ภัคคุ (พระภัคคุเถระ)

ภัคคุ (พระภัคคุเถระ)
พระภัคคุเถระ
ข้อมูลทั่วไป
พระนามเดิม พระภัคคุ, ภัคคุกุมาร
สถานที่ประสูติ กรุงกบิลพัสดุ์
สถานที่บวช อนุปิยนิคม แคว้นมัลละ
วิธีบวช เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ฐานะเดิม
ชาวเมือง เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
วรรณะเดิม กษัตริย์
ราชวงศ์ ศากยราชวงศ์

ประวัติ

 

ประวัติพระภคุเถระ

 

บุรพกรรมในอดีต

กระทำมหาทานแด่พระกกุสันธพุทธเจ้า

พระเถระรูปนี้ ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า ปทุมุตระ ท่านพระภคุเถระนี้ เกิดอยู่ในตระกูลสูง เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านได้บูชาพระธาตุทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นด้วยดอกไม้ทั้งหลายด้วยจิตอันเลื่อมใสศรัทธา ด้วยบุญกรรมนั้น เมื่อท่านสิ้นชีวิตแล้ว ก็ได้บังเกิดเป็นเทพในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี และเวียนว่ายตายเกิดไป ๆ มา ๆ ในระหว่างเทวโลก และมนุษยโลก

 

กำเนิดเป็นเจ้าภคุศากยะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

พระบรมศาสดาทรงอุบัติ

เมื่อพระโพธิสัตว์ของเราจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต มาถือปฏิสนธิในครรภ์ของอัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช และประสูติออกมาทรงพระนามว่าเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านก็มาถือปฏิสนธิเป็น เจ้าภคุ แห่งศากยวงศ์ เป็นเพื่อนเล่นกับเจ้าศากยอีกหลายพระองค์ เช่น เจ้าอนุรุทธ เจ้าภัททิยะ เจ้ากิมพิละ เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงเจริญวัยโดยลำดับ ทรงครองเรือนอยู่ ๒๙ ปี แล้วทรงเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณโดยลำดับ ทรงยับยั้งที่โพธิมัณฑสถาน ๗ สัปดาห์ ประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงกระทำการอนุเคราะห์โลก ครั้นเมื่อพระเจ้าสุทโธทนทรงสดับข่าวว่าพระบรมศาสดามายังกรุงราชคฤห์ จึงทรงรับสั่งให้อำมาตย์กาฬุทายี ไปนิมนต์พระบรมศาสดา อำมาตย์กาฬุทายีก็ได้บวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชา แล้วพระกาฬุทายีเถระทูลวิงวอนให้เสด็จไปโปรดพระพุทธบิดายัง ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ในครั้งนั้นทรงทำพระธรรมเทศนาอันวิจิตรแก่พระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ เมื่อทรงอนุเคราะห์พระญาติแล้ว ทรงให้ราหุลกุมารบรรพชาแล้ว ไม่นานนัก ก็เสด็จจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปจาริกในมัลลรัฐแล้วเสด็จกลับมายังอนุปิยอัมพวัน

 

ขัติยศากยกุมารออกบวชตามเสด็จ

สมัยนั้น พระเจ้าสุทโธทนมหาราช ทรงประชุมศากยะสกุลทั้งหลายตรัสให้แต่ละตระกูลในศากยราชวงศ์ส่งขัตติยกุมารออกบวชตามเสด็จ ในครั้งนั้นเล่ากันว่า ขัตติยกุมารถึงพันองค์จึงออกผนวชโดยพระดำรัสครั้งเดียวเท่านั้น เมื่อขัตติยกุมารโดยมากเหล่านั้นผนวชแล้ว เหล่าพระญาติเห็นศากยะ ๖ พระองค์นี้ คือ ภัททิยราชา อนุรุทธ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และ เทวทัต ยังมิได้ผนวชจึงสนทนากันว่า “พวกเรายังให้ลูก ๆ ของตนบวชได้ ศากยะทั้ง ๖ นี้ มิใช่พระญาติหรือจึงมิได้ทรงผนวช”

 

เจ้าภคุออกบวชพร้อมด้วยศากยะทั้งห้า

เมื่อทรงได้โอกาสตามที่เหล่าพระญาติปรารภข้างต้น จึงได้ทรงออกผนวชตามเสด็จพระพุทธองค์ พร้อมกับเจ้าชายแห่งศากยวงศ์อีก ๕ พระองค์ ครั้งนั้น จึงได้เดินทางออกจากกรุงกบิลพัสดุ์โดยกระบวนพยุหยาตรา ให้เป็นเสมือนเสด็จประพาสราชอุทยาน โดยในครั้งนั้น นายอุบาลีภูษามาลาก็ได้ตามเสด็จด้วยในฐานะมหาดเล็กคนสนิท ครั้นย่างเข้าพรมแดนอื่นแล้ว ก็สั่งให้กระบวนตามเสด็จกลับทั้งหมด ทรงพระดำเนินตามลำพัง ๖ พระองค์ต่อไป พร้อมด้วยนายอุบาลีภูษามาลา เมื่อเห็นว่าได้มาไกลพอสมควรแล้วทั้ง ๖ พระองค์จึงได้ส่งนายอุบาลีภูษามาลากลับและทรงเปลื้องเครื่องประดับออก เอาภูษาห่อแล้วมอบให้กับนายอุบาลีเพื่อใช้เป็นทรัพย์ในการเลี้ยงชีพต่อไป

