นันทกะ(พระนันทกเถระ)

นันทกะ(พระนันทกเถระ)
พระนันทกเถระ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเดิม นันทกมาณพ
สถานที่เกิด เมืองสาวัตถี
วิธีบวช เอหิภิกขุอุปสัมปทา
สถานที่บรรลุธรรม ปาสาณเจดีย์
ฐานะเดิม
ชาวเมือง สาวัตถี
วรรณะเดิม พราหมณ์
การศึกษา จบไตรเพท
หมายเหตุ
อดีต 1 ใน 16 ศิษย์ของพราหมณ์พาวรี

ประวัติ

ประวัติพระนันทกเถระ

เอตทัคคมหาสาวกผู้สอนภิกษุณี

พระเถระที่ชื่อ “นันทกะ” นี้ ในพระบาลีปรากฏอยู่ ๒ ท่านด้วยกันคือ

๑ พระนันทกะ ผู้เป็นเอตทัคคะ เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกผู้สอนภิกษุณี

๒ พระนันทกะ พระเถระผู้ซึ่งมีพี่ชายชื่อว่าภรตะ ทั้งคู่ออกบวชแล้วเพียรปฏิบัติในธรรม พระภรตเถระได้สำเร็จก่อน ส่วนพระนันทกเถระผู้น้อง ไม่อาจจะทำให้วิปัสสนากรรมให้ก้าวสูงขึ้นได้ เพราะเหตุที่กิเลสทั้งหลายมีกำลังมากอยู่ พระภรตเถระผู้พี่ชายทราบความดังกล่าว จึงให้พระนันทกเถระเป็นปัจฉาสมณะ (พระติดตาม) ออกจากวิหารแล้วนั่งที่ใกล้ทาง บอกวิปัสสนากถา

ในเวลานั้น มีพวกกองเกวียนเดินทางผ่านไปในทางที่พระเถระทั้งสองพักอยู่ วัวที่เขาเทียมเกวียนตัวหนึ่ง ไม่สามารถจะยกเกวียนขึ้นในที่ ๆ เป็นหล่มได้จึงล้มลง ลำดับนั้นนายกองเกวียนจึงปลดมันออกจากเกวียน แล้วให้หญ้าและน้ำดื่ม ให้พักเหนื่อยแล้วเทียมที่แอกอีก ลำดับนั้น โคพักหายเหนื่อยแล้ว พอมีกำลัง ก็ยกเกวียนนั้นขึ้นจากที่หล่มให้ตั้งอยู่ในทางได้

ลำดับนั้น พระภรตเถระ จึงแสดงเรื่องโคนั้นเป็นตัวอย่างแก่พระนันทะ พระนันทกเถระ กระทำโคนั้นแหละให้เป็นอารมณ์ว่า โคนี้พักเหนื่อยแล้ว ย่อมยกของหนักออกจากที่ซึ่งเป็นหล่มได้ ฉันใด แม้เราก็พึงยกตนออกจากหล่มคือสงสารฉันนั้น ดังนี้แล้ว กระทำกรรมในวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตต่อกาลไม่นานนัก

แต่ประวัติที่จะกล่าวต่อไปนี้หมายเอาถึงพระนันทกเถระ ที่เป็นเอตทัคคะเลิศกว่าพวกภิกษุสาวกผู้สอนภิกษุณี

ควรจะได้ทราบว่าการที่พระนันทเถระได้รับการสถาปนาในตำแหน่งที่เป็นเลิศเช่นนั้น ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ มีเรื่องอันเป็นอัตถุปปัตติเหตุ คือเหตุเกิดเรื่อง เมื่อคราวท่านกล่าวธรรมกถา ก็ทำภิกษุณี ๕๐๐ รูป ผู้อยู่ในสำนักของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี บรรลุพระอรหัต ในการประชุมคราวเดียว และ ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยังเนื่องจากท่านได้ตั้งปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้

 

