อนุพุทธประวัติ คือ ความเป็นมาหรือประวัติของบุคคลผู้ได้บรรลุธรรม หรือตรัสรู้ธรรมตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยการฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ แล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา บุคคลเหล่านี้เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์เป็นอย่างดี ในหลักสูตรธรรมศึกษาชั้นโท กำหนดให้เรียน ๔๐ องค์ ซึ่งเป็นพระอริยสาวกผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะคือเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ
พระอัญญาโกณฑัญญะ ชื่อเดิมว่า โกณฑัญญะ บิดามารดาไม่ปรากฏชื่อ เป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลในบ้านพราหมณ์โทณวัตถุ อยู่ไม่ห่างจากกรุงกบิลพัสดุ์ ได้รับการศึกษาจบไตรเพทตามลัทธิของพราหมณ์ และรู้ตำรามนต์สำหรับทำทายลักษณ์ของบุคคลต่าง ๆ
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมารับประทานอาหาร ได้คัดเลือกพราหมณ์ ๘ คน จากพราหมณ์ทั้งหมดเพื่อทำนายลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ โกณทัญญะเป็นพราหมณ์หนุ่มที่สุดในพราหมณ์ ๘ คน พราหมณ์ ๗ คน ได้ทำนายลักษณะของพระราชกุมารว่ามีคติเป็น ๒ คือ
๑.ถ้าอยู่ครองเรือนจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ
๒.ถ้าเสด็จออกผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลก
ส่วนโกณฑัญญพราหมณ์ได้ทำนายว่ามีคติเป็นอย่างเดียว คือ เสด็จออกผนวชได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน ตั้งแต่นั้นมาโกณฑัญญพราหมณ์ตั้งใจว่า พระราชกุมารเสด็จออกผนวชเมื่อใดตนจะออกบวชตามด้วย
เมื่อพระราชกุมารเสด็จออกผนวชตอนพระชนมายุ ๒๙ ปี โกณฑัญญพราหมณ์ทราบข่าวจึงได้ชักชวนพราหมณ์อีก ๔ คน คือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ซึ่งเป็นบุตรของพราหมณ์ในจำนวน ๑๐๘ คน ออกบวชตาม พบพระมหาบุรุษที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม จึงอยู่เฝ้าอปัฏฐากด้วยคิดว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุธรรมแล้ว จะเทศนาสั่งสอนให้พวกตนได้บรรลุบ้าง
เมื่อพระมหาบุรุษบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ ๖ ปี เห็นว่าไม่ใช่หนทางที่จะพ้นทุกข์จึงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาฉันภัตตาหารเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ ปัญจวัคคีย์หมดความเลื่อมใสคิดว่าพระมหาบุรุษคลายจากความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากในกามเสียแล้ว พากันหนีไปอยู่ที่ป่า อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
เมื่อพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงตัดสินพระทัยที่จะแสดงพระธรรมเทศนา ครั้งแรกทรงคิดถึงอาฬารดาบสและอุทกดาบส แต่ท่านทั้งสองได้ถึงแก่กรรมแล้ว ทรงคิดถึงปัญจวัคคีย์จึงได้เสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฝ่ายปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธองค์เสด็จมาแต่ไกล จึงทำกติกากันว่า พวกเราไม่พึงไหว้ ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ ไม่รับบาตรและจีวร แต่จะปูอาสนะเอาไว้ให้ พอพระพุทธองค์เสด็จมาถึงกลับลืมกติกาที่ตั้งไว้ เพราะความเคารพที่เคยมีต่อพระองค์ แต่ยังสนทนากับพระองค์ด้วยถ้อยคำอันไม่เคารพ พูดออกพระนามว่า อาวุโส พระองค์ทรงห้ามแล้วตรัสว่า “เราได้บรรลุอมตธรรมแล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายตั้งใจฟังและปฏิบัติตามที่เราสอน ในไม่ช้าจะได้บรรลุอมตธรรมนั้น” ปัญจวัคคีย์คัดค้านพระพุทธองค์ ๓ ครั้ง ทรงตรัสเตือนสติพวกเขาว่า เมื่อก่อนท่านทั้งหลายเคยได้ฟังคำที่เราพูดเช่นนี้บ้างไหม ขณะนั้นปัญจวัคคีย์จึงระลึกได้ว่า พระดำรัสเช่นนี้พระองค์ไม่เคยตรัสเลย พระองค์ได้ตรัสรู้ธรรมแล้วเป็นแน่ จึงได้ตั้งใจฟังพระธรรมเทศนา พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรกชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เรียกว่าวันอาสาฬหบูชา พอจบพระธรรมเทศนาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา” พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ ๆ แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ ท่านจึงได้ชื่อใหม่ว่า อัญญาโกณฑัญญะ
เมื่ออัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วจึงทูลขอบวช ทรงอนุญาตให้บวชด้วยพระดำรัสว่า “ เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” การบวชแบบนี้เรียกว่า เอหิภิกษุอุปสัมปทา ท่านเป็นพระสงฆ์รูปแรกที่เกิดขึ้นในโลก เป็นวันที่พระรัตนตรัยคือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เกิดขึ้นครบครั้งแรกในวันอาสาฬหบูชา
หลังจากนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาสั่งสอนให้อีก ๔ คน ได้ดวงตาเห็นธรรม และทรงประทานการบวชให้แบบเอหิภิกษุอุปสัมปทา ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ทรงแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ ชื่อว่า อนัตตลักขณสูตร คือสูตรที่ว่าด้วยขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ให้แก่พระปัญจวัคคีย์ฟังเมื่อจบพระธรรมเทศนาทั้ง ๕ องค์ ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมกัน
พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระอรหันต์ชุดแรก คือ ๖๐ องค์ที่พระพุทธองค์ส่งไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ผลงานที่สำคัญของท่านคือ ท่านกลับไปบ้านเกิดให้หลานชายชื่อว่า ปุณณะ ซึ่งเป็นลูกของนางมันตานีผู้เป็นน้องสาวของตนเองบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาท่านได้เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา มีกุลบุตรเป็นจำนวนมากมาบวชในสำนักของท่าน
พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้รัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรีนาน” หมายความว่า ท่านเป็นองค์แรกที่ได้ฟังธรรมและบรรลุธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงก่อนใครทั้งหมด
พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ช่วยพระพุทธองค์ประกาศพระศาสนาจนถึงปั้นปลายชีวิต ก็กราบทูลลาพระพุทธองค์ไปอยู่ป่าหิมวันต์ ใกล้สระฉัททันต์ ๑๖ พรรษา เมื่อใกล้จะนิพพานไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ทูลขอลานิพพาน และกลับไปนิพพานที่สระฉัททันต์
พระอุรุเวลกัสสปะ ชื่อเดิมว่า กัสสปะ บิดามารดาไม่ปรากฏชื่อ เกิดในวรรณะพราหมณ์ที่เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ตระกูลกัสสปโคตร ศึกษาจบไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ ท่านมีน้องชายสองคนชื่อ กัสสปะ เหมือนกัน ต่อมาทั้ง ๓ ท่านพิจารณาเห็นว่าความรู้ที่มีอยู่นั้นไม่มีสาระแก่นสาร มีแต่เพียงประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น จึงได้ชักชวนกันออกบวชเป็นฤาษี บำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ พี่ชายคนโตตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม จึงได้นามว่า อุรุเวลกัสสปะ มีบริวาร ๕๐๐ คน น้องชายคนกลางตั้งอาศรมอยู่ที่ทางโค้งแม่น้ำคงคา จึงได้นามว่า นทีกัสสปะ มีบริวาร ๓๐๐ คน น้องชายคนเล็กตั้งอาศรมอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ จึงได้นามว่า คยากัสสปะ มีบริวาร ๒๐๐ คน
เมื่อพระพุทธองค์ทรงส่งพระสาวก ๖๐ องค์ไปประกาศพระศาสนายังแว่นแคว้นต่าง ๆ พระองค์เสด็จไปที่แคว้นมคธ เมื่อโปรดอุรุเวลกัสสปะ ระหว่างทางทรงเทศนาโปรดภัททวัคคีย์กุมาร ๓๐ คน ทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกษุอุปสัมปทาให้แล้ว ส่งไปประกาศพระศาสนา ต่อจากนั้นเสด็จไปตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงแสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ จนอุรุเวลกัสสปะละทิฏฐิมานะกลับมาเลื่อมใส เห็นว่าลัทธิของตนเองไม่มีแก่นสารอะไร จึงทูลขอบวช อุรุเวลกัสสปะพร้อมทั้งบริวารพากันลอยบริขารและเครื่องบูชาไฟลอยไปในแม่น้ำ พระองค์ทรงประทานการบวชให้แบบเอหิภิกษุอุปสัมปทา ด้วยพระดำรัสว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว พวกเธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด”
น้องชาย ๒ คนพร้อมทั้งบริวาร เมื่อเห็นบริขารของพี่ชายลอยมาตามแม่น้ำ ได้เดินทางไปที่สำนักของพี่ชาย ขอบวชในสำนักของพระพุทธองค์ ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่อบุญบารมีของพระภิกษุ ๑,๐๐๓ รูปนั้นแก่กล้าแล้ว ทรงเสด็จไปที่ตำบลคยาสีสะ พร้อมด้วยภิกษุทั้งหมด ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตร สูตรว่าด้วยอายตนะภายในและภายนอกเป็นของร้อน มีเนื้อความโดยย่อว่า “ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจเป็นของร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟคือราคะ ไฟคือโทสะ ไฟคือโมหะ ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ร้อนเพราะความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจ” เมื่อจบพระธรรมเทศนา ภิกษุ ๑,๐๐๓ รูป ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธ พระพุทธองค์ทรงพาภิกษุ ๑,๐๐๓ รูป เสด็จไปเมืองราชคฤห์ ประทับอยู่ที่สวนตาลหนุ่ม ชื่อว่า ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินแคว้นมคธทรงทราบข่าว พร้อมด้วยบริวารเสด็จไปเข้าเฝ้า ทรงทอดพระเนตรเห็นบริวารของพระเจ้าพิมพิสารมีกิริยาอาการไม่เลื่อมใส จึงตรัสให้พระอุรุเวลกัสสปะประกาศให้คนเหล่านั้นทราบว่า ลัทธิของตนไม่มีแก่นสาร จนคนเหล่านั้นหมดความสงสัย เพราะว่าคนเหล่านั้นเป็นลูกศิษย์ของฤาษีอุรุเวลกัสสปะมาก่อน ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ เวลาจบพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารพร้อมทั้งบริวาร ๑๑ นหุต ได้ดวงตาเห็นธรรมคือบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน อีก ๑ นหุต ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ (๑ นหุต = ๑๐,๐๐๐ คน) และพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายสวนไผ่ให้เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า “วัดเวฬุวัน”
พระอุรุเวลกัสสปะท่านได้สั่งสอนประชาชนเป็นจำนวนมากมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และเป็นพระที่มีบริวารมาก ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า “เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้มีบริวารมาก”
