ภัททิย (กาฬิโคธาบุตร) (พระภัททิยเถระ (กาฬิโคธาบุตร)

ภัททิย (กาฬิโคธาบุตร) (พระภัททิยเถระ (กาฬิโคธาบุตร)
ข้อมูลทั่วไป
พระนามเดิม ภัททิยกุมาร, พระเจ้าภัททิยะ
สถานที่ประสูติ พระราชวัง กรุงกบิลพัสดุ์
สถานที่บวช อนุปิยอัมพวัน แคว้นมัลละ
วิธีบวช เอหิภิกขุอุปสัมปทา
เอตทัคคะ ผู้เกิดในสกุลสูง (เพราะทรงสละราชสมบัติออกผนวช)
ฐานะเดิม
ชาวเมือง เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
นามพระราชมารดา พระนางกาฬิโคธาราชเทวี
วรรณะเดิม กษัตริยะ
ราชวงศ์ ศากยะ

ประวัติ

 

ประวัติพระภัททิยกาฬิโคธาบุตรเถระ

เอตทัคคะเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลสูง

พระเถระที่ชื่อ “ภัททิยะ” นี้ ในพระบาลีปรากฏอยู่ ๓ ท่านด้วยกันคือ

๑. พระภัททิยะ หนึ่งในภิกษุปัญจวัคคีย์

๒. พระลกุณฏกภัททิยะ ผู้เป็นเอตทัคคะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกผู้มีเสียงไพเราะ และ

๓. พระภัททิยกาฬิโคธาบุตรเถระ ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้เกิดในตระกูลสูง

ประวัติของพระเถระในเรื่องนี้หมายเอาถึงพระภัททิยกาฬิโคธาบุตรเถระ ซึ่งเรียกโดยเอาชื่อพระราชมารดามาต่อท้ายเพื่อให้แตกต่างกับพระเถระที่ชื่อ “ภัททิยะ” รูปอื่น โดยที่พระนามของพระนางนั้นชื่อว่า โคธา แต่การที่พระนางเป็นผู้ที่มีพระฉวีคล้ำ จึงเรียกพระนามว่า กาฬิโคธา พระนางนี้ต่อมาได้เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังธรรมและบรรลุเป็นพระโสดาบัน

ควรจะได้ทราบว่าการที่พระภัททิยกาฬิโคธาบุตรเถระได้รับการสถาปนาในตำแหน่งที่เป็นเลิศเช่นนั้น ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ พระเถระเป็นพระโอรสของพระนางกาฬิโคธาเทวี ผู้มีวัยสูงสุดในเจ้าศากยวงศ์ทั้งหลาย และในอดีตชาติที่ผ่านมาท่านได้บังเกิดในราชตระกูล แล้วครองราชสมบัติถึง ๕๐๐ ชาติติดต่อกัน และ ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากท่านได้ตั้งปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้

 

ความปรารถนาในอดีต

กระทำมหาทานแด่พระปทุมุตตระพุทธเจ้า

ได้ยินว่า ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ พระภัททิยเถระนั้นบังเกิดในสกุลคฤหบดีผู้มหาศาล ครั้นเมื่อเจริญวัยแล้ว อยู่มาวันหนึ่งวันหนึ่งได้ไปยังพระวิหารที่พระพุทธปทุมุตตระประทับอยู่ และฟังธรรมอยู่แถวท้ายหมู่พุทธบริษัทในวิหารนั้น ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่า ภิกษุผู้มีตระกูลสูง ท่านจึงปรารถนาที่จะได้เป็นอย่างภิกษุนี้ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเช่นนั้นบ้าง

ดังนั้นท่านจึงนิมนต์พระพระปทุมุตตระพุทธเจ้า และทำการถวายมหาทานอยู่ ๗ วัน แล้วท่านจึงหมอบลงแทบพระบาทของพระศาสดา แสดงความปรารถนาว่า ด้วยผลแห่งการถวายทานสักการะนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่นใด เพียงแต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงได้ตำแหน่งเอตทัคคะนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือน ภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่งเมื่อ ๗ วัน ก่อนหน้านี้

พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาลด้วยพุทธญาณ ทรงเห็นว่าความปรารถนาของกุลบุตรนี้จักสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่ากุลบุตรผู้เจริญ ในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคต พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักมีชื่อว่าอนุรุทธ ท่านจักเป็นยอดของภิกษุผู้มีทิพยจักษุ ในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้าดังนี้ ครั้นเมื่อทรงพยากรณ์แล้ว ทรงกระทำอนุโมทนาแล้วเสด็จกลับไป

ครั้งท่านได้ฟังพยากรณ์แล้วจึงทูลถามกรรมที่จะให้เป็นไปสำหรับภิกษุผู้เกิดในตระกูลสูง ได้กระทำ กรรมอันดีงามมากหลายจนตลอดชีวิตอย่างนี้คือ สร้างธรรมาสน์ ปูลาดเครื่องลาดบนธรรมาสน์นั้น พัดสำหรับผู้แสดงธรรม รายจ่าย สำหรับพระธรรมกถึก โรงอุโบสถ กระทำกาละในอัตภาพนั้นแล้ว ก็ท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย วนเวียนอยู่เช่นนั้นตลอดแสนกัป

 

บุรพกรรมในสมัยระหว่างพุทธกัล์ป

ในระหว่างกัปของพระ กัสสปพุทธเจ้า และกัปของพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านมาบังเกิดในเรือน ของกุฎุมพีผู้มีทรัพย์ ในกรุงพาราณสี สมัยนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าหลายองค์มาแต่ภูเขาคันธมาทน์ นั่งฉันบิณฑบาตในที่ ๆ สะดวกสบาย ใกล้ฝั่งแม่น้ำคงคา เขตกรุงพาราณสี กุฎุมพีนั้นทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น กระทำ การแบ่งปันภัตรที่บิณฑบาตได้นั้นในที่ตรงนั้นเป็นประจำทีเดียว จึงลาดแผ่นหิน ไว้ ๘ แผ่น บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่จนตลอดชีพ ตอนนั้น ท่านเวียนว่ายไปในเทวดาและมนุษย์ถึงพุทธันดรหนึ่ง

 

เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

ก่อนที่ท่านจะเกิดมาในสมัยพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์ คือ เกิดเป็นหัวหน้าเหล่าศิษย์ของ พระพุทธองค์ซึ่งเสวยพระชาติเป็นฤๅษี ใน สุขวิหาริชาดก

 

พระบรมศาสดาทรงอุบัติ

ส่วนพระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาถือปฏิสนธิในครรภ์ของอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงเจริญวัยโดยลำดับ ทรงครองเรือนอยู่ ๒๙ ปี แล้วทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงยับยั้งที่โพธิมัณฑสถาน ๗ สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก ครั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนทรงสดับข่าวว่าพระบรมศาสดามายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี ไปนิมนต์พระบรมศาสดา อำมาตย์กาฬุทายีก็ได้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาแล้ว พระกาฬุทายีเถระทูลวิงวอนให้เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดายัง ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ในครั้งนั้นทรงทำพระธรรมเทศนาอันวิจิตรแก่พระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ เมื่อทรงอนุเคราะห์พระญาติแล้ว ทรงให้ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว ไม่นานนัก ก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปจาริกในมัลลรัฐแล้วเสด็จกลับมายังอนุปิยอัมพวัน

 

กำเนิดเป็นเจ้าภัททิยศากยะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ตั้งแต่วันนั้น เขากระทำแต่กรรมอันดีงามจนตลอดชีวิต จุติจากภพนั้นไปเกิดในเทวภพ เวียนว่ายอยู่ในภูมิเทวดาและมนุษย์เป็นเวลานาน ครั้งที่พระศาสดาของพวกเราทรงอุบัติ เขาก็มาถือปฏิสนธิเป็น เจ้าภัททิยะ แห่งศากยวงศ์ เป็นเพื่อนเล่นกับเจ้าศากยอีกหลายพระองค์ เช่น เจ้าอนุรุทธ เจ้ากิมพิละ ท่านทรงเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง ไม่ทราบถึงความลำบากในการประกอบอาชีพ ไม่ทรงทราบแม้เรื่องข้าวที่ทรงเสวยอยู่มีที่มาอย่างไร มีเรื่องเล่าว่า

 

