พุทธประวัติ ปริเฉทที่ 5-8

ปริเฉทที่  ๕  ตรัสรู้

พระเจ้าพิมพิสารเข้าเฝ้า

        พระมหาบุรุษทรงบรรพชาแล้ว  ประทับอยู่ที่อนุปิยอัมพวันแคว้นมัลละ  เป็นเวลา ๗ วัน เสวยความสุขที่เกิดจากบรรพชา  ต่อจากนั้นเสด็จไปบิณฑบาตที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสารเสด็จมาเข้าเฝ้า  ทูลถามถึงพระชาติตระกูล  จะถวายราช-สมบัติให้กึ่งหนึ่ง พระองค์ทรงปฏิเสธ และทรงแสดงวัตถุประสงค์ของการเสด็จออกบรรพชา  เพื่อแสวงหาพระโพธิญาณให้ทราบ  พระเจ้าพิมพิสารทูลขอปฏิญญาว่า หากได้ตรัสรู้แล้วขอให้เสด็จมาแสดงธรรมโปรดด้วย  ทรงรับปฏิญญาของพระเจ้าพิมพิสาร

ศึกษาสมาธิกับพระดาบส

        หลังจากที่พระเจ้าพิมพิสารทูลลากลับไปแล้ว พระมหาบุรุษเสด็จไปฝึกสมาธิกับพระดาบส ๒ ท่าน คือ    
        ๑. อาฬารดาบส  กาลามโคตร  ได้สมาบัติ  ๗    
        ๒. อุทกดาบส  รามบุตร  ได้สมาบัติ  ๘    
        เมื่อศึกษาจนหมดความรู้ของอาจารย์  หลังจากนั้นทรงลาอาจารย์ทั้ง ๒ มาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ก็พักอาศัยบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ที่นี้ ๖ ปี
ปัญจวัคคีย์ออกบวช    
        ฝ่ายโกณฑัญญะพราหมณ์  เมื่อทราบข่าวว่าพระมหาบุรุษ เสด็จออกบวชจึงชวนบุตรของพราหมณ์ออกบวชด้วยกันรวมเป็น  ๕  คน คือ  ๑. โกณฑัญญะ  ๒. วัปปะ  ๓. ภัททิยะ   ๔. มหานามะ   ๕. อัสสชิ  มาพบพระมหาบุรุษขณะบำเพ็ญทุกรกิริยา  อยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม

บำเพ็ญทุกรกิริยา  ๓  วาระ  

        พระมหาบุรุษได้ทดลองบำเพ็ญทุกรกิริยา คือ การกระทำที่ทำได้ยากอย่างยิ่ง  ที่นักบวชในสมัยนั้นยกย่องกันว่าเป็นการกระทำอย่างเยี่ยม ๓ วาระ คือ    
        ๑.  ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์  กดพระตาลุด้วยพระชิวหา     
        ๒. ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะและปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าและหายใจออก (อปาณกฌาน)    
        ๓. ทรงอดพระกระยาหาร  ผ่อนเสวยแต่วันละน้อย  จนพระวรกายเหี่ยวแห่ง พระฉวีเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย    
        ขณะที่บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่นั้น ปัญจวัคคีย์คอยเฝ้าดูแลอุปัฏฐากทุกเช้าค่ำ ด้วยหวังว่าพระองค์ได้บรรลุธรรมแล้ว จักทรงสั่งสอนพวกตนบ้าง

อุปมา ๓ ข้อ   

        พระมหาบุรุษบำเพ็ญทุกรกิริยาได้รับทุกขเวทนาอย่างยิ่ง แต่ไม่ทรงท้อพระทัย  ขณะนั้นอุปมา ๓  ข้อ ได้เกิดขึ้นในพระทัยของพระองค์ คือ    
        ๑. สมณพราหมณ์ที่มีกายไม่หลีกออกจากกาม มีความพอใจในกาม   แม้จะบำเพ็ญเพียรจนได้รับทุกขเวทนากล้า  ก็ไม่ควรได้ตรัสรู้  เปรียบเหมือนไม้สดชุ่มด้วยยาง  แช่ในน้ำไม่สามารถจะสีให้ติดไฟได้    
        ๒. สมณพราหมณ์ที่มีกายหลีกออกจากกาม แต่ยังมีความ พอ ใจในกาม แม้บำเพ็ญเพียรจนได้รับทุกขเวทนากล้า ก็ไม่ควรได้ตรัสรู้ เปรียบเหมือนไม้สดชุ่มด้วยยาง วางอยู่บนบกไม่สามารถจะสีให้ติดไฟได้    
        ๓. สมณพราหมณ์ผู้มีกายออกจากกาม  ละความพอใจในกาม เสียได้  แม้จะไม่บำเพ็ญเพียรจนได้รับทุกขเวทนากล้า  ก็ควรตรัสรู้ได้ เปรียบเหมือนไม้แห้งวางอยู่บนบก  สามารถจะสีให้ติดไฟได้

ปัญจวัคคีย์หนีจากพระมหาบุรุษ  

        พระมหาบุรุษเห็นว่า  การบำเพ็ญทุกรกิริยาไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้  จึงละการบำเพ็ญนั้นหันมาเสวยพระกระยาหารใหม่  เพื่อที่จะบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป  ปัญจวัคคีย์เห็นพระองค์คลายจากความเพียร  พากันละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวงเมืองพาราณสีประโยชน์ของการที่ปัญจวัคคีย์อยู่และหนีจากพระองค์ไป
        ๑. เป็นพยานว่าพระองค์ทรงประพฤติทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด    
        ๒. มีความสงบเงียบในการบำเพ็ญเพียรทางจิต

เหตุการณ์ก่อนตรัสรู้    

        ๑. นางสุชาดาบุตรีของเศรษฐี  ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  ถวายข้าวมธุปายาส  คือ ข้าวสุกหุงด้วยน้ำนมโค  พร้อมด้วยถาดทองคำ ทรงปั้นเป็น ๔๙ ก้อน เสวยจนหมด จากนั้นเสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  ทรงจับถาดทองคำอธิษฐานจิตแล้วลอยน้ำ  เห็น  เป็นนิมิตว่า  จักได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ    
        ๒. ตอนเย็นพระองค์เสด็จไปที่ต้นอัสสัตถพฤกษ์  ระหว่างทาง โสตถิยพราหมณ์ถวายหญ้าคาสำหรับปูนั่ง ๘ กำ ทรงปูลาดใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์บังเกิดเป็นรัตนบัลลังก์สูง ๑๔ ศอก ประทับนั่งสมาธิผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก  ทรงตั้งจาตุรงคมหาปธาน คือ ความเพียรใหญ่ที่ประกอบด้วยองค์ ๔
จาตุรงคมหาปธาน    
        คือ  การที่พระองค์ทรงอธิษฐานพระทัยก่อนที่จะตรัสรู้ว่า แม้เนื้อและเลือดในสรีระจักแห้งเหือดหายไป จนเหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามเถิด หากเรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ  เราจะไม่ลุกจากบัลลังก์นี้Ž

