ศาสนพิธี

            ระเบียบแบบอย่างหรือแบบแผนต่างๆ ที่พึงปฏิบัติทาง ศาสนาโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา เรียกว่า ศาสนพิธี ศาสนาเกิด ขึ้นก่อนแล้วจึงมีพิธีกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมาในภายหลัง

ศาสนพิธีเกิดขึ้นได้อย่างไร

            ศาสนพิธีเกิดขึ้นมาจากหลักการในทางพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ องค์ ฟังในวันมาฆบูชา  ซึ่งเรียกว่า  โอวาทปาฏิโมกข์  มีอยู่ ๓ ประการ  คือ
            ๑. การไม่ทำความชั่วทุกอย่าง
            ๒. การทำความดีให้ถึงพร้อม
            ๓. การทำใจให้ผ่องใส

            เมื่อชาวพุทธทำความดีต่าง ๆ ตามหลักการที่พระพุทธองค์ ตรัสไว้ซึ่งเรียกว่า การทำบุญ วัตถุเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ  มีอยู่ ๓ ประการ  คือ
            ๑. ทาน  การให้สิ่งของต่าง ๆ
            ๒. ศีล  การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย
            ๓. ภาวนา  การทำจิตให้ผ่องใส

            บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๓ ประการนี้ เมื่อชาวพุทธทำแล้ว ทำให้เกิด ศาสนพิธีต่างๆ ขึ้นมาตามลำดับตามยุคตามสมัย

ประโยชน์ของศาสนพิธี

            ๑. ทำให้เป็นผู้ฉลาดในพิธีกรรมต่างๆ  เกี่ยวกับการทำบุญมีการให้ทานเป็นต้น
            ๒. ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่ชาวพุทธด้วยกัน
            ๓. ทำให้ช่วยกันรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวพุทธไว้ได้
            ๔. ทำให้เป็นผู้ที่น่ารักน่าเคารพเชื่อถือของคนที่ได้พบเห็น
            ๕. ทำให้เข้าถึงธรรมะได้โดยง่าย

ศาสนพิธี ๔ หมวด

            เมื่อสรุปการทำความดีต่าง ๆ  ในทางพระพุทธศาสนาแล้ว มี  ๔ หมวด  คือ
            ๑. หมวดกุศลพิธี                     ว่าด้วยพิธีบำเพ็ญกุศล
            ๒. หมวดบุญพิธี                      ว่าด้วยพิธีทำบุญ
            ๓. หมวดทานพิธี                      ว่าด้วยพิธีถวายทาน
            ๔. หมวดปกิณกพิธี                 ว่าด้วยพิธีเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ

ปัญหาและเฉลยวิชาศาสนพิธี 

๑. แบบอย่างหรือแบบแผน ที่พึงปฏิบัติในทางศาสนา เรียกว่าอะไร ?
            ก. ศาสนปฏิบัติ                       ข. ศาสนธรรม
            ค. ศาสนศึกษา                        ง. ศาสนพิธี

๒. ศาสนพิธีในพุทธศาสนาเกิดขึ้นเมื่อไร ?
            ก. พร้อมกับศาสนา                  ข. หลังศาสนา
            ค. ก่อนศาสนา                       ง. ไม่มีหลักฐานปรากฏ

๓. หลักการทำบุญในศาสนพิธี เกิดจากคำสอนเรื่องใด ?
            ก. บุญกิริยาวัตถุ                     ข. สังคหวัตถุ
            ค. ทานวัตถุ                          ง. กุศลมูล

๔. บุญกิริยาวัตถุ หมายถึง...?
            ก. ของสำหรับทำบุญ               ข. การตั้งใจทำบุญ
            ค. สถานที่ทำบุญ                    ง. สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ

๕.  ข้อใดจัดเป็นบุญกิริยาวัตถุ ?
            ก. ทาน  ศีล  ภาวนา                ข. ศีล  สมาธิ  ปัญญา
            ค. ศีล สมาธิ  ภาวนา               ง. อโลภะ อโทสะ อโมหะ

เฉลย  ๑. ง       ๒. ข     ๓. ก     ๔. ง     ๕. ก

 

บทที่ ๑ กุศลพิธี

กุศลพิธี

             พิธีกรรมต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องด้วยการอบรมความดีทาง พระพุทธศาสนาส่วนบุคคล  คือการทำความดีให้แก่ตัวเอง  เรียกว่า  กุศลพิธี  มีอยู่  ๓ อย่าง  คือ 
             ๑. พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
             ๒. พิธีรักษาอุโบสถ
             ๓. พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

            พุทธมามกะ หมายถึง การประกาศตนเป็นผู้รับนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของตน การแสดงตนเป็นพุทธมามกะมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล  คนแรกที่แสดงตนเป็นพุทธมามกะ คือ ตปุสสะและภัลลิกะ ขอถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะตลอดชีวิต

การแสดงตนเป็นพุทธมามกะในประเทศไทย

            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๕) ทรงปรารภ ถึงเด็กๆ ไปเรียนหนังสือที่เมืองนอกจะมีความรู้สึกไม่ดีต่อพระพุทธศาสนา  จึงให้พระโอรสแสดงตนเป็นพุทธมามกะก่อนไป  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นคนแรกที่แสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และใช้เป็นพระราชประเพณีสืบต่อกันมา

สมัยไหนบ้างควรจะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

             ๑. บุตรหลานของตนเจริญวัยอยู่ในระหว่างอายุ ๑๒-๑๕ ปี  เพื่อให้เด็กสืบความเป็นชาวพุทธตามสกุล
             ๒. ส่งบุตรหลานของตนไปศึกษาหรือเพื่อประโยชน์ใดๆ ก็ตาม ซึ่งจะต้องจากไปนานแรมปี เช่น ไปศึกษาต่อต่างประเทศ
             ๓. ปลูกฝังนิสัยของเยาวชนให้มั่นคงในพระพุทธศาสนา  เช่นโรงเรียนต่างๆ นิยมให้เด็กนักเรียนแสดงตนเป็นพุทธมามกะ
             ๔. มีบุคคลต่างศาสนาเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา  ต้องการจะประกาศตนเป็นชาวพุทธ

เตรียมการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

            ๑. ผู้ที่จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ หรือว่าตัวแทนไปที่วัดแจ้ง ความประสงค์ให้พระทราบว่าจะทำพิธีวันไหน  เวลาใด  และที่ไหน และนิมนต์พระ ๔ รูป มาทำพิธี
            ๒. เตรียมสถานที่ให้พร้อม โต๊ะหมู่บูชา ดอกไม้ ธูปเทียน
            ๓. ผู้ที่จะแสดงตนเป็นพุทธมามกะ  แต่งตัวให้เรียบร้อยเป็นชุดขาวหรือว่าชุดนักเรียน หรือว่าชุดข้าราชการ
            ๔. เตรียมดอกไม้ ธูปเทียนเครื่องไทยธรรม

 

พิธีการแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

            ผู้ที่แสดงตนเป็นพุทธมามกะเข้านั่งประจำที่เรียบร้อยแล้ว  นิมนต์คณะสงฆ์ ๔ รูปเข้าบริเวณพิธี จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย      เปล่งคำบูชาสักการะว่า
            อิมินา  สักกาเรนะ  พุทธัง  ปูเชมิ.
            ข้าพเจ้าบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเครื่องสักการะนี้  (กราบ)
            อิมินา  สักกาเรนะ  ธัมมัง  ปูเชมิ.
            ข้าพเข้าบูชาพระธรรมด้วยเครื่องสักการะนี้  (กราบ)
            อิมินา  สักกาเรนะ  สังฆัง  ปูเชมิ.
            ข้าพเจ้าบูชาพระสงฆ์ด้วยเครื่องสักการะนี้  (กราบ)

            ผู้แทนเข้าไปถวายพานสักการะแล้วกราบพร้อมกัน ๓ ครั้งและว่านะโม ๓ จบพร้อมกันดังนี้
            นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ.
            นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ.
            นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ.

