ทัพพมัลลบุตร( พระทัพพมัลลบุตรเถระ)

ทัพพมัลลบุตร( พระทัพพมัลลบุตรเถระ)

ประวัติ

ประวัติพระทัพพมัลลบุตรเถระ

เอตทัคคมหาสาวกผู้จัดแจงเสนาสนะ

การที่ท่านพระทัพพมัลลบุตร ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดา ให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้จัดแจงเสนาสนะ นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องการเป็นผู้จัดแจงเสนาสนะให้แก่สงฆ์ได้อย่างชัดแจ้ง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐี ในพระนครหงสาวดี วันหนึ่งท่านได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา ได้ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายหมู่พุทธบริษัท ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุผู้จัดแจงเสนาสนะ ท่านก็ปรารถนาจะได้อยู่ในตำแหน่งเช่นนั้นบ้างในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคต จึงได้นิมนต์พระตถาคตพร้อมด้วยพระสงฆ์ให้ฉันตลอด ๗ วัน แล้วแสดงความปรารถนาในตำแหน่งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าความปรารถนาของเขาหาอันตรายมิได้ จึงได้ทรงพยากรณ์ดังนี้

ในกัปที่แสน แต่กัปนี้พระศาสดามีพระนามว่าโคดม ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้า โอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เศรษฐีบุตรนี้จักได้เป็นสาวก ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ปรากฏโดยชื่อว่าทัพพะ เป็นภิกษุผู้เลิศฝ่ายเสนาสนปัญญาปกะเหมือนปรารถนา

ด้วยกรรมที่ทำไว้ดีแล้ว และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อท่านละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๐๐ ครั้ง และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง เป็นพระเจ้าประเทศราช อันไพบูลย์โดยคณานับมิได้

จากนั้นเขากระทำกรรมอันเป็นกุศลอยู่เป็นนิจ ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย

 

บุรพกรรมในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า[/heading]

ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลแห่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี เขาได้บังเกิดในตระกูลแห่งหนึ่ง และเพราะ ได้คบหากับสหายที่ชั่ว จึงได้กระทำกรรมอันเลวร้าย โดยได้กล่าวตู่ด้วยคำไม่จริงต่อพระภิกษุสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทั้ง ๆที่รู้ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แต่เขาก็ได้ถวายสลากภัตรน้ำนม แด่พระสาวกทั้งหลายของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วย

เขาได้บำเพ็ญกุศลกรรมจนตลอดชีวิตแล้วจิตจากอัตภาพนั้น ได้เสวยทิพยสมบัติในหมู่เทวดาชั้นดุสิตเป็นต้น แล้วจุติจากอัตภาพนั้น เขาได้ทำบุญจนตลอดอายุแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้เสวยสมบัติในโลกทั้ง ๒ แล้ว

 

บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ต่อมา ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เขาได้บังเกิดในตระกูลแห่งหนึ่ง ได้ออกบวชหลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว ในเวลาต่อมาเมื่อพระศาสนาใกล้จะเสื่อมสิ้นลง เขาและภิกษุอีก ๖ รูป มองเห็นความเสื่อมในการประพฤติของบริษัท ๔ ก็พากันสังเวชสลดใจ คิดว่า ตราบใดที่พระศาสนายังไม่เสื่อมสิ้นไป พวกเราจงเป็นที่พึ่งแก่ตนเองเถิด จึงพากันไปสักการะพระสุวรรณเจดีย์สูงหนึ่งโยชน์ที่มหาชนได้ร่วมกันสร้างเมื่อครั้งพระกัสสปพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแล้ว ได้มองเห็นภูเขาสูงชันลูกหนึ่ง จึงชวนกันขึ้นไปปฏิบัติธรรมอยู่บนภูเขาลูกนั้น โดยตั้งใจว่าถ้าไม่สำเร็จมรรคผลอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะยอมสิ้นชีวิตอยู่บนนั้น แล้วจึงตัดไม้ไผ่มาทำเป็นพะอง (บันไดไม้) เพื่อปีนป่ายขึ้นไปตามหน้าผาของภูเขานั้น เมื่อทั้งหมดพากันขึ้นไปยังยอดสูงของภูเขาลูกนั้นแล้ว ก็ผลักพะองให้ตกหน้าผาไปเพื่อไม่ให้มีทางกลับลงมาได้ แล้วต่างก็บำเพ็ญสมณธรรมอยู่บนนั้น

ในบรรดาภิกษุทั้ง ๗ รูปเหล่านั้น พระเถระผู้อาวุโสสูงสุด ก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยอภิญญา ๖ ในคืนนั้นเอง ครั้นรุ่งเช้าพระมหาเถระจึงไปสู่ หิมวันตประเทศด้วยฤทธิ์ ล้างหน้าที่สระอโนดาต เที่ยวไปบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป ฉันอาหารเสร็จแล้วได้ไปยังที่อื่นต่อไป ได้ภัตตาหารเต็มบาตรแล้ว เอาน้ำที่ สระอโนดาตล้างหน้าแล้วและเคี้ยวไม้สีฟันชื่อ อนาคลดา แล้วจึงนำภัตและสิ่งของเหล่านั้นมายังพระภิกษุเหล่านั้นที่ยังไม่บรรลุธรรมอันวิเศษ แล้วกล่าวว่า อาวุโส ทั้งหลาย บิณฑบาตนี้ผมนำมาจากแคว้นอุตรกุรุ น้ำและไม้สีฟันนี้นำมาจากหิมวันตประเทศ ท่านทั้งหลายจงฉันภัตตาหารนี้บำเพ็ญ สมณธรรมเถิด ผมจะอุปัฏฐากพวกท่านอย่างนี้ตลอดไป ภิกษุเหล่านั้นได้ฟัง แล้วจึงกล่าวว่า พระคุณเจ้าขอรับ พระคุณเจ้าทำกิจเสร็จแล้ว พวกกระผม แม้เพียงสนทนากับพระคุณเจ้าก็เสียเวลาอยู่แล้ว บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าอย่ามาหา พวกกระผมอีกเลย พระมหาเถระนั้นเมื่อไม่สามารถจะให้ภิกษุเหล่านั้นยินยอม ได้โดยวิธีใด ๆ ก็หลีกไป