พระอุรุเวลกัสสปะได้ประพฤติตนช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่พระพุทธศาสนา สงเคราะห์พระภิกษุสงฆ์ และประชาชนด้วยพระธรรมมาตลอดอายุขัย ครั้นดำรงอายุสังขารพอสมควรแก่อัตภาพแล้ว ก็ได้นิพพานในที่สุด
พระสารีบุตร ชื่อเดิมว่า อุปติสสะ บิดาชื่อว่า วังคันตพราหมณ์ มารดาชื่อว่านางสารีพราหมณี เกิดในวรรณะพราหมณ์ ที่หมู่บ้านอุปติสสะ ใกล้เมืองราชคฤห์ และบิดาเป็นหัวหน้าหมู่บ้านอุปติสสะ เลยได้ชื่อว่า อุปติสสะ เมื่อบวชแล้วได้ชื่อว่า สารีบุตร เพราะว่าเป็นบุตรของนางสารี ท่านมีน้องชาย ๓ คน และน้องสาว ๓ คน และมีเพื่อนที่สนิทอยู่คนหนึ่งชื่อว่า โกลิตะ ซึ่งเป็นบุตรของหัวหน้าหมู่บ้าน โกลิตะ ทั้งสองท่านมีบริวารคนละ ๕๐๐
อยู่มาวันหนึ่ง สหายทั้งสองกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ มีอาการและความรู้สึกไม่เหมือนเมื่อก่อน คือถึงตอนหัวเราะก็ไม่หัวเราะ ถึงตอนเศร้าโศกก็ไม่เศร้าโศก ถึงตอนให้รางวัล ก็ไม่ให้รางวัล แต่มีความสลดใจว่า การดูมหรสพไม่มีสารประโยชน์อะไรเลย แม้คนที่กำลังแสดงอยู่นั้นไม่ถึง ๑๐๐ ปี ก็ตายเหมือนกันหมด สหายทั้งสองมีความเห็นตรงกันคิดกันว่า ควรออกบวชแสวงหาโมกขธรรมดีกว่า จึงออกบวชอยู่ในสำนักของอาจารย์สัญชัยปริพาชก พร้อมด้วยบริวารคนละ ๒๕๐
สหายทั้งสองเมื่อบวชแล้วไม่นานก็เรียนจนหมดความรู้ของอาจารย์สัญชัย เห็นว่าลัทธินี้ไม่มีสาระประโยชน์อะไรเลย ทั้งสองจึงแสวงหาโมกขธรรมต่อไปและได้ทำกติกากันว่า “ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่งด้วย”
วันหนึ่งอุปติสสปริพาชกเข้าไปในเมืองราชคฤห์ เห็นพระอัสสชิกำลังบิณฑบาต คิดว่านักบวชผู้มีกิริยาอาการน่าเลื่อมใสขนาดนี้เราไม่เคยเห็นมาก่อน ท่านน่าจะมีธรรมละเอียดอยู่ภายใน เกิดความเลื่อมใส จึงเดินติดตามไปข้างหลัง เมื่อท่านฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เรียนถามว่า “ข้าแต่ท่านผู้มีอายุอินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านก็ผ่องใส ท่านบวชในสำนักของใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน และท่านชอบใจธรรมของใคร” พระอัสสชิตอบว่า “ผู้มีอายุ เราบวชเจาะจงพระมหาสมณะศากยบุตร พระองค์เป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของท่าน” จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง พระอัสสชิตอบแบบถ่อมตนว่า “ผู้มีอายุ เราเป็นผู้บวชใหม่ มาสู่พระธรรมวินัยนี้ไม่นาน ไม่สามารถจะแสวงธรรมโดยพิสดารได้ เราจะกล่าวแต่โดยย่อพอรู้ความ” ท่านจึงแสดงธรรมโดยย่อว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้” อุปติสสปริพาชกครั้นได้ฟังธรรมจบลงแล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน จากนั้นได้ถามพระเถระว่า ขณะนี้พระศาสดาของเราประทับอยู่ที่ไหน ทราบว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน จึงลาพระเถระกลับ ไปแสดงธรรมให้แก่สหายโกลิตะฟังก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนกัน
ทั้งสองท่านชักชวนอาจารย์สัญชัยไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้รับการปฏิเสธจึงลาอาจารย์สัญชัย พร้อมด้วยบริวาร ๒๕๐ คนไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่วัดเวฬุวัน และทูลขอบวช ทรงอนุญาตการบวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา จึงมีชื่อใหม่ว่า สารีบุตร หลังจากบวชแล้ว ๑๕ วัน ได้ฟังธรรมเทศนาชื่อว่า “เวทนาปริคคหสูตร” ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแก่ทีฆนขปริพาชก ซึ่งเป็นหลานของท่าน ที่ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ สำเร็จเป็นพระอรหันต์
พระสารีบุตรเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านได้ชักชวนน้องชาย ๓ คน และน้องสาว ๓ คนให้บวชในพระพุทธศาสนา กุลบุตรกุลธิดาได้ฟังธรรมจากท่านบรรลุธรรมมากมาย ท่านเป็นพระธรรมเสนาบดี คู่กับพระพุทธองค์ผู้เป็นพระธรรมราชา และเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที บวชให้ราธะพราหมณ์ผู้เคยถวายข้าวเพียงหนึ่งทัพพี พระพุทธองค์ทรงยกย่องท่านว่า “สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร โมคคัลลานะเปรียบเหมือนผู้บำรุงเลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำในผลชั้นสูงขึ้นไป”
เนื่องจากท่านเป็นผู้มีปัญญามาก สามารถแสดงอริยสัจ ๔ ให้พิสดารกว้างขวางเหมือนพระพุทธองค์ จึงได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า “เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีปัญญามาก” และได้รับการแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องขวา
พระสารีบุตรนิพพานก่อนพระพุทธองค์ ท่านทูลลาไปนิพพานที่บ้านเกิดของท่าน ออกเดินทางไปพร้อมกับพระจุนทะน้องชายของท่านและภิกษุบริวาร ครั้นถึงบ้านแล้ว ได้เกิดปักขันธิกาพาธในคืนนั้น (ถ่ายเป็นเลือด) ได้เทศนาโปรดมารดาจนบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และนิพพานในคืนนั้น พระจุนทะและญาติทำพิธีฌาปนกิจสรีระของท่านแล้วนำอัฐิไปถวายแด่พระพุทธองค์ โปรดให้สร้างพระเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ใกล้ประตูวัดพระเชตวัน
