กุมารกัสสปะสามเณร ผู้มีผิวพรรณดุจทองคำ

กุมารกัสสปะสามเณร ผู้มีผิวพรรณดุจทองคำ

ความย่อ

กุมารกัสสปะ เป็นชื่อที่พระเจ้าปเสนทิโกศลที่ทรงรับอุปการะเลี้ยงดูตั้งให้ เพราะมารดาของท่านได้มีศรัทธาออกบวชหลังจากแต่งงานแล้ว และไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์

ประวัติ

กุมารกัสสปะ เป็นชื่อที่พระเจ้าปเสนทิโกศลที่ทรงรับอุปการะเลี้ยงดูตั้งให้ เพราะมารดาของท่านได้มีศรัทธาออกบวชหลังจากแต่งงานแล้ว และไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์(ท้อง) ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตัดสินเรื่องนี้ว่าไม่ผิดศีลเพราะได้ตั้งครรภ์ก่อนบวช

กุมารกัสสปะคลอดออกมามีหน้าตาน่ารักและมีผิวพรรณดุจทองคำด้วยบุญบารมีที่สั่งสมมาดีแล้วหลายภพหลายชาติ พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเลี้ยงดูจนเจริญวัย ต่อมาได้ขอบวชเป็นสามเณรในสำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตั้งใจบำเพ็ญเพียรภาวนาเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่งผู้เป็นเพื่อนในอดีตชาติของท่าน ซึ่งได้ไปบังเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสได้ลงมาหาและผูกปัญหา ๑๕ ข้อให้แก้ แล้วบอกว่าให้ไปถามปัญหาเหล่านี้ต่อพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อกุมารกัสสปะสามเณรได้ฟังการแก้ปัญหา ๑๕ ข้อ จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระอรหันต์ในเวลานั้นเอง ต่อมาพระกุมารกัสสปะได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศด้านการกล่าวถ้อยคำอันวิจิตรไพเราะสมบูรณ์ด้วยเหตุและผล ท่านเป็นกำลังสำคัญรูปหนึ่งในการประกาศพระศาสนา

 

เรื่องมาในธรรมบท [มารดาของพระกุมารกัสสปเถระ]

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภมารดาของพระกุมารกัสสปเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ" เป็นต้น.

 

มารดาของพระกุมารกัสสปบวช

ดังได้สดับมา มารดาของพระเถระนั้นเป็นธิดาของเศรษฐี ในกรุงราชคฤห์ ขอบรรพชาแล้ว จำเดิมแต่เวลาตนถึงความเป็นผู้รู้เดียงสา, แม้อ้อนวอนอยู่บ่อยๆ ก็ไม่ได้บรรพชา แต่สำนักของมารดาและบิดา. เจริญวัยแล้ว ไปสู่ตระกูลสามี เป็นผู้มีสามีดังเทวดา อยู่ครองเรือนแล้ว.

ครั้นต่อมาไม่นานนัก สัตว์เกิดในครรภ์ ตั้งขึ้นแล้วในท้องของนาง. แต่นางไม่ทราบความที่ครรภ์นั้นตั้งขึ้นเลย ยังสามีให้ยินดีแล้ว จึงขอบรรพชา.

ครั้งนั้น สามีนำนางไปสู่สำนักของนางภิกษุณี ด้วยสักการะใหญ่ ไม่ทราบอยู่ ให้บวชในสำนักของนางภิกษุณีที่เป็นฝักฝ่ายแห่งพระเทวทัตแล้ว.

โดยสมัยอื่น นางถูกนางภิกษุณีเหล่านั้น ทราบความที่นางมีครรภ์แล้ว ถามว่า "นี่อะไรกัน?" จึงตอบว่า "แม่เจ้า ดิฉันไม่ทราบว่า ‘นี่เป็นอย่างไร?’ แต่ศีลของดิฉันไม่ด่างพร้อยเลย." พวกนางภิกษุณีนำนางไปสู่สำนักของพระเทวทัตแล้ว ถามว่า "นางภิกษุณีนี้บวชด้วยศรัทธา, พวกดิฉันไม่ทราบกาลแห่งครรภ์ของนางนี้ตั้งขึ้น บัดนี้ พวกดิฉันจะทำอย่างไร?"

