พระพุทธเจ้า ตอนที่ 1

พระพุทธเจ้า ตอนที่ 1

ความย่อ

เทวดาหมื่นจักรวาลทูลอันเชิญพระบรมโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นท้าวสันตดุสิตให้ลงมาจุติยังโลกมนุษย์เพื่อตรัสรู้ธรรม จนถึงช่วงก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ประวัติ

พุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน จะนำเสนอตั้งแต่เหล่าเทวดาหมื่นจักรวาลทูลอันเชิญเทพบุตรบรมโพธิสัตว์จากสวรรค์ชั้นดุสิต ให้มาจุติยังโลกมนุษย์เป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และเหตุการณ์สำคัญหลายประการตั้งแต่ ประสูติ การแสวงหาหนทางหลุดพ้น ตรัสรู้ การเผยแผ่พระศาสนา และสิ้นสุดลงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน โดยจะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ

  • ปฐมกาล หมายถึง ช่วงระยะเวลาเบื้องต้นของพุทธประวัติ กล่าวถึง เทวดาหมื่นจักรวาลทูลอันเชิญพระบรมโพธิสัตว์ที่เสวยพระชาติเป็นท้าวสันตดุสิตให้ลงมาจุติยังโลกมนุษย์เพื่อตรัสรู้ธรรม จนถึงช่วงก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
  • มัชฌิมกาล หมายถึง ช่วงระยะเวลาท่ามกลางของพุทธประวัติ กล่าวถึง เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเผยแผ่พระศาสนา จนถึงปลงอายุสังขาร 
  • ปัจฉิมกาล หมายถึง ช่วงระยะเวลาตอนปลายของพุทธประวัติ กล่าวถึง เหตุการณ์ก่อนปรินิพพาน จนกระทั่งพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน 

ในการนำเสนอเนื้อหาพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนี้จะนำเสนอเนื้อหาเฉพาะเหตุการณ์สำคัญที่จะทำให้ได้เข้าใจพุทธจริยาและมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระองค์จนหมดใจ และทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระองค์ เพื่อความหลุดพ้นให้จงได้

นอกจากนี้การศึกษาพุทธประวัติจะทำให้เราประจักษ์ชัดแจ้งถึงประวัติความเป็นมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันมีหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ จากเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกอ้างอิงอย่างชัดเจน เป็นเหตุเป็นผล ไม่คลุมเครือ ไม่เลื่อนลอย สามารถนำไปอธิบายให้ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส ให้เลื่อมใสได้ หรือผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ให้เลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป และยังเกิดความภาคภูมิใจในการเป็นพุทธศาสนิกชนที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาอีกด้วย

และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เป็นการชี้ให้เห็นว่า ณ จุดเริ่มต้นที่พระองค์ตั้งความปรารถนาจนกระทั่งถึงช่วงเวลาที่ได้สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ล้วนมีความเป็นไปได้จริง อันเนื่องมาจากการฝึกฝนพระองค์เองอย่างยิ่งยวดโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน อย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคนานัปการ มานับภพนับชาติไม่ถ้วน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ และวันแห่งความสมปรารถนาของพระองค์ก็ทรงบังเกิดขึ้นจริง

เป็นความสำเร็จอันประเสริฐสูงสุดของมวลมนุษยชาติ ไม่มีความสำเร็จใดยิ่งไปกว่าการได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างให้กับมวลมนุษยชาติได้ประพฤติปฏิบัติตามอย่าง แท้จริง เป็นความปลื้มปีติอันหาที่เปรียบมิได้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้มนุษย์ธรรมดาอย่างเรามีใจที่อาจหาญที่จะตั้งความปรารถนาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้พระองค์หนึ่งในอนาคต เพื่อรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพานให้หมดสิ้น ไม่เหลือแม้แต่คนเดียว 

 

ประวัติพระพุทธเจ้า ช่วงปฐมกาล


ช่วงปฐมกาล เป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของการบังเกิดขึ้นของบรมโพธิสัตว์ในพระชาติสุดท้ายที่งดงามและอัศจรรย์ยิ่ง สมกับที่พระองค์เป็นศาสดาเอก ผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ และเทวาทั้งปวง เป็นผู้สั่งสอนมนุษย์และเทวดาให้หลุดพ้นจากการเป็นบ่าวเป็นทาสของพญามาร ออกจากทุกข์ได้อย่างแท้จริง ณ จุดเริ่มต้นที่พระองค์จุติจากดุสิตเทวโลกลงมายังมนุษยโลก ณ ชมพูทวีปประเทศอินเดีย อันเป็นดินแดนอุดมมงคลที่สำคัญ และยังเป็นดินแดนที่มีเจ้าลัทธิต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้เกิดความเชื่อที่หลากหลาย ซึ่งพระองค์จะต้องนำความรู้ที่แท้จริงไปเผยแผ่ท่ามกลางกระแสความเชื่อที่เป็นมิจฉาทิฏฐิมากมาย พระบรมโพธิสัตว์ของเราได้อุบัติเกิดขึ้นที่นี่ ในนามของเจ้าชายสิทธัตถะ เจ้าชายแห่งกรุงกบิลพัสดุ์

 

เทวดาทูลเชิญพระโพธิสัตว์ให้จุติจากภพดุสิต 


สวรรค์ชั้นดุสิต เป็นสวรรค์ชั้นที่ 4 ในกามวจรภูมิ เทพบุตรผู้เป็นใหญ่มีชื่อเรียกตามสวรรค์ชั้นนี้ว่า สันดุสิตเทวราช เทวดาในชั้นนี้มีอายุขัย 4,000 ปีทิพย์ เมื่อเทียบกับปีมนุษย์เท่ากับ 57 โกฏิ 6 ล้านปี กล่าวกันว่า สวรรค์ชั้นนี้อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของธรรมะ เป็นที่อยู่ของผู้หนักแน่นในการบำเพ็ญสมณธรรม เทพบุตรพระบรมโพธิสัตว์ผู้รอวันลงมาจุติมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป ขณะที่สถิตอยู่ ณ ดุสิตสวรรค์ ได้ทำหน้าที่สอนธรรมแก่เหล่าเทวดาทั้งหลาย

พระเวสสันดรเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระบรมโพธิสัตว์บังเกิดมาสร้างบารมี เมื่อละจากอัตภาพมนุษย์ได้บังเกิดเป็นท้าวสันดุสิต ครองความเป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดุสิต และได้ทำหน้าที่สอนธรรมะเหมือนพระบรมโพธิสัตว์องค์ก่อนๆ พร้อมรอวันที่จะจุติลงมาปฏิสนธิเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปในอนาคตเช่นกัน 

ในคัมภีร์ลลิตวิสตระและปฐมสมโพธิกถา1) กล่าวตรงกันว่า ข่าวเทพบุตรสันดุสิตจะจุตินั้น เทวดาต่างรู้ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 แสนปี สันนิษฐานว่า เป็นช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระพุทธเจ้า ได้มีการป่าวประกาศไปทั่วหมื่นจักรวาล โดยเหล่าพรหมชั้นสุทธาวาส เทวดาในหมื่นจักรวาลฟังการป่าวประกาศนั้นแล้ว ต่างมาประชุมพร้อมกัน เพื่อค้นหาผู้ที่จะจุติยังโลกมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะค้นหานั้นกาลเวลาก็ได้ล่วงมาเนินนาน ได้พบเทพบุตรสันดุสิตเกิดบุพนิมิต อันเป็นสิ่งบอกเหตุล่วงหน้าว่าจะจุติ

