เทคนิค อ่านเร็ว เข้าใจ ไม่มีวันลืม

ผมเป็นคนชอบซื้อหนังสือ เข้าห้างต้องแวะร้านหนังสือ งานสัปดาห์หนังสือก็ไม่เคยพลาด  แต่ปัญหาที่ตามมาคือ อ่านหนังสือไม่ทัน วางกองอยู่เต็มบ้านหลายสิบเล่ม มีใครเป็นแบบนี้บ้างครับ

แต่ผมมีวิธีแก้ด้วยการ “หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง” คือ ไปซื้อหนังสือแนะนำเทคนิคการอ่านเร็ว เผื่อว่าจะช่วยได้ จนมาเจอเล่มนี้เขียนโดย Mark Tigchelaar ซึ่งดีมาก พูดเกี่ยวกับเรื่องสมอง โยงเข้ากับการอ่าน และสามารถเอาไปใช้ได้จริง เดี๋ยวผมจะเล่าเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ให้ฟังนะครับ

 

<< เรื่องที่ 1 >> 

“สมอง” คนเรา ประมวลผลข้อมูลได้ 800-1,400 คำต่อนาที แต่ความเร็วในการอ่านอยู่ที่ 200 คำต่อนาที

เพราะฉะนั้น ขณะที่เราอ่านหนังสืออยู่จะมีพื้นที่สมองว่าง ๆ ให้คิดฟุ้งซ่านถึงเรื่องอื่น ๆ ได้มากมาย

ขอพูดถึงเรื่อง “ลูกตา” ของเรานิดนึงก่อน เวลาเข้าไปในห้องใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ลูกตาก็จะมองไปรอบ ๆ เพื่อสำรวจสิ่งต่าง ๆ เวลาอ่านหนังสือก็เหมือนกัน ตาของเราก็จะมองไปรอบ ๆ หรือบางทีก็มองย้อนไปย้อนมาถึงตัวอักษรก่อนหน้าบ้าง บรรทัดข้างบนบ้าง ทำให้สมาธิของเราหลุดลอยไป

วิธีแก้ปัญหา คือ ต้องอุดช่องว่างของสมองด้วยการ “อ่านให้เร็วขึ้น” และทำให้ “ลูกตา” มีสมาธิจดจ่อกับตัวหนังสือ ทำง่าย ๆ โดยใช้นิ้วหรือปากกาจิ้มไปที่ตัวหนังสือ คอยนำสายตาอ่านตามตัวอักษรที่ชี้อยู่ ปรับสปีดการอ่านตามที่ต้องการ ควบคุมจังหวะให้เหมาะสม แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการอ่านให้เร็ว คือ ต้องอ่านให้เข้าใจด้วย

ไม่ใช่แค่เรื่องการอ่านนะครับ การฟังก็ใช้ได้ด้วย เวลาเราฟัง Youtube, Podcast หรือ Opp Day ลองปรับสปีดเป็น 1.5 หรือ 2 เท่า เพื่ออุดช่องว่างของสมอง จะได้จำได้มากขึ้น ประหยัดเวลาดีด้วย ลองดูครับ

 

<< เรื่องที่ 2 >>

หลายคนชอบทำงานทีละหลาย ๆ อย่างแบบ Multi-tasking เช่น เปิดคอมหลาย ๆ หน้าจอ ประชุมไปด้วย ตอบเมลล์ไปด้วย เพราะคิดว่าจะทำงานได้เร็วกว่า แต่จริง ๆ ไม่ใช่ครับ สมองกลับทำงานหนักกว่าด้วย

การทำแบบนี้ต้องใช้ “สมาธิแบบรู้ตัว” ในการทำงาน เป็นการที่เราต้องจดจ่อกับตัวงานที่ทำ มันไม่ใช่การทำงานทีละหลาย ๆ อย่าง แต่เป็นการสลับงานไปมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นการใช้สมองทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งกลับทำให้เสียเวลามากขึ้นและจำได้น้อยลง ต่างจากการที่เราเดินไปพูดไป อันนั้นเป็นการใช้ “สมาธิแบบไม่รู้ตัว” ซึ่งเกิดโดยอัตโนมัติ สมองจะจัดการได้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น เวลาเราจดงานตามคำพูดของครูหรือเจ้านาย ถ้าจดตามทุกคำยังไงก็จดไม่ทัน และไม่ได้ฟังเนื้อหาต่อไปด้วย หรือขับรถไปคุยมือถือไป ขับรถไปแต่งหน้าไป จนรถชนกัน ก็เพราะสมองเราทำงานหลายอย่างพร้อมกัน

วิธีแก้ปัญหา คือ ให้ทำงานทีละอย่าง หรือเวลาประชุมก็ฟังให้จบ เสร็จปุ๊บก็ให้รีบจดเลยว่าเนื้อหาสาระที่ได้ยินมาคืออะไร ประเด็นสำคัญ Next Step คืออะไร หรือเวลาอ่านหนังสือก็ไม่ต้องมานั่งจำทุกคำที่อ่าน เอาให้เข้าใจก่อนจบบทนึงค่อยมาเขียนสรุปสิ่งที่จำได้ สิ่งที่สำคัญ