 คำแสดงตนเป็นพุทธมามกะ

            ทุกคนนั่งคุกเข่าประนมมือแล้วเปล่งวาจาพร้อมกัน
            เอสาหัง  ภันเต,  สุจิระปะรินิพพุตัมปิ,  ตัง  ภะคะวันตัง  สะระณัง  คัจฉามิ,  ธัมมัญจะ  สังฆัญจะ,  พุทธะมามะโกติมัง  สังโฆ  ธาเรตุ.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ,  ข้าพเจ้า,  ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น, แม้เสด็จปรินิพพานนานแล้ว, กับทั้งพระธรรมและพระสงฆ์, เป็นสรณะ,  ขอพระสงฆ์ได้โปรดถือข้าพเจ้า ว่า,  เป็นพุทธมามกะ.

            พระสงฆ์ ๔ รูป  ประนมมือรับ สาธุ พร้อมกัน

หมายเหตุ  คำที่ขีดเส้นใต้ให้เปลี่ยนเป็นดังนี้
            ๑. ถ้าว่าหลายคนให้เปลี่ยน เอสาหัง  เป็น เอเต มะยัง
            ๒. คัจฉามิ เป็น คัจฉามะ
            ๓. พุทธะมามะโกติ ชายเปลี่ยนเป็น พุทธะมามะกาติ
            ๔. พุทธะมามะโกติ หญิงเปลี่ยนเป็น พุทธมามิกาติ
            ๕. มัง เป็น โน
            ๖. ข้าพเจ้า เป็น ข้าพเจ้าทั้งหลาย

 

คำอาราธนาศีล

            ผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะกล่าวคำอาราธนาศีลพร้อมกัน             มะยัง  ภันเต วิสุง  วิสุง  รักขะณัตถายะ,  ติสะระเณนะ  สะหะ,  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ.
            ทุติยัมปิ  มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง  รักขะณัตถายะ,  ติสะ-ระเณนะ  สะหะ,  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ.
            ตะติยัมปิ  มะยัง  ภันเต  วิสุง  วิสุง รักขะณัตถายะ,  ติสะ-ระเณนะ  สะหะ,  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ.

            ประธานสงฆ์ให้ศีล ผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะว่าตามจนจบ

            นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต   อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ.
            นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต   อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ.
            นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต   อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ.

            พระสงฆ์ว่า  ยะมะหัง  วะทามิ  ตัง  วะเทหิ.
            ผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะรับว่า  อามะ   ภันเต.

            พุทธัง   สะระณัง   คัจฉามิ.
            ธัมมัง   สะระณัง   คัจฉามิ.
            สังฆัง   สะระณัง   คัจฉามิ.
            ทุติยัมปิ   พุทธัง   สะระณัง   คัจฉามิ.
            ทุติยัมปิ   ธัมมัง   สะระณัง   คัจฉามิ.
            ทุติยัมปิ   สังฆัง   สะระณัง   คัจฉามิ.
            ตะติยัมปิ   พุทธัง    สะระณัง   คัจฉามิ.
            ตะติยัมปิ   ธัมมัง    สะระณัง   คัจฉามิ.
            ตะติยัมปิ   สังฆัง    สะระณัง   คัจฉามิ.

            พระสงฆ์ว่า  ติสะระณะคะมะนัง  นิฏฐิตัง.
            ผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะรับว่า  อามะ  ภันเต.

            ๑. ปาณาติปาตา  เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.
            ๒. อทินนาทานา  เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.
            ๓. กาเมสุมิจฉาจารา  เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.
            ๔. มุสาวาทา  เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.
            ๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา   เวระมะณี,  สิกขาปะทัง   สะมาทิยามิ.

            พระสงฆ์ว่า  อิมานิ  ปัญจะ  สิกขาปะทานิ  สะมาทิยามิ.
            ผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะว่าตาม ๓ จบ
            พระสงฆ์สรุปอานิสงส์ของศีลว่า

            สีเลนะ  สุคะติง  ยันติ,  สีเลนะ  โภคะสัมปะทา,
            สีเลนะ  นิพพุติง  ยันติ,  ตัสมา  สีลัง  วิโสธะเย.

            ผู้แสดงตนเป็นพุทธมามกะรับว่า สาธุ ๓ ครั้ง
            - ถ้ามีเครื่องไทยธรรมก็ถวายพระสงฆ์และฟังโอวาท 
            - กรวดน้ำรับพรพระเสร็จแล้วกราบ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

 พิธีรักษาอุโบสถศีล

            อุโบสถ แปลว่า การเข้าอยู่หรือการเข้าจำ เป็นอุบายในการ กำจัดกิเลสอย่างหยาบให้เบาบางลง เป็นกิจกรรมที่ทำให้ชาวพุทธ ฝึกอบรมตัวเองให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยการปฏิบัติธรรมในวันพระหรือ ที่เรียกกันว่า การจำศีลหรือการรักษาศีล ๘

อุโบสถ ๒ อย่าง          

            ๑. ปกติอุโบสถ คือ อุโบสถที่รักษากันตามปกติเฉพาะวัน คือในวันพระขึ้นหรือแรม ๘ ค่ำ หรือวัน ๑๕ ค่ำ  ตามเดือนครบเดือนขาด
            ๒. ปฏิชาครอุโบสถ คือ อุโบสถที่รักษากันพิเศษกว่าปกติ  รักษาครั้งละ ๓ วัน วันรับหนึ่งวัน วันรักษาหนึ่งวัน  และวันส่งหนึ่งวัน เช่น รักษาอุโบสถวัน ๘ ค่ำ รับตั้งแต่วัน ๗ ค่ำ รักษา ๘ ค่ำ  และวันส่ง ๙ ค่ำ

คำอาราธนาศีล  ๘

            มะยัง   ภันเต,  ติสะระเณนะ   สะหะ,  อัฏฐะ   สีลานิ   ยาจามะ. 
            ทุติยัมปิ   มะยัง  ภันเต,  ติสะระเณนะ   สะหะ,   อัฏฐะ  สีลานิ   ยาจามะ.
            ตะติยัมปิ  มะยัง   ภันเต,  ติสะระเณนะ   สะหะ,  อัฏฐะ   สีลานิ   ยาจามะ.

