สุภูติ (พระสุภูติเถระ)

สุภูติ (พระสุภูติเถระ)

ประวัติ

 

ประวัติพระสุภูติเถระ

เอตทัคคมหาสาวกผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่มีกิเลส

เอตทัคคมหาสาวกผู้เป็นทักขิไณยบุคคล

การที่ท่านพระสุภูติเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดา ให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลาย ผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่มีกิเลส และผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ถึง ๒ ประการนั้นก็เนื่องด้วย ๒ เหตุคือ โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องทั้งสองได้อย่างชัดแจ้ง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ ในกาลก่อนหน้า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระเสด็จอุบัติขึ้น ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐี ในพระนครหงสาวดี ในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในนครหังสวดี วันขนานนามท่าน พวกญาติขนานนามว่า นันทมาณพ (ในบางแห่งกล่าวว่าชื่อ โกสิยะ) ครั้นเติบใหญ่ขึ้นแล้ว เป็นพราหมณ์ผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบ ไตรเพท มีมาณพ ๔๔,๐๐๐ เป็นบริวาร

ต่อมานันทมาณพนั้นได้พิจารณาไตรเพทเห็นว่าไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร หาสาระอะไรมิได้ จึงไปยังเชิงเขาออกบวชเป็นฤๅษีพร้อมกับมาณพ ๔๔,๐๐๐ แล้ว

ท่านเมื่อบวชแล้วก็มีชฎิล ๔๔,๐๐๐ เป็นบริวาร ท่านทำอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ให้บังเกิดแล้ว บอกกสิณบริกรรมแก่ชฎิลเหล่านั้นด้วย ชฎิลเหล่านั้นตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ก็บำเพ็ญจนได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ทุกรูป

กาลเวลาล่วงไป จนเมื่อพระปทุมุตตระทศพลทรงอุบัติ และบรรลุปรมาภิสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร ทรงประทับอยู่ ณ กรุงหงสวดี วันหนึ่งพระทศพลนั้นทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอรหัตตูปนิสัยของเหล่าบริษัทของนันทดาบส และความปรารถนาทั้งสองของนันทดาบส (ที่ปรารถนาจะเป็นเอตทัคคะผู้มีปกติอยู่ด้วยความไม่มีกิเลส และเอตทัคคะผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้จะทรงบังเกิดในกาลภายหน้า) จึงชำระสรีระแต่เช้าตรู่ ถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง เสด็จไปพระองค์เดียว ในเวลาที่เหล่าศิษย์ของนันทดาบสออกไปแสดงหาผลไม้ในป่า ทรงประทับยืนอยู่ที่ประตูบรรณศาลาของนันทดาบส

ฝ่ายนันทดาบสแม้ไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้ว แต่เมื่อแลเห็นพระทศพลทรงประทับยืนอยู่นั้นก็ทราบได้ว่า บุรุษผู้นี้น่าจะเป็นคนพ้นโลกแล้ว เหมือนความสำเร็จแห่งสรีระของพระองค์ ซึ่งประกอบด้วยจักกลักษณะ หากครองเรือนก็จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หากออกบวชก็จักเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ดังนี้ จึงถวายอภิวาทพระทศพล ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดมาประทับทางนี้ แล้วท่านก็ปูลาดอาสนะถวาย

พระตถาคตประทับนั่งแสดงธรรมแก่นันทดาบส ขณะนั้นพวกชฎิลเหล่าศิษย์เมื่อได้ผลาหารตามต้องการแล้วก็กลับมา ด้วยหมายว่า จักให้ผลหมากรากไม้ในป่าที่ประณีต ๆ แก่อาจารย์ ส่วนที่เหลือจักบริโภคเอง ดังนี้ เห็นพระทศพลประทับนั่งบนอาสนะสูง แต่อาจารย์นั่งบนอาสนะต่ำ ต่างก็สนทนากันว่า พวกเราคิดกันว่า ในโลกนี้ไม่มีใครที่ยิ่งกว่าอาจารย์ของเรา แต่บัดนี้ปรากฏว่า บุรุษนี้ผู้เดียวให้อาจารย์ของเรานั่งบนอาสนะต่ำ ตนเองนั่งบนอาสนะสูง มนุษย์นี้ทีจะเป็นใหญ่หนอ ดังนี้ ต่างถือตะกร้าพากันมา

