โสณโกฬิวิส (พระโสณโกฬิวิสเถระ)

  • Creation Date: 24 สิงหาคม 2562
  • Hits: 3060
  • Author: เอกชัย แสงธรรม
โสณโกฬิวิส (พระโสณโกฬิวิสเถระ)

 

ประวัติพระโสณโกฬิวิสเถระ

เอตทัคคมหาสาวกผู้ปรารภความเพียร

พระเถระที่ชื่อ “โสณะ” นี้ ในพระบาลีปรากฏอยู่ ๕ ท่านด้วยกันคือ

๑ พระโสณกุฎิกัณณเถระ บุตรอุบาสิกาชื่อว่า กาฬี แห่งกุรรฆรนคร อวันตีรัฐ ต่อมาพระพุทธเจ้าสถาปนาท่านเป็นเอตทัคคะผู้มีวาจาไพเราะ มารดาของท่านนั้นต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งนางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นผู้เลิศแห่ง อุบาสิกาทั้งหลายที่เลื่อมใสในการฟัง

๒ พระโสณโปฏิริยปุตตเถระ ผู้ซึ่งเดิมเป็นเสนาบดีของพระเจ้านันทะ สากิยะ ต่อมาเมื่อพระเจ้าภัททิยะทรงผนวชแล้วท่านก็บวชตาม ต่อมาสำเร็จเป็นพระอรหันต์

๓ พระโสณเถระ เป็นพระธรรมกถึกรูปหนึ่งอยู่ในเขววิหาร ใกล้เชิงเขาโสณคีรี บิดาของท่านชื่อว่า สุนขราชิก ท่านไม่สามรถจะทำให้บิดาอยู่ในความสังวรได้ เกรงว่าเมื่อบิดาสิ้นชีวิตก็จะไปสู่ทุกขคติ จึงให้ท่านบิดาบวชในตอนแก่ทั้งที่ไม่อยากบวช และได้ทำให้บิดาที่กำลังจะสิ้นชีวิตเกิดจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จนเทวโลกปรากฏแก่ท่านบิดา

๔ พระโสณณกิงกณิยเถระ ผู้ที่ในอดีตได้ถวายดอกกะดึงทองบูชาพระสถูปของพระพุทธเจ้าพระนามว่าอัตถทัสสี ในชาติปัจจุบันได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง และ

๕ พระโสณโกฬิวิสเถระ ตามประวัติที่จะกล่าวในเรื่องนี้

ควรจะได้ทราบว่าการที่ท่านพระโสณโกฬิวิสเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้ปรารภความเพียรนั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องปรารภความเพียรได้อย่างชัดแจ้ง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระอโนมทัสสีพุทธเจ้

พระเถระแม้นี้ ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้น ๆ ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า อโนมทัสสี พระเถระนี้เป็นเศรษฐีมีสมบัติมาก เจริญด้วยบุตรและภรรยา สมบูรณ์ด้วยสมบัติ ไปสู่วิหารกับอุบาสกทั้งหลาย ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา มีจิตเลื่อมใส ให้สร้างที่จงกรมอันงามเพื่อเป็นที่จงกรม ให้กระทำการฉาบโบกด้วย ปูนขาว กระทำให้รุ่งเรืองเรียบราบดุจพื้นแว่น ลาดด้วย ดอกไม้มีสีต่าง ๆ ให้ผูกเพดานด้วยผ้าย้อมด้วยสีต่าง ๆ ในเบื้องบน อนึ่ง ได้สร้างศาลายาวมอบถวายแด่พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ จัดแจงประทีป ธูป และ ดอกไม้เป็นต้น มอบถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า บูชาภิกษุสงฆ์ มีพระ พุทธเจ้าเป็นประธานด้วยอาหารอันประณีต ท่านบำเพ็ญบุญจนตลอด ชีวิตด้วยอาการอย่างนี้ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ด้วยบุญกรรมนั้น ท่านท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ใน กาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ พระเถระนี้บังเกิดในตระกูลเศรษฐี ในหังสวดีนคร พวกญาติขนานนามของท่านว่า สิริวัฑฒะ ท่านเจริญวัยแล้ว ไปสู่วิหาร ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัทในสำนักพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงตั้งภิกษุรูปหนึ่งไว้ ในตำแหน่งตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้ปรารภความเพียร แม้ตนเองก็ปรารถนาตำแหน่งนั้นในอนาคต เมื่อจบเทศนา ท่านจึงนิมนต์พระทศพลเพื่อถวายมหาทานตลอด ๗ วัน เมื่อครบ ๗ วันแล้วท่านได้กระทำความปรารถนาต่อพระศาสดา พระศาสดาทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านจักเป็นผลสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์แล้วเสด็จกลับพระวิหาร ฝ่ายสิริวัฑฒเศรษฐีนั้น กระทำกุศลตลอดชีวิต เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ล่วงไปแสนกัป

