จุนท (พระจุนทเถระ)

จุนท (พระจุนทเถระ)

ประวัติ

 

ประวัติพระจุนทเถระ

พระจุนทเถระรูปนี้ ได้บำเพ็ญบุญสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้น ๆ ไว้เป็นอันมาก ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระสิทธัตถพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า สิทธัตถะ ท่านบังเกิดในตระกูลอันสมบูรณ์ด้วยสมบัติ เมื่อเติบใหญ่จนบรรลุนิติภาวะแล้ว บังเกิดความเลื่อมใสในพระศาสดา ได้ให้สร้างวัตถุอันควรมีค่าด้วยทอง ประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ ตกแต่งวัตถุนั้นด้วยดอกมะลิอันมีกลิ่นหอม เพื่อบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ พระองค์ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า

ผู้ใดได้ถวายดอกไม้มีค่า มีกลิ่นหอมฟุ้งแก่เรา เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านทั้งหลายจงฟังเรากล่าว

บุคคลผู้นี้เมื่อสิ้นชีวิตจากโลกนี้แล้ว จักไปบังเกิดในเทวโลก แวดล้อมด้วยหมู่เทวดา วิมานทั้งหลายอันเกิดด้วยกุศลกรรมสำเร็จด้วยทองและแก้วมณี เกลื่อนกล่นด้วยดอกมะลิ จักปรากฏ เขาจักได้เสวยเทวรัชสมบัติ ๗๔ ครั้ง จักแวดล้อมด้วยนางอัปสร จักได้เสวยสมบัติเป็นพระราชาในแผ่นดิน ครอบครองพสุธา ๓๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๗๕ ครั้ง ในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าโคดมบุคคลนั้นจักบังเกิดในกำเนิดเป็นพราหมณ์ เป็นบุตรผู้มีปัญญาของวังคันตพราหมณ์ เป็นโอรสผู้เป็นที่รักของนางสารีพราหมณี และภายหลังเขาจักบวชในศาสนาของพระอังคีรส จักได้เป็นพระสาวกของพระศาสดามีนามชื่อว่า จูฬจุนทะ เขาจักได้เป็นพระขีณาสพแต่ยังเป็นสามเณรทีเดียว กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะนิพพาน

 

บุรพกรรมในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า

ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ท่านบังเกิดในตระกูลช่างหม้อ ครั้นเติบใหญ่บรรลุนิติภาวะแล้ว ได้เลี้ยงชีพด้วยการเป็นนายช่างหม้อ วันหนึ่งเห็นพระบรมศาสดาแล้ว บังเกิดใจเลื่อมใส จึงได้ทำบาตรดินลูกหนึ่งแล้วตกแต่งเป็นอย่างดี ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

จากนั้นท่านก็ได้กระทำกรรมอันเป็นกุศลอยู่เป็นนิจ ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย

 

กำเนิดเป็นจุนทะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านก็ได้มาปฏิสนธิในครรภ์ของนางสารีพราหมณีในบ้าน อุปติสสคาม ณ หมู่บ้านนาลกะ (นาลันทะ) ไม่ไกลกรุงราชคฤห์ บิดาคือ วังคันตพราหมณ์ มารดาคือ สารีพราหมณี ญาติทั้งหลายขนานนามท่านว่า จุนทะ มีพี่ชายคือ อุปติสสะ หรือต่อมาคือ พระสารีบุตร (ตามชื่อมารดา) พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระอุปเสน (หรือในพระบาลีเป็น พระอุปเสนวังคันตบุตร ตามชื่อบิดา) ซึ่งต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคมหาสาวกผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ มีน้องชาย ๑ คนชื่อ เรวตะ (หรือในพระบาลีเป็น พระเรวตขทิรวนิยเถระ ซึ่งต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคมหาสาวกเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ท่านมีน้องสาว ๓ คน ชื่อ จาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา และหลานชายสามคนคือ จาลี อุปจาลี สีสูปจาลี ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาวแต่ละคน ซึ่งต่อมาทั้งหมดได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด

มารดาของพระเถระคือนางรูปสารีนั้น ตามประวัติกล่าวว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้พระสารีบุตรผู้เป็นบุตรชายคนโตก็พูดสั่งไว้กับพวกภิกษุเมื่อครั้ง น้องชายคือท่านเรวตะจะออกบวชไว้ว่า

“ผู้มีอายุ ถ้าเรวตะมาเพื่อประสงค์จะบวช ไซร้ พวกท่านจงให้เขาบวช (เพราะ) มารดาของกระผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะมีประโยชน์อะไรที่เรวตะจะบอกลาท่านทั้งสองนั้นเล่า? ขอให้ถือว่าผมเองเป็นมารดาและบิดาของเรวตะนั้น.”

และอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พระสารีบุตรจะปรินิพพาน ภายหลังที่ท่านได้ปลงอายุสังขารแล้วท่านได้คำนึงว่า

.”.....มารดาของเราแม้เป็นมารดาของพระอรหันต์ ๗ รูป ก็ไม่เลื่อมใส ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ...........”

จนกระทั่งท่านพระสารีบุตร ได้ไปเทศนาโปรดท่านจนได้บรรลุโสดาปัตติผล ตามเรื่องที่จะได้กล่าวต่อไป

แต่เรื่องราวของท่านในการออกบวช ว่าออกบวชอย่างไร และเมื่อไหร่ ไม่มีปรากฏในพระบาลี ทราบแต่เพียงว่าท่านออกบวชเมื่อครั้งยังเป็นสามเณร ภิกษุทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า จุนทะ สมณทเทส แม้ในเวลาท่านเป็นพระเถระก็ยังคงเรียกอย่างนั้นอยู่ การบวชท่านได้บวชในสำนักของพระสารีบุตรผู้เป็นพี่ชาย โดยมีพระอานนท์เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วก็บำเพ็ญเพียร เจริญวิปัสสนา ไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัต พร้อมทั้งคุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร

 

พระเถระเป็นพระอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคและพระสารีบุตร

ในจุนทเถราปทาน ได้แสดงคาถาที่ท่านพระเถระกล่าวถึงประวัติที่ผ่านมาของท่านไว้ว่า

“ .........เราได้บำรุงพระมหาวีรเจ้าและพระสาวกอื่นๆ ผู้มีศีลเป็นอันมาก และบำรุงพระเถระผู้พี่ชายของเรา......”

ความข้างต้นหมายความว่า ท่านได้เคยเป็นพุทธอุปัฏฐากอยู่ระยะหนึ่ง ในสมัยต้นพุทธกาล เมื่อครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังไม่มีพระอุปัฏฐากประจำ บางคราว พระนาคสมาละถือบาตรและจีวรตามเสด็จ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ.บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทสมณเทส บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระเมฆิยะ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ทรงประชวร ไม่สบายเป็นไข้หนัก.ท่านพระมหาจุนทะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระจุนทะว่าดูกรจุนทะ โพชฌงค์จงแจ่มแจ้งกะเธอ.ท่านพระเถระได้ท่องโพชฌงค์ ๗ ถวายพระผู้มีพระภาค เมื่อท่านพระมหาจุนทะได้กล่าวไวยากรณภาษิตนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย พระผู้มีพระภาคทรงหายจากประชวรนั้นและอาพาธนั้น

แม้เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดให้พระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำแล้ว ในบางคราวก็ทรงโปรดให้พระจุนทะถวายการรับใช้เช่นเมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงปลงอายุสังขารแล้ว ทรงเสด็จไปที่เมืองกุสินารา ระหว่างทางเสด็จผ่านแม่น้ำกกุธานที

[๑๒๕] พระพุทธเจ้าผู้ศาสดา ผู้พระตถาคต หาผู้เปรียบมิได้ในโลก ทรงเหน็ดเหนื่อย เสด็จถึงแม่น้ำกกุธานที มีน้ำใส จืด สะอาด เสด็จลงแล้วทรงสรงและเสวยน้ำแล้ว อันหมู่ภิกษุแวดล้อม เสด็จไปในท่ามกลาง พระผู้มีพระภาคผู้ศาสดาทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงเป็นไปในธรรมนี้ เสด็จถึงอัมพวันแล้ว รับสั่งกะภิกษุนามว่าจุนทกะว่า เธอจงช่วยปูผ้าสังฆาฏิซ้อนกันเป็นสี่ชั้นให้เรา เราจะนอน พระจุนทกะนั้น อันพระผู้มีพระภาคผู้อบรม พระองค์ทรงเตือนแล้ว รีบปูผ้าสังฆาฏิพับเป็นสี่ชั้นถวาย พระศาสดาทรงบรรทมแล้ว หายเหน็ดเหนื่อย ฝ่ายพระจุนทกะนั่งเฝ้าอยู่เฉพาะพระพักตร์ในที่นั้น ฯ