นันทดาบสเกรงว่า ชฎิลเหล่านี้จะพึงไหว้เราในสำนักพระทศพล จึงกล่าวว่าท่านทั้งหลายอย่าไหว้เรา ท่านผู้นี้เป็นบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เป็นผู้ควรที่ท่านทุกคนพึงไหว้ได้ ท่านทั้งหลายจงไหว้บุรุษผู้นี้ ดาบสทั้งหลายคิดว่า อาจารย์นั้นถ้าไม่รู้ ก็คงไม่พูด จึงถวายบังคมพระบาทแห่งพระตถาคตเจ้า นันทดาบสกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย เราไม่มีโภชนะอย่างอื่นที่สมควรถวายแด่พระทศพล เราจักถวายผลหมากรากไม้ในป่านี้ จึงเลือกผลาผลที่ประณีต ๆ บรรจงวางไว้ในบาตรของพระพุทธเจ้า พระศาสดาเสวยผลไม้แล้ว ต่อจากนั้น ดาบสเองกับเหล่าศิษย์จึงฉัน

พระศาสดาเสวยเสร็จแล้วทรงพระดำริว่า พระอัครสาวกทั้ง ๒ จงพาภิกษุแสนรูปมา ในขณะนั้น พระมหาวิมลเถระอัครสาวกรำลึกว่าพระศาสดาเสด็จไปที่ไหนหนอ จึงทราบว่า พระศาสดาทรงประสงค์ให้ท่านไปเฝ้า จึงพาภิกษุแสนรูปไปเฝ้าถวายบังคมอยู่ พระดาบสกล่าวกับเหล่าศิษย์ว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราไม่มีสักการะอื่น ทั้งภิกษุสงฆ์ก็ยืนอยู่ลำบาก เราจักปูลาดบุปผาสนะถวายภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประธาน ท่านทั้งหลายจงไปนำเอาดอกไม้ที่เกิดทั้งบนบก ทั้งในน้ำมาเถิด ในทันใดนั้นเอง ดาบสเหล่านั้น จึงนำเอาดอกไม้อันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นมาจากเชิงเขาด้วยอิทธิฤทธิ์ แล้วปูลาดอาสนะดอกไม้ ประมาณหนึ่งโยชน์แก่พระพุทธเจ้า ปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณ ๓/๔ โยชน์ แก่พระอัครสาวกทั้งสอง ปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณกึ่งโยชน์เป็นต้น แก่เหล่าภิกษุที่เหลือ ปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณ ๒๕ วาแก่ภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์

ครั้นปูลาดอาสนะทั้งหลายอย่างนี้แล้ว นันทดาบสจึงประคองอัญชลี ตรงพระพักตร์ของพระตถาคต แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์เสด็จขึ้นยังอาสนะดอกไม้นี้ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว พระอัครสาวกทั้งสองและเหล่าภิกษุที่เหลือ ก็นั่งบนอาสนะอันถึงแก่ตน ๆ พระศาสดาทรงเข้านิโรธสมาบัติด้วยพระประสงค์ว่า ผลใหญ่จงมีแก่ดาบสเหล่านั้น ฝ่ายพระอัครสาวกทั้งสองและเหล่าภิกษุที่เหลือ รู้ว่าพระศาสดาทรงเข้านิโรธสมาบัติ จึงพากันเข้านิโรธสมาบัติ พระดาบสได้ยืนกั้นฉัตรดอกไม้แด่พระศาสดาตลอด ๗ วัน พระ ดาบสนอกนี้ฉันมูลผลาหารจากป่าแล้ว ในเวลาที่เหลือก็ได้ยืนประคองอัญชลีอยู่