ความปรารถนาในอดีต

กระทำมหาทานแด่พระปทุมุตตระพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตระ พระเถระนี้ เป็นเศรษฐีมีสมบัติมากในหังสวดีนคร กำลังฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งอันเลิศแห่งภิกษุผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ท่านปรารถนาจะได้ตำแหน่งนั้นบ้าง จึงนิมนต์พระตถาคตพร้อมด้วยพระสงฆ์ให้เสวยและฉันภัตตาหารและบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยผ้าอันมีราคา ๑๐๐,๐๐๐ แล้วได้ตั้งความปรารถนาเช่นนั้นไว้ ครั้งนั้น พระปทุมุตระโลกนาถได้ทรงพยากรณ์ว่า ท่านจักได้ฐานันดรนี้สมปรารถนา ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ พระศาสดามีพระนามชื่อว่าโคดม ผู้ทรงสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก ท่านจักเป็นธรรมทายาทของพระศาสดาพระองค์นั้น จักได้เป็นสาวกของพระศาสดา มีนามชื่อว่านันทกะ เพราะกรรมที่ได้ทำไว้ดีนั้น และเพราะการตั้งเจตน์จำนงไว้

นอกจากการถวายผ้าอันมีราคามากแก่พระพุทธองค์แล้วท่านยังได้ถวายการบูชาด้วยประทีป ๓ ดวง ณ โพธิพฤกษ์แด่พระศาสดาอีกด้วย แต่นั้นมา เมื่อท่านสิ้นชีวิตลง ท่านก็วนเวียนตายเกิดไปในเทวภูมิและมนุษยภูมิ

 

กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก็ในภพสุดท้ายในบัดนี้ท่านมาเกิดในสกุลเศรษฐี อันมั่นคั่งสมบูรณ์มีทรัพย์มากมาย ในพระนครสาวัตถี

อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างเชตวันมหาวิหารถวาย

          เศรษฐีคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี เดิมชื่อ สุทัตตะท่านเป็นคนใจบุญ มีเมตตากรุณา ได้เตรียมก้อนข้าวไว้เพื่อแจกจ่ายให้แก่คนยากจนอนาถาเสมอ ๆ คนทั้งหลายจึงให้ชื่อท่านว่า อนาถปิณฑิกะ อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้พบกับพระพุทธเจ้าครั้งแรกที่นครราชคฤห์ สมัยนั้นท่านเศรษฐีได้ไปสู่นครราชคฤห์ เพื่อธุรกิจการค้า และได้ไปพักอยู่กับท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นพี่เขยของท่าน ในวันที่ท่านไปถึงนั้น ท่านได้เห็นท่านเศรษฐีเจ้าของบ้าน กำลังตระเตรียมอาหารเพื่อถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธองค์เป็นประธาน ท่านจึงทราบว่า มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ท่านก็เกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง อยากจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้ามาก ในวันรุ่งขึ้นเมื่ออนาถปิณฑิกเศรษฐีได้พบพระบรมศาสดาแล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาโปรด ท่านเศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต

            ครั้นในวันรุ่งขึ้น ท่านได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพุทธองค์ และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จแล้ว ท่านเศรษฐีได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไปจำพรรษาที่นครสาวัตถีบ้าง ครั้นท่านเศรษฐีได้ทำธุรกิจในนครราชคฤห์เสร็จก็ออกเดินทางกลับไปยังนครสาวัตถี เมื่อไปถึงนครสาวัตถี ก็เที่ยวตรวจดูสถานที่อันเหมาะสมที่จะเป็นพระอาราม จึงเลือกได้สวนของเจ้าเชต แล้วขอซื้อด้วยราคา ๑๘ โกฏิ และสิ้นค่าก่อสร้างวิหาร หอฉัน ฯลฯ ต่าง ๆ รวมทั้งหมดสิ้นเงินอีก ๑๘ โกฏิ วิหารนี้มีชื่อว่า เชตวนาราม เพราะเป็นสวนของเชตกุมารมาก่อน

            ครั้นพระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ในนครราชคฤห์ พอสมควรแล้ว ก็เสด็จจาริกไปโดยลำดับถึงนครเวสาลี ทรงพักอยู่ที่นั้นพอสมควรแล้วเสด็จจาริกต่อไปจนถึงนครสาวัตถี ประทับ ณ เชตวนาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีได้ถวายพระอารามแก่สงฆ์ในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง

ในวันที่พระพุทธองค์ทรงรับพระเชตวนารามนั้นเอง เป็นวันที่ นันทกมานพได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังธรรม และได้ออกบวชเป็นบรรพชิต ต่อมาก็ได้บรรลุอรหัตผล ท่านเป็นผู้ช่ำชองชำนาญในบุพเพนิวาสญาณ เมื่อบริษัท ๔ มาถึงแล้ว ท่านสามารถจับใจของบริษัทได้หมดแล้วกล่าวธรรมกถา เพราะฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่า พระนันทกะธรรมกถึก

หมายเหตุ ในวันเดียวกันนั้น ก็เป็นวันที่อุปวาณมาณพ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาเช่นกัน ได้ฟังธรรม และได้ออกบวชเป็นบรรพชิต ต่อมาก็ได้บรรลุอรหัตผล ท่านเป็นหนึ่งในอสีติมหาสาวก

 

พระบรมศาสดาทรงให้พระนันทกะเทศน์โปรดนางภิกษุณี

พระบรมศาสดาทรงระงับการวิวาทระหว่างพระญาติ

          เรื่องเกิดเมื่อครั้งพระบรมศาสดาเสด็จไปกรุงกบิลพัสดุ์ได้ทรงทรงโปรดพระประยูรญาติมีพระเจ้าสุทโธทนมหาราชเป็นต้นให้ทรงตั้งอยู่ในอริยผล เสด็จจาริกไปยังชนบทแล้วเสด็จกลับมาอีกครั้งประทับอยู่ ณ วัดนิโครธารามในกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยภิกษุ ๑,๕๐๐ รูป

         อนึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธารามนั้น พวกเจ้าศากยะและโกลิยะ ทะเลาะกันเรื่องน้ำด้วยเหตุว่า ในระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงโกลิยะทั้งสองนั้นมีแม่น้ำโรหิณีไหลผ่าน แม่น้ำนั้นบางครั้งก็น้ำน้อย บางครั้งก็น้ำมาก ในเวลาน้ำน้อย ทั้งเจ้าศากยะทั้งเจ้าโกลิยะทำทางนำน้ำเพื่อเลี้ยงนาข้าวของพวกตน พวกชาวนาทั้งสองฝ่ายต่างก็วิวาทกันในเรื่องการปันน้ำเข้านาข้าวของฝ่ายตน ลามไปถึงนายบ้าน ถึงอำมาตย์ และลุกลามไปถึงราชตระกูล พระราชาเหล่านั้นทรงพิโรธเตรียมกองทัพของตนไปเผชิญหน้ากันที่ฝั่งแม่น้ำโรหินี

          ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณว่า พวกพระญาติทะเลาะกัน หากไม่ทรงห้ามวงศ์พระญาติก็จักเกิดความพินาศ อีกทั้งการเสด็จไปในครั้งนี้ก็จักมีผลมาก จึงเสด็จมาทางอากาศประทับยืน ณ ท่ามกลางเสนาทั้งสอง พระศาสดาตรัสชาดก ๕ เรื่องแล้ว ในที่สุดจึงตรัสเทศนาอัตตทัณฑสูตร

          พระราชาแม้ทั้งหมดสดับพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ก็ทรงเลื่อมใส แต่นั้นกษัตริย์ทั้งสองวงศ์ได้มอบกุมาร ๕๐๐ คือกุมารฝ่ายเจ้าศากยะ ๒๕๐ กุมารฝ่ายเจ้าโกลิยะ ๒๕๐ เพื่อเป็นบริวารของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงให้พระราชกุมาร เหล่านั้นบรรพชาแล้ว เสด็จไปสู่มหาวัน จำเดิมแต่วันรุ่งขึ้นเป็นต้นไป พระผู้มีพระภาคเจ้า มีภิกษุราชกุมารเหล่านั้นแวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวบิณฑบาตไปในพระนครทั้งสอง คือบางคราวก็เสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์ บางคราวก็เสด็จไปเมืองโกลิยะ