เจ้าศากยะทั้ง ๓ สนทนากันถึงที่เกิดแห่งข้าว

ก็วันหนึ่ง ยุวกษัตริย์ ๓ องค์ คือ เจ้ากิมพิละ เจ้าอนุรุทธ และเจ้าภัททิยะ ทรงสนทนากันด้วยเรื่องว่า “ ข้าวที่เราบริโภคเกิดขึ้นที่ไหน ? ” กิมพิลกุมาร รับสั่งว่า “เกิดขึ้นในฉาง” ครั้งนั้นภัททิยกุมาร ตรัสค้านกิมพิลกุมารนั้นว่า “ ท่านยังไม่ทราบที่เกิดแห่งข้าว ชื่อว่าข้าว ย่อมเกิดขึ้นที่หม้อข้าว” เจ้าอนุรุทธตรัสแย้งว่า “ ถึงท่านทั้งสองก็ยังไม่ทรงทราบ ธรรมดาข้าว ย่อมเกิดขึ้นในถาดทองคำประมาณศอกกำ”

ได้ยินว่า บรรดากษัตริย์ ๓ องค์นั้น วันหนึ่ง กิมพิลกุมาร ทรงเห็นเขาขนข้าวเปลือกลงจากฉาง ก็เข้าพระทัยว่าข้าวเปลือกเหล่านี้เกิดขึ้นในฉางนั่นเอง

ฝ่ายพระภัททิยกุมาร ทรงเห็นเขาคดข้าวออกจากหม้อข้าวก็เข้าพระทัยว่า ข้าวเกิดขึ้นในหม้อข้าวนั่นเอง

ส่วนอนุรุทธกุมาร ยังไม่เคยทรงเห็นคนซ้อมข้าว คนหุงข้าว หรือคนคดข้าว ทรงเห็นแต่ข้าวที่เขาคดแล้วตั้งไว้ เฉพาะพระพักตร์เท่านั้น ท่านจึงทรงเข้าพระทัยว่า “ภัตเกิดในถาด ในเวลาที่ต้องการบริโภค”

ภัททิยกุมารนั้นต่อมมาได้อภิเษกเป็นพระราชาทรงพระนามว่า พระเจ้าภัททิยะ

 

ขัติยศากยกุมารออกบวชตามเสด็จ

สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงประชุมศากยะสกุลทั้งหลายตรัสให้แต่ละตระกูลในศากยราชวงศ์ส่งขัตติยกุมารออกบวชตามเสด็จ ในครั้งนั้นเล่ากันว่า ขัตติยกุมารถึงพันองค์จึงออกผนวชโดยพระดำรัสครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อขัตติยกุมารโดยมากเหล่านั้นผนวชแล้ว เหล่าพระญาติเห็นศากยะ ๖ พระองค์นี้ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธ อานันทะ ภคุ กิมพิละ เทวทัต ยังมิได้ผนวชจึงสนทนากันว่า “พวกเรายังให้ลูก ๆ ของตนบวชได้ ศากยะทั้ง ๖ นี้ มิใช่พระญาติหรือจึงมิได้ทรงผนวช”

เมื่อเป็นดังนั้นเจ้ามหานามศากยะจึงเข้าไปหาเจ้าอนุรุทธศากยะผู้เป็นน้อง และกล่าวว่า บัดนี้ ศากยะกุมารที่มีชื่อเสียงเป็นอันมากได้ออกผนวชตามเสด็จ แต่ผู้ออกบวชจากตระกูลของเรายังไม่มี น้องจักบวช หรือว่า พี่จักบวช” พระอนุรุทธราชกุมารจึงทูลถามว่าการบวชนี้เป็นอย่างไร ? ” เจ้ามหานามจึงตรัสว่า “ผู้บวช ก็ต้องโกนผมและหนวด ต้องนุ่งห่มผ้ากาสายะ ต้องนอนบนเครื่องลาดด้วยไม้ หรือบนเตียงที่ถักด้วยหวาย เที่ยวบิณฑบาตอยู่ นี้ชื่อว่าการบวช ” เจ้าอนุรุทธศากยะจึงทูลว่า“เจ้าพี่ หม่อมฉันเป็นสุขุมาลชาติ หม่อมฉันจักไม่สามารถบวชได้” เจ้าอนุรุทธกุมารนั้น ทรงเป็นกษัตริย์ผู้สุขุมาล มีโภคะสมบูรณ์ แม้คำว่า“ ไม่มี ” ก็ไม่เคยได้ยิน จึงไม่ยินดีในการบวช

