ปุณณมันตานีบุตร (พระปุณณมันตานีบุตรเถระ)

ปุณณมันตานีบุตร (พระปุณณมันตานีบุตรเถระ)
พระปุณณมันตานีบุตรเถระ
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเดิม ปุณณมันตานีบุตร, ปุณณพราหมณ์
สถานที่เกิด กรุงกบิลพัสดุ์
วิธีบวช เอหิภิกขุอุปสัมปทา
เอตทัคคะ ผู้เป็นธรรมกถึก (นักเทศน์)
ฐานะเดิม
ชาวเมือง บ้านโทณวัตถุ เมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
นามบิดา พราหมณ์มหาศาล
วรรณะเดิม พราหมณ์

ประวัติ

 

ประวัติพระปุณณมันตานีบุตรเถระ

เอตทัคคะผู้เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกผู้เป็นธรรมกถึก

พระเถระที่ชื่อ “ปุณณะ” ในพระบาลีปรากฏอยู่ ๒ ท่านที่สำคัญคือ

๑. พระปุณณสุนาปรันตะ ที่ท่านได้ชื่อเช่นนั้นเนื่องจากท่านได้ช่วยเหลือพ่อค้าชาวสุนาปรันตะ ให้พ้นภัยจากพวกอมนุษย์ จนเป็นที่เคารพนับถือและแสดงตนเป็น อุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน แสดงตนเป็นอุบาสิกา ประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง

๒. พระพระปุณณมันตานีบุตร เป็นบุตรของ นางมันตานีพราหมณี ตามเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้

พระปุณณมันตานีบุตรเถระ รูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้ว ในพระพุทธเจ้าพระองค์ ก่อนๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากในภพนั้นๆ การที่ท่านได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก นั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ได้แสดงความสามารถออกมาให้ปรากฏในเรื่องการเป็นธรรมกถึกได้อย่างชัดแจ้ง และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตรพุทธเจ้า

ในกัปที่แสนแต่ภัทรกัปนี้ ในกาลก่อนหน้า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระเสด็จอุบัติขึ้น ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐี ในพระนครหงสาวดี ในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในนครหังสวดี วันขนานนามท่าน พวกญาติขนานนามว่า โคตมะ (ในอุปาลีเถราปทานกล่าวว่าชื่อ สุนันทะ) ครั้นเติบใหญ่ขึ้นแล้ว เป็นพราหมณ์ผู้เล่าเรียน ทรงจำมนต์ รู้จบ ไตรเพท

มีมาณพ ๕๐๐ เป็นบริวาร เที่ยวไป จึงพิจารณาไตรเพทดูก็ไม่เห็นว่าจะเป็นเหตุให้หลุดพ้น จึงคิดว่าธรรมดาไตรเพทนี้เหมือนต้นกล้วย ข้างนอกเกลี้ยงเกลา ข้างในหาสาระมิได้ การถือไตรเพทนี้เที่ยวไป ก็เหมือนบริโภคแกลบ มีประโยชน์อันใดกับการเล่าเรียนศิลปะนี้ ถ้าเราออกบวชเป็นฤๅษี ทำพรหมวิหารให้บังเกิด แล้วเป็นผู้มีญาณไม่เสื่อมก็จักเข้าถึงพรหมโลก คิดดังนี้แล้วจึงไปยังเชิงเขาบวชเป็นฤๅษีพร้อมกับมาณพ ๕๐๐ แล้ว

ท่านเมื่อบวชแล้วก็มีชฎิล ๑๘,๐๐๐ เป็นบริวาร ท่านทำอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ให้บังเกิดแล้ว บอกกสิณบริกรรมแก่ชฎิลเหล่านั้นด้วย ชฎิลเหล่านั้นตั้งอยู่ในโอวาทของท่าน ก็บำเพ็ญจนได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ทุกรูป.กาลเวลาล่วงไปนานจนเมื่อเวลาที่โคตมดาบสนั้นเป็นคนแก่ พระปทุมุตตระทศพลก็ทรงบรรลุปรมาภิสัมโพธิญาณ

ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร ทรงประทับอยู่ ณ กรุงหงสวดี วันหนึ่งพระทศพลนั้นทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอรหัตตูปนิสัยของบริษัทโคตมดาบส และความปรารถนาของโคตมดาบส (ที่ปรารถนาว่า ขอเราพึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก ในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้จะทรงบังเกิดในกาลภายหน้าเถิด) จึงชำระสรีระแต่เช้าตรู่ ถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เอง เสด็จไปพระองค์เดียว ในเวลาที่เหล่าศิษย์ของโคตมดาบสออกไปแสดงหาผลหมากรากไม้ในป่า ทรงประทับยืนอยู่ที่ประตูบรรณศาลาของโคตมดาบส

ฝ่ายโคตมดาบสแม้ไม่ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้ว แต่เมื่อแลเห็นพระทศพลทรงประทับยืนอยู่นั้นก็ทราบได้ว่า บุรุษผู้นี้น่าจะเป็นคนพ้นโลกแล้ว เหมือนความสำเร็จแห่งสรีระของพระองค์ ซึ่งประกอบด้วยจักกลักษณะ หากครองเรือนก็จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หากออกบวชก็จักเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ดังนี้ จึงถวายอภิวาทพระทศพล ทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดมาประทับทางนี้ แล้วท่านก็ปูลาดอาสนะถวาย

พระตถาคตประทับนั่งแสดงธรรมแก่โคตมดาบส ขณะนั้นพวกชฎิลเหล่าศิษย์เมื่อได้ผลาหารตามต้องการแล้วก็กลับมา ด้วยหมายว่า จักให้ผลหมากรากไม้ในป่าที่ประณีต ๆ แก่อาจารย์ ส่วนที่เหลือจักบริโภคเอง ดังนี้ เห็นพระทศพลประทับนั่งบนอาสนะสูง แต่อาจารย์นั่งบนอาสนะต่ำ ต่างก็สนทนากันว่า พวกเราคิดกันว่า ในโลกนี้ไม่มีใครที่ยิ่งกว่าอาจารย์ของเรา แต่บัดนี้ปรากฏว่า บุรุษนี้ผู้เดียวให้อาจารย์ของเรานั่งบนอาสนะต่ำ ตนเองนั่งบนอาสนะสูง มนุษย์นี้ทีจะเป็นใหญ่หนอ ดังนี้ ต่างถือตะกร้าพากันมา

โคตมดาบสเกรงว่า ชฎิลเหล่านี้จะพึงไหว้เราในสำนักพระทศพล จึงกล่าวว่าท่านทั้งหลายอย่าไหว้เรา ท่านผู้นี้เป็นบุคคลผู้เลิศในโลกพร้อมทั้งเทวโลก เป็นผู้ควรที่ท่านทุกคนพึงไหว้ได้ ท่านทั้งหลายจงไหว้บุรุษผู้นี้ ดาบสทั้งหลายคิดว่า อาจารย์นั้นถ้าไม่รู้ ก็คงไม่พูด จึงถวายบังคมพระบาทแห่งพระตถาคตเจ้า โคตมดาบสกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย เราไม่มีโภชนะอย่างอื่นที่สมควรถวายแด่พระทศพล เราจักถวายผลหมากรากไม้ในป่านี้ จึงเลือกผลาผลที่ประณีต ๆ บรรจงวางไว้ในบาตรของพระพุทธเจ้า พระศาสดาเสวยผลไม้แล้ว ต่อจากนั้น ดาบสเองกับเหล่าศิษย์จึงฉัน

พระศาสดาเสวยเสร็จแล้วทรงพระดำริว่า พระอัครสาวกทั้ง ๒ จงพาภิกษุแสนรูปมา ในขณะนั้น พระมหาวิมลเถระอัครสาวกรำลึกว่าพระศาสดาเสด็จไปที่ไหนหนอ จึงทราบว่า พระศาสดาทรงประสงค์ให้ท่านไปเฝ้า จึงพาภิกษุแสนรูปไปเฝ้าถวายบังคมอยู่ พระดาบสกล่าวกับเหล่าศิษย์ว่า ท่านทั้งหลาย พวกเราไม่มีสักการะอื่น ทั้งภิกษุสงฆ์ก็ยืนอยู่ลำบาก เราจักปูลาดบุปผาสนะถวายภิกษุสงฆ์มีพระพุทธองค์เป็นประธาน ท่านทั้งหลายจงไปนำเอาดอกไม้ที่เกิดทั้งบนบก ทั้งในน้ำมาเถิด ในทันใดนั้นเอง ดาบสเหล่านั้น จึงนำเอาดอกไม้อันสมบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นมาจากเชิงเขาด้วยอิทธิฤทธิ์ แล้วปูลาดอาสนะดอกไม้ ประมาณหนึ่งโยชน์แก่พระพุทธเจ้า ปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณ ๓/๔ โยชน์ แก่พระอัครสาวกทั้งสอง ปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณกึ่งโยชน์เป็นต้น แก่เหล่าภิกษุที่เหลือ ปูลาดอาสนะดอกไม้ประมาณ ๒๕ วาแก่ภิกษุผู้ใหม่ในสงฆ์