คำอธิษฐานอุโบสถ

            เมื่อตั้งใจจะรักษาอุโบสถศีลในวันพระ   ต้องตื่นแต่เช้าพึงอาบ น้ำชำระร่างกายให้สะอาด  เข้าไปที่ห้องพระบูชาพระและอธิษฐานอุโบสถด้วยตัวเองก่อนว่า
            อิมัง  อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง,  พุทธะปัญญัตตัง  อุโปสะถัง,   อิมัญจะ  รัตติง  อิมัญจะ   ทิวะสัง,  สัมมะเทวะ  อะภิรักขิตุง  สะมาทิยามิ.
            ข้าพเจ้าขอสมาทานอุโบสถ  ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้  ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ เพื่อจะรักษาไว้ให้ดี มิให้ขาดมิให้ทำลาย  ตลอดวันหนึ่งและคืนหนึ่งในวันนี้

            เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว เตรียมอาหารหวานคาวไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน และสมาทานอุโบสถศีลต่อพระสงฆ์ดังนี้

คำอาราธนาอุโบสถศีล

            อะหัง  ภันเต,  ติสะระเณนะ  สะหะ,  อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง  อุโปสะถัง  ยาจามิ.
            ทุติยัมปิ  อะหัง    ภันเต,  ติสะระเณนะ  สะหะ,  อัฏฐังคะ-สะมันนาคะตัง  อุโปสะถัง  ยาจามิ.
            ตะติยัมปิ  อะหัง  ภันเต,   ติสะระเณนะ  สะหะ,  อัฏฐังคะ-สะมันนาคะตัง  อุโปสะถัง  ยาจามิ.

            ประธานสงฆ์ให้ศีล ผู้รักษาอุโบสถศีลว่าตามจนจบ

อุโบสถศีล หรือศีล ๘

             ๑. ปาณาติปาตา  เวระมะณี, สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.  
            ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  เจตนาเครื่องงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง  และใช้คนอื่นให้ฆ่า
            ๒. อะทินนาทานา เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
            ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  เจตนาเครื่องงดเว้นจากการลักทรัพย์ด้วยตนเอง  และใช้คนอื่นให้ลัก
            ๓. อะพรัหมะจะริยา  เวระมะณี, สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ.
            ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท คือ เจตนาเครื่องงดเว้นจากการอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
            ๔. มุสาวาทา  เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.
            ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  เจตนาเครื่องงดเว้นจากการพูดปด  พูดส่อเสียด  พูดคำหยาบ  และพูดเพ้อเจ้อ
            ๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา   เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.
            ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  เจตนาเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมา  อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท 
            ๖. วิกาละโภชะนา เวระมะณี, สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.
            ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  เจตนาเครื่องงดเว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล  คือตั้งแต่เที่ยงวันแล้วจนอรุณขึ้นมาใหม่
            ๗. นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะ, มาลาคันธะวิเลปะ  นะธาระณะมัณะฑะนะวิภูสะนัฏฐานา  เวระมะณี, สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.
            ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  เจตนาเครื่องงดเว้นจาก  การฟ้อนรำ  ขับร้อง ประโคมดนตรี  ดูการละเล่นต่าง ๆ  อันเป็นข้าศึกแก่กุศล ตลอดจนลูบไล้ทัดทรงประดับตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม  เครื่องย้อม  เครื่องทา
            ๘. อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนา  เวระมะณี,  สิกขาปะทัง  สะมาทิยามิ.
            ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบท  คือ  เจตนาเครื่องงดเว้นจากการนอนที่นอนอันสูงใหญ่  ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลี

            เมื่อรับศีลจบแล้ว  พึงกล่าวตามพระสงฆ์ดังนี้

            อิมัง  อัฏฐังคะสะมันนาคะตัง,  พุทธะบัญญัตตัง อุโปสะถัง, อิมัญจะ   รัตติง   อิมัญจะ   ทิวะสัง,   สัมมะเทวะ   อภิรักขิตุง  สะมาทิยามิ.

            พระสงฆ์ว่า  อิมานิ  อัฏฐะ  สิกขาปะทานิ  อุโปสะถะวะ-เสนะ  มะนะสิกะริตวา  สาธุกัง  อัปปะมาเทนะ รักขิตัพพานิ.

            ผู้รักษาอุโบสถศีลรับพร้อมกันว่า  อามะ  ภันเต.

            ต่อจากนั้นพระสงฆ์สรุปอานิสงส์ของศีล(เหมือนกับศีล ๕)

คำลากลับบ้าน

            เมื่ออยู่รักษาอุโบสถศีลครบกำหนดแล้วก่อนจะกลับบ้าน  พึงกล่าวคำลาก่อนกลับบ้านดังนี้
            หันทะทานิ  มะยัง  ภันเต  อาปุจฉามะ,  พะหุกิจจา  มะยัง  พะหุกะระณียา.
            พระสงฆ์ผู้รับคำลากล่าวคำว่า  ยัสสะทานิ  ตุมเห  กาลัง  มัญญะถะ.
            ผู้รักษาอุโบสถศีลรับพร้อมกันว่า   สาธุ  ภันเต.
            กราบพระสงฆ์ ๓ ครั้ง  เป็นอันเสร็จพิธี

พิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

            เวียนเทียน  หมายถึง  การที่พระภิกษุ  สามเณร  อุบาสก  และอุบาสิกาประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนในมือ เดินเวียนขวา  ๓ รอบในสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา  เช่น  อุโบสถ  ศาลาและเจดีย์เป็นต้น  เพื่อระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย วันสำคัญนั้นมีอยู่ ๔ วัน  คือ
            ๑. วันมาฆบูชา
            ๒. วันวิสาขบูชา
            ๓. วันอัฏฐมีบูชา
            ๔. วันอาสาฬหบูชา

วันมาฆบูชา

            วันมาฆบูชา  ตรงกับวันขึ้น  ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ในปีที่เป็นอธิกมาสให้เลื่อนเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นวันที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ คือคำสอนที่เป็นอุดมการณ์ หลักการและวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ที่วัดเวฬุวัน  วันนี้เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมพร้อม ด้วยองค์ ๔ ประการ คือ
            ๑. ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓
            ๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
            ๓. พระภิกษุล้วนเป็นพระขีณาสพได้อภิญญา
            ๔. พระภิกษุล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา

            วันมาฆบูชานิยมเรียกอีกวันหนึ่งว่า  “วันพระธรรม”

วันวิสาขบูชา

            วันวิสาขบูชา  ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ในปีที่เป็นอธิกมาสให้เลื่อนเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน วันวิสาขบูชานิยม เรียกอีกวันหนึ่งว่า วันพระพุทธเจ้าŽ วันที่ ๑๕  ธันวาคม ๒๕๔๔  องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันวิสาขบูชา  เป็นวันสำคัญสากลของโลก และวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ได้ประกาศให้เป็นวันสมาธิโลก

วันอัฏฐมีบูชา

            วันอัฏฐมีบูชา  ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ หรือเดือน ๗ นับถัดจากวันวิสาขบูชาไปอีก ๗ วัน เป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ที่มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา

วันอาสาฬหบูชา

            วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนวันเข้า พรรษา ๑ วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  โปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤค-ทายวัน เมืองพาราณสี พระรัตนตรัยเกิดขึ้นครบครั้งแรกในโลกในวันนี้ วันอาสาฬหบูชา นิยมเรียกอีกวันหนึ่งว่า “วันพระสงฆ์“

