พระพุทธเจ้า ตอนที่ 3

พระพุทธเจ้า ตอนที่ 3

ความย่อ

พระวรกายอันประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษของพระองค์ที่ได้ใช้ในการทำหน้าที่สั่งสอนสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นกำลังดับขันธ์ลง แต่กายธรรมอันใสพิสุทธิ์กำลังดำเนินกลับสู่ดินแดนอันเกษม คือ พระนิพพาน

ประวัติ

 

ตอนที่ 3 ช่วงปัจฉิมกาล


ปัจฉิมกาล เป็นช่วงเวลาสุดท้ายแห่งการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนเพื่อความดับทุกข์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระวรกายอันประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษของพระองค์ที่ได้ใช้ในการทำหน้าที่สั่งสอนสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นกำลังดับขันธ์ลง แต่กายธรรมอันใสพิสุทธิ์กำลังดำเนินกลับสู่ดินแดนอันเกษม คือ พระนิพพาน ดินแดนบรมสุขอันเป็นนิรันดร์

ในที่นี้จะได้แสดงถึงการเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนในพรรษาสุดท้าย โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขารแล้ว จนกระทั่งถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นลำดับไป

 

เส้นทางพุทธดำเนินก่อนปรินิพพาน


หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำนิมิตโอภาสถึง 16 ครั้ง เพื่อเปิดโอกาสให้พระอานนท์ได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์มายุสืบต่อไป แต่พระอานนท์ก็ไม่สามารถจะเข้าใจ ไม่ทราบว่าพระพุทธองค์ทรงหมายถึงอะไร เพราะในขณะนั้นท่านได้ถูกมารดลใจไว้ พระพุทธองค์จึงให้พระอานนท์ไปเจริญฌานสมาบัติ เมื่อพระอานนท์ออกไปแล้ว มารก็เข้ามาทูลให้พระองค์เสด็จปรินิพพาน พระองค์ก็ทรงรับ แล้วทรงกำหนดพระทัยว่าจักปรินิพพานในอีก 3 เดือนข้างหน้า เมื่อทรงกำหนดว่าจะปรินิพพานแล้ว แผ่นดินก็ได้เกิดอาการไหวขึ้น

พระอานนท์ได้เห็นเหตุการณ์อย่างนั้น จึงกลับเข้ามากราบทูลถามถึงสาเหตุที่เกิดแผ่นดินไหว พระพุทธองค์จึงตรัสเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหว 8 ประการ1) คือ 

  • 1. ดูก่อนอานนท์ แผ่นดินใหญ่ตั้งอยู่บนน้ำ น้ำตั้งอยู่ลม ลมตั้งอยู่บนอากาศ สมัยที่ลมใหญ่พัด ย่อมทำน้ำให้ไหว ครั้นน้ำไหวแล้ว แผ่นดินนี้ย่อมไหว
  • 2. ดูก่อนอานนท์ สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางจิต หรือเทวดาผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เข้าเจริญปฐวีสัญญาเล็กน้อย เจริญอาโปสัญญามาก ก็ทำให้แผ่นดินนี้สะเทือน หวั่นไหวได้
  • 3. ดูก่อนอานนท์ เมื่อใด พระโพธิสัตว์เคลื่อนจากดุสิต มีสติสัมปชัญญะ ก้าวลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือน หวั่นไหวได้
  • 4. ดูก่อนอานนท์ ก็เมื่อใด พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ ประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือน หวั่นไหวได้
  • 5. ดูก่อนอานนท์ เมื่อใด ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาน เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือน หวั่นไหวได้
  • 6. ดูก่อนอานนท์ เมื่อใด ตถาคตยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยมให้เป็นไป เมื่อนั้น แผ่นดินนี้ย่อมสะเทือน หวั่นไหวได้
  • 7. ดูก่อนอานนท์ เมื่อใด ตถาคตมีสติสัมปัชญญะ ปลงอายุสังขาร เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ ย่อมสะเทือน หวั่นไหวได้
  • 8. ดูก่อนอานนท์ เมื่อใด ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพพานธาตุ เมื่อนั้นแผ่นดินนี้ย่อมสะเทือน หวั่นไหวได้

เมื่อพระอานนท์ได้ฟังอย่างนั้น ก็ทราบได้ทันทีว่า เพราะเหตุใดจึงเกิดแผ่นดินไหว ได้กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ทรงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดไป แต่พระองค์ก็ตรัสห้าม เพราะในบัดนี้ไม่มีประโยชน์อะไรอีกแล้วที่จะมาทูลอาราธนาพระองค์ เพราะจักกลับคืนวาจาที่ได้ตรัสแล้วด้วยเหตุแห่งชีวิต ไม่อยู่ในฐานะที่พระองค์จักกระทำได้ แล้วพระพุทธองค์ได้ตรัสบอกพระอานนท์ถึงในกาลก่อนที่พระองค์ทรงทำนิมิตโอภาสอย่างนี้ถึง 16 ครั้ง แต่พระอานนท์ไม่รู้เท่าทัน จึงไม่ได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป จากนั้นจึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วตรัสเตือนภิกษุสงฆ์ไม่ให้ประมาทว่า  

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านั้นคือ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 ธรรมเหล่านี้ เราแสดงแล้วเพื่อความรู้ยิ่งแก่พวกเธอ”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายว่า “ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ขอท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิดไม่ช้าตถาคตจักปรินิพพาน จากนี้ล่วงไปสามเดือน ตถาคตจักปรินิพพาน”

พระผู้มีพระภาคเจ้าสุคตศาสดาครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้แล้วจึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ว่า
“ คนเหล่าใดทั้งเด็กผู้ใหญ่ ทั้งพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งมั่งมีทั้งขัดสน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำ ทั้งเล็ก ทั้งใหญ่ ทั้งสุก ทั้งดิบทุกชนิด มีความแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น”

และตรัสต่อไปอีกว่า “ วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราเหลือน้อย เราจะละพวกเธอไป เราได้ทำที่พึงแก่ตนแล้ว พวกเธอจงไม่ประมาท มีสติ มีศีลด้วยดีเถิด จงเป็นผู้มีความดำริตั้งมั่นด้วยดี จงตามรักษาจิตของตนเถิด ผู้ใดจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสงสารแล้วทำที่สุดแห่งทุกข์ได้”2)

 

หมู่บ้านภัณฑคาม 3)


เช้าวันต่อมา พระพุทธองค์เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี ขณะเสด็จกลับออกมา ก็ทรงหยุดประทับยืนทอดพระเนตรเมืองเวสาลีเป็นนาคาวโลก คือทรงเหลียวดูโดยหันพระวรกายกลับมาทั้งตัว แล้วเสด็จไปยังหมู่บ้านภัณฑคาม พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ขณะที่ประทับอยู่ในหมู่บ้านภัณฑคาม ได้ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอด อริยธรรม 4 คือ ศีล สมาธิ(Meditation) ปัญญา วิมุตติ เราและพวกเธอ จึงเร่ร่อนเที่ยวไปสิ้นกาลนานอย่างนี้ บัดนี้เราได้รู้แจ้งแทงตลอดถึงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติอันเป็นอริยะแล้ว ตัณหาในภพเราถอนเสียแล้ว ตัณหาอันจะนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว บัดนี้ภพใหม่ไม่มีแล้ว”4)

 

