ข้อมูลทั่วไป | |
---|---|
เกิด | 22 เมษายน พ.ศ. 2487 |
อุปสมบท | 27 สิงหาคม พ.ศ. 2512 |
วัด | วัดพระธรรมกาย |
วุฒิการศึกษา | นักธรรมชั้นโท วท.บ.(เศรษฐศาสตร์เกษตร) |
หลวงพ่อธัมมชโย มีนามเดิมว่า ไชยบูลย์ สุทธิผล ถือกำเนิดเมื่อวันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2487 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก เวลา 18.00 น. ณ บ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ท่านเป็นบุตรของนายช่างใหญ่กรมโรงงานอุตสาหกรรม นามว่า คุณพ่อจรรยงค์ สุทธิผล กับคุณแม่จุรี สุทธิผล
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ในขณะที่ครอบครัวพำนักอยู่ที่จังหวัดพิจิตร คุณแม่จุรีฝันว่า หลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์ที่ชาวเมืองพิจิตรกราบไหว้บูชา ได้นำเด็กที่มีลักษณะสวยงามมามอบให้ พร้อมกับกล่าวว่า
“เด็กคนนี้เป็นลูกแก้วมาเกิด ขอให้เลี้ยงดูให้ดี จะเป็นที่พึ่งได้ในกาลต่อไปภายหน้า”
และต่อมายังฝันอีกว่า ได้พบพระพุทธรูปเก่าแก่องค์หนึ่งในกองทราย ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อนำมาขัดพระพุทธรูปองค์นั้นก็เปล่งรัศมีส่องสว่างไปทั่วทั้งเมือง
ความฝันของคุณแม่จุรีในครั้งนั้น ได้นำความปีติยินดีมาสู่สมาชิกทุกคนในครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคุณพ่อจรรยงค์ ผู้มีความตั้งใจว่า จะส่งเสริมทายาทคนแรกของท่านนี้ ให้มีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตให้ถึงที่สุด เพื่อให้เป็นที่พึ่งแก่ผู้คนทั้งหลายได้
และในวันที่ท่านเกิด ญาติพี่น้องที่เคยโกรธเคืองกัน ไม่ไปมาหาสู่กันเป็นเวลานานได้หันหน้ามาคืนดีกัน ด้วยมีความชื่นชมยินดีในวันเกิดของหลานชายคนแรก
การเกิดของท่าน จึงเป็นดั่งศุภนิมิตแห่งความสมานสามัคคี ประดุจน้ำฝนตกลงบนพื้นดินที่แตกระแหง แล้วประสานรอยร้าวของเนื้อดินนั้นให้เรียบสนิทเป็นผืนดินเดียว
เนื่องจากคุณพ่ออาชีพรับราชการ ต้องเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างจังหวัดบ่อยครั้ง ชีวิตวัยเยาว์ของท่านจึงได้รับการดูแลจากมารดาและญาติพี่น้อง รวมถึงต้องย้ายที่อยู่เสมอๆ ต่อมาคุณพ่อได้คำนึงถึงอนาคตด้านการศึกษา จึงได้ฝากบุตรชายไว้กับครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนประจำชื่อโรงเรียนตะละภัฎศึกษาแถวเสาชิงช้า ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
นับเป็นความโชคดีของท่าน เพราะเมื่อครั้งอยู่โรงเรียนประจำนั้น เจ้าของโรงเรียนซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์และไม่มีบุตร รู้สึกรักและเอ็นดูถึงกับจะเอ่ยปากขอเป็นบุตรบุญธรรม แต่เนื่องจากขณะนั้นคุณพ่อมีบุตรชายเพียงคนเดียว ซึ่งเป็นที่รักและหวงแหนจึงไม่ยอมยกให้ ถึงกระนั้นท่านเจ้าของโรงเรียนก็ยังรักใคร่เอ็นดูและติดสอยห้อยตามเข้าออกวังสระปทุมอยู่เนืองๆ จนทำให้ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมของชาววังตั้งแต่นั้นมา และขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสติดตามไปร่วมทำบุญไหว้พระด้วยเสมอ จึงมีความใกล้ชิดกับพระสงฆ์ทำให้จิตใจใฝ่ธรรมะมาตั้งแต่ยังเยาว์