พระเทวทัตคิดเหตุเพียงเท่านี้ว่า "ความเสียชื่อเสียง จงอย่าเกิดขึ้นแก่พวกนางภิกษุณีผู้ทำตามโอวาทของเรา" จึงกล่าวว่า "พวกเธอจงให้นางนั้นสึกเสีย." นางภิกษุณีสาวนั้นฟังคำนั้นแล้ว กล่าวว่า "แม่เจ้า ขอแม่เจ้าทั้งหลาย อย่าให้ดิฉันฉิบหายเสียเลย, ดิฉันมิได้บวชเจาะจงพระเทวทัต, แม่เจ้าทั้งหลาย จงมาเถิด จงนำดิฉันไปสู่พระเชตวัน ซึ่งเป็นสำนักของพระศาสดา." นางภิกษุณีเหล่านั้นพานางไปสู่พระเชตวัน กราบทูลแด่พระศาสดาแล้ว.

 

พระกุมารกัสสปเกิด

พระศาสดา แม้ทรงทราบอยู่ว่า "ครรภ์ตั้งขึ้นแล้ว ในเวลานางเป็นคฤหัสถ์" เพื่อจะเปลื้องเสียซึ่งถ้อยคำของชนอื่น จึงรับสั่งให้เชิญพระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านมหาอนาถบิณฑิกะ ท่านจุลอนาถบิณฑิกะ นางวิสาขาอุบาสิกา และสกุลใหญ่อื่นๆ มาแล้ว ทรงบังคับพระอุบาลีเถระว่า "เธอจงไป จงชำระกรรมของภิกษุณีสาวนี้ให้หมดจด ในท่ามกลางบริษัท ๔."

พระเถระให้เชิญนางวิสาขามา ตรงพระพักตร์พระราชาแล้ว ให้สอบสวนอธิกรณ์นั้น. นางวิสาขานั้นให้คนล้อมเครื่องล้อมคือม่าน ตรวจดูมือ เท้า สะดือ และที่สุดแห่งท้องของนางภิกษุณีนั้น ภายในม่าน แล้วนับเดือนและวันดู ทราบว่า "นางได้มีครรภ์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์" จึงบอกความนั้นแก่พระเถระ

ครั้งนั้น พระเถระยังความที่นางเป็นผู้บริสุทธิ์ ให้กลับตั้งขึ้นในท่ามกลางบริษัทแล้ว. โดยสมัยอื่น นางคลอดบุตรมีอานุภาพมาก ซึ่งมีความปรารถนาตั้งไว้ แทบบาทมูลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ.

 

มีกุมารนำหน้าเพราะพระราชาทรงเลี้ยง

ภายหลังวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไป ณ ที่ใกล้สำนักของนางภิกษุณี ทรงสดับเสียงทารก จึงตรัสถามว่า "นี้เสียงอะไร?" เมื่ออำมาตย์กราบทูลว่า "พระเจ้าข้า บุตรของนางภิกษุณีนั่นเกิดแล้ว นั่นเป็นเสียงของบุตรนางภิกษุณีนั้น" ทรงนำกุมารนั้นไปสู่พระราชมนเทียรของพระองค์ ได้ประทานให้แก่แม่นมทั้งหลาย.

ก็ในวันตั้งชื่อ ชนทั้งหลายตั้งชื่อกุมารนั้นว่า "กัสสป" เพราะความที่กุมารนั้นเป็นผู้อันพระราชาทรงให้เจริญแล้ว ด้วยเครื่องบริหารของพระกุมาร จึงรู้กันว่า "กุมารกัสสป."