 

กำเนิดในสมัยพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า

แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้า พระองค์ก่อน ๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้มากมาย ในภพนั้น ๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี ท่าน ได้เกิดในตระกูลเศรษฐีมีสมบัติมากมาย ในพันธุมาราชธานี พอเจริญวัยแล้ว ก็ได้เป็นเศรษฐี วันหนึ่งพร้อมกับพวกอุบาสกได้ไปพระวิหาร ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว มีใจเลื่อมใส ได้ช่วยกันฉาบทาปูนขาว ในที่จงกรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า และช่วยกันสร้างได้สร้างวิหารหลังหนึ่ง และลาดพื้นด้วยผ้ามีสีต่าง ๆ และทำเพดานไว้ข้างบน มอบถวายแด่พระสงฆ์ที่มาแต่ทิศทั้ง ๔ ได้ถวายมหาทานตลอด ๗ วัน และได้มีจิตเบิกบานโสมนัส กระทำการตั้งปณิธานว่า ขอเราพึงได้พบพระสัมพุทธเจ้าผู้ทรงโปรดปราน พึงได้บรรพชาและพึงบรรลุนิพพานอันยอดเยี่ยม เป็นอุดมสันติ พระศาสดาได้ทรงกระทำอนุโมทนา

ด้วยกุศลกรรมอันนั้น เขาจึงได้ท่องเที่ยวไปในเทวโลกและมนุษยโลก ได้เสวยสมบัติในโลกทั้ง ๒ สามารถระลึกชาติได้ตลอด ๙๐ กัลป

 

กำเนิดในสมัยระหว่างกัป

ในกัปนี้ในสมัยเมื่อพระกัสสปทศพลปรินิพพานแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรายังไม่ทรงอุบัติ ท่านก็มาถือปฏิสนธิในครอบครัวกรุงพาราณสี ครั้นเจริญวัยแล้ว ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งซึ่งทรงจีวรอันเก่า เข้าอาศัยกรุงพาราณสี สร้างบรรณศาลอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ตั้งใจว่าจะเข้าจำพรรษา จึงไปดึงท่อนไม้และเถาวัลย์ที่ถูกน้ำพัดมาติดอยู่ออก วันหนึ่ง ท่านพร้อมกับหมู่สหายของตนไปเดินเล่นอยู่ริมแม่น้ำ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ากำลังทำความสะอาดบรรณศาลาอยู่ จึงเดินไปยืนอภิวาทอยู่ถามว่า ทำอะไรเจ้าข้า

ท่านพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงตอบว่า พ่อเด็ก จวนเข้าพรรษาแล้ว ธรรมดาบรรพชิตควรได้ที่อยู่

กุมารกล่าวว่า ท่านเจ้าข้า วันนี้ ขอพระคุณเจ้ารอสักวันหนึ่งก่อน พรุ่งนี้ ข้าพเจ้าจะกระทำที่อยู่ถวายพระคุณเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้ายับยั้งอยู่ เพราะ เป็นผู้มาแล้วด้วยตั้งใจว่า จักกระทำความสงเคราะห์กุมารนี้เหมือนกัน กุมารนั้นทราบว่า พระปัจเจกพุทธเจ้ารับนิมนต์แล้ว วันรุ่งขึ้น จึงจัดแจงเครื่องสักการะสัมมานะไปยืนคอยพระปัจเจกพุทธเจ้า

ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงพิจารณาว่า วันนี้เราจักเที่ยวหาอาหารที่ไหนหนอ จึงไปยังประตูเรือนของกุมารนั้น กุมารเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วก็นึกรัก รับบาตรถวายอาหาร นิมนต์ว่า ตลอดภายในพรรษานี้ ขอได้โปรดมายังประตูเรือนของข้าพเจ้าเท่านั้น พระ ปัจเจกพุทธเจ้ารับคำ ฉันเสร็จแล้วก็หลีกไป

ท่านจึงไปกับสหายของตนช่วยกันสร้างบรรณศาลาที่อยู่ ที่จงกรม และที่พักลางวันและกลางคืน ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วเสร็จในวันเดียว กุมารนั้นคิดว่า เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าบรรณศาลา เปือกตมบนพื้นดินจะติดที่เท้า จึงลาดผ้ากัมพลแดงมีค่าพันหนึ่งอันเป็นผ้าห่มของตน ปิดพื้น เห็นรัศมีมีสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นเช่นเดียวกับสีของผ้ากัมพล ก็เลื่อมใสอย่างยิ่ง กล่าวว่า จำเดิมแต่เวลาที่พระคุณเจ้าเหยียบแล้ว ประกายแห่งผ้ากัมพลนี้ แวววาวอย่างยิ่งฉันใด แม้วรรณะแห่งมือและเท้าของข้าพเจ้าก็จงมีสีเหมือนดอกหงอนไก่ ในที่ที่ข้าพเจ้าเกิดแล้วเกิดอีก ฉะนั้น ขอให้ผัสสะจงเป็นเช่นกับผัสสะแห่งแผ่นผ้าฝ้ายที่เขายีแล้วถึง ๗ ครั้งเทียว กุมารนั้นบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าตลอดไตรมาส ได้ถวายไตรจีวรเมื่อ เวลาปวารณาแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้ามีบาตรและจีวรบริบูรณ์แล้ว จึงไปยังภูเขาคันธมาทน์ตามเดิม

 

กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฝ่ายกุลบุตรนั้น เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์มาถือปฏิสนธิ ในเรื่องของอุสภเศรษฐี ในเมืองกาลจัมปาก ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ตั้งแต่เวลาที่กุลบุตรนั้นถือปฏิสนธิ เครื่องบรรณาการหลายพันได้มาสู่สกุลเศรษฐี ในวันที่เกิดนั่นเอง ทั่วพระนครได้มีเครื่องสักการะสัมมานะเป็นอันเดียวกัน ต่อมาในวันตั้งชื่อกุมารนั้น มารดาบิดาคิดว่า บุตรของเรารับชื่อของตนมาแล้ว ด้วยรัศมีสรีระของเขาเหมือนรดด้วยทองมีสีสุกแดง เพราะฉะนั้น จึงตั้งชื่อของ กุมารนั้นว่า โสณกุมาร ครั้งนั้น เศรษฐีให้พี่เลี้ยงนางนมบำรุงบุตร นั้นให้เจริญด้วยความสุขประหนึ่งเทพกุมาร

การจัดแจงอาหาร สำหรับกุมารนั้นได้มีแล้วอย่างนี้ หว่านข้าวลงยังที่มีประมาณ ๖๐ กรีส เลี้ยงด้วยน้ำ ๓ อย่าง เอาตุ่มใส่น้ำนมและน้ำหอมหลายพันตุ่ม รดลงเหมือนน้ำที่ไหลเข้าไปในนาดอน เวลารวงข้าวสาลีเป็นน้ำนม ก็ฝังหลักล้อมรอบ ๆ และในระหว่าง ๆ เพื่อป้องกันสัตว์ทั้งหลาย มีนกแก้วเป็นต้น และเพื่อจะให้รวงข้าวมีความนุ่มนวล ลาดผ้าเนื้อละเอียดไว้บนหลัก เอาไม้พาดข้างบน ปิดด้วยเสื่อลำแพน กั้นม่านโดยรอบ จัดอารักขาไว้ในที่รอบ ๆ ทุกส่วน