ในปี พ.ศ. 2493 คุณพ่อได้รับคำสั่งให้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดเพชรบุรี ท่านจึงจำเป็นต้องลาจากเจ้าของโรงเรียนผู้มีพระคุณ เพราะคุณพ่อได้มารับไปอยู่ด้วย และได้เข้าเรียนในโรงเรียนอรุณประดิษฐ์ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 หลังจากอยู่กับคุณพ่อได้ปีเศษ ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนสารสิทธิพิทยาลัย อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โดยคุณพ่อพาไปฝากไว้กับคุณครูสมาน แสงอรุณ ซึ่งเป็นครูที่ใจดีและมีจิตใจโอบอ้อมอารี ท่านเรียนอยู่จนจบชั้นมัธยมปีที่ 3
ขณะที่มีอายุได้ 13 ขวบ ท่านสามารถสอบแข่งขันเข้าเรียนในชั้นมัธยมปีที่ 4 ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กทม. ได้เป็นผลสำเร็จ โดยสอบติด 1 ใน 150 คน จากผู้สมัครกว่า 500 คน เมื่อต้องไปอยู่ตามลำพังในกรุงเทพฯ วิถีชีวิตที่ต้องดูแลตัวเอง ต้องรู้จักประหยัด อดออมเช่นนี้ จึงหล่อหลอมให้ท่านมีความเข้มแข็งอดทน มีความเชื่อมั่นและรับผิดชอบตนเองสูง แตกต่างจากเด็กชายที่เติบโตจากครอบครัวที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบายทั่วไป
ชีวิตในช่วงปฐมวัยจึงเปรียบประดุจการเตรียมความพร้อม ที่ได้หล่อหลอมให้ท่านพร้อมที่จะเติบโตขึ้นมารับภารกิจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันที่มีมาตั้งแต่เยาว์วัย และได้กลายเป็นจริงในกาลต่อมา
แม้จะมีชีวิตอิสระในขณะที่เป็นวัยรุ่น แต่ท่านก็มีความประพฤติดีงาม และตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ในระยะนี้เองท่านเริ่มสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา
ท่านเป็นผู้ขวนขวายในการศึกษาหาความรู้ต่างๆ อยู่เสมอ และมีความสุขกับการใช้เวลาว่างไปแสวงหาความรู้ตามแผงหนังสือ หรือตลาดนัดหนังสือนานาประเภท เช่น ตามริมคลองหลอดบ้าง ท้องสนามหลวงบ้าง ผิดกับเด็กวัยเดียวกันที่มักจะเอาแต่เที่ยวเล่นสนุกสนานไปวันๆ หากวันใดเจอหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐาน เป็นต้องหยิบอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก อย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ยิ่งอ่านก็ยิ่งขัดเกลาความคิดให้มองเห็นความทุกข์ในทางโลกยิ่งขึ้น
แม้กระทั่งหนังสือประเภทประวัติบุคคลสำคัญของโลก ก็อ่านแล้วอ่านอีกจนจำชื่อและผลงานของแต่ละท่านได้แม่นยำ สิ่งเหล่านี้ได้จุดประกายความคิดในใจว่า เราเกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต ซึ่งความคิดเกินวัยนี้ ท่านเขียนไว้ในสมุดบันทึกเมื่ออายุได้ 13 ปี มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า
“ถ้าเรามาทางโลกก็อยากไปให้สูงสุดในทางโลก ถ้าหากว่าอยู่ในทางธรรมก็อยากจะไปให้สูงที่สุดในทางธรรม และก็จะนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ทั่วโลก”
ใครเลยจะคิดว่า ความฝันในวัยเยาว์ของเด็กชายตัวน้อยๆ คนหนึ่ง จะกลับกลายเป็นจริงขึ้นมา เพราะในปัจจุบัน บุคคลท่านนี้ คือ พระมหาเถระของพระพุทธศาสนา ผู้นำแสงสว่างจากดวงตะวันแห่งสันติภาพภายใน อันเกิดจากการทำสมาธิแผ่ขยายไปสู่ดวงใจของผู้ใฝ่สันติภาพทั่วโลก
ขณะที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ท่านได้มีโอกาสฟังการบรรยายธรรมจากวิทยากรท่านต่างๆ จึงเกิดแรงบันดาลใจร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งชุมนุมยุวพุทธขึ้น มีการศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง ไม่ว่าที่ใดมีการปาฐกถาธรรม ทั้งลานอโศก วัดมหาธาตุ และที่อื่นๆจะต้องมีเด็กชายไชยบูลย์ ร่วมกิจกรรมอยู่ด้วยเสมอ
เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นความกระหายมโนธรรมก็ยิ่งมีมากขึ้น หากมีเวลาว่างก็จะหาโอกาสปลีกตัวไปอยู่ในที่เงียบๆ เพื่อขบคิดถึงปัญหาที่ยังค้างคาใจอยู่เสมอว่า
“คนเราเกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน กรรมหรือบุญบาปมีจริงหรือไม่”
เพราะได้อ่านได้ศึกษาจากตำราถึงพระพุทธดำรัสที่ว่า ถ้ารู้ธรรมะเพียงอย่างเดียวยังใช้ไม่ได้ เพราะจะเป็นเหมือนคนตาบอดคลำช้างหรือใบลานเปล่า จะเป็นเพียงธรรมกถึกเชี่ยวชาญการเทศน์สอน แต่ประโยชน์จริงๆ นั้นเป็นอย่างไรก็ยังไม่เคยปฏิบัติ แล้วก็จะกลับมาคลางแคลงย้อนถามตนเองเสียอีก
บ่อยครั้งที่เด็กชายไชยบูลย์ มองไปบนท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ ราวกับพยายามค้นหาคำตอบที่ค้างคาใจ ซึ่งมีผลให้ความคิดนี้ยิ่งตกผลึกอยู่ในใจตลอดเวลา ผิดจากเด็กวัยเดียวกันที่ควรจะสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือใฝ่ฝันถึงอนาคตอันรุ่งโรจน์ที่จะมีทรัพย์ มีคู่ครองแต่ท่านกลับเสาะแสวงหาคำตอบทั้งจากใครที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้ และจากตำราต่างๆ ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น
และแล้ววันหนึ่งท่านได้พบหนังสือชื่อ “ธรรมกาย” ซึ่งเขียนตามแนวเทศนาของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีข้อความว่า
“ถ้าจะเดินให้ถูกต้องร่องรอยของพระศาสนา ต้องปฏิบัติให้ได้ทั้งรู้ทั้งเห็น”
คำว่า “ธรรมกาย” อ่านแล้วสะดุดใจยิ่งนัก ในหนังสือเล่มนี้หลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านได้บอกไว้ว่า “ธรรมกาย” นั่นแหละคือ “ตถาคต” พร้อมทั้งยกคำบาลีที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกมายืนยันว่า
“ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ แปลว่า ตถาคตคือธรรมกาย”
และตอนท้ายเรื่องมีคำยืนยันว่า “วัดปากน้ำ นี้เรียนได้ ทั้งรู้ทั้งเห็น” ข้อความดังกล่าวทำให้ท่านเกิดความปีติยินดีมั่นใจว่า เดินมาถูกทางแล้ว
เมื่อท่านได้อ่านหนังสือ “วิปัสสนาบันเทิงสาร” กล่าวถึงความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติธรรมวิชชาธรรมกายของคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ แม่ชีผู้เป็นศิษย์ของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็ยิ่งทำให้ท่านมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไปศึกษาธรรมะปฏิบัติที่วัดปากน้ำ แล้วคำถามหนึ่งก็พลันบังเกิดขึ้นในใจว่า
“วัดปากน้ำ อยู่ ณ แห่งหนใด”
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2506 ขณะที่มีอายุได้ 19 ปี อยู่ในช่วงเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยท่านได้ตัดสินใจไปวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่อตามหาคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์โดยมุ่งหวังว่าหากพบท่านแล้วจะขอศึกษาวิชชาธรรมกายให้จงได้ เมื่อไปถึงวัดก็เที่ยวถามใครต่อใครว่า “รู้จักคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ไหม?” คำตอบคือไม่มีใครรู้จักแม้แต่คนเดียวมีแต่บอกว่า