วันเวียนเทียนพึงปฏิบัติตัวอย่างไร

            เมื่อวันสำคัญมาถึงตั้งแต่เช้าให้เตรียมอาหารหวานคาวไปทำ บุญที่วัด มีการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา ทำใจให้ผ่องใสตลอดทั้งวัน ระลึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ตอนเย็นให้เตรียมตัวดังนี้
            ๑. ไปถึงบริเวณพิธีเวียนเทียนก่อนเวลา
            ๒. สวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ และฟังพระธรรมเทศนา
            ๓.  เมื่อถึงเวลาอันสมควร  คณะสงฆ์ตั้งแถวอยู่หน้าคฤหัสถ์  จัดแถวให้เรียบร้อยสวยงาม
            ๔. จุดเทียนสำหรับใช้เวียนรอบพระเจดีย์  พระอุโบสถหรือวิหาร
            ๕. สำรวมกาย วาจาและใจ ถือธูปเทียนเดินเวียนขวา
            ๖. ระหว่างเดิน  สวด  อิติปิโส ฯลฯ เป็นต้น ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย
            ๗. เดินครบ ๓ รอบแล้วเอาดอกไม้ธูปเทียนไปปักไว้ในที่บูชาเสร็จพิธี

ปัญหาและเฉลยหมวดกุศลพิธี

๑. วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มีกี่วัน ?
            ก. ๓ วัน                       ข. ๔ วัน
            ค. ๕ วัน                       ง. ๖ วัน

๒. การเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจัดเข้าในพิธีใด ?
            ก. กุศลพิธี                   ข. ทานพิธี
            ค. บุญพิธี                    ง. ปกิณกพิธี

๓. วันอัฏฐมีบูชา  ตรงกับวันอะไร ?
            ก. วันแสดงปฐมเทศนา           
            ข. วันแสดงโอวาทปาฏิโมกข์
            ค. วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
            ง. วันปรินิพพาน

๔. การบูชาในวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖ เรียกว่า... ?
            ก. มาฆบูชา                 ข. วิสาขบูชา
            ค. อัฏฐมีบูชา               ง. อาสาฬหบูชา

๕. วันไหน เรียกว่าวันจาตุรงคสันนิบาต ?
            ก. มาฆบูชา                 ข. วิสาขบูชา
            ค. อัฏฐมีบูชา               ง. อาสาฬหบูชา

๖. วันอัฏฐมีบูชา คือวันใด ?
            ก. วันแรม ๘ ค่ำเดือน ๙           ข. วันแรม ๘ ค่ำเดือน ๘
            ค. วันแรม ๘ ค่ำเดือน ๖           ง. วันแรม ๘ ค่ำเดือน ๓

๗. วันเทโวโรหณะ คือวันอะไร ?
            ก. วันพระเจ้าเปิดโลก              ข. วันแสดงปฐมเทศนา
            ค. วันประสูติ                        ง. วันปรินิพพาน

๘. คำว่า “อุโบสถ“ แปลว่าอะไร ?
            ก. การจำศีล                ข. การรักษาศีล
            ค. การถือศีล                ง. การเข้าจำ

๙. พิธีรักษาอุโบสถศีลเป็นเรื่องของ...?
            ก. กุศลพิธี                   ข. บุญพิธี
            ค. งานมงคล                ง. ทานพิธี

๑๐. พิธีรักษาอุโบสถศีล ข้อใดกล่าวถูกต้อง ?
            ก. ประกาศองค์อุโบสถศีลแล้วอาราธนาอุโบสถศีล
            ข. อาราธนาอุโบสถศีลแล้วประกาศองค์อุโบสถศีล
            ค. อาราธนาอุโบสถศีลแล้วอธิษฐานอุโบสถศีล
            ง. ถูกทุกข้อ

๑๑. ข้อใดจัดเป็นกุศลพิธี ?
            ก. ถวายเทียนพรรษา               ข. ทำบุญขึ้นบ้านใหม่
            ค. รักษาอุโบสถศีล                  ง. ถวายสังฆทาน

๑๒. พระพุทธเจ้าตรัสรู้ตรงกับวันอะไร ?
            ก. วันมาฆบูชา                         ข. วันอาสาฬหบูชา
            ค. วันวิสาขบูชา                       ง. วันอัฏฐมีบูชา

๑๓. วันมาฆบูชาคือวันอะไร ?
            ก. วันตรัสรู้                               ข. วันถวายพระเพลิง
            ค. วันแสดงปฐมเทศนา                ง. วันแสดงโอวาทปาฏิโมกข์

เฉลย   ๑. ข     ๒. ก     ๓. ค     ๔. ค     ๕. ก   ๖. ค      ๗. ก     ๘. ง     ๙. ก     ๑๐. ก      ๑๑. ค   ๑๒. ค    ๑๓. ง

 

บทที่ ๒ บุญพิธี

บุญพิธี

            พิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีในครอบครัว เกี่ยวกับชีวิตของ คนไทยทำเพื่อเป็นสิริมงคล มีงานขึ้นบ้านใหม่ วันเกิด งานตาย  เป็นต้น  แยกออกเป็น ๒ ประเภท
            ๑. ทำบุญงานมงคล
            ๒. ทำบุญงานอวมงคล

            ในการทำบุญทั้ง ๒ ประเภทมีผู้เกี่ยวข้องในการปฏิบัติ ๒ ฝ่ายคือ
            ๑.  ฝ่ายภิกษุสงฆ์        คือ ปฏิคาหกผู้รับทาน
            ๒.  ฝ่ายเจ้าภาพ          คือ ทายกทายิกาผู้ทำบุญ

ทำบุญงานมงคล

            เมื่อจะทำบุญงานมงคลต่างๆ เบื้องต้นฝ่ายเจ้าภาพต้องเตรียม การที่ควรทำก่อนให้พร้อมดังต่อไปนี้
            ๑. อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์  งานมงคลใช้คำว่า “เจริญพระพุทธมนต์“ งานอวมงคลใช้คำว่า “สวดพระพุทธมนต์“ นิยมกำหนดเป็นเลขคี่ไม่ต่ำกว่า ๕ รูป เว้นงานแต่งงาน นิยมเลขคู่
            ๒. ตระเตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา  โต๊ะหมู่ชุดมี ๕ ตัวบ้าง ๗ ตัวบ้าง  ๙ ตัวบ้าง
            ๓. ตกแต่งสถานที่บริเวณพิธีให้สะอาดเรียบร้อย
            ๔. วงด้ายสายสิญจน์ นิยมสายสิญจน์ ๙ เส้น
            ๕. ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์
            ๖. เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ตามสมควร
            ๗. ตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์
            ๘. ตระเตรียมอาหารหวานคาวและเครื่องไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์

            เมื่อคณะสงฆ์มาถึงบริเวณพิธีแล้วควรทำดังต่อไปนี้
            ๑. นิมนต์พระสงฆ์นั่งบนอาสนะที่จัดเตรียมไว้
            ๒. ประเคนเครื่องรับรอง เช่น น้ำชา น้ำร้อน หรือน้ำเย็น เป็นต้น (หมากพลู บุหรี่ไม่ต้องถวาย)
            ๓. เมื่อได้เวลาแล้ว  จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
            ๔. อาราธนาศีลและรับศีล
            ๕. อาราธนาพระปริตร
            ๖. นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์  เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบทมงคลสูตร เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ และยกภาชนะใส่น้ำมนต์ถวายประธานสงฆ์
            ๗. กล่าวคำถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน  ช่วยกันประเคนภัตตาหาร
            ๘. เจ้าภาพต้องดูแลว่าพระสงฆ์ท่านต้องการอะไรเพิ่มบ้างระหว่างฉัน
            ๙. เมื่อพระฉันเสร็จแล้วเตรียมถวายไทยธรรม
            ๑๐. เจ้าภาพกรวดน้ำ  เมื่อประธานสงฆ์อนุโมทนาด้วยบทว่า  ยะถา วาริวะหา.... รับพรพระ ส่งพระกลับเสร็จพิธี