เมื่อข้าวสุกขึ้นฉางก็ประพรมด้วยคันธชาติ ๔ อย่าง อบด้วยของหอม อย่างดีเลิศไว้ข้างบน หมู่คนหลายแสนลงแขกเกี่ยวขั้วรวงข้าวสาลี ทำเป็นกำ ๆมัดด้วยเชือก ตากให้แห้ง ต่อนั้น ลาดของหอมที่พื้น ล่างฉาง แผ่รวงข้าวไว้ข้างบน แผ่ไปให้มีระหว่างช่อง อย่างนี้จนเต็มฉางจึงปิดประตู

เมื่อครบ ๓ ปี จึงค่อยเปิดฉางข้าว เวลาเปิด ก็มีกลิ่นอบอวลไปทั่วพระนคร เมื่อฟาดข้าวสาลี พวกนักเลงก็พากันมาซื้อแกลบเอาไป ส่วนรำ จุลลปัฏฐากได้ไป เวลาซ้อมด้วยสาก ก็มาเลือกเก็บเอาข้าวสารไป คนเหล่านั้นใส่ข้าวนั้นไว้ในกระเช้าที่สานด้วยแฝกทอง ใส่ชาติรสน้ำผลจันทร์ที่ยังร้อน ซึ่งกรอง ๗ ครั้ง เอามาครั้งเดียวแล้วก็ยกขึ้น น้ำผลจันทร์ที่เดือดแล้วซึ่งเขากรอง ๗ ครั้ง แล้วยกขึ้น ข้าวสาลีที่ยกขึ้นพ้นน้ำแล้วก็เหมือนดอกมะลิ ชนทั้งหลายจึงใส่โภชนะนั้นไว้ในถาดทอง เอาไว้บนถาดเงิน ที่เต็มด้วยข้าวมธุปายาสมีน้ำน้อยที่ยังร้อนอยู่ ถือไปวางไว้ข้างหน้าบุตรเศรษฐี

โสณกุมารนั้นบริโภคพอเพียงสำหรับตน แล้วล้างปากด้วยน้ำที่อบด้วยของหอม แล้วล้างมือและเท้า ตอนนั้นจึงนำเครื่องอบปากมีประการต่าง ๆ มาให้แก่กุมารนั้น ลาดเครื่องลาดอันวิจิตรด้วยผ้าเปลือกไม้อย่างดีในที่ที่กุมารนั้นเหยียบ โสณกุมารนั้นมีฝ่ามือและฝ่าเท้าที่มีสีดุจสีดอกหงอนไก่ ที่ฝ่าเท้ามีขนซึ่งวนเป็นวงดังรูปต่างหูเพชร มีวรรณะดุจสีแก้วมณีและแก้วกุณฑล อ่อนนุ่มดุจสัมผัสของผ้าฝ้ายที่เขายีแล้วถึง ๗ ครั้ง เมื่อเธอเจริญวัยแล้วให้สร้างปราสาท ๓ หลัง ที่เหมาะแก่ฤดู ๓ แล้วให้นางฟ้อนบำรุงบำเรอ โสณกุมารนั้นเสวยสมบัติอาศัยอยู่ปานเทพเจ้า

 

พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้เข้าเฝ้า

ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรา ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ แสดงพระธรรมจักรอันประเสริฐให้เป็นไปแล้ว ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสารจอมเสนาแห่งมคธรัฐ เสวยราชสมบัติเป็นใหญ่ในหมู่บ้านแปดหมื่นตำบล กิติศัพท์ที่ท่านเป็นสุขุมาลชาติ ที่ฝ่าเท้าทั้งสองของเขามีขนงอกขึ้นมีสีดังดอกชะบา ขนทั้งหลายวนเป็นวงดังรูปต่างหูเพชรเกิดที่ฝ่าเท้า สัมผัสอ่อนนุ่มเหมือนปุยฝ้าย ทรงมีพระประสงค์จะทอดพระเนตร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้าพร้อมราษฎรทั้งแปดหมื่นในตำบลนั้น

ฝ่ายมารดาบิดาของเศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะก็ได้พูดตักเตือนบุตรของตนว่า พ่อโสณะ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเท้าทั้งสองของเจ้า ระวังหน่อย พ่อโสณะ เจ้าอย่าเหยียดเท้าทั้งสองไปทางที่พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ จงนั่งขัดสมาธิตรงพระพักตร์ของพระองค์ เมื่อเจ้านั่งแล้วพระเจ้าอยู่หัวจักทอดพระเนตรดูเท้าทั้งสองได้

ครั้งนั้น ชนบริวารทั้งหลายได้นำเศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะไปด้วยคานหาม ลำดับนั้น เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร ถวายบังคมแล้วนั่งขัดสมาธิตรงพระพักตร์ของท้าวเธอ ท้าวเธอได้ทอดพระเนตรเห็นโลมชาติที่ฝ่าเท้าทั้งสองของเขาแล้ว และเพื่อประโยชน์ในปัจจุบันแห่งประชาราษฎรทั้งแปดหมื่นในตำบลนั้น จึงทรงให้อำมาตย์ส่งเศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะและชนเหล่านั้นไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ครั้งนั้น พวกเขาจึงพากันไปทางภูเขาคิชฌกูฏ

 

พระสาคตเถระแสดงอิทธิปาฏิหาริย์

ก็สมัยนั้น ท่านพระสาคตะเป็นอุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาค เมื่อถึงแล้วพวกเขาก็พากันเข้าไปหาท่านพระสาคตะ แล้วได้กราบเรียนว่า ท่านขอรับ ประชาชนแปดหมื่นนี้ เข้ามาในที่นี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขอประทานโอกาสขอรับ ขอพวกข้าพเจ้าพึงได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค

ท่านพระสาคตะบอกว่า ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงอยู่ ณ ที่นี้สักครู่หนึ่งก่อน จนกว่าอาตมาจะกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ ดังนี้ และเมื่อพวกเขากำลังเพ่งมองอยู่ข้างหน้า ท่านพระสาคตะดำลงไปในแผ่นหินอัฒจันทร์ แล้วผุดขึ้นตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ประชาชนแปดหมื่นนี้พากันเข้ามา ณ ที่นี้ เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า ดูกรสาคตะ ถ้ากระนั้นเธอจงปูลาดอาสนะ ณ ร่มเงาหลังวิหาร ท่านพระสาคตะทูลสนองพระพุทธดำรัสว่า ทราบเกล้าฯ แล้ว พระพุทธเจ้าข้า แล้วถือตั่งดำลงไปตรงพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาค เมื่อประชาชนชาวตำบลนั้นทั้งแปดหมื่นกำลังเพ่งมองอยู่ตรงหน้า จึงผุดขึ้นลากแผ่นหินอัฒจันทร์แล้วปูลาดอาสนะในร่มเงาหลังพระวิหาร

 

เสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากพระวิหาร แล้วประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ ที่จัดไว้ ณ ร่มเงาหลังพระวิหาร ประชาชนชาวตำบลนั้นทั้งแปดหมื่นจึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้ว ถวายบังคมนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และพวกเขาพากันสนใจแต่ท่านพระสาคตะเท่านั้น หาได้สนใจต่อพระผู้มีพระภาคไม่

ทันทีนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพวกเขาด้วยพระทัยแล้ว จึงตรัสเรียกท่านพระสาคตะมารับสั่งว่า ดูกรสาคต ถ้ากระนั้น เธอจงแสดง อิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ ให้ยิ่งขึ้นไปอีก

ท่านพระสาคตะทูลรับสนองพระพุทธาณัติว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า แล้วเหาะขึ้นสู่เวหาส เดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง สำเร็จการนอนบ้าง บังหวนควันบ้าง โพลงไฟบ้าง หายตัวบ้าง ในอากาศกลางหาว ครั้นแสดงอิทธิปฏิหาริย์อันเป็นธรรมยวดยิ่งของมนุษย์หลายอย่าง ในอากาศกลางหาว แล้วลงมาซบศีรษะลงที่พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวกพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวก ดังนี้