ครั้นเทพบุตรสันดุสิตเกิดบุพนิมิตแล้ว หมู่เทวดาก็ทราบทันทีว่า เทพบุตรองค์นี้แหละจะจุติมาถือปฏิสนธิเป็นมนุษย์เพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากนั้นข่าวการจะจุติของเทพบุตรสันดุสิตก็กระจายสะพัดไปยังหมื่นจักรวาล หมู่เทวาดาทั้งหมื่นจักรวาลตั้งแต่มหาพรหมลงมา จนถึงเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ต่างมาประชุมพร้อมกัน แล้วไปยังสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่ออัญเชิญเทพบุตรสันดุสิตให้จุติลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลก เพื่อจะได้บรรลุสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อโปรดสั่งสอนสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ สมดังที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก

 

ประสูติพระบรมโพธิสัตว์ 


พระนางมหามายาเทวี ทรงบริหารพระโพธิสัตว์ด้วยพระครรภ์ ตลอด 10 เดือน เมื่อมีพระครรภ์แก่เต็มที่แล้ว มีพระราชประสงค์จะเสด็จไปยังเรือนแห่งพระญาติที่เทวทหนคร พระนางได้กราบทูลพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชาทรงอนุญาตแล้ว มีรับสั่งให้ทำหนทางจากนครกบิลพัสดุ์จนถึงนครเทวทหะให้ราบเรียบ ให้ตกแต่งประดับประดาด้วยต้นกล้วย หม้อน้ำเต็ม และธงชาย ธงผ้า เป็นต้น ให้พระเทวีประทับนั่งในสีวิกาทอง ให้อำมาตย์พันคนหาม ทรงส่งพระนางไปด้วยข้าราชบริพารกลุ่มใหญ่

ระหว่างทางได้ผ่านสวนชื่อ ลุมพินี ในสมัยนั้น ต้นสาละออกดอกบานสะพรั่ง ตั้งแต่โคนต้นจนถึงปลายกิ่ง หมู่ภมร 5 สี และหมู่มวลนกนานัปการ ร่ำร้องกระหึ่มอยู่ด้วยเสียงอันไพเราะตามระหว่างกิ่งระหว่างดอกทั้งหลาย เป็นที่น่ารื่นรมย์ พระเทวีทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ทรงมีพระประสงค์จะแวะชมสวน จึงเสด็จไปยังโคนต้นสาละอันเป็นมงคล เมื่อพระนางมีพระประสงค์จะทรงจับกิ่งใดกิ่งนั้นก็น้อมลงมาเองจนถึงฝ่าพระหัตถ์ ประหนึ่งยอดหวายที่ทอดลงอย่างอ่อนช้อย ฉะนั้น 

ขณะที่พระนางประทับยืนจับกิ่งสาละนั้น ลมกัมมัชวาตของพระนางก็เกิดปั่นป่วน ลำดับนั้น มหาชนจึงกั้นพระวิสูตรแก่พระนางแล้วหลีกไป พระนางเมื่อประทับยืนจับกิ่งสาละอยู่นั้น พระโพธิสัตว์ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระนาง 

ในขณะนั้นเอง ท้าวมหาพรหม 4 พระองค์ ก็ถือข่ายทองมารองรับพระโพธิสัตว์วางไว้เบื้อง พระพักตร์พระชนนี ทูลว่า ข้าแต่พระเทวี ขอพระองค์ทรงดีพระทัยเถิด พระราชบุตรของพระองค์ ผู้มีศักดาใหญ่อุบัติขึ้นแล้ว ก็สัตว์อื่นๆ เมื่อออกจากครรภ์มารดา ย่อมแปดเปื้อนด้วยสิ่งปฏิกูล แต่พระโพธิสัตว์นั้นเหยียดพระหัตถ์ทั้งสอง และพระบาททั้งสอง ยืนออกจากพระครรภ์ของพระชนนีประดุจพระธรรมกถึกลงจากธรรมาสน์ ไม่เปรอะเปื้อนด้วยของไม่สะอาดไรๆ ที่มีอยู่ในพระครรภ์ของพระชนนี สะอาดบริสุทธิ์ รุ่งโรจน์ประดุจแก้วมณี ที่เขาวางไว้บนผ้ากาสิกพัสตร์ ฉะนั้น สายธารแห่งน้ำสองสายพลุ่งออกมาจากอากาศ โสรจสรงพระสรีระของพระโพธิสัตว์และพระชนนี เพื่อเป็นสักการะแด่พระโพธิสัตว์และพระชนนี 

ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้งสี่พระองค์ ได้รับพระโพธิสัตว์นั้นจากหัตถ์ของท้าวมหาพรหมผู้ยืนเอาข่ายทองคำรับอยู่ ด้วยเครื่องลาดอันทำด้วยหนังเสือดาวที่มีสัมผัสอ่อนนุ่ม ซึ่งสมมติกันว่าเป็นมงคล ต่อมาพวกมนุษย์ก็เอาพระยี่ภู่ที่ทำด้วยผ้าทุกูลพัสตร์ (เบาะผ้าเนื้อดี) รับจากหัตถ์ของท้าวมหาราชเหล่านั้น พอพ้นจากมือของมนุษย์ พระโพธิสัตว์ก็ประทับยืนบนแผ่นดิน ทอดพระเนตรดูทางทิศตะวันออก จักรวาลนับได้หลายพันได้เป็นดุจลานอันเดียวกัน พวกเทวดาและมนุษย์ในที่นั้นต่างพากันบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ กราบทูลว่า ข้าแต่มหาบุรุษ ผู้ที่เสมือนกับพระองค์ในที่นี้ไม่มี 

พระโพธิสัตว์ทรงมองตรวจดูทิศใหญ่ทิศน้อยตลอดทั้ง 10 ทิศ ก็มิได้ทรงเห็นผู้ที่เสมือนกับพระองค์ จึงบ่ายพระพักตร์มุ่งสู่ทิศอุดร เสด็จโดยย่างพระบาทไป 7 ก้าว มีท้าวมหาพรหมกั้นเศวตฉัตร ท้าวสุยามะเทวบุตรถือพัดวาลวิชนี เทวดาเหล่าอื่นถือเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่เหลือเดินตามเสด็จ เมื่อดำเนินก็ดำเนินไปบนพื้นดินนั่นแหละ ไม่มีผ้าปกปิด แต่ปรากฏแก่สายตาของมหาชนเหมือนทรงดำเนินไปทางอากาศเหมือนประดับตกแต่งพระองค์ และเหมือนมีพระชนมายุ 16 ขวบ ฉะนั้น 

ด้วยพระบารมีที่ทรงสั่งสมมา พระราชกุมารเสด็จดำเนินไป 7 ก้าว ทุกก้าวมีดอกบัวเกิดขึ้นมารองรับ แล้วทรงเปล่ง อาสภิวาจา

จากนั้นประทับยืน ณ พระบาทที่ 7 ทรงบันลือสีหนาท เปล่งอาสภิวาจา คือ วาจาอันองอาจว่า 

“ อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส อยมนฺติมา ชาติ นตฺถิทานิ ปุนพฺภโวติ. เราเป็นผู้เลิศของโลก เราเป็นผู้ใหญ่ในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐสุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้การเกิดอีกมิได้มี” 

 

สหชาติ (สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) 


ในการประสูติของบรมโพธิสัตว์ เป็นเหตุอันอัศจรรย์ยิ่ง ยังโลกธาตุสะเทือนเลื่อนลั่นสนั่นหวั่นไหว เป็นการแสดงความยินดีปรีดาที่ผู้มีบุญญาได้มาบังเกิดในมนุษยโลกนอกจากนี้ ความอัศจรรย์ยังมิได้หมด ยังมีสิ่งคู่บุญที่เกิดร่วมกับพระองค์ ในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี กล่าวไว้ว่ามีอยู่ด้วยกัน 7 สิ่ง คือ