แต่นั้นบรรดาภิกษุเหล่านั้นรูปหนึ่ง โดยล่วงไป ๒-๓ วันได้เป็น พระอนาคามีได้อภิญญา ๕ ภิกษุนั้นก็ได้ทำเหมือนอย่างเช่นที่พระเถระที่บรรลุพระอรหัตทำเหมือนกัน ครั้นถูกภิกษุที่เหลือที่ยังไม่บรรลุธรรมใด ๆ ห้ามก็กลับไปเช่นเดียวกัน ภิกษุที่เหลือ ๕ องค์นั้น ครั้นถึงวันที่ ๗ จากวันที่ขึ้นไปสู่ภูเขาก็ยังไม่บรรลุคุณวิเศษไร ๆ จึงมรณภาพแล้วก็ไปเกิดในเทวโลก ฝ่ายพระเถระผู้เป็นขีณาสพก็ปรินิพพานในวันนั้นนั่นเอง ท่านที่เป็นพระอนาคามีได้บังเกิดในพรหมชั้นสุทธาวาส เทพบุตรทั้ง ๕ เสวยทิพยสมบัติใน สวรรค์ชั้นกามาวจร ๖ ชั้นกลับไปกลับมา

 

กำเนิดเป็นทัพพมัลลบุตรในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ครั้นในพุทธุปบาทกาลนี้ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในมนุษยโลก ในบรรดาชน ๕ คนเหล่านั้น

คนหนึ่งไปเป็น โอรสเจ้ามัลละนามว่าปุกกุสะ (ต่อมาได้พบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมและประกาศตนเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต)

คนหนึ่งชื่อว่า พาหิยทารุจิริยะ (ต่อมาได้รับการแต่งตั้งจากพระบรมศาสดาให้เป็นยอดของภิกษุสาวกผู้ตรัสรู้เร็ว)

คนหนึ่งชื่อว่า สภิยปริพพาชก (ต่อมาได้พบพระพุทธองค์ ทูลขอบรรพชาและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง)

อีกองค์หนึ่งมาเกิดเป็นพระกุมารกัสสป (ต่อมาได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดา ให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลาย ผู้แสดงธรรมได้วิจิตร)

ส่วนท่านมาเกิดในพวกมัลลกษัตริย์ องค์หนึ่งในอนุปิยนคร แคว้นมัลละ ขณะเมื่อท่านยังอยู่ในครรภ์นั่นเอง มารดาท่านก็ได้ถึงแก่กรรม ในวันที่เขานำร่างของมารดาท่านขึ้นสู่เชิงตะกอน เพราะด้วยเหตุที่ผู้ที่จะมาเกิดเป็นภพสุดท้ายในชาตินี้ คือจะมาบังเกิดเพื่อที่จะบรรลุพระอรหันต์ในชาตินี้ก็ไม่มีทางที่จะได้รับอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นร่างของท่านจึงออกมาจากร่างของมารดา ตกลงไปในกองไม้ ฉะนั้นท่านจึงได้นามว่าทัพพะ เพราะ ตกลงมาที่กองไม้ และเพราะเหตุที่เป็นบุตรเจ้ามัลละ จึงเรียกกันว่า ทัพพมัลลบุตร

จากนั้นท่านก็ได้อยู่ในความดูแลของท่านยายเรื่อยมา จนท่านมีอายุได้ ๗ ขวบ พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่ตามเสด็จ ทรงจาริกไปในแคว้นมัลละ และประทับอยู่ในอนุปิวัมพวัน ท่านทัพพมัลลบุตรกุมารเพียงได้เห็นพระศาสดาเท่านั้นก็บังเกิดความเลื่อมใส มีความประสงค์จะบวช จึงได้บอกขออนุญาตจากท่านยาย ท่านยายก็ได้อนุญาตด้วยความยินดี แล้วจึงพาท่านไปยังสำนักของพระบรมศาสดา ทูลขอให้พระบรมศาสดาทรงบวชให้กับทารกนั้น

พระศาสดาทรงตรัสกับภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูก่อนภิกษุ เธอจงยังทารกนี้ให้บรรพชา พระเถระนั้นฟังคำของพระศาสดาแล้ว เมื่อจะบรรพชาให้ทัพพกุมาร จึงได้บอกตจปัญจกัมมัฏฐานแก่ท่าน

ด้วยการที่ท่านเป็นสัตว์ผู้สมบูรณ์ด้วยบุรพเหตุ มีอภินิหารอันกระทำแล้ว ในขณะที่พระเถระปลงผมปอยแรก ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เมื่อปลงผมปอยที่สอง ก็ดำรงอยู่ในสกทาคามิผล และเมื่อปลงผมปอยที่สาม ก็ดำรงอยู่ในอนาคามิผล และเมื่อเสร็จการปลงผมท่านก็บรรลุพระอรหัต พร้อมด้วย วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ อภิญญา ๖ และโลกุตรธรรม ๙

 

พระเถระปวารณาขอเป็นภิกษุผู้จัดการเรื่องเสนาสนะและแจกภัตแก่สงฆ์

ในสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันวิหาร อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรขณะที่หลีกเร้นอยู่ในที่สงัด ครั้นแล้วด้วยความปรารถนาที่ได้ตั้งเจตน์จำนงไว้ในสมัยพระปทุมุตรพุทธเจ้าในปางก่อนนั้น กระตุ้นเตือน จึงได้เกิดความคิดขึ้นว่า เรามีอายุ ๗ ปี และได้บรรลุพระอรหัตแล้ว คุณสมบัติทุกอย่างที่สาวกจะพึงบรรลุ เราก็ได้บรรลุแล้วทั้งหมด อนึ่ง เราไม่มีกรณียกิจอะไรที่จะต้องกระทำให้ยิ่งขึ้นไปอีก

