อุทายี (พระอุทายีเถระ)

อุทายี (พระอุทายีเถระ)

ประวัติ

 

ประวัติพระพระอุทายีเถระ

พระเถระที่ชื่อ “อุทายี” นี้ ในพระบาลีปรากฏอยู่ ๓ ท่านด้วยกันคือ

๑ พระกาฬุทายีเถระ เกิดในตระกูลอำมาตย์ ในกรุงกบิลพัสดุ์ ในวันเดียวกับวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยถือว่าท่านเป็นสหขาติ ๑ ใน ๗ อย่างที่เกิดขึ้นพร้อมพระโพธิสัตว์ ต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้ทำสกุลให้เลื่อมใส

๒ พระโลลุทายี พระภิกษุรูปหนึ่ง เป็นพระหัวดื้อ มีนิสัยซุกซน ชอบก่อเรื่องที่ไม่ดีไม่งาม เป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยหลายสิกขาบท

๓ พระอุทายีเถระ ตามประวัติที่จะกล่าวในเรื่องนี้

พระเถระนี้ ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าในปางก่อน สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้น ๆ

 

กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในพุทธุปบาทกาลนี้ บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในกรุงกบิลพัสดุ์ ได้นามว่าอุทายี เจริญวัยแล้ว เห็นพระพุทธานุภาพในสมาคมพระญาติของ พระศาสดา ได้ศรัทธาบวชแล้วบำเพ็ญวิปัสสนากรรม ไม่นานนักก็บรรลุ พระอรหัต

 

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์แก่หมู่พระญาติ

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกทรงผนวชแล้ว บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณตามลำดับ ทรงประกาศพระศาสนา และทรงประทับอยู่ในพระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะมหาราชทรงทรงทราบว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ จึงทรงส่งอำมาตย์ ผู้หนึ่ง พร้อมบริวาร ๑,๐๐๐ คน ไปสู่กรุงราชคฤห์ เพื่ออัญเชิญพระบรมศาสดามายังนครกบิลพัสดุ์ ครั้นเมื่ออำมาตย์ผู้นั้นพร้อมทั้งบริวารได้ฟังพระธรรมเทศนา ทั้งหมดก็บรรลุพระอรหัตและได้บวชเป็นพระภิกษุ

พระเจ้าสุทโธทนมหาราชทรงส่งอำมาตย์พร้อมทั้งบริวารไปอีก ๘ คณะ ทั้งหมดก็ได้บรรลุพระอรหัตในลักษณะเดียวกันนั้นทั้งสิ้น ในครั้งสุดท้ายพระเจ้าสุทโทธนมหาราชจึงส่งกาฬุทายีอำมาตย์พร้อมทั้งบริวารไปอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อกาฬุทายีอำมาตย์ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้ฟังธรรม กาฬุทายีอำมาตย์กับทั้งบริวารทั้งสิ้นก็บรรลุพระอรหัต และได้บวชเป็นพระภิกษุทั้งหมด ครั้นเวลาได้ล่วงไป ๗-๘ วัน ในวันเพ็ญเดือน ๔ พระกาฬุทายีเถระเห็นเป็นเวลาอันสมควรจึงได้อาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงเสด็จไปโปรดพระญาติที่นครกบิลพัสดุ์ พระพุทธเจ้าก็ทรงรับอาราธนานั้น และเมื่อถึงเวลาก็เสด็จไปยังนิโครธารามที่เจ้าศากยะทั้งหลายได้จัดเตรียมไว้ถวาย

ครั้นเมื่อถึงเวลาเข้าเฝ้า เจ้าศากยะที่มีอายุเหล่านั้นเป็นคนเจ้ามานะ ถือตัวจัด เห็นว่าพระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุอ่อนกว่า ไม่ปรารถนาจะทำความเคารพในพระพุทธองค์ จึงสั่งให้พวกเจ้าศากยะที่มีอายุน้อยกว่าพระพุทธเจ้านั่งแถวด้านหน้าเพื่อที่ตนซึ่งอายุแก่กว่าจะได้นั่งด้านหลังเจ้าศากยะหนุ่ม ๆ เหล่านั้นและจะได้ไม่ต้องถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งดูอัธยาศัยของพวกเธอ แล้วทรงคำนึงว่า พวกพระ ญาติไม่ยอมไหว้เรา เอาเถิดบัดนี้ เราจักให้พระญาติเหล่านั้นไหว้ ดังนี้แล้ว ทรงเข้าจตุตถฌานเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศด้วยพระฤทธิ์ ได้ทรงทำปาฏิหาริย์คล้ายยมกปาฏิหาริย์ที่ควงแห่งคัณฑามพฤกษ์ ราวกะว่าทรง โปรยธุลีที่พระบาทลงบนเศียรแห่งพระญาติเหล่านั้น