เจ้ามหานามจึงตรัสว่า “ อย่างนั้น ท่านจงเรียนรู้การงานสำหรับอยู่เป็นฆราวาสเถิด ในระหว่างเราทั้งสองจะไม่บวชเลยสักคนก็เป็นเรื่องไม่ควร”

อนุรุทธกุมารผู้ซึ่งไม่รู้แม้กระทั่งว่าอาหารที่ตนบริโภคนั้นเกิดขึ้นที่ไหน ได้มาอย่างไร จะรู้จักการงานได้อย่างไร ?

อนุรุทธกุมารจึงทูลถามว่า “การทำงานนี้เป็นอย่างไร ? เจ้ามหานามศากยะ จึงสอนเรื่องการครองเรือนแก่อนุรุทธกุมารผู้น้องว่า ผู้อยู่ครองเรือน ชั้นต้นต้องให้ไถนา ครั้นแล้วให้หว่าน ให้ไขน้ำเข้า ครั้นไขน้ำเข้ามากเกินไป ต้องให้ระบายน้ำออก ครั้นให้ระบายน้ำออกแล้ว ต้องให้ถอนหญ้า ครั้นแล้วต้องให้เกี่ยว ให้ขน ให้ตั้งลอม ให้นวด ให้สงฟางออก ให้ฝัดข้าวลีบออก ให้โปรยละออง ให้ขนขึ้นฉาง ครั้นถึงฤดูฝนก็ต้องทำอย่างนี้อีก เป็นอย่างนี้ทุกปี

ครั้นอนุรุทธกุมารได้ทรงฟังกิจการที่ฆราวาสจะพึงทำเป็นประจำทุกปีเช่นนั้น ทรงมองไม่เห็นว่า การงานสำหรับเพศฆราวาสทั้งหลายจะมีที่สิ้นสุดเมื่อไร จึงทูลให้เจ้ามหานามทรงครองฆราวาส ส่วนตนเองจะเป็นผู้ออกบวช

 

เจ้าอนุรุทธศากยะขออนุญาตจากพระราชมารดา

เจ้าอนุรุทธศากยะจึงเข้าไปหาพระราชมารดา แล้วกล่าวขออนุญาตที่จะออกบวช พระราชมารดาไม่ทรงยินยอม ท่านได้กล่าวอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง พระราชมารดาของอนุรุทธศากยะทรงคิดว่า พระเจ้าภัททิยศากยะ ผู้ทรงเป็นพระสหายสนิทของอนุรุทธศากยะนี้ ทรงครองราชสมบัติเป็นราชาของพวกศากยะ พระองค์คงจะไม่อาจสละราชสมบัติออกทรงผนวชเป็นแน่ จึงได้กล่าวกะอนุรุทธศากยะว่า ถ้าพระเจ้าภัททิยศากยะทรงผนวช เจ้าก็ออกบวชได้

ลำดับนั้น อนุรุทธศากยะจึงเสด็จไปเข้าไปเฝ้าพระเจ้าภัททิยศากยะ แล้วได้ทูลว่า การบวชของเรานั้นขึ้นอยู่กับตัวท่าน

พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า ไม่ว่าการบวชของท่านจะขึ้นอยู่กับตัวเราหรือไม่ก็ตาม ท่านจงบวชตามสบายเถิด

อนุรุทธศากยะได้ยินดังนั้นจึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเราทั้งสองจะออกบวชด้วยกัน

พระเจ้าภัททิยศากยะตรัสว่า เราไม่สามารถออกบวชได้ ถ้ามีสิ่งอื่นใดที่เราสามารถจะทำให้ท่านได้ เราจะทำสิ่งนั้นให้แก่ท่าน ท่านจงบวชเองเถิด

อนุรุทธศากยะตรัสว่า ก็พระมารดาได้ตั้งเงื่อนไขกับเราว่า ถ้าท่านบวชด้วย พระมารดาก็จะยอมให้เราบวช ก็ท่านพูดเมื่อครู่นี้ว่า เราจงบวชตามความสบาย ดังนั้นเมื่อท่านยอมให้เราบวช ท่านก็ต้องบวชด้วย

