“ความรู้สึกจากใจ นาคหลวง”
หากจะพูดถึงความรู้สึกจากใจในเพศสมณะแล้วคงต้องนึกย้อนไปเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ หลังจากที่เริ่มเข้าวัดได้ ๑ ปีมีโอกาสมารับบุญเป็นอาสาสมัคร ทุก ๆ วันอาทิตย์ ทั้งในช่วงสายและบ่าย จะรับบุญตั้งแถวต้อนรับหลวงพ่อ ก่อนที่ท่านจะเดินขึ้นรัตนบัลลังก์นำปฏิบัติธรรม
ทุก ๆ ครั้งที่หลวงพ่อถามเด็ก ๆ ที่มาต้อนรับว่า “ใครจะบวชตลอดชีวิตบ้าง” สามเณรก็ได้แต่ยกมือตอบท่านในใจเท่านั้น
จากนั้นมา ความคิดที่จะบวชเริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ขณะที่เรียนจบประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้ว สามเณรตัดสินใจแน่วแน่ที่จะทิ้งชีวิตทางโลก หันหน้าเข้าสู่ร่มเงาของพระพุทธศาสนา มาสมัครบวชเรียนต่อที่วัดพระธรรมกาย
ด้วยคำสัญญาในใจที่ได้เคยให้ไว้กับหลวงพ่อในทุก ๆ วันอาทิตย์
เมื่อบวชแล้ว สามเณรก็ได้ฝึกฝนอบรมตนเองตามคำแนะนำสั่งสอนของคณะพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง มีทั้งความลำบากและบทเรียนแสนยากมากมายที่ไม่เคยเจอมาก่อนเหมือนตอนอยู่ทางโลก แม้จะไม่ได้สบายกาย แต่มีความสุขใจตลอดเวลาที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์
สามเณรได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมทั้งนักธรรมและบาลีเรื่อยมาโดยลำดับ แต่ก็ยังไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเรียนจนจบ ป.ธ.๙ บวชเป็นนาคหลวง จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕ ๖ หลังจากที่สามเณรสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้ว ได้มีการจัดงานมุทิตาสักการะขึ้นที่ห้องแก้วสารพัดนึก สภาธรรมกายสากล
ในขณะที่กำลังรับพระของขวัญมุทิตาจากหลวงพ่ออยู่นั้น ท่านได้ถามขึ้นมาว่า “อายุทันนาคหลวงไหมจ๊ะ”
สามเณรตอบท่านไปว่า “ทันครับหลวงพ่อ” หลวงพ่อท่านตอบกลับมาว่า “เอาให้ได้นะลูกนะ”
นับแต่นั้นมาสามเณรจึงได้ตั้งเป้าหมายใหม่ คือ สอบให้ได้ ป.ธ.๙ เพื่อบวชเป็นนาคหลวง คำของหลวงพ่อเปรียบเสมือนแรงผลักดันให้สามเณรพากเพียรพยายามและเอาใจใส่ในการศึกษามากยิ่งขึ้น จึงทำให้สอบไล่ได้ต่อมาทุก ๆ ปี ทำให้รู้สึกได้ว่า เป้าหมายประโยค ๙ ที่ดูเหมือนจะไกลเกินกว่าจะเอื้อมถึงนั้นอยู่ไม่เกินวิสัย
ในระหว่างนี้ก็มีโอกาสได้รับประสบการณ์ที่มีค่ามากมาย
จากคณะพระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง เช่น ได้รับโอกาสไปสอนบาลีที่โรงเรียนเตรียมพุทธศาสตร์ วัดบ้านขุน จัดอบรมสามเณรภาคฤดูร้อนที่ต่างจังหวัด หรือไปอบรมวิชาการเทศนาธรรมในโครงการ“สามเณรธรรมาสน์ทอง” รุ่นที่ ๒ เป็นต้น ทำให้ได้พัฒนาความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ และได้รู้จักเพื่อนสหธรรมิกต่างวัดมากมาย
