พุทธประวัติ ปริเฉทที่ 9-13 (จบ)

ปริเฉทที่  ๙  ทรงบำเพ็ญพุทธกิจในแคว้นมคธ                

พระมหากัสสปะ    

        ก่อนบวชมีชื่อว่า ปิปผลิ เป็นบุตรชายของกบิลพราหมณ์ในหมู่บ้านมหาติตถะ แคว้นมคธ แต่งงานเมื่ออายุ ๒๐ ปี กับนางภัททกาปิลานีผู้มีอายุ ๑๖ ปี เบื่อหน่ายในการครองเรือน  ถือเพศบรรพชิตบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก ได้พบพระพุทธองค์ที่ใต้ต้นไทรชื่อว่าพหุปุตตนิโครธ  ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา  อุปสมบทด้วยวิธีรับโอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา(เอหิภิกขุ)

โอวาท ๓    

        ปิปผลิมาณพเมื่อบวชแล้วมีชื่อว่า พระมหากัสสปะ เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาด้วยวิธีการรับโอวาท ๓ ข้อ คือ    
        ๑. กัสสปะ  เธอพึงศึกษาว่า  เราจักเข้าไปตั้งความละอาย  และความยำเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ผู้ใหม่และผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า    
        ๒. เราจักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งประกอบด้วยกุศลเราจักเงี่ยหูฟังธรรมและพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้น    
        ๓. เราจักไม่ละกายคตาสติที่ไปในกาย คือพิจารณากายเป็น อารมณ์    
        สำเร็จเป็นพระอรหันต์วันที่  ๘  หลังรับโอวาท  เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายด้านถือธุดงค์  และท่านเป็นประธานในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๑

โอวาทปาฏิโมกข์    

        พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์อันเป็นอุดมการณ์ หลักการ  และวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ที่มาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมายหลังจากตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์  ในวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ เดือน ๓ (มาฆบูชา) เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ประกอบด้วยองค์  ๔    
        ๑. ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓     
        ๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย    
        ๓. พระภิกษุล้วนเป็นพระขีณาสพได้อภิญญา    
        ๔. พระภิกษุล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา

ความย่อโอวาทปาฏิโมกข์    

        ๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง  (สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง)    
        ๒. การทำความดีให้ถึงพร้อม  (กุสะลัสสูปะสัมปะทา)    
        ๓. การทำจิตใจให้ผ่องใส  (สะจิตตะปะริโยทะปะนัง)เสนาสนะ  ๕  ที่ทรงอนุญาตให้รับ    

        เศรษฐีชื่อว่า ราชคหกะ เห็นพระภิกษุแล้วมีจิตศรัทธา ต้องการสร้างวิหารถวายพระภิกษุสงฆ์   พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิด
        ๑. วิหาร      ได้แก่   กุฏิมีหลังคา มีปีกสองข้างอย่างปกติ        
        ๒. อัฑฒโยค  ได้แก่   กุฏิมุงซีกเดียว (เพิงหมาแหงน)    ๓. ปราสาท   ได้แก่   กุฏิหลายชั้น    
        ๔. หัมมิยะ    ได้แก่   กุฏิหลังคาตัด  มีหลังคาพระจันทร์ส่องถึงได้หรือกระโจม    
        ๕. คูหา       ได้แก่   ถ้ำตามภูเขาต่างๆ     

        เศรษฐีจึงสร้างวิหาร ๖๐ หลังเสร็จภายในวันเดียว  ถวายพระพุทธองค์และคณะสงฆ์ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา    
        พระสารีบุตรบวชให้กับราธพราหมณ์เป็นคนแรก  มีเรื่องย่อว่า  มีพราหมณ์แก่ตกยากชื่อว่า ราธะ อาศัยอยู่ในวัดเวฬุวัน มีความ ศรัทธาอยากบวชไม่มีใครบวชให้ พระพุทธองค์ประชุมสงฆ์ตรัสถาม ว่า  ใครระลึกถึงคุณของพราหมณ์ได้บ้าง  พระสารีบุตรนึกได้ว่า พราหมณ์เคยถวายข้าวหนึ่งทัพพี ทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรเป็นพระอุปัฌชาย์บวชให้ด้วยวิธีญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา วิธีการบวช แบบนี้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ และทรงยกเลิกวิธีบวชด้วยไตรสรณคมณ์         จำนวนสงฆ์ที่อุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา    
        ๑. ในปัจจันตชนบท ๕ รูป    
        ๒. ในมัชฌิมชนบท ๑๐ รูป

อุปสมบท  ๓  วิธี  

        ๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา  พระพุทธองค์ทรงบวชให้    
        ๒. ติสรณคมนูปสัมปทา ทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชให้    
        ๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา  ทรงอนุญาตให้สงฆ์เป็นใหญ่ ในการบวช

ทิศ ๖    

        พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องทิศ ๖ แก่สิงคาลกมาณพ ชาวเมืองราชคฤห์ ผู้มีผ้าเปียก ผมเปียก ไหว้ทิศทั้ง ๖ ตามคำของพ่อก่อนที่พ่อจะตาย  ทรงแนะนำวิธีไหว้ที่ถูกต้องตามอริยวินัย คือ ละกรรมกิเลส ๔ อคติ ๔  อบายมุข ๖ และวิธีการปฏิบัติตัวต่อทิศทั้ง ๖ ที่ถูกต้อง

วิธีทำเทวตาพลี 

        สุนิธพราหมณ์และวัสสการพราหมณ์สร้างเมืองใหม่ชื่อว่า ปาฏลีบุตร ในหมู่บ้านปาฏลีคาม  เทวดาเป็นจำนวนมากหวงแหนพื้นที่ที่กำลังสร้างเมืองใหม่  พราหมณ์นิมนต์พระพุทธองค์ไปเสวย ภัตตาหารที่เมืองใหม่  ทรงแนะนำให้ทำบุญด้วยการบริจาคทานแก่ผู้มีศีล แล้วอุทิศให้แก่เทวดาแทนการสังเวยแบบพวกพราหมณ์

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ  

๑. ขณะประทับอยู่ที่ต้นพหุปุตตนิโครธ พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาท ๓ ข้อแก่ใคร ?    
        ก. ปิปผลิมาณพ    ข. อุปติสสมาณพ    
        ค. โกลิตมาณพ    ง. อชิตมาณพ ๒. ภรรยาของปิปผลิมาณพมีนามว่าอย่างไร ?     
        ก. ยโสธรา        ข. ปชาบดี    
        ค. กีสาโคตมี        ง. ภัททกาปิลานี ๓. พระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีไหว้ทิศทั้ง ๖ แก่ใคร ?    
        ก. สุภมาณพ        ข. สิงคาลกมาณพ    
        ค. นันทมาณพ        ง. โกลิตมาณพ ๔. ผู้ที่ออกบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลกคือใคร ?     
        ก. อุปติสสปริพาชก    ข. โกลิตปริพาชก    
        ค. อชิตมาณพ        ง. ปิปผลิมาณพ ๕. พระมหากัสสปะพบพระพุทธเจ้า ณ ที่ใด ?    
        ก. พหุปุตตนิโครธ    ข. ศรีมหาโพธิ์     
        ค. มุจจลินท์        ง. ราชายตนะ ๖. “ไม่ชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล” หมายความว่าอย่างไร ?    
        ก. ไม่ถือตัวเข้าไปสู่ตระกูล    ข. ไม่โอ้อวดเข้าไปสู่ตระกูล    
        ค. ไม่โต้แย้งเข้าไปสู่ตระกูล    ง. ไม่ยกตนข่มท่านเข้าไปสู่ตระกูล ๗. โอวาทปาฏิโมกข์ พระองค์ทรงแสดงที่ไหน ?     
        ก. เวฬุวนาราม        ข. นิโครธาราม    
        ค. โฆสิตาราม        ง. เชตวันมหาวิหาร ๘.  การบวชที่พระพุทธเจ้าประทานด้วยพระองค์เอง คือวิธีใด ?     
        ก. ติสรณคมนูปสัมปทา    ข. เอหิภิกขุอุปสัมปทา    
        ค. ญัตติจตุตถกรรม        ง. ถูกทุกข้อ ๙. พระสาวกองค์ใดถือว่าเป็นยอดกตัญญู ?     
        ก. พระมหากัสสปะ    ข. พระมหาโมคคัลลานะ    
        ค. พระสารีบุตร    ง. พระอัสสชิ ๑๐. พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักธรรมอะไรในวันจาตุรงคสันนิบาต ?    
        ก. พระอภิธรรม    ข. โอวาทปาฏิโมกข์    
        ข. อริยธรรม        ง. วิมุตติธรรม เฉลย      ๑. ก    ๒. ง    ๓. ข    ๔. ง    ๕. ก    ๖. ก    ๗. ก    ๘. ข    ๙. ค    ๑๐. ข