พระมหาโมคคัลลานะ ชื่อเดิมว่า โกลิตะ บิดาชื่อว่า โกลิตะ มารดาชื่อว่า โมคคัลลี เกิดในตระกูลพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านโกลิตคาม ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์ บิดาเป็นหัวหน้าหมู่บ้านโกลิตะ เมื่อบวชแล้วได้ชื่อว่า โมคคัลลานะ เพราะเป็นบุตรของนางโมคคัลลี มีสหายรักอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า อุปติสสะ ซึ่งเป็นลูกชายของหัวหน้าหมู่บ้านอุปติสสะ
อยู่มาวันหนึ่ง สหายทั้งสองกำลังดูมหรสพบนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ มีอาการและความรู้สึกไม่เหมือนเมื่อก่อน คือถึงตอนหัวเราะก็ไม่หัวเราะ ถึงตอนเศร้าโศกก็ไม่เศร้าโศก ถึงตอนให้รางวัลก็ไม่ให้รางวัล แต่มีความสลดใจว่า การดูมหรสพไม่มีสารประโยชน์อะไรเลย แม้คนที่กำลังแสดงอยู่นั้นไม่ถึง ๑๐๐ ปี ก็ตายเหมือนกันหมด สหายทั้งสองมีความเห็นตรงกันคิดกันว่า ควรออกบวชแสวงหาโมกขธรรมดีกว่า จึงออกบวชอยู่ในสำนักของอาจารย์สัญชัยปริพาชก พร้อมด้วยบริวารคนละ ๒๕๐
สหายทั้งสองเมื่อบวชแล้วไม่นานก็เรียนจนหมดความรู้ของอาจารย์สัญชัย เห็นว่าลัทธินี้ไม่มีสาระประโยชน์อะไรเลย ทั้งสองจึงแสวงหาโมกขธรรมต่อไป และได้ทำกติกากันว่า “ใครบรรลุอมตธรรมก่อน จงบอกแก่อีกคนหนึ่งด้วย” อุปติสสปริพาชกฟังธรรมจากพระอัสสชิ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และได้กลับมาแสดงธรรมให้โกลิตปริพาชกฟังบ้างว่า “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้” ท่านก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน สหายทั้งสองชักชวนอาจารย์สัญชัยไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้รับการปฏิเสธ จึงลาอาจารย์สัญชัยพาบริวาร ๒๕๐ คน เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่วัดเวฬุวัน และทูลขอบวช ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา จึงมีชื่อใหม่ว่า “พระมหาโมคคัลลานะ”
พระมหาโมคคัลลานะ หลังจากบวชแล้ว ๗ วัน ทูลลาพระพุทธองค์ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม แคว้นมคธ ถูกความง่วงเข้าครอบงำไม่สามารถบำเพ็ญเพียรได้ พระพุทธองค์เสด็จไปตรัสบอกอุบายแก้ง่วงให้ ๘ ประการ คือ
๑.นึกถึงเรื่องที่จำมาให้มาก
๒.ตรึกตรองถึงธรรมที่ได้ศึกษามา
๓.สาธยายธรรม
๔.ยอนช่วงหู
๕.ลุกขึ้นยืนเอาน้ำลูบหน้า
๖.ทำความสำคัญในแสงสว่าง
๗.เดินจงกรมสำรวมอินทรีย์
๘.นอนตะแคงขวามีสติสัมปชัญญะตั้งใจว่าจะลุกขึ้น
และทรงสอนต่อไปว่า โมคคัลลานะ เธอควรสำเหนียกในใจอย่างนี้ว่า
๑.เราจักไม่ชูงวง คือถือตัวเข้าไปสู่ตระกูล
๒.เราจักไม่พูดคำเป็นเหตุเถียงกัน เพราะจะเป็นเหตุให้ห่างจากสมาธิ
๓.เราจักไม่คลุกคลีด้วยคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่ควรคลุกคลีด้วยเสนาสนะอันสงัด
และฟังตัณหักขยธรรม คือข้อที่ปฏิบัติแล้วชื่อว่าน้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา และฟังเรื่องธาตุกัมมัฏฐาน คือให้พิจารณาร่างกายนี้เป็นเพียงธาตุดิน น้ำ ลม ไฟเท่านั้น ไม่ใช่ตัวเราของเรา ท่านปฏิบัติธรรมตามพระโอวาทได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในวันนั้น
พระมหาโมคคัลลานะเป็นกำลังสำคัญยิ่งในการประกาศพระศาสนา ท่านมีฤทธิ์มาก ประกาศธรรมแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย แสดงฤทธิ์ปราบพวกมิจฉาทิฏฐิ ท่านไปยังเทวโลก ถามถึงกรรมของเทวดาที่ทำในสมัยเป็นมนุษย์ และไปนรกถามถึงกรรมของสัตว์นรกในสมัยเป็นมนุษย์กลับมาบอกแก่พวกมนุษย์ เมื่อได้ฟังคำของพระเถระแล้วเกิดความเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรื่อง จนเป็นที่อิจฉาของเจ้าลัทธิต่าง ๆ พระพุทธองค์ตรัสยกย่องท่านกับพระสารีบุตรว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณที่สูงขึ้นไป” และท่านเป็นผู้ที่เลิศในด้านการก่อสร้าง
พระมหาโมคคัลลานะ เป็นผู้มีฤทธิ์มาก สามารถท่องเที่ยวไปยังเทวโลกและนรกได้ จึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่า “เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้มีฤทธิ์” และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายคู่กับพระสารีบุตร ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา
พระมหาโมคคัลลานะ นิพพานที่ตำบลกาฬศิลา แคว้นมคธ เมื่อวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หลังจากพระสารีบุตรนิพพานได้ ๑๕ วัน ท่านถูกโจรทุบจนร่างกายแหลกละเอียด เพราะผลกรรมที่เคยทุบตีพ่อแม่ในอดีต ประสานกระดูกด้วยกำลังฌานเหาะไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลลานิพพาน และได้กลับไปนิพพานในที่เดิม พระพุทธองค์เสด็จไปทำพิธีฌาปนกิจสรีระของท่าน แล้วรับสั่งให้นำอัฐิบรรจุไว้ในเจดีย์ใกล้ประตูวัดเวฬุวัน
พระมหากัสสปะ ชื่อเดิมว่า ปิปผลิ บิดาชื่อว่า กปิละ มารดาชื่อว่าสุมนเทวี เกิดในตระกูลพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านมหาติตถะ ตั้งอยู่ในเมืองราชคฤห์ เมื่อบวชแล้วได้ชื่อว่า พระมหากัสสปะ เพราะเป็นเชื้อสายของกัสสปโคตร อายุได้ ๒๐ ปี แต่งงานกับนางภัททกาปิลานี ผู้มีอายุได้ ๑๖ ปี