  • 1. พระนางพิมพา
  • 2. เจ้าอานันทะ
  • 3. ฉันนะอำมาตย์
  • 4. กาฬุทายีอำมาตย์
  • 5. พญาม้ากัณฐกะ
  • 6. ต้นมหาโพธิ์พฤกษ์
  • 7. ขุมทรัพย์ทั้ง 4 ขุม 

 

พราหมณ์บัณฑิตพยากรณ์พระลักษณะอันประเสริฐ 


ชนชาวนครทั้งสอง ได้พาพระมหาบุรุษไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันนั้นนั่นแล หมู่ทวยเทพในชั้นดาวดึงส์ร่าเริงยินดีว่า พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะมหาราชอุบัติแล้วในนครกบิลพัสดุ์พระราชกุมารนี้จักประทับนั่ง ณ โคนโพธิพฤกษ์แล้วจักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สมัยนั้น ดาบสชื่อ กาฬเทวิล ผู้ได้สมาบัติ 8 เป็นผู้คุ้นเคยกับราชสกุลของพระเจ้าสุทโธทนะ ทราบข่าวจากเทพชั้นดาวดึงส์ว่า พระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะประสูติแล้ว ทราบว่าโอรสพระองค์นั้น จักประทับนั่งที่โพธิมัณฑสถาน แล้วจักเป็นพระพุทธเจ้าประกาศพระธรรมจักร ดาบสจึงได้ลงจากเทวโลกเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ กราบทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร ได้ยินว่า พระราชโอรสของพระองค์ประสูติแล้ว อาตมาภาพอยากเห็นพระราชบุตรนั้น พระราชาจึงรับสั่งให้พาพระราชกุมารผู้ประดับตกแต่งแล้ว มาทรงอุ้มไปเพื่อให้นมัสการพระดาบส แต่พระบาทของพระมหาบุรุษ กลับไปประดิษฐานอยู่บนชฎาของดาบส จริงอยู่บุคคลอื่นที่ชื่อว่า พระมหาสัตว์จะพึงไหว้โดยอัตภาพนั้น ย่อมไม่มี 

ถ้าผู้ไม่รู้ อาจจะพึงวางศีรษะของพระโพธิสัตว์ลงแทบบาทมูลของพระดาบส ก็ถ้าหากทำเช่นนั้น ศีรษะของพระดาบสนั้นจะแตกออกเป็น 7 เสี่ยง พระดาบสคิดว่า เราไม่ควรจะทำตนของเราให้พินาศ จึงลุกจากอาสนะ ประคองอัญชลีต่อพระโพธิสัตว์ พระราชาทอดพระเนตรเห็นเหตุอัศจรรย์นั้นจึงทรงไหว้โอรสของพระองค์ ดาบสกาฬเทวิลเห็นลักษณะสมบัติของพระโพธิสัตว์ ก็ทราบด้วยอนาคตังสญาณว่า พระโอรสนี้ จักได้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างไม่ต้องสงสัย พระราชบุตรนี้เป็นอัจฉริยบุรุษ 

ต่อแต่นั้น พระประยูรญาติทั้งหลายคิดว่า ในวันที่ 5 พวกเราจักโสรจสรงเศียรเกล้าของพระโพธิสัตว์ แล้วเฉลิมพระนามแด่พระองค์ ดังนี้แล้ว ฉาบทาพระราชมณเฑียรด้วยคันธชาติ 4 ชนิด ให้โปรยดอกไม้มีข้าวตอกเป็นที่ 5 ให้หุงข้าวมธุปายาสล้วนๆ นิมนต์พราหมณ์ 108 ผู้จบไตรเพทให้นั่งในพระราชมณเฑียร ให้พราหมณ์เหล่านั้นบริโภคมธุปายาสและโภชนะอย่างดี ถวายสักการะมากมาย แล้วให้พราหมณ์บัณฑิต 8 ท่าน มีรามพราหมณ์ เป็นต้น เป็นผู้ตรวจดูพระลักษณะของมหาบุรุษ  

บรรดาพราหมณ์เหล่านั้น 7 ท่านพยากรณ์เป็นสองส่วนว่า ผู้ประกอบด้วยลักษณะเหล่านี้ เมื่อยู่ครองฆราวาสวิสัยจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เมื่อผนวชจักได้เป็นพระพุทธเจ้า แต่พราหมณ์ ชื่อ โกณฑัญญะ ซึ่งมีอายุน้อยกว่าพราหมณ์เหล่านั้นทุกคน ได้พยากรณ์เป็นส่วนเดียวว่า ท่านผู้นี้ไม่มีเหตุที่จะดำรงอยู่ในฆราวาสวิสัย จักเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงปราศจากกิเลสโดยส่วนเดียวเท่านั้น 

ครั้งนั้น พระประยูรญาติ เมื่อถือพระนามของพระโพธิสัตว์นั้น จึงเฉลิมพระนามว่า สิทธัตถะ เพราะทรงทำความสำเร็จแก่โลกทั้งปวง พระราชาทรงสดับคำของพราหมณ์บัณฑิตเหล่านั้นแล้วตรัสถามว่า บุตรของเราเห็นอะไรจึงจะผนวช พราหมณ์เหล่านั้นทูลว่า เห็นนิมิต 4 คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระราชาจึงตรัสสั่งอำมาตย์ทั้งหลายว่า จำเดิมแต่นี้ไปพวกท่านจงอย่าได้ให้นิมิตเหล่านั้นเข้าไปในสำนักแห่งบุตรของเรา เราไม่ต้องการให้บุตรของเราเป็นพระพุทธเจ้า เราต้องการเห็นบุตรของเราครอบครองราชสมบัติจักรพรรดิปกครองทวีปใหญ่ทั้ง 4 ซึ่งมีทวีปเล็กสองหมื่นเป็นบริวารห้อมล้อมด้วยบริษัทอันมีปริมณฑล 36 โยชน์ เมื่อพระองค์ตรัสอย่างนั้นแล้ว ทรงมีรับสั่งให้วางอารักขาไว้ในที่ทุกๆ คาวุตในทิศทั้งสี่ เพื่อจะห้ามมิให้บริษัท 4 มีคนแก่เป็นต้น เข้ามาปรากฏในสายตาของพระกุมาร 

พราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกลับถึงเรือนของตนแล้ว ต่างพากันเรียกบุตรมาสั่งว่า นี่แนะพ่อทั้งหลาย พวกเราแก่แล้ว จะทันได้เห็นพระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนะ ทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณหรือไม่ก็ไม่รู้ ฉะนั้นเมื่อพระราชกุมารนี้ทรงผนวช บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว พวกเจ้าพึงบวชในศาสนาของพระองค์เถิด พราหมณ์แม้ทั้ง 7 คนเหล่านั้น ดำรงอยู่ตราบเท่าอายุขัยก็ตายไปตามยถากรรม โกณฑัญญะมาณพเท่านั้นไม่มีโรคภัยไข้เจ็บยังมีชีวิตอยู่  

ภายหลังเมื่อพระโพธิสัตว์เติบโตเจริญวัยขึ้นแล้ว บุตรพราหมณ์เหล่านั้นได้ทราบว่า พระมหาบุรุษทรงผนวชแล้ว โกณฑัญญพราหมณ์จึงได้กล่าวชักชวนบุตรของพราหมณ์เหล่านั้น ให้บวชตามคำสั่งของบิดา พวกเขาเหล่านั้นสามคนไม่บวช ที่เหลือสี่คนบวชตามพระมหาบุรุษ โดยตั้งให้โกณฑัญญะพราหมณ์เป็นหัวหน้า พราหมณ์ทั้ง 5 คนนั้น จึงมีชื่อว่า พระปัญจวัคคีย์ 

