เก็บตกข้อสอบสนามหลวง พุทธประวัติ นักธรรมตรี

บทนำ

๑. การเรียนรู้พุทธประวัติได้ประโยชน์อย่างไร ? (๒๕๕๒)
     ตอบ 
ได้ประโยชน์ ๒ ประการ คือ 
                ๑.  ในด้านการศึกษา ทำให้ทราบความเป็นมาของพระพุทธเจ้า เช่นเดียวกับการศึกษาตำนานความเป็นมาของชาติตน ทำให้บุคคลได้ทราบว่าชาติของตนเป็นมาอย่างไร  มีความสำคัญอย่างไรเป็นต้น
                ๒. ในด้านปฏิบัติ  ทำให้บุคคลได้แนวในการดำเนินชีวิตตามพระพุทธจริยา อันเป็นปฏิปทานำความสุขความเจริญมาให้แก่บุคคล ตามสมควรแก่การประพฤติปฏิบัติ ฯ

๒. พุทธประวัติว่าด้วยเรื่องอะไร ?  มีความสำคัญอย่างไรที่ต้องเรียนรู้ ? (๒๕๔๙)
     ตอบ 
ว่าด้วยเรื่องความเป็นมาของพระพุทธเจ้า เป็นการแสดงพระพุทธจริยาในด้านต่างๆ ของพระองค์ให้ปรากฏ ฯ มีความสำคัญในการศึกษาและปฏิบัติพระพุทธศาสนา เพราะแสดงพระพุทธจริยาให้ปรากฏเช่นเดียวกับตำนานย่อมมีความสำคัญต่อชาติของตนที่ให้รู้ได้ว่าชาติได้เป็นมาแล้วอย่างไร ฯ

ปริเฉทที่ ๑  ชมพูทวีปและประชาชน

๑. คนในชมพูทวีปแบ่งออกเป็นกี่วรรณะ ? อะไรบ้าง ? (๒๕๕๖)
     ตอบ 
แบ่งเป็น ๔ วรรณะ ฯคือ วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์ และวรรณะศูทร์ ฯ

๒. ประชาชนในชมพูทวีป มีกี่จำพวก ? จำพวกไหนบ้าง ? (๒๕๕๔)
     ตอบ 
มี ๒ จำพวก คือ
               ๑. มิลักขะ เจ้าของถิ่นเดิม
               ๒. อริยกะ พวกอพยพมาใหม่ ฯ
               (หรือจะตอบว่า มี ๔ จำพวก หรือวรรณะ ๔ ก็ได้)

๓. ศากยวงศ์สืบเชื้อสายมาจากชนชาติใด ? ชนชาตินั้นมาตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปได้อย่างไร ? (๒๕๕๓)
     ตอบ 
สืบเชื้อสายมาจากชนชาติอริยกะ ฯ ชาวอริยกะนั้นเป็นผู้เจริญด้วยความรู้และขนบธรรมเนียม มีอำนาจมากกว่าพวกมิลักขะเจ้าของถิ่นเดิม เมื่อข้ามภูเขาหิมาลัยมาก็รุกไล่พวกมิลักขะ เจ้าของถิ่นเดิมให้ถอยร่นลงมาทางใต้แล้วเข้าตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปแทน ฯ

๔. คนในชมพูทวีปแบ่งเป็นกี่วรรณะ ? อะไรบ้าง ? พระพุทธบิดาอยู่ในวรรณะอะไร ? (๒๕๕๑)
     ตอบ 
แบ่งเป็น ๔ วรรณะ ฯ   คือ วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะแพศย์ วรรณะศูทร ฯ อยู่ในวรรณะกษัตริย์ ฯ

๕. ประชาชนในชมพูทวีปแบ่งออกเป็นกี่วรรณะ ?  อะไรบ้าง ? มีหน้าที่ต่างกันอย่างไร ? (๒๕๔๘)
     ตอบ 
แบ่งออกเป็น ๔ วรรณะ คือ
                ๑. กษัตริย์ มีหน้าที่ปกครอง
                ๒. พราหมณ์ มีหน้าที่ทางฝึกสอนและทำพิธี
                ๓. แพศย์ มีหน้าที่ทางทำนาค้าขาย
                ๔. ศูทร มีหน้าที่รับจ้าง ฯ

๖. พระพุทธเจ้าสืบเชื้อสายมาจากชนชาติใด ?  ชนชาตินั้นมาตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปได้อย่างไร ? (๒๕๔๗)
     ตอบ 
สืบเชื้อสายมาจากชนชาติอริยกะ ชาวอริยกะนั้นเป็นผู้เจริญด้วยความรู้และขนบธรรมเนียม มีฤทธิ์มีอำนาจมากกว่าพวกมิลักขะเจ้าของถิ่นเดิม เมื่อข้ามภูเขาหิมาลัยมาก็รุกไล่พวกมิลักขะ เจ้าของถิ่นเดิมให้ถอยเลื่อนลงมาทางใต้ แล้วเข้าตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีปแทน ฯ