ครั้งนั้น นายอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา ก็ได้เดินทางกลับพร้อมห่อเครื่องประดับที่ได้รับมานั้น เมื่อเดินทางมาได้ระยะหนึ่งก็ฉุกใจคิดว่า ถ้าเรากลับไปแล้ว เจ้าศากยะในกรุงกบิลพัสดุ์ก็จะคิดว่าเราลวงเจ้าชายมาประหารแล้วชิงเอาเครื่องประดับตกแต่งมา ก็ศากยกุมารทั้ง ๖ นี้ยังทรงผนวชได้ ไฉนเราจึงจะบวชบ้างไม่ได้เล่า เขาจึงแก้ห่อเครื่องประดับแล้วเอาเครื่องประดับนั้นแขวนไว้บนต้นไม้ แล้วพูดว่า ของนี้เราให้แล้ว ผู้ใดเห็น ผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วเดินตามไปเฝ้าศากยกุมารเหล่านั้น ศากยกุมารเหล่านั้น ทอดพระเนตรเห็นอุบาลีผู้เป็นภูษามาลา เดินกลับมาจึงรับสั่งถามว่ากลับมาทำไม

นายอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาจึงเล่าความให้ทราบ เหล่าขัติยกุมารก็เห็นด้วย จึงพาอุบาลีผู้เป็นภูษามาลาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลขอบวช โดยทรงขอให้พระพุทธองค์ บวชให้นายอุบาลีนี้ก่อน ด้วยเหตุเพื่อลดมานะความถือตัวของตนเองที่เป็นวงศ์กษัตริย์ เมื่อบวชหลังนายอุบาลีก็ต้องทำความเคารพผู้ที่บวชมาก่อน แม้ผู้นั้นจะเคยเป็นมหาดเล็กรับใช้ก็ตาม

พระผู้มีพระภาคจึงโปรดให้อุบาลีผู้เป็นภูษามาลาบวชก่อน ให้ศากยกุมารเหล่านั้นผนวชต่อภายหลัง ฯ

 

ศากยะทั้งหกบรรลุคุณพิเศษ

ครั้นบวชแล้ว ท่านพระภัททิยะได้เป็นพระอรหัตถ์เตวิชโช โดยระหว่างพรรษานั้นนั่นเอง ท่านพระอานนท์ได้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระเทวทัตได้บรรลุฤทธิ์อันเป็นของปุถุชน.ส่วนท่านพระอนุรุทธะ และท่านพระกิมพิละ ออกบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ป่าไม้ไผ่ ชื่อ ปราจีนวังสทายวัน (อุปักกิเลสสูตร) บางแห่งว่า ป่าโคสิงคสาลวัน (จูฬโคสิงคสาลสูตร) ร่วมกับท่านพระนันทิยะ ต่อมาไม่นานท่านก็ทำวิปัสสนากรรมฐาน จนบรรลุเป็นอรหัตแล้ว ได้สำเร็จวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖

 

ท่านภคุเถระได้ออกบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ บ้านพาลกโลณการกคาม

เมื่อครั้งเกิดเหตุเรื่องภิกษุชาวโกสัมพีเกิดความแตกแยกกัน พระพุทธองค์ทรงห้ามปรามก็ไม่เชื่อฟัง จึงเกิดเป็นเหตุให้พระบรมศาสดา ทรงอนุโมทนาเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างมีสามัคคีของพระเถระทั้งสาม คือพระอนุรุทธเถระ พระกิมพิลเถระ และพระนันทิยเถระ เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ภิกษุเหล่านั้น ดังนี้

โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตพระนครโกสัมพี ภิกษุสงฆ์ในวัดโฆสิตาราม เกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะ ถึงการวิวาทกัน ย่อมแสดงกายกรรม วจีกรรม อันไม่สมควรต่อกันและกัน ทำปรามาสกันด้วยมือในโรงอาหาร ในละแวกบ้าน ชาวบ้านทั้งหลาย ก็พากันติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรทั้งหลาย จึงได้เกิดความบาดหมาง เกิดความทะเลาะ ถึงการวิวาท แสดงกายกรรมวจีกรรม อันไม่สมควรต่อกันและกัน เล่าภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านติเตียนก็ได้กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ถึงเรื่องดังกล่าวว่าจริงหรือไม่ เหล่าภิกษุ ทูลรับว่า เป็นจริงอย่างนั้น พระพุทธองค์จึงทรงติเตียนแล้วทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง เหล่าภิกษุนั้นก็ยังคงดื้อดึงไม่เชื่อฟัง

พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า ภิกษุเหล่านี้หัวดื้อนักแล เราจะให้ภิกษุเหล่านี้เข้าใจกัน ทำไม่ได้ง่ายเลย ดังนี้ แล้วเสด็จปลีกพระองค์ เสด็จพระดำเนินไปจำพรรษา ณ โคนไม้รังใหญ่ ในป่ารักขิตวัน เขตตำบลบ้านปาริไลยกะนั้นเพียงพระองค์เดียว

พระศาสดาเสด็จจาริกไปตามลำดับคามและนิคม ทรงพระดำริว่า เราจักเยี่ยมภิกษุผู้เที่ยวอยู่แต่ผู้เดียวก่อน ดังนี้แล้ว จึงเสด็จไปยังพาลกโลณการามแล้วทรงแสดงอานิสงส์ในการเที่ยวอยู่แต่ผู้เดียว แก่ท่านภคุเถระในที่นั้น ตลอดปัจฉาภัตร (เวลาหลังอาหาร คือหลังเที่ยง) และตลอดราตรี ๓ ยาม ในวันรุ่งขึ้นมีท่านภคุเถระเป็นปัจฉาสมณะ (พระผู้ติดตาม) เสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต แล้วพระพุทธองค์จึงทรงให้ท่านภคุเถระกลับ ณ ที่ตรงนั้นนั่นแล แล้วเสด็จพุทธดำเนินไปทางปราจีนวังสทายวัน ที่ท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ พักอยู่ ด้วยทรงทราบว่าท่านทั้ง ๓ นั้น อยู่บำเพ็ญธรรมร่วมกันอย่างมีสามัคคีดียิ่ง

การที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จเยี่ยมพระภคุเถระ ซึ่งออกบำเพ็ญธรรมอยู่ผู้เดียว และทรงแสดงอานิสงส์ของการอยู่แต่ผู้เดียว และการที่ทรงเสด็จไปเยี่ยมเหล่าภิกษุ ๓ องค์ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างมีสามัคคีอันดียิ่งนั้น และทรงสรรเสริญการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคีนั้น ก็เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่เหล่าภิกษุกรุงโกสัมพีที่ขัดแย้งกันนั้น ให้เห็นความสำคัญของการออกบำเพ็ญธรรมอยู่ผู้เดียว ดังเช่นการบำเพ็ญธรรมของพระภคุเถระ แต่ถ้าจะอยู่เป็นหมู่คณะก็ต้องอยู่อย่างสามัคคีพร้อมเพรียงกันดังเช่นท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ และท่านพระกิมพิละ ปฏิบัติอยู่

 

พระภคุเถระบรรลุอรหัต

ในเวลาที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จเยี่ยมพระภคุเถระที่บำเพ็ญธรรมอยู่ในพาลกโลณกคาม ตามที่เล่าถึงข้างต้นนั้นนั้น เป็นเวลาที่ท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ในครั้งนั้น พระบรมศาสดาได้ทรงชื่นชมถึงการอยู่โดดเดี่ยวของท่านแล้วตรัสถามว่า ภิกษุ เธอเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่บ้างหรือ ครั้นเมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสตรัสถามดังนั้น เพื่อที่จะประกาศการอยู่ด้วยความไม่ประมาทของท่าน ท่านจึงกราบทูลเล่าเรื่องการปฏิบัติจนกระทั้งบรรลุพระอรหัตถวายพระบรมศาสดาดังนี้ว่า

วันหนึ่ง เพื่อจะบรรเทาความที่ถูกถีนมิทธะ (ความง่วง) ครอบงำ ท่านจึงออกจากวิหาร ขึ้นสู่ที่จงกรม แต่ด้วยความง่วงที่เกิดขึ้นท่านจึงล้มลง ณ ที่พื้นของทางจงกรมนั่นแหละ ครั้นเมื่อรู้สึกตัวแล้วท่านจึงได้ลูบเนื้อลูบตัวแล้วทำการเดินจงกรมต่อไปอีก โดยได้เจริญสติให้มั่นคง นำเอาการล้มนั้นนั่นแหละมาพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) จนกระทั่งอาทีนวโทษ (โทษแห่งร่างกายซึ่งมีอาพาธต่าง ๆ เป็นอันมาก) ปรากฏขึ้นแก่ท่าน ความเบื่อหน่ายก็ตั้งลงมั่น ลำดับนั้น จิตของท่านก็หลุดพ้นจากสรรพกิเลส บรรลุพระอรหัตพร้อมวิชชา ๓

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47521631
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
32928
86618
386394
46849926
1007969
1172714
47521631

Your IP: 110.169.128.95
2024-11-23 21:05
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search