ปิลินทวัจฉ (พระปิลินทวัจฉเถระ)

ปิลินทวัจฉ (พระปิลินทวัจฉเถระ)

ประวัติ

 

ประวัติพระปิลินทวัจฉเถระ เอตทัคคมหาสาวกผู้เป็นที่รักของเทวดา

การที่ท่านพระปิลินทวัจฉเถระ ท่านนี้ได้รับการสถาปนาจากพระบรมศาสดาให้อยู่ในตำแหน่งที่เป็นเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้เป็นที่รักของเทวดานั้นก็เนื่องด้วยเหตุ ๒ ประการคือ โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ พระมหาสาวกองค์นั้น ได้มีเหล่าเทวดาที่เคยได้รับการสั่งสอนจากท่านให้ดำรองอยู่ในศีล ๕ เมื่อครั้งท่านบังเกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิในอดีตชาติ เมื่อท่านเหล่านั้นสิ้นบุญแล้วก็ไปบังเกิดเป็นเทวดา ในชาตินี้เหล่าเทวดาเหล่านั้นจึงมาเฝ้าท่านทุกเวลาเช้า และเวลาเย็น และอีกเหตุหนึ่งก็คือเนื่องด้วยท่านได้ตั้งความปรารถนาในตำแหน่งนั้นตลอดแสนกัป ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับ ดังนี้

 

บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

ในกัปที่แสนนับถอยไปจากภัทรกัปนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐี ในพระนครหงสาวดี วันหนึ่งท่านได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อฟังพระธรรมเทศนา ได้ยืนฟังธรรมอยู่ท้ายหมู่พุทธบริษัท ได้แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศกว่าภิกษุผู้จัดแจงเสนาสนะ ท่านก็ปรารถนาจะได้อยู่ในตำแหน่งเช่นนั้นบ้างในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคต จึงได้นิมนต์พระตถาคตพร้อมด้วยพระสงฆ์ให้ฉันตลอด ๗ วัน แล้วแสดงความปรารถนาในตำแหน่งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาแล้วเห็นว่าความปรารถนาของเขาหาอันตรายมิได้ จึงได้ทรงพยากรณ์ดังนี้

ในกัปที่แสน แต่กัปนี้พระศาสดามีพระนามว่าโคดม ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้า โอกกากราช จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เศรษฐีบุตรนี้จักได้เป็นสาวก ของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ปรากฏโดยชื่อว่าทัพพะ เป็นภิกษุผู้เลิศฝ่ายเสนาสนปัญญาปกะเหมือนปรารถนา

ด้วยกรรมที่ทำไว้ดี แล้ว และด้วยการตั้งเจตน์จำนงไว้ เมื่อท่านละร่างมนุษย์แล้ว ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้เสวยราชสมบัติในเทวโลก ๓๐๐ ครั้ง และได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง เป็นพระเจ้าประเทศราช อันไพบูลย์โดยคณานับมิได้

จากนั้นเขากระทำกรรมอันเป็นกุศลอยู่เป็นนิจ ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวอยู่ในภูมิเทวดาและภูมิมนุษย์ทั้งหลาย

แม้พระเถระรูปนี้ ก็ได้เคยบำเพ็ญกุศลมาแล้วในพระพุทธเจ้าองค์ ก่อน ๆ ได้สั่งสมบุญอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานไว้เป็นอันมากใน ภพนั้น ในกัปที่แสนนับถอยไปจากภัทรกัปนี้ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้ บังเกิดในตระกูลนายประตู ในหังสวดีนคร เป็นคฤหบดีได้มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติ มาก เขาแลดูกองทรัพย์สมบัติที่สั่งสมไว้เป็นจำนวนโกฏิแล้ว จึงไปนั่งอยู่คนเดียวในปราสาท คิดว่า เราควรจะใช้ทรัพย์ทั้งหมดนี้ในทางที่ถูกที่ควรก่อนที่เราจะตายไป ดังนี้แล้ว จึงตกลงใจว่า ท่านจักถวายทานในสงฆ์อันเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด ทานอันประเสริฐที่ใครยังไม่เคยถวาย ท่านจักถวายเป็นคนแรก ท่านคิดที่จะถวายทานหลายวิธี จึงได้เห็นว่าการถวายเครื่องบริขารจะเป็นเครื่องทำความดำริของท่านให้เต็ม ท่านจักถวายบริขารในสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข อันเป็นหมู่คณะที่ประเสริฐสุด

ท่านคิดดังนั้นแล้วจึงให้ช่างกระทำเริ่มต้นแต่ฉัตรแสนคัน จนถึง เครื่องบริโภคและบริขารทั้งหมดอย่างละแสนชิ้นแล้ว สิ่งใดที่ได้ชื่อว่าเป็นของควรให้ทาน และสิ่งนั้นสมควรแก่พระศาสดา ท่านได้ให้รวบรวมสิ่งนั้นทั้งหมด แล้วจึงเข้าเฝ้าพระเจ้าอานนท์ ถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า ข้าพระองค์มีทุกข์ทางใจอยู่ ถ้าพระองค์สามารถช่วยได้ ก็ขอได้ทรงพระกรุณาบรรเทาทุกข์นั้นเถิด

พระราชาตรัสว่า ทุกข์ของท่านก็เป็นทุกข์ของเรา

ท่านคฤหบดีทูลว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ ขอจงทรงทราบ ทุกข์ของข้าพระองค์บรรเทาได้ยาก