ปริเฉทที่ ๒  สักกชนบทและศากยวงศ์

๑. พระพุทธบิดาทรงมีพระนามว่าอะไร ? ทรงปกครองแคว้นอะไร ? เมืองหลวงชื่ออะไร ? (๒๕๕๖)
     ตอบ 
พระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ ฯแคว้นสักกะ ฯชื่อกบิลพัสดุ์ ฯ

๒. บุคคลต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับพระมหาบุรุษในฐานะใด? (๒๕๕๕)
    ก.พระเจ้าสีหหนุ  ข.พระนางมหาปชาบดีโคตมีค.พระนางยโสธรา ฆ.นายฉันนะ   ง.นางสุชาดา
     ตอบ 
ก. พระเจ้าสีหหนุ เป็นพระเจ้าปู่
                ข. พระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นพระน้านาง หรือพระมารดาเลี้ยง
                ค. พระนางยโสธร เป็นพระชายา
                ฆ. นายฉันนะ เป็นผู้ตามเสด็จคราวเสด็จออกบรรพชา
                ง.นางสุชาดา เป็นผู้ถวายข้าวมธุปายาสก่อนแต่ตรัสรู้ 

๓. พระนามและนามดังต่อไปนี้ เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะอย่างไร ? (๒๕๔๗)
               ก. พระเจ้าสุทโธทนะ
      ข. พระนางเจ้าสิริมหามายา
      ค. พระนันทะ
      ง. วิศวามิตร
      จ. นายฉันนะ
     ตอบ 
ก. พระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระราชบิดา
                  ข. พระนางเจ้าสิริมหามายา เป็นพระราชมารดา
                  ค. พระนันทะ เป็นพระกนิษฐภาดาต่างพระมารดา
                  ง. วิศวามิตร เป็นครูผู้สอนศิลปวิทยาเมื่อยังทรงพระเยาว์
                  จ. นายฉันนะ เป็นผู้ตามเสด็จในคราวออกผนวช ฯศาสนพิธี

ปริเฉทที่ ๓  พระศาสดาประสูติ

๑. อสิตดาบส อาฬารดาบส และอุทกดาบส มีความเกี่ยวข้องกับพระมหาบุรุษอย่างไร ? (๒๕๕๖)
     ตอบ : 
อสิตดาบส เป็นผู้คุ้นเคยเป็นที่เคารพนับถือของศากยสกุล ในเวลาที่พระมหาบุรุษประสูติใหม่ๆ ท่านได้ไปเยี่ยม และได้พยากรณ์ทำนายพระลักษณะของพระมหาบุรุษ ว่ามีคติเป็น ๒ ก่อนคนอื่นทั้งหมด อาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นผู้ที่พระองค์ได้เคยอยู่อาศัยศึกษาลัทธิของท่านทั้ง ๒ ฯ

๒. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระราชบิดาโปรดให้ทำอะไรเพื่อพระราชกุมารบ้าง ? (๒๕๕๖)
     ตอบ : 
โปรดให้ชุมนุมพระญาติวงศ์ และเสนามาตย์พร้อมกับเชิญพราหมณ์ร้อยแปดคนมาฉันโภชนาหาร แล้วทำมงคลรับพระลักษณะ และขนานพระนามว่าสิทธัตถกุมาร ฯ

๓. เมื่อพระมหาบุรุษมีพระชนมายุได้ ๗ ปี ๑๖ ปี ๒๙ ปี มีเหตุการณ์สำคัญเกิดแก่พระองค์อะไรบ้าง ? (๒๕๕๔)
     ตอบ : 
เมื่อพระชนมายุได้ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสสั่งให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระในพระราชวัง ให้เป็นที่เล่นสำราญแก่พระองค์เมื่อพระชนมายุได้ ๑๖ ปี พระราชบิดาตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ หลังเพื่อเป็นที่เสด็จอยู่ใน ๓ ฤดู และตรัสขอพระนางยโสธรามาอภิเษกเป็นพระชายาเมื่อพระชนมายุได้ ๒๙ ปี ได้พระโอรสนามว่าพระราหุลกุมาร และเสด็จออกบรรพชา ฯ

๔. ภายใน ๗ วัน หลังจากสิทธัตถะราชกุมารประสูติแล้ว มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นแก่พระองค์อย่างไรบ้าง ? (๒๕๕๓)
     ตอบ 
๑. เมื่อประสูติแล้วใหม่ ๆ อสิตดาบส (หรือกาฬเทวิลดาบส) เข้าไปเฝ้าเยี่ยมและทำนายพระลักษณะ
                 ๒. วันที่ ๕ พระเจ้าสุทโธทนะเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาฉันโภชนาหารและขนานพระนามพระราชกุมารว่าสิทธัตถกุมาร
                 ๓. วันที่ ๗ พระราชมารดาทิวงคต ฯ

๕. อสิตดาบสได้ทำนายสิทธัตถกุมารไว้อย่างไร ? (๒๕๕๑)
     ตอบ 
ทำนายไว้ว่า ถ้าอยู่ครองสมบัติ จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิถ้าออกบวช จักได้เป็นพระศาสดาเอกในโลก ฯ