ครั้งนั้น ตระกูลพระประยูรญาติแปดหมื่นตระกูล ประชุมกันในมงคลสถาน พระญาติแต่ละตระกูลก็ทูลปฏิญญาถวายโอรสตระกูลละองค์ ด้วยคิดว่า ถ้าพระสิทธัตถะกุมารนี้จักเป็นพระพุทธเจ้า ก็จักมีขัตติยสมณะ คอยแวดล้อมจาริกไป แต่ถ้ากุมารนี้จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ก็จักมีขัตติยกุมาร คอยแวดล้อมตามเสด็จไป  

ฝ่ายพระนางเจ้ามายาผู้เป็นพระมารดา พอประสูติพระราชโอรสแล้วได้ 7 วัน ก็สิ้นพระชนม์ พระเจ้าสุทโธทนะ จึงทรงมอบพระราชโอรสนั้นให้พระนางปชาบดีโคตมี (พระมาตุจฉา) ดูแลต่อมา 

ผู้เป็นบัณฑิตเมื่อเห็นลักษณะอันประเสริฐของพระราชโอรส อันเกิดจากการสั่งสมความดีงามมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ย่อมทราบว่า เป็นลักษณะของผู้มีบุญที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเห็นถึงความสำคัญในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนาที่จะได้เห็น ได้อยู่ใกล้ชิด แม้ตนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ย่อมปรารถนาให้บุตรได้อยู่ใกล้ 

 

เหตุการณ์สำคัญในวันพระราชพิธีวัปปมงคล 


เจ้าชายสัทธัตถะได้เจริญวัยขึ้นตามลำดับ ต่อมาวันหนึ่ง ได้มีพระราชพิธีวัปปมงคล (แรกนาขวัญ) พระราชาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมากเสด็จออกจากพระนคร พระองค์ทรงพาพระราชโอรสไปด้วย ในที่ประกอบพระราชพิธี มีต้นหว้าอยู่ต้นหนึ่งมีใบหนาแน่น มีเงาทึบ พระราชาทรงรับสั่งให้ปูลาดพระแท่นบรรทมของพระราชโอรส ภายใต้ต้นหว้า แวดวงด้วยพระวิสูตร วางอารักขาให้พี่เลี้ยงนางนมนั่งห้อมล้อมพระโพธิสัตว์อยู่

ส่วนพระราชาเสด็จไปเพื่อจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในขณะที่ทรงไถ ณ ที่นั้นมีมหาสมบัติเกิดขึ้น พวกพี่เลี้ยงนางนมต่างพากันออกมาข้างนอก เพื่อจะดูสมบัติของพระราชา พระโพธิสัตว์ทรงแลดูข้างโน้นและข้างนี้มองไม่เห็นใครๆ จึงเสด็จลุกขึ้น ทรงนั่งขัดสมาธิ ยังปฐมฌานให้เกิด ฝ่ายพี่เลี้ยงนางนมรีบกลับมาด้วยคิดว่าพระลูกเจ้าประทับอยู่พระองค์เดียว จึงรีบเปิดพระวิสูตรขึ้น เห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งขัดสมาธิบนแท่นบรรทม ได้เห็นปาฏิหาริย์ที่เงาของต้นหว้านั้นตั้งเป็นปริมณฑลตรงอยู่ ได้พากันเข้าไปกราบทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระราชกุมารประทับนั่งอย่างนี้ เงาของต้นไม้ต้นอื่นคล้อยไปแล้ว แต่เงาของต้นหว้ายังคงตั้งเป็นปริมณฑลตรงอยู่ พระราชารีบเสด็จมาทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ นั้นจึงตรัสว่า นี่แนะพ่อ นี้เป็นการไหว้เจ้าครั้งที่สองแล้วทรงไหว้พระกุมาร 

ต่อมา พระโพธิสัตว์มีพระชันษาได้ 16 พรรษา โดยลำดับ พระราชาทรงโปรดให้สร้างปราสาท 3 หลัง 3 ฤดู ทรงสถาปนาพระโพธิสัตว์ไว้ในสิริราชสมบัติ ทรงอภิเษก พระนางยโสธรา พระราชบุตรีของ พระเจ้าสุปปพุทธะ ในเทวทหนครให้เป็นอัครมเหสี มีสตรีอีกสี่หมื่นนางเป็นนางสนม เสวยมหาสมบัติประทับอยู่ในปราสาท 3 หลัง เปลี่ยนไปตามฤดู 

ชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะนั้นเพียบพร้อมไปด้วยกามสุข ที่พระราชบิดาคือพระเจ้าสุทโธทนะได้วางไว้อย่างรัดกุม เพื่อที่จะมัดใจเจ้าชายไม่ให้เสด็จออกบรรพชา แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่สามารถทำให้เจ้าชายพึงพอใจและมีควาสุขกับสิ่งที่ตนเองมี จึงทำให้ตัดสินพระทัยออกจากพระราชวังด้วยความเบื่อหน่ายวงจรชีวิตที่จำเจและไม่มีความสุขอย่างแท้จริง 

 

บุญในตัวกระตุ้นเตือนเมื่อพบเทวฑูต 4


วันหนึ่ง ทรงเบื่อหน่ายกับการใช้ชีวิตที่อยู่แต่เพียงภายในพระราชวัง จึงทรงรับสั่งให้นายสารถี (คนขับรถม้า) พาพระองค์ออกไปจากพระราชวัง ด้วยความรักที่นายสารถีมีต่อเจ้าชาย จึงไม่ขัดใจแต่ได้ขัดคำสั่งของพระเจ้าสุทโธทนะ ระหว่างทางที่พระองค์ทรงเสด็จทรงทอดพระเนตรทรงเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือ คนแก่ มีผมหงอก ถือไม้เท้า เดินไม่ค่อยไหว จึงได้ตรัสถามนายสารถีว่า

“ นายสารถี นั่นเขาเรียกว่าตัวอะไรทำไมผมรูปร่างหน้าตาถึงเป็นแบบนั้น”

 

นายสารถีได้กราบทูลว่า
“ นั่นเขาเรียกว่าคนแก่พระเจ้าข้า ถ้าข้าพระองค์มีอายุมากขึ้นผมที่เคยดำก็จะกลายเป็นสีขาว ร่างกายที่เคยแข็งแรงก็จะอ่อนแรงลง ต้องใช้ไม้เท้าช่วยค้ำยันไว้ ทุกคนก็ต้องเป็นแบบนี้พระเจ้าข้า” ภาพชายแก่คนนั้นทำให้เจ้าชายเสด็จกลับสู่พระราชวังด้วยความสลดพระราชหฤทัย 

วันที่สอง ทรงเสด็จสู่พระราชอุทยานอีก ทรงทอดพระเนตรเห็นคนเจ็บนอนโทรมร้องครวญครางเจ็บป่วยด้วยโรคร้าย จึงได้ตรัสถามนายสารถีว่า
“ คนนี้เป็นใครเขากำลังเป็นอะไร”
นายสารถีได้กราบทูลว่า
“ คนนี้เขาเรียกว่า คนเจ็บพระเจ้าข้า เมื่อร่างกายถูกโรคร้ายรุ่มเร้า ก็จะต้องนอนโทรมอยู่อย่างนี้”
ภาพคนเจ็บทำให้พระหทัยของเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จกลับสู่พระราชวังด้วยความรู้สึกหดหู่มากพระราชหฤทัยมากยิ่งขึ้นกว่าวันก่อน 