วิธีทำบุญงานอวมงคล

            การทำบุญงานอวมงคล  หมายถึงการทำบุญเกี่ยวกับเรื่อง การตาย หรืออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่ผู้ตาย  นิยมทำกัน ๒ อย่างคือ
            ๑. ทำบุญหน้าศพ  คือทำบุญ  ๗ วัน เรียกว่า สัตตมวาร  ทำบุญ ๕๐ วัน ปัญญาสมาวาร ทำบุญ ๑๐๐ วัน เรียกว่า สตมวาร  หรือทำบุญหน้าวันปลงศพ
            ๒. ทำบุญอัฐิ คือทำบุญปรารภวันคล้ายวันตายของบรรพบุรุษ ผู้ล่วงลับไปแล้ว


ทำบุญหน้าศพ

            ฝ่ายเจ้าภาพต้องเตรียมตัวอย่างนี้
            ๑. อาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์  นิยมนิมนต์เลขคู่ คือ ๘ รูป หรือ ๑๐ หรือเกินกว่านั้น
            ๒. ไม่ต้องตั้งภาชนะน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ และไม่ต้องวงด้วยสายสิญจน์
            ๓. เตรียมสายโยง หรือภูษาโยงต่อจากศพ  เพื่อใช้บังสุกุล 

            ส่วนการกระทำอย่างอื่นเมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้วเหมือนกับงานมงคล  ต่างกันตรงที่จุดเทียนธูปที่หน้าศพกับโต๊ะหมู่บูชาพระ การจุดเทียนธูปนั้นนิยมจุดหน้าศพก่อน เพื่อเป็นการเตือนให้คนตาย  บูชาพระ รับศีล  ฟังพระสวด  ฟังพระเทศน์ หรือฟังสวดมาติกาบังสุกุล  ปัจจุบันนิยมจุดเทียนธูปหน้าโต๊ะหมู่บูชาก่อนแล้วจึงจุดที่หน้าศพในภายหลัง
            - ทำบุญศพ  ๗ วัน  สวดอนัตตลักขณสูตร
            - ทำบุญศพ  ๕๐ วัน  สวดอาทิตตปริยายสูตร
            - ทำบุญศพ  ๑๐๐ วัน  สวดธรรมนิยามสูตร

            ทำบุญศพในวาระอื่นนอกจากนี้แล้วแต่หัวหน้านำสวด หรือตามความประสงค์ของเจ้าภาพ


ทำบุญอัฐิ
 

            ฝ่ายเจ้าภาพ  การเตรียมงานต่างๆ เหมือนกับงานทำบุญหน้าศพ  ต่างกันตรงที่ต้องเตรียมอัฐิหรือภาพผู้ตายตั้งไว้ด้วย  วางไว้ต่างหากจากโต๊ะหมู่บูชาในที่อันสมควร  มีด้ายสายสิญจน์พันรอบ อัฐิหรือรูปภาพผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อใช้สำหรับบังสุกุล

            ฝ่ายคณะสงฆ์  บทสวดที่ใช้ไม่นิยมสวดอนัตตลักขณสูตร  อาทิตตปริยายสูตร และธรรมนิยามสูตร  ให้สวดบทอื่นนอกจากบทนี้  หรือสวดตามความประสงค์ของเจ้าภาพ


ปัญหาและเฉลยหมวดบุญพิธี

๑. บุญพิธี แบ่งออกเป็นกี่ประเภท ?
            ก. ๒ ประเภท                          ข. ๓ ประเภท
            ค. ๔ ประเภท                          ง. ๕ ประเภท

๒. เจ้าภาพพึงจุดเทียนน้ำมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึงบทอะไร ?
            ก. รัตนสูตร                              ข. กรณียเมตตปริตร
            ค. โพชฌังคปริตร                      ง. มงคลสูตร

๓. การทำบุญในงานอะไร  เจ้าภาพไม่ต้องตั้งภาชนะน้ำมนต์และไม่ต้องวงสายสิญจน์ ?
            ก. งานทำบุญอายุ                   ข. งานทำบุญศพ ๗ วัน
            ค. งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่          ง. งานฉลองพระบวชใหม่

๔. การจัดโต๊ะหมู่บูชาหมู่ ๗ ใช้แจกันและพานดอกไม้เท่าไร ?
            ก. แจกัน ๒ พาน ๒                  ข. แจกัน ๔ พาน ๒
            ค. แจกัน ๔ พาน ๕                  ง. แจกัน ๔ พาน ๖

๕. งานในข้อใด ไม่จัดอยู่ในบุญพิธี ?
            ก. รักษาอุโบสถศีล                  ข. งานมงคล
            ค. ทำบุญขึ้นบ้านใหม่              ง. งานมงคลสมรส

๖. ในงานบุญพิธี  ข้อใดไม่ใช่เครื่องรับรองพระสงฆ์ ?      
            ก. น้ำชา                                   ข. หมากพลู
            ค. กระโถน                               ง. อาสนะ

๗. “สวดพระพุทธมนต์“ ใช้สำหรับงานประเภทใด ? 
            ก. งานมงคล                            ข. งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่
            ค. งานอวมงคล                       ง. งานทำบุญอายุ

๘. งานมงคลทุกประเภท นิยมใช้สายสิญจน์กี่เส้น ?
            ก. ๓ เส้น                                 ข. ๕ เส้น
            ค. ๗ เส้น                                 ง. ๙ เส้น

๙. เจ้าภาพพึงกรวดน้ำ  เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา เริ่มคำว่า...?
            ก. ยะถา  วาริวะหา...               ข. สัพพีติโย...
            ค. ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง..          ง. สะทา โสตถี...

๑๐. เจ้าภาพพึงจุดเทียนน้ำมนต์ เมื่อพระสงฆ์สวดถึงบทไหน ? 
            ก. ยังกิญจิ วิตตัง...                    ข. เมตตัญจะ...
            ค. โพชฌังโค...                         ง. อะเสวะนา  จะ...