 

ปริเฉทที่  ๑๐  เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์

โปรดพระญาติ 

    พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่า  พระมหาบุรุษได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระศาสนาประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ส่งอำมาตย์ไป ๙ ครั้ง ๆ ละ ๑,๐๐๐ คน ไปทูลอาราธนาเสด็จกลับเมืองกบิลพัสดุ์  ทั้งหมดฟังธรรมแล้วบรรลุเป็นพระอรหันต์ทูลขอบวช   ไม่มีใครกลับมากราบทูลข่าวสารให้ทรงทราบ  ส่งกาฬุทายีอำมาตย์ไปเป็นครั้งที่ ๑๐ เมื่อเข้าเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วทั้งหมดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์จึงทูลขอบวช เมื่อถึงเวลาอันสมควรกราบทูลเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์   ในวันเพ็ญเดือน ๔  พระพุทธองค์เสด็จไปเมืองกบิลพัสดุ์พร้อมหมู่สงฆ์ ๒๐,๐๐๐ รูปจากเมืองราชคฤห์ถึงเมืองกบิลพัสดุ์ มีระยะทาง ๖๐ โยชน์ ทรงเสด็จพระดำเนินวันละ ๑ โยชน์ สิ้นเวลา ๒ เดือน  ถึงเมืองกบิลพัสดุ์ ตามคำอาราธนาของพระกาฬุทายี ทรงประทับอยู่ที่นิโครธาราม

ฝนโบกขรพรรษ 

    พวกเจ้าศากยะมีมานะถือตัวจัด  ไม่มีใครแสดงความเคารพพระพุทธองค์   ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์อยู่กลางอากาศเหมือนเกลี่ย ฝุ่นให้ตกลงบนพระเศียรของเจ้าศากยะทั้งหลาย  พระเจ้าสุทโธทนะ เห็นอัศจรรย์จึงไหว้พระพุทธองค์เป็นครั้งที่ ๓ ทรงแสดงเวสสันดร- ชาดก  ฝนโบกขรพรรษมีลักษณะเป็นสีแดง  ได้ตกลงท่ามกลางหมู่ญาติ  ถ้าใครปรารถนาให้เปียกจึงจะเปียก  หากไม่ปรารถนาให้เปียกก็ไม่เปียกเหมือนหยาดน้ำตกลงบนใบบัว  

พุทธบิดาบรรลุธรรม    

    วันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์เสด็จบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์  พระเจ้าสุทโธทนะทราบข่าว  ละอายพระทัยยิ่งนักรีบเสด็จไปห้ามทรง ตรัสคาถาเป็นเครื่องเตือนใจสมณะว่า “ไม่พึงประมาทในบิณฑบาต  พึงประพฤติธรรมให้สุจริต ไม่พึงประพฤติธรรมให้ทุจริต ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า” พระบิดา ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันบนถนนนั่นเอง  ทรงรับบาตรแล้ว นิมนต์พระพุทธองค์พร้อมด้วยหมู่สงฆ์ฉันภัตตาหารในพระราชวัง  ทรงประทับอยู่กรุงกบิลพัสดุ์ ๗ วัน จึงเสด็จกลับกรุงราชคฤห์

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ

๑. สามเณรรูปแรกในพระพุทธศาสนาคือใคร ?     
         ก. สามเณรราหุล    ข. สามเณรบัณฑิต    
         ค. สามเณรสังกิจจะ    ง. สามเณรสุมนะ ๒. ใครทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ได้สำเร็จ ?         
        ก. กาฬุทายีอำมาตย์    ข. ฉันนะอำมาตย์    
        ค. สันตติอำมาตย์    ง. พระอานนท์ ๓. ในท่ามกลางพระประยูรญาติ  พระองค์ทรงแสดงชาดกอะไร ?     
        ก. มหาชนกชาดก    ข. เวสสันดรชาดก    
        ค. ภูริทัตชาดก        ง. เตมิยชาดก ๔. ฝนโบกขรพรรษมีลักษณะอย่างไร ?    
        ก. สีแดง        ข. สีขาว    
        ค. สีเหลือง        ง. สีเขียว ๕. พระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อฟังธรรมจบได้บรรลุธรรมระดับใด ?    
        ก. พระโสดาบัน    ข. พระสกทาคามี    
        ค. พระอนาคามี    ง. พระอรหันต์ เฉลย      ๑. ก    ๒. ก    ๓. ข    ๔. ก    ๕. ก

 

ปริเฉทที่  ๑๑ เสด็จแคว้นโกศล

อนาถบิณฑิกเศรษฐี

            แคว้นโกศลตั้งอยู่ในเขตมัธยมชนบท มีเมืองหลวงชื่อว่า สาวัตถี ปกครองโดยพระเจ้าปเสนทิโกศล  มีเศรษฐีอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า สุทัตตะ แต่ชาวเมืองนิยมเรียกว่า อนาถบิณฑิกะ แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถาหรือคนไม่มีที่พึ่ง  ท่านไปเยี่ยมน้องเขยที่เมืองราชคฤห์  ทราบว่าพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก่อนถวายภัตตาหารเช้า  ณ ป่าสีตวัน ได้ฟังอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔  บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน  อาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปจำพรรษาที่เมืองสาวัตถี

 

วัดพระเชตวัน

            อนาถบิณฑิกเศรษฐีได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อน  ซื้อที่ของเจ้าเชตด้วยเงิน ๑๘ โกฏิ (๑ โกฏิ = ๑๐ ล้าน) โดยการใช้เงินปูเต็มพื้นที่  เจ้าเชตจึงยอมขายที่ให้  บริจาคทรัพย์อีก ๑๘ โกฏิสร้างวัดเชตวัน  เมื่อสร้างเสร็จแล้วนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมสงฆ์หมู่ใหญ่ไปเมืองสาวัตถี  ถวายวัดแด่พระพุทธองค์และสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔  ทำบุญฉลองวัดด้วยทรัพย์อีก ๑๘ โกฏิ  สิ้นเวลา ๙ เดือน เฉพาะวัดเชตวันเศรษฐีได้บริจาคทรัพย์ทั้งสิ้น ๕๔ โกฏิ (๕๔๐ ล้าน) ทรงจำพรรษาอยู่ที่เมืองสาวัตถี ๒๕ ปี ทรงแสดงธรรมโปรดประชาชนให้เลื่อมใสมั่นคงในพระรัตนตรัยเป็นจำนวนมาก

