ยโสช (พระยโสชเถระ)

ยโสช (พระยโสชเถระ)

ประวัติ

 

ประวัติพระยโสชเถระ

 

บุรพกรรมในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า

แม้ท่านพระยโสชเถระนี้ มีบุญญาธิการที่ได้ทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ เมื่อสั่งสมบุญทั้งหลายในภพนั้น ๆ มาในกาลของ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี ได้เกิดในตระกูลของผู้เฝ้าสวน ครั้นเติบใหญ่แล้ว วันหนึ่ง ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า วิปัสสี กำลังเสด็จมาทางอากาศ มีใจเลื่อมใส ได้ถวายผลขนุนสำมะลอ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

 

บุรพกรรมในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า

ได้ยินว่า ในอดีตกาล ศาสนาของพระกัสสปทศพล มีภิกษุอยู่ป่ารูปหนึ่ง อยู่ในกุฏิมุงด้วยใบไม้ สร้างไว้ในศิลาดาดในป่า ก็สมัยนั้นโจร ๕๐๐ กระทำการปล้นชาวบ้านเป็นต้น เลี้ยงชีพแบบโจรกรรม กระทำโจรกรรม ถูกพวกมนุษย์ในชนบทพากันติดตาม หนีเข้าป่าไป ไม่เห็นอะไรๆ ในที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นรกชัฏหรือที่พึ่งอาศัย เห็นภิกษุนั้น นั่งอยู่บนแผ่นหินในที่ไม่ไกล จึงไหว้แล้วบอกเรื่องนั้น อ้อนวอนว่า ขอท่านจงเป็นที่พึ่งแก่พวกกระผมเถิดขอรับ พระเถระกล่าวว่าที่พึ่งอื่นเช่นกับศีลของพวกท่านไม่มี จงสมาทานศีล ๕ กันทั้งหมดเถิด โจรเหล่านั้นรับคำของท่านแล้ว สมาทานศีล พระเถระกล่าวว่า ท่านตั้งอยู่ในศีลแล้ว ท่านแม้ถึงชีวิตของตนจะพินาศไป ก็อย่าเกรี้ยวกราดด้วยการเบียดเบียน ดังนี้แล้ว จึงบอกวิธีอุปมาด้วยเลื่อย โจรเหล่านั้นรับว่า ดีละ ลำดับนั้น ชาวชนบทเหล่านั้นไปยังที่นั้น ค้นดูข้างโน้นข้างนี้ พบพวกโจรเหล่านั้น ก็ปลงชีวิตเสียทั้งหมด โจรเหล่านั้น ไม่ได้ทำแม้มาตรว่า ความแค้นเคืองใจในชนเหล่านั้น มิได้ขาดศีล ตายไปบังเกิดในเทวโลก ชั้นกามาวจร โจรเหล่านั้นผู้เป็นหัวหน้า ได้เป็นเทพบุตรหัวหน้า ฝ่ายโจรนอกนั้น ได้เป็นบริวารของเทพบุตรผู้หัวหน้านั้นเอง เทวบุตรเหล่า นั้น ท่องเที่ยวไปๆ มาๆ สิ้นพุทธันดรหนึ่งในเทวโลก

 

กำเนิดเป็นยโสชมาณพในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย เทพบุตรผู้เป็นหัวหน้าได้ถือปฏิสนธิในท้องแห่งภรรยาของชาวประมง ผู้เป็นหัวหน้าสกุล ๕๐๐ สกุล ในหมู่บ้านชาวประมงซึ่งมีอยู่ที่ประตูเมืองสาวัตถี เทพบุตรพวกนี้ได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของภรรยาของชาวประมงอื่นในหมู่บ้านนั้น เด็กเหล่านั้นได้ถือปฏิสนธิและออกจากครรภ์ในวันเดียวกันกับบุตรของหัวหน้าชาวประมงนั้นเอง

