เมฆิย (พระเมฆิยเถระ)

เมฆิย (พระเมฆิยเถระ)

ประวัติ

 

ประวัติพระเมฆิยเถระ

แม้พระเถระนี้ก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ ได้กระทำกุศลไว้ในภพนั้น ๆ ไว้เป็นอันมากดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า

ในกัปที่ ๙๑ ถอยไปนับแต่ภัทรกัปนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ท่านได้บังเกิดในตระกูลอันใหญ่ ครั้นเมื่อเติบโตแล้ว ในวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบรรลุถึงความสิ้นสุดแห่งพุทธกิจแล้ว จึงทรงปลงอายุสังขาร เป็นธรรมดาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขารก็จะเกิดเหตุมหัศจรรย์คือเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ เกิดความขนพองสยองเกล้าน่าพึงกลัว ทั้งกลองทิพย์ก็บันลือขึ้น มหาชนได้สะดุ้งตกใจกลัวแล้ว

ลำดับนั้น ท้าวเวสวัณมหาราช ทรงเข้าใจเหตุการณ์นั้นอย่างแจ้งชัดจึงทรงยังมหาชนให้เบาใจ ว่า ภัยไม่มีในหมู่สัตว์ ท่านทั้งหลายจงมีอารมณ์ตั้งมั่น ทำใจให้สงบเถิด เหตุแผ่นดินไหวนี้เป็นเพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงอายุสังขาร เมื่อมหาชนได้ทราบเหตุนั้นแล้ว ก็ได้ถึงความสังเวช กุลบุตรนี้ สดับพุทธานุภาพ ในที่นั้นแล้ว เกิดความเคารพนับถืออย่างมากในพระศาสนา เสวยปีติโสมนัสอย่างโอฬาร ประกาศพระพุทธานุภาพว่า โอพระพุทธเจ้า โอพระธรรม โอความถึงพร้อมแห่งสัตถุศาสน์หนอ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร แผ่นดินก็หวั่นไหว ดังนี้ด้วยบุญกรรมแห่งความสำคัญมั่นหมายในพระพุทธเจ้านั้น เขาท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ในกัปที่ ๑๔ แต่ภัทรกัปนี้ท่านได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชผู้ประเสริฐมีนามว่า สมิตะ มีพลมาก

 

กำเนิดเป็นเมฆิยมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในพุทธุปบาทกาลนี้ ท่านมีกำเนิดในตระกูลแห่งเจ้าศากยะ ในพระนครกบิลพัสดุ์ ได้นามว่า เมฆิยะ เมฆิยมาณพนั้น เจริญวัยแล้ว บวชในสำนักของพระบรมศาสดา อุปัฏฐากพระพุทธเจ้าอยู่

ใน ปฐมโพธิกาล ช่วงระยะ ๒๐ ปีแรก นับแต่ที่ได้ทรงตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่มีพระอุปฐากประจำ บางคราว พระนาคสมาละถือบาตรและจีวรตามเสด็จ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระอุปวาณะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวจุนทสมณเทส บางคราวพระสาคตะ บางคราว ท่านพระราธะ บาง คราวพระเมฆิยะ

ในบรรดาท่านเหล่านั้น หลาย ๆ ท่านก็ไม่สามารถที่จะอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าได้อย่างเหมาะสม เช่น

ท่านพระนาคิตเถระ โดยที่ท่านมีร่างอ้วน ในการที่จะลุก หรือนั่งเป็นต้นก็อุ้ยอ้ายอืดอาด เพราะพระเถระมีร่างกายหนักจึงดูราวกะว่า ไม่ค่อยจะเคลื่อนไหวได้ การอุปัฏฐากพระบรมศาสดานั้นก็ไม่คล่องตัว ในบางครั้งหลานชายของท่านที่เป็นสามเณรชื่อว่า สีหะ จึงได้กระทำการอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคเองแทนท่าน

ท่านพระราธเถระนั้นเมื่อท่านอุปสมบทก็เมื่ออายุได้ ๘๐ ปี แล้ว การอุปัฏฐากพระบรมศาสดาจึงไม่สะดวกนัก

ส่วนท่านพระนาคสมาลเถระนั้น มีเรื่องเล่าว่า

บางคราวพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางไกล กับพระนาคสมาละเถระ เสด็จถึงทางสองแพร่ง พระเถระหลีกออกจากทางกราบ ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จะไปตามทางนี้

ทีนั้นพระผู้มี พระภาคเจ้าตรัสกะพระเถระนั้นว่า มานี่ ภิกษุเราจะไปทางนี้ พระเถระนั้นกราบ ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์รับบาตรและจีวรของพระองค์เถิด ข้าพระองค์จะไปตามทางนี้ แล้วก็เตรียมจะวางบาตรและจีวรลงบนพื้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสกะพระเถระนั้นว่า นำมาเถิด ภิกษุ แล้วทรงรับบาตรและ จีวรเสด็จไป เมื่อภิกษุนั้นไปอีกทางหนึ่ง พวกโจรชิงบาตรและจีวรไป และ ตีศีรษะ ภิกษุนั้นคิดว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งของเรา ไม่มีผู้อื่นแล้ว ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งที่เลือดไหล เมื่อพระผู้มีระภาคเจ้าตรัสว่า นี่อะไร ภิกษุ จึงกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส กะภิกษุนั้นว่า อย่าคิดไปเลยภิกษุ เราห้ามเธอถึงเหตุนั้นแล้วทรงปลอบภิกษุนั้น