เมื่อบิดามารดาเสียชีวิตแล้ว เห็นโทษของการครองเรือนว่า ต้องคอยรับบาปจากการกระทำของผู้อื่น จึงตัดสินใจออกบวชพร้อมกับนางภัททกาปิลานี มอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่ญาติและบริวาร ได้ซื้อผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรดินเผาจากตลาด ต่างปลงผมให้กันและกัน ครองผ้ากาสาวพัสตร์สะพายบาตรลงจากปราสาทอย่างไม่มีความอาลัย ออกบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก เดินทางไปด้วยกันระยะหนึ่งก็แยกจากกัน เกิดเหตุอัศจรรย์คือแผ่นดินไหว ปิปผลิเดินไปทางขวา ส่วนนางภัททกาปิลานีเดินไปทางซ้ายจนถึงสำนักของภิกษุณี ขอบวชในสำนักของภิกษุณีและปฏิบัติธรรมจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
ปิปผลิได้พบพระพุทธองค์ที่ใต้ต้นไทรชื่อว่า พหุปุตตนิโครธ ระหว่างเมืองราชคฤห์กับเมืองนาลันทา เมื่อได้เห็นพระพุทธองค์แล้วคิดว่า ท่านผู้นี้เป็นศาสดาของเรา เราจักขอบวชอุทิศพระศาสดาองค์นี้ ได้น้อมตัวเข้าไปหาทูลขอบวช ทรงประทานการบวชให้ด้วยวิธี โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา คือบวชด้วยการรับโอวาท ๓ ข้อ ดังนี้
๑.กัสสปะเธอพึงศึกษาว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความยำเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ผู้ใหม่และผู้ปานกลางอย่างแรงกล้า
๒.เราจักฟังธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูฟังธรรมและพิจารณาเนื้อความแห่งธรรมนั้น
๓.เราจักไม่ละกายคตาสติ คือพิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์
หลังจากบวชแล้วท่านได้ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ในวันที่ ๘ ก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
พระมหากัสสปะ เป็นกำลังสำคัญในการประกาศพระศาสนา คือ เป็นประธานในการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วได้ ๓ เดือน ท่านได้สั่งสอนกุลบุตรและกุลธิดาให้เลื่อมใสในพระศาสนาเป็นจำนวนมาก
พระมหากัสสปะ เป็นพระมักน้อยสันโดษ ถือธุดงค์เป็นวัตร ๓ ข้อตลอดชีวิต คือ
๑.ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
๒.เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๓.อยู่ป่าเป็นวัตร
ท่านแสดงคุณของการถือธุดงค์แก่พระพุทธองค์ ๒ ข้อ คือ
๑.เป็นการอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
๒.เพื่ออนุเคราะห์คนรุ่นหลังจะได้ถือปฏิบัติตาม
พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระมหากัสสปะว่า “เป็นเลิศกว่า ภิกษุทั้งหลายผู้ทรงธุดงค์”
พระมหากัสสปะ เมื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว จำพรรษาอยู่ที่วัดเวฬุวัน มีอายุ ๑๒๐ ปี นิพพานระหว่างภูเขาชื่อว่า “กุกกุฏสัมปาตะ” ทั้ง ๓ ลูก ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ
๑.พระสาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า เรียกว่าอะไร?
ก.พระสงฆ์ ข.พระอนุพุทธะ
ค.พระเสขะ ง.พระอเสขะ
๒.การศึกษาอนุพุทธประวัติ เพื่อรู้อะไร ?
ก.ความเป็นมาบรรดาบุคคลผู้ตรัสรู้ตาม
ข.ความเป็นมาของพระพุทธเจ้าผู้จะตรัสรู้ต่อไป
ค.ความเป็นมาของเหล่าพุทธสาวก
ง.ความเป็นมาของเหล่าพุทธสาวิกา
๓.ท่านผู้แรกถึงกระแสแห่งพระนิพพาน เป็นความหมายของข้อใด ?
ก.พระโสดาบัน ข.พระสกทาคามี
ค.พระอนาคามี ง.พระอริยบุคคล
๔.ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เลิศในทางนั้น ๆ ตรงกับความหมายในข้อใด ?
ก.อริยบุคคล ข.สาวก
ค.พหูสูต ง.เอตทัคคะ
๕.นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าประสูติ จนถึง พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นเวลากี่ปี ?
ก.๒๕๐๐ ข.๒๕๔๗
ค.๒๖๓๑ ง.๒๖๔๔
๖.อนุพุทธประวัติ กล่าวถึงประวัติของใคร ?
ก.พระโสดาบัน ข.พระสกทาคามี
ค.พระอนาคามี ง.พระอรหันต์
๗.พระสาวกรูปใด เคยทำนายพระลักษณะของพระมหาบุรุษ ?
ก.พระอัญญาโกณฑัญญะ ข.พระวัปปะ
ค.พระภัททิยะ ง.พระอัสสชิ
๘.พระปัญจวัคคีย์ อยู่เฝ้าอุปัฏฐากพระมหาบุรุษกี่ปี ?
ก.๒ ปี ข.๓ ปี
ค.๕ ปี ง.๖ ปี
๙.พระปัญจวัคคีย์ทิ้งพระมหาบุรุษไป เพราะสาเหตุใด ?
ก.สิ้นความรัก ข.สิ้นความหวัง
ค.สิ้นความอดทน ง.สิ้นความเพียร
๑๐.ข้อใด หมายถึง มัชฌิมาปฏิปทา ?
ก.ทุกข์ ข.สมุทัย
ค.นิโรธ ง.มรรค
๑๑.ผู้ได้ธรรมจักษุ หมายถึงพระอริยบุคคลชั้นใด ?
ก.พระโสดาบัน ข.พระสกทาคามี
ค.พระอนาคามี ง.พระอรหันต์
๑๒.พระปัญจวัคคีย์เห็นพระพุทธองค์เสด็จมา ต่างนัดหมายจะทำสามีจิกรรมใด ?
ก.จักลุกขึ้นรับ ข.จักรับบาตรจีวร
ค.จักไหว้ ง.จักจัดอาสนะถวาย
๑๓. “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา” เป็นความหมายของข้อใด ?
ก.ธัมมจักร ข.ธรรมจักษุ
ค.อนัตตลักขณสูตร ง.เวทนาปริคคหสูตร
๑๔.พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้เลิศในด้านใด ?
ก.ตรัสรู้ได้เร็ว ข.รัตตัญญู
ค.มีปัญญามาก ง.มีฤทธิ์มาก
๑๕.พระพุทธเจ้าทรงเปล่งวาจาว่า “อญญาสิ อญญาสิ” คือข้อใด ?
ก.เพราะทรงทราบว่าโกณฑัญญะได้รู้แล้ว
ข.เพราะพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว
ค.เพราะทรงเบิกบานพระทัย
ง.เพราะทรงโปรดปรานโกณฑัญญะ
๑๖.สังฆรัตนะเกิดขึ้นในโลก เมื่อทรงแสดงธรรมใด ?
ก.อนุปุพพิกถา ข.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ค.อนัตตลักขณสูตร ง.อาทิตตปริยายสูตร
๑๗.ปัญจวัคคีย์ติดตามอุปัฏฐากพระมหาบุรุษ ด้วยหวังอะไร ?