 

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ

๑. เมืองใดที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาถึง ๒๕ ปี ?
            ก. พาราณสี                 ข. เวสาลี
            ค. สาวัตถี                    ง. กุสินารา

๒. อนาถบิณฑิกเศรษฐีมีชื่อเดิมว่าอะไร ?
            ก. สุทัตตะ                   ข. ราธะ
            ค. อชิตะ                      ง. ราชคหกะ

๓. เมืองหลวงของแคว้นโกศลชื่อเดิมว่าอะไร ?
            ก. ราชคฤห์                  ข. สาวัตถี
            ค. สาเกต                     ง. กบิลพัสดุ์

๔. อนาถบิณฑิกเศรษฐีพบพระพุทธองค์ที่ไหน ?
            ก. สีตวัน                      ข. เวฬุวคาม
            ค. ลัฏฐิวัน                    ง. ลุมพินีวัน

๕. อนาถบิณฑิกเศรษฐีพบพระพุทธองค์ทรงฟังธรรมะเรื่องอะไร ?
            ก. อาทิตตปริยายสูตร              ข. อนัตตลักขณสูตร
            ค. อนุปุพพิกถาและอริยสัจ         ง. สุจริตธรรม

๖. ท่านเศรษฐีได้บรรลุธรรมขั้นไหน ?
            ก. พระโสดาบัน                       ข. พระสกทาคามี
            ค. พระอนาคามี                       ง. พระอรหันต์

เฉลย              ๑. ค     ๒. ก     ๓. ข     ๔. ก     ๕. ค   ๖. ก

 

ปริเฉทที่  ๑๒ ปรินิพพาน

 เสด็จจำพรรษา ณ เวฬุวคาม

            พรรษาที่ ๔๕ พรรษาสุดท้าย  พระพุทธองค์ทรงจำพรรษา อยู่ที่บ้านเวฬุวคาม   ส่วนพวกภิกษุไปจำพรรษาตามอัธยาศัยรอบๆ เมืองเวสาลี  ภายในพรรษาทรงพระประชวรเกิดอาพาธกล้ามีพระสติสัมปชัญญะ  ทรงอดกลั้นทุกขเวทนาด้วยอธิวาสนขันติ   ทรงเข้าสมาบัติข่มเวทนาขับไล่พระโรคาพาธให้สงบระงับด้วย  อิทธิบาทภาวนา

 

อานุภาพอิทธิบาท ๔

            วันหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จประทับกลางวันอยู่ที่ปาวาลเจดีย์ ตรัสกับพระอานนท์ว่า “บุคคลใดเจริญอิทธิบาท ๔ ทำให้มาก  เจริญให้มาก  จะอยู่ได้ตลอดกัปเกินกว่ากัป  ตถาคตเมื่อปรารถนาก็จะอยู่ ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัป” ทรงทำนิมิตโอภาสให้พระอานนท์ทูลอาราธนา ๓ ครั้ง พระอานนท์ถูกมารดลใจไม่ได้ทูลอาราธนา จึงตรัสให้พระอานนท์หลีกไปพักผ่อนใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง

 

ทรงปลงอายุสังขาร

            เมื่อพระอานนท์หลีกไปแล้ว มารผู้มีใจบาปมากราบทูลอาราธนาให้พระองค์ปรินิพพาน  ทรงตรัสว่า “ตราบใดที่บริษัท ๔ ยังไม่ฉลาดเฉียบแหลมเป็นพหูสูตทรงธรรม ยังไม่ปฏิบัติชอบ  พรหมจรรย์ยังไม่แพร่หลายด้วยดีแก่มนุษย์และเทวดา  เรายังไม่ปรินิพพานตราบนั้น”

            มารกราบทูลว่า บัดนี้บริษัท ๔ และพรหมจรรย์สมบูรณ์ดีทุกประการแล้ว จึงตรัสว่า “ดูก่อนมารผู้มีใจบาป ท่านจงเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยเถิด อีก ๓ เดือนแต่นี้ตถาคตจักปรินิพพาน เรียกว่า ปลงอายุสังขาร ทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓”

 

เหตุที่ทำให้แผ่นดินไหว

            หลังจากทรงปลงอายุสังขารแล้ว เกิดแผ่นดินไหวเป็นที่น่าอัศจรรย์ พระอานนท์ทูลถามถึงเหตุที่ทำให้แผ่นดินไหว  ทรงตรัสเหตุ ๘ ประการ คือ
            ๑. ลมกำเริบ
            ๒. ผู้มีฤทธิ์บันดาล
            ๓. พระโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงสู่พระครรภ์
            ๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ
            ๕. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้
            ๖. พระตถาคตเจ้าทรงแสดงพระธรรมจักร
            ๗. พระตถาคตเจ้าทรงปลงอายุสังขาร
            ๘. พระตถาคตเจ้าทรงปรินิพพาน

             พระอานนท์ทูลขอให้พระพุทธองค์ดำรงพระชนมายุอยู่ต่อถึง ๓ ครั้ง  ทรงตรัสห้ามเสีย

 

เสด็จป่ามหาวันประชุมสงฆ์

            พระพุทธองค์เสด็จไปยังกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน  แคว้นวัชชี   ตรัสสั่งให้พระอานนท์เรียกประชุมสงฆ์ที่อยู่ในกรุงเวสาลีทั้งหมด ประทับอยู่ที่อุปัฏฐากศาลาโรงฉัน ทรงแสดงอภิญญาเทสิตธรรม(โพธิปักขิยธรรม ๓๗  มีสติปัฏฐาน ๔  สัมมัปปธาน ๔  อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕  พละ ๕  โพชฌงค์ ๗  มรรค ๘) ต่อจากนั้นทรงแสดงสังเวคกถาและอัปปมาทธรรม

 

เสด็จบ้านภัณฑุคาม

            พระพุทธองค์เสด็จถึงบ้านภัณฑุคาม   ประทับอยู่ที่บ้านนั้น  ทรงแสดงอริยธรรม คือธรรมอันประเสริฐ ๔  ประการ มี ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ สิกขาทั้ง ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นปฏิปทาแห่งวิมุตติ  เป็นแก่นแห่งพระธรรมวินัยจะบรรลุวิมุตติได้ด้วยทำให้ บริบูรณ์ในไตรสิกขา

 

เสด็จโภคนคร

            พระพุทธองค์เสด็จไปบ้านหัตถีคาม อัมพุคาม ชัมพุคาม และโภคนคร เสด็จประทับอยู่ ณ อานันทเจดีย์ ทรงแสดงไตรสิกขาและมหาประเทศ ๔ ประการ  เพื่อเป็นเครื่องวินิจฉัยพระธรรมวินัย

 

เสด็จปาวานคร

            พระพุทธองค์เสด็จไปเมืองปาวา แคว้นมัลละ  ประทับอยู่ที่ อัมพวันสวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร นายจุนทะนิมนต์ไปเสวยที่บ้าน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖  เสด็จไปบ้านนายจุนทะพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์  นายจุนทะถวายสุกรมัททวะ  ต่อมาทรงอาพาธกล้าประชวรลงพระโลหิต   ทรงมีสติสัมปชัญญะอดกลั้นเวทนานั้นด้วยอธิวาสนขันติ

 

สันติวิหารธรรม

            พระพุทธองค์เสด็จไปเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ระหว่างทาง ทรงพักที่ใต้ต้นไม้ พระอานนท์ตักน้ำมาถวาย ขณะนั้นปุกกุสะโอรส มัลลกษัตริย์ เป็นศิษย์ของอาฬารดาบสเดินทางไปเมืองกุสินารา เข้าไปเฝ้า  ทรงแสดงสันติวิหารธรรม มีจิตศรัทธาน้อมถวายผ้าสิงคิวรรณ ๑ คู่ พระองค์รับ ๑ ผืน และให้ถวายพระอานนท์ ๑ ผืน

 ผิวกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผ่องใสยิ่ง  ๒  เวลา

            เมื่อพระองค์ทรงครองผ้าสิงคิวรรณ  พระอานนท์กราบทูลว่า พระฉวีวรรณของพระตถาคตผ่องใสยิ่งนัก พระองค์ตรัสว่าผิวกายของตถาคตผุดผ่องยิ่งนักใน ๒ กาล  คือ
            ๑. ในเวลาที่จะตรัสรู้
            ๒. ในเวลาที่จะปรินิพพาน

 

บิณฑบาตมีอานิสงส์มาก ๒ ครั้ง

            พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่าใคร ๆ อย่าทำความเดือน ร้อนให้นายจุนทะเลยว่า   เสวยภัตตาหารของนายจุนทะแล้วปรินิพพาน เพราะบิณฑบาตที่มีอานิสงส์มากมีผลมากมี ๒ ครั้ง  คือ
            ๑. บิณฑบาตที่เสวยแล้วได้ตรัสรู้  (นางสุชาดาถวาย)
            ๒. บิณฑบาตที่เสวยแล้วปรินิพพาน  (นายจุนทะถวาย)

 

บรรทมอนุฏฐานไสยาสน์

            พระพุทธองค์เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญญวดีไปถึงสวนสาละ  เขตกรุงกุสินาราของพวกมัลลกษัตริย์  ตรัสสั่งให้พระอานนท์ปูลาดเตียง หันพระเศียรไปทางทิศอุดรระหว่างต้นสาละทั้งคู่   ทรงบรรทมสีห-ไสยาสน์ตะแคงขวา   มีสติสัมปชัญญะเป็นการบรรทมครั้งสุดท้าย โดยไม่คิดจะลุกขึ้นอีก เรียกว่า อนุฏฐานไสยาสน์

 

ทรงปรารภสักการะบูชา

            ไม้สาละออกดอกนอกฤดูกาล ดอกมณฑาทิพย์ จุณไม้จันทน์ทิพย์ตกลงจากอากาศ ดนตรีทิพย์ต่าง ๆ บันลือลั่นในอากาศเพื่อบูชา  พระพุทธองค์ไม่ทรงสรรเสริญการบูชาด้วยอามิส แต่ทรงสรรเสริญ การปฏิบัติบูชาว่าเป็นการบูชาอย่างยิ่ง

 

พระอุปวาณเถระ

            พระอุปวาณเถระยืนถวายงานพัดอยู่เฉพาะพระพักตร์  พระองค์ตรัสให้หลีกไปเสีย  เพราะเทวดาในหมื่นโลกธาตุมาประชุมกันที่สาลวโนทยานโดยรอบ ๑๒ โยชน์ มาเพื่อต้องการเห็นพระพุทธองค์แต่พระอุปวาณเถระยืนบังอยู่ข้างหน้า

 

สังเวชนียสถาน

            พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระอานนท์ถึงสถานที่  ๔  ตำบลเป็นที่ควรดูควรเห็นควรให้เกิดความปีติใจแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธา  เมื่อพระพุทธองค์ทรงปรินิพพานแล้ว คือ
            ๑. สถานที่ประสูติ  (ลุมพินีวัน)
            ๒. สถานที่ตรัสรู้ (อุรุเวลาเสนานิคม) ปัจจุบันเรียก พุทธคยา
            ๓. สถานที่แสดงปฐมเทศนา  (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน)
            ๔. สถานที่ปรินิพพาน  (สาลวโนทยาน)

             และบุคคลที่เที่ยวไปในสถานที่ ๔ ตำบลด้วยจิตเลื่อมใส  เมื่อตายไปแล้วมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป

 

 

วิธีปฏิบัติต่อสตรี

            พระอานนท์ทูลถามวิธีปฏิบัติต่อสตรีทั้งหลาย  ทรงตรัสให้ปฏิบัติอย่างนี้
            ๑. อย่าดู  อย่าเห็น  เป็นการดี
            ๒. ถ้าจำเป็นต้องดู  ต้องเห็น  อย่าพูดด้วยเป็นการดี
            ๓. ถ้าจำเป็นต้องพูดด้วย ควรพูดคำเป็นธรรม พึงตั้งสติให้ดี

 

วิธีปฏิบัติต่อพุทธสรีระ

            พระอานนท์ทูลถามถึงวิธีปฏิบัติในพระสรีระของพระองค์ทรงตรัสว่า   พวกภิกษุอย่าขวนขวายบูชาสรีระของพระตถาคตเลย  จงทำความเพียรมุ่งต่อที่สุดพรหมจรรย์ทุกอิริยาบถเถิด  กษัตริย์เป็น ต้นผู้มีจิตศรัทธามีอยู่ พวกเขาจักทำการบูชากันเอง ทรงตรัสให้ทำเช่นเดียวกับสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิราช  คือ  ห่อด้วยผ้าใหม่ซับด้วยสำลี ๕๐๐ คู่ เชิญลงในรางเหล็กที่เต็มด้วยน้ำมันมีฝาเหล็กครอบ ทำจิตกาธารด้วยไม้หอม ถวายพระเพลิงเสร็จแล้วเก็บพระอัฐิธาตุบรรจุไว้ที่ทางใหญ่ ๔ แพร่ง

 

ถูปารหบุคคล

            พระพุทธองค์ตรัสถึงถูปารหบุคคล  คือบุคคลที่ควรสร้างสถูป หรือเจดีย์ไว้เคารพสักการะ ๔  จำพวกคือ
            ๑. พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
            ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
            ๓. พระอรหันตสาวก
            ๔. พระเจ้าจักรพรรดิราช

 

ประทานโอวาทแก่พระอานนท์

            พระอานนท์หลีกไปยืนเหนี่ยวสลักเพชรวิหารร้องไห้ด้วยคิดว่าตัวเองยังเป็นเสขบุคคลอยู่  พระพุทธองค์จักปรินิพพานเสียแล้ว  ทรงตรัสเรียกให้มาเข้าเฝ้าตรัสว่า “อานนท์อย่าเสียใจไปเลย การพลัดพรากจากของเป็นที่รักของที่ชอบใจเป็นของธรรมดา  สังขารไม่เที่ยง  เธอได้อุปัฏฐากพระตถาคตด้วยกายกรรม  วจีกรรมและมโนกรรมอันประกอบด้วยเมตตา  เธอเป็นผู้มีบุญ  จงประกอบความ เพียร จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะโดยฉับพลัน”

 

ตรัสสรรเสริญพระอานนท์

            ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ในท่ามกลางสงฆ์ว่า “ภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าที่มีมาในอดีตและจะมีในอนาคต  อย่างยิ่งก็เพียงพระอานนท์ พระอานนท์เป็นบัณฑิตรู้กาลที่ควรจะจัดให้พุทธบริษัทเข้าเฝ้า” แล้วตรัสข้ออัศจรรย์ของพระอานนท์ ๔ ประการ คือ “บริษัท ๔  ต้องการเห็นพระอานนท์ ๑  ยินดีที่ได้เห็น ๑  ยินดีในธรรมที่แสดง ๑ ไม่อิ่มในธรรมที่แสดง ๑ ทั้ง ๔ ข้อนี้ มีอยู่ในพระเจ้าจักรพรรดิราชเหมือนกัน”

 