๑๑. การเจริญพระพุทธมนต์  ใช้สำหรับงานเช่นใด ?
            ก. งานอวมงคล                       ข. งานศพ
            ค. งานมงคล                          ง. งานทำบุญวันสารท

๑๒. ข้อใด ไม่ใช่พิธีทำบุญงานมงคล ?
            ก. งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่          ข. งานบวช
            ค. งานทำบุญอายุ                   ง. งานทำบุญอัฐิ

๑๓. ข้อใดไม่จัดอยู่ในงานบุญพิธี ?
            ก. การถืออุโบสถศีล                ข. งานทำบุญอัฐิ
            ค. งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่          ง. งานมงคลสมรส

๑๔. การทำบุญในวันคล้ายวันเกิด จัดเข้าในหมวดพิธีใด ?
            ก. กุศลพิธี                               ข. บุญพิธี
            ค. ทานพิธี                                ง. ปกิณกพิธี

เฉลย   ๑. ก     ๒. ง     ๓. ข     ๔. ค   ๕. ก      ๖. ง    ๗. ค.    ๘. ง     ๙. ก     ๑๐. ง      ๑๑.  ค   ๑๒. ง    ๑๓. ก    ๑๔. ข

 

บทที่ ๓  ทานพิธี

ทานพิธี

            พิธีกรรมถวายทานต่างๆ เรียกว่า ทานพิธี  การถวายทาน  คือการให้วัตถุหรือสิ่งของที่ควรให้ด้วยความเต็มใจ  ในทางพระพุทธศาสนาเรียกวัตถุที่ควรให้นี้ว่า  ทานวัตถุ มี ๑๐ อย่างคือ
            ๑. ภัตตาหาร
            ๒. น้ำรวมทั้งเครื่องดื่มอันสมควรแก่สมณบริโภค
            ๓. เครื่องนุ่งห่ม
            ๔. ยานพาหนะ  สงเคราะห์ปัจจัยค่าโดยสารเข้าด้วย
            ๕. มาลาดอกไม้และเครื่องบูชาชนิดต่าง ๆ
            ๖. ของหอม  หมายถึงธูปเทียนบูชาพระ
            ๗. เครื่องลูบไล้ หมายถึงเครื่องสุขภัณฑ์สำหรับชำระร่างกายให้สะอาดมีสบู่เป็นต้น
            ๘. เครื่องนอนอันสมควรแก่สมณะ
            ๙. ที่อยู่อาศัย
            ๑๐. เครื่องสำหรับให้แสงสว่างทุกชนิดมีตะเกียง  หลอดไฟ เป็นต้น

การถวายทาน

            การถวายทานในพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
            ๑. ปาฏิบุคลิกทาน  ทานที่ถวายเจาะจงรูปนั้นรูปนี้
            ๒. สังฆทาน ทานที่ถวายไม่เจาะจง  มอบถวายเป็นของส่วนรวมแก่สงฆ์

            การถวายทาน ๒ อย่างนี้ การถวายสังฆทานชื่อว่าได้บุญมากกว่าปาฏิบุคลิกทาน เพราะทำให้ผู้ถวายมีใจใหญ่ ใจกว้าง

เวลาของการถวายทาน

            เวลาเกี่ยวกับการถวายทานมีอยู่ ๒ อย่าง คือ
            ๑. กาลทาน  หมายถึงทานที่ถวายได้เฉพาะกาลเท่านั้น  เช่น  กฐินทาน
            ๒. อกาลทาน  หมายถึงทานที่ถวายไม่เนื่องด้วยกาลเวลา  คือมีความประสงค์จะถวายตอนไหนก็ได้แล้วแต่ศรัทธา

ระเบียบพิธีถวายทาน

            ๑. มีความตั้งใจจะถวายจริง ๆ
            ๒. ตระเตรียมสิ่งของที่จะถวายให้พร้อม
            ๓. เผดียงสงฆ์ คือ แจ้งความประสงฆ์ที่จะถวายทานนั้นๆ ให้สงฆ์ทราบและนัดหมายเวลาให้พร้อม
            ๔. เมื่อคณะสงฆ์และผู้ถวายทานพร้อมแล้วพึงปฏิบัติดังนี้
               -  เจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย
               -  อาราธนาศีลและรับศีล
               -  กล่าวคำถวายสังฆทาน
               -  ถ้าเป็นของควรประเคนก็ประเคน ถ้าเป็นรถถวายพวงกุญแจ ถ้าเป็นเสนาสนะใหญ่โต  หลั่งน้ำลงบนมือประธานสงฆ์
               -  คณะสงฆ์อนุโมทนาให้พรเป็นภาษาบาลี
            ๕. เจ้าภาพเมื่อคณะสงฆ์อนุโมทนาให้กรวดน้ำ และประนมมือรับพรไปจนจบ แล้วกราบ ๓ ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี

คำถวายสังฆทาน

            อิมานิ  มะยัง ภันเต,  ภัตตานิ,  สะปะริวารานิ,  ภิกขุสังฆัสสะ,  โอโณชะยามะ,  สาธุ  โน  ภันเต,  ภิกขุสังโฆ,  อิมานิ,  ภัตตานิ,  สะปะริวารานิ,  ปฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง,  ทีฆะรัตตัง,  หิตายะ,  สุขายะ,  นิพพานายะ  จะ.

            ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ,  ข้าพเจ้าทั้งหลาย,  ขอน้อมถวาย, ภัตตาหาร,  พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้, แด่พระภิกษุสงฆ์,  ขอพระภิกษุสงฆ์,  จงรับ, ภัตตาหาร,  พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้,  ของข้าพเจ้าทั้งหลาย,  เพื่อประโยชน์,  เพื่อความสุข, และเพื่อมรรคผลนิพพาน, แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญ ฯ

            หมายเหตุ  ให้เปลี่ยนเฉพาะคำที่ขีดเส้นใต้
            ๑. มะตะกะภัตตานิ                 มตกภัตตาหาร
            ๒. สะลากะภัตตานิ                 สลากภัตร
            ๓. ตัณฑุลานิ                       ข้าวสาร
            ๔. วัสสิกะสาฏิกานิ                 ผ้าอาบน้ำฝน
            ๕. วัสสาวาสิกะจีวะรานิ            ผ้าจำนำพรรษา
            ๖. ปังสุกูละจีวะรานิ                 ผ้าบังสุกุลจีวร

คำถวายผ้ากฐิน

            อิมัง  มะยัง  ภันเต,  สะปะริวารัง,  กะฐินะจีวะระทุสสัง,   สังฆัสสะ,   โอโณชะยามะ,    สาธุ   โน   ภันเต,    สังโฆ,   อิมัง  สะปะริวารัง, กะฐินะจีวะระทุสสัง, ปะฏิคคัณหาตุ, ปะฏิคคะเหตวา  จะ, อิมินา  ทุสเสนะ,  กะฐินัง,  อัตถะระตุ,  อัมหากัง,  ฑีฆะรัตตัง,  หิตายะ, สุขายะ, นิพพานายะ  จะ.

            ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ,  ข้าพเจ้าทั้งหลาย,  ขอน้อมถวาย, ผ้ากฐินจีวร,  พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้,  แด่พระภิกษุสงฆ์,  ขอพระภิกษุสงฆ์,  จงรับผ้ากฐินจีวร,  พร้อมด้วยบริวารทั้งหลายเหล่านี้, ของข้าพเจ้าทั้งหลาย, ครั้นรับแล้ว, จงกรานกฐินด้วยผ้าผืนนี้,   เพื่อประโยชน์, เพื่อความสุข, และเพื่อมรรคผลนิพพาน, แก่ข้าพเจ้า ทั้งหลาย, ตลอดกาลนานเทอญฯ   

 

ปัญหาและเฉลยหมวดทานพิธี

๑. ข้อใดไม่ใช่ทานวัตถุ ?
            ก. ที่ดิน                        ข. รถยนต์
            ค. ภัตตาหาร                  ง. มาลัยและดอกไม้

