หนังสือสมันตปาสาทิกา

           สมันตัปปาสาทิกา หรือ สมันตปาสาทิกา คือคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายขยายความพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆษจารย์ หรือพระพุทธโฆสะเป็นผู้แต่งคัมภีร์สมันตปาสาทิกานี้ขึ้นในช่วงปีก่อน พ.ศ. 1000 โดยรจนาเป็นภาษาบาลี อาศัยอรรถกถาพระไตรปิฎกที่มีอยู่ในภาษาสิงหฬชื่อมหาอัฏฐกถา เป็นหลักพร้อมทั้งอ้างอิงจากคัมภีร์ มหาปัจจริยะ และคัมภีร์กุรุนที [1] นอกจากจะเป็นคัมภีร์อรรถกาที่อธิบายความของพระวินัยปิฎกแล้ว ท่านผู้รจนายังได้สอดแทรกและบันทึกข้อมูลอันทรงคุณค่าด้านสังคม การเมือง จริยธรรม ศาสนา และประวัติศาสตร์ปรัชญาในยุคโบราณของอินเดียไว้อย่างมากมาย [3]

Oscar von Hinuber ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณคดีบาลี ชี้ว่า สมันตัปปาสาทิกาได้หยิบยืมคาถาหลายบทมาจากคัมภีร์ทีปวงศ์ ซึ่งรจนาก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ ยังระบุว่า ชื่อของคัมภีร์อรรกถานี้ คือ สมันตัปปาสาทิกา มาจากคำว่า "สมันตะ" ที่บ่งนัยถึงทิศทั้ง 4 และคำว่า "ปาสาทิกา" ซึ่งแปลว่า ร่มเย็นราบคาบ

ทั้งนี้ คัมภีร์ชั้นฎีกาที่อธิบายความในคัมภีร์สมันตัปปาสาทิกา คือ สารัตถทีปนี ซึ่งพระสารีบุตรเถระแห่งเกาะลังกา เป็นผู้รจนาในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ 1 แห่งลังกา (พ.ศ. 1696 - 1729) [4]และในปัจจุบัน สมันตัปปาสาทิกยังาถูกใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทยในระดับชั้น เปรียญธรรม ๖ ประโยค นอกจากนี้ ยังมีการแปลเป็นภาษาจีน ตั้งแต่เมื่อปีค.ศ. 489 โดยพระสังฆะภัทระ [5]

 

ที่มา

พระพุทธโฆสะ รจนาคัมภีร์สมันตัปปาสาทิกาขึ้นตามคำอาราธนาของพระเถระผู้มีนามว่าพระพุทธสิริ เมื่อประมาณ พ.ศ. 927-973 ณ เมืองอนุราธปุระในศรีลังกาในรัชสมัยของพระเจ้าสิริปาละในอารัมภบทของคัมภีร์  [6]ท่านผู้รจนาได้ชี้แจงว่า คัมภีร์นี้เป็นอรรถกถาแรกที่ท่านได้แต่งขึ้นเพื่ออธิบายความในพระไตรปิฎก ท่านผู้รจนายังได้ชี้แจงด้วยว่า เหตุที่แจ่งอรรถกถาพระวินัยปิฎกก่อนพระสูตร ตามลำดับของคำว่า "พระธรรมวินัย" นั่น ก็ด้วยเหตุที่ท่านได้พิจารณาแล้วว่า พระวินัยคือรากฐานของพระศาสนา [7]

ทัศนะของ พระพุทธโฆษจารย์ เกี่ยวกับความสำคัญของพระวินัย สอดคล้องกับเนื้อความในสมันตปาสาทิกา ที่ระบุถึงเหตุการณ์หลังจากที่พระอานนท์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วเข้าร่วมการสังคายนาครั้งแรก ดังว่า "เมื่อพระอานนท์นั้นนั่งแล้วอย่างนั้น พระมหากัสสปเถระ จึงปรึกษาภิกษุทั้งหลายว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย ! พวกเราจะสังคายนาอะไรก่อน พระธรรมหรือพระวินัย ภิกษุทั้งหลายเรียนว่า ข้าแต่ท่านพระมหากัสสป  ! ชื่อว่าพระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังตั้งอยู่ พระพุทธศาสนาจัดว่ายังดำรงอยู่"[8]

 