เมืองกุสินารา

            พระอานนท์กราบทูลขอให้เสด็จไปปรินิพพานที่เมืองใหญ่ ๆ  มีเมืองราชคฤห์เป็นต้น ไม่ควรปรินิพพานในเมืองเล็ก ๆ อย่างกุสินารา  ทรงตรัสห้ามว่า อานนท์อย่าได้กล่าวอย่างนั้น  เมืองกุสินาราในอดีต ชื่อว่า กุสาวดี มีพระเจ้าจักรพรรดิราชพระนามว่าสุทัสสนะปกครอง  เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง ไม่เงียบจากเสียงทั้ง ๑๐ ทั้งกลางวันและกลางคืน คือ เสียงช้าง ๑  เสียงม้า ๑  เสียงรถ ๑  เสียงกลอง  ๑  เสียงตะโพน ๑  เสียงพิณ ๑  เสียงกังสดาล ๑  เสียงขับร้อง ๑  เสียงสังข์ ๑  เสียงชวนกันบริโภคอาหาร ๑

 

แจ้งข่าวปรินิพพาน

            พระพุทธองค์ตรัสให้พระอานนท์ไปแจ้งข่าวการปรินิพพาน แก่พวกมัลลกษัตริย์  ท่านเข้าไปแจ้งข่าวในที่ประชุมสัณฐาคาร  พวกกษัตริย์พร้อมทั้งพระโอรสพระสุนิสา  และปชาบดีเป็นต้น  เสด็จไปอุทยานสาลวัน  พระอานนท์จัดให้เข้าเฝ้าตามลำดับสกุลวงศ์  เสร็จในปฐมยาม

 

สาวกองค์สุดท้าย

            สุภัททปริพาชก  เป็นชาวเมืองกุสินาราได้ขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอานนท์ห้ามไว้ถึง ๓ ครั้ง ทรงได้สดับเสียงห้าม จึงตรัสให้เข้าเฝ้าทูลถามปัญหาทรงแสดงธรรมให้ฟังว่า  ทางสายกลางคือมรรค มีองค์ ๘ มีในศาสนาใด  ศาสนานั้นย่อมมีสมณะที่  ๑, ๒, ๓, ๔,  ศาสนาใด ไม่มีมรรคมีองค์ ๘  ศาสนานั้นย่อมไม่มีสมณะที่ ๑, ๒, ๓, ๔,  ถ้าพระภิกษุยังปฏิบัติดีปฏิบัติชอบโลกก็ไม่สูญเปล่าจากพระอรหันต์Ž  สุภัททะศรัทธาทูลขอบวช  พระองค์ให้พระอานนท์ พาสุภัททะไปบรรพชาแล้วพามาเข้าเฝ้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  ทรงตรัสบอกกัมมัฏฐาน  ท่านบำเพ็ญเพียรสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในคืนนั้นนั่นเอง  เป็นปัจฉิมสาวก คือสาวกองค์สุดท้าย

หมายเหตุ       สมณะที่  ๑  พระโสดาบัน
                    สมณะที่  ๒  พระสกทาคามี
                    สมณะที่  ๓  พระอนาคามี
                    สมณะที่  ๔  พระอรหันต์

 

ประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์

            พระพุทธองค์ตรัสประทานโอวาทให้แก่ภิกษุสงฆ์โดยตรัสเรียกชื่อพระอานนท์ว่า “อานนท์พวกเธออย่าคิดว่าพระศาสดาของพวกเราไม่มี  พวกเธอไม่พึงคิดอย่างนั้น  ธรรมก็ดี  วินัยก็ดี อันใดอันเราแสดงแล้ว ได้บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย  ธรรมและวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของพวกเธอ  โดยกาลล่วงไปแห่งเรา” และทรงตรัสให้ภิกษุเรียกชื่อกันตามภันเตหรืออาวุโส ภิกษุผู้แก่กว่าเรียกภิกษุผู้อ่อนกว่าตนโดยชื่อหรือใช้คำว่า อาวุโส ภิกษุผู้อ่อนกว่าควรเรียกภิกษุผู้แก่กว่าด้วยคำว่า ภันเตพรหมทัณฑ์

            พระพุทธองค์ตรัสกับอานนท์ว่า  “ถ้าสงฆ์ปรารถนาถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างจงถอนเถิด  โดยกาลล่วงไปแห่งเราสงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะภิกษุ   คือฉันนะปรารถนาเจรจาคำใด พึงเจรจาคำนั้น  ภิกษุไม่พึงว่า  ไม่พึงโอวาท  ไม่พึงสั่งสอน”

 

ปัจฉิมโอวาท

            “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บัดนี้เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า  สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง ที่เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น  ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” (อัปปมาทธรรม)

 

ปรินิพพาน

            ต่อจากนั้นพระพุทธองค์มิได้ตรัสอะไรอีกเลย ทรงเข้าอนุปุพพ- วิหารสมาบัติทั้ง ๙ โดยอนุโลมและปฏิโลม ทรงเข้าสมาบัติถอยกลับจนถึงปฐมฌาน  ออกจากปฐมฌานเข้าสมาบัติตามลำดับจน ถึงจตุตถฌาน เมื่อออกจากจตุตถฌานแล้ว  ทรงปรินิพพานในปัจฉิมยามแห่งราตรี วิสาขบูชา เมื่อพระชนมายุได้  ๘๐ พรรษา ที่ป่าไม้สาละ  เมืองกุสินารา  หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก  เหนือพระแท่นปรินิพพานไสยาสน์ มีพระสาวกผู้ใหญ่ ๒ รูปเป็นประธานคือ พระอนุรุทธะและพระอานนท์

 

กล่าวสังเวคกถา

            เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วได้เกิดแผ่นดินไหว กลองทิพย์ ก็บันลือขึ้น  ขณะนั้นมีเทวดาและมนุษย์  กล่าวสังเวคกถา ๔ ท่าน คือท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวสักกเทวราช  พระอนุรุทธะ  และพระอานนท์เป็นคนสุดท้าย

 

แจ้งข่าวปรินิพพาน

            ตลอดราตรีนั้นพระอนุรุทธะกับพระอานนท์แสดงธรรมโปรด พุทธบริษัทให้คลายความเสียใจ  พอสว่างพระอนุรุทธะให้พระอานนท ์ไปแจ้งข่าวการปรินิพพานแก่พวกมัลลกษัตริย์ที่สัณฐาคาร  ทรงสั่งให้ประกาศแจ้งชาวพระนครตระเตรียมดอกไม้ของหอม  เครื่องดนตรีและผ้า ๕๐๐ ผืน ไปยังสาลวัน เพื่อบูชาพระสรีระของ พระพุทธองค์

 

มกุฏพันธนเจดีย์

            พวกมัลลกษัตริย์ ๘ องค์ อัญเชิญพระบรมศพเข้าไปทางประตูทิศเหนือ  เข้าไปท่ามกลางพระนครออกทางประตูทิศตะวันออก  ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์  ขณะนั้นดอกมณฑาทิพย์   เทวดาบันดาลให้ตกลงมาเพื่อเป็นพุทธบูชาทั่วกรุงกุสินาราสูงประมาณเข่า  เมื่อเคลื่อนพระบรมศพไปเรียบ ร้อยแล้ว  พระอานนท์จึงบอกวิธีปฏิบัติต่อพระบรมศพตามที่ได้ฟังมาเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธองค์   อัญเชิญพระบรมศพขึ้นบนจิตกาธานเตรียมถวายพระเพลิง

 