๒. ปาฏิบุคลิกทาน  หมายถึงการถวายทานเช่นไร ?
            ก. ถวายแก่สงฆ์                    
            ข. ถวายพร้อมๆกัน
            ค. ถวายเจาะจงพระที่นับถือ 
            ง. ถวายทั่วไปไม่เจาะจง

๓. ที่กล่าว “เผดียงสงฆ์“ หมายถึง.. ?
            ก. ประเคนของพระ                   ข. กราบพระ
            ค. อาราธนาพระ                      ง. แจ้งความประสงค์ให้ทราบ

๔. กฐินทาน จัดเป็นทานเช่นไร ?
            ก. กาลทาน                              ข. ปาฏิปุคลิกทาน
            ค. ธรรมทาน                             ง. ไม่มีข้อถูก

๕. การถวายทานเจาะจงพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เรียก...?
            ก. อามิสทาน                            ข. ปาฏิบุคลิกทาน
            ค. วัตถุทาน                              ง. สังฆทาน

๖. ทานประเภทใด พระพุทธองค์ทรงแสดงว่ามีอานิสงส์มาก ?
            ก. ปาฏิบุคลิกทาน                     ข. กาลทาน
            ค. สังฆทาน                             ง. ธรรมทาน

๗. กาลทาน คือทานเช่นใด ?
            ก. ผ้าป่า                                  ข. ภัตตาหาร
            ค. สังฆทาน                              ง. กฐินทาน

๘. การถวายทานในข้อใด จัดเข้าในปาฏิบุคลิกทาน ? 
            ก. สมหวังพาเพื่อนไปถวายสังฆทานที่วัด
            ข. หงส์ฟ้าตักบาตรทุกเช้า
            ค. มะลิถวายอาหารพระที่ตนนับถือ
            ง. ตะวันทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์ที่บ้าน

๙. การถวายสังฆทาน หมายถึงข้อใด ?
            ก. ถวายทานเจาะจงเจ้าอาวาส
            ข. ถวายภัตตาหารพระที่รู้จักกัน
            ค. ทำบุญเลี้ยงพระโดยไม่เจาะจง
            ง. ถวายยาแก่ภิกษุอาพาธรูปหนึ่ง

๑๐. ทานวัตถุจำแนกไว้กี่ประการ ?
            ก. ๘ ประการ                           ข. ๙ ประการ
            ค. ๑๐ ประการ                        ง. ๑๒ ประการ

 

 บทที่ ๔ ปกิณกพิธี

ปกิณกพิธี

            พิธีกรรมทั่วๆ ไปที่ชาวพุทธนิยมกัน   แต่ยังไม่จัดเป็นหมวด หมู่มี  ๕  ประเภท  คือ
            ๑. วิธีแสดงความเคารพพระ
            ๒. วิธีประเคนของพระ
            ๓. วิธีทำหนังสืออาราธนาและทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย
            ๔. วิธีอาราธนาศีล  อาราธนาพระปริตร  อาราธนาธรรม
            ๕. วิธีกรวดน้ำ

วิธีแสดงความเคารพพระ

            การแสดงความเคารพพระ  มีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงให้รู้ว่า  ตนมีความเคารพนับถือด้วยกายและใจจริงๆ ชาวพุทธยกฐานะของพระไว้ในชั้นสูงเป็นผู้ควรแก่การเคารพบูชา  พระในที่นี้ได้แก่
            ๑. พระพุทธรูป พระสถูป  พระเจดีย์เป็นต้น
            ๒. พระภิกษุ  และสามเณร  ผู้ทรงเพศอันสูงส่ง

            วิธีแสดงความเคารพพระมี ๓ วิธี  คือ การประนมมือ ๑  การไหว้ ๑  การกราบ ๑

การประนมมือ

            การประนมมือ คือ การยกมือทั้งสองข้างขึ้นประนมคล้ายๆ ดอกบัวตูมอยู่ระหว่างอกเฉียง ๔๕ องศา แขนทั้งสองแนบลำตัวเป็นการแสดงความเคารพเวลาพระสวดมนต์  ฟังพระธรรมเทศนา  เป็นต้น ทั้งชายและหญิงทำเหมือนกันตรงกับภาษาบาลีว่า “อัญชลี“

การไหว้

            การไหว้ คือ การยกมือที่ประนมแล้ว พร้อมกับก้มหน้าลงเล็กน้อยให้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้ว  ปลายนิ้วชี้จรดหน้า ผาก  ใช้แสดงความเคารพพระเวลาท่านยืนหรือนั่งเก้าอี้เป็นต้น ทั้งชายและหญิงทำเหมือนกันตรงกับภาษาบาลีว่า วันทาŽ หรือ นมัสการŽ

การกราบ

            การกราบ  คือ การแสดงความเคารพอย่างสูงสุด  ต่อบุคคล ที่เราเคารพนับถือย่างสูงสุด โดยการให้อวัยวะทั้ง ๕  จรดกับพื้น คือ หน้าผาก ๑ ฝ่ามือ ๒ เข่า ๒ เรียกว่า “กราบแบบเบญจางค-ประดิษฐ์”

            ผู้ชายนั่งท่าเทพบุตร คือ ให้นั่งคุกเข่าตั้งฝ่าเท้าชันขึ้นใช้นิ้วเท้าพับยันพื้นนั่งทับลงบนส้นเท้าทั้งคู่  หมอบกราบให้หน้าฝากจรด พื้น  วางฝ่ามือแบราบห่างกันหนึ่งฝ่ามือ  ก้มศีรษะลงให้หน้าผากจรด พื้นในระหว่างฝ่ามือทั้งสอง  ข้อศอกต่อกับหัวเข่า 

            ผู้หญิงนั่งท่าเทพธิดา คือ นั่งคุกเข่าราบ ไม่ชันเท้าอย่างผู้ชาย  เวลากราบหมอบกราบเหมือนผู้ชาย  ศอกสองข้างขนาบเข่าจึงตรง กับภาษาบาลีว่า “อภิวาท“

 

วิธีประเคนของพระ

            ประเคน หมายถึง  การถวายของพระหรือการส่งของให้พระ ให้ถึงมือ  การประเคนที่ถูกต้องนั้นต้องประกอบด้วยองค์ ๕  คือ
            ๑. ของที่จะถวายนั้นต้องไม่หนักและใหญ่เกินไป  คนเดียวพอ ยกขึ้นได้
            ๒. ผู้ถวายต้องอยู่ในหัตถบาส  คือไม่ใกล้หรือไกลเกินไป
            ๓. เวลาถวายต้องยกของให้พ้นจากพื้น ไม่เสือกไสไปกับพื้น
            ๔. ต้องถวายด้วยความเคารพ
            ๕. เมื่อถวายเสร็จแล้วต้องไหว้  ๑ ครั้ง

วิธีทำหนังสืออาราธนา  และใบปวารณาถวายจตุปัจจัย

            อาราธนา หมายถึง การนิมนต์หรือการเชื้อเชิญให้พระไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในสมัยก่อนนิมนต์ด้วยวาจา  แต่ปัจจุบันนิยมทำเป็นหนังสืออาราธนา หรือฎีกานิมนต์พระต้องระบุจำนวนพระ - งาน - สถานที่ - วัน - เดือน - ปี - เวลา - เอารถมารับ - ส่ง  เป็นต้น มีตัวอย่างดังนี้
            เมื่อท่านเจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรมแล้วนิยมถวายปัจจัยด้วย  ในการถวายปัจจัยนั้นต้องทำเป็นใบปวารณาและใส่ในซองถวายพร้อมกับไทยธรรม
            ไวยาวัจกร  หมายถึง  คนที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาส ให้มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินของวัด
            กัปปิยการก  หมายถึง  คนที่ปฏิบัติพระ ลูกศิษย์พระ