ต่อมา หัวหน้าชาวประมงคิดอยู่ว่า ในหมู่บ้านนี้มีทารกคนอื่นซึ่งเกิดในวันเดียวกับบุตรเรานี้มีอยู่หรือไม่หนอ ครั้นเมื่อได้สอบถามดู และได้พบทารกเหล่านั้นแล้ว ก็คิดว่าเด็กเหล่านี้ จะเป็นเพื่อนเล่นของบุตรเรา แล้วจึงได้ให้เครื่องเลี้ยงดูแก่เด็กเหล่านั้นทุกคน เด็กเหล่านั้นทั้งหมดก็ได้เป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกันมา จนเจริญวัยโดยลำดับ เด็กผู้เป็นบุตรของหัวหน้าชาวประมงนั้นได้ชื่อว่าโสชะ และเป็นผู้เลิศกว่าเด็กเหล่านั้น

วันหนึ่งโสชะมาณพและพวกก็ได้ไปลงอวนที่แม่น้ำอจิรวดี เพื่อจะจับปลาพร้อมกับลูกชาวประมงที่เป็นเพื่อนของตน บรรดาปลาที่จับได้เหล่านั้น มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งมีสีเหมือนทองเข้าติดอวน เรื่องในอดีตของปลาสีทองตัวนี้ปรากฏในกปิลสูตร ดังนี้

 

พระพุทธองค์ทรงแสดงกปิลสูตร

ในภัทรกัปนี้ในสมัยของพระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสป ในสมัยคนทั้งหลายมีอายุ ๒๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาคทรงดำรงพระชนมายุได้ ๑๖,๐๐๐ ปี แล้วก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อทรงปรินิพพานนั้นพระธาตุทั้งหลายของพระองค์นั้นไม่กระจัดกระจาย แต่ตั้งอยู่เป็นก้อนเดียวกัน ดุจก้อนทองคำฉะนั้น เพราะนั่นเป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระชนมายุยืนทั้งหลาย ส่วนพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระชนมายุน้อยทั้งหลาย เช่น พระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเรานั้น หมู่ชนจำนวนมากยังไม่ทันเห็น ก็เสด็จปรินิพพานก่อน เพราะฉะนั้น ท่านจึงทรงอธิษฐานว่า ขอพระธาตุทั้งหลายจงกระจัดกระจาย ด้วยทรงหมายอนุเคราะห์ว่า ชนทั้งหลายในที่ต่าง ๆ เมื่อได้ทำการบูชาพระธาตุแล้วก็จะประสบบุญ ด้วยเหตุนั้น พระธาตุทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ผู้ทรงมีพระชนมายุน้อยเหล่านั้น จึงกระจัดกระจายไป ดุจเศษส่วนของทองคำ ฉะนั้น

ในครั้งนั้น มหาชนก็ร่วมกันทำที่บรรจุพระธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นโดยให้สร้างพระเจดีย์ โดยส่วนสูงและโดยรอบ ๑ โยชน์ พระเจดีย์นั้น มีประตู ๔ แห่ง ห่างกันประตูละ ๑ คาวุต พระเจ้ากิงกิราช ทรงสร้าง ๑ ประตู พระราชโอรสของพระองค์พระนามว่า ปฐวินธร ทรง สร้าง ๑ ประตู อำมาตย์ผู้เป็นหัวหน้าของเสนาบดีทั้งหลายสร้าง ๑ ประตู ชาวพระนครที่เหลือมีเศรษฐีเป็นหัวหน้าสร้าง ๑ ประตู พระเจดีย์นั้นสร้างด้วยอิฐทองคำ ประดับด้วยรัตนะต่าง ๆ แต่ละก้อนมีราคาหนึ่งแสนกหาปณะ