พระเจ้าสุทโธทนะทรงเห็นอัศจรรย์นั้น จึงได้ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า และตรัสว่า เป็นการถวายบังคมครั้งที่สาม โดยครั้งแรก เมื่อพระองค์ท่านเห็นพระบาทของพระราชกุมารสิทธัตถะไปปรากฏอยู่เหนือศีรษะของพราหมณ์ ในวันที่อสิตฤๅษีเข้าเฝ้าเพื่อดูลักษณะพระกุมาร ส่วนครั้งที่สอง เมื่อ พระกุมารบรรทมบนใต้ต้นหว้าในวันพืชมงคล เมื่อเวลาล่วงไป พระอาทิตย์ก็เคลื่อนไปตามเวลา แต่เงาไม้หว้านั้นมิได้คล้อยตามดวงอาทิตย์ไป ยังคงนิ่งอยู่เพื่อบังพระวรกายของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะจึงบังคมพระบาท ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่สาม

ฝ่ายเจ้าศากยะทั้งหมดเมื่อแลเห็นพระเจ้าสุทโธทนะทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งหมดจึงได้หมดความถือตัวถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า

 

พระเถระแสดงธรรมได้เป็นที่ชอบใจของพุทธบริษัท

ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ อุทายิสูตรที่ ๙ มีเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงการที่ท่านพระเถระเป็นนักเทศน์ที่มีความสามารถ องค์หนึ่ง สามารถแสดงธรรมให้เป็นที่ชอบใจของเหล่าอุบาสก เนื่องด้วยท่านได้ตั้งธรรม ๕ อย่างนั้นไว้ในใจเมื่อท่านจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้เมืองโกสัมพี สมัยนั้น ท่านพระอุทายีผู้อันคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว นั่งแสดงธรรมอยู่ ท่านพระ อานนท์ได้เห็นดังนั้นจึง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระอุทายี ผู้อันคฤหัสถ์บริษัทหมู่ใหญ่แวดล้อมแล้ว นั่งแสดงธรรมอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการไว้ภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ๕ ประการเป็นไฉน คือ

ภิกษุพึงตั้งใจว่า

เราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ ๑

เราจักแสดงอ้าง เหตุผล ๑

เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑

เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑

เราจักไม่แสดงให้กระทบตนและผู้อื่น ๑

แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น

ดูกรอานนท์ การแสดงธรรม แก่ผู้อื่นไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ในภายใน แล้ว จึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ฯ

 

พระเถระแสดงธรรมโปรดนางพราหมณีผู้เป็นเวรหัญจานิโคตร

สมัยหนึ่ง ท่านพระอุทายีอยู่ ณ สวนมะม่วงของโตเทยยพราหมณ์ ใกล้ กามัณฑานคร ครั้งนั้นแล มาณพผู้เป็นศิษย์ของนางพราหมณีผู้เป็นเวรหัญจานิโคตร ได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ พระเถระได้แสดงธรรมมีประการต่าง ๆ

หลังจากที่ได้ฟังธรรมแล้ว มาณพนั้นก็ได้ไปหานางพราหมณีเวรหัญจานิโคตร แล้วได้กล่าวสรรเสริญ พระอุทายีว่าสามารถแสดงธรรมได้ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง ดังนี้

นางพราหมณี เวรหัญจานิโคตรได้ฟังก็เลื่อมใสจึงให้มาณพนั้นไปนิมนต์พระเถระให้มาฉันที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น มาณพนั้นก็ไปนิมนต์พระเถระตามคำของนางพราหมณี