 

พระเมฆิยะไม่ฟังคำพระผู้มีพระภาค

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ จาลิกบรรพต ใกล้เมืองจาลิกาก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเป็นอุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะเข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้

ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า ท่านพระเมฆิยะครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตยังชันตุคาม ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในชันตุคามเสร็จแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ท่านพระเมฆิยะเดินเที่ยวพักผ่อนอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นอัมพวันอันน่าเลื่อมใสน่ารื่นรมย์ โดยที่ในอดีตกาล บริเวณนั้นเป็นพระราชอุทยาน ที่พระเถระเคยเกิดมาเป็นพระราชาและครอบครองมา ตลอด ๕๐๐ ชาติ ตามลำดับ ด้วยเหตุนั้น จิตของพระเถระนั้นจึงน้อมไปเพื่อจะอยู่ในที่นั้น ในขณะเพียงแค่ได้เห็นเท่านั้น ครั้นเห็นแล้ว ได้มีความคิดดังนี้ว่าอัมพวันนี้ช่างน่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์หนอ ควรเพื่อบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการความเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงอนุญาตเรา เราพึงมายังอัมพวันนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร

ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เวลาเช้า ข้าพระองค์ครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปบิณฑบาตในชันตุคาม ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในชันตุคามเสร็จแล้ว กลับจากบิณฑบาตในเวลาภายหลังภัต เข้าไปยังฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเมื่อข้าพระองค์เดินเที่ยวพักอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬา ได้เห็นอัมพวันอันน่าเลื่อมใสน่ารื่นรมย์ ครั้นเห็นแล้ว ข้าพระองค์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า อัมพวันนี้น่าเลื่อมใส น่ารื่นรมย์หนอควรเพื่อบำเพ็ญเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการความเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตเรา เราพึงมายังอัมพวันนี้เพื่อบำเพ็ญเพียร ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงไปยังอัมพวันนั้นเพื่อบำเพ็ญเพียร เมื่อท่านพระเมฆิยะกราบทูลอย่างนี้แล้ว

พระผู้มีพระภาคสดับคำของพระเถระแล้ว ทรงใคร่ครวญอยู่ ทรงรู้ว่าญาณของพระเถระนั้น ยังไม่แก่กล้าก่อนดังนี้ จึงได้ตรัสห้ามท่านพระเมฆิยะว่า ดูกรเมฆิยะจงรออยู่ก่อน เราอยู่คนเดียว เธอจงรออยู่จนกว่าภิกษุรูปอื่นมาแทนตัว ฯ

แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระเมฆิยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่มีกิจอะไรที่จะพึงทำให้ยิ่ง ไม่มีการสั่งสมอริยมรรคที่ทรงทำแล้ว ข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่ง ยังมีการสั่งสมอริยมรรคที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ข้าพระองค์พึงไปยังอัมพวันเพื่อบำเพ็ญความเพียร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรเมฆิยะ จงรออยู่ก่อน เราอยู่คนเดียว เธอจงรออยู่จนกว่าภิกษุรูปอื่นมาแทนตัว ฯ

แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระเมฆิยะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่มีกิจอะไรที่จะพึงทำให้ยิ่ง ไม่มีการสั่งสมอริยมรรคที่ทรงทำแล้ว ส่วนข้าพระองค์ยังมีกิจที่จะพึงทำให้ยิ่ง ยังมีการสั่งสมอริยมรรคที่ทำแล้ว ถ้าพระผู้มีพระภาคพึงทรงอนุญาตข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงไปยังอัมพวันนั้นเพื่อบำเพ็ญความเพียร พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดูกรเมฆิยะ เราจะพึงว่าอะไรเธอผู้กล่าวอยู่ว่า บำเพ็ญเพียร ดูกรเมฆิยะ เธอจงสำคัญกาลที่ควรในบัดนี้ ฯ

ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตให้เธอไปในที่นั้น ? เพราะพระองค์ทรงอนุญาตด้วยทรงพระดำริว่า เมฆิยะนี้ถึงแม้เราไม่อนุญาต ก็ยังจะละเราไปอยู่นั่นแหละ อีกทั้งเธอก็จะมีความคิดเป็นอย่างอื่นไปว่าชะรอยพระผู้มีพระภาคเจ้าจะไม่อนุญาตให้เราไป เพราะประสงค์ให้เป็นผู้ปรนนิบัติ ซึ่งถ้าให้เธอคิดเช่นนั้น ก็จะทำให้ไม่เป็นประโยชน์ เกิดทุกข์ตลอดกาลนานแก่เธอ