เมื่อพระเจดีย์สร้างเสร็จอย่างนี้แล้ว กุลบุตร ๒ พี่น้องออกบวชในสำนักของพระสาวกผู้ใหญ่ทั้งหลาย ด้วยเหตุว่า ในสมัยของพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีพระชนมายุยืนนั้น เฉพาะพระสาวกผู้ใหญ่ทั้งหลายเท่านั้น ที่สามารถให้บรรพชา ให้อุปสมบท ให้นิสัย ได้ ส่วนพระสาวกทั้งหลายนอกนี้ย่อมทำเช่นนั้นไม่ได้ กุลบุตร ๒ พี่น้องนั้นผู้พี่ชื่อว่า โสธนะ ผู้น้องชื่อว่า กปิละ ท่านทั้งสองมีมารดาชื่อ ว่า สาธนี มีน้องสาวชื่อว่า ตาปนา ทั้งมารดาและน้องสาวนั้นบวชในสำนักนางภิกษุณี เมื่อได้บวชแล้ว ภิกษุทั้งสองนั้น ก็เรียนถามพระเถระผู้ใหญ่ว่า ข้าแต่ท่านผู้ เจริญ ในพระศาสนามีธุระอยู่กี่อย่าง พระเถระกล่าวว่า ธุระในพระศาสนามี ๒ อย่าง คือ วาสธุระ ๑ ปริยัติธุระ ๑

ในธุระ ๒ อย่างนั้น กุลบุตรผู้บวชแล้ว อยู่ในสำนักของพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์สิ้น ๕ ปี บำเพ็ญข้อวัตรและ ปฏิบัติทำปาฏิโมกข์ และภาณวารและสูตร ๒๓ สูตร ให้คล่องแคล่ว เรียน กรรมฐานเข้าสู่ป่า โดยไม่มีความอาลัยในตระกูล หรือคณะ สืบต่อ พยายาม เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต นี้ชื่อว่า วาสธุระ

ส่วนกุลบุตรเล่าเรียน ๑ นิกาย ๒ นิกาย หรือ ๕ นิกาย ตามกำลังของตน พึงตามประกอบศาสนาให้บริสุทธิ์ดี โดยปริยัติ และโดยอรรถ นี้เรียกว่า ปริยัติธุระ

ลำดับนั้น กุลบุตรเหล่านั้นกล่าวว่า บรรดาธุระ ๒ อย่าง วาสธุระ เท่านั้นประเสริฐ คิดว่า ก็พวกเรายังหนุ่ม จักบำเพ็ญวาสธุระในเวลาตนแก่ จักบำเพ็ญปริยัติธุระก่อน จึงปรารภปริยัติ ท่านทั้งสองโดยปกติเทียว เป็น คนมีปัญญา ต่อกาลไม่นานนัก ก็มีความรู้อันกระทำแล้วในพุทธพจน์ทั้งสิ้น และเป็นผู้ฉลาดในการวินิจฉัยในวินัยอย่างยิ่ง ท่านทั้งสองนั้นเพราะอาศัยปริยัติ จึงมีบริวารเกิดขึ้น เพราะอาศัยบริวารจึงมีลาภ แต่ละรูปมีภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวาร ท่านเหล่านั้นแสดงอยู่ซึ่งศาสนาของพระศาสดา เป็นเหมือนพุทธกาล อีก

ในบรรดาพระภิกษุทั้งสองนั้น พระผู้พี่คิดว่า เราจะบำเพ็ญวาสธุระ (ธุระเป็นเครื่องอบรมตน) ดังนี้แล้วก็อยู่ใน สำนักของอุปัชฌาย์และอาจารย์ทั้งหลายเป็นเวลา ๕ ปี มีพรรษา ๕ ฟังกรรมฐานจนถึงอรหัตแล้วจึงเข้าไปสู่ป่า พยายามบำเพ็ญเพียรอยู่ ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต

ส่วนพระกปิละนั้นคิดว่า เรานั้นยังหนุ่มอยู่ ต่อเมื่อในเวลาแก่แล้วเราจึงจะบำเพ็ญแม้ วาสธุระดังนี้แล้ว ก็เริ่มคันถุระ ได้เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎกแล้ว พระกปิละ นั้นเพราะอาศัยปริยัติ จึงมีบริวารเกิดขึ้น เพราะอาศัยบริวารจึงมีลาภ พระกปิละ นั้นเมาด้วยการเมาในการที่ตนเป็นพาหุสัจจะ สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต มีความสำคัญว่าตนรู้ แม้ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ กล่าวสิ่งที่เป็นกัปปิยะ แม้ในสิ่งที่ภิกษุเหล่าอื่นกล่าวแล้วว่าเป็นอกัปปิยะ แม้สิ่งที่เป็นอกัปปิยะ ก็กล่าวว่าเป็นกัปปิยะ แม้สิ่งที่มีโทษ ก็กล่าวว่าไม่มีโทษ แม้สิ่งที่ไม่มีโทษ ก็กล่าวว่ามีโทษ