๖. เมื่อพระพุทธเจ้าประสูติได้ ๕ วัน และ ๗ วัน มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้น ? (๒๕๕๐)
     ตอบ 
เมื่อประสูติได้ ๕ วัน พระราชบิดาเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาฉันโภชนาหาร ทำนายพระลักษณะและขนานพระนาม  และเมื่อประสูติได้ ๗ วัน  พระราชมารดาเสด็จสวรรคต ฯ  

๗. พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันใด ?   ที่ไหน ? (๒๕๕๐)
     ตอบ 
ประสูติในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๘๐ ปีตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศก ๔๕ ปีและปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๖ ปีตั้งต้นพุทธศก ฯส่วนสถานที่นั้น คือ ประสูติที่ใต้ร่มไม้สาละในลุมพินีวัน ระหว่าง กรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะตรัสรู้ที่ใต้ต้นโพธิ์ (อัสสัตถพฤกษ์) ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ปรินิพพานที่ป่าไม้สาละ (สาลวโนทยาน) เมืองกุสินารา ฯ

๘. เจ้าชายนันทกุมารกับเจ้าหญิงรูปนันทา เป็นพระโอรสและพระธิดาของใคร ?  มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถกุมารอย่างไร ? (๒๕๕๐)
     ตอบ 
เป็นพระโอรสและพระธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางปชาบดีโคตมี ฯ   มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถกุมารโดยเป็นพระกนิฏฐภาดาและ กนิฏฐภคินีต่างพระมารดา ฯ

๙. เหตุการณ์ที่เงาต้นหว้าในเวลาบ่ายแล้วไม่คล้อยไปตามตะวัน กลับตั้งอยู่ดุจเวลาเที่ยง  ปรากฏเมื่อคราวพระมหาบุรุษทรงทำอะไรอยู่ ? (๒๕๕๐)
     ตอบ 
ทรงนั่งขัดบัลลังก์สมาธิ เจริญอานาปานสติกัมมัฏฐาน ทำปฐมฌาน   ให้เกิดขึ้น ฯ

๑๐. พระนามและนามต่อไปนี้ เกี่ยวข้องกับเจ้าชายสิทธัตถะอย่างไร ? (๒๕๔๙)
     ๑. มหาปชาบดีโคตมี
     ๒. อสิตดาบส (กาฬเทวิลดาบส)
     ตอบ 
๑. มหาปชาบดีโคตมี เป็นพระมาตุจฉา คือพระน้านางของเจ้าชายสิทธัตถะ
                 ๒. อสิตดาบส (กาฬเทวิลดาบส) คือ ดาบสผู้เป็นที่คุ้นเคยของราชสกุล ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าสุทโธทนะ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติใหม่ๆ และพยากรณ์ว่า พระราชกุมารจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช หรือศาสดาเอกในโลก ฯ

๑๑. ในวันเสด็จแรกนาขวัญ พระเจ้าสุทโธทนะบังคมสิทธัตถราชกุมารผู้ประทับนั่งใต้ต้นหว้า เพราะเหตุไร ? (๒๕๔๘)
     ตอบ 
เพราะทรงเห็นอัศจรรย์ในขณะที่สิทธัตถราชกุมารประทับนั่งใต้ต้นหว้า เงาของต้นหว้าไม่คล้อยไปตามตะวัน แม้จะเป็นเวลาบ่ายแล้ว ยังดำรงอยู่เสมือนเที่ยงวัน ฯ

๑๒. การที่พระราชบิดาและพระญาติวงศ์ คิดผูกพันเจ้าชายสิทธัตถะไว้ให้เพลิดเพลินอยู่ในกามสุขเพราะเหตุไร ? และด้วยวิธีใด ? (๒๕๔๗)
     ตอบ 
นี้จักมีคติเป็นสอง คือ ถ้าอยู่ครองราชสมบัติจักได้เป็นจักรพรรดิราช  หรือถ้าออกบรรพชาจักได้เป็นศาสดาเอกในโลก  จึงปรารถนาให้อยู่ครองราชสมบัติมากกว่าที่จะยอมให้เสด็จออกบรรพชา ฯ ด้วยการตรัสให้ขุดสระโบกขรณีในพระราชนิเวศน์ ๓ สระ เพื่อให้เป็นที่เล่นสำราญพระราชหฤทัย ให้จัดเครื่องทรง คือจันทน์สำหรับทา ผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์  ผ้าทรงสะพัก พระภูษา ล้วนเป็นของประณีต ให้สร้างปราสาท ๓ หลังสำหรับเป็นที่ประทับทั้ง ๓ ฤดู  ตรัสขอพระนางยโสธรามาอภิเษกเป็นพระชายา ฯ

ปริเฉทที่ ๔  เสด็จออกบรรพชา

๑. พระมหาบุรุษทรงทอดพระเนตรเห็นคนแก่คนเจ็บคนตาย และบรรพชิตแล้วทรงดำริอย่างไร ? (๒๕๕๖)
     ตอบ 
เมื่อทรงเห็นคนแก่คนเจ็บคนตายแล้ว ทรงน้อมเข้ามาเปรียบกับพระองค์เองเกิดความสังเวชว่า เราจะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายเช่นกัน เมื่อทรงเห็นบรรพชิต ทรงดำริว่า สาธุโขปพฺพชฺชา บวชดีนักแล ฯ

