้ให้ทรัพย์คนละสองร้อยห้าสิบ คหบดีเหล่านั้นนำทรัพย์นั้นมาแล้ว มอบให้ช่างสร้างปราสาท เรียงรายไป ๑,๐๐๐ หลัง ได้ชื่อว่าเป็นบริเวณกว้างขวางเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับพระศาสดา เพราะค่าที่การก่อสร้างนั้นใหญ่ไป เมื่อทรัพย์ที่บริจาคไปนั้นไม่เพียงพอ จึงได้ช่วยกันออกให้อีกครึ่งหนึ่งของจำนวนทรัพย์ที่ได้บริจาคให้แล้วในครั้งก่อน เมื่อบริเวณสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว ก็ทำการฉลองพระวิหาร ได้ถวายมหาทานแต่ ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ตลอด ๗ วันแล้ว จัดแจงผ้าจีวรสำหรับ ภิกษุ ๒,๐๐๐ องค์

 

ภรรยาของกุฎุมพีถวายดอกอังกาบ

ส่วนภริยาของหัวหน้าคหบดี คิดว่า เราจักไม่ทำให้เสมอกับพวกเขา แต่จะทำให้ยิ่งไปกว่าพวกเขาคือ จักบูชาพระศาสดา ดังนี้แล้ว จึงถือเอาผอบบรรจุดอกอโนชา (ดอกอังกาบ) พร้อมกับผ้าสาฎก มีมูลค่า ๑,๐๐๐ ซึ่งมีสีดุจดอกอโนชาแล้ว เอาดอกอโนชาบูชาพระศาสดา วางผ้าสาฎกนั้นไว้ใกล้บาทมูลของพระศาสดา ได้ตั้งความปรารถนาไว้ว่า ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ขอให้สรีระของข้าพระองค์จงมีสีคล้ายดอกอโนชา ในที่ที่ ข้าพระองค์เกิดแล้วเกิดแล้วเถิด และจงมีชื่อว่า อโนชา ดังนี้เถิด พระศาสดา ได้ทรงกระทำอนุโมทนาด้วยพระดำรัสว่า จงสำเร็จดังปรารถนาเถิด คนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดดำรงอยู่จนตลอดอายุแล้ว จุติจากอัตภาพนั้นได้ไปบังเกิด ในเทวโลก ท่องเที่ยวไปในเทวโลก และมนุษยโลก ตลอดพุทธันดรหนึ่ง

 

กำเนิดเป็นพระเจ้ามหากัปปินะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในพุทธบาทกาลนี้ เทวดาเหล่านั้น จุติจากเทวโลกแล้ว ผู้เป็นหัวหน้าคหบดี ได้บังเกิดในราชตระกูลในกุกกุฏวดีนคร บรรลุนิติภาวะแล้ว ได้เป็นพระเจ้ามหากัปปินะ คนที่เหลือได้ไปบังเกิดในตระกูลอำมาตย์ทั้งหมด ภริยาของหัวหน้าคหบดีได้บังเกิดในราชตระกูล ในมัททรัฐสาคลนคร พระ นางได้มีพระสรีระงามมีสีดุจดอกอโนชาทีเดียว ด้วยเหตุนั้นพระชนกพระชนนี จึงได้ทรงขนานพระนามของพระนางว่า อโนชา นั่นแล พระนางทรงเจริญวัย แล้ว ก็อภิเษกเป็นพระมเหษีของพระเจ้ามหากัปปินะ ได้มีพระนามปรากฏว่า อโนชาเทวี

พวกผู้หญิงที่เหลือ ก็ได้ไปบังเกิดในตระกูลพวกอำมาตย์ เมื่อเจริญวัย แล้ว ได้แต่งงานกับบุตรอำมาตย์เหล่านั้นแล คนเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้เสวยสมบัติเช่นกับสมบัติของพระราชา ในกาลใด พระเจ้าแผ่นดินทรงประดับด้วยเครื่องทรงอลังการพร้อมสรรพ เสด็จขึ้นหลังพญาช้างเที่ยวไป แม้ในกาลนั้น คนเหล่านั้นก็เที่ยวไปอย่างนั้นเหมือนกัน เมื่อพระราชาพระองค์นั้น เสด็จเที่ยวไปด้วยม้าหรือด้วยรถ ถึงพวกอำมาตย์เหล่านั้นก็เที่ยวไปอย่างนั้นเหมือนกัน เพราะกำลังแห่งบุญเป็นอันมากที่ได้ทำไว้ร่วมกันอย่างนั้น พวกอำมาตย์เหล่านั้นจึงได้เสวยสมบัติอย่างเดียวกันกับพระราชาแล

ก็พระราชามีม้า ๕ ตัวคือม้าชื่อว่า วาละ วาลวาหนะ ปุปผะ ปุปผวาหนะ และม้าชื่อว่า สุปัตตะ ในบรรดาม้า ๕ ตัวเหล่านั้น พระราชาย่อมทรงม้าชื่อว่าสุปัตตะด้วยพระองค์เอง ส่วนม้าอีก ๔ ตัวนอกนี้ได้พระราชทานแก่พวกคนขี่ม้าทั้งหลาย เพื่อใช้นำข่าวสารมา พระราชาให้พวกคนเหล่านั้นบริโภคแต่เช้าตรู่แล้ว ทรงส่งพวกเขาไปด้วยพระราชดำรัสว่า พวกท่านจงเที่ยวไปในระยะทาง ๒ โยชน์ หรือ ๓ โยชน์ แล้วสืบเสาะฟังว่า พระพุทธเจ้า พระธรรมหรือ ว่าพระสงฆ์ อุบัติขึ้นแล้ว จงนำข่าวมาบอกแก่เรา คนเหล่านั้นออกจากประตูทั้ง ๔ ทิศแล้ว เที่ยวไปได้ ๒ - ๓ โยชน์ ไม่ได้รับข่าวสาร อะไรๆ เลย จึงกลับมา

 