ต่อแต่นั้น พระกปิละนั้น เมื่อภิกษุทั้งหลายผู้มีศีลเป็นที่รัก กล่าวให้โอวาทอยู่ โดยนัยว่า ท่านกปิละ ท่านย่าได้พูดอย่างนี้ ดังนี้เป็นต้น ก็เที่ยวขู่ตะคอกภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นด้วยคำเช่นว่า พวกท่านเหมือนกับคนที่กำมือเปล่า จะรู้อะไร ดังนี้ เป็นต้น อย่างนั้นแล ภิกษุทั้งหลายได้บอกเรื่องนี้ แก่พระโสธนเถระผู้เป็นพี่ชายของท่าน พระโสธนเถระนั้นก็ได้เข้าไปหาพระกปิละนั้นแล้วพูดว่า คุณกปิละ การปฏิบัติชอบของภิกษุทั้งหลายเป็นสิ่งที่ทำให้พระศาสนาอายุยืนยาว ดูก่อน อาวุโส คุณอย่าได้พูดแม้สิ่งที่เป็นกัปปิยะ ฯลฯ สิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ แต่พระกปิละนั้นก็ไม่สนใจคำของพระโสธนเถระผู้เป็นพี่ชายเลย ลำดับนั้น พระ โสธนเถระเมื่อได้กล่าวเตือนพระกปิละขึ้น ๒ - ๓ ครั้ง เมื่อเห็นพระกปิละไม่เชื่อฟังเช่นนั้น ก็หยุดพูด แล้วจึงกล่าวว่า อาวุโส คุณก็จะประสบกรรมของคุณนั้นเอง ดังนี้แล้วก็หลีกไป ตั้งแต่นั้นมา ภิกษุทั้งหลายที่มีศีลเป็นที่รัก ก็ทอดทิ้งพระกปิละนั้นเสีย

พระกปิละนั้นเป็นผู้ประพฤติชั่ว มีภิกษุประพฤติชั่วแวดล้อมอยู่ วันหนึ่งคิดว่า เราจะลงอุโบสถ แล้วก็ขึ้นสู่อาสนะ พอนั่งลงก็พูดขึ้น ๓ ครั้งว่า อาวุโสทั้งหลาย ปาติโมกข์ย่อมควรแก่ภิกษุทั้งหลายในที่นี้หรือ ครั้งนั้น แม้ภิกษุรูปหนึ่งก็ไม่ได้พูดว่า ปาติโมกข์ย่อมควรแก่ข้าพเจ้า ทั้งก็ไม่ได้พูดว่าปาติโมกข์ย่อมควรแก่พระกปิละนั้น หรือควรแก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ลำดับนั้นพระกปิละนั้นก็พูดว่า เมื่อปาติโมกข์พวกเราฟังก็ดี ไม่ฟังก็ดี ชื่อว่าวินัยไม่มีหรอก ดังนี้แล้วก็ลุกขึ้นจากอาสนะ พระกปิละนั้น ทำพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงพระนามว่ากัสสปะให้ เสื่อมถอย คือให้พินาศแล้ว ด้วยประการฉะนี้

ครั้งนั้น พระโสธนเถระก็ได้ปรินิพพานในวันนั้นนั่นเอง พระกปิละ แม้นั้นทำศาสนานั้นให้เสื่อมถอยลงไปอย่างนี้แล้ว เมื่อถึงแก่กรรม ก็บังเกิด ในอเวจีมหานรก มารดาและน้องสาวของท่านแม้นั้นถึงทิฏฐานุคติของพระ กปิละนั้นนั่นเอง ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลายที่มีศีลเป็นที่รัก ทำกาละแล้วก็บังเกิด ในนรก