ชนะมารด้วยบารมี  ๑๐      

        ท้าววัสสวตีมารและเสนามาร  กลัวว่าพระมหาบุรุษจะพ้น ไปจากอำนาจของตน  จึงมาแสดงฤทธิ์ต่างๆเพื่อให้กลัวแล้วหนีไปทรงชนะด้วยบารมี  ๑๐ คือ     
        ๑. ทานบารมี        ๒. สีลบารมี        ๓. เนกขัมมบารมี         ๔. ปัญญาบารมี    
        ๕. วิริยบารมี        ๖. ขันติบารมี        ๗. สัจจบารมี         ๘. อธิษฐานบารมี    
        ๙. เมตตาบารมี    ๑๐. อุเบกขาบารมี

บรรลุญาณ  ๓

        พระมหาบุรุษทรงชนะพญามารและเสนามารแล้ว  ทำใจหยุดนิ่งเป็นหนึ่งเดียวดำเนินใจไปในทางสายกลาง  ได้บรรลุธรรมตามลำดับดังต่อไปนี้    
        ๑. ปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ระลึกชาติหนหลังของตนได้    
        ๒. มัชฌิมยาม  ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ  ความรู้การจุติ (ตาย) และการอุบัติ(เกิด)ของสัตว์ทั้งหลาย    
        ๓. ปัจฉิมยาม  ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ  ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ คือ อริยสัจ ๔     
        ตรัสรู้ในยามสุดท้ายของวันพุธ  ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เป็นการเกิดครั้งที่ ๒ คือ เกิดด้วยธรรมกาย  ที่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  ขณะนั้นพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา บำเพ็ญความเพียรอยู่ ๖ ปี วันตรัสรู้ธรรมเรียกว่า วันวิสาขบูชา

อริยสัจ คือ  ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ 

        ๑. ทุกข์  คือ ความไม่สบายกาย  ไม่สบายใจ    
        ๒. สมุทัย  คือ เหตุเกิดทุกข์    
        ๓. นิโรธ  คือ ความดับทุกข์    
        ๔. มรรค  คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

พระนามพิเศษ (เนมิตกนาม)    

        ๑. ได้พระนามว่า อะระหัง เพราะพระองค์เป็นผู้บริสุทธิ์ห่างไกลจากกิเลส    
        ๒. ได้พระนามว่า สัมมาสัมพุทโธ เพราะพระองค์เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยลำพังพระองค์เอง

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ

๑. หลังจากเสด็จออกบรรพชาแล้วทรงประทับแรมที่ไหน ?     
        ก. ป่ามหาวัน        ข. เวฬุวัน    
        ค. ลัฏฐิวัน        ง. อนุปิยอัมพวัน
๒. หลังจากออกบรรพชาแล้วทรงเข้าศึกษาในสำนักของใคร ?     
        ก. กาฬเทวิลดาบส    ข. ครูวิศวามิตร    
        ค. อาฬารดาบส    ง. อสิตดาบส
๓. พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาที่ไหน ?     
        ก. สวนลุมพินี            ข. สวนตาลหนุ่ม    
        ค. อุรุเวลาเสนานิคม        ง. ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
๔. ทุกรกิริยาที่ทรงบำเพ็ญวาระแรก คืออะไร ?     
        ก. ทรงอดอาหารเสวยแต่น้อย
        ข. ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์    
        ค. ทรงกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ    
        ง. ทรงทำพระวรกายให้เหี่ยวแห้ง
๕. พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอะไร ?     
        ก. ปฏิสัมภิทา ๔    ข. มรรค ๘    
        ค. อริยสัจ ๔        ง. อริยวงศ์ ๔
๖. พระพุทธเจ้าทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนามารด้วยอะไร ?             
        ก. ศีล            ข. สมาธิ    
        ค. สัจจะ        ง. บารมี
๗. พระมหาบุรุษทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยาเพราะเหตุใด ?     
        ก. ทรงท้อพระทัย        ข. ทรงเบื่อหน่าย    
        ค. ทรงคลายความเพียร    ง. ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้
๘. การที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา  จัดเข้าในข้อใด ?    
        ก. กามสุขัลลิกานุโยค        ข. อัตตกิลมถานุโยค    
        ค. มัชฌิมาปฏิปทา        ง. เนกขัมมปฏิปทา
๙. พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันอะไร ?     
        ก. วันเพ็ญเดือน ๓        ข. วันเพ็ญเดือน ๖    
        ค. วันเพ็ญเดือน ๘        ง. วันเพ็ญเดือน ๑๒
๑๐. ญาณใดสามารถหยั่งรู้การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ ?     
        ก. อาสวักขยญาณ        ข. จุตูปปาตญาณ    
        ค. อนาคตังสญาณ        ง. บารมีญาณ
๑๑. ทรงศึกษาจากสำนักอุทกดาบสสำเร็จชั้นไหน ?     
        ก. อริยสัจ ๔            ข. ญาณ ๓    
        ค. สมาบัติ ๗            ง. สมาบัติ ๘
๑๒. ผู้ถวายข้าวมธุปายาสได้แก่ใคร ?     
        ก. นางสุจิตรา            ข. นางสุชาดา    
        ค. นางสุธัมมา            ง. นางสุนันทา
๑๓. สมณพราหมณ์มีกายหลีกออกจากกามแล้ว  แต่ใจยังยินดีอยู่    ในกามเปรียบได้กับอะไร ?     
        ก. ไม้สดแช่อยู่ในน้ำ        ข. ไม้สดที่อยู่บนบก    
        ค. ไม้แห้งที่อยู่บนบก        ง. ถูกทุกข้อ
๑๔. พระพุทธเจ้าตรัสรู้เมื่อพระชนมายุเท่าไร ?     
        ก. ๒๙ พรรษา            ข. ๓๕ พรรษา    
        ค. ๓๖ พรรษา            ง. ๔๕ พรรษา
๑๕. เมื่อบรรพชาแล้ว ได้พบกับใครผู้จะมอบราชสมบัติให้กึ่งหนึ่ง ?     
        ก. พระเจ้าพิมพิสาร        ข. พระเจ้าลิจฉวี    
        ค. พระเจ้าอุชเชนี        ง. พระเจ้าปเสนทิโกศล เฉลย      ๑. ง    ๒. ค    ๓. ค    ๔. ข    ๕. ค    ๖. ง    ๗. ง    ๘. ข    ๙. ข    ๑๐. ข    ๑๑. ง    ๑๒. ข    ๑๓. ข    ๑๔. ข   ๑๕. ก