ครั้นปูลาดอาสนะทั้งหลายอย่างนี้แล้ว โคตมดาบสจึงประคองอัญชลี ตรงพระพักตร์ของพระตถาคต แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์เสด็จขึ้นยังอาสนะดอกไม้นี้ เพื่ออนุเคราะห์ข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะดอกไม้ เมื่อพระศาสดาประทับนั่งแล้ว พระอัครสาวกทั้งสองและเหล่าภิกษุที่เหลือ ก็นั่งบนอาสนะอันถึงแก่ตน ๆ พระศาสดาทรงเข้านิโรธสมาบัติด้วยพระประสงค์ว่า ผลใหญ่จงมีแก่ดาบสเหล่านั้น ฝ่ายพระอัครสาวกทั้งสองและเหล่าภิกษุที่เหลือ รู้ว่าพระศาสดาทรงเข้านิโรธสมาบัติ จึงพากันเข้านิโรธสมาบัติ พระดาบสได้ยืนกั้นฉัตรดอกไม้แด่พระศาสดาตลอด ๗ วัน พระ ดาบสนอกนี้ฉันมูลผลาหารจากป่าแล้ว ในเวลาที่เหลือก็ได้ยืนประคองอัญชลีอยู่

ในวันที่ ๗ พระศาสดาทรงออกจากนิโรธสมาบัติ ทรงเห็นดาบสทั้งหลายยืนล้อมอยู่ จึงตรัสเรียกพระสาวกผู้บรรลุเอตทัคคะในความเป็นพระธรรมกถึก ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ หมู่ฤๅษี นี้ ได้กระทำสักการะใหญ่ เธอจงกระทำอนุโมทนาบุปผาสนะแก่หมู่ฤๅษี เหล่านี้ ภิกษุนั้นรับพระพุทธดำรัสแล้วพิจารณาพระไตรปิฎกกระทำอนุโมทนา เวลาจบเทศนาของภิกษุนั้น พระศาสดาทรงเปล่งพระสุระเสียงดุจเสียงพรหมแสดงธรรมด้วยพระองค์เอง เมื่อจบเทศนา ชฎิล ๑๘,๐๐๐ รูปทั้งหมดได้บรรลุพระอรหัต เว้นแต่โคตมดาบสไม่อาจทำการแทงตลอดในพระธรรมนั้น จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุผู้ที่แสดงธรรมก่อนนี้ ชื่อว่าอย่างไร ในศาสนาของพระองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า โคตมดาบส ภิกษุนี้เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกในศาสนาของเรา โคตมดาบสหมอบแทบบาทมูล กระทำความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยผลแห่งบุญกุศลที่ข้าพระองค์ทำมา ๗ วันนี้ ข้าพระองค์พึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต เหมือนดังภิกษุรูปนี้ พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาล ก็ทรงทราบว่าความปรารถนาของโคตมดาบสนั้นสำเร็จโดยหาอันตรายมิได้ แล้วทรงพยากรณ์ว่า

ในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคตกาลพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึกในศาสนาของพระองค์ แล้วตรัสกะดาบสผู้บรรลุพระอรหัตว่า เอก ภิกขโว จงเป็นภิกษุมาเถิดดังนี้ ดาบสทุกรูปมีผมและหนวดอันตรธานไป ทรงบาตรและจีวรอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ ได้เป็นเช่นกับพระเถระ ๑๐๐ พรรษาพระศาสดาทรงพาภิกษุสงฆ์เสด็จกลับพระวิหาร ฝ่ายโคตมดาบสก็บำรุงพระตถาคตจนตลอดชีวิต บำเพ็ญแต่กัลยาณกรรมตามกำลัง เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายแสนกัป

 

กำเนิดเป็นปุณณะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

ในกาล แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ได้บังเกิดเป็นหลานของพระ อัญญาโกณฑัญญเถระ ในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์ ชื่อว่าโทณวัตถุ ไม่ไกลนครกบิลพัสดุ์ ญาติทั้งหลายได้ตั้งชื่อเขาว่า ปุณณะ

 

พระอัญญาโกณฑัญญเถระบวชหลานชาย

ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะนั้นเมื่อท่านได้บรรลุพระอรหัตผลแล้ว พระเถระเป็นผู้ปรารถนาความสงัด ท่านจึงคิดจะปลีกตนไปอยู่ในถิ่นช้างตระกูลฉันททันตะ ใกล้สระมันทากินีโปกขรณี ซึ่งเป็นสถานที่อยู่แห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เนื่องจากท่านเป็นพระมหาสาวกผู้เป็นที่เคารพนับถือทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายไปยังสำนักของพระตถาคต กระทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้แล้วก็จะเข้าไปบูชาพระเถระด้วยเสมอ เป็นธรรมดาว่าเมื่อมีผู้มาสู่สำนัก ท่านก็ต้องแสดงธรรมกถา หรือปฏิสันถารด้วย พระเถระเป็นผู้ปรารถนาความสงัด ท่านจึงคิดจะปลีกตนไปอยู่ ณ ที่ดังกล่าว

อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ วันหนึ่ง พระเถระเห็นภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของตน เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ประกอบด้วยความเพียร มีจิตฟุ้งซ่าน มักคลุกคลีอยู่กับบุคคลผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร จึงไปหาศิษย์ผู้นั้นแล้วให้โอวาทภิกษุนั้นว่า ท่านอย่ากระทำอย่างนี้เลย ท่านจงละบุคคลผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร คบหาบุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตรทั้งหลาย.ภิกษุนั้นไม่สนใจต่อคำสอนของพระเถระ.พระเถระถึงธรรมสังเวช ต่อจริยาของภิกษุนั้น

อีกเหตุหนึ่ง ในเวลาแสดงธรรม เมื่อพระศาสดาประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ตรงกลาง พระธรรมเสนาบดีนั่ง ณ ข้างพระหัตถ์เบื้องขวา พระโมคคัลลาะนั่ง ณ ข้างพระหัตถ์เบื้องซ้าย ส่วนเบื้องหลังแห่งพระสาวกทั้ง ๒ นั้น เขาปูอาสนะไว้สำหรับพระอัญญาโกณฑัญญะ เหล่าภิกษุที่เหลือนั่งแวดล้อมท่าน พระอัครสาวกทั้ง ๒ มีความเคารพในพระเถระ เพราะท่านแทงตลอดธรรมอันเลิศและเป็นพระเถระผู้เฒ่า พระเถระเห็นพระอัครสาวกทั้งสองกระทำความเคารพนบนอบตน ประสงค์จะหลีกไปเสียจากสำนักของพระพุทธเจ้า

ก่อนที่ท่านจะไปสู่ป่านั้น ท่านได้พิจารณาเห็นว่า ปุณณมาณพ ผู้เป็นหลานชายของท่านนั้น เมื่อบวชแล้วจักเป็นยอดธรรมกถึกในพระศาสนา ท่านจึงกลับไปตำบลบ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ ซึ่งเป็นชาติภูมิเดิมของท่าน แล้วจึงให้ปุณณมานพหลานชายบรรพชาในสำนักของท่าน

ครั้นเมื่อปุณณมาณพได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้บำเพ็ญซึ่งความเพียร ทำกิจแห่งบรรพชิตทั้งปวงให้ถึงที่สุดแล้ว คิดว่า เราจักไปสู่สำนักของพระทศพล แล้วจึงได้เดินทางไปยังสำนักของพระศาสดา พร้อมกับพระอัญญาโกณฑัญญเถระผู้เป็นลุง ได้หยุดพักในที่ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ถูกท่านพระอัญญาโกณฑัญญเถระปล่อยไว้ในกรุงกบิลพัสดุ์นั่นเอง กระทำกรรมในโยนิโสมนสิการ ขวนขวายวิปัสสนา แล้วไม่นานท่านก็บรรลุพระอรหัต พร้อมคุณพิเศษเหล่านี้ คือ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖

 

พระเถระเทศน์โปรดพระอานนท์

เมื่อศากยราชกุมารทั้งหลายพากันทรงผนวชตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ท่านพระอานนท์ก็ได้เสด็จออกพร้อมกับเจ้าศากยะทั้งหลายมีท่านภัททิยะเป็นต้น ทรงผนวชในสำนักของผู้มีพระภาคเจ้าไม่นานนัก ได้สดับธรรมกถาให้สำนักของท่านปุณณมันตานีบุตรแล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล

ดังนั้น สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิก เศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี. ณ ที่นั้น ท่านพระอานนทเถระคำนึงถึงคำสอนที่ท่านพระปุณณมันตานีบุตรได้เทศน์โปรดท่านในครั้งนั้น ท่านจึงเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วกล่าว ว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระอานนท์แล้ว ท่านพระอานนท์ จึงได้กล่าวว่า

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ท่านพระปุณณมันตานีบุตร มีอุปการะมากแก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านกล่าวสอนพวกเราด้วยโอวาทอย่างนี้ว่า

ดูกรท่านอานนท์ เพราะถือมั่น จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่าเป็นเรา เพราะไม่ถือมั่น จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่าเป็นเรา.

เพราะถือมั่น อะไร จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา เพราะไม่ถือมั่นอะไร จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา.

เพราะถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา

เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็น เรา.

ดูกรท่านอานนท์ เปรียบเสมือนสตรีหรือบุรุษรุ่นหนุ่มรุ่นสาว มีนิสัยชอบแต่งตัว ส่องดูเงาหน้าของตนที่กระจกหรือที่ภาชนะน้ำอันใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะยึดถือจึงเห็น เพราะ ไม่ยึดถือจึงไม่เห็น ฉันใด.

ดูกรท่านอานนท์ เพราะถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงมีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา

เพราะไม่ถือมั่นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึงไม่มีตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า เป็นเรา ฉันนั้นเหมือนกันแล.

ดูกรท่านอานนท์ ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ท่านพระอานนท์ ไม่เที่ยง อาวุโส

ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ท่านพระอานนท์ ไม่เที่ยง อาวุโส ฯลฯ

ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เพราะเหตุนี้แล อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

โดยเหตุนี้แล ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ดูกรอาวุโส ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นผู้มีอุปการะมาก แก่พวกเราเหล่าภิกษุใหม่ ท่านสอนพวกเราด้วยโอวาทนี้ ก็ เราได้ตรัสรู้ธรรม เพราะฟังธรรมเทศนานี้ ของท่านพระปุณณมันตานีบุตร.

 

พระเถระสอนกุลบุตรด้วยกถาวัตถุ ๑๐ ประการ

เล่ากันว่ากุลบุตรที่บวชในสำนักพระเถระ มีถึง ๕๐๐ รูป ภิกษุรูปเหล่านั้น ทุกรูปเป็นชาวแคว้นสักกชนบท กรุงกบิลพัสดุ์ อันเป็นชาติภูมิของพระทศพล ทุกรูปเป็นพระขีณาสพ ทุกรูปเป็นผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐ ประการ ที่พระ เถระกล่าวสอนกุลบุตรเหล่านั้น แม้กุลบุตร เหล่านั้นทั้งหมดก็กล่าวสอน ศิษย์ของตนด้วยกถาวัตถุ ๑๐ และตั้งอยู่ในโอวาทของพระปุณณเถระนั้น

ครั้นพระเถระเหล่านั้นรู้ว่ากิจแห่งบรรพชิตของตน ถึงที่สุดแล้ว จึงเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์แล้วกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พวกกระผมถึงที่สุดแห่งกิจบรรพชิตแล้ว และเป็นผู้มีปกติได้กถาวัตถุ ๑๐ บัดนี้เป็นสมัยเพื่อจะเข้าเฝ้าพระทศพลแห่งพวกกระผม พระเถระได้ฟังคำของภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงคิดว่า พระศาสดาย่อมทรงทราบว่าเราเป็นผู้ ได้กถาวัตถุ ๑๐ เราเมื่อแสดงธรรมก็ไม่ทิ้งกถาวัตถุ ๑๐ นั้นแสดง ก็เมื่อเราไป ภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดจักแวดล้อมเราไป เมื่อเป็นอย่างนั้น เราไม่ควรจะไปเฝ้าพระทศพลพร้อมกับคณะภิกษุเหล่านี้จงไปเฝ้าพระทศพลก่อน