ประชาชนตำบลแปดหมื่นนั้นจึงพูดสรรเสริญว่า ชาวเราผู้เจริญ อัศจรรย์นัก ประหลาดแท้ เพียงแต่พระสาวกยังมีฤทธิ์มากถึงเพียงนี้ ยังมีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ พระศาสดาต้องอัศจรรย์แน่ ดังนี้ แล้วพากันสนใจต่อพระผู้มีพระภาคเท่านั้น หาสนใจต่อท่านพระสาคตะไม่

 

ทรงแสดงอนุปุพพิกถาและจตุราริยสัจ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของพวกเขาด้วยพระทัย แล้ว ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศ ทานกถา ศีลกถา สัคคกถาโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองของกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกบรรพชา เมื่อพระองค์ทรงทราบว่า พวกเขามีจิตสงบ มีจิตอ่อน มีจิตปลอดจากนิวรณ์ มีจิตเบิกบาน มีจิตผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดแก่พวกเขา ณ ที่นั่งนั้นเองว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับเป็นธรรมดา ดุจผ้าที่สะอาด ปราศจากมลทินควรได้รับน้ำย้อมเป็นอย่างดี ฉะนั้น

พวกเขาได้เห็นธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รู้ธรรมแจ่มแจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงแล้ว ข้ามความสงสัยได้แล้ว ปราศจากถ้อยคำแสดงความสงสัย ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระพุทธเจ้าข้า ภาษิตของพระองค์ไพเราะนัก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือส่องประทีป ในที่มืดด้วยตั้งใจว่า คนมีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้

ข้าพระพุทธเจ้าเหล่านี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำพวกข้าพระพุทธเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้มอบชีวิตถึงสรณะ นับแต่วันนี้เป็นต้นไป

 

เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะออกบวช

ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะได้มีความปริวิตก ดังนี้ว่า ด้วยวิธีอย่างไรๆ เราจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่ จะประพฤติ พรหมจรรย์นี้ให้บริบูรณ์โดยส่วนเดียว ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ไฉนหนอ เราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ครั้นประชาชนเหล่านั้นชื่นชมยินดี ภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่งถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณหลีกไปแล้ว หลังจากประชาชนพวกนั้นหลีกไปแล้วไม่นานนัก เขาได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

เศรษฐีบุตรโสณโกฬิวิสะนั่งเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นแล ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ด้วยวิธีอย่างไรๆ ข้าพระพุทธเจ้าจึงจะรู้ทั่วถึงธรรมที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว อันบุคคลที่ยังครองเรือนอยู่จะประพฤติพรหมจรรย์นี้ ให้บริสุทธิ์โดยส่วนเดียว ดุจสังข์ที่ขัดแล้ว ทำไม่ได้ง่าย ข้าพระพุทธเจ้าปรารถนาจะปลงผมและหนวดครองผ้ากาสายะออกจากเรือนบวชเป็น บรรพชิต ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดให้ข้าพระพุทธเจ้าบวชเถิด พระพุทธเจ้าข้า

ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามเขาว่า มารดาบิดา อนุญาตแล้วหรือ ครั้นเมื่อทรงสดับว่า ยังมิได้อนุญาต จึงทรงตรัสว่า โสณะ ตถาคตไม่ให้กุลบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาตบวชได้ เศรษฐีบุตรนั้นรับพระดำรัสของพระตถาคตด้วยเศียรเกล้าว่า ดีละพระเจ้าข้า จึงไปหามารดาบิดาให้ท่านอนุญาตแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระตถาคต ได้บวชในสำนักของภิกษุรูปหนึ่ง เศรษฐีบุตร โสณโกฬิวิสะได้รับบรรพชา อุปสมบทในพุทธสำนักแล้ว

 