ก.หวังเป็นศาสดาเอก ข.หวังเป็นพระอรหันต์
ค.หวังฟังเทศนาสอนตน ง.หวังมีชื่อเสียงบ้าง
๑๘.ปัญจวัคคีย์คิดอย่างไรต่อพระมหานุรุษ จึงเลิกอุปัฏฐาก ?
ก.กลับมาเป็นคนมักมาก ข.ทำไม่จริง
ค.นั่นไม่ใช่ทางตรัสรู้ ง.จักกลับไปเป็นกษัตริย์
๑๙.ใครบวชด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทารูปแรก ?
ก.พระอัสสชิ ข.พระโกณฑัญญะ
ค.พระวัปปะ ง.พระมหานามะ
๒๐.พระอริยบุคคลชั้นใด ชื่อว่า “อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว” ?
ก.พระโสดาบัน ข.พระสกทาคามี
ค.พระอนาคามี ง.พระมหานามะ
๒๑.ใครอาราธนาพระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ ?
ก.ท้าวพกาพรหม ข.ท้าวสหัมบดีพรหม
ค.ท้าวมหาพรหม ง.ท้าวฆฏิการพรหม
๒๒.ในการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีใครเป็นพยาน ?
ก.พระยามาร ข.ปัญจวัคคีย์
ค.พระแม่ธรณี ง.สักกเทวราช
๒๓.ข้อใด ไม่ได้เกิดขึ้นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ?
ก.ปฐมสาวก ข.ปฐมเทศนา
ค.ปฐมสาวิกา ง.ปฐมพรรษา
๒๔.พระอัญญาโกณฑัญญะ ผู้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์รูปแรกเป็นชาวเมืองไหน ?
ก.กรุงกบิลพัสดุ์ ข.กรุงราชคฤห์
ค.กรุงเทวทหะ ง.กรุงพาราณสี
๒๕. “เบญจขันธ์ เป็นอนัตตา” เป็นใจความของพระสูตรใด ?
ก.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ข.อนัตตลักขณสูตร
ค.อาทิตตปริยายสูตร ง.เวทนาปริคคหสูตร
๒๖.ปัญจวัคคีย์ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เพราะฟังธรรมอะไร ?
ก.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ข.อาทิตตปริยาสูตร
ค.อนัตตลักขณสูตร ง.ธัมมนิยามสูตร
๒๗.อนุพุทธะองค์แรกในพระพุทธศาสนาคือใคร ?
ก.พระอัญญาโกณฑัญญะ ข.พระวัปปะ
ค.พระภัททิยะ ง.พระอัสสชิ
๒๘.พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ใคร เป็นครั้งแรก ?
ก.ปัญจวัคคีย์ ข.อาฬารดาบส
ค.อุทกดาบส ง.ตปุสสะ-ภัลลิกะ
๒๙.ก่อนบวช พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใด ?
ก.ศาสนศาสตร์ ข.ดาราศาสตร์
ค.โหราศาสตร์ ง.ไสยศาสตร์
๓๐.พระอัญญาโกณฑัญญะนิพพานที่ไหน ?
ก.ใกล้สระโบกขรณี เมืองสาวัตถี ข.ใกล้สระฉัททันต์ ป่าหิมพานต์
ค.ใกล้สระอาบน้ำ เมืองราชคฤห์ ง.ใกล้สระล้างบาป เมืองเวสาลี
๓๑.ส่วนสุด ๒ อย่าง อยู่ในพระสูตรใด ?
ก.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ข.อนัตตลักขณสูตร
ค.อาทิตตปริยายสูตร ง.เวทนาปริคคหสูตร
๓๒.มัชฌิมาปฏิปทา มีความหมายว่าอย่างไร ?
ก.การปฏิบัติทางสายกลาง ข.การหมกมุ่นในกาม
ค.การทรมานตน ง.การบรรลุมรรคผล
๓๓.พระธรรมเทศนาใด โกณฑัญญะฟังแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม ?
ก.อนุปุพพิกถา ข.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ค.อนัตตลักขณสูตร ง.อาทิตตปริยายสูตร
๓๔.พระมหาบุรุษทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา เพราะเหตุใด ?
ก.ปัญจวัคคีย์ขอให้เลิก ข.ปัญจวัคคีย์หนีไป
ค.รู้ว่าไม่ใช่ทางตรัสรู้ ง.บรรลุธรรมแล้ว
๓๕.ใครออกบวชพร้อมกับโกณฑัญญะ ?
ก.กิมพิละ ข.ภคุ
ค.อัสสชิ ง.ควัมปติ
๓๖.พระสงฆ์เกิดขึ้นในโลกครั้งแรก ตรงกับวันอะไร ?
ก.วันมาฆบูชา ข.วันวิสาขบูชา
ค.วันอัฏฐมีบูชา ง.วันอาสาฬหบูชา
๓๗.พระสูตรใดว่าด้วยเรื่องสภาวธรรมที่เป็นของร้อน ?
ก.โมคคัลลานสูตร ข.อนัตตลักขณสูตร
ค.อาทิตตปริยายสูตร ง.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
๓๘.พระอุรุเวลกัสสปะ ได้รับยกย่องว่าเป็นเลิศด้านใด ?
ก.อยู่ป่าเป็นวัตร ข.ไม่คลุกคลีด้วยหมู่
ค.มีบริวารมาก ง.ถือธุดงค์เป็นวัตร
๓๙.เพราะเหตุไร พระอุรุเวลกัสสปะจึงขอบวชในพระพุทธศาสนา ?
ก.เพราะถูกพระพุทธเจ้าทรมานด้วยฤทธิ์
ข.เพราะกลัวอภินิหารของพระพุทธเจ้า
ค.เพราะพระพุทธเจ้าทรงขอร้องให้บวช
ง.เพราะพิจารณาเห็นว่าลัทธิตนไม่มีสาระ
๔๐.การบูชาไฟ เป็นข้อปฏิบัติของใคร ?
ก.นิครนถ์ ข.ฤษี
ค.ชฎิล ง
๔๑.นทีกัสสปะ ตั้งอาศรมอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำใด ?
ก.อจิรวดี ข.ยมุนา
ค.เนรัญชรา ง.คยา
๔๒.ข้อใดไม่ใช่ไฟกิเลส ?
ก.ความกำหนัด ข.ความหิวกระหาย
ค.ความหลง ง.ความโกรธ
๔๓. “สิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน เพราะไฟคือราคะ โทสะ โมหะ” เป็นใจความของพระสูตรใด ?