ในเรื่องของการอุปัฏฐากพระสารีบุตรเถระผู้เป็นพี่ชายของของท่านนั้น พระเถระเมื่อบวชแล้วก็พักอยู่ในสำนักของพระสารีบุตร ได้อยู่ปรนิบัติพระเถระผู้เป็นพี่ชาย รวมทั้งพระเถระอื่นเช่นพระอานนท์ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ แม้พระสารีบุตรจะไปไหนก็มักชวนพระเถระไปด้วยเช่นเมื่อคราวพระสารีบุตรไปโปรดพระภิกษุองค์หนึ่งคือพระฉันนะ (คนละองค์กับพระฉันนะที่เคยเป็นมหาดเล็กของเจ้าชายสิทธัตถะ) ซึ่งป่วยหนักเป็นต้น

เมื่อครั้งพระสารีบุตรได้ปลงอายุสังขาร ปรารถนาจะไปโปรดนางสารีพราหมณีผู้เป็นมารดาให้พ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ก่อนที่ท่านจะสิ้นชีวิต ในครั้งนั้นท่านก็ได้ให้พระจุนทะไปกับท่านด้วย และพระจุนทเถระก็ได้ปรนนิบัติถวายพระเถระแม้จนวาระสุดท้าย ดังนี้

พระสารีบุตรเถระกล่าวว่า ท่านมหาอุบาสิกา สมัยพระศาสดาของเรา ประสูติ ออกมหาภิเนษกรมณ์ ตรัสรู้ และประกาศพระธรรมจักร หมื่นโลกธาตุก็หวั่นไหว ขึ้นชื่อว่าผู้เสมอด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติญาณทัสสนะไม่มี แล้วท่านพระเถระจึงกล่าวพระธรรมเทศนาอันประกอบ ด้วยพระพุทธคุณอย่างพิสดารแสดงต่อยางสารีพราหมณี เมื่อเวลาจบพระธรรมเทศนาของบุตรที่รัก นางพราหมณีก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วจึงได้กล่าวกะบุตรว่า

     พ่ออุปติสสะ เหตุไร เจ้าจึงได้กระทำอย่างนี้ล่ะลูก เหตุใดก่อนหน้านี้เจ้าจึงไม่ให้ อมตธรรมนี้แก่แม่เล่า

     พระเถระคิดว่า บัดนี้ค่าน้ำนมข้าวป้อน ที่นางสารีพราหมณีมารดาของเราให้ไว้ก็ได้รับชดใช้แล้ว จึงส่งนางพราหมณีไป ด้วยการกล่าวว่า ไปเถิดมหาอุบาสิกา แล้วถามพระจุนทะ ว่าจวนสว่างหรือยัง

     พระจุนทะตอบว่า จวนสว่างแล้วขอรับ

     พระสารีบุตรเถระสั่งว่า ถ้าอย่างนั้น จงประชุมพระภิกษุสงฆ์เถิด

     พระจุนทะตอบว่า พระสงฆ์ประชุมกันแล้วขอรับ

     สั่งพระจุนทะว่า ยกเราขึ้นนั่งทีซิ พระจุนทะ ก็ยกท่านขึ้นให้นั่ง

     พระสารีบุตรเถระเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุ พวกท่านอยู่กับเรามาถึง ๔๔ ปี ไม่ชอบใจกรรมทางกาย หรือกรรมทางวาจาของเราอันใด ผู้มีอายุจงงดโทษนั้นเสียเถิด

     ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่าท่านขอรับ พวกเราเที่ยวไปไม่ละท่านเหมือนเงา ชื่อว่ากรรมที่ไม่ชอบใจถึงเพียงนี้ย่อมไม่มีแก่พวกเรา แต่ขอท่านโปรดงดโทษแก่พวกเราเสียด้วย

     ครั้นแสงอรุณปรากฏ พระเถระยังมหาปฐพีให้เลื่อนลั่น แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เทพดาและ มนุษย์เป็นอันมาก พากันกระทำสักการะในสถานที่ปรินิพพาน 