 

ปริเฉทที่  ๖   เสวยวิมุตติสุข                   

        พระมหาบุรุษหลังจากตรัสรู้ธรรมแล้ว  ประทับเสวยวิมุตติสุข คือสุขที่เกิดจากการหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ ๗ สัปดาห์ ในสถานที่ ๗ แห่ง คือ    
        สัปดาห์ที่ ๑  ทรงประทับอยู่ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์  ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทธรรมโดยอนุโลมและปฏิโลมตามลำดับทรงเปล่งอุทานตลอด ๓ ยามแห่งราตรี ดังต่อไปนี้
        ปฐมยาม  ทรงเปล่งอุทานว่า ”เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่  เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป  เพราะมารู้ธรรมพร้อมทั้งเหตุ”  
        มัชฌิมยาม  ทรงเปล่งอุทานว่า  “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏ แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่  เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมสิ้นไป  เพราะได้รู้ความสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย”    
        ปัจฉิมยาม  ทรงเปล่งอุทานว่า “เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏ แก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่  เมื่อนั้นพราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารและเสนามารเสียได้  ดุจพระอาทิตย์อุทัยขึ้นทำอากาศให้สว่างฉะนั้น”    
        สัปดาห์ที่ ๒ ทรงประทับยืนมองต้นพระศรีมหาโพธิ์ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๗ วัน เรียกที่ตรงนั้นว่า  อนิมิสเจดีย์
        สัปดาห์ที่ ๓ ทรงประทับเดินจงกรมระหว่างอนิมิสเจดีย์กับต้น พระศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน เรียกที่ตรงนั้นว่า รัตนจงกรมเจดีย์            
        สัปดาห์ที่ ๔  ทรงประทับนั่งพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกที่เรือน แก้ว  อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน เรียกที่ตรงนั้นว่า รัตนฆรเจดีย์  
        สัปดาห์ที่ ๕ ทรงประทับเสวยวิมุตติสุขใต้ต้นอชปาลนิโครธ(ต้นไทร) อยู่ทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน    ทรงแสดงธรรมแก่พราหมณ์คนหนึ่งที่ชอบตวาดคนอื่นว่า “หึหึ” ทรงผจญธิดามาร ๓ ตน    
        สัปดาห์ที่ ๖ ทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขที่ใต้ต้นมุจจลินท์ (ต้นจิก) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน  
        สัปดาห์ที่ ๗  ทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขที่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกตุ) อยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ มีพ่อค้า ๒ คน คือ ตปุสสะและภัลลิกะ ถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง และแสดงตนเป็นปฐมอุบาสก  คือ ขอถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะตลอดชีวิต เรียกว่า เทฺววาจิกอุบาสก หลังจากตรัสรู้ทรงเสวยวิมุตติสุข ๔๙ วัน ในสถานที่ ๗ แห่ง เรียกว่า สัตตมหาสถาน

พระพรหมมาอาราธนาแสดงธรรม 

        พอล่วง ๗ วันไปแล้วกลับไปประทับนั่งที่ใต้ต้นไทรทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้เป็นของลึกซึ้ง ยากที่บุคคลอื่นจะตรัสรู้ตามได้  ท้าวสหัมบดีพรหมมาอาราธนาให้แสดงธรรมโดยอ้างเหตุผลว่า ผู้ที่มีกิเลสน้อยพอจะรู้พระธรรมได้มีอยู่
ดอกบัว  ๔ เหล่า    
        พระองค์รับคำอาราธนาของท้าวสหัมบดีพรหม  ทรงพิจารณา เห็นอุปนิสัยของสัตว์โลก  เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่า คือ
        ๑. อุคฆฏิตัญญู  มีปัญญาเฉียบแฉลมเปรียบเหมือนบัวพ้นน้ำ    
        ๒. วิปจิตัญญู    มีปัญญาปานกลางเปรียบเหมือนบัวเสมอ ผิวน้ำ    
        ๓. เนยยะ    มีปัญญาพอแนะนำได้เปรียบเหมือนบัวใต้น้ำ    
        ๔. ปทปรมะ    ด้อยปัญญาเปรียบเหมือนบัวอยู่ในโคลนตม    
        ทรงพิจารณาเห็นความแตกต่างกันแห่งอุปนิสัยของสัตว์โลก ทรงทำอายุสังขาราธิษฐานว่า  จะดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าพระศาสนาจะแพร่หลายตั้งมั่นถาวร ทรงดำริผู้รับปฐมเทศนา ครั้งแรกนึกถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบส เนื่องจากท่านทั้งสองเป็นคนฉลาด มีกิเลสบางเบา สามารถรู้ธรรมได้ฉับพลัน  แต่เสียชีวิตไปแล้ว พระองค์ทรงนึกถึงปัญจวัคคีย์ผู้อุปัฏฐากจึงเสด็จไปโปรด  ในระหว่างทางได้พบอุปกาชีวกเดินสวนทางมา อุปกาชีวกเห็นพระวรกายของพระองค์ผ่องใส จึงทูลถามว่า ใครเป็นศาสดาของท่าน พระองค์ตรัสตอบว่า  เราเป็นผู้ตรัสรู้เองไม่มีใครเป็นครูสั่งสอน  อุปกาชีวกได้ฟังดังนั้น สั่นศีรษะแล้วหลีกไป

โปรดปัญจวัคคีย์    

        พระพุทธองค์เสด็จไปที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  แขวงเมือง พาราณสี ปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธองค์เสด็จมา  จึงทำกติกากันว่า พวกเราจะไม่ลุกขึ้นต้อนรับแต่จะจัดอาสนะไว้ให้  เมื่อพระองค์เสด็จ มาถึงทุกคนลืมกติกาที่ตั้งไว้  ต่างคนต่างลุกขึ้นต้อนรับ และเรียกพระพุทธองค์ด้วยคำว่า อาวุโส ทรงตรัสห้าม ๓ ครั้ง ตรัสบอกถึงการที่พระองค์ได้บรรลุอมตธรรมแล้ว  ปัญจวัคคีย์กล่าวคัดค้านอีก ๓ ครั้ง  ทรงตรัสเตือนให้ระลึกได้ว่าเคยตรัสเช่นนี้บ้างหรือ  ปัญจวัคคีย์ระลึกได้ว่าไม่เคยตรัสเช่นนี้มาก่อน  จึงตั้งใจฟังธรรม