 

พระกปิละเกิดเป็นปลาสีทองแต่มีปากเหม็น

ภิกษุชื่อว่ากปิละเมื่อพ้นจากกรรมในนรกแล้ว ก็มาเกิดเป็นปลาในแม่น้ำอจิรยวดี มีสีร่างกายเหมือนเหมือนทอง แต่ปากเหม็น ด้วยเศษกรรมที่เหลือจากนรก วันที่ยโสชมาณพและเด็กชาวประมงเหล่านั้นจับปลาสีทองนั้นได้ และนำไปให้เล่าชาวประมงผู้เป็นบิดาของตนดู ชาวประมงทั้งหมดเห็นปลานั้นแล้ว ก็พากันพูดว่า บุตรของพวกเราออกจับปลาทั้งหลายเป็นครั้งแรกนั้นก็จับได้ปลาทอง ความเจริญจักมีแก่เด็ก ๆ เหล่านั้น และถ้าเรานำปลานี้ไปถวายพระราชาคงพระราชทานทรัพย์แก่เราทั้งหลาย

ดังนั้น ยโสชมาณพและสหายทั้ง ๕๐๐ คนเหล่านั้น ก็เอาปลาลงใส่ในเรือแล้วยกเรือขึ้นแล้วนำไปสู่พระราชวัง พระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรแล้วรับสั่งถามว่า นั่นอะไร ยโสชมาณพกราบทูลว่า ปลา พระเจ้าข้า พระราชาทอดพระเนตรเห็นปลาสีทองก็ทรงดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงทราบเหตุที่ปลานี้มีสีทอง ดังนี้แล้วจึงรับสั่งให้นำปลานั้นไปพร้อมกับพระองค์ เสด็จพระดำเนินไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคพร้อมกับยโสชมาณพและพวกสหายทั้ง ๕๐๐ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ครั้นถึงแล้วได้นำปลาไปถวายพระผู้มีพระภาค เมื่อเวลานำปลาลง ปลาก็อ้าปากขึ้น กลิ่นเหม็นอันร้ายกาจก็พลุ่งออกมาจากปากปลา พระเชตะวันก็คละคลุ้งด้วยกลิ่นเหม็นอย่างยิ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะเหตุไร ปลาจึงเกิดเป็นปลามีสีทอง และ เพราะเหตุไร กลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของปลานั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร ปลานี้อดีตเคยเป็นภิกษุพหูสูต ผู้เรียนจบปริยัติ ชื่อว่า กปิละ ในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เป็นผู้ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลายซึ่งไม่เชื่อถ้อยคำของตน เป็นผู้ทำศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสื่อมไป เพราะกรรมที่เธอทำพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นให้เสื่อมไป เธอจึงบังเกิดในอเวจีมหานรก และก็มาเกิดเป็นปลาในบัดนี้ ด้วยเศษแห่งวิบาก ด้วยผลแห่งกรรมที่เธอได้กล่าวพุทธพจน์ สรรเสริญพระพุทธเจ้าเป็นเวลานาน เธอจึงได้วรรณะเช่นนี้ และเพราะเหตุที่เธอได้ด่าบริภาษภิกษุทั้งหลาย กลิ่นเหม็นจึงฟุ้งออกจากปากของปลานั้น มหาบพิตร ตถาคตจะให้ปลานั้นพูด

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระพุทธเจ้าข้า

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามปลานั้นว่า เจ้าคือกปิละหรือ

ปลาตอบว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถูกแล้วพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ชื่อว่ากปิละ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า เธอมาจากไหน

ปลาตอบว่า ข้าพระองค์มาจากอเวจีมหานรกพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า พระโธนะไปไหน

ปลาตอบว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระโธนะปรินิพพานแล้ว

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า นางสาธนีไปไหน

ปลาตอบว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นางสาธนีเกิดในนรก

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม ว่า นางตาปนาไปไหน

ปลาทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า นางตาปนาเกิด ในมหานรก

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า บัดนี้เจ้าจักไปไหน ปลาตอบว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระองค์จักไปสู่มหานรก