พระราชาตรัสว่า ท่านกังวลมากไป สิ่งใดที่มีอยู่ในแว่นแคว้นเรา แม้ชีวิตของเรา สิ่งนั้นแม้เป็นทรัพย์ที่สละได้ยาก ถ้าท่านต้องการสิ่งเหล่านี้ เราก็จักให้โดยไม่หวั่นไหวเทียว

ท่านคฤหบดีทูลว่า ข้าแต่พระราชาผู้ใหญ่ ข้าพระองค์ปรารถนาที่จะได้นิมนต์พระสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐเพื่อเสวยภัตตาหาร

พระราชาตรัสว่า ท่านอย่าขอพระตถาคตเลย เราจะให้พรอย่างอื่นแก่ท่าน พระพุทธเจ้า เปรียบเหมือนแก้วมณีรัศมีรุ่งเรือง ใครไม่พึงให้

ท่านคฤหบดีทูลว่า ขอเดชะ พระองค์ทรงกล่าวแล้วมิใช่หรือว่า จะพระราชทานสิ่งใด ๆ ตลอดถึงชีวิตอันมีอยู่ เมื่อพระองค์ประทานชีวิตได้ ก็ควรพระราชทานพระตถาคตได้

พระราชาตรัสว่า เรื่องพระมหาวีรเจ้าควรงดไว้ เพราะใครๆ ไม่พึงให้พระชินเจ้า ท่านจงรับเอาทรัพย์จนนับไม่ถ้วนไปเถิด

ท่านคฤหบดีทูลว่า เราต้องการให้ตุลาการเป็นผู้ตัดสิน เราจะถามผู้วินิจฉัยทั้งหลาย

แล้วท่านก็ได้พากันไปสู่ศาลพิพากษา กับพระราชา ท่านได้กล่าวต่อหน้าตุลาการและผู้พิพากษาทั้งหลายว่า ขอตุลาการและผู้พิพากษาจงฟังเรา พระราชาได้พระราชทานพรแก่เราว่า ท่านไม่ยกเว้น อะไรๆ แม้ชีวิตก็ปวารณาให้ได้ เมื่อเราขอพระราชทานพร เราจึงขอพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ดังนั้นพระพุทธเจ้าเป็นอันพระราชทานแก่เราแล้ว ท่านทั้งหลายจงตัดความสงสัยของเรา เราทั้งหลายจะเชื่อฟังคำท่าน

ตุลาการทั้งหลายกล่าวว่า เราทั้งหลายฟังคำของทั้งสองฝ่ายแล้ว จักตัดความสงสัยในข้อนี้ ขอเดชะ พระองค์ได้ตรัสว่า พระองค์พระราชทานสิ่งทั้งปวง ท่านผู้นี้จงเป็นผู้ถือเอาสิ่งทั้งปวงตามที่ขอหรือ พระเจ้าข้า

พระราชาตรัสว่า เราได้พูดว่า เราไม่ยกเว้นอะไรๆ เราปวารณาแม้ชีวิต เป็นผู้ถึงความยากตลอดชีวิต เพราะเรารู้ว่าผู้นี้เป็นผู้มีทุกข์ จึงได้ให้ถือเอาสิ่งทั้งปวง

ตุลาการทั้งหลายกล่าวว่า ขอเดชะ พระองค์เป็นผู้แพ้ ควรพระราชทานพระตถาคตให้กับคฤหบดีผู้นี้ เราตัดความสงสัยของทั้งสองฝ่ายแล้ว เหมือนที่ท่านทั้งสองที่ตั้งอยู่ในคำมั่นของท่าน

พระราชาประทับอยู่ ณ ที่นั้นแล ได้ตรัสกะท่านว่า ท่านจงทำตามที่ท่านดำริเถิด ท่านจงนิมนต์พระตถาคตให้เสวยแล้ว พึงคืน พระสัมพุทธเจ้าให้แก่เราเถิด

เราไหว้ตุลาการและผู้พิพากษา และถวายบังคมพระเจ้าอานนท์จอมกษัตริย์ เป็นผู้ยินดีปราโมทย์ เข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้า ครั้นเข้าไปเฝ้าพระสัมพุทธเจ้าผู้ข้ามโอฆะ ผู้ไม่มีอาสวะ ถวายบังคมด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้ กราบทูลดังนี้ว่า ขอพระองค์ผู้มีจักษุพร้อมด้วยพระอรหันต์หนึ่งแสนโปรดทรงรับนิมนต์ ขอจงทรงยังจิตของข้าพระองค์ให้รื่นเริง เสด็จเข้านิเวศน์ของข้าพระองค์

พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ ทรงรู้แจ้งโลก สมควรรับเครื่องบูชา ผู้มีจักษุทรงรู้ความดำริของเรา จึงทรงรับนิมนต์ (ด้วยดุษณีภาพ)

เราทราบว่า พระองค์ทรงรับนิมนต์แล้ว ถวายบังคมแด่พระศาสดา มีจิตร่าเริง เบิกบาน เข้ามายังนิเวศน์ของตน ประชุมมิตรและอำมาตย์แล้ว ได้กล่าวดังนี้ว่า เราได้สิ่งที่ได้โดยยากนักแล้ว เปรียบเหมือนแก้วมณีมีรัศมีโชติช่วง เราจักบูชาองค์พระพุทธเจ้าด้วยอะไร พระชินเจ้ามีคุณหาประมาณมิได้ หาที่เปรียบมิได้ ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นนักปราชญ์ ประเสริฐกว่านระ ก็อธิการอันสมควรแก่พระพุทธเจ้า เราทำได้โดยยาก