วันที่สาม ทรงเสด็จสู่นอกพระราชวังอีก ทรงทอดพระเนตรเห็นคนตายนอนนิ่งเหมือนขอนไม้จึงได้ตรัสถามนายสารถีว่า
“ นายสารถี คนนี้ทำไมถึงนอนแน่นิ่งเช่นนี้ล่ะ” แล้วทำไมถึงมีคนร้องไห้ห้อมล้อมเขาอยู่อย่างนั้น
นายสารถีได้กราบทูลว่า
“ นี่เขาเรียกว่าคนตายพระเจ้าข้า คนตายคือคนที่ไม่หายใจแล้ว เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ รอการเป็นอาหารของหนอนมาแทะกินพระเจ้าข้า แต่ว่าในโลกนี้ไม่มีใครเลยที่จะไม่ตายหรอกพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ก็ต้องตายเหมือนกัน ส่วนคนที่ร้องไห้อยู่นั้นเป็นญาติของคนที่ตายไปแล้วพระเจ้าคะ ร้องไห้คร่ำครวญกันประหนึ่งจะเรียกร้องให้ดวงจันทร์นั้นลงมาอยู่ในมือของตน ให้ได้เลยพระเจ้าข้า”
เจ้าชายสิทธัตถะทรงสลดพระราชหฤทัยหนักยิ่งขึ้นกว่าวันก่อนๆ 

วันที่สี่ วันนี้เป็นวันที่ท้องฟ้ากระจ่างใสอากาศก็สดใสกว่า 3 วันก่อน พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นบุรุษห่มผ้าสีเปลือกไม้ใบหน้าผ่องใส ศีรษะไม่มีผมเดินมาด้วยอาการสงบสำรวม เจ้าชายจึงได้ตรัสถามนายสารถีว่า 
“ นายสารถี คนนั้นที่กำลังเดินอยู่นั่นเป็นใครทำไม่มีลักษณะไม่เหมือนคนทั่วไป”
นายสารถีจึงได้กราบทูลไปว่า
“ เขาเรียกว่านักบวชพระเจ้าข้า นักบวชจะเป็นผู้ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการครองเรือน แต่จะแสวงหาวิธีการและหนทางที่จะหลุดพ้นไปจากความทุกข์ที่ต้องเกิดแก่เจ็บ ตาย โดยการออกบวชพระเจ้าข้า”
เจ้าชายได้ฟังเช่นก็มีความรู้สึก ปีติแช่มชื่นใจยิ่งนัก แม้รถม้าจะวิ่งผ่านไปไกลจากนักบวชคนนั้น แต่สายตาของพระองค์ก็มิได้ทรงละจากนักบวชรูปนั้นเลย ทรงเหลียวหลังทอดพระเนตรดูนักบวชคนนั้นด้วยความสุขใจ และทรงรำพึงขึ้นในใจว่า

”ชีวิตของนักบวชช่างดูสงบร่มเย็น เป็นชีวิตที่ไม่เหมือนคนทั่วไปเลย” 

นับเป็นบุญบารมีในตัวของเจ้าชายสิทธัตถะโดยแท้ ที่ได้ตักเตือนให้เห็นภัยจาก ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จึงเกิดความเบื่อหน่ายสุดประมาณ ธรรมดาบุคคลทั่วไป เห็นความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นเรื่องปกติ แม้พบเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่เป็นประจำก็ไม่ได้คิด เพราะเหตุแห่งการสั่งสมปัญญายังไม่สมบูรณ์ ไม่อาจกระตุ้นเตือนให้เห็นภัย จากสิ่งเหล่านี้ได้ และยังคงติดอยู่กับโลกปัจจุบันที่ต้องทำมาหากินเพื่อหล่อเลี้ยงสังขารให้ ดำรงอยู่ได้ และในที่สุดก็ไม่อาจจะหลุดพ้นจากวัฏจักรนี้ไปได้ 

 

เสด็จออกบรรพชาเพื่อค้นหาความสุขที่แท้จริง


ในค่ำคืนหนึ่ง ที่ปราสาทของเจ้าชายมีการขับร้องเต้นรำมีดนตรีเห่กล่อม เหมือนกับทุกคืนที่ผ่านมา แต่คืนนี้ ไม่มีเจ้าชายออกมาร่วมสนุกสนานเหมือนทุกคืนที่ผ่านมา พระองค์ทรงเข้าห้องบรรทมตั้งแต่หัวค่ำและทรงตื่นขึ้นในกลางดึกทรงทอดพระเนตร เห็นนางสนมทั้งหลายที่เคยงดงาม ในยามเต้นรำ นอนหลับใหลภายในห้องโถงนั้น บ้างคนก็อ้าปากน้ำลายไหลยืด ก่ายกันไปมา บ้างคนก็นอนกรน บ้างคนก็นอนละเมอ บ้างคนก็นอนจนผ้าหลุดลุ่ย พระองค์ทรงรำพึงในใจว่า 

“ หญิงที่เคยงดงามเหล่านี้ บัดนี้ดูไม่แตกต่างไปจากซากศพที่กองเกลื่อนอยู่ในป่าช้า ชีวิตของการครองเรือนช่างน่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก ดูแต่นางทั้งหลายเหล่านี้ สักวันก็ต้องตายไป ร่างกายที่เคยงดงามก็จะต้องเน่าเปื่อยไปเป็นอาหารของหนอน ชีวิตทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนแต่ไม่มีอะไรยั่งยืนวันเวลาก็นำพาชีวิตไปสู่ความ ตายทุกวัน” 

เจ้าชายทรงหันไปหยิบพระขันธ์ และเดินออกจากห้องโถงของปราสาทไปหานายฉันนะ ทรงรับสั่งให้นายฉันนะเตรียมม้ากัณฐกะ จากนั้นด้วย เยื่อใยแห่งความผูกพัน พระองค์ก็เสด็จไปยังห้องบรรทมของพระนางพิมพา เห็นพระนางนอนบรรทมกอดพระราหุลไว้ข้างพระวรกาย ใจหนึ่งก็อยากจะเข้าไปชื่นชมราหุลราชกุมารซึ่งเพิ่งประสูติ อีกใจหนึ่งก็กลัวว่าพระนางพิมพาจะตื่น จึงทรงตัดใจจากมาอย่างเด็ดเดี่ยวและไม่เหลียวหลังกลับไปอีกเลย ทรงม้ากัณฐกะออกมาจากพระราชวัง กับนายฉันนะ พอเสด็จมาพ้นประตูพระราชวังเท่านั้น พญาสวัสวดีมาร (มารผู้มีจิตใจหยาบช้าชอบขัดขว้างคนไม่ให้ทำความดี) ได้พูดขึ้นมาว่า 

“ เจ้าชายสิทธัตถะ ท่านอย่าเพิ่งออกบวชเลย อีก 7 วันข้างหน้า ท่านจะได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ มีสมบัติมากมายมหาศาล มีบริวารสุดจะนับประมาณได้ ท่านจะมีความสุขกับการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่จะหาผู้ใดทัดเทียมมิได้เลย”

เจ้าชายสิทธัตถะตรัสตอบพญามารไปว่า 

“อย่ามาห้ามเราเลยพญาสวัสวดีมาร เราตัดสินใจแล้ว สมบัติพระเจ้าจักรพรรดิไม่มีความหมายสำหรับเราเลย ถ้าชาวโลกยังต้องทุกข์ทรมานกันอยู่ไม่รู้จักจบสิ้นเช่นนี้ หลีกไปซะ เราจะแสวงหาหนทางที่จะออกไปจากความทุกข์นี้ให้จงได้” สิ้นพระสุรเสียงของเจ้าชายสิทธัตถะพญามารก็ได้หายวับไปกับตา” 