     ท่านพระจุนทะถือบาตรและจีวรและผ้าห่อพระธาตุไปยังพระเชตวัน พาพระอานนท์เถระเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า

     พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือผ้ากรองน้ำห่อพระธาตุ กล่าวคุณของพระเถระด้วยคาถา ๕๐๐ คาถา โปรดให้สร้างพระธาตุเจดีย์

 

สามเณรจุนทะอาสาแสดงปาฏิหาริย์แทนพระพุทธองค์

เมื่อครั้งเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์ ได้ปุ่มไม้แดงซึ่งมีค่ามากมาปุ่มหนึ่ง จึงได้ให้กลึงเป็นบาตรไม้ นำไปแขวนไว้บนปลายไม้สูงประมาณ ๖๐ ศอก แล้วประกาศว่า ถ้าผู้ใดเป็นพระอรหันต์ก็จงเหาะมาเอาบาตรไม้นี้ไปเถิด นิครณฐนาฏบุตรผู้เป็นเดียรถีย์ กับเหล่าสาวกได้พยายามด้วยเล่ห์อุบายต่าง ๆ เป็นเวลาถึง ๗ วัน เพื่อเอาบาตรไม้จันทร์แดงนั้นมาครอบครองแต่ก็ไม่สำเร็จ

ในวันที่ ๗ ท่านพระมหาโมคคัลลานะและท่านพระปิณโฑล ภารทวาชะได้ไปยังกรุงราชคฤห์เพื่อบิณฑบาต ได้ยินพวกชาวเมืองคุยกัน ในเรื่องที่เศรษฐีประกาศให้พระอรหันต์ เหาะมาเอาบาตรไม้จันทร์แดงนั้นไป ก็บัดนี้ล่วงเข้าไปวันที่ ๗ แล้ว ก็ไม่เห็นมีผู้ใดมาเอาบาตรนั้นไปได้ เรารู้แล้วว่าพระอรหันต์นั้นไม่มีในโลกแล้ว

ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ยินถ้อยคำนั้นแล้ว จึงกล่าวกะท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า พวกนักเลงเหล่านี้ พูดเป็นทีว่าจะย่ำยีพระพุทธศาสนา ท่านจงไปเถิด จงมาทางอากาศ แล้วถือเอาบาตรนั้น ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะจึงได้แสดงฤทธิ์ต่อหน้ามหาชนทั้งหลาย เหาะไปเอาบาตรนั้นมา

ครั้นความทราบถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ทรงตำหนิท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามสาวกทั้งหลายมิให้ทำปาฏิหาริย์

เหล่าเดียรถีย์ทั้งหลาย ครั้นทราบว่าพระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามสาวกทำปาฏิหาริย์แล้ว ก็คิดว่าคงไม่มีผู้ใดกล้าแสดงปาฏิหาริย์อีกเป็นแน่ จึงได้ประกาศว่าตนจะแสดงปาฏิหาริย์แข่งกับพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบดังนั้น จึงได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่า ได้ทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามทำปาฏิหาริย์เสียแล้ว บัดนี้พวกเหล่าเดียรถีย์ประกาศว่าทำปาฏิหาริย์แข่งกับพระองค์ พระองค์จักทรงทำอย่างไร ? พระบรมศาสดาก็ตรัสว่าพระองค์ก็จะทรงกระทำปาฏิหาริย์ด้วย โดยทรงมีพระพุทธาธิบายแก่พระเจ้าพิมพิสารว่า การห้ามกระทำปาฏิหาริย์นั้นเป็นการห้ามพระสาวก มิได้ห้ามแก่พระองค์เอง เปรียบเสมือน พระราชาห้ามการเก็บผลไม้ในพระอุทยานก็เป็นการห้ามแก่ชนผู้อื่น มิได้ทรงห้ามพระองค์เองดังนี้เป็นต้น แล้วทรงตรัสตอบพระราชาเกี่ยวกับวันที่และสถานที่ที่จะทรงกระทำปาฏิหาริย์ว่าจะทรงทำในวันเพ็ญเดือน ๘ ที่เมืองสาวัตถี แล้วจึงได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถี พวกเดียรถีย์ก็ได้ติดตามไป

ฝ่ายพวกเดียรถีย์ก็ให้สร้างมณฑปด้วยไม้ตะเคียนขึ้น ณ ที่แห่งหนึ่ง แล้วประกาศว่าจะทำปาฏิหาริย์ ณ ที่นี้

พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อปวารณาสร้างมณฑปถวาย แต่พระพุทธองค์ทรงห้ามเสียโดยทรงตรัสว่าท้าวสักกเทวราชจะมาทรงสร้างให้ และจะทรงทำปาฏิหาริย์ที่ไต้ร่มไม้มะม่วง

เหล่าเดียรถีย์ทราบดังนั้น จึงสั่งเหล่าสาวก ให้ตัดต้นมะม่วงในบริเวณโดยรอบหนึ่งโยชน์เสียทั้งหมด แม้มะม่วงต้นเล็ก ๆ ก็ถอนทิ้งหมด เพื่อมิให้คำที่พระพุทธองค์ตรัสนั้นเป็นความจริงไปได้

ในวันนั้น นายคัณฑะผู้รักษาพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้เก็บมะม่วงสุกผลหนึ่งได้ จึงได้นำมาถวายพระพุทธองค์ ครั้นเมื่อทรงเสวยมะม่วงผลนั้นแล้วจึงให้ทรงขุดดินฝังเมล็ดมะม่วงนั้นและทรงรดด้วยน้ำล้างพระหัตถ์ ทันใด

ต้นมะม่วงมีลำต้นเท่างอนไถ มีส่วนสูงประมาณ ๕๐ ศอก งอกขึ้นแล้ว กิ่งใหญ่ ๕ กิ่ง คือใน ๔ ทิศๆ ละกิ่ง เบื้องบนกิ่งหนึ่ง ได้มีขนาดประมาณกิ่งละ ๕๐ ศอกเทียว ต้นมะม่วงนั้นสมบูรณ์ด้วยช่อและผล ได้ทรงไว้ซึ่งพวงแห่งมะม่วงสุกในที่ แห่งหนึ่ง ในขณะนั้นนั่นเอง

เวลานั้นท้าวสักกเทวราช จึงได้สั่งให้เทพบริวารทั้งหลายทำลายมณฑปของเหล่าเดียรถีย์เสียด้วยฤทธิ์ ปูรณกัสสปผู้เป็นหัวหน้าของเหล่าเดียรถีย์เห็นแผนของตนโดนทำลาย ดังนั้นจึงได้หนีไปกระโดดน้ำตาย

ในส่วนของบรรดาสาวกสาวิกาต่างก็รับอาสาทำปาฏิหาริย์แทนพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่น

อุบาสิกาคนหนึ่งชื่อฆรณี ผู้เป็นอนาคามี ท่านจุลอนาถบิณฑิกอุบาสกผู้เป็นอนาคามี สามเณรีชื่อว่า วีรา มีอายุได้ ๗ ขวบ ผู้บรรลุปฏิสัมภิทา สามเณรชื่อจุนทะ พระเถรีชื่ออุบลวรรณา และมหาโมคคัลลานะ ในส่วนของสามเณรชื่อจุนทะ พระอรรถกถาจารย์ได้บรรยายไว้ว่า

ลำดับนั้น สามเณรชื่อจุนทะผู้เป็นขีณาสพ บรรลุปฏิสัมภิทารูปหนึ่งมีอายุ ๗ ขวบแต่เกิดมา เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า “ข้าพระองค์จักทำปาฏิหาริย์ พระเจ้าข้า” ถูกพระศาสดาตรัสถามว่า“เธอจักทำอย่างไร ?” จึงกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์จักจับต้นหว้าใหญ่ที่เป็นธงแห่งชมพูทวีปที่ลำต้นแล้วเขย่า นำผลหว้าใหญ่มาให้บริษัทนี้เคี้ยวกิน และข้าพระองค์จักนำดอกแคฝอยมาแล้ว ถวายบังคมพระองค์.” พระศาสดาตรัสว่า “เราทราบอานุภาพของเธอ” ดังนี้แล้วก็ทรงห้ามการทำปาฏิหาริย์ แม้ของสามเณรนั้น.