ก.อนุปุพพีกถา ข.อาทิตตปริยายสูตร
ค.อนัตตลักขณสูตร ง.มหาปรินิพพานสูตร
๔๔.พระสาวกรูปใด ก่อนบวชบำเพ็ญพรตด้วยการบูชาไฟ ?
ก.กุมารกัสสปะ ข.พระอุรุเวลกัสสปะ
ค.พระมหากัสสปะ ง.พระมหากัปปินะ
๔๕.ข้อใด ไม่ใช่คุณสมบัติพื้นฐานของชฎิล ๓ พี่น้อง ?
ก.มีชิวิตคู่มาก่อน ข.เป็นนักบวชชฎิลมาก่อน
ค.จบไตรเพทมาก่อน ง.เป็นหัวหน้าชฎิลมาก่อน
๔๖.ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาอย่างหนัก ส่วนภาวธรรมที่เป็นของร้อน ปรากฏในพระสูตรไหน ?
ก.เวทนาปริคคหสูตร ข.อาทิตตปริยายสูตร
ค.อนัตตลักขณสูตร ง.ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
๔๗.พระอุรุเวลกัสสปะ เป็นชาวเมืองไหน ?
ก.ราชคฤห์ ข.สาวัตถี
ค.นาลันทา ง.คยาสีสะ
๔๘.สวนตาลหนุ่ม มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอะไร ?
ก.เชตวัน ข.เวฬุวัน
ค.ลัฏฐิวัน ง.อัมพวัน
๔๙.อุปติสสปริพาชก เคยบวชในลัทธิของใครมาก่อน ?
ก.สัญชัย ข.อชิตะ
ค.ลิจฉวี ง.เดียรถีย์
๕๐.พระธรรมเสนาบดี หมายถึงใคร ?
ก.พระพุทธเจ้า ข.พระสารีบุตร
ค.พระอานนท์ ง.พระปุณณมันตานีบุตร
๕๑.พระสาวกรูปใด เป็นแบบอย่างเรื่องความกตัญญู ?
ก.พระราธะ ข.พระสารีบุตร
ค.พระอานนท์ ง.พระอนุรุทธะ
๕๒.ใครเป็นพระอุปัชฌาย์รูปแรก ในการบวชสามเณร ?
ก.พระโมคคัลลานะ ข.พระอุบาลี
ค.พระสารีบุตร ง.พระมหากัสสปะ
๕๓.มารดาของพระสารีบุตร มีนามว่ากระไร ?
ก.นางสาลี ข.นางกาลี
ค.นางสารี ง.นางกาสี
๕๔.ท่านใดต่อไปนี้ มิได้เกี่ยวข้องกับพระสารีบุตรในฐานะญาติ ?
ก.จุนทมาณพ ข.อุปเสนมาณพ
ค.เรวตมาณพ ง.สาคตมาณพ
๕๕.ใครเป็นเพื่อนของอุปติสสะ ลูกชายนางสารีพราหมณี ?
ก.ตปุสสพราหมณ์ ข.วังคันตพราหมณ์
ค.พระอัสสชิเถระ ง.โกลิตมาณพ
๕๖.ข้อใด ไม่ใช่คำพูดของพระอัสสชิ ?
ก.เราเป็นผู้ใหม่ ข.บวชยังไม่นาน
ค.เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้ ง.อาจแสดงธรรมโดยพิสดาร
๕๗. “ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด” หมายถึงอะไร ?
ก.ทุกข์ ข.สมุทัย
ค.นิโรธ ง.มรรค
๕๘.ใครถามว่า “ในโลกนี้ คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก ?
ก.สัญชัย ข.โกลิตะ
ค.อาชีวก ง.พระเจ้าพิมพิสาร
๕๙.พระอัสสชิเป็นอาจารย์ของใคร ซึ่งมีชื่อเสียงในกาลต่อมา
ก.พระโมคคัลลานะ ข.พระสารีบุตร
ค.พระยสะ ง.พระมหานามะ
๖๐.ใครแสดงธรรมจักรและอริยสัจได้เหมือนกับพระพุทธองค์?
ก.พระอุรุเวลกัสสปะ ข.พระสารีบุตร
ค.พระมหากัสสปะ ง.พระมหากัจจายนะ
๖๑.ก่อนนิพพานพระสารีบุตรไปโปรดมารดา เพราะเหตุใด ?
ก.มารดาไม่มีศรัทธา ข.มารดามีศรัทธา
ค.มารดานิมนต์ ง.มารดาขอบวช
๖๒.พระสาวกรูปใด อุปมาเหมือนมารดาผู้ให้เกิด ?
ก.พระสารีบุตร ข.พระโมคคัลลานะ
ค.พระมหากัสสปะ ง.พระมหากัจจายนะ
๖๓.อุปติสสะ ได้ดวงตาเห็นธรรม เพราะฟังธรรมจากใคร ?
ก.พระพุทธเจ้า ข.พระอัญญาโกณฑัญญะ
ค.พระอัสสชิ ง.พระยสะ
๖๔.พระสาวกรูปใด บวชแล้วไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ภายใน ๗ วัน ?
ก.พระอัสสชิ ข.พระอุรุเวลกัสสปะ
ค.พระสารีบุตร ง.พระโมคคัลลานะ
๖๕.พระสารีบุตรได้รับตำแหน่งใด ในพระพุทธศาสนา ?
ก.อัครสาวกเบื้องซ้าย ข.อัครสาวกเบื้องขวา
ค.ภัตตุทเทสก์ ง.พุทธอุปัฏฐาก
๖๖. “ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านหมดจดผ่องใส ท่านบวชจำเพาะใคร” เป็นคำพูดของใคร ?
ก.อุปติสสะ ข.โกลิตะ
ค.ทีฆนขะ ง.ปุณณกะ
๖๗.พระสาวกรูปใด นำอัฐิของพระสารีบุตรกลับมาถวายพระศาสดา ?
ก.พระมหาโมคคัลลานะ ข.พระราหุล
ค.พระเรวตะ ง.พระจุนทะ
๖๘.ผู้ใด เป็นตัวอย่างในเรื่องดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ?
ก.ตปุสสะ-ภัลลิกะ ข.อุปติสสะ-โกลิตะ
ค.วัปปะ-ภัททิยะ ง.มหานามะ-อัสสชิ
๖๙.อุปติสสะเลื่อมใสพระอัสสชิ เพราะเห็นอะไร ?