“ไม่มีคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ มีแต่ครูจันทร์”
ทำให้ท่านเข้าใจผิดว่าเป็นคนละคนกัน เมื่อตามหาไม่พบจึงหันกลับไปทุ่มเทให้กับการเตรียมตัวสอบ จนกระทั่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ในที่สุด
เมื่อการเรียนเทอมแรกในมหาวิทยาลัยผ่านไป ความคิดที่จะไปตามหาคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ก็หวนกลับคืนมาอีกครั้ง ดังนั้น ในช่วงปิดเทอมราวเดือนตุลาคม พ.ศ. 2506 ท่านจึงตัดสินใจกลับไปที่วัดปากน้ำอีกครั้งแต่ก็ยังไม่ได้พบกันอีกเช่นเคย จึงมีผู้แนะนำว่า ถ้าอยากนั่งสมาธิจริงๆ ก็ให้ไปเรียนกับพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งท่านยินดีสอนการเจริญภาวนาวิชชาธรรมกายให้ และเมื่อนั่งปฏิบัติไปได้ระยะหนึ่ง จึงลองสอบถามจากเด็กหนุ่มรุ่นเดียวกันดูอีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า “คงจะเป็นครูจันทร์กระมัง” จึงได้อาสาพาไปพบแล้วในที่สุดท่านก็ได้พบคุณแม่อาจารย์ลูกจันทร์ สมดังที่ปรารถนา
เมื่อพบกับคุณยายครั้งแรก ขณะนั้นคุณยายอาจารย์อายุได้ 53 ปี มองภายนอกเป็นเพียงแม่ชีธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีรูปร่างผอมบาง เนื้อตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น หากแต่แววตานั้นสุกใส สะท้อนความเป็นผู้ทรงภูมิธรรมอันสูงยิ่ง บุคลิกของท่านมีความหนักแน่นเข้มแข็งมีพลัง และเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา
แม้ว่าท่านจะไม่เคยเรียนหนังสือ ทั้งยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่กลับสามารถตอบปัญหาธรรมะอันลึกซึ้งได้อย่างกระจ่างแจ้ง ทำให้ผู้ที่มาถามไถ่รู้สึกว่า คำตอบนั้นได้ทำความสว่างให้เกิดขึ้นในจิตใจ หยุดให้ได้คิด ฉุดให้หลุดออกมาจากแรงดึงดูดของกระแสโลกที่เชี่ยวกราก
ในวันแรกพบนั้นเอง ท่านรู้สึกได้ทันทีว่า ได้พบครูบาอาจารย์ที่แสวงหามาแสนนาน จึงขอฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านด้วยความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งคุณยายอาจารย์ ได้ทักท่านราวกับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าว่า “คุณน่ะ หลวงพ่อวัดปากน้ำให้ยายไปตามมาเกิดในสมัยสงครามโลก” ท่านฟังประโยคนี้แล้วก็ไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่คุณยายอาจารย์พูดได้อย่างถูกต้องก็คือ ท่านเกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จริงๆ
คุณยายอาจารย์ สามารถตอบทุกคำถามที่ท่านเคยสงสัยได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน และยังก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ที่จะนำสันติสุขอันเกิดจากคำสอนในพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ทั่วโลก ทำให้ความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ในวัยเยาว์กลายเป็นจริงได้ในที่สุด
ในวันแรกของการฝึกสมาธิ(Meditation)กับคุณยายอาจารย์ ศิษย์คนใหม่ก็ได้ถามคำถามว่า “นรกสวรรค์มีจริงไหมครับ” คุณยายก็ตอบเรียบๆ “มีจริงคุณ นรกสวรรค์มีจริง ยายไปมาแล้ว ยายไปช่วยพ่อยาย พ่อยายตกนรกเพราะว่าดื่มเหล้า วันละ 10 สตางค์ ยายก็เข้าองค์พระไปช่วยท่านขึ้นมาได้ไปอยู่สวรรค์แล้ว คุณอยากจะไปไหมล่ะ ยายจะสอนให้ แล้วไปด้วยกัน”