จวบจนใกล้รุ่ง เจ้าชายได้เดินทางมาถึงแม่น้ำอโนมา ด้วยบุญญาธิการที่พระองค์เคยสั่งสมมาในอดีตชาติทำให้เทวดาที่สถิตย์อยู่ใน วิมานชั้นต่างๆ ต้องทิ้งวิมานเพื่อลงมาปกปักรักษา ให้เจ้าชายข้ามแม่น้ำ อโนมาไปด้วยความปลอดภัย พอพ้นเขตพระนครกบิลพัสดุ์ ทรงลงจากหลังม้า ประทับนั่งบนหาดทรายขาวริมแม่น้ำอโนมา ทรงตรัสกับนายฉันนะว่า 

“ ฉันนะ เราจะบวชเป็นบรรพชิต จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่นี้แสวงหาทางพ้นทุกข์”
สิ้นพระสุรเสียง พระองค์ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศาโยนปอยผมไปบนอากาศ และตั้งจิตอธิษฐานว่า
“ ถ้าการออกบวชของเราในครั้งนี้จะทำให้เราได้ตรัสรู้ธรรม เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขอปอยผมนี้อย่าได้ร่วงลงสู่พื้นดินเลย แต่ถ้าไม่สามารถที่จะตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ขอให้ปอยผมนี้จงร่วงลงสู่ผืนดินด้วยเถิด” 

ด้วยบุญญาธิการของเจ้าชายที่สั่งสมมาแล้วในอดีตชาติ เทวดาบนสรวงสวรรค์ต้องการจะเก็บรักษาปอยผมของเจ้าชาย จึงได้เอาพานแก้วมารองรับปอยผมของพระองค์ไม่ให้ร่วงลงสู่ผืนดินเมื่อเจ้าชาย เห็นว่าปอยผมของพระองค์นั้นลอยอยู่บนอากาศไม่ได้ร่วงลงสู่ผืนดิน ทรงมีพระทัยปีติเบิกบาน มีพระกำลังใจยิ่งนัก 

ขณะนั้นเองฆฏิการพรหม (เป็นพรหมชั้นสุทธาวาส) ได้นำผ้าสีย้อมน้ำฝาด พร้อมด้วยเครื่องอัฏฐบริขาร มีบาตรเป็นต้นมาถวายเจ้าชาย นายฉันนะเมื่อเห็นเจ้าชายครองผ้าสีย้อมน้ำฝาดแทนชุดเจ้าชายที่เคยสวมใส่ ก็กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เจ้าชายสิทธัตถะ บัดนี้ได้การมาเป็นสมณะสิทธัตถะผู้ไม่มีบ้านเรือนอีกต่อไป ชีวิตที่เคยเพียบพร้อมไปสละทุกอย่าง บัดนี้เหลือเพียงผ้าของนักบวชที่ห่อหุ้มพระวรกาย สมณะสิทธัตถะเห็นนายฉันนะ นั่งร่ำไห้อยู่ จึงตรัสด้วยพระสุรเสียงที่เปี่ยมพระเมตตาไปว่า 

“ ฉันนะ อย่าได้ร้องไห้เลยเราไม่ได้ตายจากไปไหน เพียงแค่เราเปลี่ยนสถานะภาพจากเจ้าชายมาเป็นนักบวชที่จะแสวงหาความจริงของ ชีวิตเท่านั้น ฉันนะจงนำอาภรณ์ชุดเจ้าชายที่เราเคยสวมใส่นี้ กลับไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ด้วย และกราบทูลเสด็จพ่อ พระมาตุฉา ด้วยว่า เมื่อใดที่เราได้สำเร็จวิชชาแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ได้แล้ว เราจะกลับไปหาท่านทั้งสอง” 

นายฉันนะได้จ้องมองพระพักตร์ของสมณะสิทธัตถะด้วยแววตาอาลัยอาวรณ์ยิ่งนัก แต่ก็ต้องถวายบังคมแทบพระยุคลบาท ลาจากไป ฉันนะก้มกราบพระบาทของสมณะสิทธัตถะ และจูงม้ากัณฐกะออกเดินทางจากริมฝั่งน้ำอโนมาย้อนกลับมาเส้นทางเดิมที่เคยมี เจ้าชายเสด็จมาด้วย แต่บัดนี้ไม่มีเจ้าชายสิทธัตถะอีกแล้ว 

ม้ากัณฐกะไม่ได้ละสายตามาจากสมณะสิทธัตถะเลย ยังมองด้วยความรักและอาลัยอาวรณ์ยากที่จะพรรณนาออกมาได้ จวบจนกระทั่งภาพของสมณะสิทธัตถะค่อยๆ เลือนลาง และพ้นไปจากสายตา ม้ากัณฐกะก็ล้มลงขาดใจตายด้วยความรักความผูกพันอาลัยอาวรณ์ที่มีต่อสมณะสิ ทธัตถะ นายฉันนะจึงต้องเดินทางกลับนครกบิลพัสดุ์เพียงลำพัง ข่าวการหายตัวของเจ้าชายและนายฉันนะได้ดังไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ จนกระทั่งนายฉันนะได้เดินทางกลับมาถึง และได้ไปกราบถวายบังคมทูลเรื่องทั้งหมดต่อพระเจ้าสุทโธทนะให้ทรงทราบ  

เจ้าชายสิทธัตถะผู้เพียบพร้อมด้วยกามคุณทั้งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมยิ่งด้วยโลกิยทรัพย์ ใคร่ปรารถนาสิ่งใดย่อมได้สมพระทัย หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะได้เห็นเทวทูตทั้ง 4 แม้ชีวิตของพระองค์จะยังวนเวียนอยู่ในกามคุณที่เพียบพร้อม แต่ในพระทัยทรงเบื่อหน่ายยิ่ง ใคร่แสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้นตลอดเวลา จนในที่สุดพระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัย สละราชสมบัติ พระชายา พระราชาโอรสอันเป็นที่รักยิ่ง แต่เพื่อสัพพัญญุตญาณอันเป็นที่รักยิ่งกว่า ก็ไม่อาจจะอยู่เยี่ยงนี้ได้ตลอดไป ทรงมีพระทัยเด็ดเดี่ยวยิ่ง ดุจลูกธนูที่ยิ่งออกจากแล่งย่อมไม่กลับมา เสด็จออกจากพระราชวัง แม้พญามารจะขวางกั้น กล่าวล่อลวงพระองค์ด้วยสมบัติจักรพรรดิ แต่ก็ไม่อาจจะเปลี่ยนพระทัยพระองค์ได้ ในที่สุดพระองค์ก็เข้าสู่วิถีแห่งการค้นความหลุดพ้น นับเป็นแบบอย่างแห่งความมุ่งดีงามโดยแท้ 

 

ชีวิตก่อนการตรัสรู้ 


หลังจากที่ได้สละทุกสิ่งออกบวช ช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาแห่งความปลอดโปร่งพระทัยยิ่งนัก เป็นช่วงชีวิตที่สำคัญของสมณะสิทธัตถะที่เข้าใกล้วิถีแห่งความหลุดพ้นเข้าไป ทุกขณะ ทรงบำเพ็ญเพียรนั่งสมาธิอยู่ ณ ป่ามะม่วง ตำบลอนุปิยอัมพวัน ไม่ยอมฉันภัตตาหารตลอด 7 วัน วันที่ 8 จึงเสด็จออกบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ในแคว้นมคธ