พระราชาได้ข่าวพระรัตนตรัยจากพ่อค้า

วันต่อมา พระราชาเสด็จขึ้นม้าสุปัตตะ ทรงมีอำมาตย์พันคนเป็นบริวาร กำลังเสด็จไปยังพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นพวกพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ คน ผู้ซึ่งมีร่างกายอิดโรยเหนื่อยอ่อนกำลังเข้าไปยังพระนคร จึงทรงดำริว่า พวกพ่อค้าเหล่านี้ อิดโรเหนื่อยอ่อนเพราะเดินทางไกล เราจักได้ฟังข่าวสารอันเจริญอย่างหนึ่งจากสำนักของพวกพ่อค้าเหล่านี้เป็นแน่ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้อำมาตย์ไปเรียกพวกพ่อค้าเหล่านั้นมาแล้ว ตรัส ถามว่า พวกเธอมาจากเมืองไหน

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมุติเทพ นครหนึ่งนามว่าสาวัตถีมีอยู่ไกลจากที่นี้ไปอีก ๒๐๐ โยชน์ พวกข้าพระองค์มาจากพระนครนั้น พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสถามว่า มีข่าวสาร อะไรเกิดขึ้นในประเทศถิ่นที่อยู่ของพวกเธอบ้างเล่า

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพข่าวสารอะไรอย่างอื่นไม่มี นอกจากข่าวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นเท่านั้น พระเจ้าข้า

ในขณะนั้นนั่นเอง ด้วยมหาปีติที่บังเกิดจากข่าวที่ทรงได้ยินว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระราชาไม่ทรงอาจจะกำหนดอะไรๆ ได้ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วตรัสถามอีกว่า พูดอะไรนะพ่อคุณ

พวกพ่อค้าก็กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้วพระเจ้าข้า พระราชาทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่ง แม้ ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ ก็เหมือนครั้งแรกนั่นแล แล้วตรัสถามเป็นครั้งที่ ๔ ว่า พูดอะไรนะพ่อคุณ

เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า

จึงตรัสว่า พ่อค้า เพราะการที่ได้ฟังข่าวสารอันเป็นสุข เราจะ ให้ทรัพย์ ๑ แสนแก่พวกเธอ แล้วตรัสถามว่า ข่าวสารอะไรแม้ที่นอกเหนือ ไปกว่านี้ยังมีอีกไหมพ่อคุณ

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มีพระธรรมอุบัติขึ้นแล้วพระเจ้าข้า พระราชาทรงสดับถ้อยคำแม้นั้นแล้ว ทรงนิ่งเงียบไปครู่หนึ่งตลอด ๓ วาระเหมือนนัยก่อนนั่นแล ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระธรรมอุบัติขึ้นแล้ว ตรัสว่า แม้ในวาระนี้ เราก็จะให้ ทรัพย์ ๑ แสนแก่พวกเธอ แล้วตรัสถามว่า ข่าวสารอะไรแม้ที่นอกเหนือไปกว่านี้ ก็ยังมีอีกไหมพ่อคุณ

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ มีพระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว พระราชาทรงสดับถ้อยคำแม้นั้นแล้ว ทรงนิ่งเงียบไปครู่ หนึ่งตลอด ๓ วาระเหมือนอย่างครั้งก่อนนั้นแล ในวาระที่ ๔ เมื่อพวกพ่อค้ากราบทูลว่า พระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว

ตรัสว่า แม้ในครั้งนี้เราจะให้ทรัพย์ ๑ แสน แก่พวกเธอ แล้วทรงทอดพระเนตรดูอำมาตย์พันคน ตรัสถามว่า พ่อคุณ พวกเราจักทำอย่างไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระองค์จักทำอย่างไร พระราชาตรัสว่า พ่อคุณเราได้สดับว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระธรรมทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระสงฆ์ทรงอุบัติขึ้นแล้ว เราจักไม่หวนกลับไปอีก เราจักไปบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าไปในสำนักของพระองค์ พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ แม้พวกข้าพระองค์ ก็จักบวชกับพระองค์

 

พระราชาออกผนวชพร้อมกับอำมาตย์

พระราชาทรงให้พวกอาลักษณ์จารึกพระอักษรลงในพระสุพรรณบัฏ พระราชทานแก่พวกพ่อค้าแล้วตรัสว่า พวกเธอจงมอบพระสุพรรณบัฏนี้แด่พระราชเทวีพระนามว่าอโนชา พระราชเทวีนั้นจักพระราชทานทรัพย์จำนวน ๓ แสนแก่พวกเธอ ก็เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเธอพึงกราบทูลกะพระราชเทวีนั้นว่า ทราบว่าพระราชาทรงมอบราชสมบัติแด่พระองค์ ขอพระองค์จงเสวยสมบัติตามความสบายเถิด ก็ถ้าว่าพระนางตรัสถามว่า พระราชาของพวกท่านเสด็จไปที่ไหนเสีย พวกท่านพึงกราบทูลว่า พระราชาตรัสว่า เราจักบวชอุทิศพระศาสดา แล้วก็เสด็จไปแล้ว แม้พวกอำมาตย์ก็ส่งข่าวสารไปยังภรรยาของตนเช่นนั้นเหมือนกัน พระราชาทรงส่งพวกพ่อค้าไปแล้ว ก็เสด็จขึ้นม้า มีอำมาตย์พันคนติดตามแวดล้อม เสด็จออกไปในขณะนั้นเอง

แม้พระศาสดา ในเวลาเช้ามืดวันนั้น ทรงตรวจดูสัตวโลก ได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้ามหากัปปินะพร้อมด้วยบริวาร ทรงพระดำริว่า พระเจ้ามหากัปปินะพระองค์นี้ ได้ทรงทราบข่าวจากสำนักของพวกพ่อค้าว่า พระ รัตนตรัยอุบัติขึ้นแล้ว จึงทรงเอาทรัพย์ ๓ แสน บูชาถ้อยคำของพวกพ่อค้าเหล่านั้นแล้ว ทรงละพระราชสมบัติ ทรงมีอำมาตย์พันคนแวดล้อมแล้ว ทรงมีพระประสงค์จะบวชอุทิศเรา พรุ่งนี้จักเสด็จออก พระราชาพระองค์นั้นพร้อมทั้งบริวารจักได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ เราจักกระทำการต้อนรับ