รุ่งขึ้นในเวลาเช้า ท่านพระอุทายีจึงเข้าไปยังเรือนของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตร แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว ครั้งนั้นแล นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรถวายภัตแด่ท่านพระอุทายีด้วยอาหารอันประณีต ด้วยมือของตนเองแล้ว ครั้นเมื่อนางทราบว่าท่านพระอุทายี เสร็จสิ้นการฉันโดยการลดมือจากบาตรแล้ว จึงได้สวมรองเท้า นั่งบนอาสนะอันสูง คลุมศีรษะแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านสมณะ ขอท่านจงกล่าวธรรม ท่านพระอุทายีกล่าวว่า น้องหญิง เวลา จักมี ดังนี้แล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะแล้วหลีกไป ฯ

แม้ครั้งที่สอง มาณพนั้นได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่และได้ฟังธรรมจากพระเถระอีก ก็ได้มาสรรเสริญพระเถระให้กับนางพราหมณีผู้เป็นอาจารย์ฟังอีก ครั้งนั้นนางพราหมณีจึงกล่าวว่า แน่ะมาณพ ก็เธอ กล่าวสรรเสริญคุณของพระสมณะอุทายีเช่นนั้น แต่พระเถระกลับกล่าวว่า น้องหญิง เวลาจักมี ดังนี้แล้ว ก็ลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไปเสีย

มาณพนั้นจึงกล่าวว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า ท่านสวมรองเท้า นั่งบนอาสนะสูง คลุมศีรษะแล้วจึงนิมนต์ท่านพระเถระให้แสดงธรรม พระเถระท่านนั้นเป็นผู้หนักในธรรม เป็นผู้เคารพในธรรม ท่านจึงไม่แสดงธรรมแก่ผู้ที่ไม่แสดงความเคารพแก่พระธรรม

นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรจึงให้มาณพนั้นนิมนต์พระเถระมาอีกในวันรุ่งขึ้น แต่ในครั้งนี้ นางเมื่อก่อนที่จะอาราธนาพระเถระให้แสดงธรรมจึงได้ถอดรองเท้า นั่งบนอาสนะต่ำ เปิดศีรษะแล้วจึงได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านเจ้าข้า เมื่ออะไรหนอแล มีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่ออะไรไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์ ฯ

ท่านพระอุทายีตอบว่า ดูกรน้องหญิง

เมื่อจักษุแลมีอยู่พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อจักษุไม่มีพระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์ ........ฯลฯ

.....เมื่อใจมี อยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อใจไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติ สุขและทุกข์ ฯ

เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้แล้ว นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรได้กล่าวกะท่าน พระอุทายีว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านอุทายีผู้เจริญ ดิฉันนี้ขอ ถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระคุณเจ้าอุทายีจงจำดิฉันไว้ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯ

 

พระเถระกับช่างไม้ชื่อปัญจกังคะ

ครั้งหนึ่งท่านพระอุทายีได้สนทนากับคหบดีช่างไม้ ชื่อปัญจกังคะถึงเรื่องเวทนา ท่านเห็นว่าพระพุทธองค์ทรง แสดงเวทนาไว้ ๓ อย่างคือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา (อุเบกขาเวทนา) ๑ แต่คหบดีปัญจกังคะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงเวทนาไว้เพียง ๒ อย่างคือ สุขเวทนา และ ทุกขเวทนาเท่านั้น ส่วนอทุกขมสุขเวทนานั้น ก็ได้แก่ สุขเวทนา อันประณีตนั้นเอง ทั้งสองท่านไม่สามารถจะตกลงกันได้ พระ อานนท์ได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า

ดูกรอานนท์ แม้เวทนา ๒ เราได้กล่าวโดยปริยาย ถึงเวทนา ๓ เวทนา ๔ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘ เราก็กล่าวแล้วโดยปริยาย

ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดย ปริยายอย่างนี้แล ผู้ใดไม่รู้ตามด้วยดี ไม่สำคัญตามด้วยดี ไม่ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ในธรรมที่เราแสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักบาดหมาง ทะเลาะวิวาททิ่มแทงกันแลกันด้วยหอกคือปากอยู่

ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยาย อย่างนี้ ผู้ใดรู้ตามด้วยดี สำคัญตามด้วยดี ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ใน ธรรมที่แสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักพร้อมเพรียง บันเทิง ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมระคนกับน้ำ แลดูกันด้วยสายตาเป็นที่รักอยู่.