บัดนี้เรายังมีกายซึ่งอยู่เป็นชาติสุดท้ายอันนี้ และร่างนี้ก็อยู่ในกฎของความไม่เที่ยง ไม่นานนักก็จะดับไปเป็นธรรมดา ฉะนั้น เราควรจะกระทำการขวนขวายเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ ตราบเท่าที่ร่างนี้ยังไม่ดับ อย่างไรดีหนอ? พลางพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า เหล่ากุลบุตร เป็นอันมาก ในแคว้นรอบนอกทั้งหลาย ตั้งแต่บวชก็ไม่เคยได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย ท่านเหล่านั้น ย่อมเดินทางพากันมาจากที่ไกล ด้วยหวังใจว่า เราทั้งหลายจักได้เฝ้าแหน จักได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า บรรดากุลบุตรเหล่านั้น เมื่อมาแล้วเสนาสนะมีไม่เพียงพอ ท่านเหล่านั้น ก็ต้องนอนแม้บนแผ่นหิน ก็ด้วยความสามารถของเราก็ย่อมอาจนิรมิตเสนาสนะ มีปราสาท วิหาร เพิงพัก เป็นต้น พร้อมทั้งเตียงตั่งและเครื่องลาดให้เกิดขึ้นได้ตามความปรารถนาของกุลบุตรเหล่านั้น ด้วยอานุภาพของเรา และในวันรุ่งขึ้น พวกกุลบุตรเหล่านี้ ที่บางเหล่ามีกายเหนื่อยล้าเป็นอันมาก กุลบุตรพวกนั้นจะไม่สามารถแม้ยืนข้างหน้าภิกษุทั้งหลาย แล้วรับภัตตาหารที่แจกให้ แต่เราก็สามารถแจกภัตตาหารแก่กุลบุตรเหล่านั้นได้ ท่านพระทัพพมัลลบุตรได้พิจารณาอย่างนี้ จึงได้มีความตกลงใจว่า ฉะนั้น เราควรทำความช่วยเหลือแก่สงฆ์ด้วยการเป็นผู้จัดการเรื่องเสนาสนะ และแจกภัตตาหารแก่สงฆ์ และท่านก็ได้พิจารณาต่อไปว่า เรานั้นเป็นผู้ไม่เป็นอิสระในตนเอง เราเป็นผู้อยู่ในสำนักของพระศาสดา ถ้าหากพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตแก่เราแล้ว เราก็จักสมาทานฐานะหน้าที่ทั้ง ๒ นี้

ครั้นถึงเวลาเย็น แล้วท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลขอเป็นผู้จัดการเรื่องเสนาสนะ และแจกอาหาร แก่สงฆ์ เพื่อเป็นการช่วยเหลือแก่สงฆ์

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาคำขอของท่านพระทัพพมัลลบุตรเถระแล้วทรงเห็นว่า ในอนาคต เหตุอันใหญ่ จักบังเกิดแก่ทัพพะ ด้วยเหตุจากภิกษุชื่อเมตติยะและภุมมชกะ เนื่องเพราะ ฐานะหน้าที่นี้ ถ้าหน้าที่นี้ไม่ได้รับการยินยอมพร้อมใจกันสมมติแต่งตั้งโดยคณะสงฆ์แล้ว ต่อไปภายหน้าบรรดาภิกษุบางพวกจักตำหนิว่า ท่านทัพพะนี้ เป็นผู้นิ่งเฉย ไม่ทำการงานของตน มาจัดการฐานะเช่นนี้เพราะเหตุไร? แต่ถ้าได้รับการสมมติโดยสงฆ์ ภิกษุพวกอื่นก็จะกล่าวว่า จะไปโทษท่านทัพพะด้วยเหตุใด ก็ท่านผู้นี้ เป็นผู้ที่ภิกษุเหล่านั้นแหละเป็นผู้ตั้งขึ้นเองแล้ว เธอจักพ้นจากความครหานินทาด้วยประการฉะนี้ แต่แม้จะสามารถเปลื้องคำครหาอย่างนี้ได้แล้ว แต่เพราะเมื่อภิกษุที่สงฆ์ไม่ได้สมมติซ้ำอีกครั้ง (ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา) จะกล่าวคำอะไร ๆ ในท่ามกลางสงฆ์ ก็จะเกิดการบ่นว่าต่าง ๆ เป็นธรรมดาว่า เพราะเหตุไร ท่านผู้นี้จึงกระทำเสียงดัง แสดงความเป็น ใหญ่ในท่ามกลางสงฆ์เล่า? แต่ถ้าเป็นภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้วนั้นเป็นผู้พูด จะมีผู้กล่าว ว่า พวกท่านอย่าได้พูดอะไร ๆ ท่านผู้นี้สงฆ์สมมติแล้ว จงพูดได้ตามสบายเถิด และอีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้กล่าวโทษต่อผู้ที่สงฆ์มิได้สมมติด้วยคำไม่จริง ก็จะเป็นอาบัติเบา เพียงทุกกฏเท่านั้น แต่ผู้กล่าวตู่ภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้ว จะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ที่หนักกว่า อย่างนั้นภิกษุที่สงฆ์สมมติแล้วก็จะเป็นผู้ถูกกลั่นแกล้งได้ยากยิ่ง เพราะถ้าทำก็จะเป็นอาบัติหนัก ฉะนั้น เพื่อจะให้สงฆ์สมมติท่านทัพพมัลลบุตรนั้น

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถาใน เพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงสมมติทัพพมัลลบุตรให้เป็นผู้แต่งตั้งเสนาสนะ และแจกอาหาร

 

พระพุทธองค์ทรงโปรดอุปสมบทให้แก่สามเณรเมื่อมีอายุเพียง ๗ ขวบ

ลำดับนั้น พระบรมศาสดา ทรงพระดำริว่า ทัพพสามเณรนี้ยังเล็กแท้ แต่ต้องรับภาระหน้าที่อันใหญ่เหมือนดังเช่นภิกษุที่มีพรรษามาก ดังนี้แล้ว จึงโปรดให้ท่านอุปสมบท ในเวลาที่มี อายุได้ ๗ ขวบเท่านั้น นับเป็นสามเณร ๑ ใน ๓ รูปที่ปรากฏในพระบาลีว่าได้รับการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุตั้งแต่อายุได้เพียง ๗ ขวบ อีก ๒ รูป คือ