ดังนี้ ในวันรุ่งขึ้น เมื่อจะเสด็จไปต้อนรับพระราชาผู้แม้จะครอบครองบ้านเมืองเล็ก แต่ก็ทรงกระทำคล้ายกับว่าเสด็จไปต้อนรับพระเจ้าจักรพรรดิฉะนั้น พระองค์เอง ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปต้อนรับสิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์ ทรงประทับนั่งเปล่งพระพุทธรัศมีมีวรรณะ ๖ ประการ ณ ควงไม้นิโครธ ใกล้ กับฝั่งแม่น้ำจันทภาคา

แม้พระราชาเสด็จมาถึงแม่น้ำสายหนึ่ง ก็ตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้ ชื่ออะไร

พวกอำมาตย์ก็กราบทูลว่า แม่น้ำสายนี้ชื่อว่าปรัจฉา พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสถามว่า พ่อคุณ แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร พวกอำมาตย์กราบทูลว่า แม่น้ำสายนี้ลึก ๑ คาวุต กว้าง ๒ คาวุต พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสถามว่า ก็ในที่นี้มีเรือหรือแพบ้างไหม

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า

พระราชาตรัสว่า เมื่อเรามัวห่วงถึงพาหนะมีเรือเป็นต้น ชาติ คือความเกิด ย่อมนำเข้าไปหาชราความแก่ และชราความแก่ย่อมนำเข้าไปหา มรณะความตาย เราเป็นผู้ไม่มีความสงสัย ออกเดินทางมาแล้ว ก็เพื่ออุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้น ขอน้ำนี้ จงอย่าได้เป็นเหมือนน้ำแก่เราเลย แล้วทรงระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ระลึกถึงพระพุทธ คุณว่า อิติปิโส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระ ภาคเจ้าผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ดังนี้ เมื่อพระราชาพร้อมด้วยบริวาร กับ ม้า ๑,๐๐๐ ตัว เสด็จไปบนหลังน้ำ ม้าสินธพทั้งหลายวิ่งไปบนหลังน้ำคล้าย กับว่าวิ่งไปบนหลังแผ่นหินดาดฉะนั้น ม้าทุกตัวเปียกแค่ปลายกีบเท่านั้น

พระราชาพระองค์นั้น ทรงข้ามแม่น้ำนั้นแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอีกสายหนึ่ง ตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้ชื่อ อะไร

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ชื่อว่านีลวาหา พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสถาม ว่า แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ทั้งส่วนลึกทั้ง ส่วนกว้างมีขนาดประมาณครึ่งโยชน์พระเจ้าข้า

พระราชาทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำนั้นแล้ว ก็ทรงอนุสรณ์ระลึกถึงพระธรรมคุณว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ดังนี้แล้วก็เสด็จไปได้

พอเสด็จพระราช ดำเนินล่วงพ้นแม่น้ำนั้นไปแล้ว พระราชาได้ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำอื่นอีก ตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้ ชื่ออะไร

พวกอำมาตย์กราบทูลว่า ชื่อว่า จันทภาคา พระเจ้าข้า พระราชาตรัสถามว่า แม่น้ำสายนี้มีขนาดประมาณเท่าไร พวก อำมาตย์กราบทูลว่า ทั้งส่วนลึกทั้งส่วนกว้างมีขนาดโยชน์หนึ่งพอดีพระเจ้าข้า

พระราชาได้ทอด พระเนตรเห็นแม่น้ำนั้นแล้ว ก็ทรงอนุสรณ์ระลึกถึงพระสังฆคุณว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าปฏิบัติดีแล้ว ดังนี้ แล้วเสด็จไปได้ พอเสด็จพระราชดำเนินล่วงพ้นแม่น้ำแม้นั้นไปได้

 

พระราชาและอำมาตย์ได้บรรลุคุณวิเศษ

พระราชา ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรัศมีพรรณะ ๖ ประการ แผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระศาสดา สว่างไสวรอดออกจากกิ่งค่าคบและใบของต้นนิโครธ แล้ว ทรงพระดำริว่า แสงสว่างนี้ มิใช่แสงสว่างของพระจันทร์ มิใช่แสงสว่างของพระอาทิตย์ มิใช่แสงสว่างของเทวดา มาร พรหม ครุฑ และนาค อย่างใดอย่างหนึ่งเลย เราเดินทางมาเพื่ออุทิศพระศาสดา เห็นทีจักได้พบเห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเป็นแน่

ในบัดดลนั้นเองพระราชาองค์นั้น ก็เสด็จลงจากหลังม้า น้อมพระสรีระเข้าไปเฝ้าพระศาสดาตามแนวแสงแห่งพระ รัศมี ได้เสด็จเข้าไปภายในพระพุทธรัศมี พระราชาองค์นั้น ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ก็ประทับนั่ง ณ สถานที่ อันสมควรข้างหน้าพร้อมกับอำมาตย์พันคน พระศาสดา ตรัสอนุปุพพีกถา แก่คนเหล่านั้น พอจบพระธรรมเทศนา พระราชาพร้อมกับบริวารก็ดำรงอยู่ ในโสดาปัตติผล

ลำดับนั้น ชนทั้งหมดลุกขึ้นแล้ว ทูลขอบวช พระศาสดาทรงพิจารณาว่า บาตรและจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ จักมาบังเกิดแก่กุลบุตรเหล่านี้หรือไม่หนอ ก็ทรงทราบว่า กุลบุตรเหล่านี้ได้เคยถวายจีวรพันผืนแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าพันองค์ ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้ถวายจีวร สองหมื่นผืน แด่ภิกษุสองหมื่นองค์ การมาแห่งบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ จึงไม่เป็นเหตุอัศจรรย์แก่กุลบุตรเหล่านี้เลย

ดังนี้แล้ว ทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเกิด จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด ในขณะนั้นเอง ภิกษุเหล่านั้นก็ได้ทรงบริขาร ๘ เป็นคล้ายดังพระเถระที่มีพรรษาตั้ง ๖๐ พรรษาฉะนั้น ภิกษุเหล่านั้นเหาะขึ้นสู่เวหาส แล้ว ก็กลับลงมาถวายบังคมพระศาสดาแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง

 

พระนางอโนชาเทวีเสด็จออกผนวช

ฝ่ายพวกพ่อค้าเหล่านั้น เดินทางไปยังกรุงราชคฤห์แล้ว กราบทูล ข่าวสารที่พระราชาส่งไปถวายแต่พระเทวีให้ทรงทราบ เมื่อพระราชเทวี ตรัสว่า จงเข้ามา จึงเข้าไปยืน ณ ที่สมควรด้านหนึ่ง ทีนั้นพระราชเทวีจึง ตรัสถามพวกพ่อค้าเหล่านั้นว่า พ่อคุณ เพราะเหตุไรจึงเดินมาทางนี่

พวกพ่อค้าจึงกราบทูลว่า พระราชาทรงส่งพวกข้าพระพุทธเจ้ามาเฝ้าพระองค์ นัยว่า พระองค์จะพระราชทานทรัพย์ ๓ แสน แก่พวกข้าพระองค์

พระราชเทวี ตรัสว่า พนาย ! พวกท่านพูดมากไปแล้ว พวกท่านทำประโยชน์อะไรในสำนักของพระราชา พระราชาทรงเลื่อมใสในเรื่องอะไร จึงรับสั่งให้พระราชทานทรัพย์ถึงเพียงนี้ แก่พวกท่าน

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี พวกข้าพระองค์มิได้กระทำเรื่องอะไรอย่างอื่นเลย เพียงแต่แจ้งข่าวสารอย่าง หนึ่งให้ทรงทราบเท่านั้น

พระราชเทวีตรัสถามว่า พ่อคุณ อาจพอที่จะบอกข่าวสารนั้นแม้แก่เราบ้างได้หรือ

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า อาจ พระเจ้าข้า แต่พวกข้าพระบาทไม่อาจกราบทูลข่าวนี้ ด้วยทั้งปากที่ไม่สะอาด พระเจ้าข้า แล้วบ้วนปากด้วยสุวรรณภิงคาร กราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก

แม้พระราชเทวี พระองค์นั้น พอได้สดับคำนั้น แล้ว เป็นผู้มีพระเสรีระอันปีติถูกต้องแล้วไม่อาจจะกำหนดอะไรๆ ได้ถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๔ ได้ทรงสดับว่า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว จึงตรัสว่า พ่อคุณในเพราะบทนี้ พระราชาทรงพระราชทานทรัพย์ให้พ่อเท่าไร

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ๑ แสนพระเจ้าข้า

พระราชเทวีตรัสว่า พ่อคุณ พระราชา พระราชทานทรัพย์ ๑ แสนแก่พวกท่าน เพราะได้สดับข่าวสารถึงขนาดนี้ นับว่าทรงกระทำไม่สมควรเลย เราจะให้ทรัพย์ ๓ แสน ในเพราะบรรณาการอันยากแค้นของเรา แก่พวกท่าน พวกท่านได้กราบทูลเรื่องอะไรอย่างอื่น อีกหรือไม่

พวกพ่อค้าเหล่านั้น กราบทูลถึงข่าวสาร ๒ อย่างแม้นอกนี้ให้ ทรงทราบว่า เรื่องนี้ และเรื่องนี้ พระราชเทวี ไม่อาจกำหนดอะไรๆ ได้ตลอด ๓ วาระ เหมือนกับนัยที่กล่าวแล้วในตอนแรกนั่นแล ทุกๆ ครั้งที่ ๔ ได้พระราชทานทรัพย์ครั้งละ ๓ แสน รวมความว่า พวกพ่อค้าเหล่านั้น ได้รับทรัพย์ทั้งหมดไปถึง ๑๒ แสน

ลำดับนั้น พระราชเทวีจึงตรัสถามพวกพ่อค้าเหล่านั้นว่า พ่อคุณ พระราชาเสด็จไปที่ไหนเล่า

พวกพ่อค้าจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระราชา ตรัสว่า เราจักบวชอุทิศพระศาสดาแล้วก็เสด็จไป

พระราชเทวี ตรัสถามว่า ข่าวสารอะไรที่พระราชาพระองค์นั้น ได้มอบแก่เรามีไหม

พวกพ่อค้ากราบ ทูลว่า นัยว่าทรงสละมอบความเป็นใหญ่ทั้งหมดแด่พระองค์ นัยว่าพระองค์จึงเสวยสมบัติตามความสุขสำราญเกิด

พระราชเทวี ตรัสถามว่า พวก อำมาตย์ไปไหนเสียเล่าพ่อคุณ

พวกพ่อค้ากราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี แม้พวกอำมาตย์เหล่านั้นก็พูดว่า พวกเราจักบวชกับพระราชาแล้วไปแล้ว

พระราชเทวีพระองค์นั้น จึงรับสั่งเรียกหาพวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นมาแล้ว ตรัสว่า แม่คุณ สามีของพวกเจ้าสั่งไว้ว่า พวกเราจักบวชกับพระราชา แล้วก็พากันไปแล้ว พวกเจ้าจักทำอะไร

พวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นจึงทูลถามว่า ข้าแต่พระราชเทวี ข่าวสารอะไร ที่พวกสามีส่งฝากมาถึงพวกหม่อมฉัน

พระราชเทวีตรัสว่า ได้ทราบว่า พวกอำมาตย์เหล่านั้นได้สละมอบสมบัติของตนแก่พวกเธอ ได้ทราบว่า พวกเธอจงบริโภคสมบัติตามสบายเถิด

พวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระราชเทวี พวกเราจักกระทำอย่างไรดีเล่า

พระราชเทวีตรัสว่า เบื้องแรก พระราชาของพวกเรา พระองค์นั้นดำรงอยู่ในหนทาง เอาทรัพย์ ๓ แสนบูชาพระรัตนตรัยแล้ว ลงพระราชสมบัติที่คล้ายกับก้อนเขฬะ ออกไปได้ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เราจักบวช แม้เราได้สดับข่าวสารของพระรัตนตรัย ก็นำเอาทรัพย์ ๙ แสน บูชาพระรัตนตรัยนั้นแล้ว ก็ขึ้นชื่อว่าสมบัตินั้น มิใช่จะเป็นทุกข์แด่พระราชา อย่างเดียวเท่านั้น ย่อมเป็นทุกข์แม้แก่เราเหมือนกัน ใครจักคุกเข่าลงที่พื้นดิน แล้วอ้าปากรับก้อนเขฬะที่พระราชาถ่มแล้วเล่า เราไม่มีความต้องการสมบัติ เราจักบวชอุทิศพระศาสดา