๒. พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชา เพราะทรงปรารภเหตุอะไร? (๒๕๕๕)
     ตอบ 
พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชา เพราะทรงปรารภความแก่ ความเจ็บ ความตาย อันครอบงำมหาชนทุกคน อีกนัยหนึ่ง เพราะทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ทรงสลดพระทัยเพราะไม่เคยพบเห็นมาแต่ก่อน ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะเข้าเกิดพระทัยในการบรรพชา ฯ

๓. พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา ตรัสรู้ และปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุเท่าไรบ้าง ? (๒๕๕๓)
     ตอบ 
เสด็จออกบรรพชา เมื่อมีพระชนมายุ ๒๙ ปีตรัสรู้ เมื่อมีพระชนมายุ ๓๕ ปีปรินิพพาน เมื่อมีพระชนมายุ๘๐ ปี ฯ

๔. เทวทูต ๔ ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นคืออะไรบ้าง ?   ทรงเห็นแล้ว มีพระดำริอย่างไร ? (๒๕๕๒)
     ตอบ 
คือ  คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ฯ  ทรงมีพระดำริว่า  บุคคลทั่วไปถูกความเจ็บ ความแก่ ความตายครอบงำไม่ล่วงพ้นไปได้ ถึงพระองค์เองก็มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ควรแสวงหาอุบายเครื่องพ้น  แต่ฆราวาสเป็นที่คับแคบ ดุจเป็นทางที่มาแห่งธุลี  บรรพชาเป็นช่องว่าง พอที่จะแสวงหาอุบายนั้นได้ จึงน้อมพระหฤทัยไปในบรรพชา ฯ

๕. เจ้าชายสิทธัตถะทรงปรารภอะไรจึงเสด็จออกบรรพชา ? หลังจากบรรพชาแล้วกี่ปีจึงตรัสรู้ ? (๒๕๔๙)
     ตอบ 
ทรงปรารภความแก่ ความเจ็บ ความตาย และสมณะ (เทวทูต ๔) ฯ   ๖ ปี จึงตรัสรู้ ฯ

๖. พระมหาบุรุษเสด็จออกบรรพชา เพราะทอดพระเนตรเห็นอะไร ?  และเมื่อเห็นแล้วทรงพระดำริอย่างไร ? (๒๕๔๙)
     ตอบ 
เพราะทอดพระเนตรเห็นเทวทูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ฯ   ทรงพระดำริว่า บุคคลทั่วไปเมาอยู่ในวัย ในความไม่มีโรค และในชีวิต ถูกความเจ็บ ความแก่ ความตายครอบงำ ไม่ล่วงพ้นไปได้ ถึงพระองค์เองก็มีอย่างนั้นเป็นธรรมดา ควรแสวงหาอุบายเครื่องพ้น ธรรมดาสภาวะทั้งปวงย่อมมีของที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามแก้กัน เช่นมีร้อนก็ต้องมีเย็นแก้ มีมืดก็ต้องมีสว่างแก้  แต่ฆราวาสเป็นที่คับแคบ ดุจเป็นทางที่มาแห่งธุลี บรรพชาเป็นช่องว่าง พอที่จะแสวงหาอุบายนั้นได้ จึงน้อมพระทัยไปในบรรพชา ฯ

ปริเฉทที่ ๕  ตรัสรู้

๑. พระมหาบุรุษเสด็จประทับบำเพ็ญเพียรจนถึงตรัสรู้ ณ ตำบลใด ? (๒๕๕๖)
     ตอบ 
ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ฯ

๒. ทุกรกิริยา คืออะไร? พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาด้วยอย่างไรบ้าง? จงบอกมา ๑ ข้อ (๒๕๕๕)
     
ตอบ ทุกรกิริยา คือ การทรมานกายให้ลำบาก ฯพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ๓ วาระ
               ๑.ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ (กัดฟัน) กดพระตาลุด้วยพระชิวหา (เอาลิ้นดุนเพดาน) ไว้จนแน่จนพระเสโท (เหงื่อ) ไหลออกจากพระกัจฉะ (รักแร้)
               ๒.ทรงผ่อนกลั้นลมหายใจเข้าออก
               ๓.ทรงอดพระกระยาหาร

๓. พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ณ ที่ไหน ? ผู้ที่รู้เห็นเป็นพยานในเรื่องนี้คือใคร ? (๒๕๕๔)
     
ตอบ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ฯคือ พระปัญจวัคคีย์ ฯ

๔. พระมหาบุรุษได้ทรงศึกษาในสำนักอาฬารดาบสและอุทกดาบสจนจบวิชาความรู้ของอาจารย์ การที่กล่าวว่าพระองค์ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เองโดยไม่มีใครเป็นครูอาจารย์ นั้นเพราะเหตุไร ? (๒๕๕๔)
     