เวลาจด ให้จด “คำนาม” เป็นหลัก เพราะคำเหล่านี้เป็น Key Words พวกคำเชื่อม คำคุณศัพท์ คำขึ้นต้นแบบ a, an, the พวกนี้ไม่ต้องจดมาก็ได้ เพราะไม่ใช่ใจความสำคัญ

 

<< เรื่องที่ 3 >>

สมองคนเราจำ “ภาพ” ได้ดีกว่า “ตัวหนังสือ”

ในหนังสือยกตัวอย่างว่า ผู้ชายคนนึงนามสกุล “Baker” ก็จำว่าเป็น “ขนมอบ” ก็จะจำได้ง่ายขึ้น อีกคนชื่อ “จัสติน” ก็แน่นอน ให้นึกถึงนักร้องอย่าง “จัสติน บีเบอร์”

การจำตัวเลขเค้าก็ให้เปลี่ยนเป็นภาพ หรือ เชื่อมโยงกับตัวเลขที่คุ้นเคย เช่น เห็นเลข 911 หรือของไทยก็ 191 ก็ให้จำว่าเป็นเลขสถานีตำรวจ หรือจะจำแบบนี้ก็ได้ คือ

1 = เทียน
2 = หงส์
3 = กุญแจมือ
4 = เรือใบ
5 = ตะขอ

จำสัญลักษณ์ประมาณนี้ หรือว่าจะเอาไปแต่งเป็นเรื่องราว เป็นนิทานก็ได้ครับ เห็นน้องเบส ลงทุนศาสตร์ อ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนกัน แต่งนิทานเรื่อง “ลูกหมู 5 ตัว” สนุกดีครับ ลองไปอ่านกันดูได้

 

<< เรื่องที่ 4 >>

เวลาเราต่อจิ๊กซอว์ 1,000 ชิ้น ที่แยก ๆ กันมา เราจะเริ่มต้นไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่ามันคือภาพอะไร แต่ถ้าให้เราเห็นภาพใหญ่หรือภาพรวมก่อน แล้วค่อยกระจายออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ แบบนี้เราจะต่อกลับเป็นรูปเดิมได้ เพราะสมองเราจะประมวลภาพได้ชัด

วิธีการนี้เอามาใช้กับการอ่านได้คือ เปิดอ่านคำนำ อ่านสารบัญ อ่านบทสรุป เพื่อจะได้เข้าใจโครงสร้างของหนังสือเล่มนี้ว่าเริ่มต้นและจบอย่างไร พอเรามาอ่านเนื้อหาก็จะเข้าใจได้ง่ายและเร็วขึ้น

อีกวิธีคือ อ่านรีวิวหรือบทสรุปของคนอื่นที่เค้าอ่านมาแล้ว เราก็จะได้เห็นภาพรวมของหนังสือ พอเราไปอ่านเองก็จะเข้าใจง่าย เชื่อมโยงเนื้อหาได้เร็วขึ้น เก็บรายละเอียดได้มากขึ้นด้วย

 

<< เรื่องที่ 5 >>

จำนวนชั่วโมงที่อ่านหนังสือไมได้แปรผันตรงกับคะแนนสอบ จำนวนชั่วโมงทำงานก็ไม่ได้แปรผันตรงกับประสิทธิภาพในการทำงาน

พูดง่าย ๆ ก็คือ อ่านหนังสือแบบเอาเป็นเอาตาย หรือทำงานจนดึกดื่น ไม่ได้แปลว่าจะสอบได้คะแนนดี หรือทำงานได้ดี

เหตุผลก็คือ สมองคนเราต้องการเวลาพักผ่อน ถ้ามันซึมซับข้อมูลตลอด มันจะอิ่มตัวแล้วรับอะไรเพิ่มไม่ได้อีก เหมือนเวลาที่เรารู้สึกว่าสมองตื้อหรือรู้สึกเหนื่อย ๆ ล้า ๆ นั่นล่ะครับ

แต่จุดสมดุล ผมว่าเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องหาให้เหมาะกับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือ 30 นาที พัก 5 นาที แล้วกลับมาอ่านใหม่ หรือทำงาน 30 นาที พักมองต้นไม้เขียว ๆ แป็บนึง แล้วกลับมาทำงานต่อ อะไรแบบนี้เป็นต้นครับ

 

สรุป เทคนิคที่เราเอาไปใช้ให้อ่านเร็ว เข้าใจ ไม่มีวันลืม นะครับ

  • 1) ใช้นิ้วหรือปากกาจิ้มไปที่ตัวหนังสือ อ่านตามไปเรื่อย ๆ ปรับสปีดให้เหมาะสม เน้นที่ความเข้าใจมากกว่าอ่านเพื่อความเร็ว
  • 2) ทำงานทีละอย่าง อย่าให้สมองสับสน (คุณผู้หญิงอย่าแต่งหน้าตอนขับรถนะครับ)
  • 3) จำเป็นภาพหรือเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราคุ้นเคย
  • 4) อ่านคำนำ สารบัญ บทสรุป และรีวิวของคนอื่น
  • 5) ให้สมองได้พักผ่อนบ้าง

ตัวอย่างการพัฒนาความจำ


ที่มา www.stockvitamins.co/อ่านเร็ว-เข้าใจ-ไม่มีวัน

© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search