ในวันที่ ๗ พระศาสดาทรงออกจากนิโรธสมาบัติ ทรงเห็นดาบสทั้งหลายยืนล้อมอยู่ จึงตรัสเรียกพระสาวกผู้บรรลุเอตทัคคะในความเป็นผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ คือองค์ของภิกษุอยู่โดยไม่มีกิเลส และองค์แห่งภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ หมู่ฤๅษี นี้ ได้กระทำสักการะใหญ่ เธอจงกระทำอนุโมทนาบุปผาสนะแก่หมู่ฤๅษี เหล่านี้ ภิกษุนั้นรับพระพุทธดำรัสแล้วพิจารณาพระไตรปิฎกกระทำอนุโมทนา เวลาจบเทศนาของภิกษุนั้น พระศาสดาทรงเปล่งพระสุระเสียงดุจเสียงพรหมแสดงธรรมด้วยพระองค์เอง เมื่อจบเทศนา ชฎิล ๔๔,๐๐๐ รูปทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัต เว้นแต่นันทดาบสไม่อาจทำการแทงตลอดในพระธรรมนั้น การที่นันทดาบสไม่ได้บรรลุคุณพิเศษ เพราะมีจิตฟุ้งซ่าน ได้ยินว่า นันทดาบสนั้นจำเดิมแต่เริ่มฟังธรรม ในสำนักของพระเถระผู้อยู่อย่างปราศจากกิเลส ได้เกิดจิตตุปบาทขึ้นว่า โอหนอ แม้เราพึงได้คุณอันสาวกนี้ได้แล้ว ในศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งผู้จักเสด็จอุบัติในอนาคตกาล ด้วยปริวิตกนั้น นันทดาบสจึงไม่สามารถทำการแทงตลอดมรรคและผลได้ จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุผู้ที่แสดงธรรมก่อนนี้ ชื่อว่าอย่างไร ในศาสนาของพระองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า นันทดาบส ภิกษุนี้เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ คือองค์ของภิกษุอยู่โดยไม่มีกิเลส และองค์แห่งภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคลในศาสนาของเรา นันทดาบสหมอบแทบบาทมูล กระทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งบุญกุศลที่ข้าพระองค์ทำมา ๗ วันนี้ ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ คือองค์ของภิกษุอยู่โดยไม่มีกิเลส และองค์แห่งภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคลในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนดังภิกษุรูปนี้ พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาล ก็ทรงทราบว่าความปรารถนาของนันทดาบสนั้นสำเร็จโดยหาอันตรายมิได้ แล้วทรงพยากรณ์ว่า

ในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคตกาลพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๒ คือองค์ของภิกษุอยู่โดยไม่มีกิเลส และองค์แห่งภิกษุผู้เป็นทักขิไณยบุคคลในศาสนาของพระองค์ แล้วตรัสกะดาบสผู้บรรลุพระอรหัตว่า เอก ภิกขโว จงเป็นภิกษุมาเถิดดังนี้ ดาบสทุกรูปมีผมและหนวดอันตรธานไป ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นเช่นกับพระเถระ ๑๐๐ พรรษาพระศาสดาทรงพาภิกษุสงฆ์เสด็จกลับพระวิหาร ฝ่ายนันทดาบสก็บำรุงพระตถาคตจนตลอดชีวิต บำเพ็ญแต่กัลยาณกรรมตามกำลัง เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแสนกัป

นันทดาบสได้ยืนประคองอัญชลีแล้วอุทิศเฉพาะพระศาสดา และภิกษุสงฆ์จนกระทั่งลับคลองจักษุ ในเวลาต่อมา ท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาฟังธรรมตามกาลเวลา มีฌานไม่เสื่อมแล้วทีเดียว ทำกาละไปบังเกิดในพรหมโลก และจุติจากพรหมโลกนั้นแล้วบวชอีก ๕๐๐ ชาติได้เป็นผู้มีการอยู่ป่าเป็นวัตร

 

กำเนิดในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

แม้ในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ เมื่อท่านเกิดมาก็ได้บวช เป็นผู้มีการอยู่ป่าเป็นวัตร บำเพ็ญคตปัจจาคตวัตร ให้บริบูรณ์แล้ว ได้ยินว่า ผู้ที่ไม่ได้บำเพ็ญวัตรนี้ ชื่อว่าจะบรรลุถึงความเป็นพระมหาสาวกไม่ได้เลย ท่านบำเพ็ญคตปัจจาคตวัตร อยู่ถึง ๑๒๐ ปี ทำกาละแล้วบังเกิดในภพดาวดึงส์ ในเทวโลกชั้นกามาพจร

 

กำเนิดในสมัยพระศากยโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า

ก็นันทดาบสนั้น เสวยทิพยสมบัติด้วยสามารถแห่งการเกิด สลับกันไปในดาวดึงส์พิภพด้วยประการฉะนี้ จุติจากดาวดึงส์พิภพนั้นแล้วเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ และเป็นเจ้าประเทศราชในมนุษย์โลก นับได้หลายร้อยครั้ง เสวยมนุษย์สมบัติอันโอฬาร ต่อมาในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย เกิดเป็นน้องชายของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในเรือนสุมนเศรษฐี ณ กรุงสาวัตถี ได้มีนามว่า สุภูติ

 

อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างเชตวันมหาวิหารถวาย

สมัยหนึ่งท่านเศรษฐีได้ไปสู่นครราชคฤห์ เพื่อธุรกิจการค้า และได้ไปพักอยู่กับท่านเศรษฐีชาวกรุงราชคฤห์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นพี่เขยของท่าน ในวันที่ท่านไปถึงนั้น ท่านได้เห็นท่านเศรษฐีเจ้าของบ้าน กำลังตระเตรียมอาหารเพื่อถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธองค์เป็นประธาน ท่านจึงทราบว่า มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ท่านก็เกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง อยากจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้ามาก ในวันรุ่งขึ้นเมื่ออนาถปิณฑิกเศรษฐีได้พบพระบรมศาสดาแล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถาโปรด ท่านเศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต

ครั้นในวันรุ่งขึ้น ท่านได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระพุทธองค์ และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จแล้ว ท่านเศรษฐีได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์และพระภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไปจำพรรษาที่นครสาวัตถีบ้าง ครั้นท่านเศรษฐีได้ทำธุรกิจในนครราชคฤห์เสร็จก็ออกเดินทางกลับไปยังนครสาวัตถี เมื่อไปถึงนครสาวัตถี ก็เที่ยวตรวจดูสถานที่อันเหมาะสมที่จะเป็นพระอาราม จึงเลือกได้สวนของเจ้าเชต แล้วขอซื้อด้วยราคา ๑๘ โกฏิ และสิ้นค่าก่อสร้างวิหาร หอฉัน ฯลฯ ต่าง ๆ รวมทั้งหมดสิ้นเงินอีก ๑๘ โกฏิ วิหารนี้มีชื่อว่า เชตวนาราม เพราะเป็นสวนของเชตกุมารมาก่อน

ครั้นพระพุทธองค์ได้ประทับอยู่ในนครราชคฤห์ พอสมควรแล้ว ก็เสด็จจาริกไปโดยลำดับถึงนครเวสาลี ทรงพักอยู่ที่นั้นพอสมควรแล้วเสด็จจาริกต่อไปจนถึงนครสาวัตถี ประทับ ณ เชตวนาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีได้ถวายพระอารามแก่สงฆ์ในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง

ในวันที่พระพุทธองค์ทรงรับพระเชตวนารามนั้นเอง เป็นวันที่ สุภูติกุฏุมพีนี้ได้ไปพร้อมกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังธรรม และได้ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อท่านอุปสมบทแล้วกระทำมาติกา ๒ บทให้แคล่วคล่อง ให้บอกกัมมัฏฐานให้ บำเพ็ญสมณธรรมในป่าเจริญวิปัสสนา กระทำเมตตาฌานให้เป็นบาท บรรลุอรหัตแล้วพร้อมคุณวิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖

ในวันเดียวกันนั้นเอง ก็เป็นวันที่นันทกมานพ ชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ได้ฟังธรรม และได้ออกบวชเป็นบรรพชิต คือท่านพระนันทกเถระ ต่อมาก็ได้บรรลุอรหัตผล ภายหลังพระพุทธเจ้าทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุสาวกผู้ให้โอวาทสอนภิกษุณี

 

พระเจ้าพิมพิสารปวารณาจะสร้างกุฏิถวายแล้วทรงลืม

พระสุภูติเถระนี้ เมื่อบรรลุพระอรหัตอันเป็นที่สุดของผลแห่งบารมีที่ตนได้บำเพ็ญมา เป็นผู้ฉลาดเปรื่องปราชญ์ในโลก เที่ยวจาริกไปตามชนบทเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ชนหมู่มาก ถึงกรุงราชคฤห์แล้วโดยลำดับ

พระเจ้าพิมพิสาร ทรงสดับการมาของพระเถระแล้ว เสด็จเข้าไปหา ทรงไหว้แล้วตรัสว่า ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านอยู่ในที่นี้แหละ ข้าพเจ้าจะสร้างที่อยู่ถวายดังนี้แล้ว เสด็จหลีกไปแล้วก็ทรงลืมเสีย พระเถระเมื่อไม่ได้เสนาสนะก็ยังกาลให้ผ่านไปในอัพโภกาส (กลางแจ้ง) ด้วยอานุภาพของพระเถระฝนไม่ตกเลย

มนุษย์ทั้งหลาย ถูกภาวะฝนแล้งบีบคั้นคุกคาม จึงพากันไปทำการร้องทุกข์ ที่ประตูวังของพระราชา พระราชาทรงใคร่ครวญว่า ด้วยเหตุอะไรหนอ ฝนจึงไม่ตก แล้วทรงพระดำริว่า ชะรอยพระเถระจะอยู่กลางแจ้ง ฝนจึงไม่ตก แล้วรับสั่งให้สร้างกุฏีมุงด้วยใบไม้ถวายพระเถระแล้วรับสั่งว่า ท่านผู้เจริญ นิมนต์ท่านอยู่ในบรรณกุฏีนี้แหละ ไหว้แล้วเสด็จหลีกไป พระเถระไปสู่กุฏีแล้วนั่งขัดสมาธิบนอาสนะที่ปูลาดด้วยหญ้า ในครั้งนั้น ฝนหยาดเม็ดเล็ก ๆ ตกลงมาทีละน้อย ๆ ไม่ยังสายธารให้ชุ่มชื่นทั่วถึง