เรื่องของนายจุนทกัมมารบุตร


หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ในหมู่บ้านภัณฑคามแล้ว ก็ได้เสด็จไปที่โภคนคร โดยเสด็จผ่านหมู่บ้านหัตถีคาม อัมพคาม ชัมพุคาม ตามลำดับ จนถึงโภคนคร ได้ประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์ ทรงแสดง มหาปเทส 4 ประการ5) เพื่อเป็นเครื่องวินิจฉัยพระธรรมวินัย นอกจากนั้น ยังทรงแสดงธรรมอื่นๆ อีกเป็นอันมากแก่ภิกษุทั้งหลายตามสมควร

จากนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังเมืองปาวา ประทับอยู่ที่อัมพวัน คือสวนมะม่วงของนายจุนทกัมมารบุตร เมื่อนายจุนทะได้ทราบข่าวจึงเข้าไปเฝ้า กราบทูลนิมนต์พระพุทธองค์กับภิกษุสงฆ์ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น

ในเวลาเช้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังบ้านของนายจุนทะ นายจุนทะ ได้นำสุกรมัททวะ มาถวาย พระพุทธองค์ก็ตรัสสั่งให้เอาสุกรมัททวะ6)มาถวายเฉพาะพระองค์ ส่วนที่เหลือให้เอาไปฝังทิ้งเสีย เพราะนอกจากพระองค์แล้ว ไม่มีผู้ใดที่จะสามารถบริโภคแล้วย่อยได้ แล้วทรงรับสั่งให้อังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยอาหารอย่างอื่น

หลังจากพระพุทธองค์เสวยภัตตาหารของนายจุนทกัมมารบุตรแล้ว เกิดอาพาธอย่างแรงกล้าด้วยโลหิตปักขันทิกาพาธ7) มีเวทนาหนักใกล้ปรินิพพาน แต่ทรงมีสติสัมปชัญญะ อดกลั้นทุกขเวทนาเหล่านั้นไว้ รับสั่งพระอานนท์ว่า

“ อานนท์ เราจักไปกรุงกุสินารา”

ระหว่างทางเสด็จทรงแวะพักที่โคนไม้ข้างทาง และรับสั่งให้พระอานนท์ไปหาน้ำมา พระอานนท์กราบทูลว่า น้ำยังขุ่นอยู่ เพราะเกวียน 500 เล่มเพิ่งข้ามผ่านไป แล้วทูลเชิญพระองค์เสด็จไปที่แม่น้ำ กกุธานที ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากนี้ แต่พระพุทธองค์ก็ยังตรัสเช่นเดิมอีก ในครั้งที่ 3 พระอานนท์จึงทำตาม ปรากฏว่าน้ำกลับใสสะอาด จึงตักน้ำไปถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมกับกราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสวยน้ำนั้นแล้ว ครั้งนั้น ปุกกุสมัลลบุตร สาวกของอาฬารดาบสกาลามโคตร เดินทางจากเมืองกุสินาราจะไปเมืองปาวา เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่ง ณ โคนต้นไม้ จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคม และเมื่อได้ฟังสันติวิหารธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว เกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง และได้น้อมนำผ้าเนื้อเกลี้ยง มีสีดังทองสิงคีที่เรียกว่า ผ้าสิงคิวรรณ จำนวน 2 ผืน เข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับเพียงผืนเดียว อีกผืนหนึ่งตรัสสั่งให้ถวายพระอานนท์

เมื่อปุกกุสมัลลบุตรหลีกไปแล้ว พระอานนท์ได้น้อมผ้าสิงคิวรรณเข้าไปสู่พระวรกายของพระพุทธองค์ ผ้านั้นปรากฏดังถ่านไฟที่ปราศจากเปลว ผิวกายของพระองค์เปล่งประกายงามบริสุทธิ์ผุดผ่อง เมื่อพระอานนท์เห็นเช่นนั้นจึงทูลสรรเสริญ พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า

“ อานนท์ ในกาลทั้ง 2 กายของตถาคตย่อมบริสทุธิ์ฉวีวรรณผุดผ่องยิ่ง คือ ในเวลาราตรีที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และในเวลาราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน”

“ อานนท์ ในปัจฉิมยามแห่งราตรีนี้ ตถาคตจักปรินิพพาน ในระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ในสาลวันแห่งมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา มาเถิด อานนท์ เราจักไปยังแม่น้ำกกุธานที”

เมื่อเสด็จไปถึงแม่น้ำกกุธานที ทรงสรง ทรงดื่มแล้ว เสด็จไปยังอัมพวันตรัสสั่งให้พระจุนทกะปูลาดผ้าสังฆาฏิในบริเวณนั้นแล้ว ทรงพระบรรทมอุฏฐานสัญญามนสิการ8) โดยมีพระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เบื้องพระพักตร์

เมื่อพระพุทธองค์ทรงพักบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยแล้ว จึงตรัสสั่งกับพระอานนท์ว่า

“ อานนท์ ต่อไปภายหน้า หากมีใครทำความร้อนใจให้เกิดแก่นายจุนทกัมมารบุตรว่า “ ที่พระพุทธเจ้าต้องเสด็จปรินิพพาน ก็เป็นเพราะบริโภคอาหารของท่าน” อานนท์ เธอจงช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของนายจุนทกัมมารบุตร โดยชี้แจงแก่เขาว่า บิณฑบาตที่มีผลเสมอกัน มีอานิสงส์เสมอกัน มีผลใหญ่กว่า มีอานิสงส์ใหญ่กว่าบิณฑบาตอื่นๆ นั้นมีอยู่ 2 คราว คือ บิณฑบาตที่บริโภคแล้ว ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หมายถึง บิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายในวันตรัสรู้ และบิณฑบาตที่บริโภคแล้วเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน หมายถึง บิณฑบาตที่นายจุนทะถวายในวันปรินิพพาน”

ประเด็นนี้เป็นที่สงสัยกันอย่างมากในเหล่าพุทธศาสนิกชนและบุคคลทั่วไปที่ได้ทราบ จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นห่วงนายจุนทะเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อน แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสกับพระอานนท์แล้ว มีพุทธดำรัสปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ก็ยังมีบุคคลที่ไม่เข้าใจหรือสงสัยในประเด็นนี้อยู่ จึงจะได้ชี้แจงประเด็นนี้ตามที่ได้ศึกษามาต่อไป

การที่พระพุทธองค์ทรงปรินิพพานในวันนั้น ก็เป็นไปตามพระพุทธกำหนด เมื่อทรงปลงอายุสังขารแล้ว คือ ทรงมีพระประสงค์ที่จะปรินิพพานในวันนั้นอยู่แล้ว วัน เวลา สถานที่ ที่จะเสด็จปรินิพพานนั้น พระองค์ได้ทรงประกาศล่วงหน้าไว้แล้วถึง 3 เดือน และก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จมาถึงบ้านของนายจุนทะ แล้วได้บริโภคสุกรมัทวะนั้น พระองค์ก็ทรงประชวรมาก่อนแล้ว แม้ในขณะที่บริโภคอาหารของนายจุนทะก็อยู่ในระหว่างประชวร นอกจากนี้ ยังมีพยานการรู้เห็นการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระอนุรุทธะ ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านตาทิพย์ ซึ่งจะได้กล่าวในหัวข้อต่อไป

ดังนั้น ไม่ว่าจะทรงเสวยอะไรก็ตาม ก็จะต้องเสด็จดับขันธ์ในวันนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ทรงปรินิพพานเพราะเสวยสุกรมัททวะ ที่ถูกควรจะพูดเสียใหม่ว่า พระพุทธเจ้าเสวยสุกรมัททวะในวันปรินิพพาน