ในทันใดนั่นเองปลานั้น ด้วยความเดือดร้อนใจในบาปของตนเข้ามาครอบงำ ปลานั้นจึงใช้ศีรษะฟาดเรือแล้วก็ตายไปเกิดในมหานรก มหาชนเกิดความสังเวช ขนลุกชูชัน ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาในบริษัท ซึ่งมีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตที่มาพร้อมกัน

 

ยโสชมาณพ ออกบวช

ยโสชมาณพ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว เกิดสังเวชสลดใจ เมื่อปรารถนาจะทำที่สุดทุกข์ จึงได้บวชในสำนักของพระศาสดา พร้อมด้วยสหายของตน พักอยู่ ณ ที่ ๆ สมควร บำเพ็ญสมณธรรมแต่ก็ยังไม่บรรลุมรรคผลอันใด

 

พระพุทธเจ้าไล่พระยโสชะและพวก

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปมีพระยโสชะเป็นประมุข เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ภิกษุอาคันตุกะเหล่านั้นปราศรัยอยู่ กับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าถิ่นปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่ ได้ส่งเสียงอื้ออึง

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ใครนั่นมีเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป มีพระยโสชะเป็นประมุขเหล่านี้ เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถีโดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ภิกษุผู้อาคันตุกะเหล่านั้นปราศรัยอยู่กับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่ส่งเสียงอื้ออึง พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงเรียกภิกษุเหล่านั้นมา ท่านพระอานนท์จึงได้เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่าพระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วได้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้าง หนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุไรหนอ เธอทั้งหลาย จึงส่งเสียงอื้ออึงเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระยโสชะได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูปเหล่านี้เดินทางมาถึงพระนครสาวัตถี โดยลำดับ เพื่อจะเฝ้าพระผู้มีพระภาค ภิกษุผู้อาคันตุกะเหล่านี้ปราศรัยกับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าถิ่น ปูลาดเสนาสนะ เก็บบาตรและจีวรกันอยู่ส่งเสียงอื้ออึง พระเจ้าข้า ฯ

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงไป เราประณามเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายไม่ควรอยู่ในสำนักของเรา ฯ

 

พระยโสชะและพวกบรรลุพระอรหัต

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำประทักษิณแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวรหลีกจาริกไปทางวัชชีชนบท เที่ยวจาริกไปในวัชชีชนบทโดยลำดับ ถึงแม่น้ำวัคคุมุทานที กระทำกุฎีมุงบังด้วยใบไม้ เข้าจำพรรษาอยู่ ใกล้ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานที ฯ

ครั้งนั้นแล ท่านพระยโสชะเข้าจำพรรษาแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคทรงใคร่ประโยชน์ ทรงแสวงหาประโยชน์ ทรงอนุเคราะห์ ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ ประณามเราทั้งหลาย

พระผู้มีพระภาคพึงทรงใคร่ประโยชน์แก่เราทั้งหลายผู้อยู่ด้วยประการใด ขอเราทั้งหลายจงสำเร็จการอยู่ด้วยประการนั้นเถิด ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระยโสชะแล้ว ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นหลีกออกจากหมู่ ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวอยู่ ภิกษุ ๕๐๐ ทั้งหมดนั้นนั่นแล ได้กระทำให้ประจักษ์แก่ตน ซึ่งวิชชา ๓ เหล่านี้ คือ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ๑ ทิพยจักขุญาณ ๑ อาสวักขยญาณ ๑ ภายในพรรษานั้นเอง ฯ

 

พระพุทธเจ้ามีรับสั่งให้พระยโสชะและพวกเข้าเฝ้า

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครสาวัตถีตามพระอัธยาศัยแล้ว เสด็จจาริกไปทางพระนครเวสาลี เสด็จเที่ยวจาริกไปโดยลำดับได้เสด็จถึงพระนครเวสาลี ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้พระนครเวสาลีนั้น