 

พระเมฆิยะถูกอกุศลวิตกเข้าครอบงำ

ครั้งนั้นแล ท่านพระเมฆิยะลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว เข้าไปยังอัมพวัน อาศัยอัมพวันนั้น นั่งพักกลางวันอยู่ บนแผ่นศิลามงคล ซึ่งวางอยู่ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง แผ่นศิลานั้นก็เป็นแผ่นศิลาแผ่นเดียวกับที่พระเถระเมื่อครั้งอดีตที่เคยเป็นพระราชาติดต่อกันมา ๕๐๐ ชาติเคยนั่งอยู่ในอุทยานนี้แหละ พร้อมกับทรงเล่นกีฬาและการละเล่นต่าง ๆ แวดล้อมด้วยสาวสนมนางใน ตั้งแต่เวลาที่ท่านพระเถระนั่งลงบนแผ่นศิลานั้นก็ปรากฏเหมือนภาวะแห่งสมณะเพศได้หายไป แต่ทรงเพศเป็นพระราชาเหมือนเมื่อครั้งในอดีต นั่งบนบัลลังก์อันควรค่ามากภายใต้เศวตฉัตร ครั้นเมื่อท่านยินดีสมบัตินั้น กามวิตกก็เกิดขึ้น

ขณะนั้นเองท่านได้เห็น เหมือนเห็นโจร ๒ คนถูกจับพร้อมด้วยของกลาง ที่ราชบุรุษนำมายืนต่อเบื้องพระพักตร์ พยาบาทวิตกเกิดขึ้นด้วยอำนาจการสั่งให้ฆ่าโจรคนหนึ่ง และวิหิงสาวิตก (ความคิดในทางทำลายหรือก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ) เกิดขึ้นด้วยอำนาจการสั่งให้จองจำโจรคนหนึ่ง

เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านได้เป็นผู้ถูกครอบงำด้วยอกุศลวิตก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตกวิหิงสาวิตก เกิดความฟุ้งซ่านเป็นอันมาก ท่านพระเมฆิยะจึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ท่านผู้เจริญ น่าอัศจรรย์หนอ ไม่เคยมีมาแล้วหนอ กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาก็ยังถูกอกุศลวิตกอันลามก ๓ ประการ คือ กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตกครอบงำ ฯ

พระเถระเมื่อฟุ้งซ่านไปด้วยมิจฉาวิตกอย่างนี้ เมื่อไม่อาจทำกรรมฐานให้เป็นสัปปายะ จึงเห็นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงเห็นกาลไกล ได้เห็นเหตุอันน่าอัศจรรย์นี้หนอ จึงทรงห้าม คิดว่า เราจักกราบทูลเหตุนี้แด่พระทศพล จึงลุกขึ้นจากอาสนะที่นั่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลเรื่องของตน

 

พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมโปรดพระเถระ

เมื่อท่านนั่งกราบทูลเรื่องราวของตนอย่างนี้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงธรรมอันเป็นสัปปายะ สำหรับบ่มวิมุตติแก่เธอ จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีความโดยสรุปดังนี้

ดูกรเมฆิยะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑

เป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในพระปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระแลโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษมีประมาณเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย นี้เป็นธรรมประการที่ ๒

เป็นผู้ได้ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาเครื่องขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อเป็นที่สบายในการเปิดจิต เพื่อเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อเข้าไปสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา ศีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา นี้เป็นธรรมประการที่ ๓

เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความเกิดขึ้นแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม นี้เป็นธรรมประการที่ ๔

เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ชำแรกกิเลสให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี้เป็นธรรมประการที่ ๕

ดูกรเมฆิยะ ธรรม ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความแก่กล้าแห่งเจโตวิมุติที่ยังไม่แก่กล้า

ต่อแต่นั้น เมื่อจะตรัสบอกกรรมฐานแห่งพระอรหัต จึงตรัสว่า

ดูกรเมฆิยะ ก็แลอันภิกษุนั้นตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้วพึงเจริญธรรม ๔ ประการให้ยิ่งขึ้นไป คือ

พึงเจริญอสุภะเพื่อละราคะ

พึงเจริญเมตตาเพื่อละพยาบาท

พึงเจริญอานาปานสติเพื่อตัดวิตก

พึงเจริญอนิจจสัญญาเพื่อเพิกถอนอัสมิมานะ

ดูกรเมฆิยะ อนัตตสัญญาย่อมปรากฏแก่ภิกษุผู้ได้อนิจจสัญญา ผู้ที่ได้อนัตตสัญญาย่อมบรรลุนิพพาน อันเป็นที่เพิกถอนเสียได้ซึ่งอัสมิมานะในปัจจุบันเทียว ฯ

 

พระเถระบรรลุธรรม

ลำดับนั้น เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระเมฆิยเถระตั้งอยู่ในโอวาทนั้น เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตแล้ว

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47101477
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
30760
49112
251551
46606637
587815
1172714
47101477

Your IP: 13.59.197.237
2024-11-15 18:14
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search