 

หลักปฏิบัติของพุทธบริษัท 4


การทำสักการบูชา

หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพักในบริเวณสวนมะม่วงแล้ว ก็เสด็จมุ่งตรงยังเมือง กุสินารา เมื่อเสด็จถึงสาลวันอันเป็นพระราชอุทยานของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินาราแล้ว ตรัสสั่งพระอานนท์จัดที่ประทับระหว่างไม้สาละคู่ หันศีรษะไปทางทิศอุดร แล้วทรงบรรทมด้วยสีหไสยาสน์ ที่เรียกว่า อนุฏฐานไสยา9)

ครั้งนั้น แม้ไม่ใช่ฤดูกาล แต่ไม้สาละทั้งคู่ผลิดอกบานสะพรั่ง ร่วงหล่นโปรยปรายลงมาที่พระสรีระเพื่อบูชาพระองค์ แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ ร่วงหล่นโปรยปรายลงมาที่พระสรีระเพื่อบูชาพระพุทธองค์ แม้จุณแห่งจันทน์อันเป็นของทิพย์ ก็ตกลงมาจากอากาศ ร่วงหล่นโปรยปรายลงมาที่พระสรีระเพื่อบูชาพระพุทธองค์ แม้สังคีตอันเป็นทิพย์ก็บรรเลงเสียงดนตรีในอากาศเพื่อบูชาพระพุทธองค์

เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุการณ์นี้ตรัสกับพระอานนท์ว่า

“ พุทธบริษัทหรือบุคคลผู้ปฏิบัติตามธรรม สมควรแก่ธรรม ทำการสักการบูชาตถาคตด้วยสิ่งสักการะอย่างนี้ หรือมากกว่านี้ หาชื่อว่าเป็นการบูชาอย่างยิ่งและแท้จริงไม่ หากแต่บุคคลใดไม่ว่าจะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่ธรรม ได้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนนี้ จึงชื่อว่า เป็นการบูชาตถาคตอย่างแท้จริง”

เครื่องระลึกนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ครั้งนั้น พระอานนท์ได้กราบทูลถึงเครื่องระลึกเครื่องเตือนใจ หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “ อานนท์ สังเวชนียสถาน 4 แห่ง คือ

  • 1. สถานที่ตถาคตประสูติ
  • 2. สถานที่ตถาคตตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
  • 3. สถานที่ตถาคตยังธรรมจักรให้เป็นไปแล้ว
  • 4. สถานที่ตถาคตเสด็จปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน

สังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้ เป็นที่ควรเห็น ควรระลึกของพุทธบริษัทหรือผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในตถาคต ชนเหล่าใดเที่ยวจาริกไปยังสถานที่เหล่านี้ด้วยความเลื่อมใส ครั้นทำกาละ ก็จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์”

ข้อปฏิบัติในสตรีของภิกษุ

พระอานนท์ทูลถามข้อที่ภิกษุจะพึงปฏิบัติในสตรี ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ตรัสตอบให้ภิกษุปฏิบัติในสตรีอย่างนี้ คือ

  • 1. การไม่มองดูสตรี จัดเป็นการดี
  • 2. หากจำเป็นต้องมอง การไม่พูดจาด้วย เป็นข้อปฏิบัติที่สมควร
  • 3. หากจำเป็นต้องพูดด้วย ก็สำรวมระวังตั้งสติไว้ให้มั่นคง อย่าให้แปรปรวนด้วยอำนาจราคะ

วิธีปฏิบัติในพระพุทธสรีระ

หลังจากนั้น พระอานนท์ได้ทูลถามต่อไปอีกว่า จะพึงปฏิบัติอย่างไรในพระพุทธสรีระ พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ อานนท์ พวกเธออย่าขวนขวายเพื่อบูชาสรีระของพระตถาคตเลย พวกเธอจงสืบต่อในประโยชน์ตน ประกอบตามในประโยชน์ตน ไม่ประมาทในประโยชน์ตน จงตั้งใจบำเพ็ญเพียรมุ่งสู่ที่สุดแห่งพรหมจรรย์เถิด บรรดากษัตริย์ พราหมณ์ คหบดีทั้งหลายที่เลื่อมใสในพระตถาคตมีอยู่ เขาเหล่านั้นจักทำการบูชาสรีระของพระตถาคตเอง”

แต่ด้วยความรอบคอบของพระอานนท์จึงทูลถามอีกว่า พวกชนเหล่านั้นจะพึงปฏิบัติในพระพุทธสรีระด้วยวิธีใด พระพุทธองค์ก็ตรัสตอบว่า ให้ปฏิบัติแบบเดียวกับพระเจ้าจักรพรรดิ

พระอานนท์จึงทูลถามว่า “ ชนเหล่านั้นจะปฏิบัติกับพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไร”

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ ชนทั้งหลายห่อพระสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่ แล้วซับด้วยสำลี แล้วห่อด้วยผ้าใหม่ โดยอุบายนี้ ห่อด้วยผ้า 500 คู่ แล้วเชิญพระสรีระลงในหีบทอง ซึ่งใส่น้ำมันหอมไว้เต็ม แล้วปิดครอบด้วยหีบทองอีกใบหนึ่ง แล้วอัญเชิญขึ้นสู่จิตกาธานซึ่งทำด้วยไม้หอม ถวายพระเพลิงพระสรีระ แล้วสร้างสถูปไว้ในหนทางใหญ่ 4 แพร่ง อัญเชิญพระอัฐิธาตุบรรจุไว้ที่พระสถูป”

พระพุทธองค์ตรัสต่อไปถึงอัฐิของบุคคล 4 จำพวกที่สมควรจะบรรจุไว้ในพระสถูป โดยเรียกบุคคลทั้ง 4 จำพวกว่า ถูปารหบุคคล ได้แก่ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า สาวกของพระตถาคต พระเจ้าจักรพรรดิราช ประทานโอวาทและตรัสสรรเสริญพระอานนท์

เมื่อเวลาปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้เข้ามา พระอานนท์ผู้ที่ยังเป็นเสขบุคคล จึงไม่อาจ หักห้ามความโศกเศร้าไว้ได้ ออกไปยืนร้องไห้รำพันถึงการที่ตนติดตามอุปัฏฐากพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานาน จนกระทั่งพระพุทธองค์จะปรินิพพานแล้ว ตนเองก็ยังไม่ได้บรรลุพระอรหัตเสียที เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบว่า พระอานนท์ได้เศร้าโศกเสียใจอยู่ จึงรับสั่งให้เรียกพระอานนท์มา แล้วตรัสประทานโอวาทแก่พระอานนท์ไม่ให้เศร้าโศกว่า

“ ความพลัดพลาด จากของรักของชอบใจทั้งสิ้นย่อมมีเป็นธรรมดา สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ย่อมมีความดับไปเป็นธรรมดา อานนท์ เธอได้เป็นอุปัฏฐากตถาคต ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันประกอบด้วยเมตตา เป็นประโยชน์เกื้อกูล เป็นความสุขไม่มีสอง หาประมาณมิได้มาช้านานเธอได้กระทำบุญไว้แล้ว จงประกอบความเพียรเถิด เธอจักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยพลัน”