เราทั้งหลายจงรวบรวมดอกไม้ต่างๆ เอามาทำมณฑปดอกไม้เถิด สิ่งนี้ย่อมสมควรแก่พระพุทธเจ้า เราจึงให้ทำดอกบัวเผื่อน ดอกบัวหลวง ดอกมะลิ ดอกลำดวน ดอกจำปา ดอกกถินพิมาน ให้เป็นมณฑป

ปูลาดอาสนะหนึ่งแสนที่ไว้ภายในเงาฉัตร จัดแจง ข้าวและน้ำเสร็จ แล้วให้คนไปทูลเวลาภัตกาล เมื่อคนไปทูลภัตกาลแล้ว พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตระ พร้อมด้วยพระอรหันต์หนึ่งแสนเสด็จเข้ามาสู่นิเวศน์ของเรา ฉัตรทรงอยู่ในเบื้องบน ในมณฑปดอกไม้อันบานดี พระพุทธเจ้าผู้อุดมบุรุษ ประทับนั่งพร้อมด้วยพระอรหันต์หนึ่งแสน เรา ทูลว่าขอพระองค์ผู้มีจักษุ โปรดทรงรับฉัตรหนึ่งแสนและอาสนะหนึ่ง แสน อันควรและไม่มีโทษเถิด

พระมหามุนีพระนามว่าปทุมุตระ ทรงรู้แจ้งโลก ผู้ควรรับเครื่องบูชา พระองค์ประสงค์จะช่วยเหลือเรา จึงทรงรับไว้ เราได้ถวายบาตรแก่ภิกษุเฉพาะรูปละหนึ่งบาตร พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในมณฑปดอกไม้ตลอด ๗ คืน ๗ วัน ทรงยังสัตว์เป็นอันมากให้ตรัสรู้ ทรงประกาศพระธรรมจักร เมื่อทรงประกาศพระธรรมจักรภายใต้มณฑปดอกไม้ ธรรมาภิสมัยได้มีแก่ เทวดาและมนุษย์ ๘๔,๐๐๐

เมื่อถึงวันที่ ๗ พระมหามุนี พระนามว่า ปทุมุตระ ประทับนั่งอยู่ภายในเงาฉัตร ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า มาณพ ผู้ใดได้ถวายทานอันประเสริฐ ไม่พร่องแก่เรา เราจักพยากรณ์มาณพนั้น ท่านทั้งหลาย จงฟังเรากล่าว

มาณพนั้น จักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลกตลอด ๓ หมื่นกัป จักได้เป็นจอมเทวดาเสวย รัชสมบัติในเทวโลก ๑,๐๐๐ ครั้ง และจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๑,๐๐๐ ครั้ง จักได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์ โดยคณนานับมิได้

มาณพนี้ จุติจากเทวโลกแล้ว อันกุศลตักเตือนประกอบด้วยบุญกรรม จักเกิดเป็น บุตรพราหมณ์ในอีกแสนกัลป พระศาสดามีพระนามว่าโคดม ซึ่งมีสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลก พระศากยโคดมผู้ประเสริฐ จักประทับนั่งในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ทรงตั้งไว้ในเอตทัคคสถาน มาณพผู้นี้จักได้เป็นพระสาวกของพระ ศาสดา มีชื่อว่าปิลินทวัจฉะ จักเป็นผู้อันเทวดา อสูร คนธรรพ์ ภิกษุ ภิกษุณี และคฤหัสถ์ทั้งหลายสักการะ จักเป็นที่รักของคนทั้งปวง จักไม่มีอาสวะ นิพพาน

ในอรรถกถาเล่มที่ ๓๒ ได้กล่าวว่า

ได้ยินว่า พระเถระนี้ เกิดในตระกูลมีโภคะมาก ณ กรุงหงสาวดี ในกาลของพระพุทธเจ้า พระนามว่า ปทุมุตตระ ฟังธรรมในสำนักของ พระศาสดา เห็นพระบรมศาสดาทรง แต่งตั้งภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งภิกษุผู้เลิศโดยเป็นที่รักเป็นที่พอใจของเทวดาทั้งหลาย ปรารถนาตำแหน่งอันเลิศนั้น บำเพ็ญกุศลจนตลอดชีวิต จุติจากอัตภาพนั้นแล้วท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

 

บุรพกรรมในสมัยพระสุเมธพุทธเจ้า

ท่านได้มาบังเกิดในมนุษยโลก เมื่อครั้งพระโลกนาถพระนามว่า สุเมธ เป็นบุคคลผู้เลิศ เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านได้มีจิตเลื่อมใส มีใจโสมนัส ได้ทำการบูชาพระสถูป ท่านได้นิมนต์พระขีณาสพผู้ได้อภิญญาณ ๖ มีฤทธิมากที่มีอยู่ทั้งหมด แล้วได้ทำสังฆภัตถวาย เวลานั้นมีภิกษุผู้อุปัฏฐากของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้กระทำอนุโมทนาในเวลานั้น ด้วยกุศลอันนั้น เมื่อท่านจุติจากมนุษยโลก นั้นแล้ว ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ในกัปที่ ๒๕ เราเป็นกษัตริย์พระนามว่า วรุณ ในกาลนั้น เราได้ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ยังมหาชนให้ดำรงอยู่ในศีล ๕ ได้กระทำให้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า เหล่ามหาชนพวกนี้ที่ได้เสวยสุขคติในสวรรค์นี้ เมื่อครั้งที่ท่านได้มาบังเกิดในมนุษย์โลกในสมัยของพระพุทธเจ้าของเรานี้ ต่างก็ได้รำลึกถึงพระคุณที่ท่านได้เป็นผู้ทำให้ตนได้รับเทวสมบัติที่ตนมีอยู่ จึงได้พากันมาเฝ้าท่านท่านพระเถระทุกเช้าทุกเย็น จึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าสถาปนาท่านเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าเหล่าภิกษุสาวกทั้งหลายผู้เป็นที่รักของเทวดา