ตอบ เพราะความรู้ที่เรียนในสำนักดาบสทั้ง ๒ นั้น เป็นโลกิยธรรม ส่วนความรู้ที่ตรัสรู้เองนั้น เป็นโลกุตรธรรมที่ไม่มีใครรู้มาก่อน ฯ

๕. ปัญจวัคคีย์ คือใคร ? มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าขณะที่ยังทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างไร ? (๒๕๕๓)
     
ตอบ : คือ นักบวชกลุ่มหนึ่ง มีทั้งหมด ๕ คน มีท่านโกณทัญญะเป็นหัวหน้า ฯได้ตามเสด็จ คอยอุปัฏฐากรับใช้อยู่ตลอดเวลา ฯ

๖. การที่พระมหาบุรุษทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยานั้น เพราะเหตุไร ? (๒๕๕๒)
     ตอบ 
เพราะทรงดำริว่า  ทุกกรกิริยาที่ทรงบำเพ็ญนั้นจะยิ่งไปกว่านี้ไม่มี   แต่ก็ไม่เป็นทางให้ตรัสรู้ได้ การบำเพ็ญเพียรทางจิตจักเป็นทางตรัสรู้ได้กระมัง  แต่คนซูบผอมเช่นนี้ไม่สามารถทำได้   จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา  กลับมาเสวยพระอาหารตามปกติ ฯ

๗.พระญาณที่เกิดขึ้นแก่พระมหาบุรุษในวันที่ตรัสรู้นั้น คืออะไรบ้าง ? (๒๕๔๘)
     ตอบ 
คือ  ๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  ญาณเป็นเครื่องระลึกถึงชาติหนหลังของพระองค์ได้
                        ๒. จุตูปปาตญาณหรือทิพพจักขุญาณ ญาณหยั่งรู้การจุติและการเกิดของสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามกรรม
                        ๓. อาสวักขยญาณ ญาณเป็นเหตุสิ้นอาสวะอันหมักหมมอยู่ในจิตตสันดาน ฯ

ปริเฉทที่ ๖  เสวยวิมุตติสุข

๑.  เมื่อพระศาสดาเสด็จไปเมืองพาราณสีเพื่อโปรดปัญจวัคคีย์ ทรงพบใครในระหว่างทาง ? และหลังสนทนากันแล้วผู้นั้นได้บรรลุผลอะไร ? (๒๕๕๖)
     ตอบ 
ทรงพบอุปกาชีวก ฯไม่ได้บรรลุผลอะไร ฯ

๒. บุคคลผู้แสดงตนเป็นอุบาสกด้วยการถึงรัตนะ ๒ และรัตนะ ๓ เป็นคนแรกคือใคร ? (๒๕๕๖)
     ตอบ 
ผู้ถึงรัตนะ ๒ คือตปุสสะและภัลลิกะ ฯ, ผู้ถึงรัตนะ ๓ คือ บิดาพระยสะ ฯ

๓. พระพุทธเจ้าทรงตัดสินพระทัย จะแสดงธรรมแก่ปัญจวัคคีย์ก่อนเพราะเหตุไร? (๒๕๕๕)
     ตอบ 
เพราะทรงระลึกถึงอุปการคุณของปัญจวัคคีย์ที่ได้คอยอุปัฏฐากพระองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ฯ

๔. พระสาวกผู้บรรลุพระโสดาบัน และ พระอรหันต์ ครั้งแรกคือใคร? (๒๕๕๕)
     ตอบ 
พระโสดาบัน คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ฯ  พระอรหันตสาวก คือ พระปัญจวัคคีย์ ฯ

๕. พระอัญญาโกณฑัญญะได้ชื่อว่าเป็นปฐมสาวก เพราะเหตุไร ? (๒๕๕๔)
     ตอบ 
เพราะได้ฟังธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จนได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นองค์แรก ฯ

๖. เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ พระองค์ทรงพิจารณาบุคคลผู้สามารถจะตรัสรู้ธรรมได้โดยเปรียบเทียบกับบัว ๓ เหล่า อย่างไรบ้าง ? (๒๕๕๓)
     ตอบ ๑. บุคคลบางคน มีกิเลสน้อย มีอินทรีย์แก่กล้า เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้โดยง่าย อาจจะตรัสรู้ธรรมพิเศาได้โดยฉับพลัน เปรียบเหมือนบัวที่ตั้งอยู่พ้นน้ำ เมื่อถูกแสงอาทิตย์ก็จักบานในวันนั้น
                 ๒. บุคคลบางคน มีกิเลสปานกลาง มีอินทรีย์ปานกลาง เป็นผู้จะพึงสอนให้รู้ได้เมื่อได้รับคำแนะนำ เปรียบเหมือนบัวที่ตั้งอยู่เสมอน้นจักบานในวันพรุ่งนี้
                 ๓. บุคคลบางคน มีกิเลสหนา มีอินทรีย์อ่อน เมื่อได้รับการสั่งสอนอบรมอยู่เสมอ ๆ ก็จะสามารถบรรลุธรรมได้ เปรียบเหมือนบัวที่ตั้งอยู่ในน้ำ จักบานในวันต่อ ๆ ไป ฯ