สุมนสามเณร ซึ่งพระพุทธองค์โปรดประทานการบวชด้วยวิธีทายัชชอุปสัมปทา หลังจากที่ท่านแสดงฤทธิ์สยบพญานาคราชที่รักษาสระอโนดาต และ

โสปากสามเณร ซึ่งท่านอุปสมบทด้วยวิธี ปัญหาพยากรณอุปสัมปทา หลังจากที่ท่านสามารถทูลแก้ปัญหาที่พระพุทธองค์ตรัสถาม ปัญหาเนื่องด้วยอสุภ ๑๐ และทรงชมเชยว่าสามารถแก้ปัญหาทัดเทียมกับสัพพัญญุตญาณ

ส่วนวิธีที่ท่านให้อุปสมบทแก่ท่านทัพพสามเณรในพระบาลีไม่ได้กล่าวถึง

 

ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

นับแต่พระเถระได้รับสมมติจากสงฆ์ให้เป็นผู้จัดแจงเสนาสนะ และแจกภิกษาแด่ภิกษุสงฆ์ทั้งหมด ที่อาศัยกรุงราชคฤห์อยู่นั้น ท่านก็ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ด้วยความเรียบร้อย สุขุม รอบคอบ ฉลาดในวิธีการ เช่น

ท่านจัดแจงเสนาสนะสำหรับหมู่ภิกษุผู้เสมอกันด้วยคุณ รวมไว้เป็นพวกๆ คือ ภิกษุเหล่าใดทรงพระสูตร ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้น ไว้แห่งเดียวกัน ด้วยประสงค์ว่า พวกท่านจักซักซ้อมพระสูตรกัน ภิกษุเหล่าใดทรงพระวินัย ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุ เหล่านั้นไว้แห่งเดียวกัน ด้วยประสงค์ว่า พวกท่านจักวินิจฉัยพระวินัยกัน ภิกษุเหล่าใดเป็นพระธรรมกถึก ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งเดียวกัน ด้วยประสงค์ว่า พวกท่านจักสนทนาธรรมกัน ภิกษุเหล่าใดได้ฌาน ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งเดียวกัน ด้วยประสงค์ว่า พวกท่านจักไม่รบกวนกัน ภิกษุเหล่าใดชอบกล่าวดิรัจฉานกถา มีการบำรุงร่างกายอยู่มาก ท่านก็แต่งตั้งเสนาสนะรวมภิกษุเหล่านั้นไว้แห่งเดียวกัน ด้วยประสงค์ว่า ท่านเหล่านี้ จักอยู่ด้วยความยินดี

ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่คำนึงถึงกาลเวลา ภิกษุมากลางวันท่านก็จัดการให้ในเวลากลางวัน มากลางคืน ท่านก็จัดแจงให้ในเวลากลางคืน ภิกษุมารูปเดียวท่านก็เป็นผู้พาไปด้วยตนเอง ถ้ามาหลายองค์ท่านก็พาไปด้วยฤทธิ์ โดยเนรมิตร่างเหมือนอย่างท่าน ให้มีจำนวนเท่าพระภิกษุที่มา ร่างเนรมิตแต่ละร่างนั้นก็จะพาภิกษุแต่ละรูปไปยังที่พัก

แม้ภิกษุเหล่าใดมาในเวลาค่ำคืนท่านก็เข้าจตุตถฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ บันดาลให้มีแสงสว่างออกมาจากปลายนิ้ว แล้วจัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุเหล่านั้น ด้วยแสงสว่างนั้นเอง กิติศัพท์ที่ท่านเป็นผู้จัดแจงเสนาสนะอย่างนั้น ได้ปรากฏกระฉ่อนไปทั่วทุกทิศ ภิกษุบางพวกย่อมแกล้งมาแม้เวลาค่ำ ด้วยประสงค์ว่า พวกเราจักได้ดูอิทธิปาฏิหาริย์ของท่านพระทัพพมัลลบุตร ดังนี้ก็มี

ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปหาท่านพระทัพพมัลลบุตร แล้วพูดอย่างนี้ว่า พระคุณเจ้าทัพพะ ขอท่านจงแต่งตั้งเสนาสนะให้พวกผม

ท่านพระทัพพมัลลบุตรถามภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ท่านปรารถนาที่ไหน ผมจะแต่งตั้งที่นั้น ภิกษุเหล่านั้นแกล้งกล่าวอ้างที่ไกลๆ ว่า พระคุณเจ้าทัพพะ ขอท่านจงแต่งตั้งเสนาสนะให้พวกผมที่ภูเขาคิชฌกูฏ ขอท่านจงแต่งตั้งเสนาสนะ ให้พวกผมที่เหวสำหรับทิ้งโจร ฯลฯ

ท่านพระทัพพมัลลบุตร จึงเข้าจตุตถฌานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ มีแสงสว่างออกมาจากปลายนิ้ว เดินนำหน้าภิกษุเหล่านั้นไป ภิกษุเหล่านั้นก็เดินตามหลังท่านพระทัพพมัลลบุตรไปด้วยแสงสว่างนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรจัดแจงเสนาสนะสำหรับภิกษุเหล่านั้น โดยชี้แจงอย่างนี้ว่า นี่เตียง นี่ตั่ง นี่ฟูก นี่หมอน นี่ที่ถ่ายอุจจาระ นี่ที่ถ่ายปัสสาวะ นี่น้ำฉัน นี่น้ำใช้ นี่ไม้เท้า นี่ระเบียบกติกาสงฆ์ ควรเข้าเวลานี้ ควรออกเวลานี้ ครั้นแต่งตั้งเสนาสนะเพื่อภิกษุเหล่านั้น เสร็จแล้ว กลับมาสู่พระเวฬุวันวิหารตามเดิม ฯ

เมื่อเกียรติคุณในความสมบูรณ์แห่งหน้าที่จัดแจงเสนาสนะ และหน้าที่จัดแจงเรื่องภัตรของพระเถระ เกิดปรากฏขึ้นอย่างนั้นแล้ว พระศาสดาเมื่อจะทรงแต่งตั้งพระทัพพเถระไว้ในฐานนันดร ในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้าจึงทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระทัพพมัลลบุตร เป็นผู้เลิศแห่งหมู่ภิกษุสาวกของเรา ผู้จัดแจง เสนาสนะแล