ลำดับนั้น พระเถระประสงค์จะบำบัดภัยอันเกิดแต่ฝนแล้งแก่ชาวโลก เมื่อจะประกาศความไม่มีอันตรายที่จะเกิดแก่ตัวท่าน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุภายในหรือวัตถุภายนอกก็ตาม ท่านจึงกล่าวคาถาว่า

กระท่อมของเรามุงแล้ว สะดวกสบายปราศจากลม

ดูก่อนฝน ท่านจงตกตามสบายเถิด

จิตของเราตั้งมั่นแล้ว หลุดพ้นแล้ว

เรามีความเพียรเครื่องเผากิเลสอยู่

ดูก่อนฝน ท่านจงตกเถิด ดังนี้

 

พระศาสดาทรงสถาปนาท่านเป็นเอตทัคคะ

พระเถระนี้ ขึ้นสู่ตำแหน่งเอตทัคคะ ๒ อย่าง คือ เลิศในทางอรณวิหารี และเลิศในทางทักขิไณย

จริงอยู่กิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้นท่านเรียกว่า รณะ ผู้มีปกติอยู่โดยหากิเลศมิได้นั้น จึงเรียกว่า อรณวิหาร อรณวิหารนั้นมีอยู่แก่ภิกษุเหล่าใด ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่า ผู้มีปกติอยู่โดยหากิเลสมิได้ พระสุภูติเถระเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปกติอยู่โดยหากิเลสมิได้เหล่านั้น

จริงอยู่พระขีณาสพ แม้เหล่าอื่น ก็ชื่อว่า อรณวิหารี ถึงอย่างนั้นพระสุภูติเถระก็ได้ชื่ออย่างนั้นก็ด้วยพระธรรมเทศนา ภิกษุเหล่าอื่น เมื่อแสดงธรรมย่อมกระทำเจาะจงกล่าวคุณบ้าง โทษบ้าง ส่วนพระเถระเมื่อแสดงธรรมก็แสดงไม่ออกจากข้อกำหนดที่พระศาสดาแสดงแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีปกติอยู่โดยหากิเลสมิได้

ที่เป็นเลิศในทางทักขิไณยนั้น ได้มีคำพูดกล่าวว่าพระธรรมเสนาบดี ยังวัตถุให้บริสุทธิ์ ส่วนพระสุภูติเถระยังทักขิณาให้บริสุทธิ์ ซึ่งก็เป็นจริงอย่างนั้น พระธรรมเสนาบดีเที่ยวบิณฑบาต ยืนอยู่ใกล้ประตูเรือน กำหนดในบุพภาคแล้ว เข้านิโรธจนกว่าบุคคลทั้งหลายนำภิกษามาถวาย จึงออกจากนิโรธแล้วรับไทยธรรม ส่วนพระสุภูติเถระนั้น ท่านเข้าเมตตาฌานเหมือนอย่างนั้น ออกจากเมตตาฌานแล้วจึงรับไทยธรรม

พระขีณาสพทั้งหลายเหล่าอื่นก็ชื่อว่า พระทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ เช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้น พระสุภูติเถระนั้น แม้ในขณะที่กำลังบิณฑบาต ก็เข้าฌานมีเมตตาเป็นอารมณ์ เมื่อออกจากสมาบัติแล้ว จึงจะรับภิกษาในเรือนทุกหลัง ที่ท่านทำเช่นนั้นด้วยปรารถนาว่าทายกผู้ถวายภิกษาจักมีผลมาก ด้วยว่าทานที่จักมีผลมากนั้นต้องบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้และผู้รับ แม้ทางด้านผู้รับจะไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เพราะท่านทราบอยู่แล้วว่าท่านเป็นพระขีณาสพแล้ว แต่ท่านก็ยังทำด้วยความปรารถนาดีต่อทายกผู้ถวาย เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกว่า ท่านปฏิบัติในข้อ เป็นผู้ควรแก่ทักขิณายิ่งกว่าผู้อื่น

พระศาสดาทรงอาศัยเหตุ ๒ อย่างนี้ จึงสถาปนาท่านไว้ในภิกษุ ผู้ควรแก่ทักษิณา แลตำแหน่งเอตทัคคะเป็นยอดของเหล่าภิกษุ ผู้มีปกติอยู่โดยไม่มีกิเลส

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

49581491
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
7395
33257
156508
49159770
721141
1074106
49581491

Your IP: 3.135.246.102
2025-01-22 08:21
© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search