แล้วได้ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ว่าเป็นยอดพุทธอุปัฏฐาก เป็นพหูสูต มีสติรอบคอบ มีธิติ คือ ความเพียร มีปัญญารู้จักกาลเทศะ และเมื่อบุคคลใดได้เข้าใกล้พระอานนท์ ย่อมยินดีที่ได้เห็น ได้ฟังธรรม พอใจในธรรม และไม่อิ่มในธรรมที่พระอานนท์แสดง

 

สาวกองค์สุดท้าย


ภัททปริพาชก ชาวเมืองกุสินารา ทราบข่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน จึงเกิดความปริวิตกขึ้น ปรารถนาจะเข้าไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อทูลถามปัญหาที่ตนยังสงสัย ได้ขออนุญาตกับพระอานนท์ถึง 3 ครั้ง แต่พระอานนท์ไม่อนุญาต เพราะเกรงว่า พระพุทธองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อย พระพุทธองค์ทรงสดับคำเจรจาของท่านพระอานนท์กับสุภัททปริพาชก จึงตรัสให้พระอานนท์อนุญาตให้สุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าตามประสงค์ เมื่อสุภัททปริพาชกเข้าเฝ้าแล้ว ก็ถามถึงครูทั้ง 613) ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิที่ต่างปฏิญญาว่าตนเองเป็นผู้วิเศษเป็นพระอรหันต์ ได้ตรัสรู้ยิ่งด้วยปัญญา เจ้าลัทธิเหล่านั้นได้ตรัสรู้จริงหรือไม่

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสดับอย่างนั้นแล้ว ทรงตรัสห้ามสุภัททปริพาชก แล้วทรงแสดงธรรมแก่ สุภัททปริพาชกว่า 

“ ดูก่อนสุภัททะ ศาสนาใด ไม่มีอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ศาสนานั้น ย่อมไม่มีสมณะ ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 แต่ว่าอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 มีอยู่ในศาสนาใด แม้สมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็มีอยู่ในศาสนานั้น สุภัททะ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 มีอยู่ในศาสนานี้ ดังนั้น สมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็มีอยู่ในศาสนานี้ หากภิกษุทั้งหลายยังคงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่ในอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 นี้แล้วโลกนี้ก็ไม่ว่างจากพระอรหันต์ ส่วนลัทธิอื่นๆ ไม่มีสมณะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 414) จึงว่างจากสมณะผู้รู้”

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสจบแล้ว สุภัททปริพาชก เกิดความเลื่อมใสเป็นอย่างมาก ได้ทูลขออุปสมบท พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงติตถิยปริวาส คือวิธีการอยู่กรรมสำหรับพวกเดียรถีย์ที่มาบวชในพระพุทธศาสนาแก่เขา โดยต้องอยู่ปริวาสเป็นเวลา 4 เดือน จึงจะได้บวชเป็นภิกษุ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสอย่างนี้ สุภัททปริพาชกก็ไม่ได้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะบวช แต่ยังกราบทูลว่า จะอยู่นานถึง 4 ปี ก็ย่อมได้ แล้วค่อยบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์จึงดำรัสสั่งให้พระอานนท์นำสุภัททปริพาชกไปอุปสมบท และเมื่อสุภัททอุปสมบทแล้ว ได้รับกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้ว ก็ได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนสามารถบรรลุพระอรหันต์ได้ในขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนมชีพอยู่

 

ปัจฉิมวาจา


ครั้งนั้น ภิกษุสงฆ์ได้มาประชุมพร้อมกันหมดแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานโอวาทแก่ภิกษุ สงฆ์ไว้อย่างนี้

  • 1. เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว อย่าพึงมีความคิดว่า ศาสดาไม่มีแล้ว เพราะธรรมและวินัยที่ตถาคตแสดงแล้ว บัญญัติไว้แล้ว ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนพระองค์
  • 2. การร้องเรียกกันด้วยคำว่า “ อาวุโส” ในตอนนี้เป็นการเสมอกันไปทั้งแก่และอ่อน ฉะนั้น ต่อไปนี้ ภิกษุผู้แก่กว่า พึงเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่า ด้วยชื่อ ด้วยตระกูล หรือด้วยคำว่า “ อาวุโส” ส่วนภิกษุผู้อ่อนกว่า พึงเรียกภิกษุผู้แก่กว่าว่า “ ภันเต” หรือ “ อายัสมา”
  • 3. ถ้าสงฆ์ปรารถนาจะถอนสิกขาบทเล็กน้อยบ้าง ในเวลาที่ตถาคตปรินิพพานแล้ว ก็อนุญาตให้สงฆ์ถอดถอนได้
  • 4. ให้พระอานนท์ลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนภิกษุ ด้วยการไม่ให้คณะสงฆ์ว่ากล่าว ตักเตือน สั่งสอน และคบหาสมาคมด้วย

จากนั้น ประทานโอกาสให้ภิกษุสงฆ์ถามความข้องใจสงสัยในพระรัตนตรัย หรือแม้ในข้อปฏิบัติที่ยังสงสัยอยู่ แต่ปรากฏว่าไม่มีภิกษุรูปใดทูลถาม แม้พระพุทธองค์จะทรงตรัสถามถึง 3 ครั้ง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เพราะภิกษุที่ประชุมกันอยู่ 500 รูปนี้ อย่างน้อยก็เป็นพระโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา มีทางที่จะได้ตรัสรู้ต่อไปในภายภาคหน้า พระพุทธองค์ได้ตรัสต่อไป เป็นครั้งสุดท้ายว่า “ ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า

“สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลาย จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด” พระโอวาทนี้จัดเป็นปัจฉิมโอวาท เป็นโอวาทสุดท้ายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนแก่พุทธบริษัททั้ง 4

 

เสด็จปรินิพพาน


หลังจากนี้พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงสงบนิ่งทำปรินิพพานบริกรรมด้วยอนุบุพพวิหารหรือสมาบัติทั้ง 9 โดยอนุโลมและปฏิโลมตามลำดับ เริ่มตั้งแต่ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว เข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ

พระอานนท์ผู้นั่งเฝ้าดูอาการของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดเวลา จึงถามถึงการปรินิพพานกับพระอนุรุทธะซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ พระอนุรุทธะผู้มีตาทิพย์มองเห็นการปรินิพพานของพระพุทธองค์ตลอดมา ตอบว่า ยังไม่ได้ปรินิพพาน เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้ว เข้า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว เข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว เข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว เข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว เข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว เข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ก็เสด็จปรินิพพาน  

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ สั่นสะเทือนเลื่อนลั่นสนั่นหวั่นไหว มหาสมุทรปั่นป่วนหวั่นไหว เกิดคลื่นเคลื่อนไปไม่มีหยุด พายุพัดกรรโชกกระหน่ำเกิดความขนพองสยองเกล้าน่าสะพรึงกลัวยิ่ง ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือขึ้น

 

เหตุการณ์หลังจากปรินิพพาน


เมื่อถึงเวลาเช้า พระอนุรุทธะได้ให้พระอานนท์แจ้งข่าวการปรินิพพานแก่พวกมัลลกษัตริย์ เมื่อพวกมัลลกษัตริย์ทราบข่าว ก็เศร้าโศกเสียใจ และได้ดำรัสสั่งให้ประกาศข่าวการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แก่พวกชาวเมืองให้รู้ทั่วกัน จากนั้นก็มีผู้คนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตนำเครื่องสักการบูชาพระบรมศพกันอย่างเนืองแน่นตลอดเวลา 6 วัน