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการกำหนดใจของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานทีด้วยพระทัยของพระองค์ แล้วตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานทีอยู่ในทิศใด ทิศนี้เหมือนมีแสงสว่างแก่เรา เหมือนมีโอภาสแก่เรา เธอเป็นผู้ไม่รังเกียจที่จะไปเพื่อความสนใจแห่งเรา เธอพึงส่งภิกษุผู้เป็นทูตไปในสำนักแห่งภิกษุทั้งหลายผู้ที่อยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานทีด้วยสั่งว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดาใคร่จะเห็นท่านทั้งหลาย

ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว เข้าไปหาภิกษุรูปหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะภิกษุนั้นว่า ดูกรอาวุโสท่านจงเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานที ครั้นแล้ว จงกล่าวกะภิกษุ ทั้งหลายผู้ที่อยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานทีอย่างนี้ว่า พระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดาทรง ประสงค์จะเห็นท่านทั้งหลาย

ภิกษุนั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้วหายจากกูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ไปปรากฏข้างหน้าภิกษุเหล่านั้นที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานที เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีกำลังพึงเหยียดแขน ที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น ลำดับนั้น ภิกษุนั้นได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานทีว่าพระศาสดารับสั่งหาท่านทั้งหลาย พระศาสดาทรงประสงค์เห็นท่านทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำภิกษุนั้นแล้ว เก็บเสนาสนะ ถือบาตรและจีวร หายจากที่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทานที ไป ปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวันเปรียบเหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น ฯ

 

พระเถระทั้งหมดนั่งอยู่ด้วยอาเนญชสมาบัติ ตามเสด็จพระผู้มีพระภาค

ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่ด้วยสมาธิอันไม่หวั่นไหว ครั้งนั้น ภิกษุเหล่านั้นมีความดำริว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยวิหารธรรมข้อไหนหนอ ภิกษุเหล่านั้นเมื่อพิจารณาดูด้วยใจจึงทราบว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ด้วยอาเนญชวิหารธรรม เมื่อทราบดังนั้น ภิกษุทั้งหมดนั้นจึงนั่งอยู่ด้วยอาเนญชสมาบัติ ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคฯ

 

พระอานนท์ไม่ทราบว่าพระศาสดาและเหล่าภิกษุนั่งอยู่ด้วยอาเนญชสมาบัติ

ครั้งนั้นแล เมื่อราตรีล่วงไป เมื่อปฐมยามผ่านไป ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วงไปแล้ว ปฐมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะ ทั้งหลายนั่งอยู่นานแล้วขอพระผู้มีพระภาคทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า ฯ

เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งอยู่แม้ครั้งที่ ๒ เมื่อ ราตรีล่วงไปแล้ว เมื่อมัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ท่านพระอานนท์ลุกจากอาสนะ กระทำผ้าอุตราสงค์ เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญราตรีล่วงไปแล้ว มัชฌิมยามผ่านไปแล้ว ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายนั่ง อยู่นานแล้วขอพระผู้มีพระภาคทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า แม้ครั้ง ที่ ๒ พระผู้มีพระภาคได้ทรงนิ่งอยู่ ฯ

แม้ครั้งที่ ๓ เมื่อราตรีล่วงไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้ว อรุณขึ้นแล้วเมื่อราตรีรุ่งอรุณ ท่านพระอานนท์ลุกขึ้นจากอาสนะกระทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลีไปทางที่ พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราตรีล่วง ไปแล้ว ปัจฉิมยามผ่านไปแล้วอรุณขึ้นแล้ว ราตรีรุ่งอรุณ ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายนั่งอยู่นาน แล้ว ขอพระผู้มีพระภาคทรงปราศรัยกับภิกษุอาคันตุกะทั้งหลายเถิด พระเจ้าข้า ฯ

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากสมาธินั้น แล้วตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ถ้าว่าเธอพึงรู้ไซร้ ความแจ่มแจ้งแม้มีประมาณเท่านี้ก็ไม่พึงปรากฏแก่เธอ ดูกร อานนท์ เราและภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ทั้งหมด นั่งแล้วด้วยอาเนญชสมาบัติ ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ภิกษุใดชนะหนาม คือ กาม ชนะการด่า การฆ่า และการจองจำได้