          ฝ่ายพวกภิกษุราชกุมารเหล่านั้น บวชด้วยความเคารพในสมเด็จพระบรมครู หาได้บวชด้วยความเต็มใจของตนไม่ จึงได้เกิดความกระสันอยากจะสึก ใช่แต่เท่านั้นพวกภรรยาเก่าของภิกษุเหล่านั้น ยังกล่าวถ้อยคำและส่งข่าวสาสน์ไป ยั่วยวนชวนให้เกิดความกระสันอีก ภิกษุราชกุมารเหล่านั้นก็ยิ่งเบื่อหน่ายหนักขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาดูก็ทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นเกิดความกระสันขึ้นแล้ว จึงนำภิกษุหนุ่ม ๕๐๐ รูปเหล่านั้นไปสู่ป่าหิมพานต์ ไปยังสระชื่อว่ากุณาละ ประทับนั่งบนแผ่นหินที่ทรงเคยประทับนั่งในครั้งที่พระองค์เสวยพระชาติเป็นนกดุเหว่า ทรงเทศนาโปรดพระภิกษุเหล่านั้นด้วยเรื่องกุณาลชาดก แสดงโทษแห่งสตรี ครั้นเทศนาจบแล้วพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ นั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วนำกลับมาสู่ป่ามหาวันอีกครั้งหนึ่ง ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้นอีก เพื่อประโยชน์แก่มรรคชั้นสูงขึ้นไป ภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านั้นเจริญวิปัสสนา ตั้งอยู่ในอรหัตผลทั้งหมด

          ฝ่ายพระชายาของพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ องค์นั้น เพื่อจะทราบจิตของภิกษุเหล่านั้นจึงส่งข่าวไปอีกครั้ง ภิกษุเหล่านั้นส่งสาส์นตอบกลับมาว่าพวกเราไม่ควรอยู่ครองเรือน พระนางเหล่านั้นทรงดำริว่า บัดนี้ไม่มีประโยชน์ที่พวกเราจะกลับไปยังเรือน จึงเข้าไปเฝ้าพระนางมหาปชาบดีแล้วทูลขออนุญาตให้บวช พระนางมหาปชาบดีจึงพาสตรีเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามเสียถึง ๓ ครั้ง สุดท้ายพระอานนท์เถระทูลอ้อนวอน พระบรมศาสดาจึงทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการ ให้ผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุณียอมรับก่อน ครั้นเมื่อพระนางมหาปชาบดี ทรงทรงยอมรับครุธรรม ๘ ประการนั้นแล้ว พระนางมหาปชาบดีจึงได้ทรงพรรพชาเป็นพระภิกษุณี

หลังจากนั้น พระมหาปชาบดีโคตมีทรงขอให้พระบรมศาสดาแสดงธรรมแก่พวกพระภิกษุณี เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงได้รับการขอร้องดังนั้นแล้ว จึงทรงรับสั่งให้ภิกษุสงฆ์เข้าประชุมแล้วทรงโปรดให้พระภิกษุทั้งหลายที่เป็นเถระจงเปลี่ยนเวรกันสอนพวกภิกษุณี

เมื่อถึงเวรนันทกะจะแสดงโอวาทจะกล่าวธรรมกถา พระนันทกเถระไม่ยอมทำเวรของตน ด้วยเหตุว่าท่านได้บุพเพนิวาสญาณ ระลึกถึงชาติในอดีตก็ทราบว่า ภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ รูปนั้น อดีตเคยเป็นนางสนมของท่าน เมื่อครั้งพระเถระเสวยราชสมบัติในชมพูทวีปเมื่อชาติก่อน เมื่อท่านทราบดังนั้นจึงคิดว่า