ด้วยความที่สามเณรวัดพระธรรมกายอยู่กันเป็นหมู่คณะ จึงทำให้มีกิจวัตรกิจกรรมและหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบมากมายในฐานะพี่เณร แล้วยังต้องหาเวลาเพื่ออ่านหนังสือบาลีให้ได้ทุกวันอย่างน้อยวันละ ๑ ชั่วโมง หรือต้องอ่านให้ได้อย่างน้อย ๑๐ หน้า จึงจะพักผ่อนได้
โดยเฉพาะในปีสุดท้าย นอกจากจะเรียนอยู่ที่วัดแล้ว ช่วงเข้าพรรษายังต้องเดินทางไปเรียนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ส่วนกลาง วัดสามพระยากรุงเทพมหานคร
ทุกครั้งที่ไปจะต้องออกจากวัดตั้งแต่บ่าย กว่าจะกลับมาก็มืดค่ำ แต่ก็ยังต้องหาเวลาอ่านเพิ่ม
นอกจากจะเคี่ยวเข็ญตนเองหมั่นเพียรอ่านหนังสือแล้ว ก็ยังสั่งสมบุญต่างๆ ด้วย เช่น บุญบูชาเจดีย์ และอธิษฐานตอกย้ำให้เป้าหมายการศึกษาที่ตั้งไว้สำเร็จ จนในที่สุดด้วยความเพียรพยายามที่สั่งสมมาโดยตลอดนั้น ส่งผลให้สามเณรสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดให้เข้ารับการอุปสมบทเป็นนาคหลวงในปี พ.ศ. ๒๕ ๖๒ นี้
สิ่งที่ทำให้สามเณรดีใจที่สุดนั้น ไม่ใช่การที่ตัวเองสอบได้ แต่เป็นความภาคภูมิใจที่ตัวเราได้นำชื่อเสียงเกียรติยศมาให้แก่วัดพระธรรมกายและหมู่คณะ ที่เราได้อาศัยร่มเงาจนเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้
ตลอดระยะเวลา ๙ ปี ในชีวิตของความเป็นสามเณรดูเหมือนจะยาวนาน แต่ที่จริงแล้วกลับแสนสั้น ผ่านไปอย่างรวดเร็ว สามเณรได้อาศัยร่มเงาพระพุทธศาสนามาจนเติบใหญ่และประสบความสำเร็จในการศึกษาพระปริยัติธรรม
ช่วงเวลาแห่งการเป็นพระภิกษุต่อจากนี้ไป คือช่วงเวลาที่จะต้องตอบแทนคุณพระศาสนาด้วยกำลังสติปัญญาความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้น สามเณรหวังว่าพระพุทธศาสนาจะวัฒนาสถาพรต่อไปภายหน้า และดำรงอยู่คู่โลกตราบนานเท่านาน
สุดท้ายลูกเณรขอกราบขอบพระคุณหลวงพ่อ ผู้ที่ได้ให้ชีวิตใหม่บนเส้นทางธรรม ผู้จุดประกายฝันแก่ลูก ลูกเณรขอกราบถวายผลสอบนี้บูชาธรรมในวาระครบรอบอายุ ๗๕ ปี ของหลวงพ่อ
ขอบพระคุณ คณาจารย์ทุกท่านผู้สั่งสอนภาษาบาลีแก่สามเณรทุกชั้นประโยค
ขอบพระคุณ พระอาจารย์ พระพี่เลี้ยง ที่เมตตาแนะนำสั่งสอนตลอดมา
ขอบคุณ สหธรรมิกทุกรูป ทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง ที่ได้ประคับประคองกันสร้างบารมีเสมอมา
ขอบคุณ โยมพ่อ โยมแม่ ที่คอยสนับสนุน และเป็นกำลังใจที่สำคัญยิ่ง
ขออนุโมทนากัลยาณมิตร ญาติโยม ผู้มีบุญทุกท่าน ที่มีส่วนช่วยในการสืบทอดอายุพุทธศาสนา สละทรัพย์ที่หาได้ยากของตนอุปัฏฐากบำรุงเป็นกำลังให้กับพระภิกษุสามเณรตลอดมา...
ขอเชิญร่วมงานมุทิตานาคหลวงที่อุโบสถวัดพระธรรมกาย วันที่ 9 กรกฏาคม พ.ศ.2562 ในเวลา 20.00 น.เป็นต้นไป