คำตอบของคุณยาย แตกต่างจากทุกคำตอบที่เคยได้ฟัง แสดงให้เห็นว่าท่านต้องไปรู้ไปเห็นด้วยตนเอง จึงสามารถตอบเช่นนี้ได้ แต่เรื่องการไปนรกสวรรค์มิใช่เรื่องยากอะไรสำหรับคุณยายเลย เพราะในสมัยที่หลวงปู่วัดปากน้ำยังมีชีวิตอยู่ คุณยายได้เข้าไปนั่งสมาธิในโรงงานทำวิชชาร่วมกับแม่ชี และพระภิกษุ ที่หลวงปู่วัดปากน้ำคัดเลือกแล้วว่า เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสมาธิ ในยุคนั้น คุณยายอาจารย์นั่งสมาธิวันละ 12 ชั่วโมง กลางวัน 6 ชั่วโมง กลางคืน 6 ชั่วโมง และเป็นผู้ที่มีผลการปฏิบัติธรรมดีเยี่ยมจนหลวงปู่วัดปากน้ำ เอ่ยปากชมท่านท่ามกลางเหล่านักปฏิบัติธรรมชั้นยอดว่า “ลูกจันทร์นี้ เป็นหนึ่งไม่มีสอง”
หลังจากนั่งสมาธิกับคุณยายได้ไม่นานท่านก็พบคำตอบที่เฝ้าค้นหามาตลอดว่า“คนเราเกิด มาทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต” ซึ่งการปฏิบัติธรรมกับคุณยายทำให้ท่านพบคำตอบแล้วว่า“คนเราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี และพระนิพพาน คือเป้าหมายชีวิตอันสูงสุดของทุกชีวิต” นั่นเอง
หลังจากนั่งสมาธิ(Meditation)กับคุณยายได้ไม่นานท่านก็พบคำตอบที่เฝ้าค้นหามาตลอดว่า "คนเราเกิดมทำไม อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต" ซึ่งการปฏิบัติธรรมกับคุณยายทำให้ท่านพบคำตอบแล้วว่า “คนเราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี และพระนิพพาน คือเป้าหมายชีวิตอันสูงสุดของทุกชีวิต” นั่นเอง
กว่าจะเข้าใจลึกซึ้งถึงคำตอบของชีวิตที่ค้นหามานาน ท่านต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจศึกษธรรมะอย่างจริงจัง กิจวัตรส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการทำสมาธิทั้งสิ้น ทุกวันเวลาประมาณ 6 โมงเช้า ออกเดินทางจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปวัดปากน้ำ ภาษาเจริญ สมัยนั้นต้องขึ้นรถเมล์ถึง 3 ต่อ ขณะที่อยู่บนรถไม่ว่าจะนั่งหรือยืนก็ตาม ท่านจะหลับตาทำสมาธิอยู่ตลอดเวลาประมาณ 8 โมงเช้าจึงมาถึงวัดปากน้ำ และรีบตรงดิ่งไปนั่งสมาธิกับคุณยายทันที จนกระทั่งถึง 2 ทุ่ม จึงเลิก และกลับถึงมหาวิทยาลัยราว 4 ทุ่ม
แม้ในช่วงดึกสงัด ประมาณตี 3 อันเป็นเวลาหลับสนิทของเพื่อนๆ ท่านก็จะลุกขึ้นมานั่งสมาธิ เพราะเป็นเวลาที่เงียบสงบ และร่างกายได้พักผ่อนจนหายเหน็ดเหนื่อยแล้ว และเพื่อเป็นหลีกเลี่ยงไม่ให้เพื่อนๆ พบเห็น แต่กระนั้นก็ยังมีเพื่อนๆ บางคนตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกเมื่อเห็นคนนั่งเอาผ้าคลุมโปงอยู่ก็ตกใจ แตเมื่อทราบว่าท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่ก็มิได้ล้อเลียนแต่ประการใด เมื่อเห็นว่าเพื่อนๆ เริ่มคุ้นเคยแล้ว จึงเริ่มชวนเพื่อนๆ ในกลุ่มที่สนิทไปนั่งสมาธิกับคุณยายอาจารย์ที่วัดปากน้ำ ในเวลาต่อมาก็เริ่มมีรุ่นพี่รุ่นน้อง ติดตามไปด้วยอีกหลายคน