บำเพ็ญความเพียรอย่างหนัก

เมื่อท่านได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว อยู่ในกรุงราชคฤห์ หมู่ญาติและสาโลหิต และเพื่อนเป็นอันมาก ต่างนำสักการะและสัมมานะมา แม้คนเหล่าอื่นก็พากันมาดู พระเถระคิดว่า คนเป็นอันมากมายังสำนักของเรา เราจักทำกิจกรรมในกัมมัฏฐานฐาน หรือในวิปัสสนาได้อย่างไร ถ้ากะไร เราพึงเรียนกัมมัฎฐานในสำนักของพระ ศาสดาแล้วไปสุสานสีตวัน บำเพ็ญสมณธรรม เพราะคนเป็นอันมาก เกลียดสุสานสีตะวันนั้นก็จักไม่ไป เมื่อเป็นอย่างนี้ กิจของเราจักถึงที่สุดได้ จึงรับกัมมัฎฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปยังสีตวัน เริ่มบำเพ็ญสมณธรรม ท่านคิดว่า สรีระของเราละเอียดอย่างยิ่ง แต่ไม่อาจจะให้ถึงความสุขโดยความสะดวกนั้นเอง แม้ถึงจะลำบาก กายก็ควรบำเพ็ญสมณธรรม

ดังนี้แล้ว จึงอธิษฐานที่จงกรม เริ่มประกอบความเพียร เมื่อฝ่าเท้าทั้ง ๒ ข้าง บวมจนพองขึ้นก็ตาม ก็ไม่คำนึงถึงทุกขเวทนา กระทำความเพียรอย่างแรงกล้า ท่านปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนเท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิต ดุจสถานที่ฆ่าโค ฉะนั้น เมื่อท่านเดินไม่ได้ ก็พยายามจงกรมด้วย เข่าบ้าง ด้วยมือบ้าง แม้ถึงกระทำความเพียรอย่างมั่นคงถึงเพียงนี้ แต่ก็ไม่สามารถจะทำคุณวิเศษให้บังเกิดขึ้นได้ คงเป็นเพราะปรารภความเพียรหนักไป จึงคิดว่า เราพยายามถึงขนาดนี้ ก็ยังไม่สามารถจะทำมรรคและผลให้บังเกิดขึ้นได้ เราคงไม่ใช่อุคฆฎิตัญญูบุคคล หรือไม่ใช่วิปจิตัญญูบุคคล ไม่ใช่ไนยบุคคล เราคงเป็น ปทปรมบุคคลแน่แท้ เราจะบวชอยู่ทำไม สึกไป เสวยสมบัติดีกว่า และเราจักทำบุญให้มาก ดังนี้

 

พระพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรดพระเถระ

สมัยนั้น พระศาสดาทรงทราบ ความปริวิตกของพระเถระ เวลาเย็นทรงมีหมู่ภิกษุแวดล้อมไปในสุสานสีตวันนั้น ได้เสด็จเข้าไปทางสถานที่เดินจงกรมของท่านพระโสณะ ได้ทอดพระเนตรเห็นสถานที่เดินจงกรมเปื้อนโลหิต ครั้นแล้วจึงตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของใครหนอ เปื้อนโลหิต เหมือนสถานที่ฆ่าโค

ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ท่านพระโสณะปรารภความเพียรเกินขนาด เดินจงกรมจนเท้าทั้ง ๒ แตก สถานที่เดินจงกรมแห่งนี้ของท่านจึงเปื้อนโลหิต ดุจสถานที่ฆ่าโคฉะนั้น พระพุทธเจ้าข้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าไปทางที่อยู่ของท่านพระโสณะ ครั้นแล้วประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่จัดไว้ถวาย แม้ท่านพระโสณะก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งเฝ้าอยู่

 

ตั้งความเพียรสม่ำเสมอเทียบเสียงพิณ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระโสณะผู้นั่งเฝ้าอยู่ว่า ดูกรโสณะ เธอไปในที่สงัด หลีกเร้นอยู่ได้มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้น อย่างนี้ว่า บรรดาพระสาวกของพระผู้มีพระภาคที่ ปรารภความเพียรอยู่ เราก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉน จิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นเล่า สมบัติในตระกูลของเราก็ยังมีอยู่ เราอาจบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ถ้ากระไร เราพึงสึกเป็นคฤหัสถ์ แล้วบริโภคสมบัติและบำเพ็ญกุศล ดังนี้ มิใช่หรือ?