แล้ว ภิกษุนั้นมั่นคงไม่หวั่นไหวดุจภูเขา ภิกษุนั้นย่อมไม่หวั่นไหวใน

เพราะสุขและทุกข์ ฯ

 

พระเถระบำเพ็ญโมเนยยปฏิปทา

ในเรื่องการปฏิบัติโมเนยยปฏิปทานี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าเป็นปฏิปทาที่ทำได้โดยยาก ทำให้เกิดความยินดีได้ยาก และพระอรรถกถาจารย์ได้กล่าวว่า ในพุทธธันดรหนึ่ง จะมีพระที่ปฏิบัติโมเนยยปฏิปทาอย่างอุกฤษฏ์ได้เพียงท่านเดียว และในพุทธันดรนี้พระเถระที่ปฏิบัติได้ก็คือท่านพระนาลกเถระ และภิกษุผู้บำเพ็ญโมเนยปฏปทาอย่างอุกฤษฎ์ จะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ เดือนเท่านั้น ถ้าบำเพ็ญอย่างกลางจะมีชีวิตอยู่ได้ ๗ ปี ถ้าบำเพ็ญอย่างอ่อนจะมีชีวิตอยู่ได้ ๑๖ ปี พระนาลกเถระนี้บำเพ็ญอย่างอุกฤษฎ์ ฉะนั้นท่านจึงอยู่ได้ ๗ เดือน รายละเอียดในเรื่องการปฏิบัติโมเนยยปฏิปทานี้ อ่านได้จาก ประวัติท่านพระนาลกเถระ

เมื่อพระศาสดาได้ตรัสสั่งให้ท่านยโสชะ พร้อมด้วยบริวารผู้มีอภิญญา ๖ เข้าเฝ้าแล้ว ได้ทรงทำการต้อนรับด้วยอาเนญชสมาบัติ (สมาบัติที่ไม่หวั่นไหว) ต่อมาท่านก็ได้สมาทานธุดงค์ธรรมทุกข้อ แล้วประพฤติธุดงค์นั้น มีรูปร่างผอม เพราะบำเพ็ญโมเนยยปฏิปทา (ข้อปฏิบัติเพื่อเป็นมุนี) ให้บริบูรณ์ ด้วยเหตุนั้น ร่างกายของท่าน จึงผ่ายผอม เศร้าหมอง ผิวพรรณคล้ำไป พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรง สรรเสริญท่าน ด้วยความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยอย่างยิ่ง จึงได้ตรัส พระคาถา ไว้ว่า

นรชนผู้มีใจไม่ย่อท้อ เป็นผู้รู้จักประมาณในข้าวและน้ำ

มีร่างกายซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เหมือนกับเถาหญ้านาง .

พระเถระผู้อันพระศาสดาทรงสรรเสริญอย่างนี้แล้ว เมื่อจะกล่าวธรรม ที่เหมาะสมกับความที่ตนเป็นผู้อันพระศาสดาทรงสรรเสริญแล้ว แก่ภิกษุ ทั้งหลาย โดยการสรรเสริญอธิวาสนขันติ วิริยารัมภะ และความยินดีในวิเวก ของตนเป็นสำคัญ จึงได้ภาษิตคาถา ๒ คาถาไว้ว่า

ภิกษุถูกเหลือบยุงทั้งหลายกัดแล้วในป่าใหญ่

พึงเป็นผู้มีสติอดกลั้นในอันตรายเหล่านั้น

เหมือนช้างในสงคราม

ภิกษุอยู่ผู้เดียวย่อมเป็นเหมือนพรหมผู้อยู่ ๒ องค์เหมือนเทพเจ้า

ผู้ที่อยู่ด้วยกันมากกว่า ๓ องค์ขึ้นไปเหมือนชาวบ้าน ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้อยู่แต่ผู้เดียว.

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

49580226
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
6130
33257
155243
49159770
719876
1074106
49580226

Your IP: 3.138.32.110
2025-01-22 07:03
© Copyright pariyat.com 2025. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search