๗. อนัตตลักขณสูตร ว่าด้วยเรื่องอะไร ? ทรงแสดงเมื่อไร ? ผลเป็นอย่างไร ? (๒๕๕๒)
     ตอบ 
ว่าด้วย ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ฯ   เมื่อวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ฯ  ผล  คือจิตของพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕  พ้นแล้วจากอาสวะ  ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ฯ

๘. พระกระยาหารมื้อแรกของพระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้คืออะไร ?   ใครเป็นผู้ถวาย ? (๒๕๕๑)
     ตอบ 
คือ ข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อน ฯ พ่อค้า ๒ คน ชื่อตปุสสะและภัลลิกะ ฯ

๙. พระอรหันตสาวก ๕ รูปแรก คือใครบ้าง ? (๒๕๕๑)
     ตอบ 
คือ ๑. พระโกณฑัญญะ ๒. วัปปะ ๓. ภัททิยะ ๔. มหานามะ ๕. อัสสชิ ฯ

๑๐. ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรมนั้น คือเห็นว่าอย่างไร ?   ได้เกิดขึ้นแก่    ผู้ใดเป็นคนแรก ? (๒๕๕๐)
     ตอบ 
เห็นว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา” ฯ   เกิดแก่โกณฑัญญพราหมณ์เป็นคนแรก ฯ

๑๑. ในปฐมเทศนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงอริยสัจไว้เท่าไร ?  อะไรบ้าง ? (๒๕๔๙)
     ตอบ 
ทรงแสดงอริยสัจไว้ ๔ ประการ ฯ   คือ 
                ๑. ทุกข์
                ๒. สมุทัย
                ๓. นิโรธ
                ๔. มรรค ฯ

๑๒. หลังจากตรัสรู้แล้ว ในระหว่างทางที่เสด็จไปป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธองค์ทรงสนทนากับใคร ?  และผู้นั้นได้บรรลุธรรมชั้นไหน ? (๒๕๔๗)
     ตอบ 
ทรงพบอุปกาชีวก ฯ  อุปกาชีวกไม่ได้บรรลุธรรมชั้นไหนเลย ฯ

ปริเฉทที่ ๗  ส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา

๑. “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เป็นคำอุทานของใคร? (๒๕๕๕)
     
ตอบ คำอุทานของ ยสะกุลบุตร ฯ

๒. คำว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เป็นคำอุทานของใคร ? ความวุ่นวายขัดข้องนั้นสงบลงได้อย่างไร ? (๒๕๕๔)
     
ตอบ ของยสกุลบุตร ฯได้โดยการฟังพระธรรมเทศนา อนุปุพพีกถาและอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโปรด ฯ

๓. ฆราวาสที่บรรลุพระอรหัตผลคนแรกคือใคร ? เพราะฟังธรรมอะไร ? (๒๕๕๒)
     
ตอบ : คือ ยสกุลบุตร ฯ   เพราะฟังอนุปุพพีกถา และอริยสัจ ๔ ฯ

๔. พระพุทธเจ้าทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรแก่ใคร ? ที่ไหน ? (๒๕๕๑)
     ตอบ 
แก่ชฎิล ๓ พี่น้อง และบริวาร ๑,๐๐๐ คน ฯ ที่ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา ฯ

๕. อนุปุพพีกถา คืออะไรบ้าง ?  ทรงแสดงแก่ใครเป็นครั้งแรก ? (๒๕๔๘)
     ตอบ : 
คือ ทาน ศีล สวรรค์ กามาทีนพ และเนกขัมมานิสงส์ ฯ แก่ยสกุลบุตร ฯ 

๖. ในพิธีศิวาราตรี ถือว่าการอาบน้ำชำระร่างกายในแม่น้ำเป็นการลอยบาป  ส่วนในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีลอยบาปไว้อย่างไร ? (๒๕๔๗)
     ตอบ 
ทรงแสดงไว้ว่า การยังบาปให้สงบระงับจากสันดาน ละกิเลสที่ทำให้เป็นผู้ดุร้ายเย่อหยิ่งและกิเลสที่ย้อมจิตให้ติดแน่นในกามารมณ์ เป็นการลอยบาป ฯ

ปริเฉทที่ ๘  เสด็จกรุงราชคฤห์

๑. คำว่า ดวงตาเห็นธรรม นั้นคือเห็นอย่างไร ? พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังธรรมจากใคร ? (๒๕๕๓)  
     ตอบ : 
คือเห็นว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลมีความดับเป็นธรรมดา ฯ  พระโมคคัลลานะได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังธรรมจากพระสารีบุตร และพระสารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมเพราะฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ฯ

๒. พระอัครสาวกทั้ง ๒ องค์สำเร็จเป็นพระโสดาบันเพราะฟังธรรมจากใคร ? (๒๕๕๒)
     ตอบ 
พระสารีบุตร ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ฯ, พระโมคคัลลานะ ฟังธรรมจากพระสารีบุตร ฯ