 

กำเนิดเป็นปิลินทวัจฉะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลาย ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้น เขา นั่นแล บังเกิดในเรือนแห่งพราหมณ์ ในพระนครสาวัตถี คนทั้งหลายขนานนามเขาว่า ปิลินทะ ส่วนคำว่า วัจฉะ เป็นโคตร ด้วยเหตุนั้น เวลาต่อมาเขาจึงมีนามปรากฏว่า ปิลินทวัจฉะ ก็เขาบวชเป็นปริพาชก เพราะเป็นผู้มากไปด้วยความสลดใจในสงสาร สำเร็จวิชชา ชื่อว่า จูฬคันธาระ ท่องเที่ยวไปในอากาศได้ด้วยวิชชานั้น ทั้งเป็นผู้รู้จิตของผู้อื่น ถึงความเป็นผู้เลิศด้วย ลาภ และยศ อาศัยอยู่ในกรุงราชคฤห์

ครั้งนั้น จำเดิมแต่เวลาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ เสด็จเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์โดยลำดับ ด้วยพระพุทธานุภาพ ทำให้วิชชานั้นของเขาเสื่อมไป (ไม่สมบูรณ์) ไม่สามารถยังกิจของตนให้สำเร็จได้ เขาคิดว่า ก็เราได้ฟังมาดังนี้ว่า เมื่ออาจารย์และปรมาจารย์ทั้งหลายกล่าวมนต์นี้อยู่ มหาคันธารวิชชา อยู่ในที่ใด จูฬคันธารวิชชาย่อมเสื่อม (ไม่สมบูรณ์) ในที่นั้น ดังนี้ ก็นับจำเดิมแต่พระสมณโคดมเสด็จมาแล้ว วิชชานี้ของเราไม่สมบูรณ์เลย พระสมณโคดมต้องรู้มหาคันธารวิชชาโดยไม่ต้องสงสัย ไฉนหนอ เราพึงเข้าไปนั่งใกล้พระสมณโคดมนั้น แล้วเรียนวิชชานั้นในสำนักของพระองค์ ดังนี้

เขาเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลดังนี้ว่า ข้าแต่พระมหาสมณะ ข้าพระองค์ประสงค์จะเรียนวิชชาอย่างหนึ่งในสำนักของพระองค์ ขอพระองค์จงให้โอกาสแก่ข้าพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงบวช เขาสำคัญว่า บรรพชาเป็นการ บริกรรมวิชชาจึงยอมบวช พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ท่าน แล้วทรงประทานกัมมัฏฐานอันเหมาะแก่จริต ท่านเจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตแล้วต่อกาลไม่นานเลย เพราะความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย

 

พระเถระแม้เป็นพระอรหันต์แล้วยังเรียกผู้อื่นว่า คนถ่อย

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้ พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ท่านพระเถระเมื่อท่านบรรลุพระอรหัตแล้ว แต่เมื่อพูด กับคฤหัสถ์ก็ดี ภิกษุก็ดี ใช้โวหารว่าถ่อย ทุกคำ เช่น “มาซิเจ้าถ่อย ไปซิเจ้าถ่อย นำไปซิเจ้าถ่อย ถือเอาซิเจ้าถ่อย”

ภิกษุเป็นอันมาก ภิกษุเหล่านั้นเห็นพระเถระร้องเรียกเช่นนั้น เมื่อไม่รู้ว่า พระเถระเป็นพระอรหันต์ และที่ท่านมักกล่าวอย่างนั้นเพราะท่านยังละวาสนาไม่ได้ จึงคิดว่า พระเถระนี้เห็นจะเป็นผู้มุ่งร้ายจึงร้องเรียกอย่างนี้ จึงกราบทูลแด่พระผู้มีพระ ภาคเจ้า เพื่อจะให้พระเถระออกจากความเป็นผู้มุ่งร้ายนั้น ก็นำไปทูลถามพระตถาคตว่า ข้าแต่พระผู้มีพระ ภาคเจ้า ธรรมดาพระอริยะ ย่อมไม่กล่าวคำหยาบ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัส เรียกภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูกรภิกษุ เธอจงไปเรียกปิลินทวัจฉภิกษุมาตามคำของเราว่า ดูกรอาวุโสวัจฉะ พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านปิลินทวัจฉะว่า ดูกรอาวุโส พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน ท่านพระปิลินทวัจฉะรับคำภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระปิลินทวัจฉะว่า ดูกรปิลินทวัจฉะ ได้ยินว่า เธอย่อมร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อยจริงหรือ ท่านพระปิลินทวัจฉะทูลรับว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเมื่อทรงรำพึงว่า วัจฉะนี้ ไม่สละวาทะว่าคนถ่อย เพราะวาสนาอันเศร้าหมองในอดีตที่เธอได้เกิดในชาติพราหมณ์ หรือหนอ จึงทรงมนสิการถึงขันธสันดานที่เธอเคยอยู่ในอดีตชาติ ด้วยบุพเพนิวาสญาณ และสัพพัญญุตญาณ คือ กระทำไว้ในพระทัยของพระองค์ โดยกระทำให้ประจักษ์ แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ายกโทษวัจฉภิกษุเลย วัจฉภิกษุ ย่อมไม่มุ่งโทษ เรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย วัจฉภิกษุเกิดในสกุลพราหมณ์ ๕๐๐ ชาติ โดยไม่เจือปนเลย วาทะว่าคนถ่อยนั้นวัจฉภิกษุประพฤติมานาน จริงอยู่ พราหมณ์ทั้งหลายเป็นผู้กระด้างด้วยมานะ (ความถือตัว) ว่าอยู่ในวรรณะอันสูงสุดยิ่งกว่าวรรณะอื่น จึงร้องเรียก ผู้อื่นด้วยวาทะว่าคนถ่อย เพราะเหตุนั้น วัจฉภิกษุนี้ย่อม ร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย ฯ

ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎกได้ให้ความหมายของ “วาสนา” ไว้ดังนี้

วาสนา อาการกายวาจาที่เป็นลักษณะพิเศษของบุคคล ซึ่งเกิดจากกิเลสบางอย่าง และได้สั่งสม อบรมมาเป็นเวลานานจนเคยชินติดเป็นพื้นประจำตัว แม้จะละกิเลสนั้นได้แล้ว แต่ก็อาจจะละอาการกายวาจาที่เคยชินไม่ได้เช่น คำพูดติดปาก อาการเดินที่เร็วหรือเดินต้วมเตี้ยม เป็นต้น

ท่านขยายความว่า วาสนา ที่เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศล ก็มี เป็นอัพยากฤต คือ เป็นกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว ก็มี ที่เป็นกุศลกับอัพยากฤตนั้น ไม่ต้องละ แต่ที่เป็นอกุศลซึ่งควรจะละนั้น แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่จะเป็นเหตุให้เข้าถึงอบาย กับส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดอาการแสดงออกทางกายวาจาแปลกๆ ต่าง ๆ

ส่วนแรก พระอรหันต์ทุกองค์ละได้ แต่ส่วนหลัง พระพุทธเจ้าเท่านั้นละได้ พระอรหันต์อื่นละไม่ได้

จึงมีคำกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้นละกิเลสทั้งหมดได้พร้อมทั้งวาสนา

ในภาษาไทย คำว่าวาสนา มีความหมายเพี้ยนไปกลายเป็นอำนาจบุญเก่า หรือกุศลที่ทำให้ได้รับลาภยศ

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้น ว่า

มายา มานะ ย่อมไม่เป็นไปในผู้ใด ผู้ใดมีความโลภสิ้นไปแล้ว ไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา

ไม่มีความหวัง บรรเทาความโกรธได้แล้ว มีจิตเย็นแล้ว

ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นสมณะ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ ฯ

 

วาจาสิทธิ์ของพระเถระกับชายผู้ถือดีปลี

อยู่ต่อมาวันหนึ่ง พระเถระเข้าไปบิณฑบาตกรุงราชคฤห์ พบชายผู้หนึ่งถือดีปลีมาเต็มตะกร้า กำลังเข้าไปในกรุง จึงถามว่า เจ้าถ่อย ในภาชนะของแกมีอะไร ชายผู้นั้นคิดว่า สมณะรูปนี้ กล่าวคำหยาบกับเราแต่เช้าเทียว เราก็ควรกล่าวคำที่เหมาะแก่สมณะรูปนี้เหมือนกัน จึงตอบว่า ในภาชนะของข้ามีขี้หนูซิท่าน พระเถระพูดว่า เจ้าถ่อย มันจักต้องเป็นอย่างว่านั้น

เมื่อพระเถระ คล้อยหลังไป ดีปลีก็กลายเป็นขี้หนูไปหมด เขาคิดว่า ดีปลีเหล่านี้ ปรากฏเสมือนขี้หนู จะเป็นจริงหรือไม่หนอ ลองเอามือบี้ดู ทีนั้น เขาก็รู้ว่าเป็นขี้หนูจริง ๆ ก็เกิดความเสียใจอย่างยิ่ง เขาคิดว่าเป็นเฉพาะดีปลีในตะกร้าเหล่านี้เท่านั้นหรือ หรือในเกวียนก็เป็นอย่างนี้ด้วย จึงเดินไปตรวจดูที่เกวียน ก็พบว่าดีปลีทั้งหมดก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ด้วยความเสียใจ ชายผู้นั้นเอามือกุมอกแล้วคิดว่า นี้ไม่ใช่การกระทำของคนอื่น ต้องเป็นการกระทำของภิกษุที่เราพบตอนเช้านั่นเอง พระเถระจักรู้มายากลอย่างหนึ่งเป็นแน่ จำเราจะตามหาสถานที่ ๆ ภิกษุนั้นเดินไป จึงจักรู้เหตุ

ดังนี้แล้วจึงเดินไปตามทางที่พระเถระเดินไป ลำดับนั้น บุรุษผู้หนึ่งพบชายผู้นั้นกำลังเดินเครียด จึงถามว่า พ่อมหาจำเริญ เดินเครียดจริง ท่านกำลังเดินไปทำธุระอะไร เขาจึงบอกเรื่องนั้นแก่บุรุษผู้นั้น บุรุษผู้นั้นฟังเรื่องราวของเขาแล้ว ก็พูดอย่างนี้ว่า พ่อมหาจำเริญ อย่าคิดมากเลย จักเป็นด้วยท่านพระปิลินทวัจฉะ พระผู้เป็นเจ้าของข้าเอง ท่านจงถือดีปลีนั้นเต็มภาชนะ ไปยืนข้างหน้าพระเถระ แม้เวลาที่พระเถระกล่าวว่า นั่นอะไรล่ะ เจ้าถ่อย ก็จงกล่าวว่าดีปลี ท่านขอรับ พระเถระจักกล่าวว่า จักเป็นอย่างนั้น เจ้าถ่อย มันก็จะกลายเป็นดีปลีไปหมด ชายผู้นั้นก็ได้กระทำอย่างนั้น