ถวายพระเพลิง

            พวกมัลลปาโมกข์  ๔  คนนำไฟเข้าไปจุดทั้ง ๔  ทิศ  ไฟไม่ติด  จึงถามพระอนุรุทธะ ทราบว่าพวกเทวดารอพระมหากัสสปะมาถวาย บังคมพระบาทของพระพุทธองค์ก่อน  พระมหากัสสปะและพระภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางจากปาวานครมาสู่เมืองกุสินารา  เห็นอาชีวก ถือดอกมณฑารพจึงเข้าไปถาม  ทราบข่าวว่าพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว วันนี้เป็นวันที่ ๘ จะถวายพระเพลิง พระภิกษุที่ยังไม่หมดกิเลสร้องไห้เสียใจ ส่วนที่หมดกิเลสแล้วอดกลั้นด้วย ธรรมสังเวช พระแก่รูปหนึ่งชื่อสุภัททะได้กล่าวจ้วงจาบพระพุทธ-องค์ พระมหากัสสปะได้ฟังคำพูดนั้นคิดจะยกขึ้นเป็นอธิกรณ์ทำนิคหกรรม   แต่เห็นว่ายังไม่สมควร   ท่านพาคณะเดินทางไปยังกุสินาราเมื่อถึงมกุฏพันธนเจดีย์แล้ว ประนมมือเวียนประทักษิณพระบรมศพ ๓ รอบ  ถวายบังคมพระบาทด้วยเศียรเกล้า ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ทำเช่นนั้น พอท่านถอยออกมาเพลิงทิพย์ก็ลุกโพลงขึ้น

 

พระบรมสารีริกธาตุ

            เมื่อเพลิงทิพย์ดับลงแล้ว  คงเหลือแต่สิ่งที่เพลิงไม่ไหม้อยู่ ๕ อย่าง คือ  พระอัฐิ  พระโลมา  พระนขา  พระทันตา  และผ้าคู่หนึ่ง  ส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่เหลือจากนั้นแตกออกเป็นขนาดต่างๆ ๓ ขนาดคือ
            ๑. ขนาดใหญ่  มีประมาณเมล็ดถั่วแตก
            ๒. ขนาดกลาง มีประมาณเมล็ดข้าวสารหัก
            ๓. ขนาดเล็ก    มีประมาณเมล็ดพันธุ์ผักกาด

            พวกมัลลกษัตริย์นำพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐาน  ณ สัณฐาคาร ภายในเมืองกุสินารา มีทหารคอยรักษาอยู่โดยรอบพระนครทำการสักการะบูชาตลอด ๗ วัน วันถวายพระเพลิงเรียกว่า  วันอัฏฐมีบูชา  แรม ๘ ค่ำเดือน ๖

 

ทูตมาขอพระบรมสารีริกธาตุ

            กษัตริย์และพราหมณ์ ๗ เมืองส่งทูตไปขอพระบรมสารีริกธาตุ คือ
            ๑. พระเจ้าอชาตศัตรู               เมืองราชคฤห์
            ๒. พระเจ้าลิจฉวี                      เมืองเวสาลี
            ๓. พระเจ้าศากยะ                   เมืองกบิลพัสดุ์
            ๔. ถูลีกษัตริย์                          เมืองอัลลกัปปะ
            ๕. โกลิยกษัตริย์                      เมืองรามคาม
            ๖. มหาพราหมณ์                     เมืองเวฏฐทีปกะ
            ๗. มัลลกษัตริย์                        เมืองปาวา

             พวกมัลลกษัตริย์เมื่อได้รับสาสน์ไม่ยอมแบ่งให้ กษัตริย์และพราหมณ์ได้ยกทัพมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อแย่งพระบรมสารีริกธาตุ

 

แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ

            โทณพราหมณ์เป็นอาจารย์สอนไตรเพท มีปัญญาเป็นผู้ใหญ่มีถ้อยคำเป็นที่น่าเชื่อถือ     เห็นว่าจะเกิดสงครามจึงกล่าวสุนทรพจน์ เรื่องสามัคคีธรรมห้ามทัพ    ให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุเป็น ๘ ส่วน กษัตริย์และพราหมณ์   ๘ นครเห็นชอบด้วย  โทณพราหมณ์เป็นผู้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุ  โดยใช้ทะนานทองตวงได้ ๘  ส่วน   ถวายแก่เจ้านครทั้ง ๘   ตัวเองขอทะนานทองบรรจุไว้ในเจดีย์  ชื่อ ตุมพสถูป หรือตุมพเจดีย์ ส่วนโมริยกษัตริย์เมืองปิปผลิวัน มาช้าได้พระอังคารไปบูชา  เพราะพระบรมสารีริกธาตุหมดแล้ว

 

เจดีย์   ๔  ประเภท

            กษัตริย์และพราหมณ์ ๘ นคร  เมื่อได้พระบรมสารีริกธาตุ  ไปแล้ว  ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุเพื่อเป็นที่สักการะบูชามี ๔ ประเภทคือ
            ๑. ธาตุเจดีย์                บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
            ๒. บริโภคเจดีย์            บรรจุบริขารของพระองค์
            ๓. ธรรมเจดีย์              บรรจุพระธรรมคำสั่งสอน
            ๔. อุทเทสิกเจดีย์         บรรจุพระพุทธรูป

 

เหตุผลปรินิพพานที่กรุงกุสินารา

            ๑. เพราะเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาก่อน สมบูรณ์ด้วยสมบัติทุกอย่าง
            ๒. เพื่อโปรดสุภัททปริพาชกสาวกองค์สุดท้าย
            ๓. เพื่อไม่ให้เกิดสงครามแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุแก่นครต่างๆ 
            ๔. เพื่อให้พระบรมสารีริกธาตุแพร่หลายไปยังเมืองต่างๆ  เมื่อ มีคนสักการบูชาด้วยความเลื่อมใส   ละโลกไปแล้วมีสุคติ โลกสวรรค์เป็นที่ไป

 

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ

๑. พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองใด ?
            ก. เมืองปาวา               ข. เมืองพาราณสี
            ค. เมืองปาฏลีบุตร       ง. เมืองกุสินารา

๒. พระอานนท์ถามพระเถระรูปใด จึงรู้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ?
            ก. พระมหากัสสปะ     ข. พระอนุรุทธะ
            ค. พระอุบาลี               ง. พระสุภัททะ

๓. ใครเป็นผู้ถวายบิณฑบาตครั้งสุดท้าย แด่พระพุทธเจ้า ?                                                                          
            ก. วิสาขามหาอุบาสิกา            ข. อนาถบิณฑิกเศรษฐี
            ค. นางสุชาดา                          ง. นายจุนทะ

๔. พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารที่หมู่บ้านอะไร ?
            ก. เวฬุวคาม                 ข. กัลลวาลมุตตคาม
            ค. ภัณฑุคาม               ง. นาลันทา

๕. ในคราวเสด็จปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุเท่าไร ?
            ก. ๖๐ ปี                      ข. ๗๐ ปี
            ค. ๘๐ ปี                      ง. ๙๐ ปี

๖. ปัจฉิมโอวาท พระพุทธเจ้าทรงแสดงเกี่ยวกับอะไร ?
            ก. ความไม่ประมาท     ข. ความเพียร
            ค. ความทุกข์               ง. ความสามัคคี

๗. ใครเป็นพระสาวกองค์สุดท้าย ?
            ก. อุปกาชีวก                           ข. โกลิตปริพาชก
            ค. สุภัททวุฑฒบรรพชิต           ง. สุภัททปริพาชก

๘. ก่อนเสด็จปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงตั้งใครเป็นศาสดา ?
            ก. พระอานนท์             ข. พระมหากัสสปะ
            ค. พระไตรปิฎก           ง. พระธรรมวินัย

๙. พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพุทธกิจอยู่กี่พรรษา จึงปรินิพพาน ?
            ก. ๒๙ พรรษา  ข. ๔๕ พรรษา
            ค. ๖๕. พรรษา ง. ๘๐ พรรษา