เนื้อหา

สมันตปาสาทิกา แบ่งเป็น 3 ภาค คือ ภาคที่ 1 อธิบายความในเวรัญชกัณฑ์ถึงปาราชิกกัณฑ์แห่งมหาวิภังค์ภาค 1 ว่าด้วยวินัยที่เป็นหลักใหญ่ของภิกษุ, ภาคที่ 2 อธิบายความในเตรสกัณฑ์ถึงอนิยตกัณฑ์แห่งมหาวิภังค์ภาค 1 และในนิสสัคคีย์กัณฑ์ถึงอธิกรณสมถะแห่งมหาวิภังค์ภาค 2 รวมทั้งอธิบายความในภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยวินัยที่เป็นหลักใหญ่ของภิกษุณี และภาคที่ 3 อธิบายความในมหาวรรค (ภาค 1-2) จุลลวรรค (ภาค 1-2) และปริวาร ซึ่งว่าด้วยกำเนิดภิกษุสงฆ์และระเบียบความเป็นอยู่และกิจการของภิกษุสงฆ์ และว่าด้วยระเบียบความเป็นอยู่และกิจการของภิกษุสงฆ์ เรื่องภิกษุณี และสังคายนา รวมถึงหมวดที่ว่าด้วยคู่มือถามตอบซักซ้อมความรู้พระวินัย[9]

โดยสังเขปเล้วสมันตปาสาทิกามีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เนื้อหาหลักที่เกี่ยวกับพระธรรมวินัย อาทิ มูลเหตุทำสังคายนาครั้งแรก, การสังคายนาครั้งต่อมาๆ คือครั้งที่ 2, 3 และ 4 มีการอธิบายเรื่องพระพุทธคุณ 9, มีการอธิบายเรื่องสติ สมาธิ ปฏิสัมภิทา จิต วิญญาณ อินทรีย์ และมีการอธิบายเรื่องอาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส เป็นต้น ทั้งของภิกษุและภิกษุณี[10]

นอกจากนี้ ยังมีการบันทึกและระบุถึงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ต่างๆ เช่น ประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช ประวัติพระเจ้าอชาตศัตรู ตลอดจนพระเจ้าอุทัยภัทท์ พระเจ้าอนุรุทธะและพระเจ้ามุณฑะ ซึ่งเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นมคธ ประวัติการเกิดข้าวยากหมากแพงในเมืองเวรัญชา เป็นต้น ในส่วนที่ให้ข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์ เช่น ชัยภูมิที่ตั้งเมืองต่างๆ เช่น กุสินารา จัมปา สาวัตถี และดินแดนสุวรรณภูมิ เป็นต้น[11]

 

ความสำคัญ

นอกเหนือจากจะเป็นคัมภีร์อรรถกถาคัมภีร์แรกๆ ที่ความสำคัญอย่างยิ่งในการอธิบายพระวินัยปิฎกแล้ว ยังเป็นคัมภีร์ที่บันทีกวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และนานาศาสตร์ของอินเดียโบราณไว้อย่างพิสดารพันลึก โดยพระอรรถกถาจารย์ผู้รจนาได้อ้างอิงศาสตร์เหล่านี้ ในการอธิบายพระวินัยปิฎกนั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบันทึกประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ในยุคสมัยแห่งการสังคายนาครั้งที่ 3 มีการระบุผู้ที่เป็นประธานสงฆ์ในการสังคายนาครั้งที่ 3 การส่งคณะพระธรรมทูตไปประกาศพระศาสนาในดินแดนต่างๆ โดยพระบรมราชโองการของพระเจ้าอโศกมหาราช[12]

ทั้งนี้ สมันตปาสาทิกา ยังมีการระบุว่า ในการสังคายนาครั้งนั้น พระสังคีติภาณกาจารย์ได้จัดหมวดหมู่ “พระธรรมและพระวินัย” ออกเป็น 3 หมวดใหญ่ เรียกว่า “ปิฎก” คือ พระวินัยปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์ส่วนพระวินัย, พระพุทธสุตตันตปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์ส่วนพระสูตร และพระอภิธรรมปิฎก ประมวลพระพุทธพจน์ส่วนปรมัตถ์[13]

 

อ้างอิง

  1. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550), หน้า 400 - 401
  2. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 77
  3. Oscar von Hinuber. (1996).
  4. พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550), หน้า 441 - 442
  5. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 78
  6. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 69
  7. Bimala Charan Law. (1923). หน้า 77
  8. ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล หน้า 19
  9. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 69
  10. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 70
  11. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 70 - 71
  12. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 48
  13. คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550) หน้า 53

 

บรรณานุกรม

  • พระไตรปิฎกมหามกุฏราชวิทยาลัย. พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์
  • ปฐมสมันตปาสาทิกาแปล อรรถกถาพระวินัย. กรุงเทพฯ กองตำรา มหามกุฏราชวิทยาลัย
  • พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2550). พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร.
  • Oscar von Hinuber. (1996). A Handbook of Pali Literature, Philadelphia : Coronet Books Inc.
  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

ที่มา วิกิพีเดีย

© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search