ปริเฉทที่ ๙  ทรงบำเพ็ญพุทธกิจในแคว้นมคธ

๑. พระพุทธเจ้าทรงเลือกแคว้นมคธเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก เพราะเหตุไร ? (๒๕๕๒)
     ตอบ 
เพราะแคว้นมคธ  เป็นแค้วนใหญ่มีอำนาจและบริบูรณ์ด้วยสมบัติมีประชาชนมาก  มีเจ้าลัทธิมาก  จึงทรงเลือก ฯ

๒. จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ประกอบด้วยองค์อะไรบ้าง ?(๒๕๕๑)
     
ตอบ : ด้วยองค์ คือ  ๑. พระสาวกผู้เข้าประชุมนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์
                  ๒. ทุกท่านล้วนได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา
                  ๓. ไม่ได้มีการนัดหมาย ต่างมาประชุมพร้อมกันเอง
                  ๔. วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ และพระศาสดาประทานพระบรมพุทโธวาท ซึ่งเรียกว่า โอวาทปาฏิ-โมกข์ ฯ

๓. เพราะเหตุใดพระพุทธเจ้าทรงเลือกแคว้นมคธเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก ? (๒๕๔๙)
     ตอบ : 
เพราะแคว้นมคธเป็นเมืองใหญ่มีอำนาจและบริบูรณ์ด้วยสมบัติ คับคั่งด้วยประชาชน พระเจ้าพิมพิสารทรงปกครองโดยสิทธิ์ขาด ทั้งเป็นที่อยู่แห่งครูเจ้าลัทธิมากกว่ามาก

๔. ในวันจาตุรงคสันนิบาต พระศาสดาทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์แก่ใคร ?  ที่ไหน ? ทรงยกธรรมข้อใดขึ้นแสดงเป็นข้อต้น ? (๒๕๔๘)
     ตอบ : 
ทรงแสดงแก่พระอรหันตขีณาสพ จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ฯ ณ เวฬุวนาราม แคว้นมคธ ฯ  ทรงยกธรรมข้อขันติขึ้นแสดงเป็นข้อต้น ฯ

ปริเฉทที่ ๑๑  เสด็จแคว้นโกศล

๑. ครั้งพุทธกาล วัดเชตวันนั้น ตั้งอยู่เมื่องอะไร? ใครเป็นผู้สร้างถวาย? (๒๕๕๕)
     ตอบ 
วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล อนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นผู้สร้างถวาย และพระพุทธองค์ประทับจำพรรษานานถึง ๑๙ พรรษา ฯ

ปริเฉทที่ ๑๒  ปรินิพพาน

๑. ปฐมสาวก และ ปัจฉิมสาวก คือใคร? (๒๕๕๕)
     ตอบ : 
ปฐมสาวก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ    ปัจฉิมสาวก คือ พระสุภัททะ ฯ

๒. สถานที่ต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับพระบรมศาสดาอย่างไร ? (๒๕๕๔)
     ๑. ลุมพินีวัน     ๒. อิสิปตนมฤคทายวัน      ๓. ลัฏฐิวัน   ๔. เวฬุวัน    ๕. สาลวัน
     ตอบ 
๑. ลุมพินีวัน เป็นสถานที่ประสูติ
                   ๒. อิสิปตนมฤคทายวัน เป็นสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์
                   ๓. ลัฏฐิวัน เป็นสถานที่ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าพิมพิสารและบริวารจนสำเร็จเป็นพระโสดาบัน
                   ๔. เวฬุวัน เป็นสถานที่ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
                   ๕. สาลวัน เป็นสถานที่ทรงแสดงมรรคมีองค์แปดแก่สุภัททปริพาชก และเป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ฯ

๓. ถูปารหบุคคล คือบุคคลเช่นไร ? ได้แก่ใครบ้าง ? (๒๕๕๔)
     ตอบ : 
คือ บุคคลที่ควรแก่การบรรจุอัฐิธาตุไว้ในสถูปเพื่อเป็นที่กราบไหว้สักการบูชา ฯ ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกและพระเจ้าจักรพรรดิราช ฯ

๔. สังเวชนียสถาน ๔ ได้แก่ที่ใดบ้าง ? (๒๕๕๓)
     ตอบ 
ได้แก่ ๑. สถานที่ประสูติ ๒. สถานที่ตรัสรู้๓. สถานที่แสดงปฐมเทศนา ๔. สถานที่ปรินิพพาน

๕. พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญปฏิบัติบูชายิ่งกว่าอามิสบูชา เพราะเหตุไร ? (๒๕๕๓)
     ตอบ 
เพราะเมื่อพุทธบริษัทปฏิบัติธรรมได้สมควรแก่ธรรมแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยให้ตรัสรู้ธรรมได้ ทั้งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา และเป็นพระพุทธประสงค์หลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อีกทั้งการปฏิบัตินี้จะทำให้ศาสนาตั้งมั่นอยู่ได้ยืนนาน ฯ