 

นางปุณณาถวายขนมรำแด่พระพุทธเจ้า

ในวันหนึ่ง เศรษฐีได้ให้ข้าวเปลือกเป็นอันมากแก่นางปุณณาซึ่งเป็นนางทาสี นางก็ไดจุดประทีปในกลางคืน ซ้อมข้าวเปลือกอยู่ มีตัวชุ่มด้วยเหงื่อ จึงได้ไปยืนตากลมอยู่ ณ ภายนอก เพื่อต้องการพักผ่อน

ในสมัยนั้น พระทัพพมัลลบุตรเป็นผู้จัดแจงเสนาสนะเพื่อภิกษุ ทั้งหลาย ท่านทำนิ้วมือให้สว่างเพื่อภิกษุทั้งหลายผู้ฟังธรรมแล้วไปสู่ เสนาสนะของตนๆ นิรมิตร่างนำภิกษุทั้งหลายข้างหน้าๆ เพื่อแสดงทาง นางปุณณาเห็นภิกษุทั้งหลายผู้เที่ยวไปบนภูเขา ด้วยแสง สว่างนั้น จึงคิดว่า “เรานั้นเพราะถูกทุกข์ของตัวเบียดเบียน จึงนอนไม่หลับ ในเวลานี้ แต่เพราะเหตุไร ท่านผู้เจริญทั้งหลายเหล่านั้นจึงยังไม่หลับ ?” แล้วก็คิดเอาเองว่า “ความไม่สบายคงมีแก่ภิกษุบางรูป หรืออุปัทวเหตุเพราะงูคงเกิดมีในที่นั่นเป็นแน่” ในตอนเช้าตรู่ จึงหยิบรำชุบน้ำให้ชุ่มแล้วทำขนมบนฝ่ามือ ปิ้งที่ถ่านเพลิง ห่อไว้ในที่พก คิดว่า “จักกินขนมที่ทางไปสู่ท่าน้ำ” จึงถือหม้อ เดินบ่ายหน้าไปยังท่าน้ำ

ในวันนั้นพระศาสดาก็เสด็จดำเนินไปทางนั้นเหมือนกัน เพื่อบิณฑบาตตามบ้าน นางเห็นพระศาสดาแล้วคิดว่า “ในวันอื่นๆ ถึงเมื่อเราพบพระศาสดา ไทยธรรมของเราก็ไม่มี เมื่อไทยธรรมมี เราก็ไม่พบพระศาสดา ก็บัดนี้ ไทยธรรมของเราก็มี ทั้งพระศาสดาก็ปรากฏเฉพาะหน้า ถ้าพระองค์ไม่ทรงคิดว่า “ทานของเราเศร้าหมองหรือประณีต แล้วพึงรับไซร้ เราพึงถวายขนมนี้” ดังนี้แล้ว จึงวางหม้อไว้ ณ ส่วนข้างหนึ่ง ถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า “ขอพระองค์จงทรงรับทานอันเศร้าหมองนี้ ทำการสงเคราะห์แก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า”

 

พระศาสดาเสวยขนมของนางปุณณา

นางปุณณาก็คิดว่า “พระศาสดาทรงทำการสงเคราะห์แก่เราด้วยการรับขนมก็จริง ถึงกระนั้น พระองค์ก็คงไม่เสวยขนมนั้น คงประทาน ให้แก่กาหรือสุนัขข้างหน้า เสด็จไปยังพระราชมณเฑียรของพระราชาหรือ เรือนของมหาอำมาตย์แล้ว จักเสวยโภชนะอันประณีตแน่แท้”

พระศาสดาทรงดำริว่า “นางปุณณานั่น คิดอย่างไรหนอแล ?” ครั้นทรงทราบวาระจิตของนางแล้ว จึงทอดพระเนตรดูพระอานนทเถระ แล้วทรงแสดงอาการที่จะประทับนั่ง พระเถระจึงได้ปูลาดจีวรถวาย พระศาสดาได้ประทับนั่งทำภัตกิจ ณ ภายนอกพระนครนั่นเอง เทพดาในห้วงจักวาลทั้งสิ้นนำโอชารสอันสมควรแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายใส่ลงในขนมนั้น ส่วนนางปุณณาได้ยืนแลดูอยู่

ในเวลาเสร็จภัตกิจ พระเถระได้ถวายน้ำ พระศาสดาทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสเรียกนางปุณณามา ตรัสว่า “ปุณณา เพราะเหตุไร เจ้า จึงดูหมิ่นสาวกทั้งหลายของเรา ?”

นางปุณณา หม่อมฉันมิได้ดูหมิ่น พระเจ้าข้า

พระศาสดา เมื่อเป็นเช่นนั้น เจ้าแลดูสาวกทั้งหลายของเราแล้ว คิดอย่างไร ?

นางปุณณา หม่อมฉันคิดเท่านี้ว่า เรานอนไม่หลับ ก็เพราะทุกข์ที่เกิดขึ้นแก่กายเรา ท่านผู้เจริญทั้งหลายไม่หลับ เพราะอะไรกัน ความไม่สบายจักมีแก่ภิกษุบางรูป หรืออุปัทวันตรายเพราะงูคงเกิดมีเป็นแน่ พระเจ้าข้า

 

สาวกของพระพุทธเจ้าตื่นเสมอ

พระศาสดาทรงสดับคำของนางปุณณานั้นแล้ว จึงตรัสว่า “ปุณณา เจ้าไม่หลับ เพราะอันตรายคือทุกข์ของตัวก่อน ส่วนสาวกทั้งหลายของเรา ไม่หลับ เพราะความเป็นผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งธรรมเครื่องตื่นอยู่ ทุกเมื่อ” ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า

“อาสวะทั้งหลาย ของผู้ตื่นอยู่ทุกเมื่อ มีปกติ

ตามศึกษาทั้งกลางวันกลางคืน น้อมไปแล้วสู่พระ

นิพพาน ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้”

ในกาลจบเทศนา นางปุณณายืนอยู่ตามเดิมนั่นเอง ดำรงอยู่ใน โสดาปัตติผลแล้ว เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว

 