พวกภรรยาของพวกอำมาตย์เหล่านั้น กราบทูลว่า ข้าแต่พระราชเทวี ถึงพวกข้าพระองค์ ก็จักบวชพร้อมพระองค์

พระราชเทวีตรัสว่า ถ้าพวกเจ้าอาจสามารถ ก็นับว่าเป็นการดี

พวกภรรยาของพวกอำมาตย์เหล่านั้น กราบทูลว่า พวกข้าพระองค์ อาจสามารถ พระเจ้าข้า

พระราชเทวีตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นพวกเจ้าจงมา

แล้วรับสั่งให้ตระเตรียมรถ พันคันเสร็จแล้วก็เสด็จขึ้นรถ เสด็จออกไปพร้อมกับพวกภรรยาของอำมาตย์ เหล่านั้น ในระหว่างทางได้ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำสายแรก ได้ตรัสถาม เหมือนอย่างที่พระราชาตรัสถามครั้งแรกเช่นกัน ได้ทรงสดับความเป็นไปทั้งหมดแล้ว จึงตรัสว่า พวกเธอจงแลดูหนทางที่พระราชาเสด็จไปแล้วซิ

เมื่อพวกภรรยาของอำมาตย์เหล่านั้นกราบทูลว่า พวกหม่อมฉันมองไม่เห็นรอยเท้าของม้าสินธพเลย แล้วตรัสว่า พระราชาทรงกระทำสัจกิริยาว่า เราเป็นผู้ออกไปเพื่ออุทิศพระรัตนตรัยแล้ว ทรงระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย จึงจักเสด็จไปแล้ว แม้เราออกมา ก็เพื่ออุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย รถพันคันก็แล่นไปได้ แม่น้ำได้เป็นเช่นกับแผ่นหินดาด รถทุกคันเปียกเพียงแค่ขอบล้อเท่านั้นแล แม่น้ำอีก ๒ สายนอกนี้พระนางและ ทุกคนก็ได้ข้ามไปแล้ว ด้วยอุบายวิธีนี้นั่นแล

 

พระนางอโนชาเทวี และบริวารได้บรรลุโสดาปัตติผล

พระศาสดา ได้ทรงทราบว่าหญิงเหล่านั้นมาแล้ว ก็ทรงดำริว่า สตรีเหล่านี้เห็นสามีของตน เกิดฉันทราคะ ก็จะพึงทำอันตรายต่อมรรคผล ทั้งไม่อาจฟังธรรมได้ จึงทรงอธิษฐาน โดยวิธีการที่พวกเขาจะไม่เห็นกันและกันได้ แม้พระราชเทวีกำลังเสด็จมา ได้ทอดพระเนตรเห็นพระรัศมี ซึ่งแผ่ซ่านออกจากพระสรีระของพระศาสดาแล้ว ก็ได้ทรงจินตนาการเช่นเดียวกับพระเจ้ามหากัปปินะเหมือนกัน แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวาย บังคมประทับยืนอยู่ ณ สถานที่อันสมควรข้างหนึ่งแล้วทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเจ้ามหากัปปินะ เสด็จออกเพื่ออุทิศองค์ (บัดนี้) พระเจ้ามหากัปปินะพระองค์นั้น ประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ขอพระองค์จงแสดง พระราชาพระองค์นั้นให้ปรากฏแกพวกหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า

พระศาสดา ตรัสว่า เชิญพวกเธอนั่งก่อนเถอะ พวกเธอจักได้พบเห็นพระราชาพระองค์ นั้นในที่นี้แหละ

หญิงเหล่านั้นแม้ทั้งหมดร่าเริงดีใจพูดกันว่า นัยว่าพวกเรา นั่งแล้วในที่นี้แหละ จักได้พบเห็นพวกสามีของพวกเราแน่ ดังนี้ จึงนั่งแล้ว

พระศาสดาได้ตรัสแสดงอนุปุพพีกถา แก่หญิงทั้งหมด ในเวลาจบเทศนา พระนางอโนชาเทวี ได้บรรลุโสดาปัตติผลพร้อมกับหญิงเหล่านั้น

พระมหากัปปินะเถระพร้อมด้วยพระบริวาร ได้สดับพระธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรง แสดงแก่หญิงเหล่านั้นแล้ว ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔

ในขณะนั้น พระศาสดาได้ทรงแสดงให้หญิงเหล่านั้นเห็นภิกษุเหล่านั้นได้ เมื่อหญิงเหล่านั้นได้เห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว ก็ได้กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วเรียนว่า ท่านผู้เจริญ กิจแห่งบรรพชิตของ ท่านถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา ยืน ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลขอบรรพชา

ในขณะที่หญิงเหล่านั้น กล่าวคำขอบรรพชาอย่างนี้พระศาสดา ได้ทรงดำริถึงการมาของนางอุบลวรรณเถรี ในบัดดลที่พระศาสดาทรงดำริ แล้วเท่านั้น นางอุบลวรรณเถรีนั้น ก็เหาะมาโดยทางอากาศ รับเอาหญิงเหล่านั้นทั้งหมดนำไปยังสำนักภิกษุณีโดยทางอากาศแล้ว จึงให้บรรพชา ไม่นานเท่าไรนักหญิงเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้บรรลุพระอรหัต พระศาสดาได้ทรงพาภิกษุพันรูปไปยังพระเชตวันวิหารโดยทางอากาศ

 

พระเถระเปล่งอุทานปรารภความสุข

ครั้งนั้น ท่านพระมหากัปปินะเถระ บรรลุพระอรหัตผลแล้ว รู้ว่ากิจตนถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นผู้ขวนขวายน้อย ทำเวลาให้ล่วงไปด้วยสุขในผลสมาบัติ อยู่ป่าก็ดี อยู่โคนไม้ก็ดี อยู่เรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า อโห สุขํ อโห สุขํ (โอ สุขจริง โอ สุขจริง) ภิกษุทั้งหลายเกิดพูดกันขึ้นว่า ท่านพระกัปปินเถระ ระลึกถึงสุขในราชสมบัติ จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันไปกราบทูลพระตถาคต ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหากัปปินะ เที่ยวเปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ ท่านเห็น จะกล่าวปรารภความสุขในราชสมบัติของตน

พระศาสดารับสั่งให้เรียกพระมหากัปปินะนั้นมาแล้ว ตรัสถามท่านว่า “กัปปินะ ได้ยินว่า เธอเปล่งอุทานปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติ จริงหรือ?”

พระมหากัปปินะทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงทราบ การเปล่งหรือไม่เปล่งปรารภกามสุขและรัชสุขนั้นของข้าพระองค์”

พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราย่อมเปล่งอุทาน ปรารภสุขในกาม สุขในราชสมบัติหามิได้ ก็แต่ว่า ความเอิบอิ่มใน ธรรม ย่อมเกิดขึ้นแก่บุตรของเรา บุตรของเรานั้นย่อมเปล่งอุทาน อย่างนั้น เพราะปรารภอมตมหานิพพาน” ดังนี้แล้วเมื่อจะทรงสืบอนุสนธิ แสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า:

“บุคคลผู้เอิบอิ่มในธรรม มีใจผ่องใส ย่อมอยู่เป็นสุข

บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้วทุกเมื่อ”

พระเถระดำริจะไม่ทำอุโบสถ

ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะพักอยู่ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน เขต พระนครราชคฤห์ คราวหนึ่ง ท่านไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า เราควรไปทำอุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้วด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง

ทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านพระมหากัปปินะด้วยพระทัยของพระองค์ แล้วได้ทรงหายพระองค์ไปในคิชฌกูฏบรรพต มาปรากฏอยู่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิมฤคทายวัน แล้วพระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสนะที่เขาจัด ถวาย ฝ่ายท่านพระมหากัปปินะถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสคำนี้กะท่านพระมหากัปปินะผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า ดูกร กัปปินะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เราควรไปทำ อุโบสถ หรือไม่ควรไป ควรไปทำสังฆกรรม หรือไม่ควรไป โดยที่แท้ เราเป็นผู้หมดจดแล้ว ด้วยความหมดจดอย่างยิ่ง ดังนี้มิใช่หรือ?

ท่านพระมหากัปปินะทูลรับว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าพวกเธอไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่ นับถือ ไม่บูชา ซึ่งอุโบสถ เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครเล่าจักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ซึ่งอุโบสถ ดูกรพราหมณ์ เธอจงไปทำอุโบสถ จะไม่ไปไม่ได้ จงไปทำสังฆกรรม จะไม่ไปไม่ได้

ท่านพระมหากัปปินะรับสนองพระพุทธพจน์ว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ท่านพระมหากัปปินะเห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้วได้ทรงหายพระองค์ไปในที่ตรงหน้าท่านพระมหากัปปินะ ณ มัททกุจฉิ มฤคทายวัน มาปรากฏ ณ คิชฌกูฏบรรพต โดยรวดเร็ว เปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง เหยียดแขน ที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น

 

ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพวกภิกษุทั้งพันรูป ผู้เป็นอันเตวาสิกของท่านมหากัปปินะนั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย กัปปินะ อาจารย์ของเธอแสดงธรรมแก่ภิกษุ ทั้งหลายบ้างไหม? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อาจารย์ของข้าพระองค์มิได้แสดงธรรมเลย ท่านเป็นผู้ขวนขวายน้อย ประกอบความเพียรอยู่ด้วยความสุขในทิฏฐธรรมอยู่ ไม่ยอมให้แม้เพียงแต่โอวาทแก่ ใคร ๆ ดังนี้

พระศาสดา จึงทรงให้เรียกหาพระเถระมาแล้ว ตรัสถามว่า กัปปินะ ได้ยินว่า เธอ ไม่ยอมให้แม้เพียงโอวาทแก่พวกอันเตวาสิก จริงหรือ? พระเถระกราบทูล ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า จริง พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนพราหมณ์ เธออย่าทำอย่างนั้น ตั้งแต่วันนี้ไป เธอจงแสดงธรรมแก่ พวกภิกษุผู้เข้าไปหาแล้ว พระเถระรับพระดำรัสพระศาสดา ด้วย เศียรเกล้าว่า ดีละ พระพุทธเจ้า จากนั้นท่านจึงทำให้พระสมณะ ๑,๐๐๐ รูปดำรงอยู่ ในพระอรหัต ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระ ศาสดาเมื่อจะตั้งตำแหน่งพระเถระผู้สาวกของพระองค์ ตามลำดับ จึงทรง ตั้งเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย

 

พระเถระร่วมโปรดนางเปรตผู้เป็นอดีตมารดาพระสารีบุตร

วันหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะ และท่านพระกัปปินะ ได้อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ในกรุงพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นดุจบ่อที่ดื่มกินของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ได้ให้สิ่งของมีข้าว น้ำ ผ้า และที่นอนเป็นต้น และเมื่อจะให้ ย่อมปฏิบัติตามความพอใจทุกอย่าง ตามลำดับของการให้มีน้ำล้างเท้า และ ผ้าเช็ดเท้าเป็นต้น ตามเวลาและตามความเหมาะสมแก่คนผู้มาถึง แล้ว ๆ ในเวลาก่อนอาหารได้อังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยข้าวและ น้ำเป็นต้น โดยเคารพ