ปฐมเทศนา    

        ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  สูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อ พระธรรม  แก่ปัญจวัคคีย์  วันขึ้น  ๑๕  ค่ำ เดือน  ๘  (อาสาฬหบูชา)  ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มีเนื้อความโดยย่อว่า
        ๑. บรรพชิตไม่ควรเสพที่สุด  ๒ อย่างคือ            
            ๑. กามสุขัลลิกานุโยค การประกอบตนให้พัวพันอยู่ในกาม
            ๒. อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตัวเองให้ลำบาก   
        ๒. ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา  คือ  ทางสายกลางประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘            
            ๑. สัมมาทิฏฐิ    ๒. สัมมาสังกัปปะ    ๓. สัมมาวาจา          ๔. สัมมากัมมันตะ                
            ๕. สัมมาอาชีวะ     ๖. สัมมาวายามะ    ๗. สัมมาสติ          ๘. สัมมาสมาธิ    
        ๓. ทรงแสดงอริยสัจ  ๔ คือ ทุกข์  สมุทัย  นิโรธ  มรรค    
        เมื่อทรงแสดงปฐมเทศนาจบ ธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรมเกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับสิ้นไปเป็นธรรมดา”  เป็นคนแรกที่บรรลุเป็นพระโสดาบัน  พระพุทธองค์ทรงเปล่งวาจาว่า  “อัญญาสิ  วะตะ  โภ  โกณฑัญโญ”  โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ

เอหิภิกขุอุปสัมปทา 

        ทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้แก่โกณฑัญญะเป็นคนแรกว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” เป็นวันที่พระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลก และพระรัตนตรัยเกิดขึ้นครบ ๓ ในวันนี้  หลังจากนั้นทรงประทานการบวชให้อีก ๔ คนที่เหลือวันละคน ทรงจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

อนัตตลักขณสูตร 

        ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในโลกพร้อมกันทั้ง ๕ องค์ ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘  มีเนื้อความโดยย่อว่า “รูป เวทนา  สัญญา สังขาร  วิญญาณ  เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนบังคับบัญชาไม่ได้ ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่านั่นเป็นตัวตนของเรา”
 

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ

๑. ตปุสสะกับภัลลิกะ ๒ พ่อค้าพบพระพุทธเจ้าที่ใด ?     
        ก. ต้นพระศรีมหาโพธิ์        ข. ต้นมุจจลินท์    
        ค. ต้นราชายตนะ        ง. ต้นไทร
๒. พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาอภิธรรมปิฎกตลอด ๗ วันที่ไหน ?     
        ก. อนิมิสเจดีย์            ข. รัตนฆรเจดีย์    
        ค. ต้นพระศรีมหาโพธิ์        ง. รัตนจงกรมเจดีย์
๓.  พระปัญจวัคคีย์ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์เพราะฟังธรรมอะไร ?     
        ก. เวทนาปริคคหสูตร        ข. อาทิตตปริยายสูตร    
        ค. อนัตตลักขณสูตร         ง. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
๔. ขณะประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขที่รัตนฆรเจดีย์  พระพุทธองค์ทรงพิจารณาอะไร ?    
        ก. พระสูตร            ข. พระอภิธรรม    
        ค. พระวินัย            ง. ปฏิจจสมุปบาท
๕. บุคคลที่ขอถึงรัตนะ ๒ เป็นคู่แรกคือใคร ?     
        ก. นางวิสาขา - อนาถบิณฑิกเศรษฐี    
        ข. พระเจ้าพิมพิสาร - พระเจ้าปเสนทิโกศล    
        ค. ตปุสสะ - ภัลลิกะ    
        ง. มารดาและบิดาของพระยสะ
๖. เมื่อพระพุทธองค์ตัดสินพระทัยที่จะแสดงธรรมแล้วทรงคิดถึงใครเป็นคนแรก ?     
        ก. กาฬเทวิลดาบส        ข. กบิลดาบส    
        ค. ปัญจวัคคีย์            ง. อาฬารดาบสและอุทกดาบส
๗. หลังจากตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุขกี่วัน ?    
        ก. ๒๙ วัน            ข. ๓๙ วัน    
        ค. ๔๙ วัน            ง. ๕๙ วัน
๘. หลังจากตรัสรู้แล้วพระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาแรกที่ใด ?     
        ก. ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน    ข. วัดเวฬุวัน    
        ค. วัดเชตวัน            ง. ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม
๙. พระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยพระธรรมเทศนาใด ?     
        ก. อริยสัจ ๔            ข. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร    
        ค. อาทิตตปริยายสูตร        ง. อนัตตลักขณสูตร
๑๐. พระพุทธเจ้าทรงผจญกับธิดามาร  ณ สถานที่ใด ?    
        ก. อนิมิสเจดีย์            ข. รัตนจงกรมเจดีย์    
        ค. ต้นอชปาลนิโครธ        ง. ต้นราชายตนะ
๑๑. สัตตมหาสถาน คือสถานที่สำคัญ ๗ แห่ง ได้แก่... ?            
        ก. สถานที่เคยบำเพ็ญทุกรกิริยา    ข. สถานที่เสวยวิมุตติสุข    
        ค. สถานที่เคยบิณฑบาต    ง. สถานที่ไปแสดงธรรม
๑๒. ผู้มาทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าโปรดเวไนยสัตว์คือใคร ?     
        ก. พกาพรหม        ข. ฆฏิการพรหม        
        ค. มหาพรหม        ง. สหัมบดีพรหม
๑๓. พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นอย่างไร  จึงรับคำอาราธนาของ ท้าวสหัมบดีพรหมเพื่อจะแสดงธรรม ?     
        ก. วรรณะ ๔ ของอินเดีย    
        ข. ดอกบัว ๔ เหล่า เปรียบด้วยปัญญาคน    
        ค. อริยสัจ ๔ ของจริงอันประเสริฐ    
        ง. อิทธิบาท ๔ คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ
๑๔. พระธรรมเทศนากัณฑ์แรกมีชื่อว่าอะไร ?     
        ก. อาทิตตปริยายสูตร              ข. อนัตตลักขณสูตร    
        ค. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร       ง. มงคลสูตร
๑๕. “ที่สุด ๒ อย่างและทางสายกลาง” อยู่ในพระสูตรไหน ?
        ก. เวทนาปริคคหสูตร       ข. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร    
        ค. อาทิตตปริยายสูตร      ง. อนัตตลักขณสูตร
๑๖. พระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลกเมื่อไร ?     
        ก. วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓        
        ข. วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖    
        ค. วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘        
        ง. วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙
๑๗. คำว่า “ธรรมจักษุ” หมายถึง ?      
        ก. ได้ดวงตาเห็นธรรม           ข. ได้เป็นพระอรหันต์    
        ค. ได้สรณคมน์           ง. ได้ความเลื่อมใส
๑๘. ใครเป็นพระสาวกองค์แรกของพระพุทธองค์ ?     
        ก. พระวัปปะ               ข. พระภัททิยะ    
        ค. พระอัญญาโกณฑัญญะ       ง. พระอัสสชิ
๑๙. ใจความแห่งอนัตตลักขณสูตรกล่าวถึงเรื่องอะไร ?    
        ก. อายตนะ ๖ เป็นอัตตา        ข. ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา    
        ค. ธาตุ ๔ เป็นอนัตตา               ง. ขันธ์ ๕ เป็นอัตตา เฉลย      ๑. ค    ๒. ข    ๓. ค    ๔. ข    ๕. ค    ๖. ง    ๗. ค    ๘. ก    ๙. ข    ๑๐. ค       ๑๑. ข    ๑๒. ง    ๑๓. ข     ๑๔. ค      ๑๕. ข   ๑๖. ค    ๑๗. ก    ๑๘. ค      ๑๙. ข