๑๐. ข้อใด ไม่จัดเข้าในสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ?
            ก. สถานที่ประสูติ                    ข. สถานที่ตรัสรู้
            ค. สถานที่ปลงอายุสังขาร          ง. สถานที่ปรินิพพาน

๑๑. พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาสุดท้าย ณ สถานที่ใด ? 
           ก. นาลันทา                  ข. เวฬุวคาม
            ค. เวฬุวัน                     ง. กุสินารา

๑๒. พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ณ สถานที่ใด ?
            ก. ธาตุเจดีย์                ข. อนิมิสเจดีย์
            ค. รัตนฆรเจดีย์            ง. ปาวาลเจดีย์

๑๓. คำว่า “ปลงอายุสังขาร” หมายถึงอะไร ?
            ก. การรู้ตัวว่าต้องตาย             ข. การตั้งใจที่จะปรินิพพาน
            ค. การต่ออายุสังขาร               ง. การบอกลาชีวิต

๑๔. ตามพุทธประวัติ เหตุให้เกิดแผ่นดินไหว มีกี่อย่าง ?
            ก. ๕ อย่าง       ข. ๖ อย่าง
            ค. ๗ อย่าง       ง. ๘ อย่าง

๑๕. พรหมทัณฑ์ พระพุทธองค์ตรัสให้ลงโทษแก่ใคร ?
           ก. พระฉันนะ               ข. พระยสะ
           ค. พระอนุรุทธะ           ง. พระราธะ

๑๖. สังเวชนียสถาน ได้แก่... ?
            ก. สัตตมหาสถาน        ข. รัตนจงกรม
            ค. สถานที่ตรัสรู้           ง. แม่น้ำคงคา

๑๗. สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ คือที่ใด ?
            ก. บริโภคเจดีย์            ข. มกุฏพันธนเจดีย์
            ค. ธรรมเจดีย์               ง. อุทเทสิกเจดีย์

๑๘. พระพุทธรูปจัดอยู่ในเจดีย์ประเภทใด ?
            ก. ธาตุเจดีย์                ข. ธรรมเจดีย์
            ค. บริโภคเจดีย์            ง. อุทเทสิกเจดีย์

 

เฉลย  ๑. ง     ๒. ข     ๓. ง     ๔. ก     ๕. ค     ๖. ก     ๗. ง     ๘. ง     ๙. ข     ๑๐. ค  ๑๑. ข  ๑๒. ง  ๑๓. ข  ๑๔. ง  ๑๕. ก  ๑๖. ค  ๑๗. ข  ๑๘. ง 

 

ปริเฉทที่ ๑๓ ความเป็นมาแห่งพระธรรมวินัย

 

ปรารภเหตุสังคายนา

            เมื่อวันแจกพระบรมสารีริกธาตุนั่นเอง  พระมหากัสสปะเป็นพระเถระในที่ประชุมสงฆ์ปรารภเหตุที่พระบวชเมื่อแก่  ชื่อว่าสุภัททะ กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยให้คณะสงฆ์ในที่ประชุมฟัง  แล้วชักชวนว่า “เราทั้งหลาย  จงสังคายนาพระธรรมและวินัยเถิด  มิฉะนั้น  วาทะมิใช่ธรรม  มิใช่วินัยจักรุ่งเรือง  พระธรรมวินัยจักลบเลือน   บาปชนจะลบล้างพระธรรมวินัย    บุคคลผู้กล่าววาทะมิใช่ธรรม  มิใช่วินัยจะมีกำลังกล้า บุคคลผู้กล่าวธรรมและวินัยจะเสื่อมถอยน้อยกำลัง”

            และในวันปรินิพพาน  พระพุทธองค์ตรัสแก่พระอานนท์และพระภิกษุให้เคารพต่อพระธรรมวินัยว่า  “เมื่อเราผู้ตถาคตปรินิพพานล่วงไปแล้วธรรมและวินัยจักเป็นศาสดาแห่งท่านทั้งหลาย”  คณะสงฆ์ร่วมกันทำสังคายนากันมาเป็นครั้งคราวตามเหตุการณ์ต่างๆ มีทั้งหมด ๕ ครั้งด้วยเหตุนี้จึงมีพระธรรมวินัยสืบต่อมาถึงปัจจุบันนี้ แพร่หลายไปในที่ต่างๆ มากมายเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลก

สังคายนา

            สังคายนา คือ  การร้อยกรองพระธรรมวินัย  คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นหมวดหมู่ที่ถูกต้องมีทั้งหมด  ๕ ครั้ง

 

การสังคายนาครั้งที่ ๑

พ.ศ.    หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว ๓ เดือน
ปรารภเหตุ    เรื่องสุภัททะภิกษุกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย  และปรารภเหตุที่จะทำให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสืบไป
สถานที่           ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย
ประธานสงฆ์ พระมหากัสสปะ
จำนวนสงฆ์   ๕๐๐ รูป
ผู้ถาม พระมหากัสสปะ
ผู้ตอบ พระอุบาลี ตอบพระวินัย, พระอานนท์ ตอบพระสูตร และพระอภิธรรม
ระยะเวลา     ๗ เดือน
ศาสนูปถัมภ์  พระเจ้าอชาตศัตรู

 

การสังคายนาครั้งที่ ๒

พ.ศ.    หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว ๑๐๐ ปี
ปรารภเหตุ    ภิกษุวัชชีบุตร กรุงเวสาลี  แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ ที่มิใช่ธรรมวินัยว่าเป็นธรรมวินัย
            ๑. เก็บเกลือไว้ด้วยเขนงฉันกับบิณฑบาตที่ไม่เค็ม ก็ควร
            ๒. ฉันโภชนะในวิกาลเมื่อเงาคล้อยไป ๒ องคุลี ก็ควร
            ๓. ภิกษุไปในละแวกบ้านห้ามภัตรแล้วฉันโภชนะ ที่ไม่เป็นเดน ก็ควร
            ๔. จะแยกกันทำสังฆกรรมมีอุโบสถ เป็นต้น ในเสนาสนะต่างแห่งในสีมาเดียวกัน ก็ควร
            ๕. เรื่องอนุมัติ  ถือว่าภิกษุยังมาไม่พร้อมกันทำสังฆกรรมไปก่อน ภิกษุที่มาภายหลังจึงขออนุมัติก็ได้
            ๖. เรื่องที่เคยประพฤติมาถือว่าธรรมเนียมใด อุปัชฌาย์อาจารย์เคยประพฤติมาแล้ว ควรประพฤติตามอย่างนั้น
            ๗. ภิกษุฉันแล้วห้ามโภชนะแล้ว ฉันนมสดที่ยังไม่เป็นนมส้มซึ่งไม่เป็นเดนได้
            ๘.  ภิกษุจะดื่มสุราอย่างอ่อนที่ยังไม่ถึงเป็นน้ำเมาได้
            ๙.  ใช้ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชาย ก็ควร
            ๑๐. เงินและทองควรแก่ภิกษุ

         สถานที่                       วาลิการาม กรุงเวสาลี ประเทศอินเดีย
         ประธานสงฆ์             พระยสกากัณฑกบุตร
         จำนวนสงฆ์    ๗๐๐ รูป
         ผู้ถาม              พระเรวตะ
         ผู้ตอบ             พระสัพพกามี
         ระยะเวลา      ๘ เดือน
         ศาสนูปถัมภ์  พระเจ้ากาลาโศกราช

 