วันหนึ่งเมื่อพราหมณ์นั้นจะไปธุระยังถิ่นอื่นจึงกล่าวกะภรรยาว่า นางผู้เจริญ เธอจงทำทานตามวิธีที่เราเคยทำ อย่าทำให้ทานนั้นเสื่อมเสีย จงหมั่นดำรงไว้โดยเคารพ ภรรยารับคำแล้ว พอสามีหลีกไปเท่านั้น ก็เลิกวิธีที่พราหมณ์นั้นเคยทำเพื่อภิกษุทั้งหลาย เป็นอันดับแรก แต่เมื่อคนเดินทางเข้าไปเพื่ออยู่อาศัย ก็แสดงศาลาที่เก่าที่ทอดทิ้ง ไว้หลังเรือนด้วยคำว่า พวกท่านจงอยู่ที่ศาลานี้ เมื่อคนเดินทาง มาในที่นั้นเพื่อต้องการข้าวและน้ำเป็นต้น ก็กล่าวว่า จงกินคูถ ดื่มมูตร ดื่มโลหิต กินมันสมองของมารดาท่าน แล้วจึงระบุชื่อ ของสิ่งที่ไม่สะอาด น่าเกลียด แล้วถ่มน้ำลาย

สมัยต่อมา เมื่อนางสิ้นชีวิตแล้ว ด้วยผลกรรมที่ทำไว้ ก็ไปบังเกิดเป็นเปรต เสวยทุกข์อันเหมาะสมแก่วจีทุจริตของตน นางเปรตนั้นเมื่อหวนระลึกถึงความสัมพันธ์กันในชาติก่อน มีความประสงค์จะมายังสำนักของท่านพระสารีบุตร จึงมาถึงประตูวิหาร เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูวิหารของท่านพระสารีบุตรนั้น จึงได้ห้ามนางเข้าวิหาร ด้วยความที่นางเปรตนั้นได้เคยเป็นมารดาของพระเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาตินี้ เพราะฉะนั้น นางจึงกล่าวว่า ดิฉันเป็นมารดาของ พระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาติ ขอท่านจงให้ดิฉันเข้าประตูเพื่อเยี่ยมพระเถระเถิด เทวดาได้ฟังดังนั้นจึงอนุญาตให้นางเข้าไป นางครั้นเข้าไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สุดที่จงกรม แล้วแสดงตนแก่พระเถระ พระเถระครั้นได้เห็นนางเปรตนั้น จึงถามด้วยใจอันความกรุณา

ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูก่อนนางผู้ซูบผอม มีแต่ซี่โครง ท่านเป็นใครหรือ จึงมายืนอยู่ในที่นี้

นางเปรตนั้นเมื่อพระเถระถาม จึงได้กล่าวว่า

เมื่อก่อนดิฉันเป็นมารดาของท่าน ในชาติก่อน ๆ ดิฉันเข้าถึงเปตวิสัย เพียบพร้อมไปด้วยความหิว และความกระหาย เมื่อถูกความหิวครอบงำ ย่อมกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ที่เขาถ่มทิ้ง และกินมันเหลวของซากศพ ที่เขาเผาที่เชิงตะกอน กินโลหิตของพวกหญิงที่คลอดบุตร และโลหิตของพวกบุรุษที่ถูกตัดมือ เท้า และศีรษะที่เป็นแผล กินเนื้อ เอ็น และข้อมือข้อเท้าเป็นต้นของชายหญิง กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีที่เร้น ไม่มีที่อยู่อาศัยนอนบนเตียงของคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ลูกเอ๋ย ขอลูกจงให้ทานแล้วอุทิศส่วนบุญแก่เราบ้างไฉนหนอแม่จึงจะพ้นจากการกินหนองและเลือด

ท่านพระสารีบุตรเถระ ได้สดับดังนั้นแล้ว ในวันที่สอง จึงเรียกพระเถระ ๓ รูป มีท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระกัปปินะมา ท่านพร้อมด้วยพระเถระเหล่านั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาเห็นพระเถระแล้ว จึงถามถึงเหตุแห่งการมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้ทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งให้เรียก อำมาตย์แล้วทรงพระบัญชาว่า ท่านจงสร้างกุฎี ๔ หลังในที่นี้อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ อันวิจิตร ไม่ไกลแต่เมือง เมื่อกุฎีสำเร็จแล้ว จึงให้ตระเตรียมพลีกรรมทั้งหมด เข้าไปตั้งข้าวน้ำและผ้าเป็นต้น และเครื่องบริขารทุกอย่างที่สมควรแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศ ทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วมอบถวายสิ่งทั้งหมดนั้น แด่พระสารีบุตรเถระ

ลำดับนั้น พระเถระได้ถวายสิ่งทั้งหมดนั้น แด่ภิกษุสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน อุทิศแก่นางเปรตนั้น นางเปรตนั้น ได้อนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ในวันต่อมา ก็ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ไหว้แล้ว ยืนอยู่ พระเถระสอบถามนางเปรตนั้น นางเปรตนั้น ได้แจ้ง เหตุที่ตนเข้าถึงความเป็นเปรต และเข้าถึงความเป็นเทวดาแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ

ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำเรื่องนั้น ให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้เข้าถึง พร้อมแล้ว เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชน ฉะนั้นแล

 

พระพุทธองค์ทรงแสดงพระเถระเป็นตัวอย่าง

พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค

           พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของภิกษุนั้นหรือหนอ?

           ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใดข้าพระองค์ทั้งหลาย เห็นท่านผู้มีอายุนั้นนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งในที่ลับรูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้ง หลายมิได้เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของท่านผู้มีอายุนั้นเลย

           พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสมาธิใด ภิกษุนั้นได้สมาธินั้นตามความปรารถนาได้ โดยไม่ยากไม่ลำบาก

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความ หวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ กระทำให้มากซึ่งสมาธิ เป็น ไฉน? เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ

           ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้ มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่ง จิตก็ดี ย่อมไม่มี? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้ บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า .............ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียง แห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี.