พระเจ้าพิมพิสารผู้เป็นใหญ่ในแคว้น ทอดพระเนตรจากบนปราสาท เห็นลักษณะอันงดงามและสำรวมของสมณะนั้น จึงได้ส่งราชบุรุษไปสืบข่าว ต่อมาเมื่อทราบถึงจริยวัตรของสมณะนี้ จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา คิดจะแบ่งสมบัติให้เพราะเข้าใจผิดคิดไปว่า สมณะนี้เป็นเจ้าชาย ออกบวชด้วยเหตุแห่งความขัดแย้งกันในราชสมบัติ แต่สมณะสิทธัตถะทรงปฏิเสธราชสมบัติของพระเจ้าพิมพิสาร เพราะพระองค์ทรงสละราชย์สมบัติออกบวช จึงไม่มีความปรารถนาในราชย์สมบัติอีกต่อไป และได้รับปฏิญญาว่าจะกลับมาโปรดพระเจ้าพิมพิสารหากตรัสรู้แล้ว

 

ค้นหาครูอาจารย์  


ในแคว้นมคธมีสำนักเจ้าลัทธิมากมาย แต่มี 2 สำนักที่มีชื่อเสียง สมณะสิทธัตถะจึงได้แสวงหาครูบาอาจารย์ที่จะชี้แนะแนวทางแห่งความหลุดพ้นได้ จนในที่สุดได้ร่ำเรียนอยู่ในสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร ใช้เวลาไม่นานก็สำเร็จสมาบัติ 7 คือ รูปฌาน 4 อรูปฌาน 3 อันเป็นความรู้สูงสุดของอาจารย์ แต่ก็ยังไม่พบสิ่งที่พระองค์ต้องการ จึงไปสู่สำนักของอุทกดาบส รามบุตร ใช้เวลาศึกษาไม่นาน ก็สำเร็จสมาบัติ 8 เป็นอันเป็นผลสูงสุดของอาจารย์อีกเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ทรงพบสิ่งที่พระองค์ทรงค้นหา

ตัดสินพระทัยค้นหาธรรมด้วยพระองค์เอง


เมื่อได้ศึกษาหาความรู้ในสำนักอาจารย์ทั้ง 2 แล้ว ไม่พบหนทางพ้นทุกข์ พระองค์จึงตัดสินพระทัยที่จะค้นหาวิธีการด้วยพระองค์เอง เพราะทรงเชื่อมั่นในบุญบารมีของพระองค์ และทรงมั่นใจในการพยากรณ์และการเสี่ยงทายอธิษฐานด้วยอีกประการหนึ่ง จึงลาอาจารย์อุทกดาบสจากไป เพื่อแสวงหาหนทางพ้นทุกข์

หลังจากพระโพธิสัตว์ได้หลีกออกจากสำนักของอุทกดาบสแล้ว ก็ได้แสวงหนทางพ้นทุกข์ที่พระองค์ปรารถนา คือ พระนิพพาน อันเป็นความสงบ ไม่มีทางอื่นยิ่งกว่า เมื่อเที่ยวจาริกไปในแคว้นมคธโดยลำดับ จนดำเนินไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พระองค์ได้พบสถานที่ที่เหมาะสม สมควรแก่การบำเพ็ญเพียร เป็นราวป่าที่น่าเพลิดเพลินใจมีแม่น้ำไหลไม่ขาดสาย มีน้ำใสสะอาด มีท่าน้ำสะอาดดี มีบ้านสำหรับเที่ยวภิกษาโดยรอบ จึงได้พักอยู่ในสถานที่นั้น 

เมื่อพระโพธิสัตว์อยู่ในสถานที่นั้นอุปมา 3 ข้อ อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งไม่เคยได้ยิน ไม่เคยทราบมาก่อน ได้ปรากฏแก่พระโพธิสัตว์ ซึ่งอุปมาทั้ง 3 ข้อนั้น มีเนื้อความดังนี้2) 

อุปมาข้อที่ 1 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตยังไม่หลีกออกจากกาม ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม ยังกระหายในกาม ยังมีความเร่าร้อนในกาม ยังละไม่ได้ และยังให้สงบระงับไม่ได้ในภายใน สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่แช่อยู่ในน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “ เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็ไม่สามารถที่จะสีให้เกิดไฟขึ้นมาได้ เพราะไม้สดนั้นมียาง ทั้งยังแช่อยู่ในน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า 

อุปมาข้อที่ 2 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจในกาม ยังเสน่หาในกาม ยังหลงอยู่ในกาม ยังกระหายในกาม ยังมีความเร่าร้อนในกาม ยังละไม่ได้ และยังให้สงบระงับไม่ได้ในภายใน สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้สดมียางที่วางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “ เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็ไม่สามารถที่จะสีให้เกิดไฟขึ้นมาได้ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า 

อุปมาข้อที่ 3 ความว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว ไม่มีความพอใจในกาม ไม่เสน่หาในกาม ไม่หลงอยู่ในกาม ไม่กระหายในกาม ไม่มีความเร่าร้อนในกาม ทั้งละได้และให้สงบระงับได้ในภายในแล้ว สมณพราหมณ์เหล่านั้น ถึงแม้จะได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร หรือไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่ี่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น การตรัสรู้อันยอดเยี่ยม เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำไม้นั้นมาทำไม้สีไฟด้วยหวังว่า “ เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น” ก็สามารถสีไฟให้เกิดขึ้นมา เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ 

เมื่ออุปมาทั้ง 3 ข้อเกิดขึ้นแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ได้เกิดความคิดที่จะบำเพ็ญทุกรกิริยา เพื่อแสวงหาแนวทางตรัสรู้ โดยมีปัญจวัคคีย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยคิดว่า “ ถ้าสมณะสิทธัตถะบรรลุธรรมแล้ว จะได้สั่งสอนพวกตนให้บรรลุธรรมนั้นบ้าง” การบำเพ็ญทุกรกิริยานี้จะได้แสดงเป็นวาระตั้งแต่ต้นตามที่ปรากฏ ดังต่อไปนี้ 

วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (ใช้ฟันบนฟันล่างขบกันให้แน่น) และกดพระตาลุด้วยพระชิวหาให้แน่น(ใช้ลิ้นดันกดเพดานปาก) ทรงกระทำนานเข้า บังเกิดทุกขเวทนาแรงกล้าจนเหงื่อไหลออกจากรักแร้ แม้พระวรกายจะปวดร้าวเพียงใด พระองค์ยังคงรักษาพระหฤทัยไว้ได้มั่นคง ทรงมีพระสติตั่งมั่น ทรงพิจารณาแล้วเห็นว่ามิใช่ทางตรัสรู้ ทรงเปลี่ยนวิธีการ 

วาระที่สอง ทรงกลั้นลมอัสสาสะ และปัสสาสะ คือ ทรมานด้วยการผ่อนลมหายใจเข้าออกให้ลมเดินได้ทีละน้อย เมื่อลมหายใจออกทางจมูกและปากไม่สะดวก ถูกอั้นไว้นานเกิดแรงดันดังอู้ ในช่องหู เกิดอาการปวดศีรษะ เสียดท้อง เกิดความเร่าร้อนกายเป็นกำลัง กระนั้นยังมีสติแจ่มใส พิจารณาแล้วทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้แน่ จึงเปลี่ยนวิธีการ 

วาระที่สาม ทรงทรมานอย่างยิ่งยวดด้วยอดพระกระยาหาร โดยการเสวยให้น้อยลงทุกวัน จนไม่เสวยเลย มีพระวรกายแห้งเหี่ยว พระฉวีเศร้าหมอง จนมองเห็นพระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย เมื่อทรงเอามือลูบพระวรกาย พระโลมา (ขน) ก็ร่วงหล่นลงมา พระกำลังอ่อนล้ายิ่ง แต่ยังคงมีพระสติมั่น 