 

การอาราธนาศีล

            อาราธนาศีล  คือการขอให้พระให้ศีลก่อนที่จะประกอบพิธีกรรม  เช่น การถวายทาน  เป็นต้น  เมื่อเจ้าภาพจุดเทียนธูปบูชาพระเสร็จแล้ว  ต้องอาราธนาศีลรับศีลก่อนเพื่อความบริสุทธิ์ กายและวาจา  คำอาราธนาศีล ๕
            มะยัง  ภันเต   วิสุง  วิสุง  รักขะณัตถายะ,  ติสะระเณนะ  สะหะ,  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ.
            ทุติยัมปิ   มะยัง   ภันเต   วิสุง    วิสุง   รักขะณัตถายะ,   ติสะระเณนะ  สะหะ,  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ.
            ตะติยัมปิ    มะยัง   ภันเต   วิสุง  วิสุง   รักขะณัตถายะ,  ติสะระเณนะ  สะหะ,  ปัญจะ  สีลานิ  ยาจามะ.

 

การอาราธนาพระปริตร

            อาราธนาพระปริตร  คือ  การเชื้อเชิญหรือนิมนต์พระสงฆ์ ให้เจริญพระพุทธมนต์  หรือสวดพระพุทธมนต์ เช่น สวดเจ็ดตำนาน  หรือสิบสองตำนาน  เป็นต้น

คำอาราธนาพระปริตร

            วิปัตติปะฏิพาหายะ,                สัพพะสัมปัตติสิทธิยา,
            สัพพะทุกขะวินาสายะ,                        ปะริตตัง  พรูถะ  มังคะลัง,
            วิปัตติปะฏิพาหายะ,                            สัพพะสัมปัตติสิทธิยา,
            สัพพะภะยะวินาสายะ,                       ปะริตตัง  พรูถะ  มังคะลัง,
            วิปัตติปะฏิพาหายะ,                สัพพะสัมปัตติสิทธิยา,
            สัพพะโรคะวินาสายะ,                         ปะริตตัง  พรูถะ  มังคะลัง.

การอาราธนาธรรม

            อาราธนาธรรม  คือ การเชื้อเชิญหรือนิมนต์พระให้แสดง ธรรมเพื่อเป็นการเคารพต่อพระธรรมก่อนที่พระจะเทศน์  จึงกล่าวคำอาราธนาธรรมดังต่อไปนี้
            พรัหมา   จะ  โลกาธิปะตี   สหัมปะติ,
            กัตอัญชะลี   อันธิวะรัง   อะยาจะถะ,
            สันตีธะ   สัตตาปปะระชักขะชาติกา,
            เทเสตุ   ธัมมัง  อนุกัปปิมัง   ปะชัง.

การกรวดน้ำ

            การกรวดน้ำ คือ การอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหลังจากการทำบุญ จุดประสงค์ของการกรวดน้ำมีอยู่ ๓ อย่างคือ
            ๑. เป็นการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่มีพระคุณต่อเรา มีคุณพ่อคุณแม่เป็นต้น เพื่อแสดงความกตัญญูต่อท่าน
            ๒. เป็นการตั้งความปรารถนา คือ ด้วยบุญที่เราได้ทำไว้ดีแล้ว นี้ขอให้เรามีร่างกายที่แข็งแรงได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นต้น
            ๓. เป็นการแสดงกิริยาให้ของที่ใหญ่เกินไปที่จะยกได้ ต้องหลั่งน้ำใส่มือผู้รับ

 

วิธีกรวดน้ำ

             ๑. เตรียมน้ำที่สะอาดใส่ในภาชนะไว้พอสมควรจะเป็นแก้ว  หรือขันก็ได้
             ๒. พอพระสงฆ์เริ่มบทว่า  ยะถา  วาริวะหา  ก็เริ่มกรวดน้ำ  นึกถึงบุญอุทิศให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
             ๓. พอพระสงฆ์รับบทว่า สัพพีติโย  ให้รินน้ำที่เหลือลงให้หมด  นั่งประนมมือรับพร
             ๔. เอาน้ำที่กรวดไปเทลงที่โคนต้นไม้
             ๕. ถ้าไม่มีน้ำให้ทำใจให้เป็นสมาธิแล้วอุทิศบุญให้  โดยการนึกถึงหน้าหรือชื่อของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

คำกรวดน้ำแบบย่อ

            อิทัง  เม  ญาตีนัง  โหตุ  สุขิตา  โหนตุ  ญาตะโย.
            ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า  ขอญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า  จงเป็นสุขๆ เถิด..

 

ปัญหาและเฉลยหมวดปกิณกะ

๑. การกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ หมายถึงการ กราบเช่นไร ?
            ก. กราบครบองค์ ๕                 ข. กราบ ๓ ครั้ง
            ค. กราบ ๕ ครั้ง                      ง. ก. และ ข. ถูก

๒. กิริยาเช่นไร เรียกว่า อภิวาท ?
            ก. การไหว้                            ข. การกราบพระ
            ค. การน้อมศีรษะ                     ง. การประนมมือ

๓. กิริยาเช่นไร เรียกว่า อัญชลี ?
            ก. การไหว้                            ข. การกราบพระ
            ค. การน้อมศีรษะ                     ง. การประนมมือ

๔. กิริยาเช่นไร เรียกว่า นมัสการ ?
            ก. การไหว้                            ข. การกราบพระ
            ค. การน้อมศีรษะ                     ง. การประนมมือ

๕. กัปปิยการก หมายถึงใคร ? 
            ก. เจ้าภาพ                             ข. พระสงฆ์
            ค. ผู้ปฏิบัติพระ                        ง. เจ้าอาวาส

๖. คำกรวดน้ำแบบสั้น  ควรใช้อย่างไร ?
            ก. อิทัง  เม  ญาตีนัง  โหตุ       
            ข. ยังกัญจิ  กุสะลัง  กัมมัง
            ค. อิมินา  ปุญญกัมเมนะ        
            ง. ปุญญัสสิทานิ  กะตัสสะ

๗. การกรวดน้ำมุ่งประโยชน์อะไร ?
            ก. อุทิศส่วนบุญ                       ข. แสดงความเคารพ
            ค. ตั้งจิตอธิษฐาน                    ง. เพื่อให้เทวดารับรู้

๘.  การกรวดน้ำในพิธีทำบุญ  ต้องทำในเวลาใด ?
            ก. เมื่อพระว่า  ยถา  วาริวะหา.....
            ข. เมื่อพระรับ  สัพพีติโย.....
            ค. เมื่อพระขัด  สัคเค...
            ง. เมื่อพระอนุโมทนาเสร็จแล้ว 

เฉลย   ๑. ก     ๒. ข     ๓. ง     ๔. ก     ๕. ค     ๖. ก     ๗. ก     ๘. ก

 

Leave a comment

You are commenting as guest.


49548641
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
7802
74778
123658
49159770
688291
1074106
49548641

Your IP: 49.229.234.121
2025-01-21 07:51
© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search