พระศาสดาจึงได้ตรัสจึงได้ตรัสห้าม สาวก สาวิกาเหล่านั้น แล้วจึงเสด็จขึ้นสู่จงกรมแก้วนั้น ข้างหน้าได้มีบริเวณประมาณ ๑๒ โยชน์ ข้างหลัง ข้างซ้าย และข้างขวาก็เหมือนอย่างนั้น ส่วนโดยตรง มีประมาณ ๒๔ โยชน์ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ในท่ามกลางบริษัทเหล่านั้น

 

สามเณรจุนทะเป็นผู้เริ่มเหตุให้พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระสูตรสำคัญ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาท ในสวนอัมพวันของเวธัญญาศากยะ ในสักกชนบท สมัยนั้นนิครณฐ์นาฏบุตร ซึ่งอาศัยอยู่ที่เมืองนาลันทา นาฏบุตรนั้นเมื่อได้สดับพุทธคุณที่อุบาลีคฤหบดีแสดงให้ตนฟังด้วยคาถา ๑๐ คาถา จึงกระอักโลหิตออกมา ครั้งนั้นสาวกทั้งหลายจึงได้พานาฏบุตรไปยังเมืองปาวา และได้ถึงแก่กรรมในเมืองนั้น แต่ก่อนที่นาฏบุตรจะถึงแก่กรรมนั้น เขาได้สำนึกว่าลัทธิของเราเป็นลัทธิที่ไม่นำออกไปได้ เป็นลัทธิที่ขาดสาระ ตัวเราจะฉิบหายไปก็ช่างเถิด แต่อย่าให้ผู้ที่เชื่อคำของเราได้ไปอยู่ในอบายด้วยเลย แต่ถ้าเราจะกล่าวว่า คำสอนของเรา เป็นคำสอนที่ไม่นำออกไปได้ ชนทั้งหลายก็จะไม่เชื่อ ถ้าเช่นนั้นเราไม่ควรให้ศิษย์ทั้งหลายมีความเชื่อแบบเดียวกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นเมื่อเราล่วงลับไป ศิษย์เหล่านั้นจะวิวาท แตกแยกกัน เมื่อเกิดเหตุเช่นนั้นพระศาสดาจักตรัสธรรมกถาบทหนึ่งเนื่องเพราะข้อวิวาทนั้น จากนั้นชนทั้งหลายจักรู้ความที่พระศาสนาเป็นศาสนาที่มีคุณใหญ่ดังนี้

เมื่อคิดดังนั้นเมื่อศิษย์คนหนึ่งเข้าไปหานาฏบุตรนั้นแล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ ขณะนี้ท่านป่วยหนักขอจงบอกสาระในธรรมนี้แก่กระผมบ้างเถิดดังนี้ นาฏบุตรกล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ เมื่อเราล่วงลับไปเธอพึงถือว่า “เที่ยง” ดังนี้ ครั้นต่อมาศิษย์ออีกคนหนึ่งเข้าไปหา นาฏบุตรก็ให้อันเตวาสิกนั้นถือว่า “สูญ”

ครั้นเมื่อนาฏบุตรได้ถึงแก่กรรมเสียแล้ว เมื่อศิษย์ทั้งหลายกระทำฌาปนกิจนาฏบุตรนั้นเสร็จแล้ว จึงประชุมถามกันและกันขึ้นว่าดูก่อนผู้มีอายุ อาจารย์บอกสิ่งที่เป็นสาระให้แก่ใคร คนหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่าแก่เรา ศิษย์อื่นก็ได้ถามว่า บอกไว้อย่างไร ศิษย์นั้นก็บอกว่า “เที่ยง” อีกคนหนึ่ง คัดค้านแล้วกล่าวว่า อาจารย์ได้บอกสิ่งที่เป็นสาระแก่เรานั้นว่า “สูญ” เมื่อเป็นดังนี้ ศิษย์ทั้งหมดต่างก็วิวาทกันรุนแรงขึ้นว่า อาจารย์บอกสิ่งที่เป็นสาระแก่เรา เราเป็นใหญ่ ถึงขั้น ด่ากัน บริภาษกัน และทำร้ายกันด้วยมือและเท้าเป็นต้นไม่ร่วมทางเดียวกัน เลี่ยงกันไปคนละทิศละทาง