 

ปริเฉทที่  ๗ ส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา

โปรดยสกุลบุตร    

        ยสะเป็นบุตรของเศรษฐีชาวกรุงพาราณสี มีปราสาท ๓ หลังเป็นที่พัก ๓ ฤดู ท่านเห็นอาการต่างๆ ของบริวารที่กำลังนอนหลับปรากฏเหมือนซากศพในป่าช้า มีจิตใจเบื่อหน่ายในการครองเรือน  จึงเดินเปล่งอุทานว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ  ที่นี่ขัดข้องหนอ” เดินออกจากปราสาท  ผ่านไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน  ในเวลา ใกล้รุ่งพระพุทธองค์เสด็จจงกรม  ทรงได้ยินเสียงอุทานของเขาจึงตรัสว่า  “ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ  ที่นี่ไม่ขัดข้องหนอ  ท่านจงมาที่นี่เถิด  นั่งลงเถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน”  ครั้นฟังอนุปุพพิกถาและสามุกกังสิกธรรมจบ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน  

อนุปุพพิกถา    

        วาจาที่กล่าวแสดงเป็นไปตามลำดับ  มีเนื้อความโดยย่อว่า    
        ๑. ทานกถา        กล่าวถึงทาน    
        ๒. สีลกถา        กล่าวถึงศีล    
        ๓. สัคคกถา          กล่าวถึงสวรรค์    
        ๔. กามาทีนวกถา      กล่าวถึงโทษแห่งกาม    
        ๕. เนกขัมมานิสังสกถา   กล่าวถึงอานิสงส์ของการออกจากกาม
        บุคคลที่เหมาะสมในการฟังธรรมอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔      
        ๑. เป็นมนุษย์    
        ๒. เป็นคฤหัสถ์    
        ๓. มีอุปนิสัยแก่กล้าควรแก่การบรรลุโลกุตตรธรรมในที่นั้น

ปฐมอุบาสก    

        ตอนเช้าเศรษฐีผู้เป็นบิดาออกตามหาบุตร  เดินไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เห็นรองเท้าของบุตรวางอยู่จึงเดินเข้าไปได้พบ พระพุทธองค์  ทรงแสดงอิทธาภิสังขาร คือ  การปรุงแต่งฤทธิ์ขึ้นไม่ให้บิดาเห็นบุตร  ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้ฟัง  เศรษฐีได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ประกาศตนเป็นอุบาสกขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตเป็นคนแรก เรียกว่า เตวาจิกอุบาสก ส่วนยสะได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

เอหิภิกขุอุปสัมปทา 

        เมื่อเศรษฐีกลับไปแล้วยสะทูลขอบวช  ทรงประทานการบวช ให้ด้วยพระดำรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว  เธอจงประพฤติพรหมจรรย์โดยชอบเถิด” ไม่มีคำว่า “เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” เพราะท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว

ปฐมอุบาสิกา  

        เศรษฐีทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านมีพระยสะติดตามไปด้วย   ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ  ๔  แก่มารดาและภริยาเก่าของพระยสะ   ครั้นจบพระธรรมเทศนาได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน  ประกาศตนเป็นอุบาสิกาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตเป็นคนแรก เรียกว่า เตวาจิก-อุบาสิกา

เพื่อนพระยสะ ๕๔ คนออกบวช    

        บุตรเศรษฐีชาวพาราณสี ๔ คน คือ วิมละ  สุพาหุ  ปุณณชิ  ควัมปติ และอีก ๕๐ คน ไม่ปรากฏนาม  ทราบข่าวการบวชของพระยสะจึงออกบวชตาม พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ ให้ฟัง ครั้นจบพระธรรมเทศนาได้บรรลุธรรมเป็น พระโสดาบัน กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท ต่อมาได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์

พระธรรมทูตรุ่นแรก    มีพระอรหันต์เกิดขึ้นแล้วในโลก ๖๑ องค์ คือ     

        ๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า    
        ๒. พระปัญจวัคคีย์  มีพระอัญญาโกณฑัญญะ  พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ พระอัสสชิ    
        ๓. พระยสะ  พระวิมละ พระสุพาหุ พระปุณณชิ  พระควัมปติ    
        ๔. เพื่อนพระยสะอีก ๕๐ องค์    
        พระพุทธองค์ทรงตรัสเรียกพระสาวก ๖๐ องค์ มาประชุมพร้อมกันทรงให้โอวาทส่งไปเผยแผ่พระศาสนา  เพื่อประโยชน์สุข แก่ทวยเทพและมนุษย์ทั้งหลาย แม้พระองค์เองก็เสด็จไปที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  เพื่อแสดงธรรมโปรดชฏิล ๓ พี่น้อง