ในวันที่ 7 พวกมัลลกษัตริย์ได้ปรึกษากันว่าจักจัดขบวนแห่พระบรมศพออกไปทางทิศใต้ของเมือง กุสินารา แล้วถวายพระเพลิงพระบรมศพในที่นั้น จึงได้จัดเตรียมอัญเชิญพระบรมศพออกไป แต่ก็ไม่สามารถเคลื่อนพระบรมศพออกจากที่ได้ จึงเข้าไปเรียนถามพระอนุรุทธะ จึงได้ทราบว่า ที่พวกมัลลกษัตริย์ทำไปนั้น ไม่เป็นไปตามประสงค์ของเหล่าเทวดา เหล่าเทวดาประสงค์จะอัญเชิญพระบรมศพไปทางด้านทิศเหนือ แล้วเข้าสู่พระนครทางประตูด้านทิศเหนือนั้นผ่านเข้ามาใจกลางพระนคร แล้วออกมานอกพระนครทางประตูทิศตะวันออก แล้วนำไปประดิษฐานถวายพระเพลิงที่มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองกุสินารา เมื่อพวกมัลลกษัตริย์ ทำตามนั้นก็สามารถเคลื่อนพระบรมศพได้

 

ถวายพระเพลิง


เมื่ออัญเชิญพระบรมศพมาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ ก็จัดการตามวิธีที่พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบพระอานนท์ไว้ทุกประการ เมื่อได้เวลาถวายพระเพลิง มัลลกษัตริย์ทั้ง 4 ก็ทรงนำไฟเข้าไปจุด แม้จะทรงพยายามเท่าไร พระเพลิงก็ไม่ติดขึ้นมา จึงเข้าไปถามพระอนุรุทธะก็ได้ทราบว่า เหล่าเทวดาต้องการให้รอพระมหากัสสปะเดินทางมาถึงก่อน พวกมัลลกษัตริย์จึงรอคอยการเดินทางมาของพระมหากัสสปะ

ทางด้านพระมหากัสสปะพร้อมกับภิกษุประมาณ 500 รูป กำลังเดินทางออกมาจากเมืองปาวา เพราะได้ทราบข่าวว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับที่เมืองกุสินารา ระหว่างทางได้หยุดพักที่ใต้ร่มไม้ริมทาง ได้เห็นอาชีวกคนหนึ่งเดินถือดอกมณฑารพมาจากเมืองกุสินารา โดยเอามาป้องศีรษะเป็นร่มกั้นแสงแดด เมื่อพระมหากัสสปะเห็นเช่นนั้นแล้ว จึงคิดว่าดอกมณฑารพเป็นดอกไม้ทิพย์ ไม่ได้มีอยู่บนโลกมนุษย์ แต่หากจะมีก็เฉพาะในวันและเวลาที่พระโพธิสัตว์ประสูติ ออกบรรพชา ตรัสรู้ เป็นต้น จึงจะบันดาลให้ดอกมณฑารพ ตกลงมาสู่มนุษยโลก จึงเข้าไปถามก็ทราบความว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว

เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ภิกษุพวกที่เป็นปุถุชนก็เศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก ส่วนภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพก็เกิดธรรมสังเวช แต่มีพระสุภัททะ ภิกษุผู้บวชตอนแก่ได้กล่าวห้ามไม่ให้ภิกษุเหล่านั้นร้องไห้ แต่ให้ดีใจกลับการเสด็จปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจะได้ไม่ต้องมีใครคอยมาสอนอีกต่อไป และจะทำอะไรก็ได้ตามความชอบใจ พระมหากัสสปะได้ฟังเช่นนั้น รู้สึกหดหู่ใจและจะลงโทษแก่พระสุภัททะ แต่เห็นว่ายังไม่ใช่เวลานี้ จึงปลอบประโลมเหล่าภิกษุ ออกเดินทางต่อไปจนถึงเมืองกุสินารา

เมื่อพระมหากัสสปะเดินทางมาถึงเมืองกุสินารา เข้าไปสู่พันธนเจดีย์ แล้วกระทำประทักษิณ คือเดินเวียนขวารอบจิตกาธาน 3 รอบ แล้วยืนอยู่เบื้องพระยุคลบาท ตั้งจิตอธิษฐานขอให้พระยุคลบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำแรกออกมาจากหีบพระบรมศพ ทันใดนั้นพระยุคลบาททั้งคู่ ก็โผล่ออกมาภายนอก พระมหากัสสปะเหยียดมือทั้งสองจับพระยุคลบาท ยกขึ้นวางไว้บนศีรษะของตน และเมื่อถวายบังคมแล้ว พระยุคลบาททั้งสองก็ถอยกลับคืนสู่หีบทองดังเดิม โดยที่ผ้าคลุมหีบทองและเชิงตะกอน ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวจากที่แต่ประการใด เป็นเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง

ในขณะนั้น ได้เกิดเสียงร้องไห้ปริเวทนาของเหล่าเทวาและมนุษย์ทั้งหลายมากมายยิ่งกว่าวัน ดับขันธปรินิพพาน แล้วเกิดพระเพลิงลุกขึ้นไหม้พระบรมศพเอง เมื่อไฟมอดดับลง พระอัฐิ พระเกศา พระโลมา พระนขา และพระทันตา กับผ้าหุ้มห่อพระสรีระกายชั้นในและผ้าคลุมที่อยู่ภายนอกสุดอีกผืนหนึ่ง ไม่ได้ถูกไฟเผาไหม้ไปด้วย นอกนั้นถูกไฟเผาไหม้จนหมดสิ้น ไม่ได้มีปรากฏหลงเหลืออยู่เลย จากนั้นมีท่อน้ำไหลออกมาเองจากท้องฟ้า มีน้ำพุขึ้นจากต้นสาละดับจิตกาธาน รวมทั้งเหล่ามัลลกษัตริย์ก็นำน้ำหอมทั้งหลายช่วยกันดับ แล้วจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานที่สัณฐาคารศาลาภายในเมืองกุสินารา มีเครื่องป้องกันรอบอาคาร มีทหารถือธนูคอยพิทักษ์ มีงานฉลองสักการบูชาต่ออีก 7 วัน

 

แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ


เมื่อข่าวการปรินิพพานและถวายพระเพลิงพระสรีระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแพร่ออกไปตามเมืองและแว่นแคว้นต่างๆ ทำให้บุคคลที่มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธองค์ เช่น พระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์ลิจฉวี เป็นต้น รวม 7 แห่ง ต่างส่งทูตเชิญราชสาสน์มาขอส่วนแบ่งพระสารีริกธาตุ เพื่อนำไปสร้างสถูปทำการสักการบูชา แต่ละเมืองได้ส่งคณะทหารร่วมมากับราชทูต พากันตั้งล้อมเมืองกุสินาราไว้อย่างแน่นหนา แต่พวกมัลลกษัตริย์เกิดความหวงแหนพระบรมสารีริกธาตุ เพราะเห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาปรินิพพานในแคว้นของตน จึงจะไม่ยอมแบ่งพระสารีริกธาตุให้ใคร ทำให้เหล่ากษัตริย์เกิดความไม่พอใจ คิดที่จะทำสงครามกัน เพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ

ขณะนั้น โทณพราหมณ์ เป็นชาวเมืองกุสินารา และเป็นอาจารย์ผู้มีลูกศิษย์ทั่วชมพูทวีป แม้แต่กษัตริย์ทั้งหลายก็เป็นลูกศิษย์ของโทณพราหมณ์ พิจารณาเห็นอย่างนั้น จึงเข้ามาระงับการทำสงครามในครั้งนี้ และได้กล่าวเตือนสติเหล่ากษัตริย์ทั้งหลาย ทำให้ทุกฝ่ายพร้อมใจกันให้โทณพราหมณ์ดำเนินการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ โดยทำการแบ่งเป็นส่วนๆ เท่าๆ กัน เหล่ากษัตริย์พร้อมด้วยราชทูตที่มาจากแคว้นต่างๆ จึงแยกย้ายกันกลับไป ภายหลังโมริยกษัตริย์ได้อัญเชิญพระอังคารที่ได้รับจากมัลลกษัตริย์ไปทำสถูปบรรจุไว้ให้มหาชนสักการบูชา ณ ปิปผลิวัน

หลังจากที่ทำการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุกันแล้ว ล่วงเลยมาได้ 3 เดือน พระมหากัสสปะได้ปรารภเหตุที่พระสุภัททะผู้บวชตอนแก่ กล่าวจาบจ้วง แสดงความไม่เคารพในพระพุทธองค์ จึงได้ทำการสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเป็นครั้งแรก ภายหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว โดยในการทำสังคายนาในครั้งนี้ ได้ประชุมกันที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระมหากัสสปะเป็นประธานและทำหน้าที่เป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชชนาตอบพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชชนาตอบพระสูตรและพระอภิธรรม พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นศาสนูปถัมภก สนับสนุนในการทำสังคายนา กระทำอยู่ 7 เดือน จึงเสร็จสิ้น

เหตุการณ์ต่างๆ ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของพระชนมชีพของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะทำให้พุทธบริษัททั้ง 4 ได้เห็นความเป็นครูของโลกอย่างเช่นพระพุทธองค์ ที่ทรงทำหน้าที่จนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยไม่ได้เห็นแก่ความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น เมื่อเสด็จไปในที่ใดก็ทรงสั่งสอนให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้รู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต แล้วนำไปปฏิบัติจนเกิดประโยชน์กับตนเอง และด้วยพระปัญญาญาณของพระพุทธองค์ ทำให้ความขัดแย้งไม่ได้เกิดขึ้นในชมพูทวีป เพราะเหตุแห่งพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์

ดังนั้น วาระสุดท้ายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นสิ่งที่จะบอกให้ทุกชีวิตได้ทราบว่า ไม่ว่าใคร ก็ตามเมื่อยังอยู่บนโลกใบนี้ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงจากกฎเหล็กของธรรมชาติ ที่ยังต้องมีการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตายในที่สุด แม้พระพุทธเจ้าจะทรงเป็นผู้มีพระคุณอันประเสริฐที่สุดในโลก ก็ยังไม่อาจต้านทานพญามัจจุมารได้ ดังที่พระพุทธองค์ทรงปัจฉิมวาจาไม่ให้ภิกษุสงฆ์ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา แต่เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ก็มีเพียงคุณงามความดีและพระเกียรติคุณอันสุดประมาณของพระองค์ ที่ยังประจักษ์อยู่ในโลกและยังคงอยู่ในความทรงจำอันงดงามของสรรพสัตว์ทั้งหลายตลอดไป

 

สรุปประวัติพระพุทธเจ้า ตอนที่ 3


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นบุคคลพิเศษที่ไม่มีบุคคลใดเสมอเหมือน เพราะเหตุที่พระพุทธองค์ได้สั่งสมบารมีมาอย่างยิ่งยวด ตั้งแต่ชาติที่เกิดเป็นมาณพหนุ่มแบกมารดาอยู่กลางทะเล ได้สั่งสมบารมีมาโดยตลอดไม่ว่าจะเกิดในกำเนิดใดก็ตาม ไม่เคยที่จะท้อแท้ท้อถอยในการสร้างบารมี จึงทำให้พระพุทธองค์สมบูรณ์พร้อมไปด้วยลักษณะมหาบุรุษและอนุพยัญชนะทั้ง 80 และด้วยการฝึกฝนตนเองมาตลอดต่อเนื่องในทุกชาติที่เกิดมา จึงทำให้พระพุทธองค์งดงามไปด้วยจริยาวัตรอันเหมาะสมกับการเป็นต้นแบบและการทำหน้าที่เป็นครูของโลก ดังนี้15)