ลำดับนั้น พระเถระจึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นอย่างนี้ว่า อาวุโส ทั้งหลาย พวกเธอจงไปเฝ้าพระทศพลก่อน จงถวายบังคมพระบาทของ พระตถาคต ตามคำของเรา แม้เราก็จักตามพวกท่านไป พระ เถระเหล่านั้นไหว้พระเถระแล้วเที่ยวจาริกไปโดยลำดับ เป็นระยะทาง ๖๐ โยชน์ แล้วไปยังพระเวฬุวันวิหาร ในเมืองราชคฤห์ ถวายบังคมพระบาทของพระทศพล แล้วนั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงทำปฏิสันถารอันไพเราะกับภิกษุเหล่านั้น โดยพุทธประเพณีนัยมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสบายดีหรือ ดังนี้ แล้วตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาจากไหน เมื่อภิกษุ เหล่านั้นกราบทูลอีกว่า มาจากกรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าข้า พระบรมศาสดาจึงตรัสถึงภิกษุผู้ได้กถาวัตถุ ๑๐ ว่า ภิกษุทั้งหลาย ใครหนออันเหล่าภิกษุเพื่อนพรหมจารีชาวกรุงกบิลพัสดุ์ ในแคว้นสักกชนบทยกย่องว่า เป็นผู้มักน้อย เป็นผู้ปฏิบัติในเรื่องมักน้อยนั้นด้วยตนเอง และกล่าวถ้อยคำชักนำในความมักน้อยแก่ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นต่างก็กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านผู้มีอายุชื่อว่า ปุณณะ บุตรของนางมันตานี พระเจ้าข้า

ท่านพระสารีบุตรได้ฟังถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้น จึงได้มีความประสงค์เพื่อจะได้พบพระเถระสักครั้งหนึ่ง จากนั้นพระศาสดาได้เสด็จจากเมืองราชคฤห์ ไปยังเมืองสาวัตถี เมื่อพระปุณณเถระได้ฟังว่า พระทศพลเสด็จไปใน เมืองสาวัตถีนั้น จึงเดินทางไปยังเมืองดังกล่าวด้วยหวังว่า จักเฝ้าพระศาสดา และเดินทางมาทันพระตถาคตที่เมืองนั้น เมื่อถึงยังเมืองนั้นแล้วท่านก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าภายในพระคันธกุฎีนั่นเอง พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่พระเถระ

พระเถระฟังธรรมแล้ว ถวายบังคมพระทศพล เพื่อต้องการจะหลีกเร้นจึง ไปยังป่าอันธวัน นั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ฝ่ายพระสารีบุตร เถระได้ทราบข่าวการมาของท่าน จึงเข้าไปหาพระเถระผู้นั่งอยู่ ณ โคนไม้นั้น ปราศรัยกับพระเถระแล้ว จึงถามลำดับแห่งวิสุทธิกถา ๗ นั้น ฝ่ายพระเถระนั้นก็พยากรณ์ปัญหาที่พระสารีบุตรนั้นถามแล้ว ยังจิตของพระสารีบุตรให้ยินดีด้วยข้ออุปมาด้วยการไปยังสถานที่ที่ต้องการไปนั้นด้วยรถ ๗ ผลัด ดังมีความย่อในรถวินีตสูตรว่า

ท่านพระสารีบุตร: ท่านผู้มีอายุ ผมถามท่านว่า

สีลวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน

จิตตวิสุทธิ หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน

ทิฏฐิวิสุทธิหรือเป็นอนุปาทาปรินิพพาน

กังขาวิตรณวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน

ญาณทัสสนวิสุทธิหรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน

ที่นอกไปจากธรรมเหล่านี้หรือ เป็นอนุปาทาปรินิพพาน

ท่านก็ตอบผมว่า ไม่ใช่อย่างนั้นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะพึงเห็น เนื้อความของถ้อยคำที่ท่านกล่าวนี้อย่างไรเล่า?