ก.รูปร่างดี ข.บุคลิกภาพดี
ค.สำรวมระวังดี ง.เทศน์ไพเราะดี
๗๐.อุปติสสะกับพระสารีบุตร เกี่ยวข้องกันอย่างไร ?
ก.อุปติสสะเป็นพี่ ข.พระสารีบุตรเป็นพี่
ค.เป็นคนเดียวกัน ง.เป็นเพื่อนกัน
๗๑.พระศาสดา ตรัสอุบายแก้ความง่วงให้แก่ใคร ?
ก.ทีฆนขปริพาชก ข.พระยสะ
ค.พระสารีบุตร ง.พระโมคคัลลานะ
๗๒.นวกัมมาธิฏฐายี หมายถึงผู้ทำหน้าที่อะไร ?
ก.ผู้สาธยายมนต์ ข.ผู้ปรารภวิปัสสนา
ค.ผู้ปัดกวาดบริเวณวิหาร ง.ผู้ดูแลการก่อสร้าง
๗๓.คำว่า “ไม่ชูงวงเข้าไปสู่สกุล” หมายความว่าอะไร ?
ก.ไม่ถือตัว ข.ไม่พูดมาก
ค.ต้องสำรวม ง.ต้องเข้าไปผู้เดียว
๗๔. “เราจักไม่ชูงวงคือถือตัว เข้าไปสู่สกุล” พระพุทธเจ้าตรัสที่ไหน ?
ก.ถ้ำสุกรขาตา ข.บ้านนางโมคคัลลี
ค.บ้านกัลลวาลมุตตคาม ง.บ้านเวฬุวคาม
๗๕.อัฐิธาตุของพระโมคคัลลานะบรรจุไว้ที่ใด ?
ก.ใกล้ประตูเวฬุวนาราม ข.ใกล้ประตูเวฬุวคาม
ค.ใกล้ประตูบุพพาราม ง.ใกล้ประตูเชตวนาราม
๗๖.ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นพระธรรมราชา คือใคร ?
ก.พระพุทธเจ้า ข.พระสารีบุตร
ค.พระอานนท์ ง.พระมหากัสสปะ
๗๗.บ้านกัลลวาลมุตตคาม เกี่ยวข้องกับพระอรหันต์รูปใด ?
ก.พระสารีบุตร ข.พระมหากัสสปะ
ค.พระมหาโมคคัลลานะ ง.พระปุณณมันตานีบุตร
๗๘.ใครเป็นทั้งมิตรแท้ เป็นทั้งอาจารย์ของโกลิตะ ?
ก.พระอัสสชิ ข.อุปติสสะ
ค.พาวรี ง.สัญชัย
๗๙.ใครได้รับการอุปสมบท ด้วยการรับโอวาท ๓ ข้อ ?
ก.พระอุรุเวลกัสสปะ ข.พระนทีกัสสปะ
ค.พระคยากัสสปะ ง.พระมหากัสสปะ
๘๐.ข้อใด ไม่ใช่ธุดงค์ ๓ อย่างที่พระมหากัสสปะถือประจำ ?
ก.ทรงผ้าบังสุกุล ข.เที่ยวบิณฑบาต
ค.อยู่ป่า ง.อยู่โคนไม้
๘๑.พระมหากัสสปะทราบข่าวพระพุทธเจ้าปรินิพพานจากนักบวชกลุ่มใด ?
ก.นิครนถ์ ข.อเจลก
ค.อาชีวก ง.ชฎิล
๘๒.พระมหากัสสปะนิพพานที่เมืองใด ?
ก.เมืองสาวัตถี ข.เมืองราชคฤห์
ค.เมืองเวสาลี ง.เมืองสาเกต
๘๓.พระสาวกรูปใด ชอบอยู่ป่าปฏิบัติกัมมัฏฐาน ?
ก.พระอุรุเวลกัสสปะ ข.พระโมคคัลลานะ
ค.พระมหากัสสปะ ง.พระกุมารกัสสปะ
๘๔.พระมหาเถระผู้คิดริเริ่มในการทำสังคายนาครั้งแรก คือใคร ?
ก.พระอุรุเวลกัสสปะ ข.พระมหากัสสปะ
ค.พระอานนท์ ง.พระอุบาลี
๘๕.พระมหากัสสปะออกบวช เพราะเห็นโทษในการครองเรือนอย่างไร ?
ก.ต้องรับผิดชอบมาก ข.ต้องคอยรับบาปคนอื่น
ค.ต้องทำแต่บาปกรรม ง.ต้องพัวพันกับเรื่องกาม
เฉลย
๑.ข ๒.ก ๓.ก ๔.ง ๕.ค
๖.ง ๗.ก ๘.ง ๙.ข ๑๐.ง
๑๑.ก ๑๒.ง ๑๓.ข ๑๔.ข ๑๕.ก
๑๖.ข ๑๗.ค ๑๘.ก ๑๙.ข ๒๐.ง
๒๑.ข ๒๒.ข ๒๓.ค ๒๔.ก ๒๕.ข
๒๖.ค ๒๗.ก ๒๘.ก ๒๙.ค ๓๐.ข
๓๑.ก ๓๒.ก ๓๓.ข ๓๔.ค ๓๕.ค
๓๖.ง ๓๗.ค ๓๘.ค ๓๙.ง ๔๐.ค
๔๑.ค ๔๒.ข ๔๓.ข ๔๔.ข ๔๕.ก
๔๖.ข ๔๗.ก ๔๘.ค ๔๙.ก ๕๐.ข
๕๑.ข ๕๒.ค ๕๓.ค ๕๔.ง ๕๕.ง
๕๖.ง ๕๗.ก ๕๘.ก ๕๙.ข ๖๐.ข
๖๑.ก ๖๒.ก ๖๓.ค ๖๔.ค ๖๕.ข
๖๖.ก ๖๗.ง ๖๘.ข ๖๙.ค ๗๐.ค
๗๑.ง ๗๒.ง ๗๓.ก ๗๔.ค ๗๕.ก
๗๖.ก ๗๗.ค ๗๘.ข ๗๙.ง ๘๐.ง
๘๑.ค ๘๒.ข ๘๓.ค ๘๔.ข ๘๕.ข
ที่อยู่ : 23/2 หมู่ 7 โรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
dummy 02-831-1000 ต่อ 13710