  • 1. เมื่อเสด็จดำเนิน ทรงก้าวพระบาทเบื้องขวาก่อน ไม่ทรงยกพระบาทไกลนัก ไม่ทรงวางพระบาทใกล้นัก ไม่เสด็จดำเนินเร็วนัก ไม่เสด็จดำเนินช้านัก
  • 2. เมื่อเสด็จดำเนินพระชานุไม่กระทบพระชานุ ข้อพระบาทไม่กระทบข้อพระบาท ไม่ทรงยกพระอุระสูง ไม่ทรงทอดพระอุระไปข้างหลัง ไม่ทรงกระแทกพระอุระ ไม่ทรงส่ายพระอุระ
  • 3. เมื่อเสด็จดำเนินพระกายส่วนบนไม่หวั่นไหว ไม่เสด็จดำเนินด้วยกำลังพระกาย
  • 4. เมื่อทอดพระเนตร ก็ทอดพระเนตรด้วยกายทั้งหมด ไม่ทอดพระเนตรขึ้นเบื้องบน ไม่ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เสด็จดำเนินไม่ทรงเหลียวแล ทอดพระเนตรประมาณชั่วแอก ยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรงมีพระญาณทัสนะอันไม่มีอะไรกั้น
  • 5. เมื่อเสด็จเข้าสู่ละแวกบ้าน ไม่ทรงยืดพระกาย ไม่ทรงย่อพระกาย ไม่ทรงห่อพระกาย ไม่ทรงส่ายพระกาย
  • 6. เมื่อเสด็จเข้าประทับนั่งอาสนะ ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก ไม่ประทับนั่งท้าวพระหัตถ์ ไม่ทรงพิง พระกายที่อาสนะ
  • 7. เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงคะนองพระหัตถ์ ไม่ทรงคะนองพระบาท ไม่ประทับนั่งชันพระชานุ ไม่ประทับนั่งซ้อนพระบาท ไม่ประทับนั่งยันพระหนุ
  • 8. เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน ไม่ทรงครั่นคร้าม ไม่ทรงหวั่นไหว ไม่ทรงขลาด ไม่ทรงสะดุ้ง ทรงปราศจากโลมชาติชูชัน
  • 9. ทรงเวียนมาในวิเวก เมื่อประทับนั่งในละแวกบ้าน
  • 10. เมื่อทรงรับน้ำล้างบาตร ไม่ทรงชูบาตรขึ้นรับ ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ ทรงรับน้ำล้างบาตรไม่น้อยนัก ไม่มากนัก
  • 11. ไม่ทรงล้างบาตรดังขลุกๆ ไม่ทรงหมุนบาตรล้าง ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงล้างบนพระหัตถ์
  • 12. เมื่อทรงล้างพระหัตถ์แล้ว ก็เป็นอันทรงล้างบาตรแล้ว เมื่อทรงล้างบาตรแล้วก็เป็นอันทรงล้างพระหัตถ์แล้ว
  • 13. ทรงเทน้ำล้างบาตรไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก และทรงเทไม่ให้น้ำกระเซ็น
  • 14. เมื่อทรงรับข้าวสุก ไม่ทรงลดบาตรลงรับ ไม่ทรงจ้องบาตรคอยรับ ไม่ทรงแกว่งบาตรรับ
  • 15. ทรงรับข้าวสุกไม่น้อยนัก ไม่มากนัก ทรงรับกับข้าว พอประมาณกับข้าวที่จะเสวย
  • 16. ไม่ทรงน้อมคำข้าวให้เกินกว่ากับข้าว ทรงเคี้ยวคำข้าวในพระโอษฐ์สองสามครั้งแล้วทรงกลืน เยื่อข้าวสุกยังไม่ระคนกันดีเล็กน้อย ย่อมเข้าสู่พระกาย ไม่มีเยื่อข้าวสุกสักนิดหน่อยเหลืออยู่ในพระโอษฐ์ ทรงน้อมคำข้าวเข้าไปแต่กึ่งหนึ่ง
  • 17. ทรงทราบในรสได้อย่างดีในเวลาเสวยอาหาร แต่ไม่ทรงทราบด้วยอำนาจความกำหนัดในรส เสวยอาหารอันประกอบด้วยองค์ 8 ประการ คือ ไม่เสวยเพื่อเล่น ไม่เสวยเพื่อมัวเมา ไม่เสวยเพื่อประดับ ไม่เสวยเพื่อตกแต่ง เสวยเพียงดำรงพระกายนี้ไว้ เสวยเพื่อยังพระชนมชีพให้เป็นไป เสวยเพื่อป้องกันความลำบาก เสวยเพื่อทรงอนุเคราะห์ ด้วยทรงพระดำริว่า เพียงเท่านี้ ก็จักกำจัดเวทนาเก่าได้ จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ร่างกายของเราจักเป็นไปสะดวกจักไม่มีโทษ และจักมีความอยู่สำราญ
  • 18. เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ไม่ทรงวางบาตรที่พื้น ทรงวางบาตรในที่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก จะไม่ทรงต้องการบาตรก็หามิได้ แต่ก็ไม่ตามรักษาบาตรจนเกินไป
  • 19. เสวยเสร็จแล้ว ประทับนิ่งเฉยอยู่ครู่หนึ่ง แต่ไม่ทรงยังเวลาแห่งการอนุโมทนาให้ล่วงไป เสวยเสร็จแล้วก็ทรงอนุโมทนา ไม่ทรงติเตียนภัตนั้น ไม่ทรงหวังภัตอื่น ทรงชี้แจงให้บริษัทนัเห็นแจ้งให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
  • 20. ทรงลุกจากอาสนะเสด็จไป ไม่เสด็จเร็วนัก ไม่ผลุนผลันเสด็จไป
  • 21. ไม่ทรงจีวรสูงเกินไป ไม่ทรงจีวรต่ำเกินไป ไม่ทรงจีวรแน่นติดพระกาย ไม่ทรงจีวรกระจุยกระจายจากพระกาย ทรงจีวรไม่ให้ลมพัดแหวกได้ ฝุ่นละอองไม่ติดพระกาย
  • 22. เสด็จถึงอารามแล้วประทับนั่ง ครั้นประทับนั่งบนอาสนะที่เขาจัดไว้ถวายแล้ว จึงทรงล้างพระบาท ไม่ทรงประกอบการประดับพระบาท ทรงล้างพระบาทแล้ว ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติไว้เบื้องพระพักตร์ ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนพระองค์เอง ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทรงดำริเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ทรงดำริแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่พระองค์ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายและสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวง
  • 23. เมื่อประทับอยู่ในพระอาราม ทรงแสดงธรรมในบริษัท ไม่ทรงยอบริษัท ไม่ทรงรุกรานบริษัท ทรงชี้แจงให้บริษัทเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธรรมีกถา
  • 24. ทรงมีพระสุระเสียงอันก้องเปล่งออกจากพระโอษฐ์ ประกอบด้วยองค์ 8 ประการคือ สละสลวย รู้ได้ชัดเจน ไพเราะ ฟังง่าย กลมกล่อม ไม่พร่า พระสุรเสียงลึก มีกังวาน บริษัทจะอย่างไร ก็ทรงให้เข้าใจด้วยพระสุรเสียงได้ พระสุรเสียงมิได้ก้องออกนอกบริษัท

พระจริยาวัตรทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสมมาเมื่อครั้งที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์สร้างบารมี ทำให้พระพุทธองค์เพียบพร้อม บุคคลใดได้พบเห็นก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และด้วยพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่จะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่พระนิพพาน พระองค์จึงได้พากเพียรพยายามสั่งสมบารมี แม้ในชาติสุดท้ายที่เกิดมาเป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ทำทุกวิธีทางที่คิดว่าจะเป็นทางหลุดพ้น ถึงจะใช้เวลานานเพียงไร และต้องเอาชีวิตเข้าแลก พระองค์ก็สามารถยอมได้ เพื่อให้ได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ได้ทรงบำเพ็ญกิจที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงปฏิบัติเป็นกิจวัตรหลังจากที่ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพุทธจริยา อันเป็นประโยชน์แก่ชาวโลก ทรงโปรดเวไนยสัตว์ ด้วยอัธยาศัยอันเปี่ยมด้วยพระมหากรุณา ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งหลายให้เป็นสุข พ้นจากทุกข์ และไม่ว่าพระพุทธองค์จะประทับอยู่ในสถานที่ใด พระองค์ก็ไม่ได้ทรงละพระพุทธกิจทั้ง 5 ประการ คือ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต เวลาเย็นทรงแสดงธรรมโปรดชาวโลก เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุ เวลาเที่ยงคืน ทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดา เวลาย่ำรุ่ง ทรงตรวจดูสัตวโลกทั้งที่สามารถและยังไม่สามารถบรรลุธรรม อันควรเสด็จไปโปรด

พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจทั้ง 5 ประการนี้ ด้วยพระพุทธจริยาครบทั้ง 3 อย่าง คือ พุทธัตถจริยา หมายถึง ทรงบำเพ็ญประโยชน์ในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า ญาตัตถจริยา หมายถึง ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ และโลกัตถจริยา หมายถึง ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก ด้วยพระคุณอันยิ่งใหญ่ ทั้งในพรรษาและนอกพรรษา โดยไม่ได้คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อย หรือความยากลำบากแต่ประการใด นับตั้งแต่ตรัสรู้ตราบจนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นเวลาถึง 45 พรรษา

 

ในระหว่างเวลา 45 พรรษาแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษาในสถานที่ต่างๆ ซึ่งได้ประมวลไว้พร้อมทั้งเหตุการณ์สำคัญบางอย่าง ดังนี้

  • พรรษาที่ 1 ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี เพื่อโปรดปัญจวัคคีย์
  • พรรษาที่ 2 ถึง 4 พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสาร โปรดพระญาติ โปรดอนาถปิณฑิกเศรษฐี
  • พรรษาที่ 5 กูฏาคารศาลาในป่ามหาวัน เมืองเวสาลี เพื่อโปรดพระบิดาปรินิพพาน โปรดพระญาติที่วิวาทกัน
  • พรรษาที่ 6 มกุลบรรพต แสดงยมกปาฏิหาริย์
  • พรรษาที่ 7 ดาวดึงสเทวโลก เพื่อโปรดพระพุทธมารดา
  • พรรษาที่ 8 เภสกลาวัน ใกล้เมืองสุงสุมารคีรี แคว้นภัคคะ โปรดนกุลบิดาและนกุลมารดา
  • พรรษาที่ 9 โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี
  • พรรษาที่ 10 ป่าตำบลปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี โปรดภิกษุเมืองโกสัมพีที่ทะเลาะกัน
  • พรรษาที่ 11 หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อเอกนาลา
  • พรรษาที่ 12 เมืองเวรัญชา
  • พรรษาที่ 13 จาลิยบรรพต
  • พรรษาที่ 14 พระวิหารเชตวัน
  • พรรษาที่ 15 นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์
  • พรรษาที่ 16 เมืองอาฬวี เพื่อทรมานอาฬวกยักษ์
  • พรรษาที่ 17 พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์
  • พรรษาที่ 18 และ19 จาลิยบรรพต
  • พรรษาที่ 20 พระวิหารเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ เพื่อโปรดองคุลิมาล
  • พรรษาที่ 21 ถึง 44 ประทับสลับไปมาระหว่างพระวิหารเชตวันกับบุพพาราม เมืองสาวัตถี
  • พรรษาที่ 45 เวฬุวคาม เมืองเวสาลี