บวชด้วยไตรสรณคมน์  

        เมื่อพระสาวกไปเผยแผ่พระศาสนา  มีกุลบุตรศรัทธาต้อง การบวชเป็นจำนวนมาก ทรงอนุญาตให้พระสาวกบวชกุลบุตรได้เองโดยปฏิบัติอย่างนี้    
        ๑. ให้ปลงผมและหนวด    
        ๒. ให้ครองผ้ากาสาวะ    
        ๓. ให้กราบพระภิกษุทั้งหลายแล้วว่าตาม ๓ ครั้งดังนี้         
        ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่นั้นมาการบวชมี ๒ วิธี คือ    
        ๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา  พระพุทธองค์ทรงบวชให้    
        ๒. ติสรณคมนูปสัมปทา  พระสาวกบวชให้

ภัททวัคคีย์ ๓๐    

        พระพุทธองค์เสด็จไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  ระหว่างทางทรงพักที่ไร่ฝ้าย พบภัททวัคคีย์ ๓๐ คน เที่ยวหาผู้หญิงโสเภณีที่ขโมยเครื่องประดับแล้วหนีไป ทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ ๔ ให้ฟัง ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันบ้าง พระสกทาคามีบ้าง และพระอนาคามีบ้างแล้วทูลขอบวช  ทรงส่งไปเผยแผ่พระศาสนา ที่เมืองปาวา

โปรดชฎิล  ๓  พี่น้อง    

        ชฎิล ๓ พี่น้องเป็นนักบวชบูชาไฟสร้างอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา  ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม  แต่ละคนมีบริวารดังต่อไปนี้    
        ๑. อุรุเวลกัสสปะ        มีบริวาร  ๕๐๐  คน    
        ๒. นทีกัสสปะ            มีบริวาร  ๓๐๐  คน    
        ๓. คยากัสสปะ        มีบริวาร  ๒๐๐  คน    
        พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์ทรมานอุรุเวลกัสสปะให้เห็นว่า  ลัทธิของตนไม่มีแก่นสารสาระ  และให้เกิดความสังเวชสลดใจจนคลายทิฏฐิมานะได้  จึงทูลขอบวชพร้อมทั้งบริวาร  น้องชายสองคนพร้อมทั้งบริวารเห็นบริขารของพี่ชายลอยมาคิดว่า  มีอันตรายเกิดแก่พี่ชาย  พาบริวารมาสำนักของพี่ชาย  เห็นพี่ชายบวชเป็นภิกษุถามจนได้ความว่า  พรหมจรรย์นี้เป็นของประเสริฐจึง บวชตาม  ทรงประทับอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมพอสมควรแล้ว พร้อมด้วยภิกษุ  ๑,๐๐๓  รูป  เสด็จไปที่ริมฝั่งแม่น้ำคยา  ตำบล คยาสีละ กรุงราชคฤห์ ทรงแสดง อาทิตตปริยายสูตรว่า  “อายตนะภายใน ๖  อายตนะภายนอก ๖  เป็นของร้อน ร้อนเพราะถูกไฟ  คือ ราคะ โทสะ โมหะ และเพลิงทุกข์คือ ชาติ ชรา มรณะเป็นต้น เผาไหม้” เมื่อแสดงธรรมจบทั้งหมดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์อนุปุพพิกถาและอริยสัจ     
        นับตั้งแต่ตรัสรู้จนถึงได้พระอัครสาวกทรงแสดงอนุปุพพิกถา และอริยสัจ  ๗  ครั้ง    
        ๑. ทรงแสดงแก่ยสกุลบุตร   สำเร็จเป็นพระโสดาบัน    
        ๒. ทรงแสดงแก่พ่อยสกุลบุตร  สำเร็จเป็นพระโสดาบันยสกุลบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์     
        ๓. ทรงแสดงแก่แม่และภรรยาเก่าของพระยสะ  สำเร็จเป็น พระโสดาบัน    
        ๔. ทรงแสดงแก่เพื่อนของพระยสะ  ๔ คนคือ  วิมละ  สุพาหุ ปุณณชิ  และควัมปติ  สำเร็จเป็นพระโสดาบัน    
        ๕. ทรงแสดงแก่เพื่อนพระยสะ ๕๐ คน ชาวชนบทสำเร็จเป็น พระโสดาบัน    
        ๖. ทรงแสดงแก่ภัททวัคคีย์ ๓๐ คน ที่ไร่ฝ้าย  บรรลุธรรมสูง สุดเป็นพระอานาคามี และต่ำสุดเป็นพระโสดาบัน    
        ๗. ทรงแสดงแก่พระเจ้าพิมพิสารและบริวาร ๑๒ นหุต ที่สวน ลัฏฐิวัน

ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ  

๑. ธรรมอะไรที่พระองค์ทรงแสดงแก่ยสกุลบุตรเป็นเบื้องต้น ?     
        ก. เวทนาปริคคหสูตร    ข. ไตรลักษณ์    
        ค. อนุปุพพิกถา    ง. อริยสัจ ๔
๒. พระสูตรใดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ชฎิล  ๓ พี่น้อง ?     
        ก. สักกปัญหสูตร     ข. อาทิตตปริยายสูตร    
        ค. อนัตตลักขณสูตร     ง. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
๓. ในชฎิล ๓ พี่น้อง  คนที่ ๒ มีชื่อว่าอะไร ?     
        ก. อุรุเวลกัสสปะ    ข. คยากัสสปะ    
        ค. นทีกัสสปะ        ง. กุมารกัสสปะ
๔. พระพุทธเจ้าทรงได้ยินเสียงอุทานของยสกุลบุตรในเวลาใด ?     
        ก. เที่ยงคืน        ข. จวนใกล้รุ่ง    
        ค. ขณะบิณฑบาต    ง. กำลังเสวยพระกระยาหาร
๕. ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนาคือใคร ?     
        ก. นางวิสาขา            ข. พระนางมัลลิกา    
        ค. มารดาของพระยสะ    ง. พระนางพิมพา
๖. พระพุทธองค์ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนาครั้งแรก กี่องค์ ?     
        ก. ๕๐ องค์        ข. ๖๐ องค์    
        ค. ๗๐ องค์        ง. ๑,๒๕๐ องค์
๗. อุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะเป็นคนแรกคือใคร ?     
        ก. ตปุสสะและภัลลิกะ        ข. โสตถิยพราหมณ์    
        ค. อนาถปิณฑิกเศรษฐี    ง. บิดาของยสกุลบุตร
๘. “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เป็นคำพูดของใคร ?     
        ก. ยสกุลบุตร        ข. โกณฑัญญะ    
        ค. อุปติสสะ        ง. โกลิตะ
๙. พวกชฎิลนับถือบูชาอะไร ?    
        ก. บูชาวัตถุนิยม        ข. บูชาผู้สูงอายุ    
        ค. บูชาดาวพระเคราะห์    ง. บูชาไฟ
๑๐. อนุปุพพิกถาพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใครเป็นครั้งที่ ๓ ?     
        ก. พระยสะ            ข. บิดาของพระยสะ    
        ค. เพื่อนพระยสะ ๔ คน    ง. แม่และภริยาเก่าของพระยสะ เฉลย      ๑. ค    ๒. ข    ๓. ค    ๔. ข    ๕. ค    ๖. ข    ๗. ง    ๘. ก    ๙. ง    ๑๐. ง   