ภิกษุอื่นที่ได้บุพเพนิวาสญาณ เมื่อได้เห็นเรานั่งกลางภิกษุณีสงฆ์นี้ ก็จะครหาว่า ท่านนันทกะไม่ยอมทิ้งพวกนางสนมจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ท่านนันทกะที่มีนางสนมห้อมล้อมนี้ ช่างงามแท้ เมื่อพิจารณาเห็นความข้อนี้ พระเถระจึงไม่ยอมทำเวรของตน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ธรรมเทศนาของพระเถระนี้เท่านั้น จึงจะเป็นที่เหมาะสมแก่ภิกษุณีเหล่านี้ เมื่อพวกภิกษุณีเหล่านี้ได้เห็นพระเถระแล้ว จิตก็จะเลื่อมใสแน่วแน่ จึงรับสั่งเรียกพระนันทกะมา แล้วทรงมีพระดำรัสสั่งให้พระเถระแสดงธรรมโปรดพวกนางพระภิกษุณีทั้งหลายเหล่านั้น

ครั้นเมื่อถึงวาระของท่าน ท่านจึงแสดงธรรมแก่แก่ภิกษุณีสงฆ์ในวัน ๑๔ ค่ำ ให้ภิกษุณีเหล่านั้นทุกรูป ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ด้วยธรรมเทศนา อันประดับด้วย สฬายตนะ (อายตนะ ๖) ภิกษุณีเหล่านั้น ชื่นใจต่อ ธรรมเทศนาของพระเถระ พากันไปสำนักพระศาสดา ทูลบอกคุณที่ตนได้

พระศาสดาทรงนึกว่า จะมีใครหนอที่จะแสดงธรรมแก่ภิกษุณีเหล่านี้แล้วจะทำให้บรรลุมรรคผลชั้นสูงขึ้นไปอีก ก็ทรงเห็นว่า ภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ นั้น ฟังธรรมเทศนาของพระนันทกะอีก ก็จักบรรลุพระอรหัต

วันรุ่งขึ้น จึงทรงส่งภิกษุณีเหล่านั้นไป เพื่อฟังธรรมเทศนาในสำนักพระเถระผู้เดียว วันรุ่งขึ้น ภิกษุณีเหล่านั้นฟังธรรมแล้วก็บรรลุพระอรหัตทั้งหมด

วันนั้น เวลาที่ภิกษุณีเหล่านั้นมาเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ธรรมเทศนามีผล จึงตรัสว่า เมื่อวันวาน ธรรมเทศนาของนันทกะ เป็นเสมือน พระจันทร์ ๑๔ ค่ำ วันนี้เป็นเสมือนพระจันทร์ ๑๕ ค่ำ

 

ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคมหาสาวกผู้ให้โอวาทสอนภิกษุณี

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำเหตุนั้นนั่นแล ให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุ คือเหตุเกิดเรื่อง ที่ทรงสถาปนาพระเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ให้โอวาทสอนภิกษุณี

 

พระนันทกะกับนางภิกษุณีทั้ง ๕๐๐ ในอดีต

มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครั้งก่อน ที่กรุงพาราณสีมีพวกทำงานด้วยลำแข้งอยู่ ๑,๐๐๐ คน คือ ทาส ๕๐๐ คน ทาสี ๕๐๐ คน ทำงานด้วยกัน พักอยู่ในที่เดียวกัน พระนันทกเถระนี้เป็นหัวหน้าทาสในเวลานั้น พระโคตมีเป็นหัวหน้าทาสี นางเป็นภรรยาที่ฉลาดสามารถของหัวหน้าทาส แม้พวกทำงานด้วยลำแข้งทั้ง ๑,๐๐๐ คน เมื่อจะทำบุญกรรม ก็ทำด้วยกัน ต่อมาเวลาเข้าพรรษา มีพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕ องค์ จากเงื้อมเขานันทมูลกะมาลงที่อิสิปตนะ เที่ยวบิณฑบาตในกรุงแล้วก็ไปสู่อิสิปตนะนั่นแหละ คิดว่าพวกเราจะขอหัตถกรรมเพื่อประโยชน์แก่กุฏิอยู่จำพรรษา ห่มจีวรเข้าไปสู่กรุงในตอนเย็น ยืนที่ประตูเรือนเศรษฐี นางหัวหน้าทาสี กระเดียดหม้อน้ำไปท่าน้ำ ได้เห็นพวกพระปัจเจกพุทธเจ้าที่กำลังเข้าสู่กรุง เศรษฐีเจ้าของเรือนได้ฟังเหตุที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นมาที่เรือนตน ก็พูดว่า พวกเราไม่มีเวลาว่างนิมนต์ไปเถอะ