 

ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ

ได้ยินว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติ พระเถระนั้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ทรงให้มหาชนตั้งอยู่ในศีลห้า ได้ทรงกระทำกุศลที่มุ่งผลข้างหน้าคือ สวรรค์ โดยมากเหล่าเทวดาที่บังเกิดใน ฉกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น ได้โอวาทของพระองค์นั่นแล ก็ได้ตรวจดูสมบัติของตนในสถานที่ที่บังเกิดแล้ว นึกอยู่ว่า เราได้สวรรค์สมบัติเหล่านี้เพราะอาศัยใครหนอ ก็รู้ว่า เราได้สมบัติเพราะอาศัยพระเถระ จึงพากันมานมัสการพระเถระทั้งเวลาเช้าเวลาเย็น เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย

 

พระเถระกับเหตุให้บัญญัติพระวินัย

พระเถระกับเหตุให้บัญญัติพระวินัย

ก็โดยสมัยนั้นแล สกุลอุปัฏฐากของท่านพระปิลินทวัจฉะในเมืองพาราณสี ถูกพวกโจรปล้น และเด็ก ๒ คน ถูกพวกโจรนำตัวไป ครั้งนั้นท่านพระปิลินทวัจฉะนำเด็ก ๒ คน นั้นมาด้วยฤทธิ์แล้วให้อยู่ในปราสาท ชาวบ้านเห็นเด็ก ๒ คน นั้นแล้ว ต่างพากันเลื่อมใสในท่านพระปิลินทวัจฉะเป็นอย่างยิ่งว่า นี้เป็นฤทธานุภาพของพระปิลินทวัจฉะ

ภิกษุทั้งหลายพากัน เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนท่านพระปิลินทวัจฉะจึงได้นำเด็กที่ถูกพวกโจรนำตัวไปแล้ว คืนมาเล่า แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม่เป็นอาบัติ เพราะวิสัยแห่งฤทธิ์ของภิกษุผู้มีฤทธิ์

 

พระพุทธานุญาตน้ำมันเป็นต้น

โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะปวดศีรษะ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันทาศีรษะ โรคปวดศีรษะยังไม่หาย ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการนัตถุ์ น้ำมันที่นัตถุ์ไหลออก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัส อนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสำหรับนัตถุ์

ท่านพระปิลินทวัจฉะนัตถุ์ไม่เท่ากัน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสำหรับนัตถุ์ ประกอบด้วยหลอดคู่

โรคปวดศีรษะยังไม่หาย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้สูดควัน ภิกษุทั้งหลายจุดเกลียวผ้าแล้วสูดควันนั้นนั่นแหละ คอแสบร้อน จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มี พระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตกล้องสูดควัน

 

พระปิลินทวัจฉเถระอาพาธเป็นโรคลม

ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลม พวกแพทย์ปรึกษา ตกลงกันอย่างนี้ว่า ต้องหุงน้ำมันถวาย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำมันที่หุง ในน้ำมันที่หุงนั้นแล แพทย์ต้องเจือน้ำเมาด้วย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้เจือน้ำเมาลง ในน้ำมันที่หุง

สมัยต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะหุงน้ำมันไว้มาก ภาชนะสำหรับบรรจุน้ำมันไม่มี ภิกษุ ทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตลักจั่น ๓ ชนิด คือ ลักจั่นทำด้วยโลหะ ๑ ลักจั่นทำด้วยไม้ ๑ ลักจั่นด้วยผลไม้ ๑

สมัยต่อมา ท่านพระปิลินทวัจฉะอาพาธเป็นโรคลมตามอวัยวะ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการเข้ากระโจม

โรคลมยังไม่หาย ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตการรมใบไม้ต่างๆ

โรคลมยังไม่หาย พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตการรมใหญ่

โรคลมยังไม่หาย พระผู้มีพระภาค ตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำที่ต้มเดือดด้วยใบไม้ต่างชนิด

โรคลมยังไม่หาย พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต อ่างน้ำ

 

อาพาธโรคลมเสียดยอกตามข้อ

ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะ อาพาธเป็นโรคลมเสียดยอกตามข้อ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ระบายโลหิตออก โรคลมเสียดยอกตามข้อยังไม่หาย ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุ ทั้งหลาย เราอนุญาตให้ระบายโลหิตออกแล้วกรอกด้วยเขา

 

อาพาธเท้าแตก

ก็โดยสมัยนั้นแล เท้าของท่านปิลินทวัจฉะแตก ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตยาทาเท้า โรคยังไม่หาย ภิกษุนวกะทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ปรุงน้ำมันทาเท้า

 

พระเจ้าพิมพิสารถวายคนทำงานวัดแด่ท่านพระเถระ

ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะ กำลังให้คนชำระเงื้อมเขา ในเขต พระนครราชคฤห์ ประสงค์จะทำให้เป็นสถานที่เร้น ขณะนั้นพระเจ้าพิมพิสาร แห่งนครมคธ เสด็จพระดำเนินไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงสำนัก ทรงอภิวาทแล้วประทับเหนือพระราชอาสน์ อันควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ตรัสถามท่านพระปิลินทวัจฉะว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า พระเถระกำลังให้เขาทำอะไรอยู่?

ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า อาตมภาพกำลังให้เขาชำระเงื้อมเขา ประสงค์ให้เป็นสถานที่ปลีกวิเวก ขอถวายพระพร

พระเจ้าพิมพิสารทรงถามว่า พระคุณเจ้าต้องการคนทำงานวัดบ้างไหม?

ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคยังไม่ทรงอนุญาตคนทำการวัด

พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น โปรดทูลถามพระผู้มีพระภาค แล้วบอกให้ข้าพเจ้าทราบ

ท่านพระปิลินทวัจฉะรับพระราชโองการว่า จะปฏิบัติอย่างนั้น ขอถวายพระพร แล้ว ชี้แจงให้พระเจ้าพิมพิสารให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา ครั้นแล้วพระเจ้าพิมพิสารก็เสด็จลุกจากพระราชอาสน์ ทรงอภิวาทท่านพระปิลินทวัจฉะ ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จกลับ

หลังจากนั้น ท่านพระปิลินทวัจฉะ ส่งสมณทูตไปในสำนักพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชประสงค์จะถวายคนทำการวัด ข้าพระพุทธเจ้าจะพึงปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า?

 

พระพุทธานุญาตอารามิก

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้มีคนทำงานวัด

ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารก็ได้เสด็จพระราชดำเนินไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะ ถึงสำนักเป็นคำรบสอง ทรงอภิวาทแล้วประทับเหนือพระราชอาสน์อันควรส่วนข้างหนึ่ง แล้ว ตรัสถามพระปิลินทวัจฉะว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า คนทำงานวัด พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตหรือ?

ท่านพระปิลินทวัจฉะถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร ทรงอนุญาตแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจักถวายคนทำงานวัดแก่พระคุณเจ้า

ครั้นเมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงรับปฏิญาณถวายคนทำการวัดแก่ท่าน พระปิลินทวัจฉะดังนั้นแล้ว เมื่อทรงกลับถึง่พระราชวังก็ทรงลืมเสีย ต่อมาอีกนาน จึงทรงระลึกได้ จึงตรัสถามมหาอำมาตย์ ผู้สำเร็จราชกิจทั้งปวงผู้หนึ่งว่า คนทำงานวัดที่เราได้รับปฏิญาณจะถวายแก่พระคุณเจ้านั้น เราได้ถวายไปแล้วหรือ?

มหาอำมาตย์กราบทูลว่า ขอเดชะ ยังไม่ได้พระราชทาน พระพุทธเจ้าข้า

พระราชาตรัสถามว่า จากวันนั้นมาถึงวันนี้ นานกี่ราตรีแล้ว?

ท่านมหาอำมาตย์นับราตรีแล้ว กราบทูลในทันใดนั้นแลว่า ขอเดชะ ๕๐๐ ราตรี พระพุทธเจ้าข้า

พระราชารับสั่งว่า ถ้าเช่นนั้น จงถวายคนทำงานวัดแก่ท่านไป ๕๐๐ คน ท่านมหาอำมาตย์ รับพระบรมราชโองการแล้วได้จัดคนทำการวัดไปถวายท่าน พระปิลินทวัจฉะ ๕๐๐ คน หมู่บ้านของคนทำงานวัดพวกนั้นได้ตั้งอยู่เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากหมู่บ้านอื่น คนทั้งหลายเรียกบ้านตำบลนั้นว่า ตำบลบ้านอารามิกบ้าง ตำบลบ้านปิลินทวัจฉะบ้าง

 

พระเถระนิรมิตมาลัยทองคำให้ทารกหญิง

ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านพระปิลินทวัจฉะได้เป็นพระกุลุปกะ (พระที่เขาอุปถัมภ์และเป็นที่ปรึกษาประจำของครอบครัว) ในหมู่บ้านตำบลนั้น ครั้นเช้าวันหนึ่ง ท่านครองอันตรวาสกแล้ว ถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังตำบลบ้านปิลินทวัจฉะ สมัยนั้น ในตำบลบ้านนั้นมีมหรสพ พวกเด็กๆ ตกแต่งกายประดับดอกไม้เล่นมหรสพอยู่พอดี ท่านพระปิลินทวัจฉะเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกในตำบลบ้านปิลินทวัจฉะ ได้เข้าไปถึงเรือน คนทำงานวัดผู้หนึ่ง ครั้นแล้วนั่งบนอาสนะที่เขาจัดถวาย

ขณะนั้น ธิดาของสตรีผู้ทำการวัดนั้น เห็นเด็กๆ พวกอื่นตกแต่งกายประดับดอกไม้ แล้ว ร้องอ้อนว่า ขอจงให้ดอกไม้แก่ดิฉัน ขอจงให้เครื่องตกแต่งกายแก่ดิฉัน

ท่านพระปิลินทวัจฉะจึงถามสตรีผู้ทำงานวัดคนนั้นว่า เด็กหญิงคนนี้ร้องอ้อนอยากได้ อะไร?

นางกราบเรียนว่า ท่านเจ้าข้า เด็กหญิงคนนี้เห็นเด็กๆ พวกอื่นตกแต่งกายประดับดอกไม้ จึงร้องอ้อนขอดอกไม้ ดิฉันบอกว่า เราเป็นคนจนจะได้ดอกไม้มาจากไหน จะได้เครื่องตกแต่งมาจากไหน

ท่านพระปิลินทวัจฉะจึงหยิบขดหญ้าพวงหนึ่งส่งให้นางผู้เป็นแม่เด็กหญิงนั้นแล้วกล่าวว่า เจ้าจงสวมขดหญ้าพวงนี้ลงบนศีรษะเด็กหญิงนั้น ครั้นเมื่อนางได้รับขดหญ้าจึงสวมลงที่ศีรษะเด็กหญิงนั้น ทันใดนั้นขดหญ้านั้นได้กลายเป็นมาลาดอกไม้ทองคำงามมาก น่าดู น่าชม มาลาดอกไม้ทองคำเช่นนั้น แม้ในพระราชฐานก็ไม่มี