ถึงแม้จะเอาจริงเอาจังกับการทำสมาธิเพียงใด แต่เรื่องการเรียนก็สามารถสอบผ่านไปได้ด้วยดีทุกภาคการศึกษา เพราะเป็นธรรมดาของบัณฑิตผู้มีปัญญา ที่ตระหนักว่า การศึกษาที่สมบูรณ์จำเป็นต้องควบคู่กันไปทั้งทางโลกและทางธรรม ความรู้ทางโลกมีความจำเป็นต้องเรียนเพื่อหาเลี้ยงชีพส่วนความรู้ทางธรรมเรียนไปเพื่อกล่อมเกลาจิตใจให้ดีงามและที่สำคัญทำให้ท่านคลายความสงสัยในเรื่องที่เป็นความลับของชีวิต ที่ว่า คนเราตายแล้วไปไหน? นรก สวรรค์มีจริงหรือไม่? จะพิสูจน์ได้อย่างไร ความรู้ที่ลึกซึ้งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัยใด นอกจากความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นเหตุให้จิตใจของท่านเอนเอียงมาในการศึกษาทางธรรมมากกว่า เพราะแม้กระทั่งในช่วงสอบ ถ้าสอบเช้าตอนบ่ายก็จะนั่งรถเมล์ไปปฏิบัติธรรมที่วัดปากน้ำ และทำอยู่เช่นนี้อย่างสม่ำเสมอมิได้ขาดจนกระทั่งเรียนจบ
ด้วยความตั้งใจจริงในการปฏิบัติธรรม ประกอบกับความเคารพอ่อนน้อมอยู่ในโอวาทของครูบาอาจารย์ ทำให้ผลการปฏิบัติธรรมของท่านมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นที่พอใจของคุณยายอาจารย์ยิ่งนัก กล่าวกันว่า แม้แต่คนเก่าแก่ที่เคยมาปฏิบัติธรรมกับคุณยาย ก่อนหน้านี้ก็ยังยอมรับในความเชี่ยวชาญแห่งผลการปฏิบัติธรรมของท่าน ทำให้ท่านได้รับความไว้วางใจจากคุณยายให้เป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำธรรมะปฏิบัติแก่ผู้ที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันเสมอๆ
ความสุขภายในที่ได้รับจากการนั่งสมาธิ ทำให้ท่านยิ่งมีความเชื่อมั่นในความรู้ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา และเห็นคณค่าของการปฏิบัติธรรมว่าสามารถช่วยมนษุยให้พ้นทุกข์ได้อีกทั้งยังตอบคำถามต่างๆ ที่เคยคาใจได้อย่างแจ่มแจ้ง
เมื่อได้พบความสุขที่แท้จริงและความจริงของชีวิต ทำให้ท่านรู้ว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือวิชชาที่แท้จริงที่มนุษย์ทุกคนต้องศึกษา ท่านจึงปรารถนาจะทุ่มเทเวลาทั้งหมดของชีวิต เพื่อศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงตัดสินใจขออนุญาตคุณยายเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ แต่นอกจากคุณยายจะไม่อนุญาตแล้ว ยังกำชับให้เรียนจนจบปริญญาเสียก่อน โดยให้เหตุผลว่า “ต้องเป็นบัณฑิตในทางโลก และเป็นนักปราชญ์ในทางศาสนา เพื่อว่าบวชแล้วจะได้เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา มิใช่พึ่งพระศาสนาเพียงฝ่ายเดียว”
ชีวิตใหม่ในเพศบรรพชิต พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เป็นพระภิกษุผู้เคร่งครัดในศีลาจารวัตร มุ่งศึกษาธรรมะทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติ พร้อมกันนั้นท่านยังทำหน้าที่สอนธรรมะปฏิบัติแก่สาธุชน ณ บ้านธรรมประสิทธิ์แทนคุณยายอาจารย์อยู่เป็นประจำจนกระทั่งมีสาธุชนมาปฏิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้นจนเต็มสนามหญ้าหน้าบ้าน โดยเฉพาะในวันอาทิตย์นั้นต้องเปิดประตูรั้วทิ้งไว้เพราะมีคนส่วนหนึ่งต้องนั่งอยู่นอกรั้ว
หมู่คณะทุกคน จึงเห็นพ้องต้องกันว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งใหม่ เพราะท่านมีคณะทำงานที่เข้มแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบัณฑิตหนุ่มสาวผู้มีความรู้ความสามารถ และผ่านการฝึกอบรมคุณธรรมต่างๆ จากท่านอย่างใกล้ชิด
เมื่อทุกคนมีความพร้อมทั้งกายใจ การสร้างวัดพระธรรมกายจึงเริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา
เงินทุนเริ่มต้นของการสร้างวัดมีอยู่เพียง 3,200 บาท กับที่นา 196 ไร่ ที่ได้รับบริจาคมาจากคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี หมู่คณะทุกคน จึงต้องตรากตรำทำงานหนัก และดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย มีเพียงน้ำพริกผักจิ้มเป็นอาหารหลัก โดยอาศัยเก็บผักที่ขึ้นอยู่ตามท้องนาบริเวณนั้น แต่ทุกคนก็เต็มเปี่ยมด้วยขวัญและกำลังใจ ทั้งเชื่อมั่นในคำสอนของครูบาอาจารย์ว่าสิ่งที่ทำจะต้องสำเร็จแม้ว่าขณะนั้นจะยังมองไม่เห็นหนทางเลยก็ตาม ซึ่งปัญหาหนักเรื่องหนึ่งก็คือ การจัดหาทุน
ในเรื่องนี้หลวงพ่อธัมมชโย ให้โอวาทแก่คณะทำงานเสมอว่า
“ปัจจัยทุกอย่างที่สาธุชนทำบุญมานั้น เป็นปัจจัยที่ผู้ทำบุญได้อธิษฐานจบท่วมหัวถวายพระศาสนา จะต้องช่วยกันดูแลรักษาให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
ด้วยเหตุนี้ ถาวรวัตถุทุกอย่างของวัดพระธรรมกาย จึงสร้างอย่างแข็งแรง เพื่อใช้ประโยชน์ได้ยาวนานที่สุดขณะเดียวกันก็มีรูปทรงที่เรียบง่าย ไม่สิ้นเปลืองในการดูแลรักษา แต่ทว่ามีความประณีต สง่างาม บ่งบอกถึงความเคารพในพระพุทธศาสนา
วัดพระธรรมกายในวันนี้ ได้ผ่านวันเวลาอันยาวนานมาถึง 4 ทศวรรษ โดยมุ่งมั่นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติตลอดมา
ย้อนไปในวันวาน ผืนดินที่ก่อตั้งวัดพระธรรมกายเป็นเพียงท้องนากว้างไกลสุดสายตา ระยิบระยับด้วยเปลวแดด ปราศจากต้นไม้น้อยใหญ่และถาวรวัตถุใด ๆ ในยามค่ำคืนมีเพียงดาวพราวแสงเต็มผืนฟ้า
ในวันมาฆบูชาที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 หมู่คณะผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาประกอบด้วย(หลวงพ่อธัมมชโย ซึ่งขณะนั้นเพิ่งบวชได้เพียง 1 พรรษาคุณยายมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง (อายุ 61 ปี) และศิษยานุศิษย์ได้ร่วมแรงร่วมใจกันขุดดินก้อนแรก ก่อสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมขึ้นบนที่ดินที่ได้รับบริจาคจากคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี จำนวน 196 ไร่ (ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมได้รับวิสุงคามสีมาและต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดพระธรรมกาย" เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524) ตามแนวคิด
"สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ และสร้างคนให้เป็นคนดี"
จากไร้ที่ดิน...และกลายมาเป็นผืนดินอันกว้างใหญ่
จากผืนนาที่แห้งแล้งว่างเปล่า...กลายเป็นพุทธสถานที่สง่างาม
จากพระภิกษุ 1 รูป...กลายเป็นหลักสิบ หลักร้อย หักพัน และจะเพิ่มมากขึ้น
จากสาธุชนจำนวนร้อย...กลายเป็นจำนวนพัน หมื่น แสน และจำนวนล้านในอนาคต
ทุกอณูของผืนดิน ทุกสิ่งก่อสร้าง ทุกกิจกรรมงานบุญ และทุกสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นในวัดแห่งนี้ ไม่ใช่ผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นผลงานของคณะพระภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกาทุกยุค ทุกสมัย ที่ฟันฝ่ามรสุมน้อยใหญ่ร่วมกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า จึงปรากฏเป็นวัดพระธรรมกายบุญสถานอันศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน...
ที่อยู่ : 23/2 หมู่ 7 โรงเรียนพระปริยัติธรรม
วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
dummy 02-831-1000 ต่อ 13710