ครั้งนั้น นางหัวหน้าทาสี กำลังทูนหม้อน้ำเข้าไปก็เห็นพวกพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นกำลังออกมาจากกรุง จึงยกหม้อน้ำลง น้อมไหว้ ปิดหน้าแล้วทูลถามว่า พวกพระผู้เป็นเจ้าสักว่าเข้าสู่กรุงแล้วก็ออกมา อะไรกันหนอ

พระปัจเจกพุทธเจ้า : พวกอาตมา มาเพื่อขอหัตถกรรมแห่งกุฏิจำพรรษา

นางหัวหน้าทาสี : ได้หรือเปล่า เจ้าคะ

พระปัจเจกพุทธเจ้า : ไม่ได้หรอก อุบาสิกา

นางหัวหน้าทาสี : ก็กุฏินั้น เฉพาะพวกคนใหญ่คนโตเท่านั้นจึงจะทำได้ หรือแม้แต่พวกคนยากจนก็ทำได้

พระปัจเจกพุทธเจ้า : ใครผู้ใดผู้หนึ่งก็อาจทำได้

นางหัวหน้าทาสี : ดีละ เจ้าค่ะ พวกดิฉันจะทำถวาย พรุ่งนี้นิมนต์รับภิกษาของดิฉันนะคะ

นางได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายไว้แล้วก็มายืนที่ท่าน้ำ พูดกับพวกทาสีที่เหลือซึ่งพากันมาแล้วว่า พวกเธอจงคอยอยู่นี้แหละ ในเวลาที่ทุกคนมาครบแล้วก็ประกาศว่า แม่ นี่พวกเธอจะทำงานเป็นขี้ข้าคนอื่นตลอดไปหรือ หรืออยากจะพ้นจากความเป็นขี้ข้า พวกทาสีตอบว่า อยากจะพ้นในวันนี้แหละ แม่เจ้า นางจึงว่า ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น พรุ่งนี้ฉันได้นิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕ องค์มาฉัน ขอให้พวกเธอจงให้พวกสามีของพวกเธอทำบุญสักวันเถิด พวกนางเหล่านั้นก็รับว่า ได้ แล้วก็บอกแก่สามีในเวลาที่มาจากดงในตอนเย็น

พวกเขาก็รับว่า ตกลง แล้วก็พากันไปประชุมที่ประตูเรือนของพวกหัวหน้าทาส ลำดับนั้น นางหัวหน้าทาสีกล่าวกะพวกเขาเหล่านั้นว่า พ่อทั้งหลายพรุ่งนี้ขอให้พวกคุณจงทำบุญถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายเถิดนะคะ แล้วก็บอกอานิสงส์ ขู่แล้ว ปกป้องพวกที่ไม่อยากทำด้วยโอวาทที่หนักแน่น

วันรุ่งขึ้น นางได้ถวายอาหารแด่พวกพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วให้สัญญาณแก่พวกทาสทุกคน ทันใดนั้น พวกทาสเหล่านั้นก็เข้าป่า รวบรวมเครื่องเครา ร้อยก็ทั้งร้อย สร้างกุฏิกันแต่ละหลัง ๆ พร้อมทั้งที่จงกรมเป็นต้น หลังละแห่ง ๆ วางเตียง ตั่ง น้ำดื่มและภาชนะสำหรับใส่ของที่ต้องฉันเป็นต้นไว้ ขอให้พวกพระปัจเจกพุทธเจ้าทำปฏิญญาเพื่ออยู่ ณ กุฏินั้นตลอดสามเดือน แล้วตั้งเวรถวายอาหารกัน ในวันเวรตน ใครไม่สามารถทำได้ นางหัวหน้าทาสีก็ขนเอาจากเรือนตนเองมาถวายแทนผู้นั้น เมื่อนางหัวหน้าทาสีปรนนิบัติตลอดสามเดือนอย่างนี้เสร็จแล้ว ก็ให้ทาสแต่ละคนสละผ้ากันคนละผืน ได้ผ้าเนื้อหยาบ ๕๐๐ ผืน ให้พลิกแพลงผ้าเหล่านั้น ทำเป็นไตรจีวรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้ง ๕ องค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็หลีกไปตามสำราญ