พระเถระถูกกล่าวตู่

บาปกรรมที่ท่านได้ทำไว้ ด้วยกล่าวตู่พระเถระผู้เป็น พระขีณาสพรูปหนึ่งด้วยคำไม่จริงในกาลก่อน ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านหมกไหม้อยู่ในนรกหลายแสนปี ก็มาส่งผลในชาตินี้ ด้วยเรื่องอันเป็นอย่างนี้

ก็โดยสมัยนั้น พระเมตติยะและพระภุมมชกะ ซึ่งเป็นหัวหน้าของพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ซึ่งเป็นพระภิกษุที่ก่อกวนด้วยกรรมต่างๆ เป็นเหตุให้พระพุทธองค์ต้องทรงบัญญัติสิกขาบทหลายข้อ ในครั้งนั้นยังเป็นพระบวชใหม่และด้วยการที่ทำบุญมาน้อย เสนาสนะของสงฆ์ชนิดเลว และอาหารอย่างเลว ย่อมตกถึงแก่เธอทั้งสอง ด้วยได้ทำกุศลกรรมที่ทำมาน้อยนั่นเอง ครั้งนั้น ชาวบ้านในพระนครราชคฤห์ชอบถวายเนยใสบ้างน้ำมันบ้าง แกงที่มีรสดีๆ บ้าง ซึ่งจัดปรุงเฉพาะพระเถระ ส่วนพระเมตติยะและ พระภุมมชกะ เพราะอกุศลกรรมส่งผล เขาจึงถวายอาหารอย่างธรรมดาตามแต่จะหาได้ มีชนิดปลายข้าวมีน้ำส้มเป็นกับ เวลาหลังอาหารเธอทั้งสองกลับจากบิณฑบาตแล้วก็จะเที่ยวถามพวกพระเถระว่า ในโรงฉันของพวกท่านมีอาหารอะไรบ้าง ขอรับ พระเถระบางพวกบอกอย่างนี้ว่า พวกเรามีเนยใส มีน้ำแกงที่มีรสอร่อยๆ ส่วนพระเมตติยะและพระภุมมชกะพูดอย่างนี้ว่า พวกผมไม่มีอะไรเลย ขอรับ มีแต่อาหารอย่างธรรมดาตามที่จะหาได้ เป็นชนิดปลายข้าวมีน้ำส้มเป็นกับ ฯ

สมัยต่อมา กัลยาณภัตติยะคหบดีผู้ชอบถวายอาหารที่ดี ถวายภัตตาหารวันละ ๔ ที่แก่สงฆ์เป็นนิตยภัต เขาพร้อมด้วยบุตรภรรยา ปกติจะคอยอังคาสอยู่ใกล้ๆ ในโรงฉัน ปรนนิบัติพระภิกษุด้วยข้าวสุก กับข้าว น้ำแกงที่มีรสอร่อยๆ

คราวนั้น ท่านพระเถระซึ่งเป็นภัตตุเทสก์ได้แจกภัตต์ของกัลยาณภัตติยะคหบดี ผู้ชอบถวายอาหารที่ดี แก่พระเมตติยะและพระภุมมชกะ เพื่อฉันในวันรุ่งขึ้น วันนั้นท่านคหบดีไปสู่อารามด้วยกิจบางอย่าง เข้าไปหาท่านพระทัพพมัลลบุตร นมัสการ แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ท่านพระทัพพมัลลบุตรแสดงธรรมแก่ท่านคหบดีพอสมควรแก่เวลาแล้ว คหบดีจึงเรียนถามว่า พระคุณเจ้าแสดงภัตตาหารเพื่อฉันที่เรือนของกระผมในวันพรุ่งนี้แก่ใครขอรับ ท่านพระทัพพมัลลบุตรตอบว่า อาตมาให้แก่พระเมตติยะกับพระภุมมชกะ คหบดีทราบดังนั้นก็มีความเสียใจว่า ไฉนภิกษุลามกจักฉันภัตตาหารในเรือนเราเล่าเมื่อกลับไปบ้ายตนแล้วจึงสั่งหญิงคนรับใช้ไว้ว่า ในวันพรุ่งนี้ เจ้าจงจัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาสภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหาร ด้วยปลายข้าว มีน้ำผักดองเป็นกับ หญิงคนใช้ก็รับคำสั่งของคหบดี

ครั้งนั้นพระเมตติยะและพระภุมมชกะก็กล่าวแก่กันว่า คุณ เมื่อวานนี้ท่านภัตตุทเทสก์แสดงภัตตาหารของกัลยาณภัตติยคหบดี ให้พวกเรา พรุ่งนี้คหบดีพร้อมด้วยบุตรภรรยาจักอังคาสพวกเราอยู่ใกล้ๆ จักถามด้วย ข้าวสุก กับข้าว น้ำแกงที่มีรสอร่อยๆ ตกกลางคืนภิกษุ ๒ รูปนั้นนอนหลับไม่เต็มตื่นเพราะความดีใจนั้นเอง ครั้นรุ่งเช้า พระภิกษุทั้งสองก็ไปยังนิเวศน์ของท่านคหบดี

หญิงคนรับใช้นั้นได้แลเห็นพระเมตติยะและพระภุมมชกะกำลังเดินมาแต่ไกล จึงปูอาสนะถวายที่ซุ้มประตู แล้วกล่าวว่า นิมนต์นั่ง เจ้าค่ะ พระเมตติยะและพระภุมมชกะนึกว่า ภัตตาหารคงจะยังไม่เสร็จเป็นแน่ เขาจึงให้เรานั่งพักที่ซุ้มประตูก่อน ขณะนั้น หญิงคนรับใช้ ได้นำอาหารปลายข้าว ซึ่งมีน้ำผักดองเป็นกับเข้าไปถวาย พลางกล่าวว่า นิมนต์ฉันเถิดเจ้าค่ะ

ภิกษุทั้งสองตอบว่า น้องหญิง พวกฉันเป็นพระรับนิตยภัต จ้ะ

หญิงคนรับใช้ตอบว่า ดิฉันทราบว่าพระคุณเจ้าเป็นพระรับนิตยภัต เจ้าค่ะ แต่เมื่อวานนี้เอง ท่านคหบดีได้สั่งดิฉันไว้ว่า แม่สาวใช้ เจ้าจงจัดอาสนะไว้ที่ซุ้มประตู แล้วอังคาส ภิกษุผู้จะมาฉันภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ด้วยปลายข้าวมีน้ำผักดองเป็นกับ นิมนต์ฉัน เถิด เจ้าค่ะ