 

ปริเฉทที่  ๘  เสด็จกรุงราชคฤห์

พระเจ้าพิมพิสารและบริวาร  ๑๒  นหุต

        แคว้นมคธเป็นแคว้นใหญ่   มีเมืองราชคฤห์เป็นเมืองหลวง  มีพระเจ้าพิมพิสารเป็นจอมทัพ  พระพุทธองค์ทรงเลือกแคว้นมคธ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแคว้นแรก  เพราะเป็นแคว้น ที่มีความเจริญมั่นคงในด้านการเมือง  ด้านเศรษฐกิจ  ด้านสังคม ด้านการศึกษาและศาสนา เสด็จไปประทับที่สวนลัฏฐิวัน (สวนตาล หนุ่ม) พร้อมด้วยพระภิกษุ ๑,๐๐๓ รูป พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วย บริวาร ๑๒ นหุต เสด็จมาเข้าเฝ้า ได้ฟังอนุปุพพิกถาและสามุกกัง-สิกเทสนา บริวาร ๑๑ นหุต ได้ดวงตาเห็นธรรม อีก ๑ นหุต ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ (๑ นหุต = ๑๐,๐๐๐ คน)

ความปรารถนาของพระเจ้าพิมพิสาร  ๕ ประการ 

        กราบทูลความปรารถนาที่ทรงตั้งไว้ครั้งยังเป็นพระราชกุมาร ยังไม่ได้อภิเษก  สำเร็จบริบูรณ์ในวันที่ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ    
        ๑. ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธ    
        ๒. ขอให้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองมายังแว่นแคว้นของข้าพเจ้า    
        ๓. ขอให้ข้าพเจ้าได้นั่งใกล้พระอรหันต์นั้น    
        ๔. ขอให้พระอรหันต์นั้นแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า    
        ๕. ขอให้ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมของพระอรหันต์นั้น

วัดแรกในพระพุทธศาสนา     

        ในวันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยภัตตาหารที่พระราช-นิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์  พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายพระราชอุทยานเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม คือ วัดแรกในพระพุทธศาสนา ขณะนั้นเปรตที่เคยเป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารเมื่อไม่ได้รับส่วนบุญจากพระเจ้าพิมพิสาร  ในราตรีคืนนั้นมาแสดงรูปร่างและส่งเสียงให้ได้ยิน  ทรงสะดุ้งตกใจตื่นขึ้นมาตอนเช้าเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ทราบความจริง  จึงนิมนต์พระพุทธองค์และหมู่สงฆ์ไปเสวยภัตตาหาร  ทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกอุทิศส่วนบุญให้เปรตทั้งหลาย  ทันใดนั่นเองเปรตทั้งหลาย ก็ได้รับส่วนบุญพ้นจากสภาพเปรต ได้เสวยสมบัติทิพย์ไปเกิดเป็นเทวดา  มาปรากฏกายให้ทุกคนได้เห็นอานิสงส์ของการอุทิศส่วนบุญ ไปให้

พระอัครสาวกบรรพชา    

        มีชายหนุ่มชาวเมืองราชคฤห์  เกิดในสกุลพราหมณ์เป็นเพื่อนกัน ๒ คน คือ     
        ๑. อุปติสสะ มีบิดาชื่อวังคันตะ มารดาชื่อนางสารีอยู่ในหมู่บ้านอุปติสสคาม    
        ๒. โกลิตะ มีบิดาชื่อโกลิตะ มารดาชื่อนางโมคคัลลี อยู่ในหมู่บ้านโกลิตคาม ทั้งสองคนเป็นเพื่อนรักกันไปดูมหรสพบนยอดเขา แล้วเบื่อหน่าย  ชวนกันไปบวชในสำนักของอาจารย์สัญชัยปริพาชก พร้อมด้วยบริวารคนละ ๒๕๐  เรียนจนหมดความรู้ของอาจารย์ เห็นว่าไม่มีสาระอะไร  จึงทำกติกากันว่าใครได้บรรลุอมตธรรมก่อนกันให้บอกด้วย แล้วแยกย้ายกันไปแสวงหาโมกขธรรม