ทาสทั้งพันคนนั้นที่ได้ทำกุศลมาด้วยกัน เมื่อตายแล้วก็เกิดในสวรรค์ นางทาสีทั้ง ๕๐๐ คนนั้น บางทีก็เกิดเป็นภรรยาของทาสทั้ง ๕๐๐ คนนั้น บางทีแม้ทั้งหมดก็เกิดเป็นภรรยาของทาสผู้เป็นหัวหน้าเท่านั้น ต่อมา ในกาลครั้งหนึ่งหัวหน้าทาสเคลื่อนจากเทวโลกมาบังเกิดในราชตระกูล เทวกัญญาทั้ง ๕๐๐ นั้น ก็มาเกิดในตระกูลที่มีสมบัติมาก เมื่อเจ้าชายนั้นได้เสวยราชย์ก็นำหญิงเหล่านั้นไปสู่พระราชวังเป็นนางสนม พวกนางท่องเที่ยวเวียนว่ายอยู่ในวัฎสงสารอยู่โดยทำนองนี้ ครั้นในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา พวกนางก็มาเกิดในตระกูลกษัตริย์ในโกลิยนครบ้าง ในเทวทหนครบ้าง

พึงแสดงเรื่องนี้อย่างนี้ว่า หัวหน้าทาสนี้คือ ท่านพระนันทกะ นางทาสีเหล่านี้แหละ คือภิกษุณีเหล่านั้น ดังนี้

 

พระเถระเทศน์โปรด นายสาฬหะ และ นายโรหนะ เรื่องหลักการเชื่อที่ถูกต้อง

อีกสมัยหนึ่ง ท่านพระนันทกะ อยู่ที่ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมาตา ในปุพพาราม ใกล้พระนครสาวัตถี

ครั้งนั้นแล นายสาฬหะหลานชายของมิคารเศรษฐี กับนายโรหนะหลานชายของเปขุณิยเศรษฐี ได้ชวนกันเข้าไปหาท่านพระนันทกะจนถึงที่อยู่ กราบไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่

ครั้นแลท่านพระนันทกะได้กล่าวว่า

ดูกรสาฬหะและโรหนะ มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ... สมณะนี้เป็นครูของเรา

ดูกรสาฬหะและโรหนะ เมื่อใด ท่านพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เมื่อนั้นท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย...

พระนันทกะได้สอนแบบกาลามสูตรให้แก่สาฬหะและโรหนะ จนจบ

 

พระผู้มีพระภาคตรัสสอนให้พระนันทกะสอนธรรมให้เหมาะกับบุคคลและกาล

ด้วยความที่พระนันทกะเป็นพระธรรมกถึก สอนธรรมอย่างละเอียด พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนให้ พระนันทกะสอนธรรมให้เหมาะกับบุคคลและกาล คือ

          สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ท่านพระนันทกะชี้แจงภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญร่าเริงด้วยธรรมีกถา ในอุปัฏฐานศาลา ฯ

          ครั้งนั้น เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น สดับเสียงการแสดงธรรมอันพระนันทกเถระเริ่มแล้วด้วยเสียงอันไพเราะ จึงตรัสถามว่า อานนท์ นั่นใครแสดงธรรมด้วยถ้อยคำอันไพเราะ ในอุปัฏฐานศาลา ทรงสดับว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญวันนี้เป็นวาระของพวกนันทกเถระผู้เป็นธรรมกถึกได้ตรัสว่า อานนท์ ภิกษุนั่นแสดงธรรมไพเราะยิ่งนัก แม้เราจักไปฟังดังนี้ จึงเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลา ประทับยืนรอจนจบกถาอยู่ ณ ซุ้มประตูด้านนอก