พระเมตติยะและพระภุมมชกะพูดกันว่า คุณ เมื่อวานนี้เอง ท่านคหบดี ไปสู่อารามที่สำนักพระทัพพมัลลบุตร พวกเราคงถูกพระทัพพมัลลบุตรยุยงเป็นแน่ เพราะความเสียใจนั้นเองทำให้ภิกษุทั้งสองรูปนั้นฉันไม่อิ่ม ครั้นเวลาหลังอาหารกลับจากบิณฑบาตไปสู่อาราม เก็บบาตรจีวรแล้ว นั่งรัดเข่าด้วยผ้าสังฆาฏิอยู่ภายนอกซุ้มประตูอาราม นิ่งอั้น เก้อเขิน คอตก ก้มหน้าซบเซา ไม่พูดจา ฯ

 

ภิกษุณีเมตติยาไปเยี่ยม

คราวนั้น ภิกษุณีเมตติยาเข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้ว ได้กล่าวว่า ดิฉันไหว้ เจ้าค่ะ เมื่อนางกล่าวอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ ทักทายปราศรัย แม้นางภิกษุณีจะกล่าวเป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ภิกษุทั้งสองรูป ก็มิได้ทักทายปราศรัย

ภิกษุณีเมตติยาถามว่า ดิฉันผิดต่อพระคุณเจ้าอย่างไร ทำไมพระคุณเจ้า จึงไม่ทักทายปราศรัยกับดิฉัน

ภิกษุทั้งสองตอบว่า ก็จริงอย่างนั้นแหละ น้องหญิง พวกเราถูกพระ ทัพพมัลลบุตรเบียดเบียนอยู่ เธอยังเพิกเฉยได้

ภิกษุณีเมตติยาถามว่า ดิฉันจะช่วยเหลืออย่างไร เจ้าคะ

ภิกษุทั้งสองตอบว่า น้องหญิง ถ้าเธอเต็มใจช่วย วันนี้พระผู้มีพระภาคต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก

ภิกษุณีเมตติยาถามว่า ดิฉันจะทำอย่างไร ดิฉันสามารถจะช่วยเหลือได้ด้วยวิธีไหน

ภิกษุทั้งสองตอบว่า มาเถิดน้องหญิง เธอจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลอย่างนี้ว่า กรรมนี้ไม่แนบเนียน ไม่สมควร ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไร ไม่มีอันตราย บัดนี้ กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้กลับมามีลมแรงขึ้น หม่อมฉันถูกพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตรประทุษร้าย คล้ายน้ำถูกไฟเผา พระพุทธเจ้าข้า

นางรับคำของภิกษุทั้งสอง แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม แล้วได้กล่าวหาพระทัพพมัลลบุตรเถระด้วยคำอย่างนั้น

 

ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม

พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้นในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า ดูกรทัพพะ เธอยังระลึกได้หรือไม่ว่า เป็นผู้ทำกรรมตามที่ภิกษุณีนี้กล่าวหา ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาค ทรงถามเช่นเดิมแม้ครั้งที่สอง แม้ครั้งที่สา

ท่านพระทัพพมัลลบุตรก็ยังกราบทูลเช่นเดิมว่า พระองค์ย่อมทรงทราบว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ดูกรทัพพะ บัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาเช่นนี้ ถ้าเธอทำก็จงบอกว่าทำ ถ้าไม่ได้ทำ ก็จงบอกว่าไม่ได้ทำ

ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว แม้โดยความฝันก็ ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตื่นอยู่เล่า

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล พวกเธอจงให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสีย และจงสอบสวนภิกษุเหล่านี้ ครั้นแล้วทรงลุกจากที่ประทับเสด็จเข้าพระวิหาร ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายให้ภิกษุณีเมตติยาสึกแล้ว พระเมตติยะและพระภุมมชกะเห็นการณ์เป็นดังนั้นจึงได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ท่านทั้งหลาย ขอพวกท่านอย่าให้ภิกษุณีเมตติยาสึกเสียเลย นางไม่ผิดอะไร พวกผมแค้นเคือง ไม่พอใจ มีความประสงค์จะให้ท่านพระทัพพมัลลบุตรเคลื่อนจากพรหมจรรย์จึงได้ให้นางใส่ไคล้

ภิกษุทั้งหลายถามว่า ก็พวกคุณโจทท่านพระทัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติ อันหามูลมิได้หรือ

ภิกษุทั้งสองนั้นรับว่า อย่างนั้น ขอรับ

บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระเมตติยะและพระภุมมชกะ จึงได้โจทท่านพระทัพพมัลลบุตรด้วยศีลวิบัติอันหา มูลมิได้เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

 

ทรงสอบถาม

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า ภิกษุเมตติยะและภิกษุภุมมชกะโจททัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล จริงหรือ

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

 

ทรงติเตียน

ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงติเตียนพระเมตติยะและพระภุมมชกะ โดยเอนกปริยาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:

 

พระบัญญัติ

๑๒. ๘. อนึ่ง ภิกษุใด ขัดใจ มีโทสะ ไม่แช่มชื่น ตามกำจัด ซึ่งภิกษุ ด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก อันหามูลมิได้ ด้วยหมายว่า แม้ไฉนเราจะยังเธอให้ เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ครั้นสมัยอื่นแต่นั้นอันผู้ใดผู้หนึ่ง ถือเอาตามก็ตาม ไม่ ถือเอาตามก็ตาม แต่อธิกรณ์นั้น เป็นเรื่องหามูลมิได้ แลภิกษุยันอิงโทสะอยู่ เป็น สังฆาทิเสส

 