ท่านพระโสณะทูลรับว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อครั้งเธอยังเป็นคฤหัสถ์ เธอฉลาดในเสียงสายพิณ มิใช่หรือ?

ท่านพระโสณะทูลรับว่า อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอตึงเกินไป คราวนั้นพิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม?

ท่านพระโสณะทูลว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอหย่อนเกิน ไป คราวนั้นพิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม?

ท่านพระโสณะทูลว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโสณะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน คราวใดสายพิณของเธอไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก ตั้งอยู่ในคุณภาพสม่ำเสมอ คราวนั้น พิณของเธอมีเสียงหรือใช้การได้บ้างไหม?

ท่านพระโสณะทูลรับว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโสณะ เหมือนกันนั่นแล ความเพียรที่ปรารภเกินไปนัก ย่อมเป็นไปเพื่อความ ฟุ้งซ่าน ความเพียรที่ย่อหย่อนนัก ก็เป็นไปเพื่อเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจงตั้งความเพียร แต่พอเหมาะ จงทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน และจงถือนิมิตในความสม่ำเสมอนั้น

ท่านพระโสณะทูลรับสนองพระพุทธพจน์ว่า จะปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงสั่งสอนท่านพระโสณะด้วยพระโอวาทข้อนี้แล้ว ทรงเสด็จกลับยังคิชฌกูฏบรรพต

 

พระโสณะสำเร็จพระอรหัตผล

ครั้นกาลต่อมา ท่านพระโสณะได้ตั้งความเพียรแต่พอเหมาะ ทราบข้อที่อินทรีย์ทั้งหลายเสมอกัน และได้ถือนิมิตในความสม่ำเสมอ ครั้นแล้วได้หลีกออกอยู่แต่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไป ไม่นานเท่าไรนัก ได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยม เป็นที่สุด พรหมจรรย์ ที่กุลบุตรทั้งหลายออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องประสงค์ ด้วยปัญญา อันยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันนี้แหละ เข้าถึงอยู่แล้ว ได้รู้ชัดแล้วว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ เราได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ก็แลบรรดา พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านพระโสณะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งแล้ว

 

พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตรองเท้าแก่ภิกษุสงฆ์

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาครับสั่งกะท่านพระโสณะว่า ดูกรโสณะ เธอเป็นสุขุมาลชาติ เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียวแก่เธอ

ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าละเงินประมาณ ๘๐ เล่มเกวียน และละกองพล กอปรด้วยช้าง ๗ เชือก ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว จักมีผู้กล่าวแก่พระพุทธเจ้าว่า โสณโกฬิวิสะละเงินประมาณ ๘๐ เล่มเกวียน และละกองพลกอปรด้วยช้าง ๗ เชือก ออกจาก เรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว เดี๋ยวนี้ยังข้องอยู่ในเรื่องรองเท้าชั้นเดียว ถ้าพระผู้มีพระภาคจักได้ ทรงอนุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระพุทธเจ้าจักใช้สอย ถ้าจักไม่ทรงอนุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็จักไม่ใช้สอย พระพุทธเจ้าข้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุไม่พึงสวมรองเท้า ๒ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า ๓ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น รูปใดสวม ต้องอาบัติทุกกฏ

 

พระศาสดาทรงสถาปนาท่านเป็นเอตทัคคะ

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงสถาปนาเหล่าพระภิกษุผู้ทรงคุณต่าง ๆ ขึ้นเป็นพระเอตทัคคะ จึงทรงสถาปนาท่านเป็น เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภ แล้ว

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

48585101
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
52247
74766
52247
48264582
798857
1272582
48585101

Your IP: 18.119.135.67
2024-12-22 21:23
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search