กุมารนั้นทุบตีเด็กในสนามกีฬาแล้ว เมื่อพวกเด็กกล่าวว่า "พวกเราถูกคนไม่มีแม่ไม่มีพ่อทุบตีแล้ว." จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นสมมติเทพ พวกเด็กย่อมว่าหม่อมฉันว่า ‘ไม่มีมารดาและบิดา’ ขอพระองค์จงตรัสบอกมารดาแก่หม่อมฉัน"

เมื่อพระราชาทรงแสดงหญิงแม่นมทั้งหลาย ตรัสว่า "หญิงเหล่านี้เป็นมารดาของเจ้า." จึงกราบทูลว่า "มารดาของหม่อมฉันไม่มีเท่านี้ อันมารดาของหม่อมฉันพึงมีคนเดียว ขอพระองค์ตรัสบอกมารดานั้นแก่หม่อมฉันเถิด." พระราชาทรงดำริว่า "เราไม่อาจลวงกุมารนี้ได้" จึงตรัสว่า "พ่อมารดาของเจ้าเป็นภิกษุณี, เจ้า อันเรานำมาแต่สำนักนางภิกษุณี."

 

กุมารกัสสปออกบวชบรรลุพระอรหัต

กุมารนั้นมีความสังเวชเกิดขึ้นพร้อมแล้ว ด้วยเหตุเพียงเท่านั้นนั่นแหละ กราบทูลว่า "ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ทรงให้หม่อมฉันบวชเถิด" พระราชาทรงรับว่า "ดีละ พ่อ" แล้วยังกุมารนั้นให้บวชในสำนักของพระศาสดา ด้วยสักการะเป็นอันมาก.

กุมารกัสสปนั้นได้อุปสมบทแล้วปรากฏว่า "พระกุมารกัสสปเถระ." ท่านเรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดา เข้าไปสู่ป่าพยายามแล้ว ไม่สามารถจะให้คุณวิเศษบังเกิดได้ จึงคิดว่า "เราจะเรียนกัมมัฏฐานให้วิเศษอีก" มาสู่สำนักของพระศาสดา อยู่ในป่าอันธวันแล้ว,

ครั้งนั้น ภิกษุผู้ทำสมณธรรมร่วมกัน ในกาลแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า บรรลุอนาคามิผลแล้ว บังเกิดในพรหมโลก มาจากพรหมโลกถามปัญหา ๑๕ ข้อกะพระกุมารกัสสปนั้นแล้ว ส่งไปด้วยคำว่า "คนอื่นยกพระศาสดาเสีย ที่สามารถเพื่อจะพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ไม่มี. ท่านจงไป จงเรียนเนื้อความของปัญหาเหล่านี้ในสำนักของพระศาสดาเถิด."

ท่านทำเหมือนอย่างนั้น บรรลุพระอรหัตผล ในเวลาที่พระศาสดาทรงแก้ปัญหาจบ.

 

มารดาพระกุมารกัสสปบรรลุพระอรหัต

ก็ตั้งแต่วันที่พระเถระนั้นออกไปแล้ว น้ำตาไหลออกจากนัยน์ตาทั้งสองของนางภิกษุณีผู้เป็นมารดาตลอด ๑๒ ปี. นางมีทุกข์เพราะพลัดพรากจากบุตร มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตาทีเดียว เที่ยวไปเพื่อภิกษา พอเห็นพระเถระในระหว่างแห่งถนน จึงร้องว่า "ลูก ลูก" วิ่งเข้าไปเพื่อจะจับพระเถระ ซวนล้มลงแล้ว.

นางมีถันหลั่งน้ำนมอยู่ ลุกขึ้น มีจีวรเปียก ไปจับพระเถระแล้ว พระเถระคิดว่า "ถ้ามารดานี้จักได้ถ้อยคำอันไพเราะจากสำนักของเรา นางจักฉิบหายเสีย เราจักเจรจากับมารดานี้ ทำให้กระด้างเทียว."

ทีนั้น พระเถระกล่าวกะนางภิกษุณีผู้เป็นมารดานั้นว่า "ท่านเที่ยวทำอะไรอยู่? จึงไม่อาจตัดแม้มาตรว่าความรักได้"

นางคิดว่า "โอ ถ้อยคำของพระเถระหยาบคาย" จึงกล่าวว่า "พ่อ พ่อพูดอะไร?" ถูกพระเถระว่าเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละอีก จึงคิดว่า "เราไม่อาจอดกลั้นน้ำตาไว้ได้สิ้น ๑๒ ปี เพราะเหตุแห่งบุตรนี้ แต่บุตรของเรานี้ มีหัวใจกระด้าง ประโยชน์อะไรของเราด้วยบุตรนี้" ตัดความเสน่หาในบุตรแล้ว บรรลุพระอรหัตผลในวันนั้นนั่นเอง.