พระพุทธเจ้าทรงโปรดให้คว่ำบาตรเจ้าวัฑฒะลิจฉวี

สมัยนั้น เจ้าวัฑฒะลิจฉวีเป็นสหายของพระเมตติยะ และพระภุมมชกะ เจ้าวัฑฒะลิจฉวี ได้เข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะ แล้ว กล่าวว่า ผมไหว้ขอรับ เมื่อเธอกล่าวอย่างนั้น เรื่องต่อมาก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องภิกษุณีเมตติยานั้นแหละ และในที่สุดภิกษุทั้งสองรูปก็เจ้าวัฑฒะลิจฉวี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วแล้วกราบทูลว่าภรรยาของเจ้าวัฑฒะลิจฉวีถูกพระทัพพมัลลบุตร ประทุษร้าย

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงให้สอบสวน พระทัพพมัลลบุตรเถระก็ได้ทูลว่า

“ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว แม้โดยความฝัน ก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม จะกล่าวไยถึงเมื่อตื่นอยู่เล่า พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ อย่าให้คบกับสงฆ์ ฯ

 

องค์แห่งการคว่ำบาตร

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงฆ์พึงคว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วย องค์ ๘ คือ:

๑. ขวนขวายเพื่อมิใช่ลาภแห่งภิกษุทั้งหลาย

๒. ขวนขวายเพื่อมิใช่ประโยชน์แห่งภิกษุทั้งหลาย

๓. ขวนขวายเพื่ออยู่ไม่ได้แห่งภิกษุทั้งหลาย

๔. ด่าว่าเปรียบเปรยภิกษุทั้งหลาย

๕. ยุยงภิกษุทั้งหลายให้แตกกัน

๖. กล่าวติเตียนพระพุทธเจ้า

๗. กล่าวติเตียนพระธรรม

๘. กล่าวติเตียนพระสงฆ์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คว่ำบาตรแก่อุบาสกผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ นี้ ฯ

ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ ของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้กะเจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า ท่านวัฑฒะ สงฆ์คว่ำบาตรแก่ท่านแล้ว ท่านคบกับสงฆ์ไม่ได้ พอเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ทราบข่าวว่า สงฆ์คว่ำบาตรแก่เราแล้ว เราคบกับสงฆ์ ไม่ได้แล้ว ก็สลบล้มลง ณ ที่นั้นเอง

 

พระพุทธเจ้าทรงโปรดให้หงายบาตรเจ้าวัฑฒะลิจฉวี

ขณะนั้น มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิต ของเจ้าวัฑฒะลิจฉวี ได้กล่าวคำนี้ กะเจ้าวัฑฒะลิจฉวีว่า ไม่ควร ท่านวัฑฒะ อย่าเศร้าโศก อย่าคร่ำครวญไปนักเลย พวกเราจักให้พระผู้มีพระภาคและ ภิกษุสงฆ์เลื่อมใส

เจ้าวัฑฒะลิจฉวีพร้อมด้วย บุตรภรรยา มิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ซบศีรษะลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า โทษได้มาถึงหม่อมฉันแล้ว ตามความโง่ ตามความเขลา ตามอกุศล ขอพระองค์ทรงพระกรุณารับโทษของหม่อมฉันที่ได้โจทพระคุณเจ้าทัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวม ต่อไปเถิด พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เชิญเถิด เจ้าวัฑฒะ โทษได้มาถึงท่านแล้ว ตามความโง่ ตามความเขลา ตามอกุศล ท่านได้เห็นโทษที่ได้โจททัพพมัลลบุตร ด้วยศีลวิบัติอันไม่มีมูล โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม เราขอรับโทษนั้นของท่าน การที่ท่านเห็นโทษ โดยความเป็นโทษ แล้วทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป นี้เป็นความเจริญในอริยวินัย ฯ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น สงฆ์จงหงายบาตร แก่เจ้าวัฑฒะลิจฉวี คือ ทำให้คบกับสงฆ์ได้

 

พระเถระปรินิพพาน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์

ครั้งนั้นแล ท่านพระเถระเที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตแล้ว จึงไปสู่ที่พัก ถือเอาน้ำจากหม้อน้ำล้างเท้าทั้งสองข้าง ทำตัวให้เย็น ปูลาดอาสนะ กำหนดเวลาที่จะเข้าสมาบัติ แล้วท่านก็เข้าสมาบัติ ครั้นครบเวลาที่กำหนดไว้แล้วท่านพระเถระก็ออกจากสมาบัติ ตรวจดูอายุสังขารของตน ก็ทราบว่าอายุสังขารของท่านสิ้นไปแล้ว

ท่านคิดว่า การที่เราจะนั่งปรินิพพานในที่นี้ โดยเราไม่กราบทูลพระศาสดาไม่สมควรแก่เราเลย เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายก็จะไม่ทราบ ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ให้พระองค์อนุญาตการปรินิพพานเสียก่อน แล้วเราจะแสดงฤทธานุภาพของเรา เพื่อจะแสดงว่าพระพุทธศาสนาเป็นเหตุนำสัตว์ออกจากทุกข์ แล้วเราจักนั่งในอากาศเข้าเตโชธาตุแล้วปรินิพพาน เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้เหล่าชนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสในเรา ก็จักเกิดความเลื่อมใส ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่เขาเหล่านั้นตลอดกาลนาน

ท่านพระเถระครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระสุคต บัดนี้ เป็นกาลปรินิพพานแห่งข้าพระองค์ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรทัพพะ เธอจงสำคัญเวลาอันควร ณ บัดนี้เถิด

ลำดับนั้น ท่านพระทัพพมัลลบุตรลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว เหาะขึ้นไปสู่เวหาส นั่งขัดสมาธิเข้าสมาบัติมีเตโชธาตุเป็นอารมณ์อยู่ในอากาศกลางหาว ออกจากสมาบัติแล้วปรินิพพาน

เมื่อท่านปรินิพพาน สรีระถูกไฟเผาไหม้อยู่เถ้าไม่ปรากฏเลย เขม่าก็ไม่ปรากฏ เหมือนเถ้าแห่งเนยใสหรือน้ำมันที่ ถูกไฟเผาไหม้อยู่ ไม่ปรากฏเลย เขม่าก็ไม่ปรากฏ ฉะนั้น ฯ


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47888627
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
65
49491
102383
47534203
102383
1272582
47888627

Your IP: 66.249.79.2
2024-12-04 00:02
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search