หลังจากที่ได้บำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ก็ยังไม่สามารถบรรลุธรรมตามที่ปรารถนาได้กลับได้รับแต่ทุกขเวทนาอย่างเดียว ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์ได้เกิดความคิดว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล ในอนาคต และในปัจจุบันนี้ ได้เสวยทุกขเวทนาอันกล้า เผ็ดร้อนที่เกิดเพราะความเพียรอย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ จะไม่ยิ่งไปกว่านี้ แต่ถึงบำเพ็ญด้วยความเพียรอย่างยิ่งดังนี้ ก็ไม่ได้บรรลุญาณทัสสนะที่ประเสริฐ อันพิเศษกว่าธรรมของมนุษย์ จึงเห็นว่าน่าจะไม่ใช่ทางตรัสรู้ ทางตรัสรู้น่าจะเป็นอย่างอื่น 

ต่อจากนั้นพระโพธิสัตว์ก็ได้หวนลำลึกถึงเมื่อครั้งงานแรกนาขวัญของพระราชบิดา เมื่อพระองค์ยังทรงพระเยาว์ ทรงประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้หว้าอันเยือกเย็น ทรงสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปิติและมีสุข เกิดแต่วิเวก พระองค์จึงได้ตกลงว่าทางนั้นจะพึงเป็นทางเพื่อตรัสรู้ได้ และพระองค์ก็ถามตนเองว่า ควรกลัวต่อความสุขที่สงัดจากกาม ปราศจากอกุศลธรรมทั้งหลายหรือไม่ และตอบด้วยพระองค์เองว่า พระองค์ไม่กลัวต่อความสุขนั้น แต่ว่าความสุขนั้น คนที่มีร่างกายซูบผอมมาก ไม่สามารถจะทำให้บรรลุได้ ทางที่ดีควรบริโภคอาหารหยาบ และสุดท้าย พระองค์ก็ได้ตกลงใจว่าจะบริโภคอาหารหยาบ จากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็เริ่มบริโภคอาหารหยาบ และเริ่มบำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป 

ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ผู้เฝ้าคอยอุปัฏฐากมาตลอด 6 ปีที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยหวังว่า “ พระสมณะสิทธัตถะบรรลุธรรมแล้ว จะได้บอกธรรมนั้นแก่พวกเรา” แต่บัดนี้ สมณะนี้กลับเลิกล้มความเพียร กลับมักมากในกามคุณ จึงเสื่อมศรัทธาหนีกลับไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี 

 

 

สรุปประวัติพระพุทธเจ้า ตอนที่ 1 ช่วงปฐมกาล


พุทธประวัติช่วงปฐมกาล เป็นช่วงเวลา ณ จุดเริ่มต้นตั้งแต่พระบรมโพธิสัตว์ได้จุติลงจากสวรรค์ชั้นดุสิต ลงสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายาผู้มีความสะอาดบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เพื่อรองรับพระโพธิสัตว์ พระนางทรงสุบินนิมิตอันเป็นมงคล เมื่อพระครรภ์แก่ก็ได้ประสูติพระราชโอรสอันอุดมด้วยลักษณะมหาบุรุษ และเกิดเหตุอันอัศจรรย์พระราชโอรสนั้น ประทับยืนและย่างพระบาทไป 7 ก้าว เปล่งอาสภิวาจาอันเป็นอมตะว่า พระองค์เป็นผู้เลิศในโลก จะไม่กลับมาเกิดอีก อันเป็นเครื่องยืนยันมั่นคงตั้งแต่แรกว่า พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

และเมื่อดาบสประจำตระกูลได้เห็นลักษณะอันอุดมของพระราชโอรสถึงกับก้มกราบ และปักใจแน่ว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้า อีกทั้งพราหมณ์ที่มีความชำนาญในการทำนาย ได้พยากรณ์เช่นกันว่า พระราชโอรสนี้จะได้เป็นพระพุทธเจ้า ทำให้เป็นที่ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้นถึง บุญญาธิการของพระองค์ได้ส่งเสริมให้เกิดความแน่ชัดถึงเพียงนี้

แม้พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะฟังคำทำนายนั้น ก็ทรงหวั่นไหวพระราชหฤทัย มิปรารถนาให้พระราชโอรสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงทำทุกวิถีทางที่จะเหนี่ยวรั้งเจ้าชายสิทธัตถะไว้ เพื่อให้ได้ครองราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ โดยให้วิธีการผูกมัดพระโอรสไว้กับกามคุณอันพรั่งพร้อม แต่บุญบารมีในตัวของพระองค์ได้กระตุ้นเตือนให้พระองค์ทรงเกิดความเบื่อหน่าย และยิ่งได้เห็นเทวทูตทั้ง 4 ยิ่งทำให้พระองค์ตระหนักยิ่งขึ้นว่า ถึงเวลาแล้วที่พระองค์จะแสวงหาหนทางออกจากวงจรแห่งทุกข์

ในที่สุดเจ้าชายสิทธัตถะได้ตัดสินพระทัยเด็ดเดี่ยว ที่จะสละความสุขสบายส่วนพระองค์ สละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การหลุดพ้นจากทุกข์ แม้จะมีพญามารมาขวางแต่ก็ไม่อาจลบล้างพระดำริอันมั่นคงในพระทัยของพระองค์ได้ 

ในที่สุดเจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ผนวช ช่างเป็นช่วงเวลาที่ปลอดโปร่งยิ่งนัก และเป็นช่วงเวลาของการแสวงหาวิธีการเพื่อความหลุดพ้น โดยประการแรกได้แสวงหาครูบาอาจารย์ เพื่อชี้แนะแนวทาง แต่เมื่อเรียนจนจบความรู้ของอาจารย์เหล่านั้นแล้วก็ไม่เห็นหนทางหลุดพ้น จึงได้ลาจากมา แล้วทรงแสวงหาวิธีการด้วยพระองค์เอง ทรงพบว่า วิธีการทรมานตนเอง เป็นวิธีที่นิยมของนักบวชในสมัยนั้น ทรงบำเพ็ญ ทุกกรกิริยาอย่างยิ่งยวดอยู่ 6 ปี จนเกือบสิ้นพระชนม์ในที่สุดก็ล้มเลิกวิธีการดังกล่าว กลับมาแสวงหาทางสายกลาง  

ทุกเหตุการณ์ที่ได้ถ่ายทอดออกมาในพุทธประวัติช่วงปฐมกาลนี้ ทำให้เรากระจ่างชัดในเส้นทางของพระโพธิสัตว์ที่ลงมาจุติเพื่อเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติสุดท้าย มีความเป็นเหตุเป็นผล มีความหนักแน่นมั่นคงต่อเป้าหมายอย่างแท้จริง แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่บุญบารมีที่พระองค์สั่งสมมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ได้เป็นที่พึ่งให้กับพระองค์ และคอยประคับประคองให้พระองค์ไปถึงเป้าหมาย แม้จะออกนอกเส้นทางไปบ้าง แต่ก็กลับมาตรงทางได้ในที่สุด นับเป็นความอัศจรรย์อย่างยิ่ง 

 

อ้างอิง

1) ลลิต. หน้า 20, ปฐมสมโพธิ. หน้า 37.
2) โพธิราชกุมารสูตร, มัชฌิมปัณณาสก์. มจร. เล่ม 13 หน้า 399.  


ที่มา www.dmc.tv

47583627
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
49424
45500
49424
47135237
1069965
1172714
47583627

Your IP: 66.249.71.96
2024-11-24 20:09
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search