๖. พระพุทธรูป สังเวชนียสถาน ตุมพสถูป และ อังคารสถูป อย่างไหนเป็นบริโภคเจดีย์และอุทเทสิกเจดีย์ ? (๒๕๕๒)
     ตอบ 
สังเวชนียสถาน ตุมพสถูป และ อังคารสถูป เป็นบริโภคเจดีย์ พระพุทธรูป เป็นอุทเทสิกเจดีย์ ฯ

๖. สถานที่ต่อไปนี้เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอย่างไร (๒๕๕๑)
    ก. ลุมพินีวัน ข. อิสิปตนมฤคทายวัน ค. สาลวโนทยาน
     ตอบ 
ก. ลุมพินีวัน เป็นสถานที่ประสูติ
                   ข. อิสิปตนมฤคทายวัน เป็นสถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา
                   ค. สาลวโนทยาน เป็นสถานที่ปรินิพพาน

๗. พระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร คือทรงทำอย่างไร ? ไหน ? เมื่อไร ? (๒๕๕๐)
     ตอบ 
คือทรงกำหนดพระหฤทัยว่า “จักปรินิพพานในอีก ๓ เดือนข้างหน้า” ฯ   ทรงทำที่ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลีแคว้นวัชชี ฯ  เมื่อวันเพ็ญเดือน ๓ ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน (วันมาฆบูชา) ฯ

๘. พระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารอะไร ก่อนแต่เสด็จปรินิพพาน ?   ใครถวาย ? (๒๕๕๐)
     ตอบ 
เสวยมังสะสุกรอ่อน (สูกรมัททวะ) ฯ  นายจุนทกัมมารบุตรถวาย ฯ

๙. พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานที่ใต้ต้นไม้อะไร ? (๒๕๔๙)
     ตอบ 
:ประสูติ และ ปรินิพพาน ใต้ต้นสาละ   ตรัสรู้ ใต้ต้นโพธิ์ (อัสสัตถพฤกษ์) ฯ

๑๐. ผู้ใดได้ถวายภัตตาหารมื้อแรกหลังจากตรัสรู้ และภัตตาหารมื้อสุดท้าย  ก่อนปรินิพพานแก่พระพุทธเจ้า ? (๒๕๔๙)
     ตอบ 
ตปุสสะและภัลลิกะ ๒ พาณิช ได้ถวายภัตตาหารมื้อแรกหลังจากตรัสรู้แล้ว นายจุนทกัมมารบุตร ได้ถวายภัตตาหารมื้อสุดท้ายก่อนปรินิพพาน ฯ

๑๑. พระปัจฉิมโอวาท มีใจความว่าอย่างไร ?  ทรงประทานที่ไหน ? (๒๕๔๘)
     ตอบ 
มีใจความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราผู้พระตถาคตเตือนท่านทั้งหลายให้รู้สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวง  อันเป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด ฯ   ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ฯ

๑๒. การปลงอายุสังขารของพระพุทธองค์ ถือโดยใจความว่าอย่างไร ? และทรงปลงอายุสังขารเมื่อใด ? (๒๕๔๗)
     ตอบ 
ถือโดยใจความว่า พระองค์ทรงปลงพระทัยว่าจะทรงบำเพ็ญพุทธกิจต่อไปอีกไม่ได้แล้ว เพราะปรารภถึงสังขารของพระองค์ว่า ทรงพระชราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยเสียแล้ว ที่ทรงเปรียบว่ากายของพระองค์เป็นประหนึ่งเกวียนชำรุดที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ มิใช่สัมภาระเกวียนฉะนั้น ฯ  เมื่อวันเพ็ญเดือน ๓  ก่อนวันปรินิพพาน ๓ เดือน

๑๓. พระพุทธศาสนาสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันนี้ได้อย่างไร ? (๒๕๔๗)
     ตอบ 
ได้ด้วยการที่บริษัททั้ง ๔ ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย และด้วยวิธีที่พระสงฆ์สาวกผู้ใหญ่  มีพระมหากัสสปะเป็นต้น เป็นประธานจัดทำสังคายนาพระธรรมวินัย วางแบบแผนที่ถูกต้องลงไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก เพื่อให้บริษัท ๔ ได้เล่าเรียนปฏิบัติตามเมื่อมีสิ่งไรไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระอริยสงฆ์ในยุคนั้นๆ ได้ช่วยกัน ทำสังคายนาเป็นครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ เป็นลำดับมา เพื่อชำระสัทธรรมปฏิรูปนั้นเสีย จนได้จารึกไว้ในพระคัมภีร์ให้แพร่หลาย รวมทั้งจัดการส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระพุทธศาสนาในดินแดนต่างๆ  ให้ชุมชนในดินแดนนั้นๆ เลื่อมใสปฏิบัติตาม จึงทำให้พระพุทธศาสนาสืบเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ ฯ

  • Author: เอกชัย แสงธรรม
  • Hits: 262059

Leave a comment

You are commenting as guest.


47888783
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
221
49491
102539
47534203
102539
1272582
47888783

Your IP: 1.0.242.191
2024-12-04 00:08
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search