คนทั้งหลายกราบทูลแด่พระเจ้าพิมพิสารว่า ขอเดชะ มาลาดอกไม้ทองคำที่เรือนของคนทำงานวัดที่หมู่บ้านปิลินทวัจฉะงามมาก น่าดู น่าชม แม้ในพระราชฐานก็ไม่มี เขาเป็นคนเข็ญใจจะได้มาแต่ไหน เป็นต้องได้มาด้วยโจรกรรมแน่นอน

พระเจ้าพิมพิสารจึงสั่งให้จองจำตระกูลคนทำงานวัดนั้น

ครั้นเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านพระปิลินทวัจฉะครองอันตรวาสกแล้วถือบาตรจีวรเข้าไปบิณฑบาต ถึงตำบลบ้านปิลินทวัจฉะ เมื่อเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับตรอกในตำบลบ้านปิลินทวัจฉะได้เดิน ผ่านไปทางเรือนคนทำงานวัดผู้นั้น ครั้นแล้วได้ถามคนที่คุ้นเคยกันว่า ตระกูลคนทำงานวัดนี้ไป ไหนเสีย?

คนพวกนั้นกราบเรียนว่า เขาถูกรับสั่งให้จองจำ เพราะเรื่องมาลาดอกไม้ทองคำ เจ้าข้า

ท่านพระปิลินทวัจฉะทราบดังนั้นจึงได้เข้าไปสู่พระราชนิเวศน์ นั่งเหนืออาสนะที่เขาจัดถวาย

ขณะนั้น พระเจ้าพิมพิสาร เสด็จเข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะ ทรง อภิวาทแล้วประทับเหนือพระราชอาสน์อันควรส่วนข้างหนึ่ง

ท่านพระปิลินทวัจฉะได้ทูลถามพระเจ้าพิมพิสารว่า ขอถวายพระพร ตระกูลคนทำงานวัดถูกรับสั่งให้จองจำด้วยเรื่องอะไร?

พระเจ้าพิมพิสารตรัสตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า เพราะที่เรือนของเขามีมาลาดอกไม้ทองคำอย่างงามมาก น่าดู น่าชม แม้ที่ในวังก็ยังไม่มี เขาเป็นคนจนจะได้มาแต่ไหน เป็นต้องได้มาด้วยโจรกรรมอย่างแน่นอน

ท่านพระปิลินทวัจฉะจึงได้อธิษฐานปราสาทของพระเจ้าพิมพิสารว่า จงเป็นทอง บัดนั้นปราสาททั้งหลังก็ได้กลายเป็นทองไปทั้งหมด แล้วได้ถวายพระพรถามว่า ขอถวาย พระพร ก็นี่ทองมากมายเท่านั้นมหาบพิตรได้มาแต่ไหน?

พระเจ้าพิมพิสารตรัสว่า ข้าพเจ้าทราบแล้ว นี้เป็นอิทธานุภาพของพระคุณเจ้า ดังนี้ แล้วรับสั่งให้ปล่อยตระกูลคนทำงานวัดนั้นพ้นพระราชอาญาไป

 

พระพุทธานุญาตเภสัช ๕

เหล่ามหาชนเมื่อทราบข่าวว่า ท่านพระปิลินทวัจฉะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นธรรมยวดยิ่งของมนุษย์ ต่อพระเจ้าพิมพิสาร ต่างพากันยินดี เลื่อมใสยิ่ง นำเภสัช ๕ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย มาถวายท่านพระปิลินทวัจฉะ ซึ่งแม้ตามปกติท่านก็ได้เภสัช ๕ อยู่เสมอแล้ว ท่านจึงแบ่งเภสัชที่ได้มาถวายแก่ภิกษุผู้เป็นบริษัททั้งหลาย แต่บริษัทของท่านเป็นผู้มักมาก เก็บเภสัชที่ได้ๆ มาไว้ในกระถางบ้าง ในหม้อน้ำบ้าง จนเต็ม บรรจุลงในหม้อกรองน้ำบ้าง ในถุงย่ามบ้าง จนเต็มแล้ว แขวนไว้ที่หน้าต่าง เภสัชเหล่านั้นก็เยิ้มซึม แม้สัตว์จำพวกหนูก็เกลื่อนกล่นไปทั่ววิหาร คนทั้งหลายเดินเที่ยวชมไปตามวิหารพบเข้า ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน

ภิกษุทั้งหลายได้ยินคนพวกนั้น เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาอยู่ บรรดาที่เป็นผู้มักน้อย ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนภิกษุทั้งหลายจึงได้พอใจในความมักมากเช่นนี้ แล้ว กราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่าภิกษุทั้งหลาย พอใจในความมักมากเช่นนี้ จริงหรือ?

ภิกษุทั้งหลายทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทรงติเตียนแล้วทรงทำธรรมีกถา รับสั่งกะภิกษุ ทั้งหลายว่า อนึ่ง มีเภสัชอันควรลิ้มของภิกษุผู้อาพาธ คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ภิกษุรับประเคนของนั้นแล้ว พึงเก็บไว้ฉันได้ ๗ วันเป็นอย่างยิ่ง ภิกษุให้ล่วงกำหนดนั้นไป พึงปรับอาบัติตามธรรม

 


ที่มา http://www.dharma-gateway.com

47415834
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
13749
67101
280597
46849926
902172
1172714
47415834

Your IP: 18.224.52.108
2024-11-22 07:24
© Copyright pariyat.com 2024. by กองทะเบียนและสารสนเทศ

Search