ในอรรถกถาท่านได้กล่าวไว้ว่า แท้จริง พระผู้มีพระภาคเจ้า มิใช่ทรงบัญญัติเวทนาตั้งต้นเพียง ๒ เท่านั้น ยังตรัสเวทนาแม้เพียง ๑ ไว้โดยปริยายก็มี เมื่อจะทรงแสดงเวทนานั้น จึงทรงเริ่มเทศนานี้ เพื่อสนับสนุนวาทะของนายช่างไม้ที่ชื่อปัญจกังคะ

 

พระเถระถามปัญหากับพระอานนท์เถระ

สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระอุทายีอยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี ท่านพระอุทายีได้ถามท่านพระอานนท์ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายต่าง ๆ ว่ากายนี้เป็นอนัตตา ดังนี้ ฉันใด แม้วิญญาณนี้ ท่านอาจจะบอกได้หรือไม่ว่า วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ฉันนั้น ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ท่านอาจบอกได้ว่าวิญญาณนี้เป็นอนัตตาฯ และถามท่านพระอุทายีเถระว่า เมื่อเหตุและปัจจัยแห่งจักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณดับไปไม่มีเหลือแล้ว วิญญาณเหล่านั้นจะปรากฏหรือไม่ ? ท่านพระอุทายีเถระตอบว่า ไม่ปรากฏเลย ดังนั้นท่านพระอานนท์เถระจึงสรุปว่า แม้เพราะเหตุนี้ วิญญาณนี้เป็นอนัตตา ฯ

 

พระเถระทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการ

ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมว่า โพชฌงค์ ๗ เป็นหนทางและข้อปฏิบัติที่อำนวยให้สิ้นตัณหา เป็นส่วนแห่งการทำลายกิเลส ท่านพระอุทายีได้ทูลขอให้พระองค์ทรงแสดงวิธีเจริญโพชฌงค์ ๗ ประการนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ดังนี้

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อาศัย วิราคะ อาศัยนิโรธ อันไพบูลย์ เป็นมหรคต หาประมาณมิได้ ไม่มีความเบียดเบียน ย่อมละตัณหาได้ เพราะละตัณหาได้ จึง ละกรรมได้ เพราะละกรรมได้ จึงละทุกข์ได้

เพราะสิ้นตัณหา จึงสิ้นกรรม เพราะสิ้นกรรม จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ......วิริยสัมโพชฌงค์ ...... ปีติสัมโพชฌงค์...... ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์...... อุเบกขาสัมโพชฌงค์...... จึงสิ้นทุกข์ ด้วยประการดังนี้แล

 

พระพุทธเจ้าทรงรับรองการปฏิบัติเพื่อมรรคผล

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชนชาวสุมภะ ชื่อเสตกะ ในแคว้นสุมภะ ครั้งนั้น ท่านพระอุทายีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วได้ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ตัวท่านเมื่อครั้งยังเป็นเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนอยู่ ก็มิได้กระทำความ คุ้นเคยกับพระธรรมมากนัก มิได้กระทำความคุ้นเคยกับพระสงฆ์มากนัก แต่ท่านมีความเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค จึงออกบวชเป็นบรรพชิต ครั้นเมื่อบวชแล้วพระองค์ได้แสดงธรรมแก่ท่านถึงความเกิดและความความเสื่อมไปแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ และเมื่อท่านพิจารณาต่อไปก็ได้รู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกข นิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา

และถ้าท่านได้ทำต่อไปให้ยิ่งขึ้นไปอีกในธรรมที่ท่านบรรลุแล้วและมรรคที่ท่านได้ แล้วนั้น คือการเจริญโพชฌงค์ ๗ ให้ยิ่งขึ้นไปอีก ก็จักน้อมนำให้ท่านได้บรรลุธรรมที่สูงขึ้นต่อไป จนกระทั่งท่านสามารถรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่ จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี

พระพุทธองค์ได้ทรง สดับถ้อยคำของท่านแล้วจึงทรงรับรองคำพูดของพระเถระว่าเป็นจริงอย่างนั้น

 

พระเถระปรารภพระพุทธคุณ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในอาปนนิคม แห่งอังคุตตราปชนบท ท่านพระอุทายีได้มีความคิดว่า

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งทุกข์เป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำธรรมอันเป็นเหตุแห่งสุขเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

พระผู้มี พระภาคทรงนำอกุศลธรรมเป็นอันมากของเราทั้งหลายออกไปได้หนอ

พระผู้มีพระภาคทรงนำ กุศลธรรมเป็นอันมากเข้าไปให้แก่เราทั้งหลายหนอ

แล้วได้ นำความดำรินั้นไปกราบทูลพระองค์ แล้วได้เล่าเหตุผลที่มีความคิดเช่นนั้นถวายพระพุทธองค์ว่า

เมื่อก่อน ท่านเคยฉันได้ทั้งเวลาเช้า กลางวัน และเวลาเย็น ต่อมาพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามการฉันโภชนะในเวลากลางวันนั้นเสีย ในครั้งนั้นท่านมีความน้อยใจ มีความเสียใจ ที่ไม่สามารถสนองศรัทธาคฤหบดีทั้งหลายได้ แต่ด้วยความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัว ในพระผู้มีพระภาค จึงละการฉันโภชนะในเวลากลางวันนั้นเสีย

ต่อมาพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามการฉันโภชนะในเวลากลางคืนนั้นเสียอีก ท่านก็มีความน้อยใจ มีความเสียใจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ด้วยความรัก ความเคารพ ความละอาย และความเกรงกลัว ในพระผู้มีพระภาค จึงละการฉันโภชนะในเวลาวิกาลทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นเสีย แต่ครั้นเมื่อมาพิจารณาดูถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการออกเที่ยวบิณฑบาตในเวลาวิกาลว่า

มีเรื่องเคยเกิดมาแล้ว ภิกษุทั้งหลายเที่ยวไปบิณฑบาต ในเวลามืดค่ำ ย่อมตกไปในบ่อน้ำครำบ้าง ลงไปในหลุมโสโครกบ้าง บุกเข้าไปยังป่าหนามบ้าง เหยียบขึ้นไปบนแม่โคกำลังหลับบ้าง พบกับโจรผู้ร้ายบ้าง หญิงชั่วย่อมชักชวนภิกษุเหล่านั้นด้วย อสัทธรรมบ้าง

ครั้งหนึ่งท่านได้เที่ยวบิณฑบาตในเวลามืดค่ำ หญิงคนหนึ่งล้างภาชนะอยู่ ได้เห็นข้าพระองค์โดย แสงฟ้าแลบ แล้วตกใจกลัวเพราะคิดว่าท่านเป็นปีศาจ และเมื่อท่านได้พูดกับหญิงนั้นว่าท่านไม่ใช่ปีศาจแต่เป็นภิกษุที่มาเพื่อบิณฑบาต หญิงนั้นกลับกล่าวว่า บิดามารดาของท่านตายเสียแล้วหรือ จึงไม่มีผู้หาอาหารให้ ท่านเอามีดคว้านท้องเสียยังจะดีกว่าการที่ท่านเที่ยวบิณฑบาตในเวลาค่ำมืดเพราะเหตุแห่งท้องเช่นนั้น

เมื่อท่านระลึกถึงเรื่องนั้นอยู่ จึงมีความคิดสรรเสริญพระพุทธคุณดังที่กล่าวมาข้างต้น

เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบแล้ว ได้ทรงแสดง ลฑุกิโกปมสูตร โปรดท่านตั้งแต่ต้นจนจบ

 

เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์ ดังที่ปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น

เกิดเป็นนารทดาบส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็น สรภังคดาบส ใน สรภังคชาดก

เกิดเป็นพญานกดุเหว่าขาว พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพญานกกุณาละ ใน กุณาลชาดก

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

48585967
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
53113
74766
53113
48264582
799723
1272582
48585967

Your IP: 184.22.240.105
2024-12-22 22:01
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search