 

พวกภิกษุพากันสรรเสริญพระพุทธคุณ

โดยสมัยอื่น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมว่า "ผู้มีอายุทั้งหลาย พระกุมารกัสสปและพระเถรี ผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยอย่างนี้ ถูกพระเทวทัตให้ฉิบหายแล้ว ส่วนพระศาสดาเกิดเป็นที่พึ่งของท่านทั้งสองนั้น, โอ! น่าอัศจรรย์ ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเป็นผู้อนุเคราะห์โลก."

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ?" เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "ด้วยเรื่องชื่อนี้" จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราเป็นปัจจัย เป็นที่พำนักของคนทั้งสองนี้ ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ แม้ในกาลก่อน เราก็ได้เป็นที่พำนักของคนทั้งสองนั้นเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว จึงตรัสนิโครธชาดก๑- นี้โดยพิสดารว่า :-

        เจ้าหรือคนอื่น พึงคบเนื้อชื่อว่านิโครธผู้เดียว อย่าเข้าไปคบเนื้อชื่อว่าสาขะ; ความตายในสำนักของ เนื้อชื่อว่านิโครธประเสริฐกว่า, ความเป็นอยู่ในสำนัก ของเนื้อชื่อว่าสาขะนั้นจะประเสริฐอะไร. 

ทรงประชุมชาดกว่า เนื้อชื่อว่าสาขะในครั้งนั้น ได้เป็นพระเทวทัต (ในบัดนี้), แม้บริษัทของเนื้อชื่อว่าสาขะนั้น (ก็) เป็นบริษัทของพระเทวทัตนั่นแหละ, แม่เนื้อตัวถึงวาระได้เป็นพระเถรี, บุตรได้เป็นกุมารกัสสป, ส่วนพระยาเนื้อนามว่านิโครธ ผู้ไปสละชีวิตแก่แม่เนื้อตัวมีครรภ์ คือเราเอง.

เมื่อจะทรงประกาศความที่พระเถรีตัดความรักในบุตรแล้ว ทำที่พึ่งแก่ตนเองแล จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เพราะบุคคลอาศัยคนอื่น ไม่สามารถเพื่อจะมีสวรรค์หรือมรรคเป็นที่ไปในเบื้องหน้าได้ ฉะนั้น ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นจะทำอะไรได้" ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-

๔.  อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ  โก หิ นาโถ ปโร สิยา 
  อตฺตนา หิ สุทนฺเตน  นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ.  
      ตนแลเป็นที่พึ่งของตน, บุคคลอื่นใครเล่า พึงเป็นที่พึ่งได้ เพราะบุคคล มีตนฝึกฝน ดีแล้ว ย่อมได้ที่พึ่ง อันบุคคลได้โดยยาก.  

 

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นาโถ คือ เป็นที่พำนัก

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำนี้ไว้ว่า "บุคคลตั้งอยู่ในตน คือสมบูรณ์แล้วด้วยตน สามารถจะทำกุศลแล้วถึงสวรรค์ หรือเพื่อยังมรรคให้เจริญ หรือทำให้แจ้งซึ่งผลได้ เพราะเหตุนั้นแหละ ตนแลพึงเป็นที่พึ่งของตน. คนอื่นใครเล่า? พึงเป็นที่พึ่งของใครได้ เพราะบุคคลมีตนฝึกดีแล้ว คือมีความเสพผิดออกแล้ว ย่อมได้ที่พึ่งซึ่งบุคคลได้โดยยาก กล่าวคือพระอรหัตผล."

ก็คำว่า "นาถํ ลภติ ทุลฺลภํ" นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาพระอรหัต. ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

 


ที่มา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒

47375766
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
40782
54808
240529
46849926
862104
1172714
47375766

Your IP: 18.223.213.76
2024-11-21 17:31
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search