ครั้งนั้นแล พวกมหาชนต่างก็พูดกันอย่างอื้อฉาวว่า นิคัณฐนาฏบุตรนั้นประกาศตนเป็นศาสดาผู้เดียว เมื่อเขาถึงแก่กรรม พวกสาวกก็เกิดวิวาทกันถึงปานนี้ ก็บัดนี้พระสมณโคดมปรากฏแล้วในชมพูทวีป แม้พระสาวกของพระองค์ก็ปรากฏแล้วเหมือนกัน เมื่อพระสมณโคดมปรินิพพานแล้ว พวกสาวกจักวิวาทกันเช่นไรหนอ ดังนี้ พระเถระสดับถ้อยคำนั้นแล้วคิดว่าเราจักนำถ้อยคำนี้ไปทูลแด่พระทสพล พระศาสดาจักทำคำพูดนั้นให้เป็นเหตุเกิดเรื่องราว แล้วจักทรงกล่าวเทศนา ๑ กัณฑ์ พระเถระนั้นจึงออกไปหาพระอานนท์ ณ ตำบลสามคาม

ครั้นกราบไหว้ท่านพระอานนท์แล้ว ได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้เล่าเรื่องนั้นให้ท่านพระอานนทเถระฟัง เมื่อสามเณรจุนทะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะสามเณรจุนทะว่า อาวุโสจุนทะ มีมูลเหตุแห่งถ้อยคำนี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าละ อาวุโส จุนทะ มาเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ ที่ประทับ ครั้นแล้ว พึงทูลบอกเรื่องนี้ แด่พระผู้มีพระภาค

ท่านพระอานนท์และสามเณรจุนทะจึงได้เดินทางเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ซึ่งอยู่ที่ปราสาทในสวนอัมพวันของเวธัญญาศากยะ ในสักกชนบท ครั้นแล้วท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะนี้ ได้บอกอย่างนี้ว่า นิครณฐ์นาฏ บุตรทำกาละแล้วที่เมืองปาวาไม่นานนัก จากนั้นพวกเหล่าศิษย์ก็เกิดแตกแยกกันเป็นสองพวก ฯลฯ นี้เพราะเหตุที่ธรรมวินัย อันนิครณฐ์นาฏบุตรกล่าวไว้ไม่ดี ประกาศไว้ไม่ดี ไม่เป็นธรรมวินัยที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกไปจากทุกข์ได้ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ไม่ใช่ธรรมวินัยที่ท่านผู้เป็น สัมมาสัมพุทธะประกาศไว้ เป็นธรรมวินัยมีที่พำนักอันทำลายเสียแล้ว เป็นธรรมวินัยไม่มีที่พึ่งพาอาศัยดังนี้ ฯ

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้แสดงพระสูตรชื่อว่า ปาสาทิกสูตร อันว่าด้วย

  • ธรรมวินัยของศาสดาผู้เป็นและไม่เป็นสัมมาสัมพุทธะ
  • การตายของศาสดาที่ทำและไม่ทำให้สาวกเดือดร้อน
  • องค์ที่ทำให้พรหมจรรย์บริบูรณ์
  • ศาสดาที่เลิศด้วยลาภยศ
  • อภิญญาเทสิตธรรม
  • การแสดงธรรมเพื่อปิดกั้นอาสวะ
  • การประกอบตนให้ติดความสุข ๔ อย่าง
  • อานิสงส์ ๔
  • ผู้ไม่ควรล่วงฐานะ ๙
  • เหตุที่มีพระนามว่าตถาคโต
  • ปัญหาที่ไม่พยากรณ์และทิฏฐิต่าง ๆ
  • ทิฏฐินิสัยเกี่ยวกับกาลอนาคต
  • สติปัฏฐาน ๔

 

สามคามสูตร

ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้ทูลพระบรมศาสดาดังนี้ ข้าพระองค์มีความดำริอย่างนี้ว่า สมัยเมื่อพระผู้มีพระภาคล่วงลับไป ความวิวาทอย่าได้เกิดขึ้นในสงฆ์เลย ความวิวาทนั้นมีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ธรรมเหล่าใดที่เราแสดงแก่เธอทั้งหลายแล้ว คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ดูกรอานนท์ เธอเคยเห็นภิกษุของเราแม้สองรูป มีวาทะต่างกันได้ในธรรมเหล่านี้หรือ ฯ

ท่านพระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังไม่เคยเห็นภิกษุแม้สองรูปมีวาทะต่างกันในธรรม อันพระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว แก่ข้าพระองค์ทั้งหลายเหล่านั้น