การสังคายนาครั้งที่ ๓

            พ.ศ.                หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว  ๒๓๔ ปี
            ปรารภเหตุ                เดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา
            สถานที่                       อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ประเทศอินเดีย
            ประธานสงฆ์             พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ
            จำนวนสงฆ์                ๑,๐๐๐ รูป
            ผู้ถาม              พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ
            ผู้ตอบ             พระภิกษุทุกรูปในเมืองปาฏลีบุตร
            ระยะเวลา      ๙ เดือน
            ศาสนูปถัมภ์  พระเจ้าอโศกมหาราช

            สังคายนาครั้งที่ ๓ นี้เอง  พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้ส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ  โดยมีพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้อุปภัมภ์ให้ความสะดวกต่างๆ  ส่งพระไป ๙ สายด้วยกันคือ
            สายที่   ๑         คณะของพระมัชฌันติกเถระ ไปที่แคว้นกัสมีระ  และคันธาระ
            สายที่   ๒         คณะพระมหาเทวเถระ ไปที่มหิสสกมณฑล
            สายที่   ๓         คณะของพระรักขิตเถระ ไปวนวาสี
            สายที่   ๔         คณะของพระธัมมรักขิตเถระ ไปอปรันตกชนบท
            สายที่   ๕         คณะของพระมหาธัมมรักขิตเถระไปมหารัฐ ชนบท
            สายที่   ๖         คณะของพระมหารักขิตเถระ ไปรัฐโยนก
            สายที่   ๗         คณะของมัชฌิมเถระ ไปหิมวันตประเทศ
            สายที่   ๘         คณะของพระโสณเถระและพระอุตตรเถระ ไปสุวรรณภูมิ
            สายที่   ๙         คณะของพระมหินทเถระ ไปประเทศศรีลังกา

 

การสังคายนาครั้งที่ ๔

            พ.ศ.    หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว ๒๓๖ ปี
            ปรารภเหตุ    หวังประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป
            สถานที่           ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี ลังกาทวีป
            ประธานสงฆ์ พระมหินทเถระ
            จำนวนสงฆ์    ๖๘,๐๐๐ รูป
            ผู้ถาม  พระมหินทเถระ
            ผู้ตอบ พระอริฏฐเถระ
            ระยะเวลา      ๑๐ เดือน
            ศาสนูปถัมภ์  พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ

 

การสังคายนาครั้งที่ ๕

            พ.ศ.    หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว ๔๕๐  ปี
            ปรารภเหตุ    เห็นความเสื่อมถอยปัญญาของกุลบุตร จึงให้จารึกพระพุทธพจน์ลงในใบลาน
            สถานที่           อาโลกเลณสถาน  ในมลัยชนบทลังกาทวีป
            ประธานสงฆ์ พระพุทธทัตตเถระ
            จำนวนสงฆ์    ๑,๐๐๐ รูป
            ผู้ถาม  พระพุทธทัตตเถระ
            ผู้ตอบ พระมหาติสสเถระ
            ระยะเวลา      ๑ ปี
            ศาสนูปถัมภ์  พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย

 

ประโยชน์ของการทำสังคายนา

            ๑. กำจัดเสี้ยนหนามของพระศาสนาให้สูญสิ้นไป
            ๒. ได้จัดระเบียบวางรูปแบบการเผยแผ่ศาสนาให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย
            ๓. สืบอายุพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ได้นาน      

            ประโยชน์ของการที่พระองค์ตรัสว่า  “โดยกาลที่เราล่วงไป พระธรรมและวินัยที่เราได้แสดงไว้บัญญัติไว้   จักเป็นศาสดาแห่ง ท่านทั้งหลาย” มีอยู่หลายประการ คือ

            ๑. พระศาสนาจะดำรงอยู่โดยความเป็นอิสระแก่ตัว ไม่ต้องอยู่ในอำนาจของผู้ใดผู้หนึ่ง
            ๒. ปรากฏชัดว่าพระองค์มีพระหฤทัยบริสุทธิ์อย่างแท้จริง มิได้ทรงเห็นแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ด้วยอำนาจอคติ
            ๓. พุทธศาสนิกชนต่างๆ มุ่งประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ไม่ต้องทำตนเป็นคนหัวประจบ  คอยแต่จะอ้อนวอนผู้เป็นศาสดาให้ คอยช่วยเหลือ
            ๔. ป้องกันการแตกแยกกันในระหว่างผู้สืบอายุพระพุทธ-ศาสนาที่จะแย่งกันเป็นศาสดาในอนาคต
            ๕. เป็นเหตุให้พุทธบริษัทมีความเคารพพระธรรมวินัยเหมือน กับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ต่างช่วยกันสืบต่อ พระพุทธศาสนา เมื่อเกิดความเข้าใจผิดแผกกันขึ้นก็ทำสังคายนาตัดสิน แล้ววางแบบแผนไว้เป็นคราวๆ มาจนถึงทุกวันนี้

 

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ

๑. การร้อยกรองพระธรรมวินัย  จัดเป็นหมวดหมู่ เรียกว่าอะไร ?
            ก. สังคายนา                ข. สังคหะ
            ค. สังวัธยาย                ง. สันนิบาต

๒. การจัดรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่  เรียกว่าอะไร ?
            ก. การสันทนาการ       ข. การสัมมนา
            ค. การเสวนา               ง. การสังคายนา

๓. อะไรคือมูลเหตุแห่งการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ?                                                    
            ก. มีผู้กล่าวจ้วงจาบพระศาสดา
            ข. มีผู้กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย
            ค. มีผู้ละเมิดพระธรรมวินัย
            ง. ถูกทุกข้อ

๔. สังคายนาครั้งแรกทำที่ไหน ?
            ก. เมืองสาวัตถี            ข. เมืองราชคฤห์
            ค. เมืองพาราณสี         ง. เมืองกุสินารา

๕. การทำสังคายนาครั้งแรกหลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วกี่ปี ?
            ก. ๓ เดือน                   ข. ๔ เดือน
            ค. ๑๐๐ ปี                    ง. ๒๑๘ ปี

๖. การทำสังคายนาครั้งแรกใครเป็นประธานสงฆ์ ?
            ก. พระอานนท์             ข. พระอนุรุทธะ
            ค. พระมหากัสสปะ     ง. พระอุบาลี

๗. การทำสังคายนาครั้งแรกใครเป็นผู้อุปถัมภ์ฝ่ายฆราวาส ?
            ก. พระเจ้าอชาตศัตรู                ข. พระเจ้าพิมพิสาร
            ค. พระเจ้าอโศกมหาราช          ง. พระเจ้าโกศล

๘. จำนวนสงฆ์ในการทำสังคายนาครั้งแรกมีกี่องค์ ?
            ก. ๓๐๐ องค์               ข. ๔๐๐  องค์
            ค. ๕๐๐ องค์               ง. ๑,๐๐๐  องค์

๙. การทำสังคายนาครั้งแรกใช้เวลากี่เดือน ?
            ก. ๕ เดือน                   ข. ๗ เดือน
            ค. ๙ เดือน                   ง. ๑๐ เดือน

๑๐. พระเถระรูปใดที่นำพระพุทธศาสนามาสู่สุวรรณภูมิ ?
            ก. พระสารีบุตร           
            ข. พระอานนท์และพระอนุรุทธะ
            ค. พระโสณะและพระอุตตระ             
            ง. พระธัมมรักขิตเถระ

เฉลย  ๑. ก     ๒. ง     ๓. ข     ๔. ข     ๕. ก     ๖. ค     ๗. ก     ๘. ค     ๙. ข     ๑๐. ค

 

 

Leave a comment

You are commenting as guest.


45612849
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
4133
40295
44428
45235495
271901
1019588
45612849

Your IP: 49.48.188.31
2024-10-07 02:48
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search