อัครสาวกได้ดวงตาเห็นธรรม 

        เช้าวันหนึ่งอุปติสสะได้เห็นพระอัสสชิกำลังบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ มีความเลื่อมใสในกิริยาอันสงบ  จึงเดินติดตามไปข้างหลัง  หลังจากที่ท่านฉันภัตตาหารเสร็จแล้วเข้าไปถามว่า   ท่านบวชอุทิศ ใคร  ใครเป็นศาสดาของท่าน  ท่านชอบใจธรรมของใคร  ท่านจึงตอบว่า ผู้มีอายุ  เราบวชเฉพาะพระมหาสมณะผู้เป็นโอรสแห่งศากยสกุล  พระองค์เป็นศาสดาของเรา  เราชอบใจธรรมของพระองค์  และขอให้แสดงธรรมให้ฟัง จึงแสดงธรรมเพียงย่อๆ ว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น  พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้”   อุปติสสะได้ดวงตาเห็นธรรม โกลิตะได้ฟังธรรมนั้นจากอุปติสสะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม จากนั้นลาอาจารย์สัญชัยไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวัน ทูลขออุปสมบทพระมหาโมคคัลลานะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์      
        โกลิตะเมื่อบวชแล้วมีชื่อว่า  พระมหาโมคคัลลานะ หลังจากบวช ๗ วัน ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ  ถูกความง่วงเข้าครอบงำ พระพุทธองค์ทรงแสดงอุบายแก้ง่วง ๘ ประการให้ฟังว่า    
        ๑. นึกเรื่องที่จำมาให้มาก  (สัญญา)    
        ๒. ตรึกตรองถึงธรรมที่ได้ศึกษามา (พิจารณา)    
        ๓. สาธยายธรรม (สาธยาย)    
        ๔. ยอนช่องหู (ยอนหู)    
        ๕. ลุกขึ้นยืนเอาน้ำลูบหน้า (ยืนลูบหน้า)    
        ๖. ทำความสำคัญในแสงสว่าง (คำนึงแสงสว่าง)    
        ๗. จงกรมสำรวมอินทรีย์  (อธิษฐานจงกรม)    
        ๘. นอนตะแคงขวามีสติสัมปชัญญะตั้งใจว่าจะลุกขึ้น  (สุดท้ายลงนอน)     
        และทรงสอนต่อไปว่า โมคคัลลานะ เธอควรสำเหนียกในใจอย่างนี้ว่า     
        ๑. เราจักไม่ชูงวง (ถือตัว) เข้าไปสู่ตระกูล    
        ๒. เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกัน  เพราะจะเป็นเหตุให้ห่างจากสมาธิ    
        ๓. เราจักไม่คลุกคลีด้วยคฤหัสถ์และบรรพชิต  แต่ควรคลุกคลี ด้วยเสนาสนะอันสงัด    
        และฟังตัณหักขยธรรม คือ ข้อปฏิบัติที่ภิกษุปฏิบัติแล้วชื่อว่าย่อมน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ท่านปฏิบัติตามพระโอวาทได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น      
        - พระมหาโมคคัลลานะ  เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย  เป็นผู้เลิศทางมีฤทธิ์มาก    
        - ได้รับยกย่องว่าเป็นนวกัมมัฏฐายี  (นักก่อสร้าง)พระสารีบุตรบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์     
        อุปติสสะเมื่อบวชแล้วมีชื่อว่า  พระสารีบุตร  หลังจากบวช ๑๕  วัน  ท่านถวายงานพัดเบื้องพระปฤษฎางค์(หลัง) ของพระพุทธ-องค์ ทรงแสดงธรรมชื่อว่า เวทนาปริคคหสูตร แก่ฑีฆนขปริพาชก ซึ่งเป็นหลานของพระสารีบุตร ที่ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ แขวงเมืองราชคฤห์ ท่านพิจารณาธรรมไปด้วย ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ส่วนฑีฆนขปริพาชกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน    
        - พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา  เป็นผู้เลิศทางมีปัญญามาก    
        - ได้รับยกย่องว่าเป็นธรรมเสนาบดี    
        - ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีความกตัญญู

พระพุทธองค์ทรงอุปมาพระอัครสาวก

        ๑. พระสารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด  เพราะท่านย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องต่ำ  คือโสดาปัตติผล    
        ๒. พระมหาโมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงดูบุตร ที่เกิดแล้ว  เพราะท่านย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น ปัญหาและเฉลยพุทธประวัติ  
๑. ใครเป็นพระอัครสาวกซ้าย-ขวาของพระพุทธเจ้า ?    
        ก. พระอนุรุทธะ - พระอานนท์    
        ข. พระอุบาลี - พระโมคคัลลานะ    
        ค. พระโกณฑัญญะ - พระอัสสชิ    
        ง. พระโมคคัลลานะ - พระสารีบุตร
๒. ใครเป็นผู้ถวายวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ?    
        ก. พระเจ้าเชตุ        ข. พระเจ้าพิมพิสาร    
        ค. นางวิสาขา        ง. อนาถบิณฑิกเศรษฐี
๓. อุปติสสปริพาชกได้ดวงตาเห็นธรรม  เพราะฟังธรรมจากใคร ?     
        ก. พระพุทธเจ้า    ข. พระสารีบุตร    
        ค. พระอัสสชิ        ง. พระมหากัสสปะ
๔. วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาชื่อว่าอะไร ?     
        ก. เวฬุวัน        ข. เชตวัน    
        ค. ลัฏฐิวัน        ง. อัมพวัน
๕. ใครเป็นศาสดาของท่าน  ท่านชอบใจธรรมของใคร ใครกล่าว ?     
        ก. อุปติสสปริพาชก    ข. โกลิตปริพาชก    
        ค. ปิปผลิมาณพ    ง. ทีฆนขปริพาชก
๖. อุบายสำหรับแก้ความง่วงพระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ใคร ?     
        ก. พระสารีบุตร    ข. พระอานนท์    
        ค. พระมหากัสสปะ    ง. พระโมคคัลลานะ
๗. พระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์ หลังจากอุปสมบทแล้วกี่วัน ?     
        ก. ๗  วัน        ข. ๑๒ วัน    
        ค. ๑๕ วัน        ง. ๒๐ วัน
๘.  พระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์ด้วยพระธรรมเทศนาใด ?     
        ก. อริยสัจ ๔        ข. อนุปุพพิกถา    
        ค. อริยธรรม        ง. เวทนาปริคคหสูตร
๙. ผู้ปรารถนาเห็นพระอรหันต์คนแรกคือใคร ?    
        ก. พระเจ้าสุทโธทนะ        ข. พระนางปชาบดี    
        ค. พระเจ้าปเสนทิโกศล    ง. พระเจ้าพิมพิสาร
๑๐. ผู้ทำบุญอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้วคนแรกคือใคร ?    
        ก. อนาถบิณฑิกเศรษฐี        ข. พระเจ้าพิมพิสาร    
        ค. พระเจ้าปเสนทิโกศล    ง. นางวิสาขามหาอุบาสิกา
๑๑. พระสารีบุตรสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เพราะฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใคร ?
        ก. ทีฆนขปริพาชก        ข. สุภัททปริพาชก    
        ค. พระอัสสชิ            ง. พระมหาโมคคัลลานะ
๑๒. พระมหาโมคคัลลานะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่ไหน ?     
        ก. ถ้ำสุกรขาตา        ข. ถ้ำสัตตบรรณคูหา    
        ค. บ้านกัลลวาลมุตตคาม    ง. บ้านนาลันทา
๑๓. ใครต่อมาได้เป็นพระอัครสาวก ?     
        ก. อนาถบิณฑิกะ        ข. จิตตคฤหบดี    
        ค. วิสาขอุบาสก        ง. อุปติสสะ
๑๔. พระเจ้าพิมพิสารปกครองเมืองชื่อว่าอะไร ?    
        ก. เมืองราชคฤห์          ข. เมืองกบิลพัสดุ์    
        ค. เมืองเทวทหะ        ง. เมืองสาวัตตถี เฉลย      ๑. ง    ๒. ข    ๓. ค    ๔. ก    ๕. ก    ๖. ง    ๗. ค    ๘. ง    ๙. ง    ๑๐. ข    ๑๑. ก    ๑๒. ค    ๑๓. ง    ๑๔. ก

Leave a comment

You are commenting as guest.


47888783
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
221
49491
102539
47534203
102539
1272582
47888783

Your IP: 1.0.242.191
2024-12-04 00:08
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search