พระผู้มีพระภาคสรรเสริญพระเถระ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระมหากัปปินะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯ

พระผู้มีพระภาค ได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระมหากัปปินะผู้มาแต่ไกล แล้วจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นภิกษุที่กำลังมานั่นหรือไม่ เป็นผู้ขาวโปร่ง จมูกโด่ง ฯ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาค. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั่นแลมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก แต่เธอไม่ได้สมาบัติที่เธอไม่เคยเข้าง่ายนัก เธอกระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ซึ่งกุลบุตรทั้งหลาย ออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ฯ

พระผู้มีพระภาค ผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัส คาถาประพันธ์ต่อไปซึ่งต่อมาได้นำมาแปลงเป็นบทสวดชื่อว่า พุทธมงคลคาถา ดังนี้

พุทฺธมงฺคลคาถา (สรภัญญะ)

๏ ทิวา ต|ปติ  อา|ทิจฺโจ ๏ พระอาทิตย์แผดแสงในกลางวัน
   
รตฺ|ติมาภา|ติ  จนฺทิมา พระจันทร์สว่างในกลางคืน
   
สนฺ|นทฺโธ  ขตฺ|ติโย  ตปติ กษัตริย์ทรงเครื่องรบย่อมงามสง่า
   
ฌายี  ต|ปติ  พฺราหฺ|มโณ พราหมณ์ผู้เพ่งฌานย่อมรุ่งเรือง
   
อถ  สพฺ|พมโห|รตฺตึ ส่วนพระพุทธเจ้าไพโรจน์ด้วยพระเดช
พุทฺโธ  ต|ปติ  เต|ชสา  ฯ ตลอดกลางวันและกลางคืน
   
เอเต|น  สจฺ|จวชฺเชน ด้วยการกล่าวความสัตย์นี้
   
สุวตฺ|ถิ  โห|ตุ  สพฺ|พทา ขอความสวัสดีจงมีทุกเมื่อ

 

พระพุทธองค์และพระอรหันต์ ๔ ทิศ ทรมาน พกพรหม

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พรหมองค์หนึ่ง ชื่อพกพรหม เกิดทิฏฐิคือความเห็นผิดว่า สมณะหรือพราหมณ์ ที่จะมาในพรหมโลกนี้ได้ไม่มีเลย

พรหมนี้อุปบัติครั้งเมื่อยังไม่มีพระพุทธเจ้า บวชเป็นฤาษี กระทำกสิณบริกรรมและทำ สมาบัติให้เกิด ไม่เสื่อมฌาน ทำกาละแล้ว บังเกิดในพรหมโลกชั้นเวหัปผลาใน ภูมิจตุตถฌาน มีอายุอยู่ ๕๐๐ กัป เขาดำรงอยู่ในพรหมโลกชั้นเวหัปผลาใน ตลอดอายุขัย ช่วงเวลาที่เกิดภายหลัง เจริญตติยฌานให้ประณีต บังเกิดในพรหมโลกชั้นสุภกิณหะ มีอายุ ๖๔ กัป พกพรหมนั้นรู้กรรมที่ตนทำและสถานที่ที่ตนเกิดในปฐมกาลเกิดครั้งแรก แต่เมื่อกาลล่วงไป ๆ ลืมกรรมและสถานที่ทั้ง ๒ เสีย จึงเกิดสัสสตทิฏฐิ คิดว่าฐานะของพรหมนั้นเที่ยง

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพรหมนั้นด้วยพระทัยแล้ว ทรงหายไปจากพระวิหารเชตวันไปปรากฏในพรหมโลกนั้น ทรงนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น ทรงเข้าเตโชธาตุกสิณ

ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้มีความคิดเช่นนี้ว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่ไหนหนอ ท่านได้เห็นด้วยจักษุทิพย์ ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับนั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนพรหมนั้น เข้าเตโชธาตุกสิณอยู่ จึงได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศบูรพา นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

โดยทำนองเดียวกัน ท่านพระมหากัสสปะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศใต้ นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

ท่านพระมหากัปปินะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศตะวันตก นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

ท่านพระอนุรุทธะได้หายตัวไปปรากฏในพรหมโลกในเบื้องทิศเหนือ นั่งขัดสมาธิในเวหาสเบื้องบนของพรหมนั้น แต่ต่ำกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าเตโชธาตุกสิณ

ลำดับนั้นแล ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้กล่าวกะพรหมนั้นด้วย คาถาว่า

ดูก่อนผู้มีอายุ แม้วันนี้ ท่านก็ยังมีความเห็นผิดอยู่เหมือนเมื่อก่อน

ท่านยังจะเห็นอยู่หรือว่าบนพรหมโลกมีแสงสว่างพวยพุ่งออกได้เอง.

 พรหมกล่าวว่า

พระคุณเจ้าผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นผิดเหมือนเมื่อก่อน

ที่ว่าข้าพเจ้าเห็นแสงสว่างพวยพุ่งไปเองในพรหมโลก

ไฉนในวันนี้ข้าพเจ้าจะพึงกล่าวว่า "เราเป็นผู้เที่ยงเป็นผู้ยั่งยืน" ดังนี้เล่า

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำพรหมนั้นให้สลดใจแล้ว ได้หายไปในพรหมโลกนั้น ปรากฏในพระวิหารเชตวันเหมือนบุรุษมี กำลัง ฯ ล ฯ ฉะนั้น

ลำดับนั้นแล พรหมนั้นได้เรียกพรหมปาริสัชชะ พรหมพวกรับใช้องค์หนึ่งมาสั่งว่า ท่านจงเข้าไปถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้องค์อื่น ๆ ที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เหมือนกับ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระกัสสปะ ท่านพระกัปปินะ และท่าน พระอนุรุทธะ ยังมีอยู่หรือ

เมื่อพรหมปาริสัชชะนั้นไปถามพระมหาโมคคัลลานะตามที่ได้รับคำสั่ง ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้กล่าวกะพรหมปาริสัชชะนั้นว่า

พระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันตขีณาสพได้วิชชา ๓ บรรลุอิทธิญาณ ฉลาดในเจโตปริยาญาณยังมีอยู่เป็นอันมาก.

ลำดับนั้นแล พรหมปาริสัชชะนั้นจึงได้กล่าวกะพกพรหมตามที่ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้บอก เมื่อ พกพรหม ได้ทราบเช่นนั้นนั้นมีใจยินดี ชื่นชมภาษิตของท่านพระมหาโมคคัลลานะนั้น ฉะนี้แล


ที่มา  http://www.dharma-gateway.com

47589405
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
258
54944
55202
47135237
1075743
1172714
47589405

Your IP: 54.36.148.67
2024-11-25 00:10
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search