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ก็มีได้แล ที่บุคคลทั้งหลายนั้น พอสมัยพระผู้มีพระภาคล่วงลับไป ก็จะพึงก่อวิวาทให้เกิดในสงฆ์ได้ เนื่องจากอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์อันยิ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระดำรัสว่า ดูกรอานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์อันยิ่งนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ ที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือปฏิปทา ความวิวาทนั้นต่างหากที่มีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก

จากนั้นได้ทรงแสดงสามคามสูตร ตรัสถึง มูลเหตุแห่งความวิวาท ดังนี้

ดูกรอานนท์ มูลเหตุแห่งความวิวาท นี้มี ๖ อย่าง ๖ อย่างเป็นไฉน ดูกรอานนท์

(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มักโกรธ มีความผูกโกรธ

(๒) ภิกษุเป็นผู้มีความลบหลู่ มีความตีเสมอ

(๓) ภิกษุเป็นผู้มีความริษยา มีความตระหนี่

(๔) ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด เป็นผู้มีมายา

(๕) ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก มีความเห็นผิด

(๖) ภิกษุเป็นผู้มีความเห็นเอาเอง มีความเชื่อถือผิวเผิน มีความถือรั้นสละคืนได้ยาก

 ทรงตรัสถึง อธิกรณ์ และการระงับอธิกรณ์ ไว้ดังนี้

ดูกรอานนท์ อธิกรณ์ นี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นไฉน คือ วิวาทาธิกรณ์ อนุวาทาธิกรณ์ อาปัตตาธิกรณ์ กิจจาธิกรณ์ ดูกรอานนท์ เหล่านี้แล อธิกรณ์ ๔ อย่าง ฯ

ดูกรอานนท์ ก็ อธิกรณ์สมถะ นี้มี ๗ อย่างแล คือ เพื่อระงับอธิกรณ์อันเกิดแล้วๆ สงฆ์พึงใช้ สัมมุขาวินัย สติวินัย อมุฬหวินัย ปฏิญญาตกรณะ เยภุยยสิกา ตัสสปาปิยสิกา ติณวัตถารกะ ฯ

ทรงตรัสถึง ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไว้ดังนี้

ดูกรอานนท์ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกัน เป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อสงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้มี ๖ อย่าง ๖ อย่างเป็นไฉน

(๑) ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ

(๒) ภิกษุมีวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ

(๓) ภิกษุมีมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ปรากฏในเพื่อนร่วมพรหมจรรย์ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ

(๔) ภิกษุมีลาภใดๆ เกิดโดยธรรม ที่สุดแม้เพียงอาหารติดบาตร เป็นผู้ไม่แบ่งกันเอาลาภนั้นไว้แต่เฉพาะผู้เดียว ย่อมเป็นผู้เฉลี่ยทั่วไปกับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์ผู้มีศีล

(๕) ภิกษุถึงความเป็นผู้เสมอกันโดยศีล กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ

(๖) ภิกษุถึงความเป็นผู้เสมอกันโดยทิฐิ กับเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ทั้งในที่แจ้ง ทั้งในที่ลับ

นี้คือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงกันเป็นเหตุก่อความรัก ก่อความเคารพ เป็นไปเพื่อ สงเคราะห์กัน เพื่อไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงกัน เพื่อเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ

นอกจาก ปาสาทิกสูตร และสามคามสูตร ที่ได้แสดงต่อท่านพระจุนทเถระแล้ว พระพุทธเจ้ายังได้ทรงแสดงพระสูตรที่สำคัญอีกพระสูตรหนึ่งแก่ท่านพระจุนทเถระ คือ สัลเลขสูตร อันว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลากิเลส

รูปฌาน ๔

ว่าด้วยธรรมเครื่องขัดเกลา

ว่าด้วยทางหลีกเลี่ยงคนชั่ว

ว่าด้วยอุบายบรรลุนิพพาน

ดูกรจุนทะ เหตุแห่งธรรมเครื่องขัดเกลา เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งจิตตุปบาทเราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งการหลีกเลี่ยง เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความเป็นเบื้องบน เราได้แสดงแล้ว เหตุแห่งความดับสนิท เราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้

และในตอนท้ายพระสูตร แม้ในพระบาลีเองก็กล่าวว่า พระสูตรนี้

ลุ่มลึกเปรียบด้วยสาคร ฉะนี้.

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47516122
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
27419
86618
380885
46849926
1002460
1172714
47516122

Your IP: 18.118.193.223
2024-11-23 18:50
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search