 

ตลอด 45 พรรษานี้ จะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงทำหน้าที่เป็นครูสอนชาวโลกได้อย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ที่แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ และแม้กาลเวลาจะผ่านไปอีกยาวนานสักแค่ไหน เรื่องราวการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ จะยังคงจารึกอยู่ในจิตใจของพุทธบริษัททั้ง 4 ต่อไปอย่างไม่รู้ลืม เพราะเป็นผลอันเนื่องมาจากความมุ่งมั่นอันเด็ดเดี่ยวของพระพุทธองค์ที่ปรารถนาจะนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากวัฏทุกข์ ที่ไม่มีใครทำได้นอกจากพระพุทธองค์

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว พระองค์ไม่ได้ตั้งใครมาเป็นศาสดาแทน แต่ให้พระธรรมและวินัยที่พระองค์ทรงสอนและบัญญัติไว้เป็นศาสดาแทน ที่ให้พุทธบริษัทได้ถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน ฉะนั้น แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติหรืออันตรธานไปก็ตาม พระธรรมคำสอนของพระองค์ก็ยังคงเป็นอยู่ ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ดำเนินไปตามแนวทางที่ถูกต้องในการเกิดมา เพื่อจะได้มีชีวิตที่เป็นสุขและในที่สุดก็หลุดพ้นหมดกิเลสตามอย่างพระพุทธองค์ที่ทรงทำได้แล้ว


 อ้างอิง

1) , 15) มหาปรินิพพานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค. มก. เล่ม 13 ข้อ 98 หน้า 280.
2) มหาปรินิพพานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค. มก. เล่ม 13 ข้อ 98 หน้า 290-291.
3) บางแห่งเรียกว่า หมู่บ้านภัณฑุคาม.
4) มหาปรินิพพานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค. มก. เล่ม 13 ข้อ 112 หน้า 293.
5) มหาปเทส 4 ประการ คือ 1. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ กล่าวว่า นี้คือธรรม นี้คือวินัย ที่ได้รับฟังมาจากพระโอษฐ์ของพระศาสดาโดยตรง พวกเธออย่าเพิ่งเชื่อหรือคัดคาน ขอให้สอบทานในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย หากมีข้อความตรงกัน พึงเชื่อได้ว่า นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา หากไม่ตรงกัน แสดงว่าสงฆ์นั้นจำมาผิด พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย 2. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ กล่าวว่า นี้คือธรรม นี้คือวินัย ที่ได้รับฟังมาจากเหล่าสงฆ์ ต่อหน้าพระเถระ พวกเธออย่าเพิ่งเชื่อหรือคัดคาน ขอให้สอบทานในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย หากมีข้อความตรงกัน พึงเชื่อได้ว่า นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา หากไม่ตรงกัน แสดงว่าสงฆ์นั้นจำมาผิด พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย 3. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ กล่าวว่า นี้คือธรรม นี้คือพระวินัย ที่ได้รับฟังมาจากพระเถระหลายรูป ผู้เป็นพหูสูต พวกเธออย่าเพิ่งเชื่อหรือคัดคาน ขอให้สอบทานในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย หากมีข้อความตรงกัน พึงเชื่อได้ว่า นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา หากไม่ตรงกัน แสดงว่าสงฆ์นั้นจำมาผิด พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย 4. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ กล่าวว่า นี้คือธรรม นี้คือพระวินัย ที่ได้รับฟังมาจากพระเถระรูปหนึ่ง ผู้เป็นพหูสูต พวกเธออย่าเพิ่งเชื่อหรือคัดคาน ขอให้สอบทานในพระสูตร เทียบเคียงในพระวินัย หากมีข้อความตรงกัน พึงเชื่อได้ว่า นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา หากไม่ตรงกัน แสดงว่าสงฆ์นั้นจำมาผิด พวกเธอพึงทิ้งคำกล่าวนั้นเสีย
6) สุกรมัททวะ (อ่านว่า สุกะระมัดทะวะ) บางแห่งเรียกว่า สูกรมัทวะ (อ่านว่า สูกะระมัดทะวะ) คืออาหารประเภทใดนั้นยังไม่มีข้อยุติ เพราะยังมีข้อแย้งกันอยู่ แต่พอจับประเด็นความตามที่พระอรรถกถาจารย์ให้ความเห็นไว้ สรุปได้ 5 อย่าง คือ 1.เนื้อสุกรวัยแรกรุ่น ไม่อ่อนนัก ไม่แก่นัก เนื้อสุกรเช่นนี้อ่อนนุ่มและสนิทแน่น ทำให้สุกแล้ว 2.ข้าวสุกหุงอ่อนๆ ปรุงกับน้ำนมโคหรือเบญจโครสและถั่ว 3.อาหารที่ปรุงตามหลักรสสายนศาสตร์ของพราหมณ์ ทำเฉพาะในเทศกาลสำคัญ ไม่มีเนื้อสัตว์ปนในอาหาร 4.หน่อไม้ไผ่ที่สุกรแทะดุน 5.เห็ดที่เกิดในที่สุกรแทะดุน
7) โลหิตปักขันทิกาพาธ คือ อาการที่พระพุทธองค์ทรงประชวรลงพระโลหิต คือ ทรงอาเจียนออกมาเป็นเลือด และถ่ายพระอุทรพระโลหิตก็ปนออกมาด้วย
8) อุฏฐานสัญญามนสิการ คือ การนอนพักชั่วครู่แล้วจะเสด็จเดินทางต่อไป
9) อนุฏฐานไสยา คือ การนอนแล้วไม่ลุกขึ้นอีก
10) เสียงทั้ง 10 ประการ ได้แก่เสียงช้าง เสียงม้า เสียงรถ เสียงกลอง เสียงตะโพน เสียงพิณ เสียงกังกดาล เสียงขับร้อง เสียงประโคม และเสียงผู้คนร้องเรียกค้าขายกัน
11) อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค, มก. เล่ม 13 หน้า 416.
12) อรรถกถามหาปรินิพพานสูตร, ทีฆนิกาย มหาวรรค, มก. เล่ม 13 หน้า 434.
13) ครูทั้ง 6 คือ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาล นิครนถนาฏบุตร สญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุทธะ กัจจายนะ และอชิตเกสกัมพล
14) สมณะที่ 1 หมายถึง พระโสดาบัน, สมณะที่ 2 หมายถึง พระสกิทาคามี, สมณะที่ 3 หมายถึง พระอนาคามี, สมณะที่ 4 หมายถึง พระอรหันต์ 

 

 


ที่มา www.dmc.tv

39859745
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
10206
26677
137105
39571724
847952
963129
39859745

Your IP: 44.202.183.118
2024-03-29 06:36
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search