ท่านพระปุณณมันตานีบุตร: ท่านผู้มีอายุ ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงบัญญัติสีลวิสุทธิ ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติธรรมที่ยังมี อุปาทาน ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน.

ถ้าจักทรงบัญญัติ จิตตวิสุทธิ ทิฏฐิวิสุทธิ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ปฏิปทาญาณ ทัสสนวิสุทธิญาณ ทัสสนวิสุทธิว่า เป็นอนุปาทาปรินิพพานแล้ว ก็ชื่อว่าทรงบัญญัติ ธรรมที่ยังมีอุปาทาน ว่าเป็นอนุปาทาปรินิพพาน

ถ้าหากว่า ธรรมนอกจากธรรมเหล่านี้ จักเป็นอนุปาทาปรินิพพาน แล้ว ปุถุชนจะชื่อว่าปรินิพพาน เพราะว่า ปุถุชนไม่มีธรรมเหล่านี้

ท่านผู้มีอายุ ผมจะอุปมาให้ท่านฟัง บุรุษผู้เป็นวิญญูชน บางพวกในโลกนี้ ย่อมรู้เนื้อความแห่งคำที่กล่าวแล้วด้วยอุปมา.

 

อุปมาด้วยรถ ๗ ผลัด

ท่านผู้มีอายุ เปรียบเหมือน พระเจ้าปเสนทิโกศล กำลังประทับ อยู่ในพระนคร สาวัตถี มีพระราชกรณียะด่วนบางอย่างเกิดขึ้น ในเมืองสาเกต และการไปเมืองสาเกตนั้น จะต้องใช้รถถึง ๗ ผลัด ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจะพึงทูลถามพระองค์ ซึ่งเสด็จถึงเมืองสาเกตว่า

ข้าแต่มหาราชเจ้า พระองค์เสด็จมาจากพระนครสาวัตถี ถึง เมืองสาเกตด้วยรถพระที่นั่งนี้ผลัดเดียวหรือ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะตรัสตอบอย่างไร จึงจะเป็นอันตรัสตอบถูกต้อง?

ท่านพระสารีบุตร: ท่านผู้มีอายุ พระเจ้าปเสนทิโกศลจะต้องตรัสตอบอย่างนี้ ว่าจะต้องใช้รถถึง ๗ ผลัด

ท่านพระปุณณมันตานีบุตร: ท่านผู้มีอายุ ข้อนี้ก็ฉันนั้น

สีลวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่จิตตวิสุทธิ

จิตตวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ทิฏฐิวิสุทธิ

ทิฏฐิวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่กังขาวิตรณวิสุทธิ

กังขาวิตรณวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่ ญาณทัสสนวิสุทธิญาณ

ทัสสนวิสุทธิ เป็นประโยชน์แก่อนุปาทาปรินิพพาน

ท่านผู้มีอายุ ผมประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน.

พระเถระทั้งสองนั้นต่างอนุโมทนาสุภาษิตของกันและกัน

 

พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคะ

อันว่าภิกษุที่มีปัญญาน้อยนั้น เมื่อจะกล่าวธรรมกถา ปรารภเรื่องที่พึงกล่าวกถาวัตถุ ๑๐ ประการหรือแจกแจงวิสุทธิ ๗ ประการ ก็จะไม่สามารถกล่าวธรรมกถาได้ แต่ผู้มีปัญญามากทำได้ เพราะความเป็นผู้มีปัญญามากดังว่ามานี้ พระปุณณมันตานีบุตรเถระจึงแสดงธรรมที่ตกแต่งแล้ว กล่าวธรรมกถาท่ามกลางบริษัทสี่ เพราะเหตุนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเลิศว่า "ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุผู้แสดงธรรม ซึ่งเป็นสาวกของเรานั้น คือ ปุณณะ ลูกชายนางพราหมณ์มันตานี"

 

เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น

เกิดเป็นหนึ่งใน ๗ พี่น้อง พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพี่ชายคนโต ใน ภีสกชาดก

เกิดเป็นนารทดาบส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นสรภังคดาบส ใน สรภังคชาดก

เกิดเป็นคนรักษาประตู พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้ากุรุราชโพธิสัตว์ ใน กุรุธรรมชาดก

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

48586302
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
53448
74766
53448
48264582
800058
1272582
48586302

Your IP: 3.144.224.116
2024-12-22 22:18
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search