          ประทับยืนฟังธรรมกถาอยู่ถึงกถาสุดท้าย

           ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ ได้ทูลเตือนพระศาสดาเมื่อเลยปฐมยามไปแล้วว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปฐมยามล่วงไปแล้ว ขอพระองค์ทรงพักผ่อนสักหน่อย ดังนี้ พระศาสดาประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นแล ครั้นต่อมา เมื่อเลยมัชฌิมยามไปแล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงเป็นขัตติยสุขุมาลชาติโดยปกติ ทรงเป็นพุทธสุขุมาลชาติ ทรงเป็นสุขุมาลชาติอย่างยิ่ง แม้มัชฌิมยามก็ล่วงไปแล้ว ขอจงทรงพักผ่อนสักครู่เถิดดังนี้ พระศาสดาประทับยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง จนกระทั่งรุ่งอรุณ พระศาสดาก็ยังทรงประทับยืนอยู่นั่น จนกระทั่งพระนันทกะจบธรรมกถา 

ครั้นทรงทราบว่ากถาจบแล้ว ทรงกระแอมและเคาะที่ลิ่มประตู ภิกษุเหล่านั้นเปิดประตูให้พระผู้มีพระภาค ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังอุปัฏฐานศาลาประทับนั่งบนอาสนะที่ปูไว้ ครั้นแล้ว ได้ตรัสกะท่านพระนันทกะว่า ดูกรนันทกะ ธรรมบรรยายของเธอนี่ยาวมาก แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ เรายืนรอฟังจนจบกถาอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกย่อมเมื่อยหลัง ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระนันทกะรู้สึกเสียใจ สะดุ้งกลัว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่ทราบเกล้าเลยว่า พระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอก ถ้าข้าพระองค์พึงทราบเกล้าว่า พระผู้มีพระภาคประทับยืนอยู่ที่ซุ้มประตูด้านนอกแล้ว แม้คำประมาณเท่านี้ ก็ไม่พึงแจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์เลย

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ท่านพระนันทกะเสียใจ จึงตรัสกะท่านพระนันทกะว่า ดีแล้วๆ นันทกะ ข้อที่เธอทั้งหลายพึงสนทนาด้วยธรรมีกถานี้ สมควรแก่เธอทั้งหลาย ผู้เป็นกุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา

และทรงตรัสสอนต่อไปว่า

ดูกรนันทกะ เธอทั้งหลายผู้ประชุมกันพึงทำกิจ ๒ อย่าง คือ

ธรรมีกถา หรือ ดุษณีภาพของพระอริยะ

ดูกรนันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา แต่ไม่มีศีล อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจึงเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล

เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล เมื่อนั้น เธอชื่อว่า เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น

ดูกรนันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธาและมีศีล แต่ยังไม่ได้เจโตสมาธิในภายใน อย่างนี้เธอชื่อว่ายังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอ เราจะพึงเป็นผู้มีศรัทธา มีศีลและได้เจโตสมาธิในภายใน

เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิในภายใน เมื่อนั้น เธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น

ดูกรนันทกะ ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายในแต่ยังไม่ได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้เธอชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น

ดูกรนันทกะ เปรียบเหมือนสัตว์ ๒ เท้าหรือ ๔ เท้า แต่เท้าข้างหนึ่งของมันเสียพิการไป อย่างนี้มันชื่อว่า เป็นผู้ไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น ฉันใด

ดูกรนันทกะ ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นผู้มีศรัทธา มีศีล และได้เจโตสมาธิในภายใน แต่ยังไม่ได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง อย่างนี้เธอชื่อว่าเป็นผู้ยังไม่บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น เธอพึงบำเพ็ญองค์นั้นให้บริบูรณ์ด้วยคิดว่า อย่างไรหนอเราจะพึง มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง

ดูกรนันทกะ เมื่อใดแล ภิกษุเป็นผู้มีศรัทธา มีศีล ได้เจโตสมาธิในภายใน และได้การเห็นแจ้งซึ่งธรรมด้วยปัญญาอันยิ่ง เมื่อนั้นเธอชื่อว่าเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยองค์นั้น

พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเข้าไปยังพระวิหาร ฯ


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47890146
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
1584
49491
103902
47534203
103902
1272582
47890146

Your IP: 66.249.79.1
2024-12-04 00:51
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search