ในสมัยนั้น คนทั้งหลายเป็นผู้มีความสัตย์ ดังนั้นพระเจ้าภัททิยศากยะได้ต่อรองว่า จงรออยู่สัก ๗ ปีเถิด เมื่อครบ ๗ ปีแล้ว เราทั้งสองจึงจะออกบวชด้วยกัน ฝ่ายเจ้าอนุรุทธก็ไม่ยินยอม การต่อรองได้ดำเนินไปโดยลดระยะเวลาลงเรื่อย ๆ จนถึง ๗ วัน เจ้าอนุรุทธจึงยินยอม

 

อุบาลีออกบวชพร้อมด้วยศากยะทั้งหก

แต่นั้น กษัตริย์ทั้งหกองค์นี้ คือ ภัททิยศากยราช อนุรุทธ อานนท์ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต พร้อมกับนายภูษามาลา ชื่อ อุบาลี ได้เสด็จออกจากเมืองโดยทำเสมือนหนึ่งว่าจะเสด็จไปประพาสอุทยาน เมื่อออกนอกแดนที่เหล่าศากยะทั้ง ๖ ปกครองแล้ว ก็ทรงส่งทหารมหาดเล็กให้กลับพระนคร แล้วเสด็จต่อไปเข้าสู่แดนของศากยะราชพระองค์อื่น กษัตริย์ ๖ พระองค์ก็ทรงเปลื้องอาภรณ์ของตนออกทำเป็นห่อ แล้วรับสั่งให้นายอุบาลีกลับไปพร้อมกับนำเครื่องประดับเหล่านั้นไปเพื่อเลี้ยงชีพ ฝ่ายอุบาลีภูษามาลาไปได้หน่อยหนึ่งก็กลับ โดยคิดว่า “พวกเจ้าศากยะราชโหดร้ายนัก ถ้าเรากลับไปพร้อมเครื่องประดับเช่นนี้ เจ้าศากยราชเหล่านั้นก็จะฆ่าเราเสีย ด้วยเข้าพระทัยว่า พระกุมารทั้งหลายถูกเจ้าคนนี้ปลงพระชนม์เสียแล้ว แล้วก็คิดต่อไปว่า ศากยกุมารเหล่านี้ทรงสละสมบัติ ทิ้งอาภรณ์อันหาค่ามิได้เหล่านี้ราวกับถ่มน้ำลายทิ้ง เพื่อออกผนวช ก็ทำไมเราจึงจะทำเช่นนั้นบ้างไม่ได้เล่า ? ” ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงแก้ห่อเครื่องประดับนั้น เอาอาภรณ์เหล่านั้นแขวนไว้บนต้นไม้แล้ว กล่าวว่า “ ใครต้องการก็จงเอาไปเถิด ” แล้วหันกลับเดินไปสู่สำนักของศากยกุมารเหล่านั้น ศากยกุมารเหล่านั้นเห็น อุบาลีภูษามาลากลับมาจึงตรัสถามถึงเหตุที่กลับมา นายภูษามาลาก็กราบทูลให้ทรงทราบ

 

ศากยะทั้งหกบรรลุคุณพิเศษ

ลำดับนั้น ศากยกุมารเหล่านั้น ทรงพาอุบาลีภูษามาลา ไปสู่สำนักพระศาสดาถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า พวกหม่อมฉันเป็นเจ้าศากยะยังมีมานะ ความถือตัวอยู่ อุบาลีผู้นี้เป็น นายภูษามาลา เป็นผู้รับใช้ของหม่อมฉันมานาน ขอพระผู้มีพระภาคจงให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้บวชก่อนเถิด พวกหม่อมฉันจักทำการอภิวาท การลุกรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่อุบาลีผู้เป็นภูษามาลานี้ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความถือตัวว่าเป็นศากยะ ของพวกหม่อมฉันผู้เป็นศากยะจักเสื่อมคลายลง” ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน ให้ ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ

ท่านพระอนุรุทธ บรรลุฌานเป็นผู้มีจักษุเป็นทิพย์ แต่ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล ท่านพระอานนท์ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระภคุเถระและพระกิมพิลเถระ ภายหลังเจริญวิปัสสนาได้บรรลุพระอรหัต พระเทวทัตได้บรรลุฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน

ส่วนท่านพระภัททิยะครั้น บรรพชาแล้วเริ่มตั้งวิปัสสนา ไม่นานนักก็ได้คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ได้สมาทานธุดงค์ ๑๓ บำเพ็ญเพียรต่อไปจนบรรลุเป็นพระอรหัตถ์เตวิชโช โดยระหว่างพรรษานั้นนั่นเอง

 

เหล่าภิกษุสงสัยว่าพระภัททิยเถระยังยินดีอยู่ในกามสุข

ครั้นเมื่อท่านภัททิยเถระบรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านอยู่ด้วยผลสุขและนิพพานสุข จะอยู่ในป่า ก็ดีอยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างๆ ก็ดี เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้น จึงกราบทูลแด่พระศาสดาว่า ท่านพระภัททิยะโอรสพระนางกาฬิโคธา กล่าวเนือง ๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ เห็นจะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ หรือมิฉะนั้นกระลึกถึงสุข ในราชสมบัติครั้งก่อนนั้นเอง

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูกรภิกษุ เธอเรียกภัททิยะภิกษุมา ภิกษุนั้นรับสนองพระพุทธพจน์แล้ว เข้าไปหาท่านพระภัททิยะ ครั้นแล้วได้กล่าวว่า ท่านภัททิยะ พระศาสดารับสั่งหาท่าน ฯ

ท่านพระภัททิยะรับคำของภิกษุนั้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระ ภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท่านพระภัททิยะนั่งเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

ดูกรภัททิยะ ข่าวว่า เธอไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคน ไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ จริงหรือ

ภัททิยะ “จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ “ดูกรภัททิยะ ก็เธอพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์อะไร ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี จึงได้เปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ เช่นนั้น”

ภัททิยะ “พระพุทธเจ้าข้า เมื่อก่อนข้าพระพุทธเจ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้ภายในพระราชวังก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างเรียบร้อย ภายนอกพระราชวังก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างเข้มแข็ง ภายในพระนครก็ได้จัดการรักษาไว้เรียบร้อย แม้ภายนอกพระนครก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างแข็งแรง แม้ภายในชนบทก็ได้จัดการรักษาไว้เรียบร้อย แม้ภายนอกชนบทก็ได้จัดการรักษาไว้อย่างมั่นคง พระพุทธเจ้าข้า”

“ข้าพระพุทธเจ้านั้น แม้จะมีคนทั้งหลายรักษาคุ้มครองแล้ว อย่างนี้ก็ ยังกลัว ยังหวั่น ยังหวาด ยังสะดุ้งอยู่ แต่บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้าไปสู่ป่าก็ดี ไป สู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี ลำพังผู้เดียวก็ไม่กลัว ไม่หวั่น ไม่หวาด ไม่ สะดุ้ง ขวนขวายน้อย เป็นอยู่ด้วยปัจจัย ๔ ที่ผู้อื่นให้”

“ข้าพระพุทธเจ้าพิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์นี้แล ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่ โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนืองๆ ว่า สุขหนอ สุขหนอ พระพุทธเจ้าข้า”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว ทรงเปล่งอุทานในเวลานั้น ว่าดังนี้:

 

อุทานคาถา

บุคคลใดไม่มีความโกรธภายในจิต

และก้าวล่วงภพน้อยภพใหญ่มีประการเป็นอันมากเสียได้

เทวดาทั้งหลายไม่อาจเล็งเห็นวาระจิตของบุคคลนั้น

ผู้ปลอดภัย มีสุข ไม่มีโศก ฯ

พระเถระบันลือสีหนาท ณ เบื้องพระพักตร์ของพระศาสดาด้วยประ การฉะนี้ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้น ได้พากันเลื่อมใสยิ่งแล้ว

ต่อมาภายหลัง พระศาสดาเมื่อ ประทับอยู่ในเชตวันมหาวิหาร ได้ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่ง เอตทัคคะว่า ภัททิยะโอรสของพระนางกาฬิโคธา เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีตระกูลสูงในศาสนาของเรา

 


ที่มา https://www.pariyat.com

47529539
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
40836
86618
394302
46849926
1015877
1172714
47529539

Your IP: 182.232.111.6
2024-11-23 23:20
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search